x close

ออกไปเที่ยวสัมผัสเมืองน่ารัก ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย

คู่มือเมืองน่ารัก (อ.ส.ท.)


          ความหลากหลายของสถานที่ท่องเที่ยวในทุกวันนี้ ทำให้คนไทยเรามีทางเลือกในการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้นกว่าแต่เก่าก่อน หนึ่งในทางเลือกเหล่านั้นที่มาแรงเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะวัยรุ่น คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ คือ สถานที่ท่องเที่ยวเมืองหรือชุมชนน่ารัก ๆ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนที่ใด ๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน

          ชุมชนเก่าที่เคยมีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน แต่ด้วยกาลเวลาที่เปลี่ยนไปทำให้ชุมชนในย่านนั้นซบเซาลง โดยส่วนใหญ่แล้วสถานที่รูปแบบนี้มักจะตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งเคยเป็นเส้นทางสัญจรหลักของสังคมไทยอดีต ก่อนจะแทนที่ด้วยเส้นทางสัญจรทางบก โดยใช้รถไฟและรถยนต์เป็นพาหนะหลัก ครั้นเมื่อมาถึงวันหนึ่งเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปจนแทบหันกลับมามองไม่เห็นเงาอดีต

          หลายคนเริ่มโหยหาบรรยากาศในอดีต คนรุ่นลูก ๆ อยากเห็นวิถีชีวิตพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือบรรพชนของตนเอง ส่วนพ่อก็อยากเห็นชีวิตในวัยเด็กของตัวเอง ซึ่งเคยวิ่งเล่นอยู่กับเพื่อน ๆ จึงได้มีฟื้นฟูชุมชนเก่าให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ภายใต้รูปแบบสถาปัตยกรรมเดิม เสริมด้วยแนวคิดใหม่ เช่น ย่านกาดกองต้า จังหวัดลำปาง เจ็ดเสมียน จังหวัดราชบุรี เชียงคาน จังหวัดเลย เมืองเก่าอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี นอกจากนี้ ยังมีชุมชนขนาดใหญ่ที่แม้จะไม่ได้ตั้งอยู่ใกล้ลำน้ำ แต่ก็เจริญเติบโตขึ้นจากการเป็นศูนย์กลางของพื้นที่ ครั้นเมื่อได้พัฒนาขึ้น จึงมีเมืองใหม่ที่เจริญกว่าขึ้นมาแทน เช่น เมืองเก่าสงขลา จังหวัดสงขลา เมืองเก่าภูเก็ต และเมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

          ส่วนอีกรูปแบบหนึ่ง คือ สถานที่ซึ่งพัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม จากการที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม เช่น ผืนป่า ภูเขา น้ำตก ฯลฯ มีวัฒนธรรมประเพณีที่สืบต่อกันมาเป็นเวลาอันเนิ่นนาน ด้วยวัดวาอารามตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คนซึ่งใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย สถานที่ท่องเที่ยวเหล่านั้น ได้แก่ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น

          จากมนต์เสน่ห์เหล่านี้เอง จึงก่อเกิดเป็นสถานที่นิยมใหม่ในใจของคนไทยที่เรียกขานแตกต่างกันไป บ้างก็ว่าฮิป (HIP = High Individual Person) บ้างก็ว่าชิค (Chic) แต่บทสรุปสุดท้ายของคำตอบ เราอยากเรียกขานในแบบภาษาไทยว่า "เมืองน่ารัก" ซึ่งเราจะพาไปเที่ยวเมืองเหล่านี้กัน โดยเริ่มที่...

กาดกองต้า

กาดกองต้า ตลาดเก่าเมืองลำปาง

          ลำปาง นับเป็นศูนย์การค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของบริเวณภาคเหนือตอนบน เป็นเมืองแห่งการขนถ่ายสินค้าเข้าออก โดยมีแม่น้ำวังเป็นเส้นทางสัญจร อีกทั้งยังเป็นชุมทางการค้าไม้สัก โดยมีย่านการค้าสำคัญตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งซ้ายแม่น้ำวังเรียกกันว่าตลาดจีน หรือที่ชาวเมืองลำปางเรียกกันในภาษาพื้นเมืองทางเหนือว่า กาดกองต้า ซึ่งมีอาคารบ้านเรือนที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมหลากหลายอย่างสวยงาม วันเวลาผ่าน วิถีชีวิตและสภาพสังคมเปลี่ยนเข้าสู่ยุคของการสัญจรทางบก พร้อมกับการเดินทางมาถึงของทางรถไฟ ย่านกาดกองต้าที่เคยเจริญเฟื่องฟูก็เริ่มซบเซาลง จนกระทั่งถึงวันนี้ กาดกองต้าพลิกฟื้นกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมืองลำปาง มีเอกลักษณ์โดดเด่นด้วย

          อาคารบ้านเรือนซึ่งมีสถาปัตยกรรมการก่อสร้างที่สวยงาม ผสมผสานความหลากชาติ หลายวัฒนธรรมทั้งไทย พม่า จีน ฝรั่ง โดยผู้คนในพื้นที่ยังคงดูแลรักษาไว้ จากความร่วมแรงร่วมใจนี้ กาดกองต้าจึงได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ปี 2551 ประเภทชุมชนพื้นถิ่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

กาดกองต้า

          จุดเด่นของกาดกองต้าเริ่มตั้งแต่เชิงสะพานรัษฎาภิเศก ซึ่งอาคารที่น่าสนใจก็มีอาคารฟองหลีที่ได้รางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ปี 2551 อาคารเยียนซีไท้ลีกี ห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในย่านตลาดจีน บ้านอนุรักษ์ ตึกเก่าสีชมพูอันเป็นที่ตั้งของร้านขนมจีนป้าป๋องอาคารหม่องโง่ยซิ่น เรือนขนมปังขิงที่มีความโดดเด่น ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น ปี 2550 ประเภทอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมล้านนา ภายในบ้านจัดเป็นห้องแสดงนิทรรศการเรื่องราวของเมืองลำปางในอดีต

          กาดกองต้า เปิดเป็นถนนคนเดินวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 17.00 – 22.00 น. มีร้านค้ามากมายหลายรูปแบบ ทั้งร้านในตัวอาคารที่ตกแต่งสวยงาม แผงลอย ไปจนถึงแบกับดิน ทั้งร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายของที่ระลึก และสินค้าพื้นเมือง เช่น งานหัตถกรรม งานศิลปะ รวมถึงอาหารอร่อยมากมาย

การเดินทาง

          จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านสิงห์บุรี ชัยนาท เข้านครสวรรค์ แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1 อีกครั้ง ผ่านกำแพงเพชร ตาก จากนั้นตรงเข้าสู่จังหวัดลำปาง รวมระยะทางทั้งสิ้น 599 กิโลเมตร

          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานเชียงใหม่ (สำนักงานชั่วคราว ติดต่อได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556) 164/94-95 ถนนช้างคลาน ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ 50100 โทรศัพท์ 0 5327 6140-1 อีเมล tatchmai@tat.or.th

เชียงคาน

เชียงคาน เรือนไม้ริมโขง

          เชียงคาน อำเภอเล็ก ๆ ในจังหวัดเลย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง เป็นแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวาง ด้วยเสน่ห์จากความเรียบง่ายในการใช้ชีวิตของผู้คนในพื้นที่ ประกอบกับการเป็นที่ตั้งของห้องแถวไม้เก่าแก่อายุกว่าร้อยปี ที่ปลูกเรียงรายเป็นทิวแถวสองฟากถนนชายโขง ซึ่งอยู่ประชิดติดกับแม่น้ำโขง ผนวกกับอากาศเย็นสบาย ทำให้เชียงคานกลายเป็นชุมชนในภาพฝันของผู้คนรุ่นหนุ่มสาวที่เข้าไปพบเห็น

          จากแรงดึงดูดีนี้เอง หลายคนจึงลงหลักปักฐานสานฝันของตน ด้วยการเปิดกิจการเล็ก ๆ ทั้งบ้านพัก ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึกร้านกาแฟ ที่มีชื่อน่ารัก ๆ เช่น นิยมไทย, เพลินพรมแดน, เรือนแรมลกไม้, เบิ่งโขง, คิดถึง ณ เชียงคาน, โขงอิงคาน, เจอเลย, รักเลย, แม่น้ำมีแก่ง เป็นต้น จากหนึ่งไปสองจากสองไปสาม เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับศักยภาพในพื้นที่เองก็มีสถานที่ท่องเที่ยวในละแวกใกล้ ๆ ที่น่าสนใจ เชียงคานจึงเติบโตขึ้นเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว

เชียงคาน

          สถานที่ท่องเที่ยวเด่น ๆ ใกล้ตัวเมืองเชียงคานมีมากมาย เช่น แก่งคุดคู้ เป็นแก่งหินใหญ่ขวางอยู่กลาง ลำน้ำโขงตรงช่วงโค้งของลำน้ำโขงพอดี ที่นี่จะสวยงามในหน้าแล้ง เพราะปริมาณน้ำจะลดลงจนเห็นแก่งหินและแนวชายหาด, วัดศรีคุณเมือง ตั้งอยู่บนถนนสายเดียวกันกับห้องแถวไม้ คือ ถนนชายโขง เป็นวัดเก่าแก่ที่มีศิลปะการสร้างทั้งแบบล้านนาและล้านช้าง มีศิลปวัตถุที่สำคัญ คือ พระพุทธรูปไม้จำหลัก ธรรมาสน์แกะสลักไม้ ภาพจิตกรรมฝาผนัง, พระใหญ่ภูคกงิ้ว เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ประดิษฐานอยู่ที่ภูคกงิ้ว ซึ่งเป็นจุดแรกที่แม่น้ำโขงไหลผ่านเลียบภาคอีสานของประเทศไทยเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำเหืองและแม่น้ำโขง ทำให้เห็นเป็นแม่น้ำสองสี

          ภูทอก เป็นภูเขาที่สูงไม่มากนักเป็นจุดชมทะเลหมอกที่สวยงามในตอนเช้าหน้าหนาว รวมถึงมองเห็นวิวทิวทัศน์ตัวเมืองเชียงคาน แก่งคุดคู้ ภูหมอน ผาแบ่น มองเห็นสายน้ำโขงที่ไหลแนบเชียงคาน กั้นพรมแดนไทย-ลาว และยังมองเห็นประเทศลาวได้อย่างชัดเจน ส่วนในตัวเมืองเชียงคานเองในยามเย็นจะมีถนนคนเดิน ซึ่งมีบรรยากาศและสีสันของร้านค้าที่ตกแต่งอย่างสวยงาม ล่วงโมงยามข้ามสู่ยามเช้า ตื่นแต่เช้าตรู่สักหน่อยจะได้สูดอากาศบริสุทธิ์ริมแม่น้ำโขง ที่มีสายหมอกลอยอ้อยอิ่งอยู่เหนือผิวน้ำ ก่อนทำบุญตักบาตรข้าวเหนียวหน้าห้องแถวไม้

          เชียงคานเป็นเมืองเล็กอีกเมืองหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ของชีวิตสงบงาม ดังนั้น การเดินทางไปเชียงคานจึงเหมือนการย้อนอดีตกลับไปสู่วันวานแสนรื่นรมย์

การเดินทาง

          จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) เมื่อถึงสระบุรีใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ผ่านอำเภอปากช่อง ลำตะคอง แยกซ้ายเข้าอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา แล้วเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 201 ผ่านอำเภอด่านขุนทด เข้าสู่จังหวัดชัยภูมิ แยกขวาแล้วไปตามทางหลวงหมายเลข 201 ผ่านคอนสวรรค์ แก้งคร้อ ภูเขียว ชุมแพ จังหวัดขอนแก่น เมื่อเชื่อมกับทางหลวงหมายเลข 12 แยกซ้ายไปทางคอนสาร จากนั้นแยกขวาไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๐๑ ผ่านภูผาม่าน ภูกระดึง วังสะพุง จนถึงตัวเมืองเลย จากนั้นแยกขวาสู่อำเภอเชียงคานรวมระยะทางประมาณ 597 กิโลเมตร

          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานเลย ที่ว่าการอำเภอเมืองเลย (ตึกเก่า) ถนนเจริญรัฐ อำเภอเมืองฯ จังหวัดเลย 42000 โทรศัพท์ 0 4281 2812 โทรสาร 0 4281 1480 อีเมล tatloei@tat.or.th

ตลาดเก่าเจ็ดเสมียน
ตลาดเก่าเจ็ดเสมียน เรือนไม้ผสานศิลปะร่วมสมัย

          เจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เป็นชุมชนที่สงบเรียบง่ายอีกมุมหนึ่งในประเทศ ซึ่งนับวันจะเหลือพื้นที่เช่นนี้อยู่น้อยเต็มที ทุกอย่างแปรเปลี่ยนไปตามปัจจัยความต้องการของยุคสมัย ในยุคที่บ้านเมืองยังใช้เส้นทางสัญจรทางน้ำในการคมนาคมขนส่ง ชุมชนตลาดเก่าเจ็ดเสมียนก็เคยมีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน ก่อนจะถูกเบียดให้ตกขอบด้วยเส้นทางรถไฟที่ตามมา แต่ชุมชนตลาดเจ็ดเสมียนก็สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการมีเส้นทางรถไฟและสถานีรถไฟ จวบจนถึงยุคเปลี่ยนเข้าสู่การสัญจรทางรถยนต์เป็นหลัก เจ็ดเสมียนซึ่งแม้จะห่างจากถนนเพชรเกษมไม่ถึง 5 กิโลเมตร ก็เริ่มกลายเป็นชุมชนที่ถูกลืมเลือน

          ทว่าเมื่อมาถึงวันนี้ ผู้คนเริ่มหุ้นกลับไปมองอดีตอันเต็มไปด้วยความสงบเรียบง่าย ชุมชนเก่าเจ็ดเสมียนจึงถูกพลิกฟื้นให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ภายใต้กลิ่นอายมนต์เสน่ห์แบบดั้งเดิมของอาคารบ้านช่องที่มีมากว่า 100 ปีก่อน โดยแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งอาคารบ้านเรือน ซึ่งเป็นห้องแถวไม้รวมถึงความเงียบสงบและวิถีชีวิตที่เรียบง่าย

ตลาดเก่าเจ็ดเสมียน

          มีสถานที่สำคัญและน่าเที่ยว คือ ห้องแถวไม้ วัดเจ็ดเสมียน ศาลคุณตาผ้าขาว โรงหนังวิกครูทวี ร้านกาแฟน่ารัก สวนศิลป์บ้านดิน ลานโพธิ์ ซึ่งใช้เป็นที่จัดแสดงศิลปะ นอกจากนี้ ทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์สัปดาห์สุดท้ายของเดือนหลายภาคส่วนได้จัดให้มีกิจกรรม All about Arts สืบสานงานศิลป์ภูมิปัญญาคนของแผ่นดิน มีการแสดงภาพถ่าย ภาพวาดของบรรดาศิลปินจากโพธาราม การแสดงพื้นบ้าน การแสดงจากภัทราวดีเธียเตอร์และศิลปินอื่น ๆ ตลอดจนการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในสมัยก่อน ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป

          การมาเยือนชุมชนเก่าแก่แห่งนี้ นอกจากจะได้สัมผัสกับบรรยากาศย้อนยุคของอาคารบ้านเรือนและวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแล้ว นักท่องเที่ยวยังได้อิ่มอร่อยกับอาหารการกินมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ขึ้นชื่อจนกลายเป็นของดีประจำจังหวัด คือ ไชโป๊ว หลากรูปแบบทั้งหวานเค็ม ให้เลือกซื้อหาเป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้าน ตลอดจนเค้กมะพร้าวอ่อนและมะขามเทศมัน

การเดินทาง

          จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) หรือทางหลวงหมายเลข 338 (ถนนบรมราชชนนี) ก็ได้ ผ่านนครปฐม ไปจนถึงแยกเจ็ดเสมียน แล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนเพชรเกษมสายเก่า เข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร ก่อนจะเลี้ยวไปตามทางหลวงหมายเลข 3237 จนถึงชุมชนเก่าเจ็ดเสมียน

          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เทศบาลตำบลเจ็ดเสมียน โทรศัพท์ 0 3239 7015, สวนศิลป์บ้านดิน โทรศัพท์ 0 3239 7668, 08 1831 7041 และ ททท. สำนักงานเพชรบุรี (ดูแลพื้นที่เพชรบุรีและราชบุรี) 500/51 ถนนเพชรเกษม อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี 76120 โทรศัพท์ 0 3247 1005 – 6 อีเมล tatphet@tat.or.th

น่าน
น่าน ล้านนาตะวันออก

          ในอดีตที่ผ่านมา หลายต่อหลายเมืองได้รับการพัฒนาเพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรือง โดยส่วนหนึ่งที่ใช้เป็นดัชนีชี้วัดความเจริญ คืออาคารบ้านเรือนทันสมัย ทว่าเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในภาคเหนือฝั่งตะวันออก คือเมืองน่าน กลับรักษาความสงบงามและวิถีแบบดั้งเดิม ส่งผลให้เมืองน่านกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวผู้ชื่นชอบวิถีชีวิตอย่างแท้จริง

          สำหรับการท่องเที่ยวเยือนเมืองน่านนั้น จุดหมายจะอยู่ในบริเวณตัวเมือง ในย่านที่เรียกว่า "ข่วงเมือง" หรือใจกลางเมือง ซึ่งมีวัดวาอาราม รวมถึงสถานที่สำคัญหลายแห่ง เที่ยวง่ายด้วยการเดินทอดน่องท่องไป เพราะแหล่งท่องเที่ยวแต่ละจุดตั้งอยู่ไม่ไกลกัน โดยสถานที่ที่พลาดไม่ได้ ได้แก่ วัดภูมินทร์ วัดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยตัวพระอุโบสถและพระวิหารสร้างเป็นอาคารหลังเดียวกัน ทรงจัตุรมุขพระประธานจัตุรพักตร์ มีนาคสะดุ้งเทินพระอุโบสถไว้ ประตูไม้ทั้งสี่ทิศแกะสลักลวดลายสวยงามมาก นอกจากนี้ ยังมีภาพจิตกรรมฝาผนังแสดงถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของผู้คนในยุคโบราณ

น่าน

          ข้ามทางแยกไปอีกฝั่งหนึ่ง เป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุข้างค้ำ วัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 1949 เพื่อเป็นวัดหลวงประจำราชสำนักน่าน ตั้งอยู่ในตำแหน่งใจกลางเมือง ประดิษฐานพระธาตุเจดีย์ ศิลปะสมัยสุโขทัยรอบเจดีย์มีช้างปูนปั้น ส่วนภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา นามว่าพระพุทธนันทบุรีศรี ศากยมุนี ซึ่งเป็นทองคำ 65 เปอร์เซ็นต์ ในบริเวณไม่ไกลกัน เป็นที่ตั้งของคุ้มเจ้าราชบุตร วัดหัวข่วง หอคำซึ่งปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ใกล้ ๆ กันนั้นคือ วัดมิ่งเมือง ซึ่งประดิษฐานเสาหลักเมืองและมีงานปูนปั้นที่สวยงาม

          เรื่องราวของเมืองน่านนั้น ไม่ได้มีบทสรุปเพียงแค่ย่านข่วงเมืองหรือลานเมืองเท่านั้น เมืองอันแสนสงบงามและมากไปด้วยมนต์เสน่ห์แห่งนี้ ยังมีสถานที่ที่น่าสนใจให้ได้ไปสัมผัสอีกหลากหลายรูปแบบ ทั้งธรรมชาติ วิถีชีวิต และวัฒนธรรม

การเดินทาง

          จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 32 จนถึงจังหวัดนครสวรรค์ แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 117 ไปจนถึงจังหวัดพิษณุโลก จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 11 โดยจะผ่านจังหวัดอุตรดิตถ์และอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านจังหวัดแพร่ไปจนถึงจังหวัดน่าน รวมระยะทางประมาณ 668 กิโลเมตร

          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานแพร่ (ดูแลพื้นที่แพร่ น่าน และอุตรดิตถ์) 34/130-131 ถนนเหมืองหิต ตำบลในเวียง อำเภอเมืองฯ จังหวัดแพร่ 54000 โทรศัพท์ 0 5452 1118, 0 5452 1127

ปาย
ปาย ที่ต้องสัมผัสด้วยใจ

          ปาย ชุมชนเล็ก ๆ กลางขุนเขาของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มากไปด้วยมนต์เสน่ห์ ยิ่งเป็นช่วงฤดูหนาวนักเดินทางต่างตั้งเข็มมาที่นี่กันมากมาย นั่นเพราะปายมีหลายอย่างหลอมรวมกัน ทั้งในแง่วิถีชีวิตวัฒนธรรม ประเพณี ความเป็นอยู่ของผู้คน ธรรมชาติ วิวทิวทัศน์ อากาศ ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ และรีสอร์ตที่พักสวย ๆ

          การมาเยือนเมืองปายในวันนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวให้เลือกสัมผัสกันหลากหลายรูปแบบ ทว่าหากมาเพื่อพักผ่อนสัมผัสบรรยากาศอันแสนโรแมนติกยอดฮิต เก็บภาพอันน่าประทับใจเหมือนในโปรสการ์ดที่พบเห็นกันโดยทั่วไป หรือตามภาพในโลกออนไลน์ ก็มีสี่แยกปายหนาว (Pai in Love) ร้านกาแฟสวย ๆ อย่างคอฟฟี่อินเลิฟ (Coffee Hillside) ถนนคนเดินปาย ที่จะคึกคักในช่วง 17.00 – 22.00 น.

          ถนนคนเดินเริ่มจากบริเวณสะพานไม้ไผ่ริมแม่น้ำปายไปถึงสี่แยกปายหนาว ถนนชัยสงครามบริเวณท่ารถปาย โดยจะปิดการจราจรให้นักท่องเที่ยวเดินเลือกซื้อสินค้า ทั้งงานหัตถกรรมท้องถิ่นของชาวไทยภูเขา ตลอดจนสินค้าอื่น ๆ โดยเฉพาะของฝาก ของที่ระลึกจำพวกเสื้อผ้า รูปภาพ โปสการ์ด นอกจากนี้ สองฟากถนนคนเดินยังเรียงรายด้วยร้านอาหาร ที่พัก และแหล่งบันเทิงต่าง ๆ

ปาย

          สิ่งที่ไม่อยากให้ผ่านเลยไปเมื่อมีโอกาสมาเยือนเมืองปาย คือ สถานที่ทางวัฒนธรรม วัดวาอาราม และวิถีชีวิต เพราะสถานที่เหล่านี้คือตัวตนแท้จริงของเมืองปาย อันเป็นที่มาของมนต์เสน่ห์ในยุคแรกเริ่ม ซึ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวผู้รักการแสวงหาต่างบ่ายหน้ามายังเมืองเล็ก ๆ นี้ ก่อนจะมีการปรุงแต่งใส่สีสันให้มีความหลากหลายเช่นปัจจุบัน สถานที่สำคัญทางวัฒนธรรม วัดวาอาราม และวิถีชีวิต เช่น วัดน้ำฮู ซึ่งประดิษฐานหลวงพ่อพระอุ่นเมือง พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย นอกจากนี้ ยังมีวัดกลางเจดีย์พระธาตุแม่เย็น หมู่บ้านกะเหรี่ยงแม่ปิง หมู่บ้านจีนยูนนานสะพานประวัติศาสตร์ปาย เป็นต้น

          ส่วนแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ นอกจากวิวทิวทัศน์ทุ่งนาและท้องฟ้าสีครามในยามหนาวริมแม่น้ำปายแล้ว ออกจากตัวเมืองปายไปไม่ไกลนักก็มีแหล่งธรรมชาติให้ได้สัมผัสความสวยงาม และมีบรรยากาศอันแสนโรแมนติกไม่แพ้ในตัวเมืองปาย เช่น ปางอุ๋ง กองแลน โป่งน้ำร้อนท่าปาย บ่อน้ำร้อน เมืองแปง จุดชมวิวดอยกิ่วลม น้ำตกหมอแปง น้ำตกแม่เย็น เป็นต้น

          เมืองปายจึงใช่จะมีแค่สถานที่ท่องเที่ยวแสนโรแมนติกที่สัมผัสได้ด้วยตาเท่านั้น แต่ยังมีสถานที่ที่ต้องสัมผัสด้วยใจให้ค้นหาอย่างไม่มีวันจบสิ้น ซึ่งสิ่งนี้เองที่ชักนำให้นักท่องเที่ยวย่างก้าวเข้ามาเยือนเมืองปายมากมายเช่นทุกวันนี้

การเดินทาง

          จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 32 ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 1 จนถึงลำปาง แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 11 เมื่อถึงเชียงใหม่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 ผ่านอำเภอแม่ริม แม่แตง บ้านแม่มาลัย แล้วเลี้ยงซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1095 ระยะทางประมาณ 98 กิโลเมตร ถึงอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน 4 ถนนราชธรรมพิทักษ์ ตำบลจองคำ อำเภอเมืองฯ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 58000 โทรศัพท์ 0 5361 2982-3 อีเมล tatmhs@tat.or.th

ภูเก็ต
เมืองเก่าภูเก็ต จุดบรรจบของตะวันออกและตะวันตก

          ภูเก็ต เกาะที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นไข่มุกแห่งอันดามัน นอกจากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวตากอากาศที่มีชื่อเสียงระดับโลกมาเนิ่นนานแล้ว ดินแดนแห่งนี้ยังเคยเป็นพื้นที่ทำเหมืองแร่ดีบุกที่สำคัญของประเทศ ทำให้มีชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนและชาวตะวันตกเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก สิ่งที่ตามมาคืออิทธิพลต่อการสร้างบ้านแปลงเมือง อาคารตึกรามบ้านช่องภายในย่านตัวเมืองภูเก็ตมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยการผสมผสานสองวัฒนธรรมจากสองฟากโลก ในสไตล์ที่เรียกว่าโคโลเนียล (Colonial) หรือเคยเรียกกันว่าชิโน-โปรตุกีส (Sino-Portuguese) กล่าวคือรูปแบบโครงสร้างสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ผสานลวดลายตกแต่งด้วยศิลปะแบบจีน

          อาคารสไตล์โคโลเนียลในตัวเมืองภูเก็ตส่วนใหญ่สร้างโดยชาวจีนที่เข้ามาทำเหมืองแร่ ในสมัยของพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต ช่วงปี พ.ศ. 2444 - 2456 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 โดยกลุ่มอาคารชิโน-โปรตุกีสในภูเก็ต แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ อาคารตึกแถวและคฤหาสน์ ซึ่งบ้านหลังแรกที่สร้างขึ้นตามแบบผสมผสานคือ บ้านชินประชา ของพระพิทักษ์ชินประชา นายเหมืองต้นตระกูลตักเฑวนิช ตั้งอยู่บนถนนกระบี่ จากนั้นอาคารรูปแบบนี้จึงได้รับความนิยมในวงกว้างไปทั่วเมืองภูเก็ต แต่จะมีอยู่อย่างหนาแน่นในย่านถนนดีบุก ถนนกระบี่ ถนนถลาง และถนนเยาวราช

ภูเก็ต

          อาคารสไตล์โคโลเนียลที่สวยงามน่าชม นอกจากที่บ้านชินประชามีอยู่หลายหลังด้วยกัน เช่น อดีตอาคารศูนย์รวมข่าวพรหมเทพ โดดเด่นอยู่ตรงหัวมุมถนนพังงาตัดกับถนนภูเก็ต เป็นอาคารสีขาว 1 ชั้น บนอาคารมีหอนาฬิกาสูง 4 เมตร โรงแรมถาวร เป็นโรงแรมเก่าแก่ภายในโถงจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองภูเก็ต และจัดวางข้าวของเครื่องใช้ของคนงานในเหมืองให้ได้ชม อาคารพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัวบ้านหลวงอำนาจนรารักษ์ คฤหาสน์ตระกูลหงส์หยก บ้านหลวงอนุภาษภูเก็ตการ ฯลฯ

การเดินทาง

          จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ 2 เส้นทาง คือ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2 หรือถนนธนบุรี-ปากท่อ) เข้าทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ถึงชุมพรแล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านอำเภอหลังสวน อำเภอท่าฉาง แล้วแยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 401 ไปจนบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 4 ที่อำเภอตะกั่วป่าแยกซ้ายผ่านอำเภอท้ายเหมือง บ้านโคกกลอย แล้วข้ามสะพานสารสินเข้าสู่จังหวัดภูเก็ต ส่วนอีกเส้นทางหนึ่ง คือไปตามทางหลวงหมายเลข 4 จนถึงภูเก็ต รวมระยะทางประมาณ 862 กิโลเมตร

          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานภูเก็ต 191 ถนนถลาง ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองฯ จังหวัดภูเก็ต 83000 โทรศัพท์ 0 7621 1036, 0 7621 2213 อีเมล tatphket@tat.or.th

สงขลา
สงขลา ย่านเมืองเก่า

          สงขลา เมืองท่าเก่าแก่ที่มีประวัติการสร้างชุมชนมาอย่างยาวนาน และเปลี่ยนผ่านจากความรุ่งเรืองเมื่อครั้งอดีตมาเป็นเมืองน่ารัก น่าเดินทอดน่องท่องวัฒนธรรมอันงดงาม โดยในตัวเมืองเก่ามีถนน 3 สายด้วยกัน คือ ถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนเก้าห้อง หรือถนนนางงาม ปัจจุบันถนนทั้ง 3 สาย นี้ยังคงมีภาพบอกเล่าเรื่องราวให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ผ่านอาคารบ้านเรือนในย่านเมืองเก่าสงขลา

          จากการศึกษาพบว่า สามารถแบ่งได้เป็น 4 แบบด้วยกัน คือ ห้องแถวและอาคารจีนดั้งเดิม อาคารเหล่านี้ก่อสร้างในยุคแรกของการตั้งเมืองตามคติความเชื่อแบบจีนแท้ ๆ ห้องแถวและอาคารจีนแท้ ๆ, ห้องแถวและอาคารจีนที่ประยุกต์ตามอิทธิพลตะวันตก โดยมีร่องรอยของศิลปะแนวอาร์ตเดคโค (Art Deco) และอาร์ตนูโว (Art Nouveau) เข้ามาเป็นส่วนผสม แบบที่สาม คือ สถาปัตยกรรมจีนที่ประยุกต์รวมกับสถาปัตยกรรมตะวันตก อาคารลักษณะนี้พบมากในประเทศแถบอาณานิคมอังกฤษ มักถูกเรียกขานว่าแบบโคโลเนียล และสุดท้าย คือ สถาปัตยกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอาณาบริเวณเมืองเก่า เช่น ศาลหลักเมือง ศาลเจ้าวัด โรงสีโบราณ และซากกำแพงเมือง เป็นต้น

สงขลา

          ส่วนสถานที่ที่น่าสนใจในย่านเมืองเก่าก็จะอยู่ในบริเวณถนนทั้ง 3 สาย เช่น บ้านเรือนและตึกเก่าสไตล์ชิโน-โปรตุกีส โกดังหับโห้หิ้น ศาลหลักเมือง วัดมัชฌิมาวาส หรือวัดกลาง วัดยางทอง หรือหากต้องการรู้จักเมืองสงขลามากกว่านี้ ก็ยังมีสถานที่อีกหลายแห่งที่อยู่ในละแวกเดียวกัน เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์ กำแพงเมืองสงขลา และในการเที่ยวชมเมือง

          สิ่งหนึ่งที่จะพลาดไปไม่ได้คือของกินพื้นเมือง เช่น ขนมบอก ขนมค้างคาว นอกจากนี้ ยังมีร้านน่านั่งในบรรยากาศเก่า ๆ เช่น บ้านขนมไทยสอง-แสน ร้านอ่องเฮียบฮวด ร้านจ. กลาส ข้าวต้ม กล้วยนางยา ร้านปี๊เต๋ เป็นต้น

การเดินทาง

          จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนธนบุรี-ปากท่อ) ก่อนเลี้ยวแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ถึงชุมพร แล้วต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 41 ถึงจังหวัดพัทลุง บรรจบกับทางหลวงหมายเลข 4 อีกครั้ง แล้วขับต่อไปถึงแยกท่าท้อน ก่อนถึงตัวอำเภอหาดใหญ่ เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 414 หรือถนนลพบุรีราเมศวร์ ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 407 จนถึงเมืองสงขลา

          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานหาดใหญ่ 1/1 ซอย 2 นิพัทธ์อุทิศ 3 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110 โทรศัพท์ 0 7423 1055, 0 7423 8518, 0 7424 3747 อีเมล tatsgkhl@tat.or.th

สวนผึ้ง
สวนผึ้ง ชายแดนตะวันตก เหตุการณ์เปลี่ยนแปลง

          สวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี อำเภอสุดชายแดนด้านทิศตะวันตก ซึ่งจรดกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา จากกระแสสวนผึ้งฟีเวอร์ ทำให้เกิดร้านกาแฟ รีสอร์ท ที่พักสวย ๆ ท่ามกลางอ้อมกอดของขุนเขา ทว่าจุดเด่นของสวนผึ้งหาได้มีเพียงเท่านี้ เพราะที่นี่ยังมีมนต์เสน่ห์อีกมากมายด้วยสถานที่ท่องเที่ยว เช่น น้ำตกเก้าโจน เป็นน้ำตกเล็ก ๆ ที่แม้จะมีความสวยงามเฉพาะหน้าฝน แต่ไม่ถึงกับขี้เหร่ ในหน้าแล้งธารน้ำร้อนบ่อคลึง ที่สามารถลงไปแช่ให้หายเมื่อยล้า และยังมีผลดีต่อสุขภาพ ยอดเขากระโจม ยอดเขาที่สามารถชมทะเลหมอกโดยไม่ต้องเดินทางไปไกลถึงภาคเหนือ อีกทั้งมีสภาพอากาศเย็นสบาย เหมาะต่อการไปพักค้างแรม และใกล้ ๆ กันก็ยังมีน้ำตกผาแดง น้ำตกที่ไหลผ่านหินลาดสีแดง

สวนผึ้ง

          ไร่กุหลาบอุษาวดีสวนปลูกกุหลาบหลายสายพันธุ์ศูนย์ศึกษาพรรณไม้ป่าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ หรือสวนป่าสิริกิติ์แหล่งรวมพรรณไม้ป่านานาชนิด และมีสถานที่ท่องเที่ยวอย่างแก่งส้มแมว อุทยานธรรมชาติวิทยาตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าตลอดจนจัดทำเป็นแหล่งความรู้และเผยแพร่แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป บ้านกะเหรี่ยงพุระกำ ตั้งอยู่ท่ามกลางอ้อมกอดของขุนเขาและลำห้วยพุระกำ จุดชมวิวห้วยคอกหมู สูงจากระดับทะเลปานกลาง 800 เมตร ฟาร์มตัวอย่างพระราชดำริบ้านบ่อหวี ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

          ส่วนสถานที่ยอดฮิตนั้น ต้องยกให้รีสอร์ท ร้านกาแฟ ร้านขายของที่ระลึก ที่ตกแต่งได้อย่างสวยงามลงตัว ให้บันทึกภาพโชว์และแชร์กันอย่างอิ่มในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น บ้านหอมเทียน, เดอะซีนเนอรี่, สวนกระต่ายอามันเต้, โรยัลกู๊ดวิว รีสอร์ท แอนด์ ฟาร์ม, นิวแลนด์ สวนผึ้ง, พิพิธภัณฑ์ภโวทัย, พาโนซ่า ฯลฯ

การเดินทาง

          จากกรุงเทพฯ ขับมุ่งตรงสู่จังหวัดราชบุรี ตามทางหลวงหมายเลข 4 เมื่อถึงราชบุรีให้เลี้ยวขวาที่แยกเจดีย์หักไปตามทางหลวงหมายเลข 3087 ผ่านอำเภอจอมบึง มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง และถ้ำจอมพล มุ่งหน้าสู่อำเภอสวนผึ้ง

          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานเพชรบุรี (ดูแลพื้นที่เพชรและราชบุรี) 500/51 ถนนเพชรเกษม อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี 76120 โทรศัพท์ 0 3247 1005 – 6 อีเมล tatphet@tat.or.th

หัวหิน
หัวหิน สุดยอดเมืองตากอากาศ

          หัวหิน เมืองที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองตากอากาศยอดนิยมที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากมีความเป็นมายาวนานนับร้อยปี และได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

          หากกล่าวถึงตัวตนของเมืองหัวหิน ผู้ที่เคยสัมผัสก็คงพอจะเดาออกถึงความร่วมสมัยที่มีทั้งความเก่าแก่และทันสมัยผสมผสานเข้ากันกลายเป็นเอกลักษณ์ของเมือง ดังจะเห็นได้จากสถานที่ท่องเที่ยวทั้งหลาย เช่น พลับพลาพระมงกุฎเกล้าฯ บริเวณสถานีรถไฟหัวหิน อาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ที่ได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมแบบวิกตอเรีย ที่เน้นความละเอียดลออของการประดับตกแต่งเสาคานหลังคา ฯลฯ จนได้รับการยกย่องว่าเป็นสถานีรถไฟที่สวยที่สุดในประเทศ รวมถึงกลายเป็นสัญลักษณ์และความภาคภูมิใจของชาวเมืองหัวหิน จนปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนเมืองนี้ ย่อมพลาดไม่ได้ที่จะถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับพลับพลาพระมงกุฎเกล้าฯ เฉกเช่นเดียวกัน

          นอกเหนือจากชายหาดขึ้นชื่อแล้ว เมืองหัวหินก็ยังคงมีคาแรคเตอร์แห่งความทันสมัยและเกาะกระแสการท่องเที่ยวออกมาให้เราชื่นชมอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดอย่างเพลินวาน ในยุคที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเยือนสถานที่เก๋ ๆ ร้านกาแฟสวย ๆ จับจ่ายของฝากแฮนด์เมด และถ่ายภาพน่ารัก ๆ เพื่อแชร์ในสังคมออนไลน์ เพลินวานก็ตอบโจทย์การท่องเที่ยวได้อย่างครบถ้วน

หัวหิน

          ห่างออกไปที่ตลาดจักจั่น ตลาดนัดตอนเย็นที่รวบรวมความอาร์ตและงานสร้างสรรค์มานำเสนอนักท่องเที่ยวในวันเสาร์ เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป ตลาดจักจั่นจะถูกเนรมิตให้เป็นแหล่งช้อปปิ้งแบบ Lifestyle Marker ที่ได้รับความนิยมอย่างมากคือ โซน Art A La Mode ซึ่งประดับประดาไปด้วยแสงไฟสีสวย และความสุนทรีย์ของดนตรีเบา ๆ เคล้าคลอบรรยากาศ มีศิลปินมากมายมาออกร้านขายของแฮนด์เมดไอเดียดี ๆ ทั้งเครื่องประดับ เสื้อผ้า ของแต่งบ้าน ฯลฯ ถัดกันไปไม่ไกลนักเป็นโซน Art of Eating ที่รวบรวมร้านอาหารอร่อยมากมาย บางร้านเป็นร้านดังจากโรงแรมชั้นนำ บางร้านก็เป็นร้านขึ้นชื่อติดปากชาวเมืองหัวหินมาออกร้านให้เลือกชิมของอร่อยกันจนอิ่มท้อง

          นอกจากนี้ หัวหินยังมีแหล่งท่องเที่ยวน่าชมอีกมาก เช่น วัดห้วยมงคล วัดเขาตะเกียบ ตลาดน้ำหัวหิน ตลาดน้ำหัวหินสามพันนาม ฯลฯ

การเดินทาง

          จากกรุงเทพฯ มุ่งตรงไปยังถนนพระราม 2 จากนั้นเลี้ยวซ้ายที่แยกวังมะนาว เข้าทางหลวงหมายเลข 4 ไปอีกประมาณ 100 กิโลเมตร ผ่านอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เข้าตัวเมืองหัวหิน

          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานประจวบคีรีขันธ์ 39/9 ถนนเพชรเกษม ตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 77110 โทรศัพท์ 0 3251 3885, 0 3251 3854, 0 3251 3871 อีเมล tatprachuap@tat.or.th

อุทัยธานี
อุทัยธานี ชีวิตเรียบง่ายริมลำน้ำสะแกกรัง

          อุทัยธานี เมืองเล็ก ๆ ริมแม่น้ำสะแกกรัง เป็นเมืองที่ยังคงหลงเหลือบรรยากาศเก่า ๆ กับกลิ่นอายบ้านริมน้ำในรูปแบบของชนบท ซึ่งความงามเหล่านี้เองเป็นเสมือนสิ่งที่ทำให้ผู้คนต้องการมาเยือนเมืองที่อิงแอบสายน้ำ โดยมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เริ่มจากบริเวณตัวเมืองแถววงเวียนใจกลางเมืองทั้ง 3 วงเวียน อาคารบ้านเรือนในย่านนี้เป็นห้องแถวสองชั้น มีทั้งที่สร้างด้วยไม้และปูนในยุคการค้าทางน้ำยังเจริญรุ่งเรือง และน่าสนใจ คือ พิพิธภัณฑ์ฮกแซตึ้ง บ้านไม้สักแบบจีน อายุเก่าแก่กว่าร้อยปี สร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ โดยเดิมเป็นร้านขายยา และเป็นศูนย์กลางในการจัดงานต่าง ๆ เช่น เทศกาล กินเจ เป็นต้น

อุทัยธานี

          วัดอุโปสถาราม วัดเก่าแก่ริมน้ำสะแกกรัง, วัดสังกัสรัตนคีรี ตั้งอยู่ตรงเชิงเขาสะแกกรังประดิษฐ์ฐานพระพุทธรูปมงคลศักดิ์สิทธิ์ หรือหลวงพ่อมงคล เป็นพระพุทธรูปโบราณสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย วัดแห่งนี้ยังเป็นสถานที่จัดงานตักบาตรเทโวด้วย, วัดจันทราราม หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าวัดท่าซุง หรือวัดหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ภายในวัดมีวิหารแก้ว ประดับตกแต่งด้วยแก้วอย่างวิจิตรบรรจง, เกาะเทโพ เกาะที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสะแกกรัง บนเกาะมีเส้นทางปั่นจักรยานท่องเที่ยวไปตามสถานที่ที่น่าสนใจ เช่น ท้องทุ่งนาที่ปรับเปลี่ยนสีสันไปตามฤดูกาล สวนส้มโอ หมู่บ้านหัตถกรรมทำเสื่อ เครื่องจักสานจากไม้ไผ่ ฯลฯ เส้นทางปั่นจักรยานระยะทางประมาณ 33 กิโลเมตร

          นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมล่องเรือไปตามลำน้ำสะแกกรัง เพื่อย้อนความหลัง ชมความรุ่งเรืองของลุ่มน้ำแห่งนี้ โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ จะมีดอกสะแกสีเขียวอมเหลืองห้อยลงมาริมน้ำ จึงเป็นที่มาของชื่อลำน้ำ ส่วนริมน้ำก็สามารถพบเห็นเรือนแพ ที่ยังมีผู้คนอาศัยและดำรงชีวิตเรียงรายอยู่ทั้งสองฟากฝั่ง ซึ่งนับวันจะเหลือน้อยเต็มที

การเดินทาง

          จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท แล้วเลี้ยวซ้ายตรงทางแยกท่าน้ำอ้อย บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 206 เข้าทางหลวงหมายเลข 333 ข้ามสะพานแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร ผ่านหน้าโรงพยาบาล เลี้ยงซ้าย เข้าตลาดอุทัยธานี รวมระยะทางประมาณ 222 กิโลเมตร

          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานอุทัยธานี 28/5 ถนนรักการดี ตำบลอุทัยใหม่ อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุทัยธานี 61000 โทรศัพท์ 0 5561 6228 – 9 





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 53 ฉบับที่ 6 มกราคม 2556 (ฉบับคู่มือ)


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ออกไปเที่ยวสัมผัสเมืองน่ารัก ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อัปเดตล่าสุด 18 พฤษภาคม 2565 เวลา 14:56:33 1,669 อ่าน
TOP