ชวนรู้จัก ดิวาลี เทศกาลปีใหม่ของชาวฮินดู มีที่มาอย่างไร ต้องเตรียมตัวอย่างไร ก่อนไปร่วมงานเฉลิมฉลองที่จัดในย่านลิตเติ้ลอินเดีย 31 ต.ค. - 1 พ.ย. 2567 ดิวาลี หรือ เทศกาลแห่งแสงไฟ เป็นเทศกาลสำคัญของชาวฮินดูทั่วโลก ที่มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เพื่อเป็นการต้อนรับปีใหม่ฮินดูและระลึกถึงชัยชนะของแสงสว่างเหนือความมืดมิด ในประเทศไทยก็มีการจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลดิวาลีเช่นกัน โดยเฉพาะในชุมชนชาวอินเดียอย่างย่านพาหุรัด (ลิตเติ้ลอินเดีย) และคลองโอ่งอ่าง ส่วนจะมีรายละเอียดและกำหนดการเกี่ยวกับงาน ดิวาลี 2567 อย่างไร เรามีข้อมูลมาอัปเดตกันดังนี้ ดิวาลี (Diwali) หรือ ดีปาวลี (Deepavali) ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวอินเดีย และยังเป็นวันบูชาพระแม่ลักษมีด้วย โดยคำว่า ดี (di) หรือ ดีป (dee) คือ ประทีป (แสงสว่าง) ส่วนอีกคำที่นำมาผสมคือ อวลิะ (avalih) หมายถึง แถวหรือแนว เมื่อผสมรวมกันในภาษาสันสกฤตจึงมีรูปเป็น ทีปาวลี ในภาษาฮินดีออกเสียง ดีปาวลี ซึ่งหมายถึง ประทีปที่ชาวอินเดียจุดไว้แล้ววางเป็นแถวนอกบ้านของตนเองอย่างงดงาม ต้นกำเนิดของเทศกาลดิวาลี มาจากความเชื่อของทางอินเดียตอนเหนือว่าเป็นการเฉลิมฉลองการเสด็จนิวัติของ พระราม (Rama) พร้อมกับนางสีดา (Sita) พระลักษมณ์ (Lakshman) และ หนุมาน (Hanuman) กลับคืนสู่เมืองอโยธยา (Ayodhya) หลังจากทรงพเนจรอยู่ 14 ปี ซึ่งเวลา 14 ปีนี้รวมถึงช่วงเวลาที่ทรงพิชิตราวณะหรือที่ไทยเรียกว่า ทศกัณฐ์ ด้วย เรียกว่าเป็นชัยชนะแห่งความดีงามที่อยู่เหนือความชั่วร้าย เปรียบเสมือนกับแสงสว่างของประทีปที่สว่างไสวเหนือความมืดมัว อันเป็นที่มาของชื่อเทศกาล สำหรับหลายคนที่สงสัยว่า แล้วเทศกาลดิวาลีเกี่ยวข้องกับพระแม่ลักษมีได้อย่างไร นั่นก็เพราะชาวฮินดูเชื่อกันว่า พระราม เป็นร่างอวตารของพระวิษณุ และนางสีดา เป็นร่างอวตารของพระแม่ลักษมี พระชายาของพระวิษณุ ที่อวตารลงมาเคียงข้างพระวิษณุในทุก ๆ ภารกิจ ประกอบกับในอินเดียมีคนจำนวนไม่น้อยมองว่าวันดิวาลีเป็นวันเกิดของพระแม่ลักษมีด้วย จึงทำให้ผู้คนนิยมบูชาพระแม่ลักษมีในวันนี้นั่นเอง ในเทศกาลดิวาลีนี้ ชาวฮินดูมักจะออกไปจับจ่ายซื้อของเหมือนกับช่วงตรุษจีนและคริสต์มาส รวมถึงออกมาจุดพลุหรือดอกไม้ไฟเฉลิมฉลองตลอด 5 วันของเทศกาล ดังนี้ วันแรกคือ วันธันเตรัส (Dhanteras) สมาชิกในครอบครัวจะทำความสะอาดบ้านและซื้อทองชิ้นเล็ก และจะเน้นบูชาพระแม่ลักษมีในวันนี้ วันที่สองคือ วันนรกจาตุรทศี (Naraka Chaturdashi) หรือ โฉฏีดีปาวลี (Choti Dipawali) เรียกอีกอย่างคือ วันดีปาวลีเล็ก จะเป็นวันรำลึกถึงการทำลายล้างอสูรที่มีนามว่า นรกาสูร บางครอบครัวจะสวดมนต์รำลึกถึงบรรพบุรุษของตนในวันนี้ด้วย วันที่สามคือ วันบูชาพระแม่ลักษมี (Lakshmi Puja) ถือเป็นวันหลักของเทศกาล ชาวฮินดูจะขอพรจากพระแม่ลักษมีเพื่อความเจริญรุ่งเรือง พร้อมจุดประทีปและประดับประดาวางเป็นแถวเป็นแนวอย่างสวยงาม นอกจากนี้ยังมีการจุดประทัดและไปวัดเพื่อไหว้พระด้วย วันที่สี่คือ วันโควรรธนะปูชา (Goverdhan Puja) หรือ วันพลิประติปทา (Balipratipada) หรือ วันอันนะกูฏ (Annakut) เป็นวันที่ระลึกถึงชัยชนะของพระกฤษณะที่มีต่อพระอินทร์ (Indra) ราชาแห่งทวยเทพ อีกทั้งเป็นวันแรกของเดือนการติกะ หลายคนจึงนับวันนี้เป็นวันปีใหม่ด้วย วันที่ห้าคือ วันภาย ดูช (Bhai Dooj) ภาย ฏีกา (Bhai Tika) หรือ ภาย บีช (Bhai Bij) คำว่า ภาย (bhai) จะแปลว่าพี่ชายหรือน้องชายก็ได้ ดังนั้น ในวันนี้พี่ชายน้องสาวหรือน้องชายพี่สาวจะร่วมฉลองเพื่อเสริมสร้างความผูกพันระหว่างพี่น้อง โดยพี่สาวหรือน้องสาวก็จะไหว้พระขอพรให้พี่ชายหรือน้องชายประสบความสำเร็จด้านการงานหรือพบเจอแต่สิ่งดีงามตลอดไป เทศกาลดิวาลี จะกำหนดตามปฏิทินจันทรคติ ทำให้ในทุก ๆ ปีวันที่จะไม่ตรงกัน และในปี 2567 จะเริ่มเฉลิมฉลองกันในวันที่ 31 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน โดยในประเทศไทยนั้นมีการจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลดิวาลีเช่นกัน โดยเฉพาะในชุมชนชาวอินเดียอย่างย่านพาหุรัด (ลิตเติ้ลอินเดีย) และคลองโอ่งอ่าง ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชนชาวอินเดียในประเทศไทย จึงเป็นสถานที่จัดงานเทศกาลดิวาลีที่ใหญ่ที่สุดและมีสีสันที่สุด ขบวนแห่ : ถือเป็นไฮไลต์ที่พลาดไม่ได้สำหรับการชมขบวนแห่ที่สวยงามตระการตา เต็มไปด้วยสีสันและเสียงดนตรี โดยมีการประดับตกแต่งด้วยโคมไฟและรูปปั้นต่าง ๆ ที่มีความหมายทางศาสนา การจุดโคม : ชาวฮินดูจะจุดโคมไฟเพื่อเป็นการต้อนรับเทพเจ้า และเป็นสัญลักษณ์ของการนำพาความสุขและความเจริญมาสู่ชีวิต การจุดพลุ : อีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชม โดยจะมีการจัดแสดงพลุไฟสวยงามตระการตาในหลายพื้นที่ การแสดงศิลปวัฒนธรรม : มีการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมของอินเดียมากมาย เช่น การเต้นรำแบบบอลลีวูด การแสดงดนตรี และการสาธิตทำอาหารอินเดีย ตลาดนัด : มีการจัดตลาดนัดจำหน่ายสินค้าและอาหารอินเดียมากมายให้ผู้ที่สนใจได้เลือกซื้อหา ดิวาลี หรือเทศกาลแห่งแสงสว่าง เป็นอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญของชาวไทยเชื้อสายฮินดู หรือคนที่นับถือพระแม่ลักษมีจะร่วมเฉลิมฉลองกันในวันนี้ ด้วยถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวฮินดู หลายคนจึงนิยมตกแต่งบ้านให้สวยงาม และใช้ช่วงเวลานี้พบปะสังสรรค์ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง รวมถึงจัดงานรื่นเริงกันด้วย หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง +++ งานนวราตรี พร้อมขบวนแห่ประจำปี 2567 วัดแขก สีลม จัดวันไหน เช็กเลย ! +++ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัดแขกสีลม และพิธีนวราตรี 2566 +++ วัดเทพมณเฑียร เสาชิงช้า วัดฮินดูที่คนโสดสายมูควรไปขอพรเรื่องหัวใจ +++ เอาใจสายมู กับ 20 สถานที่ไหว้พระพิฆเนศ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด +++ วิธีบูชาพระแม่ลักษมีที่บ้าน พร้อมของไหว้ และคาถาบูชาขอพร +++ พระแม่ลักษมี เทวีแห่งความร่ำรวยและความรัก เปิดตำนาน พร้อมวิธีบูชา ขอบคุณข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก ททท.สำนักงานกรุงเทพมหานคร : TAT Bangkok Office, britannica.com, สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย FM 101.5 MHz.
แสดงความคิดเห็น