เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณ Princess of Napier สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม และ เฟซบุ๊ก Princess of Napier
จังหวัดบุรีรัมย์ ถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันดีงามอยู่มากมาย โดยเฉพาะสิ่งที่แหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวในเดินทางไปเยือนเสมอ นั่นก็คือ ปราสาทหินน้อย-ใหญ่ที่มีอยู่จำนวนมาก วันนี้เราเลยนำบันทึกการเดินทางจากมุมมองของ คุณ Princess of Napier สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ที่มีโอกาสได้เดินทางไปเยือนจังหวัดบุรีรัมย์ถึงถิ่นแล้วเก็บภาพมาฝากกัน ส่วนจะมีสถานที่ไหนน่าสนใจบ้างนั้น ตามไปชมกันเลยจ้า
++++++++++++++++++++++
สวัสดีค่ะเพื่อน ๆ ชาว Pantip วันนี้จะขอมาถ่ายทอดบันทึกการเดินทางไปเที่ยว "จังหวัดบุรีรัมย์" ของเราเอง บุรีรัมย์เป็น "เมืองแห่งความรื่นรมย์" ตามความหมายของชื่อเมือง จังหวัดนี้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับคนในท้องถิ่นและเป็นเมืองที่น่ามาเยือนสำหรับคนต่างถิ่นค่ะ การได้มาเที่ยวบุรีรัมย์ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองนับจากที่เคยมาครั้งหนึ่งนานหลายปีมาแล้วค่ะ และการมาครั้งนี้ได้เปลี่ยนความคิดหลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับจังหวัดนี้ไป อาจจะเป็นเพราะด้วยวัยที่โตขึ้นเลยมีโอกาสได้ค้นคว้าหาข้อมูลสถานที่ต่าง ๆ ล่วงหน้าก่อนไปเยือน ไปถึงเลยซึมซับอะไรได้มากกว่าแต่ก่อน
จังหวัดบุรีรัมย์เป็นจังหวัดที่มีโบราณสถาน โบราณวัตถุที่สำคัญมากมาย อีกทั้งยังมีวิถีวัฒนธรรมที่คงความเป็นเอกลักษณ์ในแต่ละยุคสมัย สมดังคำขวัญประจำจังหวัดที่กล่าวว่า
"เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม"
ซึ่งรีวิวบุรีรัมย์ของเตยจะแบ่งออกเป็น 2 ตอนนะคะ รับรองว่าพาเที่ยวครบตามคำขวัญแน่นอนค่ะ โดยตอนแรก "ตามรอยประวัติศาสตร์เมืองโบราณบุรีรัมย์" จะพาทุกคนออกเดินทางไปทำความรู้จักแหล่งประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจโดยเฉพาะโบราณสถานและโบราณวัตถุ วัดวาอารามและปราสาทหินที่มีเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจค่ะ
ส่วนตอนที่สอง "งามเสน่ห์ไหมบุรีรัมย์ มหัศจรรย์ใต้ฟ้าพระบารมี" จะพาทุกคนไปดูกระบวนการในการทอผ้าไหมค่ะ ขอบอกว่ากว่าจะได้มาซึ่งผ้าไหมที่งดงามแต่ละผืนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มีขั้นตอนและกระบวนการที่ซับซ้อน ซึ่งทุกขั้นทุกตอนล้วนแล้วแต่ต้องใช้ความประณีต ความเอาใจใส่ ยังไงรอติดตามชมในตอนที่สองนะคะ วันนี้พร้อมแล้วออกเดินทางกันเลยดีกว่าค่ะ
แวะมาชมแล้วสามารถทักทายกันได้นะคะ ถ้าเห็นว่ากระทู้มีประโยชน์กับเพื่อน ๆ ที่กำลังจะเดินทางไปท่องเที่ยวทางจังหวัดนี้ หรือชื่นชอบรบกวนกด+กระทู้เพราะเดี๋ยวนี้กระทู้ตกเร็วมากจริง ๆ เลยค่ะ รีวิวนี้ตั้งใจนำบันทึกการเดินทางมาแบ่งปันให้เพื่อนได้ตามไปเที่ยวเมืองบุรีรัมย์ด้วยกัน สามารถแวะไปติดตามชมรีวิวย้อนหลังเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก Princess of Napier
การเดินทางไปจังหวัดบุรีรัมย์
1. โดยรถยนต์
จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ถึงสระบุรีเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 แยกขวา เข้าทางหลวงหมายเลข 224 และทางหลวงหมายเลข 24 (โชคชัย-เดชอุดม) ผ่านอำเภอหนองกี่ อำเภอนางรอง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ตัวจังหวัดบุรีรัมย์ ตามทางหลวงหมายเลข 218 ระยะทางประมาณ 410 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง แต่วันที่เตยไปออกแต่เช้ารถไม่ติดก็อาจจะเร็วกว่านั้นค่ะ
2.โดยรถประจำทาง
มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-บุรีรัมย์ ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทรศัพท์ 1490 หรือ www.transport.co.th บริษัทกิจการราชสีมา โทรศัพท์ 0 2271 2390 ปัจจุบันบริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com นอกจากนี้ ยังสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ได้ที่ไทยรูทดอทคอม www.thairoute.com
3. โดยรถไฟ
มีรถไฟออกจากสถานีหัวลำโพงทุกวัน สายกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี หรือนครราชสีมา-อุบลราชธานี ทั้งที่เป็น ขบวนรถด่วน รถเร็ว รถธรรมดา และรถดีเซลราง ผ่านสถานีบุรีรัมย์ทุกขบวน
แผนที่ท่องเที่ยวที่เราใช้ดูเป็นหลัก ๆ ในการเดินทางครั้งนี้ค่ะ
การเดินทางครั้งนี้เราอยากได้รถที่ประหยัดน้ำมัน คล่องตัว ไม่จำเป็นต้องลุยมากก็ได้เพราะว่าไม่ได้เข้าไปลุยป่า เลยมองไปที่ Eco car อย่าง Nissan Almera ตัดสินใจเช่ารถจาก Thai Rent A Car เพื่อใช้ในการเดินทางค่ะ ใช้บริการเจ้านี้บ่อยเพราะรถใหม่ ค่อนข้างมั่นใจได้ มีบริการช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมงค่ะ โดยรวมแล้วพอใจกับเจ้า Nissan Almera มากเพราะคล่องตัว ขึ้นเขาได้สบายไม่มีหวั่น ที่สำคัญความประหยัดน้ำมันแบบสุด ๆ เนี่ยแหละค่ะ
เมืองปราสาทหินในเขตจังหวัดบุรีรัมย์มากมีไปด้วยปราสาทหินใหญ่-น้อย อันหมายถึงความรุ่งเรืองมาแต่อดีต จากการศึกษาของนักโบราณคดีพบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์สมัยทราวดี และที่สำคัญที่สุดพบกระจายอยู่ทั่วไป
ในจังหวัดบุรีรัมย์มาก คือ หลักฐานทางวัฒนธรรมของเขมรโบราณ ซึ่งมีทั้งปราสาทอิฐและปราสาทหินเป็นจำนวนมากกว่า 60 แห่ง รวมทั้งได้พบแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ คือ เตาเผา ภาชนะดินเผา และภาชนะดินเผาแบบที่เรียกว่าเครื่องถ้วยเขมร
ความเป็นมาในการก่อตั้งเมืองบุรีรัมย์
เมื่อ พ.ศ. 2319 รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกรุงธนบุรี พระยานางรองคบคิดเป็นกบฏร่วมกับเจ้าโอ เจ้าอิน และอุปฮาดเมืองจำปาศักดิ์ จึงโปรดให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อยังดำรงตำแหน่ง เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพไปปราบ และรวบรวมผู้คนตั้งเมืองขึ้น เรียกว่า "เมืองแปะ" แต่งตั้งบุตรเจ้าเมืองผไทสมัน (พุทไธสง) ให้เป็นเจ้าเมือง ซึ่งต่อมาได้เป็นพระยานครภักดี ประมาณปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือต้นราชการพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เปลี่ยนชื่อเมืองแปะเป็น "บุรีรัมย์" ดังนั้น สถานที่แรกที่อยากพาเพื่อน ๆ ไปสักการะ คือ พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 1 ค่ะ
พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 1 ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนถนนสายบุรีรัมย์-สตึก ตัดถนนสายบุรีรัมย์-ประโคนชัยเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่พสกนิกรชาวบุรีรัมย์ได้ร่วมกันสร้างขึ้น ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ แห่งผู้สถาปนาเมืองบุรีรัมย์ และเพื่อเป็นอนุสรณ์สักการะ รวมทั้งศูนย์รวมจิตใจที่แสดงถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และมหาจักรีบรมราชวงศ์
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สร้างในปี พ.ศ. 2539 เพื่อเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงก่อตั้งเมืองบุรีรัมย์ เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก พระบรมราชานุสาวรีย์มีขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ ฉลองพระองค์แบบนักรบตามขัตติยราชประเพณีโบราณ ประทับบนช้างศึก จากจดหมายเหตุประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 7 กล่าวว่า ใน พ.ศ. 2321 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปปราบพระยานางรองซึ่งคบคิดกับเจ้าโอ เจ้าอินแห่งจำปาศักดิ์ ขณะเดินทัพพบเมืองร้างอยู่ที่ลุ่มน้ำห้วยจระเข้มาก มีชัยภูมิดีแต่ไข้ป่าชุกชุม ชาวเขมรป่าดงไม่กล้าเข้ามาอยู่อาศัย แต่ตั้งบ้านเรือนอยู่โดยรอบ จึงรวบรวมผู้คนตั้งเป็นเมืองแปะ และให้บุตรเจ้าเมืองพุทไธสมันซึ่งติดตามมาด้วยเป็นเจ้าเมือง ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยานครภักดี ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองบุรีรัมย์
ต่อมาจะพาไปไหว้ ศาลหลักเมืองบุรีรัมย์ นะคะ "ศาลหลักเมืองจังหวัดบุรีรัมย์" ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ซึ่งชาวบุรีรัมย์นับถือศรัทธาและมีประชาชนมากราบไหว้ในโอกาสต่าง ๆ ตลอดปี เดิมเป็นศาลขนาดเล็กจึงได้รื้อและก่อสร้างขึ้นใหม่ เมื่อ ปี 2548 -2550 ให้เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เลียนแบบมาจากปราสาทหินพนมรุ้ง คงความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นบุรีรัมย์อย่างชัดเจน
ด้านข้างศาลหลักเมืองยังมีศาลเจ้าจีน เพื่อให้ชาวไทยเชื้อสายจีนได้มากราบไหว้ในบริเวณเดียวกัน
บริเวณศาลหลักเมืองแห่งนี้เคยเป็นจุดเจ้าพระยาจักรี คือ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ใช้เป็นจุดพักรบ และเห็นว่าบริเวณนี้เป็นทำเลที่เหมาะสม มีสระน้ำ มีต้นแปะขนาดใหญ่ เลยโปรดเกล้าให้ตั้งชื่อเมืองนี้ว่าเมืองแปะ ก่อนที่จะมาเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองบุรีรัมย์ค่ะ
ลักษณะของศาลหลักเมืองจะเป็นองค์ปรางค์มียอดทั้งหมด 5 ชั้น แต่ละชั้นประดับกลีบขนุนและเทพประจำทิศ เพื่อปกป้องรักษาทิศต่าง ๆ องค์เรืองธาตุเป็นที่ประดิษฐานพระหลักเมืองชักมุมออกทั้ง 4 ด้าน อันเป็นความหมายถึงการกระจายความเป็นหลักฐานความมั่นคงออกไปทั้ง 4 ทิศ
ส่วนยอดศาลพระหลักเมืองติดตั้งรูปดอกบัวเป็นสเตนกลาสประดับทอง เพื่อนำแสงเข้าสู่หลักเมือง ภายในตัวศาลได้ตั้งเสาหลักเมืองตรงกลางองค์ปรางค์ พร้อมกับอันเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระเสื้อเมือง เทพารักษ์ และพระทรงเมือง เพื่อมาปกปักษ์รักษาคุ้มครอง ป้องกัน ให้บ้านเมืองอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข
ศาลหลักเมืองบุรีรัมย์ตั้งอยู่ที่ถนนจิระ เปิดให้คนทั่วไปเข้าไปสักการะกันได้ตั้งแต่ 6 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น ภายในอนุญาตให้ถ่ายภาพได้ค่ะ
ที่จังหวัดบุรีรัมย์ผู้คนล้วนมีมิตรไมตรี ขอยืนยันอีกทีว่าคนอีสานใจดีจริง ๆ เลยค่ะ ไม่ว่าจะไปแห่งหนตำบลไหนก็มีคนช่วยบอกทาง หรือคอยให้ข้อมูลต่าง ๆ อยู่เสมอ ที่ศาลหลักเมืองก็เช่นกัน คุณลุงท่านหนึ่งเล่าให้เราฟังว่า สระน้ำวัดกลางพระอารามหลวง ที่อยู่บริเวณเดียวกับศาลหลักเมืองหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า สระสิงโต มีความเชื่อกันว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ในสมัยโบราณชาวบ้านตักนำไปดื่มกินและใช้ประโยชน์ และนำน้ำไปประกอบพิธีมงคลต่าง ๆ ในปี พ.ศ. 2319 สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่ง สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จยกทัพกลับมาจากปราบขบถเมืองนางรอง ได้ทรงพักไพร่พล ณ บริเวณสระน้ำแห่งนี้ ปัจจุบันยังคงใช้น้ำจากสระแห่งนี้ประกอบพิธีเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ทหารและประชาชนคนไทยมาโดยตลอด
วัดกลางพระอารามหลวง เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองบุรีรัมย์มาแต่โบราณ มีประวัติเล่าว่าสมัยกรุงธนบุรี เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกนำทัพไปปราบเจ้าเมืองนางรองซึ่งเป็นกบฏ และได้หยุดพักทัพที่บริเวณนี้ ซึ่งมีสระน้ำขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ปัจจุบันเชื่อกันว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์อยู่ในวัดกลางบุรีรัมย์ และทางราชการได้มีประกาศยกวัดกลางบุรีรัมย์เป็นพระอารามหลวงแห่งแรกของบุรีรัมย์ เมื่อปี พ.ศ. 2533 ค่ะ
ช่วงที่เดินทางไปวัดวาอารามในจังหวัดกำลังเตรียมเทียนพรรษากันอย่างตั้งใจ
ในบริเวณเส้นทางในเมืองไม่ไกลจากวัดกลางพระอารามหลวง เรามาชมประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตในอดีตจนถึงปัจจุบันของชาวบุรีรัมย์ที่ ศูนย์วัฒนธรรมอีสานใต้ กันต่อค่ะ ศูนย์วัฒนธรรมอีสานใต้ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ถนนจิระ เป็นสถานที่รวบรวมจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุอันมีค่าทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีและวัฒนธรรมท้องถิ่น
พื้นที่อีสานใต้ในที่นี้ ได้แก่ บริเวณลุ่มแม่น้ำมูล หรือแอ่งโคราช หรืออาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า แถบทุ่งกุลาร้องไห้ อันเป็นที่ตั้งของจังหวัดต่าง ๆ คือ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และบางอำเภอของจังหวัดยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น และชัยภูมิ พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ที่มีอิทธิพลของวัฒนธรรมขอมแทรกกระจายอยู่อย่างหนาแน่ มีหลักฐานสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่าปราสาทกระจายอยู่ทั่วไป ที่สำคัญ เช่น ปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทเขาพระวิหาร เป็นต้น นอกจากที่ตั้งชุมชนโบราณแล้วยังพบแหล่งเตาเครื่องเคลือบ หรือเครื่องปั้นดินเผาแบบเคลือบซึ่งมีอายุประมาณ 800-1,200 ปี หรืออยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-19 กระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยเฉพาะที่อำเภอบ้านกรวดพบมากกว่า 200 เตา
การจัดแสดงชั้นล่าง ประกอบด้วย นิทรรศการภูมิศาสตร์แสดงสภาพภูมิศาสตร์บริเวณอีสานใต้และจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งในบริเวณนี้เคยมีภูเขาไฟมาก่อน นิทรรศการแหล่งที่ตั้งชุมชนโบราณของจังหวัดบุรีรัมย์ นิทรรศการโบราณวัตถุสมัยต่าง ๆ เช่น สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี และสมัยลพบุรี นิทรรศการประวัติศาสตร์ จังหวัดสุรินทร์ นอกจากนี้ ตรงมุมหนึ่งยังมีโครงกระดูกช้าง เป็นช้างของชาวบ้านที่ล้มลงแล้วนำมาบริจาคให้ที่นี่จัดแสดง เพราะสำหรับคนในแถบนี้โดยเฉพาะชาวกูย วิถีชีวิตของพวกเขาผูกพันอยู่กับช้าง ส่วนห้องอื่น ๆ เป็นห้องจำหน่ายของที่ระลึก ห้องคลังโบราณวัตถุ และห้องสมุดค่ะ
การจัดแสดงชั้นบน ประกอบด้วย นิทรรศการช้างกับส่วย จัดแสดงอุปกรณ์และเครื่องมือจับช้างป่าและเครื่องประกอบพิธีกรรมของหมอช้าง ได้แก่ เชือกปะกำ เครื่องรางของขลัง เป็นต้น
นิทรรศการผ้าและวิถีชีวิต จัดแสดงผ้าทอฝีมือของชาวอีสานใต้ เป็นพวกผ้าลายมัดหมี่ชนิดต่าง ๆ
ห้องเตาเผาและเครื่องเคลือบดินเผา โดยจำลองเตาเผาแบบโบราณที่มีค้นพบในอำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ เครื่องปั้นดินเผาจำพวกไห เครื่องถ้วย
เดินถัดเข้ามาจะพบนิทรรศการส่วนที่จะทำให้เราได้รู้จักวิถีชีวิตในอดีตของชาวบุรีรัมย์ ซึ่งประกอบด้วย ไทยลาว ไทยเขมร ไทยส่วย และไทยโคราช โดยจำลองวิถีชีวิตโดยใช้หุ่น อย่างเช่น ส่วนของวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ส่วนหนึ่งของชาวบ้าน การจำลองสภาพหมู่บ้าน และสถาปัตยกรรมของบ้านอีสาน (โดยใช้ดินเผาในการจำลอง) จากนั้นก็เป็นการจัดแสดงสภาพของครัวแบบอีสาน โดยชาวอีสานเรียกครัวว่าเรือนไฟ เพราะใช้ถ่านและฟืนเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งครัวจะแยกออกจากเรือนใหญ่ ฝาครัวนิยมสร้างให้โปร่งโดยใช้ไม้ไผ่จักสานค่ะ
ห้องจัดแสดงใหญ่สุดจะบอกเล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของจังหวัดบุรีรัมย์ในแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่สมัยก่อตั้งจนถึงยุคปัจจุบันเลยทีเดียวค่ะ
มาที่นี่ทำให้เราได้รับความรู้มากมายเกี่ยวกับจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อน ๆ สามารถแวะเข้ามาชมได้นะคะถ้ามาเที่ยวบุรีรัมย์ ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชมค่ะ
จากศูนย์วัฒนธรรมอีสานใต้ เราตั้งใจไปอีกวัดหนึ่งคือ วัดเกาะแก้วธุดงคสถาน (วัดระหาน) อยู่ที่ตำบลบ้านด่าน อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ บรรยากาศบริเวณวัดสงบและเป็นธรรมชาติมากเลยค่ะ มีทุ่งนาเขียวขจีมองแล้วสดชื่นสบายตา
ภายในวัดประดิษฐานพระมหาธาตุรัตนเจดีย์ เพื่อเป็นปูชนียสถานระลึกถึงองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ลักษณะขององค์พระมหาเจดีย์ เป็นศิลปะประยุกต์ร่วมสมัย ความสูง 60 เมตร มี 4 ชั้น
ชั้นที่ 1 ใช้ประโยชน์เป็นศาลาอเนกประสงค์
ชั้นที่ 2 เป็นสถานที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
ชั้นที่ 3 เป็นอุโบสถ พิพิธภัณฑ์และที่ประดิษฐานรูปเหมือนของพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ชั้นที่ 4 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งสมเด็จพระสังฆนายกฝ่ายสยามวงศ์ และพระอัครมหาบัณฑิต วิมละรัตนะ เจ้าอาวาสวัดศรีเวฬุวนาราม ประเทศศรีลังกา ได้ประทานพระบรมสารีริกธาตุและหน่อพระศรีมหาโพธิ์ แก่พระครูเขมคุณโสภณ (หลวงปู่จันทร์แรม เขมสิริ) เมื่อปี พ.ศ. 2547 ส่วนต้นพระศรีมหาโพธิ์ได้ปลูกไว้ด้านหลังพระมหาธาตุรัตนเจดีย์
ภายในวัดเกาะแก้วธุดงคสถานเป็นสถานที่สงบร่มรื่นและมีนกยูงอาศัยอยู่จำนวนมาก เหมาะสำหรับพุทธศาสนิกชนที่ต้องการไปกราบไหว้บูชาพระบรมสารีริกธาตุ ทำบุญและปฏิบัติธรรม
ผ่านไปครึ่งวันเห็นว่าวันนี้อากาศดีใช้ได้เลยขอไปเยือนปราสาทหินเลยดีกว่า เพราะไม่แน่ใจว่าสภาพอากาศวันพรุ่งนี้ฝนจะตกหรือไม่ ความตั้งใจคือแวะไปปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และวัดเขาอังคารค่ะ รวมถึงต้องแวะชิมขาหมูเจ้าดังที่ ร้านลักษณา นางรองด้วย ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่บนเขาพนมรุ้ง ในเขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ สร้างขึ้นโดยมีรูปแบบของศิลปะเขมรโบราณ ที่มีความงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง
การเดินทาง
สามารถเลือกเดินทางได้ 2 เส้นทาง จากตัวจังหวัดบุรีรัมย์ ระยะทางประมาณ 77 กิโลเมตร
เดินทางโดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 218 (บุรีรัมย์-นางรอง) เป็นระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร จากนั้นให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 (สีคิ้ว-อุบลราชธานี) ไปจนถึงหมู่บ้านตะโก ประมาณ 14 กิโลเมตร แล้วจึงเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2117 ผ่านบ้านตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติอีกประมาณ 12 กิโลเมตร ก็จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เดินทางโดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 219 (บุรีรัมย์-ประโคนชัย) เป็นระยะทางประมาณ 44 กิโลเมตร ถึงตัวอำเภอประโคนชัย จะเห็นทางแยกที่จะไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ซึ่งใช้เวลาเดินทางอีกประมาณ 21 กิโลเมตร โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 2075 และเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2117 ก็จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เราเลือกใช้เส้นทางนี้ค่ะ ถนนหนทางขับง่ายตรงยาวเลยแล้วจะมีป้ายบอกทางเป็นระยะ ๆ ค่ะ
จากทางที่จะไปปราสาทหินพนมรุ้งจะพบทางแยกเลี้ยวซ้ายไปปราสาทเมืองต่ำก่อน ซึ่งเราขอแนะนำให้แวะก่อนเลยดีกว่าค่ะแล้วค่อยขึ้นไปพนมรุ้ง ตอนที่เราเดินทางจริงเราไปปราสาทพนมรุ้งแล้วย้อนลงมาปราสาทเมืองต่ำ จากนั้นขึ้นไปวัดเขาอังคาร รู้สึกจะย้อนไปย้อนมา ดังนั้น ในตอนรีวิวเตยขอพาไปแวะ "ปราสาทเมืองต่ำ" ก่อนเลยนะคะ
ปราสาทหินเมืองต่ำ
ตั้งอยู่ที่ตำบลจระเข้มาก ห่างจากปราสาทหินพนมรุ้ง 8 กิโลเมตร ปราสาทเมืองต่ำหรือปราสาทหินเมืองต่ำ เป็นศาสนสถานที่สร้างตามคติความเชื่อทางศาสนาฮินดู สันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้นเพื่อถวายพระศิวะ มีลักษณะเป็นศาสนสถานประจำเมืองหรือประจำชุมชน
[กำแพงแก้วและซุ้มประตู] กำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบองค์ปราสาทหินเมืองต่ำ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าบนสันกำแพงประดับด้วยบราลี กึ่งกลางกำแพงแก้วมีซุ้มประตูหรือโคปุระขนาดใหญ่ ก่อด้วยหินทราย
ลานปราสาทและสระน้ำ
ตัวปราสาทประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างหลัก คือ ปรางค์อิฐ 5 องค์ สร้างอยู่บนฐานเดียวกัน ก่อด้วยศิลาแลง องค์ปรางค์ทั้ง 5 ตั้งเรียงกันเป็น 2 แถว แถวหน้า 3 องค์ แถวหลัง 2 องค์ ปรางค์ประธานซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ตรงกลางแถวหน้า ปัจจุบันคงเหลืออยู่เพียงส่วนฐาน ส่วนองค์อื่น ๆ ที่เหลืออยู่ก็มีสภาพที่ไม่สมบูรณ์
จังหวัดในแถบอีสานใต้ถือเป็นดินแดนแห่งอารยธรรมขอมโบราณ ที่ยังคงมีร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองใน อดีตหลงเหลือไว้ให้คนรุ่นปัจจุบันได้เห็นในรูปของปราสาทหินน้อย-ใหญ่ กระจัดกระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ จังหวัดบุรีรัมย์ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งในภาคอีสานใต้ที่มีปราสาทหินหลายแห่งด้วยกัน หนึ่งในนั้นที่รู้จักกันดี ก็คือ "ปราสาทหินพนมรุ้ง" ปราสาทหินทรายสีชมพูบนยอดเขา
"ปราสาทพนมรุ้ง"เป็นปราสาทหินที่สร้างด้วยหินทรายสีชมพู ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สวยงามด้วยภาพแกะสลักลวดลายรูปเทพเจ้าและเรื่องราวทางศาสนา ซึ่งศาสนสถานแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่องค์พระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย เขาพนมรุ้งและปราสาทบนยอดเขาจึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาสอันเป็นที่ประทับของพระศิวะ ซึ่งกลุ่มอาคารบนยอดเขามีการก่อสร้างหลายยุคหลายสมัยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15-18
สำหรับชื่อ "พนมรุ้ง" มาจากภาษาเขมรว่า “วนํรุง” แปลว่า ภูเขาอันกว้างใหญ่ โดยคำนี้ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกอักษรขอมพบที่ปราสาทพนมรุ้งและยังปรากฏชื่อผู้สร้างปราสาท คือ "นเรนทราทิตย์" เชื้อสายราชวงศ์มหิธรปุระ ผู้เกี่ยวข้องเป็นญาติกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาทนครวัด
ถนนทางเดินนี้ทอดไปสู่สะพานนาคราช ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างดินแดนแห่งมนุษย์และสรวงสวรรค์
องค์ประกอบและแผนผังของปราสาทพนมรุ้งได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเป็นเส้นตรง และเน้นความสำคัญเข้าหาจุดศูนย์กลาง นั่นคือ ปราสาทประธานปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ซึ่งหันหน้าไปทิศตะวันออก
ปราสาทประธานปราสาทหินเขาพนมรุ้งก่อด้วยหินทรายสีชมพู ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทประธานปราสาทหินเขาพนมรุ้ง มีปราสาทอิฐ 2 องค์ และปรางค์น้อย
ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยที่ประทับของพระศิวะพระองค์ที่ประทับอยู่บนยอดเขาไกรลาส ดังนั้น การที่ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นบนยอดเขาพนมรุ้งจึงเป็นการสะท้อนถึงการนับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกายได้เป็นอย่างดี
ปราสาทหินพนมรุ้งมีปรากฏการณ์สำคัญทางธรรมชาติเกิดขึ้น 4 ครั้งต่อปี คือ เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นและตกจะส่องแสงลอดช่องประตูทั้ง 15 บาน ขององค์ปราสาท ได้แก่ ในวันที่อาทิตย์ขึ้นวันที่ 3-5 เมษายน, วันที่ 8-10 กันยายน และในวันที่อาทิตย์ตก วันที่ 5-7 มีนาคม, วันที่ 6-8 ตุลาคม ของทุกปี ถึงแม้ว่าช่วงที่เราเดินทางไปไม่พบปรากฏการณ์นี้ แต่ก็รู้สึกได้ถึงความอลังการที่ผสมผสานระหว่างธรรมชาติและสิ่งก่อสร้างที่สวยงาม เสียดายจริง ๆ ค่ะที่ไม่ได้เดินทางช่วงนั้น อยากไปเห็นด้วยตาตัวเองสักครั้ง
ด้านล่างของปราสาทหินพนมรุ้งจะพบว่ามีคนมาเรียงหินไว้มากมายตามความเชื่อส่วนบุคคล
จากปราสาทหินพนมรุ้งตั้งใจไปไหว้พระต่อที่ วัดเขาอังคาร ค่ะ
เขาอังคารเป็นภูเขาไฟที่ดับแล้วอีกลูกหนึ่งในบุรีรัมย์ อยู่ในเขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ห่างจากปราสาทพนมรุ้ง 20 กิโลเมตร โดยลงมาจากพนมรุ้ง ถึงบ้านตาเป็กแล้วเลี้ยวซ้ายมาตามทางที่จะไปละหานทรายประมาณ 13 กิโลเมตรแล้วเลี้ยวขวาเข้าทางลูกรังอีกประมาณ 7 กิโลเมตร ภายในวัดมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สวยงาม เช่น มีการก่อสร้างโบสถ์ ศาลา และอาคารต่าง ๆ เลียนแบบสถาปัตยกรรมสมัยต่าง ๆ หลายรูปแบบและมีพระพุทธรูปตั้งเรียงรายล้อมรอบโบสถ์วัดเขาอังคาร
หน้าโบสถ์เหมือนปราสาทสมัยทวารวดี แต่ด้านบนซุ้มก็ประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ด้วย ผสมผสานกันอย่างลงตัว
ภายในโบสถ์ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธชาดกเป็นภาษาอังกฤษด้วยค่ะ
โบสถ์ 3 ยอด
พระไสยาสน์องค์ใหญ่ด้านหน้าวัด
ระหว่างข้างทางแถววัดเขาอังคารค่ะ สังเกตว่าระหว่างข้างทางที่บุรีรัมย์จะมีการทำนาและเลี้ยงวัวเลี้ยงควายอยู่โดยทั่วไป
มาเส้นทางนี้ต้องไม่พลาดขาหมู เราจะพาไปทาน ร้านลักษณาขาหมู นางรองค่ะ
ขาหมูพระเอกของร้าน
คากิกับไส้หมูพะโล้จ้า
สะตอผัดกุ้งก็อร่อยแฮะ
หมูกรอบก็อร่อยนะคะร้านนี้
พาเที่ยวตะลอน ๆ มาทั้งวันแล้วพาเข้าที่พักดีกว่า การเดินทางมาบุรีรัมย์ครั้งนี้เราเข้าพักที่โรงแรม Amari Buriram United โรงแรมสไตล์ฟุตบอลแห่งแรกของประเทศไทยค่ะ
ที่ตั้ง : ถนนประโคนชัย-บุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์
ไฮไลท์ : อยู่ใกล้กับธันเดอร์ คาสเซิล สเตเดียม
รับ Welcome drink พร้อมผ้าเย็นเย็นชื่นใจก่อนนะคะ
ถือว่าเป็นโรงแรมที่ทำเลดีสะดวกกับการเดินไปเที่ยวยังจุดต่าง ๆ ที่เราวางแผนไว้ เพียงก้าวแรกที่มาเช็กอินรับรู้ได้ถึงการบริการที่เอาใจใส่ของที่นี่ เราลองสังเกตดูทุกครั้งที่แขกเดินผ่านประตูเข้ามาพนักงานจะกล่าวคำทักทายสวัสดีตลอดเลยค่ะ ไม่ว่าจะเพิ่งมาเช็กอินหรือไปเที่ยวแล้วกลับเข้ามา
สระว่ายน้ำสวยจริง ๆ น่าว่ายมาก
ห้องพักตกแต่งพิเศษด้วยภาพของทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด
มาชมห้องที่เราพักกันนะคะเป็นห้อง Deluxe เตียงนุ่ม ๆ สบาย ๆ ขาวน่านอน
ห้องพักสมมาตรฐาน Amari สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
ห้องพักที่นี่ตกแต่งสไตล์ Modern ในการตกแต่งจะมีแรงบันดาลใจเกี่ยวกับทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดเข้ามาเกี่ยวข้อง
ต่อไปจะพามาชม Two Bedroom Suites หรูหรากว้างขวางทีเดียวสำหรับห้องนี้
มีส่วนของห้องนั่งเล่นและห้องรับประทานอาหารด้วยค่ะ
ห้องนี้จะมี 2 ห้องนอนค่ะ
พาชมห้องอาหารและไลน์อาหารเช้าบางส่วนนะคะ คุณภาพอาหารเช้าที่นี่มาตรฐานดีมากเลยค่ะ มีเมนูอาหารให้เลือกเยอะพอสมควร
จากที่พักสามารถเดินไป New I-Mobile Stadium หรือที่บางคนนิยมเรียกว่า Thunder castle Stadium ได้เลยค่ะ ไปชมความอลังการของสนามแห่งนี้กันหน่อย
Thunder castle Stadium เป็นสนามกีฬาที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสนามเหย้าของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ตั้งอยู่ที่ตำบลอิสาณ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ สนามแห่งนี้มีความจุ 24,000 ที่นั่ง
ความสวยงามและอลังการของสนามสุดยอดจริง ๆ
เรามีโอกาสได้ชมการแข่งขันระหว่างทีม Buriram United กับ TOT ด้วยค่ะ แต่ภาพการแข่งขันขอนำมาฝากกันในรีวิวตอนหน้าดีกว่านะคะ ตอนนี้ภาพเยอะแล้ว
แผนเดินทางท่องเที่ยวที่พาเพื่อน ๆ เที่ยวในรีวิวนี้เราใช้เวลา 1 วัน แบบไม่รีบร้อนด้วยนะคะ ออกเดินทางสบาย ๆ ครึ่งวันเช้าเป็นการเที่ยวในตัวเมือง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ ศาลหลักเมือง วัดกลางพระอารามหลวง ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน จากนั้นขับขึ้นไปที่อำเภอบ้านด่าน ไปสักการะพระมหาธาตุรัตนเจดีย์ศรีบุรีรัมย์ วัดระหาร ในช่วงบ่ายเราไปเยือนปราสาทหินทั้ง 2 แห่ง และวัดเขาอังคาร ตกเย็นก็กลับมาเชียร์บอลซึ่งอยู่ใกล้ที่พักเราแบบเดินไปชมได้ค่ะ จริง ๆ ไม่ได้ตั้งใจแพลนทริปให้แน่นขนาดนี้ แต่ว่าวันนั้นอากาศดีเลยไปให้ครบเลยค่ะ
ในตอนหน้าเตยจะพาไปเที่ยววัดอีก 2 แห่ง และพาขับรถขึ้นไปเหนือสุดของจังหวัดที่อำเภอนาโพธิ์ ไปชมกระบวนการทำผ้าไหมสวย ๆ นะคะ รอติดตามกันได้ในตอนหน้าค่ะ สำหรับรีวิวตอนแรกนี้ขอบคุณทุกคนที่แวะเข้ามาเที่ยวด้วยกันค่ะ