ล่องเรือไหว้พระ เสน่ห์วัฒนธรรมริมฝั่งน้ำ



ล่องเรือไหว้พระ เสน่ห์วัฒนธรรมริมฝั่งน้ำ (กรุงเทพธุรกิจ)

          ความงดงามของสถาปัตยกรรมและฝีมือช่างศิลป์ที่สะท้อนผ่านวัดหลายแห่งซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นความงามอันทรงคุณค่าที่ควรหาโอกาสไปสัมผัสสักครั้งกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (ขน.) จึงเชิญชวนเดินทางท่องเที่ยวทางน้ำ ยลเสน่ห์ความงามของวัดสำคัญ 9 วัดในหนึ่งวัน เริ่มที่...

วัดบุคคโล

          วัดเก่าแก่อายุกว่า 237 ปี สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาและได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4โดยเจ้าฟ้าหญิงอุบลวรรณา วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐาน "หลวงพ่อแพ"ซึ่งเล่ากันว่าเป็นพระพุทธรูปที่ลอยมากับแพ วนมาอยู่หน้าวัดหลายวันชาวบ้านจึงได้ทำพิธีอันเชิญขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่วัดและเป็นที่นิยมกราบไหว้ขอพร เพื่อให้การทำมาค้าขายมีความเจริญรุ่งเรืองสมปรารถนา

วัดยานนาวา

          พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดมหานิกายเป็นวัดโบราณที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ "วัดคอกควาย"ตามชื่อหมู่บ้าน ในสมัยกรุงธนบุรีได้รับการยกฐานะให้เป็นพระอารามหลวงเรียกชื่อใหม่ว่า "วัดคอกกระบือ" ครั้นถึงรัชกาลที่ 3ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ปฏิสังขรณ์และสร้างเรือสำเภาพระเจดีย์แทนพระสถูปเจดีย์ทั่วไปและได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดยานนาวา"

วัดราชสิงขร

         สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงระหว่างปลายรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ(พ.ศ.2275 - 2310) ภายในวัดประดิษฐาน "หลวงพ่อแดง"ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเนื้อสำริดแกมทองคำปางมารวิชัย มีความงดงามมากโดยเฉพาะพระพักตร์ ได้รับการขนานนามว่า "หลวงพ่อพระพุทธสุโขทัย"กิตติศัพท์เรื่องความศักดิ์สิทธิ์ร่ำลือกันว่าผู้ใดได้บนบานศาลกล่าวมักได้สมปรารถนาเสมอ

วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร

          พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3ทรงสร้างพระวิหารหลวงและพระประธานพระราชทาน เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ชื่อพระพุทธไตรรัตนนายก หรือ "หลวงพ่อโต"เป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงโดยเฉพาะในหมู่ชาวจีน เรียกว่า "ซำปอฮุดกง"หรือ "ซำปอกง"วัดนี้เป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงพุทธประวัติและแสดงชีวิตชาวบ้านในสมัยรัชกาลที่ 3 และยังมีหอพระธรรมมณเฑียรเป็นที่เก็บพระไตรปิฎกสมัยรัชกาลที่ 4

วัดอรุณราชวราราม หรือ "วัดแจ้ง"

          เป็นอีกวัดหนึ่งที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมชื่อ"วัดมะกอก" พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นวังหน้าในรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์และยังได้ทรงลงมือปั้นหุ่นพระพักตร์"พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" พระประธานในพระอุโบสถด้วยพระองค์เองสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ ได้แก่พระปรางค์ใหญ่ เป็นพระเจดีย์ทรงปรางค์ก่ออิฐถือปูนประดับกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ อย่างงดงาม

วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร

          เดิมเรียกว่า วัดบางหว้าใหญ่เป็นวัดโบราณครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าได้มีการขุดพบระฆังลูกหนึ่งซึ่งมีเสียงไพเราะมาก ซึ่งต่อมารัชกาลที่ 1ได้นำระฆังดังกล่าวไปไว้ที่วัดพระแก้ว และโปรดให้สร้างหอระฆังพร้อมทั้งระฆังอีก 5 ลูก ไว้ให้แทนจึงเป็นที่มาของชื่อวัดภายในพระอุโบสถประดิษฐาน "พระประธานยิ้มรับฟ้า"เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ ได้รับการยกย่องว่างดงามมาก

วัดอมรินทราราม

          วัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ "วัดบางหว้าน้อย"ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหมดและทรงพระราชทานนามใหม่ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานศักดิ์สิทธิ์ คือ"หลวงพ่อโบสถ์น้อย"ซึ่งมีเรื่องเล่าถึงปาฏิหาริย์และความศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวบ้านจึงเลื่อมใสอย่างมาก

วัดคฤหบดี

          ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯได้โปรดพระราชทานนามวัด และพระราชทาน “พระแซกคำ”ไว้เป็นพระประธานในพระอุโบสถ หลวงพ่อแซกคำ เป็นพระพุทธรูปทองคำปางมารวิชัยสมัยเชียงแสน ภายในองค์หลวงพ่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ 9 องค์นับเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่กับพระแก้วมรกต ซึ่งรัชกาลที่ 3ทรงโปรดให้อัญเชิญมากจากเวียงจันทน์ ในปี พ.ศ. 2369

วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร

          เดิมเป็นวัดราษฎร์ สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ชาวบ้านเรียกว่า"วัดสมอแครง" ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4ทรงรับวัดแห่งนี้เป็นพระอารามหลวง ภายในพระอุโบสถประดิษฐาน“พระพุทธเทวราชปฏิมากร” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปโลหะหล่อลงรักปิดทองปางมารวิชัย ฝีมือช่างสมัยทวารวดีผสมอู่ทอง ภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์ไม้สักทองซึ่งเพิ่งเปิดให้ชมความสวยงามกันอย่างใกล้ชิดด้วย

          สำหรับผู้ที่สนใจชมความงาม และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัดทั้ง 9แห่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถเลือกใช้บริการจากผู้ประกอบการที่มีให้เลือกมากมาย


     

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ล่องเรือไหว้พระ เสน่ห์วัฒนธรรมริมฝั่งน้ำ อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 17:29:16 2,642 อ่าน
TOP
x close