เจ็ดเสมียน
เจ็ดเสมียน
เจ็ดเสมียน
เจ็ดเสมียน
เจ็ดเสมียน รวมทั้งการเคลื่อนเปลี่ยนของกาลเวลา (อสท.)
ฐากูร โกมารกุล ณ นคร...เรื่อง
สาธิต บัวเทศ...ภาพ
เย็นวันนั้น ริมแม่น้ำแม่กลองที่ไหลผ่านตำบล เจ็ดเสมียน ชุมชนเล็ก ๆ ของอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรีี แดดอุ่นฉายทาบลงบนหย่อมห้องแถวไม้ ตลาดนัดมากมาย ของกินพื้นถิ่น รอยยิ้มอันเรียบง่าย ปนอยู่ในสนทนาประสาเพื่อนบ้านเสียงหวูดรถไฟลากยาว ก่อนจะเงียบหายไปเมื่อใครบางคนเดินเลาะราง กลับสู่บ้านหลังเก่า
เสียงหัวเราะและสำเนียงเหน่อราชบุรีจมอยู่ในห้องแถวไม้ทั้งสองฝาก จะว่าไปมันไม่ได้ใหญ่โตอะไรนัก แต่เมื่อคิดถึงวันเวลากว่าร้อนปีที่ผ่านมาของตลาดเล็ก ๆ แห่งนี้ ไม่มีอะไรน่าทึ่งเท่าว่ามันยังคงยืนหยัดเคียงข้างคนบ้านนี้มาทุกร้อนหนาว มองผ่านบานประตูเข้าไปในแต่ละห้อง มันไม่ได้เรียงรายด้วยของเก่าแก่อย่างที่คนชอบเล่น "อดีต" เฝ้าเพียรหา ในถ้อยสนทนาของพวกเขานั่นหรือ ก็ไม่ได้ดึงเอาคืนวันอันผ่านเลยออกมาฟูกฟายระลึกถึงหรือรอให้ใครไถ่ถาม มีแต่ชีวิตปัจจุบันที่กำลังก้าวไปข้างหน้า สิ่งใดตกกอดหลงเหลือ ก็พร้อมที่จะนำภาพอันเป็นจริงเป็นจังของพวกเขาในวันนี้ผสมผสานเข้าไป
แม้ตำบลริมแม่น้ำแห่งนี้ จะอยู่ห่างออกมาเพียงราวชั่วโมงกว่า ๆ แต่ก็เหมือนบางนาที มันช่างต่างกันแสนไกล มาอยู่ที่นี่หลายวัน ผมคิดถึงบางสิ่งบางอย่างที่หาได้ยากในเมืองใหญ่ที่จากมา ความอุ่นเอื้ออาทรและการดูแลซึ่งกันและกัน
เจ็ดเสมียน
ใบหน้าแห่งวันวาน
เช้านี้ก็เหมือนทุกวัน หลังสามเณรรูปเดียวที่เข้ามาบิณฑบาตข้างในตลาดคล้อยหลังเข้าประตูวัดไป รถไฟขบวนขึ้นกรุงเทพฯ เที่ยวแรกก็เทียบชานชาลาเจ็ดเสมียน ข้าวเหนียว หมูปิ้ง กวยจั๊บเจ้าเก่า หรือผักพื้นบ้านประดามีที่ตั้งแผงตรงลานหน้าสถานีก็คึกคักครึกครื้นเท่าที่นาทีปัจจุบันจะดำเนิน มันอาจไม่มากมายเหมือนตลาดในโพธาราม ทว่า ก็เพียงพอให้ "คนนอก" อย่างผมเพลินไปกับภาพตรงหน้า และคนแถบเจ็ดเสมียนพากลับไปเป็นมื้อเช้า
ว่ากันถึงเรื่องตลาดนัด หากเป็นเมื่อก่อนย้อนไปสักหกเจ็ดสิบปี แม่น้ำแม่กลองหลังบ้านล้วนเนืองแน่นไปด้วยภาพ "การค้า" ทั้งจากคนตลาดเจ็บเสมียนเอง หรือพ่อค้าแม่ค้าจากแดนไกล
"ล่องกันมาขึ้นที่ท่าละ ติดตลาดกันทีตั้งแต่ตีสอง ตอนนั้นผมเด็ก ๆ รอแต่วันนัด" นัดทาง "เรือ" นั้นสำคัญสำหรับคนในตำบลริมน้ำเสมอ อาทร ชื่นณรงค์ ในวัยหนุ่มใหญ่ฉายบางภาพที่มีมาแต่รุ่นก๋งให้ฟังหน้าห้องแถวไม้ของเขา
"ของป่าพวกหวาย น้ำผึ้ง นี่ต้องจากเมืองกาญจน์ ของทะเลของสวน โน่นจากแม่กลอง บางคนที" คืนวันที่เรือเข้า ไม่เพียงผู้ใหญ่ที่คึกคักกับการซื้อขายแลกเปลี่ยนริมฝั่งแม่น้ำ แต่ในสายน้ำก็เป็นที่สนุกสนานของเด็ก ๆ ยุคนั้น
"ถ้ามีเรือโยงแล่นมาติดสันทรายกลางแม่น้ำ เด็ก ๆ ก็จะพากันว่ายน้ำไปช่วยกันดุนเรือให้พ้นสันทราย จากนั้นก็จะเกาะเชือกเรือโยง ไม่คิดหรอกว่ามันอันตราย พอเล่นเสร็จก็จะขึ้นไปยังฝั่งตรงข้าม มีหาดทรายยาวมาก เราเรียกกันว่าภูเขาทราย" เรื่องเล่นในแม่น้ำของเขาราวกับไม่ได้เลือนหายไปไหน
"แต่ก่อนนะ ของกินนี่หาได้ง่าย ๆ เลย หอยทราย หอยกาบ ลงไปหาเอาในแม่น้ำ ตัดต้นอ้อมาเล่นเป่าปี่กันสนุก เดี๋ยวนี้ไม่มีให้เห็นแล้วมั้ง" คำท้าย ๆ นั้นไม่ได้ตีโพยตีพาย แต่เหมือนคนเข้าใจคืนวัน เขาพลางชี้ให้ดูห้องแถวเก่าแก่ที่นั่งอยู่ข้างหน้า "ก๋งผมล่องเรือมาจากเมืองจีน มาตั้งร้านกาแฟที่นี่ แต่ก่อนแน่น ขายมาถึงรุ่นเตี่ย" เขาบอกกับผมอย่างนั้นไล่เลี่ยกับชาวจีนคนอื่น ๆ ที่หันหน้ามาสู่ย่านตลาดในเจ็ดเสมียนพวกเขามาทำการค้า เปิดร้านขายของชำ ร้านขายยาแผนโบราณ และอย่างถึงที่สุด ก็พร้อมจะเรียกที่ดินเล็ก ๆ อันเป็นที่ตั้งของห้องแถวไม้แคบ ๆ แห่งนี้ว่าบ้าน
เจ็ดเสมียน
เจ็ดเสมียน ก็เหมือนกับย่านตลาดริมน้ำหลาย ๆ แห่ง ทว่า เป็นตลาดบก ไม่ได้หันหน้าให้แม่น้ำเหมือนแถบอัมพวา สินค้าต่าง ๆ เมื่อเดินทางทางเรือมาถึงก็จะ "ขึ้น" มาขายกันบนฝั่ง เป็นจุดเชื่อมระหว่างเรือกับรถไฟเพื่อเข้ากรุงเทพฯ หรือรอนแรมล่องลงใต้ "ถนนน่ะหรือ อย่าไปนึกว่าดี แต่ก่อนเข้าไปเรียนในจังหวัด มีรถแค่รอบเดียวนั่นละแน่น เด็กนักเรียนที่ไปเรียนในจังหวัดจองบนหลังคากันโน่น"
"คนแต่ก่อนเขาชินนัดเช้า" มาถึงวันนี้ที่ตลาดนัดย้ายมาคึกคักยามเย็น ตามวิถีของผู้คนเปลี่ยนไปทำงานนอกบ้าน แต่หากเป็นตลาดในห้วงคำนึงของผู้เฒ่าผู้แก่ มันยังสู้ภาพนัดเช้าที่แสนมีชีวิตชีวาไม่ได้ "แต่ก่อนนัดคึกคักนี่ต้องวันพระใหญ่ อยากรู้เป็นอย่างไร รอเจอลุงเบิ้มโน่น" พี่อาทร หมายถึงพ่อค้าเก่าแก่ที่ปักหลักขายของมาคู่คนเจ็ดเสมียนแต่อดีต
ผมเองไม่ได้พบกับลุงเบิ้มในวันนั้น แต่สังเกตจากเรื่องเล่าของหลายคนในตลาดก็พอจะเข้าใจได้ว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ริมแม่น้ำอันสงบ สมบูรณ์ และผู้คนเปี่ยมไมตรีแห่งนี้จะ "ดึงดูด" ให้หลายชีวิตเข้ามาปักหลัก เติบโต และหยัดยืนอยู่เรียบง่าย หากเพราะมันมากมายไปด้วยความสมบูรณ์อันมีอยู่ในผืนแผ่นดินและหัวใจผู้คน
ผู้คนในเจ็ดเสมียนปะปนอยู่ทั้งคนไทยพื้นถิ่น คนจีน ลาว และคนเขมร ด้วยเงื่อนไขทางการอพยพตั้งถิ่นฐานในอดีต ทั้งสงคราม การกวาดต้อนไพร่พล หรือแม้แต่การติดต่อกันทางการค้า
เจ็ดเสมียน
ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองทั้งสองฟาก ในช่วงพาดผ่านพื้นที่ตำบลเจ็ดเสมียน คือบ้านหลังอุ่นของคนหลายที่มาบ้านสนามชัยและบ้านกุ่ม คือถิ่นปักหลักของชาวเขมร ที่ว่ากันว่า เขมรที่นี่ไม่ใช่เขมรจากพระตะบองหรือเสียมราฐ หากแต่อพยพโยกย้ายกันมาจากสุรินทร์ คนไทยเชื้อสายเขมรเชี่ยวชาญการเลี้ยงและทำศึกสงครามด้วยข้าง "พวกนี้ส่วนใหญ่ดั้งเดิมนามสกุลวงศ์ไอยรา ไปดูได้ งานบุญที่วัดสนามชัย ส่วนใหญ่พี่น้องกันทั้งนั้น" เฒ่าชราคนหนึ่งบอกกับผมในวันหนึ่งเมื่อเราแวะเข้าไปเที่ยววัดสนามชัย
เช่นเดียวกับคนเชื้อสายลาว พวกเขามีบ้านเรือนระเรื่อยริมฝั่งแม่น้ำ กระจายกันอยู่ทั่วไปในเมืองไทยมา แต่ยุคกรุงธนบุรีตราบต่อกรุงรัตนโกสินทร์ คนลาวในราชบุรีรวมถึงเจ็ดเสมียนย้ายครัวกันมาจากเวียงจันทน์ พวกเขาถูกเรียกว่า "ลาวตี้" ด้วยมักพูดลงท้ายด้วยคำที่ออกเสียงตี้เช่นกัน พวกเขานำมาซึ่งประเพณีวัฒนธรรมอันน่าศึกษาสัมผัส โดยเฉพาะประเพณีแห่ดอกไม้ท้ายสงกรานต์ ที่ว่ากันว่างดงามยิ่งนัก
ภาพผสมกลมกลืนของผู้คนในอดีตตกทอดอยู่ในชีวิตและการงานจนดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้วันนี้เด็กรุ่นใหม่อาจไม่ได้ใช้ภาษา "ดั้งเดิม" อย่างบรรพบุรุษ ทว่า ก็เมื่อไถ่ถามย้อนความลงไป ไม่มีใครหลงลืมว่าตัวเองมาจากไหน
เจ็ดเสมียน
สายเข้าหน่อย ผู้คนกลับสู่การงาน หรือไม่ก็พักผ่อนกันในบ้านเรือน เราเดินเลาะถนนสายเล็กหน้าชุมชนเจ็ดเสมียน เลียบทางรถไฟสายโบราณที่ไม่ไดเปลี่ยนแปลงไปสักเท่าใด "แต่ก่อนริมทางรถไฟมากไปด้วยการงาน อย่างว่าเราต้องอดทน" ป้าทองสุข พวงรอด ยืนอยู่หน้ากองหัวไชโป๊วที่สูงเกือบเท่าชื่อหลังคาของบ้านชั้นเดียว เสียงรถไถ กลิ่นหมักเกลือฟุ้งกำจาย "พูดถึงคนเจ็ดเสมียน ไม่มีใครไม่นึกถึงไชโป๊ว" แกว่าเช่นนั้น ยิ้มอย่างภูมิใจในวันคืนที่พ้นผ่าน
หากเข้ามาถึง เจ็ดเสมียน เสน่ห์ของตลาดเก่าและรอยยิ้มอันเรียบง่าย ล้วนปะปนอยู่ในการงานอย่างแยกไม่ออก การงานที่หล่อหลอมให้พวกเขามีตัวตนไม่ทิ้งร้างจากแผ่นดินอันอบอุ่น
"แต่ก่อนนะ ไม่สะดวกอย่างนี้ ใครนั่งรถไฟผ่านมาเห็นคนเจ็ดเสมียนปักเสียมปักดินเป็นวงกลม ยืนย่ำหัวไซโป๊วให้แน่นเป็นกลุ่ม ๆ อ้อ ส่วนใหญ่มีแต่ผู้หญิงน่ะที่ทำผู้ชายเขาไปอยู่ในไร่ในนา" เราเข้ามาในโรงงานไซโป๊วขนาดใหญ่ที่เติบโตมาถึงรุ่นที่ 3 เกลือจากบ้านแหลมเพชรบุรี ถูกเคล้ากับไซโป๊วเป็นต้น ๆ ด้วยรถเกรดขนาดเล็ก เสียงเซ็งแซ่ของแรงงานและเครื่องจักรปะปนกันไปอย่างมีเสน่ห์
จากการถนอมอาหารง่าย ๆ ของคนจีน กลายเป็นผลผลิตให้เร่ขายไปตามลำเรือแต่ครั้งแม่น้ำยังเป็นเส้นทางสัญจร ทุกวันนี้อาชีพดั้งเดิมของคนเจ็ดเสมียนกลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้การกินอยู่ของคนบ้านนี้ และรอบด้านมั่นคงลืมตาอ้าปากหรือดูแลขับเคลื่อนครอบครัวไปข้างหน้า
ป้าทองสุข พาผมเข้าไปในโรงงานขนาดย่อม ๆ หัวไซโป๊วจากอุทัยธานี นครสวรรค์ รวมทั้งเกลือ ที่แต่เดิมต้องขนถ่ายกันมาทางเรือ "ขนไปขายทั้งทางรถไฟ เรือนั่นละ ไปบ้านโป่ง แม่กลอง ตลาดพลูที่กรุงเทพฯ ก็ไป"
เจ็ดเสมียน
สมัยนี้ที่อะไร ๆ ก็ดู "ง่าย" ขึ้น ผลิตภัณฑ์หลากหลายทั้งแบบหวาน เค็ม หรือสามรส ขายเป็นชิ้นหรือซอยสไลซ์ หากทว่ารายละเอียด "ภายใน" ล้วนไม่เคยเปลี่ยน "การงานและชีวิตมันรอเราอยู่ข้างหน้า อยู่ที่เราจะหันเข้าหามันหรือเปล่า" ป้าทองสุขพูดเบา ๆ อยู่หลังบ้านดวงตามองออกไปยาวไกล คล้ายกับชีวิตที่เห็นมันเป็นเช่นนั้น เป็นเช่นแม่น้ำตรงหน้าที่ไม่มีวันไหลกลับ เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม หากแต่ก็พร้อมเสมอที่จะให้ร่วมหลากไหลไปกับเราอย่างอาทร
บางอย่างต่อยอดเติบโต ขณะที่บางแง่มุมก็คล้ายใกล้หายสูญ เราผ่านสายลมทุ่ง เลาะคลองชลประทานเข้าไปหาชายผู้อยู่หน้าไฟร้อนแรงและเหล็กกล้า ผ่านมาจากรุ่นก๋ง ไพรัช อารีย์ ไม่รู้สึกงาน "ตีมีด" ของเขาได้หล่นหายไปไหน แม้รายรอบจะเหลือครอบครัวเพียงหนึ่งเท่านั้น ที่เลือกเดินไปตามเส้นทางนี้
"มีดตีจากมือมันทนทาน ทนกว่ามีดปั๊มบล็อกเยอะ" เหตุผลนี้แสนง่าย คล้ายกำปั้นทุบดิน ทว่า มันคือหัวใจและรายละเอียดของคนเป็นช่างตีมีด ที่ยังทำให้เขายังยืนหยัดจะหันหน้าเข้าหามันอยู่
ผมมาถึงในวันที่เขาหยุดพักซ่อมแซมบ้าน เหล็กที่รอขึ้นรูปก่ายกองอยู่หน้าเตาหลอม "แต่เดิมตีกันกลางนาโน่น รุ่นปู่ รุ่นพ่อเขาสร้างเตาอิฐไว้ตรงนั้น" เขาว่าเหล็กอรัญญิกจากอยุธยานั้นเป็นเลิศ ตีให้เป็นไปตามใจนั้นง่ายที่สำคัญ "ทนยิ่งกว่าเหล็กใด ๆ บางคนนะ ซื้อพร้า ซื้อมีดไปที ใช้กันลืมเลยละ" เขาว่าอย่างคน "เข้าใจเหล็ก"
เราคุยกันอยู่นาน เรื่องผลิตภัณฑ์อันหลากหลายชนิดบ้าง การซื้อขายหรือนิยมในปัจจุบันบ้าง บางคราวก็เข้าไปถึงเรื่องราวภายในของคนเป็นช่าง "ตีเหล็กมันเป็นงานโบราณ ไม่สืบทอดมันก็มีแต่หายไป" ว่ากันง่าย ๆ คือใจคนนั้นสำคัญกว่าเหล็ก
เปลี่ยนรูป วิธีใช้ หรือแนวทางกันได้ แต่ "เนื้อใน" ล้วนต้องแข็งแกร่งคงทนเช่นที่เคยเป็น
เจ็ดเสมียน
รอยยิ้ม ณ ปัจจุบัน
ห้องแถวไม้สองฝั่งที่โอบล้อมตลาดเจ็ดเสมียนเรียงรายรวมกันราว 30 ห้อง ว่าไปในสายตาคนเกือบสามรุ่นที่ผ่านมันมา มันผ่านทั้งเรื่องราวรุ่งเรืองและซบเซา คนรุ่นหลัง ๆ บางคนโยกย้ายเข้าเมืองไปตามเงื่อนไขของชีวิต และวันเวลาที่ก้าวไปข้างหน้า
"ไม่มีอะไรเหมือนเดิมหรอก อยู่ที่ว่าเราจะอยู่กับมันอย่างไร" ชัยวิทย์ และ ณภัทรชนม์ อภิรัตน์อุดมชัย บอกกับผมเมื่อเราใช้ยามบ่ายกันในห้องแถวไม้ท้าย ๆ ตลาดก่อนถึงแม่น้ำ แวดล้อมด้วยภาพเขียน ประติมากรรม ผลงานของทั้งคู่ และอีกมากมายเป็นชิ้นงานของเด็ก ๆ ในชุมชน คืนวันแห่งความปรับเปลี่ยนมาเยือนคนเจ็ดเสมียนพร้อม ๆ กับพวกเขา
"เราเลือกศิลปะ มันสื่อกับคนได้ทุกที่" ชัยวิทย์ ว่าไว้ เช่นนี้ ชมรมศิลปะวันว่างของทั้งคู่จึงแทรกตัวอยู่ในตลาดเจ็ดเสมียนอย่างกลมกลืน เป็นที่รวมของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสื่อสารกับโลกภายนอกถึงบ้านเกิดเล็ก ๆ ของเขาผ่าน "งาน" หลายรูปแบบ ว่ากันตามตรง ภาพ "ร่วมสมัย" เช่นนี้เริ่มอยู่ในการรับรู้ของคนเจ็ดเสมียนมาราวปีกว่า ๆ
"เริ่มจริง ๆ ก็จากครูเล็กกับครูนายนั่นละค่ะ" ณภัทร์ชนม์ หมายถึง ภัทราวดี มีชูธน กับ มานพ มีจำรัส สองศิลปินการแสดงร่วมสมัยที่ไม่ต้องการให้ตลาดเจ็ดเสมียนค่อย ๆ จางคลายอดีตกว่า 119 ปี ลงไปกับการเปลี่ยนผ่านของวันเวลา
"แม่ครูนายแกเป็นคนที่นี่ค่ะ เลยเกิดการรวมตัวคนทำงานศิลปะหลากหลายแขนงเข้ามาที่เจ็ดเสมียน"
ฟังดูเหมือนเรื่องในนิทาน ที่การแสดง "สมัยใหม่" จะฟื้นฟูตลาดเก่า ทว่างาน all about arts ที่จัดทุกสิ้นเดือนก็ต่อเนื่องยาวนานมาได้เป็นปี ดึงคนให้เข้ามาเห็นหลายอย่างของเจ็ดเสมียนที่ซุกซ่อน และบางสิ่งบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงปรับปรุง
"วันที่เราตกลงกันว่าจะเริ่ม ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ" สุทิธเดช ลิ้มธีระกุล ผู้ใหญ่บ้านหนุ่ม ผ่านยามบ่ายไปพร้อมกับภาพของเจ็ดเสมียนที่เขาและพี่ป้าน้าอาเลือกให้บ้านของพวกเขาเป็น ว่าไปแล้ว ที่นี่มากมายด้วยศิลปวัฒนธรรมของผู้คนท้องถิ่นเดิม ทั้งเพลงพื้นบ้าน การเข้าทรง หรือแม้แต่การละเล่น เต็มอยู่ซึ่งความคิดความเชื่อแบบโบราณ แต่ไม่น่าเชื่อ ที่สิ่งเหล่านั้นมารวมอยู่ด้วยกันกลางโลกสมัยใหม่ได้อย่างน่าทึ่ง
"ทุกสิ้นเดือนเราอาจเห็นละครเรื่องหนึ่งดำเนินไปในยามเย็น" ชัยวิทย์ พูดถึงห้วงเวลาของงานออล อะเบาต์ฯ ตลาดมากมายด้วยของกินนานา รูปเขียน การแสดงทางหัตถกรรม ที่ลานโพธิ์ เด็ก ๆ ตีขิม คุณยายสักคนร้องบทเชื้อเชิญนางด้ง เต้นรำไปราวกับโลกทั้งใบเป็นเรื่องของการสักการะ ขณะที่ริมน้ำ เวทีง่าย ๆ ยกพื้นกลายเป็นที่ทางของศิลปะการแสดงเพอร์ฟอแมนซ์ โมงยามเช่นนั้น ด้วยเรี่ยวแรงใจของคนเจ็ดเสมียนราว กับทุกการเคลื่อนไหวตรงหน้านั้นมีอยู่เพื่อตัวพวกเขาเอง
ต่อหน้าลานที่เป็นตลาดชุมชน ในยามบ่าย ตรอกซอกที่ติดรูปโบราณของเจ็ดเสมียนล้อไปกับภาพเขียนยุคใหม่อย่างอย่างมีมิติ ผมเดินเข้าไปในโรงละเล็ก-ห้องแถวไม้ที่ภายในขรึมขลังด้วยเวที แสงบ่าย ผ้าม่าน และการตกแต่งที่ไม่หนีอดีตของตลาด
เจ็ดเสมียน
รูปถ่ายครูนายของเด็ก ๆ ในหน้ากากเขียนลายกลางแสงแบบ "ละคร" ประดับอยู่เต็มผนัง แม้เวทีเล็ก ๆ ท้ายเรือนแถวจะว่างเปล่า ม่านผ้าสีขาวปลิวไหวในลมบ่ายอยู่เอื่อย ๆ แต่ภาพบางภาพก็จินตนาการได้ไม่ยาก
"ละครและศิลปะทำให้คนมารวมกันได้ครับ" ชัยวิทย์เดินตามเข้ามา เราพูดคุยกันถึงบรรยากาศในโรงละครเล็กที่เวลาจัดแสดงจะมากด้วยความมีชีวิตชีวา ร้านกาแฟสดด้านหน้าเนืองแน่นลูกค้า เด็ก ๆ รู้จักการทำงานเป็นทีม ดูฉาก เช็ตไฟ ดูคิวการแสดง ขณะที่นักแสดงเลือดเจ็ดเสมียนอย่างครูนายและคนอื่น ๆ จมหายและเปลี่ยนตัวตนไปกับท่วงท่าสะท้อนเรื่องราวที่กำหนด
จากห้องแถวไม้เล็ก ๆ หยาดเหงื่อและรอยยิ้มของใครหลาย ๆ คนที่นี่อาจทำให้คนมาเยือนได้เห็นถึงความตั้งใจของพวกเขา ความมุ่งมั่นที่จะบอกว่า ตำบลเล็ก ๆ ริมแม่น้ำแห่งหนึ่งมีเรื่องราวมากกว่าประตูไม้บานเฟี้ยม เสียงจอแจในตลาด หรือเรื่องเล่าที่ค่อย ๆ จางคลายตามยุคสมัย ทว่า อย่างถึงที่สุด อาจเพียงเพื่อทำให้บ้านหลังใหญ่ที่หล่อหลอมของพวกเขามา ไม่เลือนหายไปตามกระแสวันเวลา
ทุกเช้าจดเย็นที่ เจ็ดเสมียน แม้งานที่พวกเขาแสนภูมิใจจะเวียนมาไม่ถึง ทว่า ในทุกห้องแถวที่โอบล้อมตลาดเล็ก ๆ แห่งนี้ไว้ก็มากมายเรื่องราวให้เราเข้าไปทำความรู้จัก เรื่องราวต่าง ๆ ของ เจ็ดเสมียน อาจไม่ได้ถูกซุกซ่อนไว้ตามตู้โบราณ รอการมาค้นพบและอิ่มเอมกับอดีตของใครสักคนแต่เพียงครู่ แล้วจากไปเหมือนขบวนรถไฟสายด่วน
ทว่า สำหรับคนที่นี่ มันอบร่ำอยู่ในเนื้อไม้ มวลแม่น้ำผืนแผ่นดิน รวมไปถึงทุกฉากผ่านที่เคลื่อนเข้ามาในแววตา
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ปีที่ 50 ฉบับที่ 7 กุมภาพันธ์ 2553