ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดนครปฐม อิ่มบุญง่าย ๆ ใกล้กรุง

            ชวนเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ ไปไหว้พระ 9 วัด จังหวัดนครปฐม สถานที่ท่องเที่ยวนครปฐมสำหรับสายบุญ อยู่ไม่ไกลกรุงเทพฯ เที่ยวได้แบบไปเช้า-เย็นกลับ 


         การไหว้พระ 9 วัด อีกกิจกรรมดี ๆ ในเวลาว่างที่ถือเป็นการพักจิตใจให้สงบและละจากความคิดหรือโลกที่วุ่นวาย อีกทั้งยังนำมาซึ่งความสบายใจอีกด้วย กระปุกดอทคอมจึงได้รวบรวม 9 วัด ในจังหวัดนครปฐมมาแนะนำกัน เผื่อเป็นไอเดียในวันว่างของคุณ ว่าแต่จะมีที่ไหนบ้างนั้น มาดูกันเลย
 
1. วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร

          วัดอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ประดิษฐานขององค์พระปฐมเจดีย์ขนาดใหญ่และงดงามแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งจังหวัดนครปฐมยังใช้พระปฐมเจดีย์เป็นตราประจำจังหวัดอีกด้วย พระปฐมเจดีย์ที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นองค์ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2396 โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างครอบพระเจดีย์องค์เดิมซึ่งเป็นเจดีย์เก่าแก่มีฐานแบบโอคว่ำและมียอดปรางค์อยู่ข้างบน สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 4

ไหว้พระนครปฐม

2. วัดไผ่ล้อม

          ตั้งอยู่ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยเกณฑ์ชาวมอญมาช่วยกันบูรณะองค์พระปฐมเจดีย์ และชาวมอญเหล่านี้ตั้งที่พักอยู่บริเวณสวนป่าไผ่ ใกล้พระปฐมเจดีย์ จึงคาดว่าน่าจะเป็นที่มาของชื่อวัด ต่อมามีพระภิกษุมาปักกลดเพื่อบำเพ็ญมรณธรรม เนื่องจากบริเวณนี้เงียบสงบไม่ค่อยมีผู้คนอาศัย ชาวบ้านจึงช่วยกันตั้งเป็นสำนักสงฆ์ และได้อาราธนาพระภิกษุจากวัดพระปฐมเจดีย์มาจำพรรษา

ไหว้พระนครปฐม

          โดยวัดแห่งนี้ขาดเจ้าอาวาสอยู่นาน กระทั่ง พ.ศ. 2486 ทางคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้ง พระอาจารย์พูล อตตรกโข ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส แม้ในปัจจุบันท่านได้ละสังขารไปแล้วแต่ก็ยังสร้างปาฏิหาริย์ไว้ ด้วยสรีระของท่านยังคงสภาพเดิมไม่เน่าไม่เปื่อย ทางวัดจึงนำร่างท่านบรรจุโลงแก้วตั้งไว้ที่ศาลากรุวิมานุสรณ์ ให้ลูกศิษย์และผู้เลื่อมใสศรัทธาได้กราบไหว้

3. วัดพระประโทณเจดีย์

          โบราณสถานที่ตั้งตำบลพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม ห่างจากพระปฐมเจดีย์ไปตามถนนเพชรเกษมทางทิศตะวันออกเป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร รูปทรงเดิมของพระประโทณเจดีย์ เป็นทรงโอคว่ำ ตามลักษณะของเจดีย์สมัยทวารวดี เนื่องจากวัดพระประโทณตั้งอยู่กลางเมืองโบราณนครชัยศรี ในบริเวณมีการขุดพบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก เช่น พระพุทธรูป เศียรพระพุทธรูปปูนปั้น พระดินเผา รวมทั้งโลหะสำริดรูปพญาครุฑเหยียบนาค รัชกาลที่ 6 ทรงใช้เป็นเครื่องหมายราชการของพระองค์

ไหว้พระนครปฐม
ภาพจาก WiPhotoHunter / Shutterstock.com

4. วัดศีรษะทอง

          วัดเก่าแก่แห่งหนึ่งในอำเภอนครชัยศรี  สร้างจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวลาวที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในขณะที่มีการขุดดินสำหรับสร้างวัดได้พบเศียรพระทองจมอยู่ในดิน จึงถือเป็นนิมิตที่ดี เลยได้ตั้งชื่อวัดนี้ว่า "วัดหัวทอง" ต่อมาทางการได้ขุดคลองเจดีย์บูชา แยกจากแม่น้ำนครชัยศรี ไปยังองค์พระปฐมเจดีย์ คลองนี้ผ่านพื้นที่ทางตอนใต้ของวัดหัวทองและหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงอพยพมาอยู่ใกล้คลองเพราะสะดวกในการคมนาคม วัดนี้จึงย้ายจากที่เดิมมาอยู่ใกล้คลองเจดีย์บูชาและเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดศีรษะทอง"

ไหว้พระนครปฐม

          วัดศีรษะทองมีประชาชนจำนวนมากนิยมมานมัสการพระราหูเพื่อความเป็นสิริมงคล ด้วยคติความเชื่อที่ว่าพระราหูนั้นเป็นเทพซึ่งสามารถบันดาลประโยชน์และโทษให้เกิดขึ้นกับบุคคลหรือสิ่งต่าง ๆ ได้ ดังนั้นจึงเกิดพิธีกรรมในการบูชาพระราหูขึ้นเพื่อช่วยให้โชคร้ายอันอาจจะเกิดขึ้นนั้นบรรเท่าลง หรือกลับแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งดีงามกับชีวิต โดยสามารถไหว้บูชาพระราหูได้ทุกวัน (ยกเว้นวันพระ)

5. วัดกลางบางแก้ว

          วัดโบราณริมแม่น้ำท่าจีน แต่เดิมชื่อ "วัดคงคาราม" ตั้งอยู่ที่ตำบลนครชัยศรี อำเภอนครชัยศรี ภายในมีโบสถ์ วิหาร และพระประธานเก่าแก่ ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในมีพิพิธภัณฑ์พระพุทธวิถีนายก เพื่อเก็บรักษาโบราณวัตถุและศิลปะวัตถุล้ำค่าต่าง ๆ รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ของอดีตเจ้าอาวาส 2 รูป คือ หลวงปู่บุญ หรือท่านเจ้าคุณพุทธวิถีนายก (บุญ ขันธโชติ) ซึ่งปกครองวัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2429–2478 และหลวงปู่เพิ่ม พระพุทธวิถีนายก (เพิ่ม ปุญญวสโน) ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่บุญและสืบตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดต่อมา

ไหว้พระนครปฐม
ภาพจาก napat intaroon / Shutterstock.com

6. วัดไร่ขิง พระอารามหลวง

          วัดเก่าแก่ที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน บริเวณตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน วัดแห่งนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ทรงพระราชทานนามว่า  "วัดมงคลจินดาราม (ไร่ขิง)" แต่ชาวบ้านเรียกกันเต็ม ๆ ว่า "วัดมงคลจินดารามไร่ขิง" จนกระทั่งเหลือแต่ชื่อ "วัดไร่ขิง" อีกทั้งยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างเมื่อใด อาศัยจากคำบอกเล่าว่า สร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2394 สมัยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา เมื่อสร้างวัดเสร็จได้อัญเชิญพระพุทธรูปมาจากวัดศาลาปูน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาประดิษฐานไว้เป็นพระประธานวัด ชาวบ้านเรียกว่า "หลวงพ่อวัดไร่ขิง" เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัยแบบประยุกต์ หน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้ว สูง 4 ศอก 16 นิ้วเศษ ประดิษฐานอยู่บนฐานอยู่บนฐานชุกชี 5 ชั้น เบื้องหน้าผ้าทิพย์ปูทอดลงมา ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ภายในอุโบสถ

ไหว้พระนครปฐม
ภาพจาก tomgigabite / Shutterstock.com

7. วัดบางพระ

          วัดชื่อดังที่ตั้งอยู่ที่ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาช่วง พ.ศ. 2220 ทางวัดได้รับการอุปถัมภ์จากชาวบ้านมาโดยตลอดมา เจ้าอธิการหิ่ม อินทโชโต เจ้าอาวาสวัดบางพระในสมัยนั้น จึงชักชวนพระภิกษุสงฆ์และชาวบ้านมาร่วมกันก่อพระสร้างอุโบสถหลังใหม่ และสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2470 และเมื่อ หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ เป็นเจ้าอาวาสวัดบางพระ ท่านได้ทำการพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองมาเป็นลำดับ

ไหว้พระนครปฐม
ภาพจาก eakkaluktemwanich / Shutterstock.com

          วัดแห่งนี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนให้ความเคารพนับถือเป็นจำนวนมาก เช่น พระบรมสารีริกธาตุ (จากประเทศศรีลังกา) รอยพระพุทธบาทจำลอง หลวงพ่อโต (พระประธานในอุโบสถหลังใหม่) รูปหล่อสิทธิมงคล (พระประธานในอุโบสถหลังเก่า) รูปหล่อเหมือนหลวงปู่หิ่ม หลวงปู่ทองอยู่ หลวงปู่เปลี่ยน สังขารพระอุดมประชานาถ (หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ) รวมถึงเป็นที่นิยมของนักสักยันต์ เพราะ พระครูอนุกูลพิศาลกิจ (หลวงพ่อสำอางค์ ปภสฺสโร) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน สามารถปลุกเสกและทำคุณไสยในยันต์ได้

8. พุทธมณฑล

          สถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา ตั้งอยู่ที่ตำบลศาลายา มีพื้นที่ประมาณ 2,500 ไร่ เป็นสถานที่ซึ่งรัฐบาลและประชาชนชาวไทยร่วมใจกันจัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2500 เนื่องในโอกาสที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาได้ถึง 2,500 ปี บริเวณจุดศูนย์กลางของพุทธมณฑลเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา เป็นพระประธานของพุทธมณฑลมีความสูง 2,500 กระเบียด (ประมาณ 15.875 เมตร) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามว่า "พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์" รอบองค์พระประธานเป็นสถานที่จำลองของสังเวชนียสถาน 4 ตำบล คือ ตำบลอันเป็นที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

ไหว้พระนครปฐม

          นอกจากนี้ยังมีศาสนสถานที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ พระวิหารพุทธมณฑล ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช และที่พำนักสงฆ์อาคันตุกะ หอประชุมทางกิจการพระพุทธศาสนา ศาลาปฏิบัติกรรมฐาน  พิพิธภัณฑ์ทางพุทธศาสนา หอสมุดพระพุทธศาสนา สวนไม้ดอกไม้ประดับต่าง ๆ และในปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีในวันสำคัญทางศาสนา

9. วัดไร่แตงทอง

          วัดศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนนิยมเดินทางไปกราบไหว้ "รูปหล่อหลวงปู่หลิวนั่งหลังเต่าเรือน" อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่แตงทอง ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสน อีกทั้งยังมีความเชื่อกันว่าหากได้ลอดใต้ท้องพญาเต่าเรือนทองจะมีสุขภาพแข็งแรง หายจากโรคภัยไข้เจ็บ และนิยมไปขอโชคลาภ

ไหว้พระนครปฐม
ภาพจาก  MUNGKHOOD STUDIO / Shutterstock.com

          ใครที่สนใจก็สามารถเดินทางไปได้ที่จังหวัดนครปฐม แอบกระซิบนิดหนึ่งว่าบริเวณใกล้เคียงของวัดต่าง ๆ ยังมีย่านของกินเด็ด ๆ ให้ไปลิ้มรสกันอีกด้วย เรียกว่าอิ่มบุญ อิ่มใจ สบายท้องกันถ้วนหน้า

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

ขอบคุณข้อมูลจาก
ททท. และ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดนครปฐม อิ่มบุญง่าย ๆ ใกล้กรุง อัปเดตล่าสุด 27 ธันวาคม 2564 เวลา 15:41:58 423,724 อ่าน
TOP
x close