คู่มือเที่ยวอุ้มผาง สัมผัสธรรมชาติที่สวยบริสุทธิ์



คู่มือเที่ยวอุ้มผาง (อ.ส.ท.)

 
          อุ้มผาง สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดตาก ที่ใคร ๆ ก็อยากไปเยือน วันนี้เรารวบรวมสถานที่เที่ยว อุ้มผาง เพื่อชมความงามของธรรมชาติ มาฝาก

 
เปิดเมืองอุ้มผาง

          "อุ้มผาง" เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดตาก ตั้งอยู่ท่ามกลางป่าเขาสูง การคมนาคมค่อนข้างลำบาก มีทางเข้าออกเพียงเส้นทางเดียว คือ ทางหลวงหมายเลข 1090 (แม่สอด-อุ้มผาง) อุ้มผางเป็นอำเภอที่อยู่ห่างไกลจากตัวอำเภอเมืองฯ มากที่สุด และอำเภอนี้มีขนาดพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย นับช่วงเวลาที่ผ่านมา เมืองอุ้มผางเติบโตอย่างช้า ๆ จากที่สงบเงียบก็กลายเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในด้านการท่องเที่ยว โดยมีน้ำตกทีลอซูเป็นตัวกระตุ้นให้อุ้มผางก้าวตามกระแสการท่องเที่ยว จากเมืองที่ไม่มีคนเข้ามาเที่ยว กลับมีคนมาเที่ยวมากมาย จากที่ไม่เคยมีที่พักกลับมีรีสอร์ทนับสิบ ๆ แห่ง ซึ่งทุกวันนี้การท่องเที่ยวในเมืองอุ้มผางเติบโตมีการขยายตัวหลายด้าน รวมทั้งมีสิ่งอำนวยความสะดวก อย่างธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก แม้กระทั่งในช่วงที่การท่องเที่ยวตื่นตัวมาก ๆ ก็มีสายการบินขนาดเล็กบินตรงจากกรุงเทพฯ ถึงอุ้มผาง แต่ก็ไม่คุ้มทุน

          จากธรรมชาติผืนป่าเขาดอยสูงที่สร้างความสวยงามให้กับเมืองอุ้มผาง มีการนำมาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เมืองชุมชน และคนอุ้มผางอย่างมาก นักท่องเที่ยวบางคนมาอุ้มผางครั้งแรกก็ต้องมาอุ้มผางอีกหลาย ๆ ครั้ง...เพราะธรรมชาติที่สวยบริสุทธิ์คือคำตอบที่ดีที่สุดของการกลับมานั่นเอง
น้ำตกทีลอซู สายน้ำตกอลังการแห่งป่าอุ้มผาง



          การท่องเที่ยวเกิดขึ้นในพื้นที่อุ้มผางได้เพราะน้ำตกทีลอซูที่มีความงามยิ่งใหญ่ เกินกว่าจะมีทีไหนมาเปรียบเทียบ ทีลอซูเป็นน้ำตกหินปูนขนาดใหญ่และสวยงาม อันเกิดจากสายน้ำห้วยกล้อทอที่ไหลมาจากบ้านแม่จันหรือบ้านกล้อทอ ไหลทะลุถ้ำออกมา ผ่านหมู่บ้านและผืนป่าใหญ่ แล้วไหลผ่านหน้าผาสูงชันเกิดเป็นน้ำตกทีลอซูขึ้นมา โดยน้ำตกทีลอซูมีแนวหน้าผากว้างประมาณ 100 เมตร สายน้ำไหลผ่านป่าทึบบนยอดน้ำตกลงตามแนวหน้าผาสูงและกว้าง ถัดจากนั้นจะไหลผ่านชั้นใหญ่อีกชั้นหนึ่ง ตกมารวมเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ ก่อนที่จะผ่านชั้นน้ำตกชั้นเล็ก ๆ ลงมาอีกชั้นหนึ่ง แล้วแผ่กระจายลงสู่ลำธาร

          การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวน้ำตกทีลอซูสามารถเข้ามาทางรถยนต์ (ปิกอัพหรือรถขับเคลื่อนสี่ล้อ) จากตัวเมืองอุ้มผางาถึงปากทางเข้าซึ่งเป็นถนนลาดยาง มีระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร ต่อจากนั้นจะเป็นถนนดินในป่า ระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ก็จะถึงสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ซึ่งมีลานตั้งแคมป์ ห้องน้ำสามารถพักค้างแรมได้ จากนั้นจะมีเส้นทางเดินเท้าเข้าไปชมน้ำตกอีก ประมาณ 1.5 กิโลเมตร สามารถมองเห็นภาพน้ำตกทีลอซูที่สวยงามยิ่งใหญ่อยู่ตรงหน้า หรือนักท่องเที่ยวจะเลือกเดินทางด้วยการล่องเรือยางตามลำน้ำแม่กลองจะผ่านน้ำตกทีลอจ่อ น้ำตกสายรุ้ง ธารน้ำร้อน แก่งน้อยใหญ่ และโตรกผา ป่าเขาที่สวยงาม แล้วต่อรถที่หน่วยพิทักษ์ป่าผาเลือดเข้าไปยังน้ำตกทีลอซู เป็นอีกบรรยากาศของการท่องเที่ยวที่ครบวงจร 

          ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะเลือกพักตั้งแคมป์ในบริเวณป่าน้ำตกทีลอซูเพื่อสัมผัสบรรยากาศอย่างใกล้ชิด เช้าวันรุ่งขึ้นก็สามารถชมน้ำตกทีลอซูได้อย่างเต็มอิ่ม พร้อมเที่ยวชมศึกษาธรรมชาติภาพป่าใกล้กับน้ำตก บางครั้งอาจได้พบกระโถนฤๅษี ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่หาชมได้ยากอีกชนิดหนึ่ง

          ความสวยงามของน้ำตกทีลอซู จะแตกต่างกันไปตามช่วงฤดูกาล ถ้าเป็นช่วงหน้าฝนเราจะเห็นน้ำตกที่มีสายน้ำไหลหลากเต็มผา สวยงามและยิ่งใหญ่ ถ้าลงไปดูจากมุมด้านล่างก็จะพบกับละอองน้ำฟุ้งกระจายตามความรุนแรงของสายน้ำที่ไหลตกลงมา จนไม่สามารถเข้าใกล้น้ำตกได้ หากเป็นช่วงหมดฝนเข้าฤดูหนาวสายน้ำตกทีลอซูก็จะสวยงามอีกแบบหนึ่ง ในฤดูกาลนี้สามารถเข้าไปสัมผัสน้ำตกได้อย่างใกล้ชิดด้วย

           ฤดูกาลท่องเที่ยว : ช่วงปลายเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนมกราคม หลังจากนั้นน้ำจะน้อย ส่วนช่วงหน้าฝนมีน้ำเยอะ แต่การเดินทางยากลำบาก (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางจะปิดเส้นทางถนนน้ำตกในช่วงวันที่ 1 มิถุนายน ถึงวันที่ 30 กันยายนทุกปี)

           สิ่งอำนวยความสะดวก : บริเวณน้ำตกมีลานกางเต็นท์ ห้องน้ำ มีสัญญาณโทรศัพท์ของ AIS

           ข้อแนะนำ : การเดินทางไปยังน้ำตกทีลอซูค่อนข้างลำบากสักนิด ไม่สามารถนำอาหารและเครื่องดื่มเข้าไปยังบริเวณน้ำตกได้ จะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจตราตรงด่านทางเดินเข้าน้ำตก

           โปรแกรมท่องเที่ยว : ควรใช้เวลา 2 วัน 1 คืน หรือ 3 วัน 2 คืน ซึ่งรวมการล่องแก่งแม่กลอง น้ำตกทีลอจ่อ รวมถึงเที่ยวดอยหัวหมดด้วย

          ติดต่อสอบถาม : สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้งผาง โทรศัพท์ 0 5557 7318, 08 8427 5272

น้ำตกทีลอเล สายน้ำผจญภัยในป่าใหญ่



          แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของผืนป่าอุ้งผาง นอกเหนือจากน้ำตกทีลอซูแล้วก็ยังมีน้ำตกเล็ก ๆ ที่สวยงามแปลกตา และยังคงความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่ซ่อนตัวอยู่กลางไพรลึกซึ่งมีความยากที่จะเข้าถึง เช่น น้ำตกทีลอเล ซึ่งเป็นน้ำตกขนาดเล็ก แต่โดดเด่นด้วยการเป็นน้ำตกที่ไหลลงสู่ลำน้ำแม่กลอง และเป็นน้ำตกเข้าถึงได้ด้วยการล่องแก่งผจญภัยไปตามลำน้ำแม่กลองเท่านั้น 

          นอกเหนือจากธรรมชาติที่งดงามของผืนป่าและสายน้ำแล้ว การเดินทางสู่น้ำตกทีลอเลจะต้องผ่านโขดแก่งน้อยใหญ่จำนวนมาก ความยากของการล่องแก่งอยู่ในระดับ 2-4 และต้องใช้เวลาพักค้างแรมกลางป่าเป็นเวลา 2 คืน ขาไปเป็นการล่องแก่งไปตามสายน้ำแม่กลอง ส่วนขากลับต้องเดินป่าระยะทางไกลมาก ดังนั้นการท่องเที่ยวน้ำตกทีลอเลจึงควรเลือกใช้บริการของทัวร์ท้องถิ่นที่มีความชำนาญเป็นพิเศษ ทั้งการล่องแก่ง การเดินป่า การขนสัมภาระ การจัดการอาหาร รวมทั้งการนั่งช้าง เส้นทางล่องแก่งไปชมน้ำตกทีลอเลเริ่มต้นที่บ้านปะละทะ ไปตามสายน้ำแม่กลองที่มีแหล่งกำเนิดจากสายห้วยน้อยใหญ่จากผืนป่าอุ้มผาง ก่อนที่สายน้ำจะไหลผ่านกาญจนบุรีราชบุรีและสิ้นสุดที่ปากแม่น้ำทางด้านอ่าวไทย จังหวัดสมุทรสงคราม

          ช่วงแรกของการล่องแก่งจะผ่านแนวโตรกผาสูงชันที่โอบขนาบลำน้ำไว้ คือ ผาเลกะติ พร้อมด้วยแก่งหินขวางลำน้ำเป็นช่วง ๆ จากนั้นจะถึงแก่งเจ็ดหมื่น แก่งนี้จัดอยู่ในระดับ 3-4 ถัดมาก็คือแก่งบุญช่วย เป็นแก่งใหญ่ ระดับความยาก 3-4 เช่นกัน ธรรมชาติสองฝั่งลำน้ำแม่กลองมีลักษณะเป็นโตรกผาสูงที่โอบขนาบสายน้ำ เป็นธรรมชาติที่สวยแปลกตาเราอาจมีโอกาสได้พบกับสัตว์ป่าจำพวกนก ลิง เลียงผา หากเป็นจังหวะดี ๆ จะเห็นกวางกำลังข้ามน้ำ ซึ่งเป็นภาพที่หาดูได้ยากมาก

          แนวโตรกผาสูงชันที่บีบลำน้ำบางช่วงให้แคบลง เกิดเป็นแก่งน้อยใหญ่ยาวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นบริเวณที่เรียกว่าแก่งคนมอง เป็นแก่งที่อันตรายกว่าแก่งอื่น ๆ จึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ อย่าประมาท เพราะมีร่องน้ำที่แคบมากและมีแก่งยากต่อเนื่อง ต่อจากนั้นก็ล่องไปยังบริเวณที่ตั้งแคมป์ริมน้ำ ที่เรียกกะชอจิ๊ทะ และเช้าวันรุ่งขึ้น จึงล่องไปเที่ยวชมน้ำตกทีลอเล ซึ่งอยู่ถัดลงไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ต้องล่องเรือเปล่า โดยไม่มีข้าวของสัมภาระ ซึ่งจะต้องผ่านแก่งใหญ่อีกหนึ่งแก่ง แล้วตอนขากลับต้องช่วยกันพายเรือทวนน้ำขึ้นมา เพราะไม่สามารถล่องลงไปได้อีก หลังจากผ่านโตรกผาแคบ ๆ ก็จะได้เห็นสายน้ำตกทีลอเลไหลพรั่งพรูจากหน้าผาสูงทางด้านขวามือมีความสูงประมาณ 20 เมตร ไหลตกลงสายน้ำแม่กลอง สามารถพายเรือยางเข้าไปหาน้ำตกได้อย่างใกล้ชิด โดยอยู่ใต้ม่านน้ำตกที่ไหลลงมาสำหรับน้ำตกทีลอเล เป็นสายน้ำที่ไหลมาจากลำห้วยที่ลอดใต้ดิน แล้วไหลออกมาเป็นน้ำตก

          หลังจากเที่ยวชมน้ำตกทีลอเลกันเต็มที่แล้ว จะต้องพายเรือทวนน้ำย้อนขึ้นไปยังจุดพักค้างแรมที่กะชอจิ๊เล แล้วจะมีข้างมาแบกขนสัมภาระกลับ ซึ่งต้องไปพักค้างกลางป่าอีกคืน ก่อนจะเดินทางกลับสู่บ้านเซปละ ซึ่งเป็นจุดที่รถเข้ามารับได้ใกล้ที่สุด

           ฤดูกาลท่องเที่ยว : ควรออกไปท่องเที่ยวในช่วงเดือนธันวาคม-มิถุนายน หน้าแล้งน้ำน้อยเรืออาจติดหินบ่อย

           รูปแบบการท่องเที่ยว : เป็นการล่องแก่งผจญภัยรวมทั้งมีการเดินป่าระยะทางไกล นักท่องเที่ยวควรมีความพร้อมในการเดินป่าเป็นพิเศษ

           สิ่งอำนวยความสะดวก : เส้นทางท่องเที่ยวสายนี้ถ้าจะให้สะดวกควรเลือกใช้บริการทัวร์ท้องถิ่นในอุ้มผางที่ความชำนาญเป็นพิเศษ

           โปรแกรมท่องเที่ยว : เส้นทาเดินป่าสายนี้เป็นเส้นทางระยะไกล ต้องใช้เวลา 3 วัน 2 คืน

กระแสนิยมคนรุ่นใหม่ที่น้ำตกปิตุ๊โกร



          เมื่อกระแสการท่องเที่ยวธรรมชาติมีการพัฒนาเป็นกระแสของคนรุ่นใหม่ มีการนำเสนอรูปแบบให้ทันสมัยอยู่เสมอ จึงทำให้ภาพน้ำตกปิตุ๊โกรได้รับฉายาว่า "น้ำตกรูปหัวใจ" ที่กำลงมาแรงในสื่อออนไลน์ถึงแม้ว่าการเดินทางสู่นำตกแห่งนี้จะต้องแบกเป้ เดินป่า ลุยฝน นอนค้างแรมกลางป่าในช่วงฤดูฝน ซึ่งมีความยุ่งยากต่อการใช้ชีวิตในป่ามากกว่าที่อื่น ๆ แต่หัวใจที่ปรารถนาจะยลโฉมความงามของสายน้ำตกรูปหัวใจที่ไหลผ่านหน้าผาสูงชัน ทุกคนก็พยายามไปจนถึง
         
          ในพื้นที่ชายแดนด้านตะวันตกของอำเภออุ้มผาง มีดอยมะม่วงสามหมื่นที่มีสันเขาแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับเมียนมาร์ ซึ่งเป็นแหล่งต้นกำเนิดของสายน้ำตกที่สูงที่สุดในประเทศ คือ น้ำตกปิตุ๊โกร ที่เกิดจากสายน้ำห้วยปิตุ๊โกรจากดอยแห่งนี้ และเป็นน้ำตกที่มีความสวยงามในช่วงหน้าฝนที่มีฝนตกหนักเท่านั้น หากเป็นช่วงฤดูกาลอื่นหรือแล้งฝนก็ไม่สวยเท่ากับช่วงฝนตกชุก การเดินทางสู่น้ำตกแห่งนี้เริ่มที่บ้านกุยเลอตอ เป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่อยู่ในเส้นทางสายอุ้มผาง-บ้านเปิ่งเคลิ่ง มีชาวกะเหรี่ยงเป็นผู้นำทางและเป็นลูกหาบ ต้องใช้เวลาเดินเท้าข้ามเขา 3-4 ลูก และลงไปยังหุบเขาด้านล่าง เป็นหุบลำธารที่ไหลมาจากน้ำตก ปัจจุบันมีเส้นทางใหม่ที่ง่ายกว่า โดยเดินผ่านไร่แล้วเลียบเลาะทวนสายน้ำขึ้นไปใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 3-4 ชั่วโมง

          จุดพักค้างแรมกลางป่าตั้งอยู่ไม่ไกลจากน้ำตกมากนัก ใกล้แหล่งน้ำและสามารถเดินเข้าไปชมน้ำตกสองสายที่ไหลมาบรรจบเกิดเป็นน้ำตกรูปหัวใจ โดยมีเส้นทางเดินเท้าที่ต้องเดินเลาะไต่ขึ้นไปตามโขดหินบ้าง ซึ่งจะมีลูกหาบหรือไกด์ท้องถิ่นช่วยดูแล การเที่ยวป่าบนดอยมะม่วงสามหมื่น ซึ่งมีทั้งน้ำตกและจุดชมวิวบนสันเขาสูง มีจุดพักค้างแรมอยู่ข้างบนสามารถมองเห็นทุ่งหญ้าบนสันเขา มองเห็นเทือกเขาสลับซับซ้อนในพื้นที่ฝั่งไทยและมองเห็นผืนป่าทางฝั่งเมียนมาร์ด้วย หากอยู่บนสันเขาเราจะมองเห็นสายน้ำตกปิตุ๊โกรไหลพาดผ่านหน้าผาสูงชันลงมาสองสาย แล้วไหลรวมกันในบริเวณหุบเขาด้านล่าง มีรูปลักษณ์รูปหัวใจสวยงาม 

          เนื่องจากว่าบนสันเขาเป็นจุดชมวิวที่ดีในช่วงยามเช้าตรู่ เราจะได้เห็นภาพทะเลหมอกที่แผ่คลุมตามขุนเขาน้อยใหญ่ บ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของผืนป่าตะวนตกและเป็นป่าต้นน้ำชั้นหนึ่ง ก่อเกิดเป็นสายน้ำสำคัญหลายสาย เช่น ห้วยแม่จัน ห้วยกล้อทอ ห้วยแม่กลอง เป็นต้น น้ำตกปิตุ๊โกรซึ่งเคยเป็นสายน้ำที่คนผ่านทางได้แค่ชำเลืองมอง ณ วันนี้ได้กลายเป็นน้ำตกที่มีมนตร์เสน่ห์ให้ผู้คนได้ไปสัมผัสอย่างใกล้ชิด แม้ว่าจะเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่มีความยากลำบากตามรูปแบบของการเที่ยวป่าเที่ยวดอยในยามหน้าฝน แต่ทุกคนต่างก็ประทับใจในธรรมชาติที่สวยบริสุทธิ์

           ฤดูกาลท่องเที่ยว : ประมาณเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม

           รูปแบบการท่องเที่ยว : เป็นการเดินป่าที่ต้องพักแคมป์กลางป่า ควรใช้เวลาประมาณ 3 วัน 2 คืน

           สิ่งอำนวยความสะดวก : มีลานกางเต็นท์บริเวณน้ำตกและบนสันเขา มีชาวบ้านนำทางและเป็นลูกหาบ หรือจะเลือกซื้อบริการจากทัวร์ท้องถิ่นในอุ้มผางก็ยิ่งสะดวก 

           ติดต่อลูกหาบ : สามารถติดต่อสอบถามลูกหาบ คนนำทาง ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 5557 6270 ติดต่อลุงอำนวย ซึ่งประสานเรื่องลูกหาบคนนำทางได้

           โปรแกรมท่องเที่ยว : เส้นทางเดินป่าสายนี้ควรใช้เวลา 2 วัน 1 คืน หรือ 3 วัน 2 คืน จะได้เที่ยวชมธรรมชาติได้เต็มอิ่ม


เที่ยวหลายรสชาติที่ขุนน้ำอุ้มผางคี



          ผืนป่าตะวันตกอุ้มผางซึ่งเป็นผืนป่าต้นน้ำชั้นหนึ่งมีลำห้วยลำน้ำสาขามากมาย แล้วไหลรวมเป็นห้วยใหญ่ เช่น ห้วยอุ้มผาง ที่เกิดจากผืนป่าทางด้านตะวันออก ติดกับผืนป่าแม่วงก์แล้วไหลผ่านตัวเมืองอุ้งผางไปรวมกับลำน้ำแม่กลอง ซึ่งกลายเป็นเส้นทางล่องเรือยางท่องเที่ยวหลักเส้นทางหนึ่ง ส่วนทางด้านห้วยอุ้มผางนั้นก่อกำเนิดจากผืนป่าทุ่งใหญ่ฯ ไหลผ่านหมู่บ้านกะเหรี่ยง คือ บ้านอุ้มผางคี ซึ่งปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวล่องแก่งผจญภัย ชมวิถีชีวิตชนเผ่ากะเหรี่ยง และยังมีกิจกรรมนั่งช้างสร้างสรรค์รูปแบบการท่องเที่ยวให้ความสมบูรณ์มากขึ้น

          เริ่มต้นจากตัวเมืองอุ้มผางนั่งรถปิกอัพเข้าไปยังหมู่บ้านอุ้มผางคี นักท่องเที่ยวบางกลุ่มต้องการไปพักค้างแรมโฮมสเตย์ที่หมู่บ้านเพื่อสัมผัสบรรยากาศวิถีคนบนดอย บางกลุ่มก็มุ่งเป้าหมายเพื่อไปล่องแก่งเพียงอย่างเดียว ภายในหมู่บ้านกะเหรี่ยงอุ้งผางคีแม้ว่าจะมีพัฒนาขึ้นมาระดับหนึ่งแล้ว แต่วิถีชีวิตของการดำรงอยู่แบบกะเหรี่ยงก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้าง โดยเครื่องแต่งกายของผู้หญิงกะเหรี่ยง การเลี้ยงช้างไว้ใช้งาน ซึ่งปัจจุบันได้รับการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว จึงมีกิจกรรมการนั่งช้างมารวมเข้าในโปรแกรมการล่องแก่งห้วยอุ้มผางคีด้วย เส้นทางล่องแก่งห้วยอุ้มผางคีอยู่ทางต้นน้ำ เหนือหมู่บ้านขึ้นไปอีกเป็นเส้นทางที่ไปเชื่อมต่อกับป่าแม่วงก์ และทางหลวงหมายเลข 1117 (คลองลาน-อุ้มผาง) ซึ่งสร้างขึ้นมาแล้วแต่ถูกยกเลิกโครงการในเวลาต่อมา ปัจจุบันภาพที่เหลือเป็นร่องรอยถนนที่รกร้างด้วยพงหญ้า กับสภาพป่าที่กลับฟื้นคืนมาใหม่อีกครั้ง

          จุดเริ่มต้นการล่องแก่งมีลักษณะเป็นการเดินป่าเลาะตามลำห้วย ต้องลุยข้ามน้ำไปมาหลายครั้ง ส่วนคนที่นั่งช้างก็จะได้รับบรรยากาศการขี่ช้างลุยน้ำท่ามกลางผืนป่าหน้าฝน เพราะเป็นฤดูกาลที่เหมาะกับการล่องแก่งระดับน้ำพอเหมาะ ระดับความยากในการลองแก่งอยู่ที่ประมาณ 2-4  สายน้ำอุ้มผางช่วงตอนบนประกอบด้วยโขดแก่งน้อยใหญ่มากมาย ป่าสองข้างมีลักษณะเป็นป่าสูงตามภูมิประเทศที่สูงชันมาก จึงทำให้มีโขดแก่งสูงชันไปด้วย บางช่วงมีลักษณะเป็นแก่งที่เลี้ยวลดไปตามร่องกระแสน้ำและโขดหิน (การล่องแก่งแต่ละครั้งต้องสวมเสื้อชูชีพ สวมหมวกกันน็อก ทัวร์ล่องแก่งบางกลุ่มเริ่มละเลยเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ดังนั้นนักท่องเที่ยวเองกควรเรียกหามาตรฐานที่เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยของตัวเองด้วย)

          แก่งเล็กแก่งน้อยบนสายน้ำห้วยอุ้มผางคีมีอยู่มากมาย สำหรับแก่งค้างคาวจัดว่าดุดันมิใช่น้อย ต้องระมัดระวังกิ่งไม้ริมน้ำที่อาจเกี่ยวให้เราร่วงตกน้ำได้ บางแก่งเป็นแก่งที่ลดระดับอย่างต่อเนื่อง สร้างความสนุกสนานให้คนรักการผจญภัยได้ไม่น้อย จนกระทั่งมาสิ้นสุดที่หมู่บ้านอุ้มผางคี ซึ่งเป็นโปรแกรมท่องเที่ยวที่สามารถจบได้ในเพียงวันเดียว จากนั้นนักท่องเที่ยวก็กลับไปพักตามรีสอร์ทในตัวเมืองอุ้มผาง หรือจะค้างแรมในหมู่บ้านกะเหรี่ยงก็ได้

           ฤดูกาลท่องเที่ยว : ควรเลือกช่วงฤดูฝนประมาณเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป และสามารถเที่ยวได้จนถึงเดือนธันวาคม

           รูปแบบการท่องเที่ยว : เป็นการล่องแก่งผจญภัย และยังมีการเดินป่าระยะสั้นนักท่องเที่ยวควรมีความพร้อมในการเดินป่าเป็นพิเศษ

           สิ่งอำนวยความสะดวก : ถ้าจะให้สะดวกควรเลือกใช้บริการทัวร์ท้องถิ่นในอุ้มผางที่มีความชำนาญเป็นพิเศษ

           โปรแกรมท่องเที่ยว : เส้นทางส่องแก่งอุ้มผางคี ชมวิถีชีวิตกะเหรี่ยง ควรใช้เวลา 2 วัน 1 คืน หรือโปรแกรมล่องแก่งวันเดียว


ล่องแก่งผจญภัยที่ขุนน้ำแม่กลองใหญ่



          ผืนป่าตะวันตกทางอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก คือ แหล่งกำเนิดแม่น้ำสายหลักอีกสายหนึ่งประเทศ มีการต่อยอดไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า คือ สายน้ำแม่กลองที่ไหลผ่านกาญจนบุรี เรียกชื่อว่าแควใหญ่ ครั้นไหลเข้าราชบุรี สมุทรสาคร ก็เรียกเป็นแม่กลอง มีต้นกำเนิดมาจากลำห้วยสาขามากมายที่อยู่ทางผืนป่าอุ้มผางเริ่มต้นจากลำห้วยสาขา ห้วยแม่กลองน้อย ห้วยแม่กลองใหญ่ หล่อหลอมเป็นลำน้ำแม่กลอง ก่อเกิดกิจกรรมท่องเที่ยวในอำเภออุ้มผางขึ้นมา 

          ธรรมชาติของผืนป่าสมบูรณ์ได้ก่อเกิดศักยภาพด้านการท่องเที่ยวให้กับอุ้มผาง ซึ่งในพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่กลองมีการค้นพบเส้นทางล่องแก่งผจญภัยอีกเส้นทางหนึ่ง คือ การล่องแก่งแม่กลองใหญ่หรือแม่กลองคี ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของพื้นที่อุ้มผางในช่วงเส้นทางลอยฟ้าสายแม่สอดอุ้มผาง ช่วงกิโลเมตรที่ 106 คือจุดเริ่มต้นการล่องแก่งห้วยแม่กลองใหญ่ โดยสายน้ำจะไหลคดเคี้ยวอยู่ในหุบเขาด้านล่างซึ่งมีสภาพสมบูรณ์ จากนั้นสายน้ำแม่กลองใหญ่จะไหลมายังบ้านแม่กลองคี นั่นคือเป้าหมายปลายทางที่สามารถท่องเที่ยวล่องแก่งได้เสร็จสิ้นภายในวันเดียว เริ่มต้นจากเส้นทางหลวงสายแม่สอด-อุ้มผาง บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 106 ซึ่งมีสะพานข้ามลำห้วยแม่กลองใหญ่ สายน้ำไหลเรื่อยเอื่อย จนกระทั่งมาพบกับโขดแก่งที่ขวางลำน้ำมากมายและมีอย่างต่อเนื่อง หากมีกระแสที่ไหลแรงกว่านี้ก็ถือว่าเป็นแก่งที่สนุกมาก บางแก่งจัดอยู่ในระดับความยากประมาณ 3-4

          หากจะเปรียบเทียบเส้นทางล่องแก่งสายอื่นในอุ้มผางก็คงแตกต่างกันมาก อย่างเส้นทางน้ำตกทีลอจ่อหรือเส้นทางน้ำตกทีลอเลก็มีสภาพภูมิประเทศที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทางต้นน้ำมีลักษณะของลำน้ำที่แคบกว่ากันมาก ระดับน้ำก็ตื้นกว่าหากจะเทียบกับเส้นทางอุ้มผางคีแล้วมีลักษณะคล้ายกันมาก แต่แก่งทางต้นน้ำแม่กลองจะเยอะกว่ามาก ตลอดเส้นทางสายนี้เราจะพบกับโขดแก่งอย่างต่อเนื่อง และลีลาของสายน้ำก็เปลี่ยนไปตลอดเวลาที่ล่องผ่าน บางช่วงก็เกิดเป็นน้ำตกขนาดเล็กกลางน้ำ จึงมีความยากในการล่อง แต่ด้วยทักษะของไกด์ท้องถิ่นก็สามารถนำเรือยางล่องผ่านไปได้ไม่ยาก

          ตลอดลำน้ำต้องพบกับความยากของโขดแก่งที่ขวางลำน้ำ หากมีระดับน้ำที่สูงมากกว่านี้ครึ่งเมตร จะถือว่าเป็นแก่งที่สนุกมาก แต่ช่วงฤดูกาลน้ำน้อยก็พบกับอุปสรรคที่เรือยางไปติดกับโขดหินอยู่บ่อย ๆ จนกระทั่งมาถึงแก่งใหญ่ จึงเดินเลาะตามชายฝั่งเพื่อลดความเสี่ยงอันตรายหากเราล่องลงไปด้วย จากมุมสูงพบว่าแก่งดังกล่าวมีขนาดใหญ่เกรี้ยวกราดและดุดัน การเดินทางบนสายน้ำแม่กลองต้องผจญกับโขดแก่งอย่างต่อเนื่อง มีขนาดความยากที่แตกต่างกัน จนกระทั่งมาถึงโป่งน้ำพุร้อน ที่อยู่ริมน้ำแม่กลอง พบว่าเป็นน้ำพุร้อนที่อยู่ริมน้ำแม่กลอง พบว่าเป็นน้ำพุร้อนขนาดใหญ่ น้ำที่ไหลออกมามีอุณหภูมิที่สูงมาก 

          ถัดจากโป่งน้ำพุร้อนลงไปตามสายน้ำแม่กอลง จะพบกับโขดแก่งน้อยใหญ่อีกจำนวนมาก จนกระทั่งเข้าสู่เขตหมู่บ้านแม่กลองคี ซึ่งเป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่อยู่ติดถนนใหญ่ก่อนเข้าสู่อำเภออุ้มผาง จากจุดเริ่มต้นถึงบ้านแม่กลองคี มีระยะทางทั้งสิ้น 21.9 กิโลเมตร เป็นต้นทางล่องแก่งสายใหม่ สามารถล่องได้ในช่วงฤดูฝน โดยใช้เวลาล่องเพียงวันเดียวได้เลย ในช่วงหน้าฝนควรเช็กระดับน้ำและเรื่องฝนที่ตกลงมา เพราะอาจเกิดน้ำหลากขึ้นมาก็เป็นได้

           ฤดูกาลท่องเที่ยว : ควรเลือกช่วงฤดูฝนประมาณเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไปจนถึงเดือนธันวาคม ยกเว้นช่วงฝนตกชุก ช่วงน้ำหลาก

           รูปแบบการท่องเที่ยว : เป็นการล่องแก่งผจญภัยมีระดับความยาก 2-4 สามารถล่องเสร็จภายในวันเดียว

           สิ่งอำนวยความสะดวก : ถ้าจะให้สะดวกควรเลือกใช้บริการทัวร์ท้องถิ่นในอุ้มผางที่มีความชำนาญเป็นพิเศษ

           โปรแกรมท่องเที่ยว : เส้นทางล่องแก่งแม่กลองคี ใช้เวลาล่อง 1 วัน



ธรรมชาติและวิถีชีวิตที่บ้านเลตองคุ



          ในพื้นที่แนวชายแดนท่ามกลางผืนป่าใหญ่ยังมีหมู่บ้านกะเหรี่ยงชื่อว่า "บ้านเลตองคุ" ซึ่งเป็นชุมชนของชนเผ่าที่เคร่งครัดในจารีตประเพณีและความเชื่อ มีการสืบทอดต่อเนื่องกันอย่างแข็งแกร่ง พร้อมกับความเชื่อใน "ลัทธิฤๅษี" ซึ่งเป็นแนวความเชื่อความศรัทธาของชาติพันธุ์ที่มีพื้นฐานเดียวกับศาสนาพุทธ แตกต่างตรงรูปแบบ คือ มีผู้นำลัทธิที่เรียกว่า "ฤๅษี" ซึ่งเปรียบเสมือนเจ้าอาวาส มีสำนักฤๅษีเปรียบดังวัด มีลูกศิษย์ประจำสำนักฤๅษี เช่นเดียวกับพระ เณร ประจำวัดรวมถึงมีเจ้าวัด ซึ่งมีฐานะใกล้เคียงมัคนายก

          หมู่บ้านตั้งอยู่ในผืนปากร้างใหญ่มีเทือกเขาล้อมรอบ มีสายน้ำหลายสายไหลผ่านหมู่บ้าน ยังมีหลักความเชื่อที่เกิดจากจิตวิญญาณในเรื่องผีต่าง ๆ เช่น ผีฟ้า ผีป่า ผีเรือน อันเป็นพื้นฐานเติมของชีวิต ประกอบกับการยึดมั่นในแนวลัทธิความเชื่อจึงทำให้หมู่บ้านแห่งนี้มีการดำรงชีวิตอย่างสงบสุข มีกฎกติกาของสังคมที่เคร่งครัดมาก เช่น ห้ามดื่มสุรา ห้ามเล่นการพนัน กล่าวได้ว่าศีลทั้ง 5 ข้อ เป็นกฎที่เคร่งครัดมาก และด้วยความเชื่อของลัทธิฤๅษีที่ห้ามเลี้ยงและกินสัตว์เลี้ยงจำพวกหมู เป็ด ไก่ มีสัตว์เลี้ยงจำพวกช้าง วัว ควาย เป็นแรงงาน เป็นพาหนะ หรือใช้ไถนาเพาะปลูกข้าว ถ้าสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ล้มตายลงจะไม่มีการนำมาเป็นอาหาร ต้องทำการฝัง อันเป็นระบบความเชื่อของลัทธิฤๅษี เพราะพวกเขาถือว่าสัตว์เลี้ยงประเภทช้าง วัว ควาย เป็นสัตว์ที่มีบุญคุณต่อชีวิต ได้ให้แรงงานเพื่อการเกษตร เป็นพาหนะขนส่ง รวมทั้งใช้อำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณ จึงกำหนดให้นำไปฝังเมื่อตายลง

          ลักษณะการแต่งกายของกะเหรี่ยงที่บ้านเลตองคุนี้ ผู้ชายทุกคนต้องไว้ผมยาวแล้วเกล้าเป็นมวยผมไว้ตรงกลางกระหม่อม ใส่โสร่งสีเขียวหรือสีน้ำเงิน เสื้อเชิ้ตแขนยาวผ่าอก ไม่มีลวดลาย สีของเสื้อที่นิยมใส่กันมาก คือ สีขาว น้ำเงิน เขียว ฟ้า ชุดที่กล่าว มานี้เป็นชุดที่ใส่อยู่กับบ้านหรือใส่ไปทำงาน แล้วจะมีชุดคลุมสีขาวแถบสีแดงหรือสีบานเย็น สำหรับใส่ไปทำบุญที่วัดหรือสำนักฤๅษี ส่วนการแต่งกายของผู้หญิงจะใส่ผ้าถุงสีแดงเลือดนก เสื้อแขนสั้นสีแดง ท่อนบนเป็นสีฟ้าหรือสีน้ำเงินและสีดำ ที่กล่าวมานี้เป็นชุดที่ใส่สำหรับผู้หญิงที่มีครอบครัวแล้ว ส่วนหญิงที่ยังเป็นโสด ยังไม่แต่งงาน จะใส่ชุดคลุมสีขาว

          บ้านเลตองคุจัดว่าเป็นหมู่บ้านใหญ่ เป็นศูนย์รวมลัทธิฤๅษี มีหมู่บ้านบริวารที่นับถือฤๅษีร่วมกัน ทั้งหมู่บ้านในเขตและหมู่บ้านเขตนอก (เมียนมาร์) ทุกวันพระจะมีการไปทำบุญไหว้พระที่วัด ซึ่งมีงาช้างขนาดใหญ่แกะเป็นพระพุทธรูปเป็นสิ่งสำคัญประจำสำนักฤๅษี เป็นที่สักการะของฤๅษี ลูกศิษย์ และชาวบ้านทุกคน ประเพณีทีสำคัญของบ้านเลตองคุ คือ ประเพณีบุญสงกรานต์หรือบุญปีใหม่ บุญพะชะลอ บุญเข้าพรรษา บุญออกพรรษา และบุญเผาไฟ ซึ่งจะได้เห็นความศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ของกลุ่มนับถือฤๅษีที่มาร่วมกันอย่างคับคั่ง

          แม้ว่าปัจจุบันนี้การพัฒนาทางสังคมและการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จะเข้ามาถึงหมู่บ้านแห่งนี้มากขึ้น มีมอเตอร์ไซค์ รถอีแต๊กที่ใช้ทดแทนวัวควาย โทรทัศน์ รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ (เอาไว้เปิดเพลง) มีไฟฟ้าจากพลังน้ำที่ชาวบ้านคิดค้นทำขึ้นมาใช้เอง และอีกหลาย ๆ อย่างที่เข้ามาถึงหมู่บ้าน แต่ชาวบ้านก็ยังเคร่งครัดในกฎระเบียบของหมู่บ้านยังคงนับถือฤๅษีอย่างยึดมั่นในแนวทางเดียวกัน ถึงแม้ว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จะมีการเปลี่ยนการสืบทอดตำแหน่งมาถึง 3 รุ่นแล้ว แต่ความเชื่อความศรัทธายังคงเหมือนเดิม ไม่มีเปลี่ยนแปลง

          สำหรับการเข้าถึงหมู่บ้านเลตองคุทุกวันนี้ถือว่าสะดวกสบายที่สุด เพราะมีเส้นทางดินธรรมชาติตัดเชื่อมต่อระหว่างเปิ่งเคลิ่งกับบ้านเลตองคุระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร จะสะดวกที่สุดในยามหน้าแล้ง แต่อาจต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ เพราะทางบางช่วงชันมาก ทางแคบและอาจต้องข้ามห้วยข้ามบ่อโคลนบ้าง ซึ่งการท่องเที่ยวในพื้นที่หมู่บ้านเลตองคุ คือ การชมวิถีชีวิตของชาวบ้านกะเหรี่ยงที่เคร่งครัดในศาสนา ชมงาช้างแกะสลักโบราณ ชมวิวทิวทัศน์ป่าเขา มีจุดชมวิวอยู่ที่ฐาน ตชด. และยังมีน้ำตกเลตองคุ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีสายน้ำไหลเต็มผากว้างในช่วงหน้าฝน หากเป็นช่วงหน้าหนาวปริมาณน้ำและความงดงามจะลดลงไปบ้าง

           ฤดูกาลท่องเที่ยว : ประมาณเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม เพราะการเดินทางจะสะดวกกว่าฤดูฝน

           รูปแบบการท่องเที่ยว : เป็นการท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตในหมู่บ้าน ควรใช้เวลา 2 วัน 1 คืน หรือตามความเหมาะสม

           สิ่งอำนวยความสะดวก : สามารถไปพักค้างแรมหรือกางเต็นท์ได้ที่โรงเรียน สำหรับอาหารการกินควรนำไปเอง ไม่ควรนำเครื่องดื่มมึนเมาไปดื่มในหมู่บ้าน


แหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ในอุ้มผาง




น้ำตกทีลอจ่อ

          เป็นน้ำตกหินปูนที่มีมอสปกคลุมเขียวสดสวย สายน้ำไหลตกจากหน้าผาสูงลงลำน้ำแม่กลอง มีเส้นทางเข้าไปชมน้ำตกได้ 2 ทาง คือ ทางตอนบนจะไปตามเส้นทางอุ้มผาง-บ้านปะละทะ เมื่อถึงกิโลเมตรที่ 4 จะมีทางแยกเข้าไปยังน้ำตก ส่วนอีกทางหนึ่งเป็นเส้นทางสายน้ำแม่กลอง เดินทางด้วยการล่องเรือยางผ่านหน้าน้ำตกมองเห็นสายน้ำประดุจดังสายฝนไหลลงสู่ผืนน้ำและแนวโขดหินด้านล่าง

น้ำตกเซปละ

          เกิดจากห้วยเซปละ เป็นน้ำตกหินปูน มีแนวหน้าผากว้างและสูง ช่วงหน้าฝนน้ำจะเยอะดูสวยงาม ส่วนการเดินทางสู่น้ำตกเซปละ เดินทางจากอุ้มผางไปยังบ้านเซปละจากนั้นก็เดินเท้าลงไปอีกไม่ไกลนัก

น้ำตกโคทะ

          อยู่ทางตอนล่างของน้ำตกทีลอซู ต้องเดินทางไปยังบ้านโคทะแล้วเดินต่อไปยังน้ำตก ซึ่งอยู่ทางตอนล่างของหมู่บ้านลงไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร น้ำโคทะมีความสวยงามของชั้นน้ำตกหินปูนจำนวนมากมาย ตลอดสายน้ำจะปรากฏชั้นน้ำตกไหลลดหลั่นทิ้งช่วงเป็นระยะ ๆ มากมายเป็นสิบ ๆ ชั้น จะสวยในงามในช่วงเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม

น้ำตกเลตองคุ

          อยู่ที่บ้านเลตองคุ มีสภาพเป็นน้ำตกหินปูนที่มีแนวหน้าผากว้างใหญ่ไหลลดหลั่นมาหลายชั้น โดยเฉพาะชั้นบนนั้นมีความสูง ประกอบกับมีแนวหน้าผากว้างยาว ในช่วงหน้าน้ำเยอะ ๆ จะมีความสวยงามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าน้ำตกทีลอซู

ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก

          เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ซึ่งเป็นผืนป่าอนุรักษ์จึงมีสัตว์ป่าชุกชุม เช่น ช้างป่า กระทิง วัวแดง เสือ หมี เลียงผา สมเสร็จ เก้ง กวาง หมู่นก ชนิดต่าง ๆ รวมทั้งเป็ดก่า เนื่องจากพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกจัดเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ไม่มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเหมือนอย่างอุทยานแห่งชาติ จึงมีเพียงการส่งเสริมและเผยแพร่ทางด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติหรือเพื่อศึกษาธรรมชาติ มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติในรูปแบบของการดูนก ชมสัตว์ป่าที่พบเห็นได้ง่ายตามหน่วยพิทักษ์ป่าต่าง ๆ เช่น หน่วยฯ อุตาคี, หน่วยฯ กะแง่สอด, หน่วยฯ ห้วยน้ำเขียว, หน่วยฯ แม่จันทะ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสภาพธรรมชาติที่เป็นจุดเด่น สวยงาม เช่น น้ำตกกะแง่สอด บึงน้ำเขียว ลำห้วยลำธาร เป็นต้น

ดอยหัวหมด

          อยู่ในเขตบ้านอุ้มผาง ลักษณะเป็นเทือกเขายาวหลายลูกติดต่อกัน บนเขาไม่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้น จะมีก็แต่ต้นหญ้าเตี้ย ๆ ขึ้นอยู่ทั่วไป มีสภาพเป็นดินกรวดร่วนปนหิน จึงไม่มีต้นไม้ใหญ่ จะพบดอกไม้ขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ "ดอกเทียนดอย" ซึ่งขึ้นอยู่ทั่วดอยในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม และยังเป็นจุดชมวิวทะเลหมอกที่สวยงามของอุ้มผาง สามารถขึ้นไปชมได้ที่บริเวณกิโลเมตรที่ 9, 10, 11 และ 13 ในเส้นทางอุ้มผาง-บ้านปะละทะ

ถ้ำตะโคะบิ๊

          อยู่ในเขตบ้านแม่กลองใหม่ ช่วงเส้นทางสายอุ้มผาง-แม่จันถี เมื่อถึงกิโลเมตรที่ 7 มีทางเล็ก ๆ เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 1 กิเมตร ถึงบริเวณหน้าถ้ำซึ่งมีทางเดินลงไปเป็นชั้น ๆ ข้างในจะมีทางแยกหลายทางเป็นถ้ำขนาดใหญ่ เพดานสูง ทางเดินกว้างขวาง อากาศโปร่ง มีหินงอก หินย้อยสวยงาม

ข้อมูลการเดินทางสู่อุ้มผาง

 รถยนต์ส่วนตัว

          ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ผ่านพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์ กำแพงเพชร จนถึงตาก ระยะทางประมาณ 425 กิโลเมตร ก่อนถึงตัวเมืองตาก 7 กิโลเมตร แยกซ้ายมือสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 1090 (แม่สอดอุ้มผาง) ระยะทาง 164 กิโลเมตร รวมระยะทางจากกรุงเทพฯ-อุ้มผาง ประมาณ 668 กิโลเมตร 

          ระยะเวลาเดินทาง จากกรุงเทพฯ-อำเภอแม่สอด ประมาณ 9-10 ชั่วโมง และระยะเวลาการเดินทางจากอำเภอแม่สอดถึงอำเภออุ้มผาง ประมาณ 3-4 ชั่วโมง

 รถประจำทาง

          กรุงเทพฯ-แม่สอด มีรถโดยสารประจำทางของบริษัทขนส่ง จำกัด 999, 99 (สถานีขนส่งหมอชิต 2) โทรศัพท์ 0 2396 2841-8, 0 2936 2852-66 ต่อ 442, 311 บริษัททันจิตต์ทัวร์ โทรศัพท์ 0 2936 3210-3 บริษัทเชิดชัยทัวร์ โทรศัพท์ 0 2936 0198 หรือจองตั๋วทางเว็บไซต์ www.thaiticketmajor.com โทรศัพท์ 0 2262 3456 

          แม่สอด-อุ้มผาง มีรถสองแถวประจำทาง ค่าโดยสาร คนละ 120 บาท
         
การเตรียมตัวเที่ยวอุ้มผาง



          การท่องเที่ยวอุ้มผาง ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางยอดนิยม คือ น้ำตกทีลอซูหรือเส้นทางเดินป่า ล่องแก่ง เส้นทางอื่น ๆ เราก็ต้องพร้อมเสมอสำหรับการท่องเที่ยว ต้องมีการเตรียมตัวเตรียมอุปกรณ์ เตรียมสภาพจิตใจ บางฤดูอากาศจะหนาว บางฤดูมีฝนตกหนัก ๆ ดังนั้นการจัดเตรียมอุปกรณ์อาจมีความแตกต่างกันบ้าง อาจต้องพบกับฝนในช่วงหน้าฝน มีอากาศหนาวจัดในช่วงหน้าหนาว บางครั้งเส้นทางเข้าน้ำตกทีลอซูจะมีฝุ่นตลบอบอวล หรือถ้าใช้เส้นทางล่องแก่งก็ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันน้ำเพิ่มเติมขึ้นอีก หากได้ใช้บริการทัวร์ท้องถิ่น จะได้รับความสะดวกสบายทั้งที่พัก อาหาร การเดินทาง การท่องเที่ยวรวมถึงมีมัคคุเทศก์นำทางด้วย

การเตรียมตัวเที่ยวป่า
 

          บางเส้นทางท่องเที่ยวอุ้มผางมีรูปแบบการเดินป่าขึ้นดอย อย่างเช่นการเที่ยวน้ำตกปิตุ๊โกรหรือน้ำตกทีลอเล จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ต่อไปนี้

          - เป้เดินป่า เลือกขนาดที่เหมาะสม สามารถใส่เสื้อผ้าและข้าวของที่จำเป็นได้ครบ
          - เต็นท์หรือเปล แต่หากไปเที่ยวกับทัวร์เขาก็จัดการให้หมด
          - เสื้อผ้า เตรียมไปสัก 2-3 ชุด รวมถึงเสื้อกันหนาวและเสื้อกันฝนด้วย
          - กระเป๋ากันน้ำ สำหรับใส่ข้าวของที่จำเป็น
          - รองเท้าเดินป่า ควรเป็นรองเท้าที่เกาะพื้นดี ทนทาน ใส่สบาย พร้อมด้วยถุงเท้า
          - ของใช้ส่วนตัว เช่น แปรงและยาสีฟัน สบู่ ยากันยุง
          - ของใช้อื่น ๆ ที่จำเป็นในการเดินป่า เช่น มีด ไฟฉาย พร้อมถ่านสำรอง
          - ยาประจำตัวของแต่ละคน
          - อาหาร ของว่างสำรอง สำหรับติดเป้แต่ละคน
          - สภาพร่างกายและจิตใจต้องพร้อมเสมอ

 
มาตรฐานระดับความยากง่ายของแก่งและสายน้ำ

          ในอุ้มผางมีเส้นทางล่องแก่งที่น่าสนใจหลายเส้นทาง มีการแบ่งเกรดระดับความง่ายของสายน้ำและโขดแก่ง ได้ 6 ระดับ ดังนี้

          - ระดับ 1 ง่ายมาก สายน้ำเอื่อย คนทั่วไปสามารถพายได้

          - ระดับ 2 ธรรมดา กระแสน้ำไหลแรง ต้องมีทักษะในการพายพอสมควร

          - ระดับ 3 ปานกลาง มีแก่งตื่นเต้น ต้องเรียนรู้การพาย ต้องฝึกเทคนิคกันบ้าง
         
          - ระดับ 4 ยาก มีแก่งใหญ่ กระแสน้ำแรง ต้องใช้ฝีมือ ทักษะ และต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น

          - ระดับ 5 ยากมาก มีกระแสน้ำไหลแรง มีแก่งหินใหญ่ มีกระแสน้ำลดระดับ ต้องใช้ฝีมือ ทักษะ และใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ

          - ระดับ 6 อันตราย มีแก่นขนาดใหญ่ กระแสน้ำรุนแรง ลดระดับสูงเป็นน้ำตก ไม่เหมาะสำหรับการล่องแก่ง

ข้อมูลที่พักและทัวร์บริการท่องเที่ยว

          - ตูกะสูคอทเทจ โทรศัพท์ 0 5556 1295, 08 1825 8238, 08 1819 0304
          - อุ้มผางโฮมสเตย์ โทรศัพท์ 08 1813 9742
          - บุญช่วยแคมป์ปิ้งทัวร์ โทรศัพท์ 08 1379 2591
          - อุ้งผางจังเกิล โทรศัพท์ 08 1887 5351, 08 1887 6315
          - เรือนวัลลภา โทรศัพท์ 0 5556 3929 (ที่พักแม่สอด)
          - แคมป์สุขเสถียร โทรศัพท์ 08 1811 1166, 0 5580 9104
          - บ้านสวนบุญญาภรณ์ โทรศัพท์ 0 5556 1093
          - บุญล่ำทัวร์ โทรศัพท์ 0 5556 1021, 08 1887 0653
          - ทีลอซูริเวอร์ไซด์ โทรศัพท์ 0 3831 2050, 08 9832 1455, 0 5580 9035
          - ภูดอยแค้มป์ไซท์ & รีสอร์ท โทรศัพท์ 0 5556 1049, 08 1886 8783
          - บ้านพฤกษ์ชญา โทรศัพท์ 08 9268 7996, 08 8156 2618
          - อุ้มผางบุรี รีสอร์ท โทรศัพท์ 0 5556 1576, 08 8752 8586
          - อิงดอยรีสอร์ท โทรศัพท์ 0 5556 1176, 0 5556 1414
 


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

(เล่มเล็ก ฉบับเดือนตุลาคม 2557)

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คู่มือเที่ยวอุ้มผาง สัมผัสธรรมชาติที่สวยบริสุทธิ์ อัปเดตล่าสุด 2 เมษายน 2567 เวลา 19:49:54 63,036 อ่าน
TOP
x close