จังหวัดกาญจนบุรี ขอเชิญนักท่องเที่ยวมาสัมผัสประเพณีที่งดงามของชาวมอญใน "ประเพณีสงกรานต์มอญสังขละบุรี" ในระหว่างวันที่ 12 ถึง 17 เมษายน 2559 ณ วัดวังก์วิเวการาม (วัดหลวงพ่ออุตตมะ) และที่บริเวณเจดีย์พุทธคยา อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
"เทศกาลสงกรานต์" เป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ถือเป็นอีกหนึ่งเทศกาลแห่งความสุขของคนไทย เพราะนอกจากจะมีวันหยุดยาว ๆ ให้เราได้เล่นสาดน้ำคลายร้อนกันแล้ว เทศกาลสงกรานต์ยังถือเป็นเทศกาลที่สมาชิกในครอบครัวที่ไปทำงาน ไปอยู่อาศัยในต่างถิ่น จะได้เดินทางกลับบ้านมาเยี่ยมพ่อแม่ญาติพี่น้อง และอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัวอีกครั้ง นอกจากนี้ เทศกาลสงกรานต์ยังถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย ชาวไทยส่วนใหญ่จึงนิยมไปทำบุญใส่บาตรที่วัดเพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต และออกเดินทางท่องเที่ยวพร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว
สำหรับจังหวัดกาญจนบุรี เป็นอีกหนึ่งจังหวัดในภาคกลางที่มีการจัดงานประเพณีสงกรานต์ขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่ แต่ละแห่งก็มีเอกลักษณ์ มีรูปแบบการจัดงาน และกิจกรรมในงานที่แตกต่างกันไปตามความเชื่อของท้องถิ่น ส่วนจะมีที่ไหนน่าสนใจบ้างตามไปดูกันเลยค่ะ
เทศบาลเมืองกาญจนบุรี ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวร่วมทำบุญใส่บาตรข้าวสารอาหารแห้ง, ชมขบวนแห่นางสงกรานต์, ขบวนสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์, กิจกรรมสรงน้ำพระ, รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ และการแสดงของนักเรียนโรงเรียนในสังกัดเทศบาล จัดงานในวันที่ 13 เมษายน 2559 บริเวณลานประเพณีถนนปากแพรก ใกล้ประตูเมืองเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี (พิกัด GPS : 14.020416, 99.529621)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เทศบาลเมืองกาญจนบุรี โทรศัพท์ (034) 511502 ต่อ 132, คุณอดิศักดิ์ (086) 767 6295
งานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ประจำปีของชาวไทยเชื้อสายมอญแห่ง อ.สังขละบุรี ที่เริ่มเป็นที่รู้จัก และมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยวชมเพิ่มมากขึ้นทุกปี ปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-17 เมษายน 2559 นักท่องเที่ยวจะได้ชมประเพณีการขนทราย และก่อพระเจดีย์ทรายของชาวมอญ การขนน้ำไปอาบน้ำให้พ่อแม่ และปู่ย่าตายาย ซึ่งไปถือศีลอยู่ที่วัด ไฮไลท์ของงาน คือ การสรงน้ำพระผ่านรางกระบอกไม้ไผ่ ที่ชาวบ้านนำมามัดต่อกันรวมความยาวนับพันเมตร ตื่นตากับแรงศรัทธาของผู้คนที่พร้อมใจกันนอนต่อ ๆ กันเพื่อให้พระสงฆ์เดินเหยียบไปบนหลัง (มีเฉพาะวันที่ 16 เมษายน 2559 เริ่มเวลาประมาณ 15.00 น. เป็นต้นไป) ปิดท้ายงานกับความอลังการในพิธีแห่กองผ้าป่า และยกฉัตรเจดีย์ทราย ในช่วงเช้าของวันที่ 17 เมษายน 2559 เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 09.00 น.
การเดินทาง : ใช้ทางหลวงหมายเลข 323 (กาญจนบุรี-ไทรโยค-ทองผาภูมิ-สังขละบุรี) ระยะทางจากตัวเมืองกาญจน์ถึงวัดวังก์วิเวการาม ประมาณ 220 ก.ม. ใช้เวลาเดินทาง 4-5 ชม. นักท่องเที่ยวควรวางแผนจองที่พักล่วงหน้าให้เรียบร้อยก่อนออกเดินทาง (พิกัด GPS เจดีย์พุทธคยา : 15.128289, 98.450358)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : คุณอรัญญา เจริญหงษ์ษา โทร. 089 092 5140, 089 514 2398
"ท้องถิ่นคนขยัน กล่าวขวัญวัวลาน ตำนานหลวงพ่อ ผ้าทอหนองขาว สะเดาลือชื่อ ข้าวหอมซ้อมมือ เลื่องลือน้ำตาลสด งดงามวัฒนธรรม"
จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-16 เมษายน 2559 ณ วัดอินทาราม ตำบลหนองขาว อำเภอท่าม่วง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ที่ยังคงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวหนองขาวมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ภายในวัดมีวิหารที่เป็นที่ประดิษฐานพระปางป่าเลไลยก์ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "หลวงปู่โต" ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะอย่างยิ่งของชาวหนองขาวทุกคน ในช่วงสงกรานต์ของทุกปี ชาวหนองขาวจะร่วมกันจัดงานปิดทองสมโภชฉลององค์พระ เพื่อให้ลูกหลานภายในหมู่บ้าน หรือที่เดินทางไปทำงานต่างถิ่น และนักท่องเที่ยวทั่วไป ได้มากราบนมัสการเพื่อความเป็นสิริมงคล
สำหรับไฮไลท์ของงานจะอยู่ที่ ขบวนแห่นางสงกรานต์ ด้วยวัวเทียมเกวียนจากหมู่บ้านต่าง ๆ ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม มีผู้ร่วมขบวนจำนวนหลายร้อยคน (มีเฉพาะในวันที่ 13 เมษายน 2559 โดยจะเริ่มเคลื่อนขบวนบนถนนอู่ทอง ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป) นอกจากนี้ ภายในงาน ยังมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าชุมชน และอาหารพื้นบ้านของชาวหนองขาว, การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย, การแข่งขันวัวลาน วัวชน ที่หาดูได้ยาก การละเล่นกีฬาพื้นบ้าน การทำบุญตักบาตร และการสรงน้ำพระ
การเดินทาง : จากตัวเมืองกาญจนบุรี ใช้เส้นทางถนนอู่ทอง ทางหลวงหมายเลข 324 (กาญจนบุรี – สุพรรณบุรี) ออกจากตัวเมืองกาญจน์ไปประมาณ 12 ก.ม. วัดอินทาราม จะอยู่ติดถนนทางด้านซ้ายมือ (พิกัด GPS : 14.054349, 99.629299)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : โทร. 034 659663¸ 089 254 8775
หนึ่งใน UNSEEN ของงานประเพณีสงกรานต์ของเมืองกาญจน์ ต้องยกให้ที่นี่ งานบุญเก่าแก่ที่สืบทอดมายาวนานกว่า 200 ปีของชาวบ้านเบญพาด ต.พังตรุ อ.พนมทวน นิยมจัดขึ้นก่อนหน้าวันสรงน้ำพระ 1 วัน สำหรับปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 17 เมษายน 2559 โดยชาวบ้านเบญพาดแต่ละหมู่ จะร่วมกันทำธงที่ทำจากลำไม้ไผ่ขนาดยาว และตกแต่งประดับประดาด้วยผืนผ้าสี ที่ใช้ไม้ผูกทำเป็นผัง มีใบตาลสานเป็นปลา และเครื่องตกแต่งประกอบอื่น ๆ อย่างสวยงาม โดยมีอุปกรณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ สัญลักษณ์รูปหัวพญานาค และหางพญานาค ซึ่งทำจากไม้หรือวัสดุอย่างอื่น นำมาแกะสลักหรือวาดเป็นรูปพญานาค ทาสีให้สวยงามแล้วนำติดกับลำไม้ไผ่ ห่างจากโคนไม้ไผ่ประมาณ 4 เมตร เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการขอให้ฝนตกตามฤดูกาลทำนาในเดือนต่อไปคือเดือนหก (ไทย) โดยชาวบ้านมีความเชื่อกันว่า ถ้านำรูปสัญลักษณ์ของพญานาคมาร่วมพิธีด้วย จะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลในช่วงของการทำนา
โดยเมื่อชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านทำธงของตนเสร็จแล้ว ก็จะจัดขบวนแห่มาพร้อมกับกองผ้าป่า เพื่อมาทำบุญร่วมกันที่วัด ช่วงไฮไลท์ของงาน คือ การแข่งขันยกธง ตัวแทนของแต่ละหมู่บ้านไม่จำกัดจำนวน จะร่วมแรงกันอย่างพร้อมเพรียง ช่วยกันยกธงขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมกับส่งเสียงโห่ร้อง ธงของหมู่ไหนยกขึ้นตั้งตรงได้ก่อนถือเป็นผู้ชนะ ทั้งนี้ การยกธงแต่ละหมู่บ้านจะมีเทคนิควิธีการที่แตกต่างกัน แล้วแต่จะคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้ยกธงได้รวดเร็วที่สุด ธงของหมู่บ้านที่ยกขึ้นแล้วจะทิ้งไว้ประมาณ 8 วัน หลังจากนั้นชาวบ้านจะนำธงผืนใหญ่ของแต่ละหมู่บ้านมาเย็บต่อกันเป็นผ้าม่านผืนใหญ่ แล้วนำไปถวายวัดเพื่อไว้ใช้ในงานต่าง ๆ ของวัดและชุมชนต่อไป "ประเพณียกธงสงกรานต์" จึงเป็นประเพณีที่สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมเพรียง ความสมัครสมานสามัคคีของชุมชน และยังให้ความสนุกสนานในวันสงกรานต์ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย
สถานที่จัดงาน : วัดเบญพาด ต.พังตรุ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี (พิกัด GPS : 14.173303, 99.754335)
การเดินทาง : จากตัวเมืองกาญจน์ ใช้เส้นทางถนนอู่ทอง ทางหลวงหมายเลข 324 (กาญจนบุรี – สุพรรณบุรี) ออกจากตัวเมืองกาญจน์ไปประมาณ 31 ก.ม. เลี้ยวขวาที่หน่วยบริการประชาชนแยกเบญพาด เข้าไปในหมู่บ้านประมาณ 1 กม. แล้วเลี้ยวขวาที่หน้าโรงเรียนวัดเบญพาด ไปอีกประมาณ 800 เมตร ถึงวัดเบญพาด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เทศบาลตำบลพังตรุ โทร. 034 510588
ประเพณีการแห่ปราสาทผึ้งของชาวหนองปรือ เกิดจากความเชื่อของบรรพบุรุษของชาวหนองปรือในอดีต ที่มีเชื้อสายมาจากชาวเวียงจันทน์ ประเทศลาว ที่มีความเชื่อว่าการได้ถวายน้ำผึ้งเป็นพุทธบูชาจะได้อานิสงส์ยิ่ง ตามที่กล่าวไว้ในพุทธประวัติ จึงทำให้เกิดประเพณีการตีผึ้งขึ้นในเดือนเมษายน ชาวบ้านที่เป็นชายจะหยุดกิจการงานทั้งปวง เพื่อออกหาผึ้ง และนำน้ำผึ้งมาถวายพระสงฆ์ ส่วนรังผึ้งชาวบ้านจะนำมารวมกันแล้วเคี่ยวทำเป็นเทียนถวายแก่พระสงฆ์ เพื่อพระสงฆ์จะได้ใช้จุดบูชาพระ หรือจุดให้แสงสว่างเวลาศึกษาพระธรรมในตอนกลางคืน อีกส่วนหนึ่งจะนำมาทำเป็นปราสาท แกะสลักตกแต่งอย่างสวยงาม และแห่ไปถวายพระสงฆ์ที่วัด สำหรับการจัดงานเทศกาลสงกรานต์แห่ปราสาทผึ้ง อ.หนองปรือ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-17 เมษายน 2559 กิจกรรมไฮไลท์ของงานได้แก่ การแห่ปราสาทผึ้งด้วยขบวนรถที่มีการประดับตกแต่งอย่างสวยงามของชุมชนต่าง ๆ (จัดเฉพาะวันที่ 17 เมษายน ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป) การทำบุญตักบาตร และสรงน้ำพระที่วัด การละเล่นพื้นบ้าน การแสดงมหรสพ ดนตรี และการออกร้านจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ
สถานที่จัดงาน : วัดหนองปรือ อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี (พิกัด GPS : 14.607170, 99.458071)
การเดินทาง : จากตัวเมืองกาญจนบุรี วิ่งตามถนนแสงชูโต ไปถึงสี่แยกแก่งเสี้ยน ตรงไปตามทางหลวง 3199 อีก 1 ก.ม. เมื่อถึงสามแยกให้เลี้ยวขวา เข้าทางหลวงหมายเลข 3398 วิ่งตรงไปจนสุดทาง จากนั้นเลี้ยวขวาไปตามทางหลวง 3086 มุ่งหน้า อ.บ่อพลอย – อ.หนองปรือ รวมระยะทางจากตัวเมืองกาญจน์ ถึงวัดหนองปรือ ประมาณ 76 ก.ม.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : โทร. 034 645200¸ 081 572 4690
วันที่ 17 เมษายน คือวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ ที่ชาวเมืองกาญจน์ทั้งจังหวัดจะออกมาเล่นน้ำสงกรานต์พร้อมกันในทุกพื้นที่ สำหรับในปีนี้ทางจังหวัดกาญจนบุรี ได้ร่วมกับชุมชน และส่วนราชการต่าง ๆ จัดงาน "สงกรานต์สามสายน้ำสนุกสุขล้ำที่กาญจนบุรี" ขึ้น โดยมีการจัดขบวนแห่สงกรานต์จากท้องถิ่นต่าง ๆ มากกว่า 50 ขบวน เริ่มขบวนตั้งแต่สะพานข้ามแม่น้ำแคว ถึงบริเวณถนนหลักเมือง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสรงน้ำพระ และรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ ณ วัดไชยชุมพลชนะสงคราม , การประกวดหนูน้อยสงกรานต์, สนุกกับรำวงย้อนยุค และขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวร่วมเล่นน้ำสงกรานต์ในอุโมงค์ม่านน้ำตกขนาดใหญ่
สถานที่จัดงาน : ถนนสองแคว ริมน้ำหน้าเมือง อ.เมือง จ.กาญจนบุรี (พิกัด GPS : 14.021849, 99.527090)
การเดินทาง : จากหน้าศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี วิ่งตามถนนแสงชูโต เลี้ยวซ้ายที่สี่แยก สภ.เมือง ขับผ่านศาลหลักเมือง ประตูเมืองเก่า ตรงลงไปที่ท่าน้ำแล้วเลี้ยวขวาไปอีก 200 เมตร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกาญจนบุรี โทรศัพท์ (034) 520335
นอกจากนี้ ในชุมชน เทศบาล และวัดต่าง ๆ ของจังหวัดกาญจนบุรี ยังมีการจัดงานประเพณีสงกรานต์แบบย่อย ๆ ขึ้นอีกหลายพื้นที่ ททท.สำนักงานกาญจนบุรี จึงขอเชิญชวน นักท่องเที่ยวทุกท่านเดินทางมาท่องเที่ยวคลายร้อน เล่นน้ำสงกรานต์ และร่วมสืบสานประเพณีวิถีไทย ตามพื้นที่ต่าง ๆ ได้ตามกำหนดการจัดงานดังกล่าว โดยสามารถสอบถามข้อมูลการเดินทาง ร้านอาหาร และที่พักในเขตอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดกาญจนบุรี ได้ทางโทรศัพท์ 034 511200 และ 034 512500 ได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. หรือทาง เฟซบุ๊ก เมืองกาญจน์ แดนสวรรค์ตะวันตก
( ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณศุภสวัสดิ์ เพียรธัญกรณ์, คุณศราวุฒิ อ้นแก้ว, คุณไมตรี คุณาสุธีรัตน์ และเพจ เจ็ดหมื่นหนึ่งพัน กาญจนบุรี )