พระบรมรูปทรงม้า




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ในปัจจุบันถึงแม้มิใช่วันที่ 23 ตุลาคม ก็จะมีประชาชนจำนวนมากพากันไปสักการบูชาที่ลานพระบรมรูปอยู่เสมอโดยเฉพาะใน วันอังคาร ซึ่งตรงกับวันพระราชสมภพของพระองค์ โดยมีความเชื่อว่าจะเสมือนหนึ่งไปรอเฝ้ารัชกาลที่ 5 โดยในเวลา 4 ทุ่ม พระองค์ท่านจะเสด็จมาประทับ ณ พระบรมรูปทรงม้า

ประวัติความเป็นมา

          พระบรมรูปทรงม้า ณ พระลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ประชาชนทั้งประเทศพร้อมใจกันสร้างถวายในรัชกาลของพระองค์ ขณะยังดำรงพระชนม์อยู่เมื่อ พ.ศ.2451 ถือเป็นความมหัศจรรย์อย่างยิ่งประการหนึ่ง คือ ตามปรกติอนุสาวรีย์ของบุคคลนั้น มักจะสร้างภายหลังที่บุคคลนั้นสิ้นชีวิตไปแล้ว ยกเว้นพระบรมรูปทรงม้าแห่งเดียวเท่านั้น อีกทั้งยังได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานเปิดพระบรมรูปด้วยพระองค์เอง

          การสร้าง "พระบรมรูปทรงม้า" นั้น สืบเนื่องมาจาก 2 กรณีประกอบกัน คือ กรณีที่ 1 เวลานั้นพระองค์ทรงคิดแผนผังสนามขนาดใหญ่เพื่อเชื่อมถนนราชดำเนินที่สร้าง เสร็จแล้วกับพระที่นั่งอนันตสมาคมที่กำลังสร้าง กรณีที่ 2 อีกปีเศษจะถึงอภิลักขิตมงคล ซึ่งพระองค์จะทรงครองราชย์ยืนนานยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ใน ประวัติศาสตร์ไทยในขณะนั้น จึงควรจะมีการสมโภชเป็นงานใหญ่ และได้ดำรัสสั่งให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร เป็นประธานในการจัดงานสมโภช เนื่องจากพระองค์ยังทรงอยู่ระหว่างการเสด็จประพาสยุโรป โดยใช้ชื่อการจัดงานครั้งนี้ว่า "พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก"

          สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชและคณะเสนาบดี มีความเห็นพ้องกันว่า เนื่องจากเป็นพระราชพิธีมหามงคลที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงควรที่จะชักชวนให้ประชาชนชาวไทยทั่วประเทศได้มีโอกาสบริจาคทรัพย์ตาม กำลังเพื่อทูลเกล้าฯถวายเป็นเงินเฉลิมพระขวัญ หรือที่เรียกกันโดยสามัญว่า "ทำขวัญ" แล้วแต่จะทรงใช้สอยเงินนั้นตามพระราชหฤทัย นอกจากนี้แล้วยังมีเสนาบดีบางคนเห็นว่าควรจะสร้างสิ่งอันใดไว้เป็นอนุสรณ์ เฉลิมพระเกียรติด้วย ซึ่งข้อตกลงนี้เห็นควรให้รอมติต่อเมื่อรู้ยอดเงินเฉลิมพระขวัญเสียก่อน

          ในขณะเดียวกันก็ได้ทราบข่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จไปทอดพระเนตรพระราชวังแวร์ซาย ณ ประเทศฝรั่งเศส และสนพระทัยพระรูปพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงม้า หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ลานข้างพระราชวัง ทรงปรารภว่าถ้ามีพระบรมรูปทรงม้าของพระองค์ตั้งไว้ในสนามที่ถนนราชดำเนิน เชื่อมกับพระที่นั่งอนันตสมาคมคงจะสง่างามดี เหมือนเช่นที่มักมีกันตามประเทศต่างๆ ในยุโรป สืบราคาสร้างพระบรมรูปเช่นนั้นว่าราว 200,000 บาท ในขณะนั้น

          คณะกรรมการจึงสำรวจยอดเงินเฉลิมพระขวัญปรากฏว่ามีประชาชน ยินดีถวายเป็นจำนวนมาก รวมทั้งสิ้นประมาณ 1 ล้าน 2 แสนบาทเสนาบดีจึงลงมติ แล้วสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชกราบทูลขอถวายพระบรมรูปทรงม้านั้นเป็นของขวัญ ทูลเกล้าฯจากประชาชนชาวไทยสนองพระมหากรุณาธิคุณในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ก็โปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาต จึงปรากฏพระบรมรูปทรงม้าขึ้น ณ พระลานพระที่นั่งอนันตสมาคมด้วยประการฉะนี้ โดยได้สร้างแล้วเสร็จพร้อมกราบบังคมทูลถวายฯ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2451

          สำหรับเงินเฉลิมพระขวัญที่เหลือจากการสร้างพระบรมรูปทรง ม้าอีกประมาณเกือบ 1 ล้านบาท ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายตามมติเดิม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงพระราชดำริว่าจะนำเงินนั้นไปใช้ประการใดเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน ชาวไทยเพื่อสนองคุณความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อพระองค์นั้น ยังไม่ทันตกลงว่าจะทำประการใด ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงทรงดำเนินการตามพระราชประสงค์ของพระองค์ โดยโปรดให้ใช้เงินเฉลิมพระขวัญที่ยังเหลืออยู่ก่อตั้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย




ลักษณะขององค์พระบรมรูปทรงม้า

          สำหรับองค์พระบรมรูปทรงม้านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จไปทำการตกลงและเลือกชนิดโลหะด้วยพระองค์เอง อีกทั้งยังทรงเสด็จไปประทับเป็นแบบให้นายช่างปั้นหุ่น ขณะเสด็จประทับอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งพระรูปมีขนาดโตเท่าพระองค์จริง เสด็จประทับอยู่บนหลังม้าพระที่นั่ง โดยม้าพระที่นั่งนั้นมิใช่ปั้นจากแบบม้าพระที่นั่งจริง แต่เป็นม้าที่บริษัทได้ปั้นเป็นแบบเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว พระบรมรูปทรงม้าหล่อด้วยโลหะทองบรอนซ์ วางบนแท่นศิลาอ่อน สูง 6 เมตร กว้าง 2 เมตร ยาว 5 เมตร ห่างจากฐานของแท่นออกมา มีโซ่ขึงล้อมรอบกว้าง 9 เมตร ยาว 11 เมตร ตรงฐานด้านขวามีอักษรฝรั่งเศสจารึกชื่อช่างปั้นและช่างหล่อชาวไว้ว่า C.MASSON SEULP 1980 และ G.Paupg Statuare และด้านซ้ายเป็นชื่อบริษัทที่ทำการหล่อพระบรมรูปทรงม้าว่า SUSSF Fres FONDEURS. PARIS สำหรับแท่นศิลาอ่อนด้านหน้า มีแผ่นโลหะจารึกอักษรไทย ติดประดับแสดงพระบรมราชประวัติและพระเกียรติคุณ ลงท้ายด้วยคำถวายพระพรให้ทรงดำรงราชสมบัติอยู่ยืนนาน

          ครั้นเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วพสกนิกรใคร่จะให้มีการถวาย บังคมพระบรมรูป จึงได้ทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชานุญาตต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่ พระองค์ทรงเห็นชอบด้วย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีวันนักขัตฤกษ์สำหรับ ให้ประชาชนถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2455 ต่อมาจึงเปลี่ยนวันถวายบังคมเป็นวันที่ ๒๓ ตุลาคม อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในปัจจุบันถึงแม้มิใช่วันที่ ๒๓ ตุลาคม ก็จะมีประชาชนจำนวนมากพากันไปสักการบูชาที่ลานพระบรมรูปอยู่เสมอ โดยเฉพาะใน "วันอังคาร" ซึ่งตรงกับวันพระราชสมภพของพระองค์ โดยมีความเชื่อว่าจะเสมือนหนึ่งไปรอเฝ้ารัชกาลที่ 5 โดยในเวลา 4 ทุ่ม พระองค์ท่านจะเสด็จมาประทับ ณ พระบรมรูปทรงม้าด้วย

สิ่งที่นิยมใช้สักการบูชา

          คือ "ดอกกุหลาบสีชมพู" เนื่องจากมีความเชื่อว่า ดอกกุหลาบที่มีความงามและมีหนามแหลมคม (คืออำนาจ) หากนำมาบูชาจะทำให้ผู้บูชามีอำนาจ และสีชมพูยังเป็นสีของวันอังคาร (วันพระราชสมภพ) นอกจากนี้ ประชาชนบางคนยังนิยมจัดเป็นโต๊ะบูชา ส่วนใหญ่ประกอบด้วย บายศรี หมากพลู บุหรี่ เหล้า/ไวน์ สตางค์ น้ำมนต์ เชิงเทียน กระถางธูป ฯลฯ ซึ่งถือเป็นการจัดอย่างบูชา "เทพ" ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเปรียบพระองค์เสมือนดั่งเทพยดาที่ปกปักษ์รักษา ประเทศชาติ และราษฎรให้อยู่รอดปลอดภัย และเจริญก้าวหน้ามาโดยตลอด

พระคาถาสำหรับบูชารัชกาลที่ 5

          นอกจากนี้แล้ว ยังมีพระคาถาสำหรับบูชารัชกาลที่ 5 มากมายหลายหลายพระคาถา เช่น พระคาถาที่กล่าวกันว่านำสุดยอดพระคาถาอื่นๆ มารวมกัน คือ

          "สยามเทวะนุภาเวนะ สยามะเทวะเตชะสา ทุกขะโรคะภะยา เวรา โสภา สันตุ จะปัททะวา อเนกา อันตะรายาปี วินัสสันตุ อะเสสะโต ชะยะสิทธิ ธะนัง ลาภัง โสตภิภาคะยัง สุขัง พลัง สิริ อายุ จะวัณโณ จะ โภคัง วุฑฒิจะ ยะสะวา สะตะวัสสา จะ อายุ จะ ชีวะสิทธี ภะวันต เม"


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

บล็อกสาธารณ "กัมม์"



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พระบรมรูปทรงม้า อัปเดตล่าสุด 14 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 18:55:44 8,392 อ่าน
TOP
x close