x close

ตามรอย ไต ในเมืองสามหมอก

แม่ฮ่องสอน


แม่ฮ่องสอน


แม่ฮ่องสอน


สรุปข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก กรุงเทพธุรกิจ

          "จะว่าหน้าฝนหรือก็เปล่า จะว่าเป็นหน้าหนาวหรือก็ไม่ใช่" บางคนบอกว่าอากาศในกรุงเทพฯ ช่วงนี้เหมือนสตรีวัยทอง ดูหมองหม่นปนหงอย ซึม เศร้า เหงา รัก อย่างไรชอบกลอยู่ เห็นอากาศกรุงเทพฯ ช่วงนี้ ดูแล้วมันน่าหนีเที่ยวต่างจังหวัดเสียจริง พอดีกับมีเสียงตามสายโทรศัพท์เรียกให้ไปเที่ยว "เมืองสามหมอก" แม่ฮ่องสอน รับลมเหนือ เจือลมหนาวให้หายเซ็งอากาศอ้าว ๆ ในเมืองกรุงกันเสียบ้าง

          ไม่กี่นาทีจากสนามบินสุวรรณภูมิเราพบตัวเองยืนรับลมเย็นอยู่ที่สนามบิน จังหวัดเชียงใหม่ กับนั่งสะบัดซ้ายสะบัดขวาในรถตู้ไปอีกแค่ 1,864 โค้ง เราก็เดินทางมาถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอนเสียแล้วโดยสวัสดิภาพ

          สาธยายประวัติเมืองแม่ฮ่องสอนกันสักหน่อย ตามประวัติศาสตร์ระบุว่า เดิมเป็นชุมชนบ้านป่าที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ มีชาว "ไต" หรือ "ไทยใหญ่" จากรัฐฉาน สหภาพพม่า ปัจจุบันอพยพเข้ามาทำไร่ทำสวนเป็นบางฤดูกาล

          ในปี พ.ศ. 2374 ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทางแคว้นล้านนาไทย เมืองพิงค์นครหรือเมืองเชียงใหม่ มีพระยาเชียงใหม่มหาวงศ์ ซึ่งต่อมาได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นพระเจ้ามโหตรประเทศราชาธิบดี ได้ทราบว่าทางตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งก็คือดินแดนที่เป็นหัวเมืองแม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน มีภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ป่าทึบและมีช้างป่าที่ชุกชุมมาก จึงให้เจ้าแก้วเมืองมานำไพร่พล ช้างต่อหมอควาญ ออกไปจับช้างป่านำมาฝึกสอนใช้งาน เจ้าแก้วเมืองมาคล้องช้างป่ามาฝึกสอนอยู่บริเวณนี้ซึ่งมีร่องน้ำเหมาะแก่ การฝึกช้างป่า จนจะเดินทางกลับจึงได้ตั้งให้แสนโกมเป็นผู้ใหญ่บ้านปกครองดูแล และตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านแม่ร่องสอน" ต่อมาชื่อนี้ได้เพี้ยนมาเป็น "แม่ฮ่องสอน" ดังเช่นปัจจุบัน

          ถึงปี พ.ศ. 2417 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 บ้านแม่ร่องสอนกลายเป็นชุมชนใหญ่ เจ้าอินทวิชายานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่จึงได้ตั้งชานกะเลชาวไทยใหญ่เป็นเจ้าเมืองคนแรกมีบรรดา ศักดิ์เป็นพญาสิงหนาทราชา

          ราวปี พ.ศ. 2443 รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองแม่ฮ่องสอน เมืองขุนยวม เมืองยวมใต้ (แม่สะเรียง) และเมืองปายตั้งเป็นเชียงใหม่ตะวันตก จน พ.ศ. 2446 ได้เปลี่ยนเป็นบริเวณพายัพเหนือขึ้นตรงต่อมณฑลพายัพ และตั้งที่ว่าการเมืองแม่ฮ่องสอนในปี พ.ศ. 2453 ถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้ตั้งเมืองขึ้นเป็นจังหวัดแม่ฮ่องสอน และโปรดเกล้าฯ ให้พระศรสุราชเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรก จนถึงปี พ.ศ. 2476 จึงได้โอนไปขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย

          ภาพร่องน้ำสอนช้างและช้างเล่นน้ำ จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อบันทึกถึงรากฐานที่มาของเมืองนี้


ไต

ตามรอย "ไต"

          ชนเชื้อสาย "ไทยใหญ่" หรือ "ไต" ในพื้นที่ประเทศไทยนั้น พบอาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ เพชรบูรณ์และแม่ฮ่องสอน พ้นแดนไทยออกไปพบว่าตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณพม่า ลาว และในเขตประเทศจีนตอนใต้

          การค้นหาความเป็น "ไต" ของเราเริ่มต้นขึ้นที่ บ้านเมืองปอน อำเภอขุนยวม ที่นี่เราได้สนทนากับ คุณตาแหลมคำ คงมณี อายุ 76 ปี สล่าทำจองพาราที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวในบ้านเมืองปอน ชมการสาธิตวิธีการประดิษฐ์จองพาราและประเพณีวัฒนธรรมไทยใหญ่ โดยรับจ้างทำจองพาราราคาประมาณ 700  บาท/หลัง  และยังเป็นวิทยากรในการสอนการทำจองพาราให้กับเยาวชนในหมู่บ้านอีกด้วย

          เรายังโชคดีที่มีโอกาสได้ร่วมงาน "ทุงจ่ามไต" หรือ "คืนแห่งวัฒนธรรมไต" คืนที่น่าประทับใจจากความร่วมมือของคนบ้านเมืองปอนที่จัดกันในช่วงออกพรรษา เพื่ออนุรักษ์ประเพณีของชาวไต หลังจากที่ในช่วงกลางวัน ชาวชุมชนได้ร่วมกันจัดฐานการเรียนรู้เพื่อสืบสานวัฒนธรรมธรรมไตให้กับลูก หลานในชุมชน ในช่วงค่ำเป็นเวลาของการร่วมรับประทานอาหารเย็นขันโตกอาหารไต รวมถึงกิจกรรมตลาดนัดย้อนยุค หรือ "กาดพีค" และการจัดการแสดงวัฒนธรรมชาวไต เช่น การแสดงฟ้อนรำแบบชาวไต, การฟ้อนดาบ, รำกระบอง, ร้องเพลงไทยใหญ่ เป็นต้น

          เช้าวันต่อมา เรายังคงตามรอยไตกันต่อที่ บ้านแม่ละนา อำเภอปางมะผ้า เดิมหมู่บ้านนี้ชื่อ "แม่ลัดนา" ด้วยมีแม่น้ำไหลผ่านทุ่งนาและหมู่บ้าน คนในชุมชนเล่าว่าในสมัยก่อนบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ เมื่อ "นายฮ้อยสาม" ซึ่งเป็นคนไทยใหญ่จากเขตพม่าได้มาทำการสำรวจพื้นที่ ก่อนจะใช้แรงงานช้างในการชักลากไม้ใหญ่และปรับเปลี่ยนพื้นที่ป่าให้เป็นที่ นาและที่อยู่อาศัย

          ต่อภายหลังได้เกิดร่องน้ำใหม่ไหลผ่านพื้นที่ เป็นที่มาของชื่อ แม่ลัดนา ก่อนจะกลายเป็น "แม่ละนา" เช่นในปัจจุบัน ชุมชนหมู่บ้านแม่ละนา มีอายุเก่าแก่มากกว่า 100 ปี คนที่นี่ส่วนมากเป็นชาวไทยใหญ่ที่อพยพมาจากประเทศพม่า นับถือศาสนาพุทธมาแต่ครั้งอดีต เมื่อตั้งหมู่บ้านก็มีการสร้างวัดแม่ละนาขึ้นด้วย

          เราได้พบกับ จำรูญ วงศ์จันทร์ แกนนำกลุ่มโฮมสเตย์บ้านแม่ละนา จำรูญ เล่าว่า ที่นี่เริ่มทำโฮมสเตย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ปัจจุบันในชุมชนมีบ้านที่เข้าร่วม 15 หลัง โดยแต่ละหลังรับนักท่องเที่ยวพักได้ไม่เกิน 3  คน ราคาที่พักอยู่ที่คืนละ 100 บาทต่อคน อาหารมื้อละ 70 บาท

          กิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวก็มีทั้งชมวิถีการทำการเกษตร ชมสาธิตการทำน้ำมันงา สาธิตการทอผ้า การอบสมุนไพร ไปจนถึงชมการแสดงลิเกไทยใหญ่ที่ใช้นักแสดงถึง 60 คน กับเครื่องดนตรีประมาณ 12 ชิ้น ส่วนมากเน้นแสดงในเรื่องเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิต หรือพุทธประวัติ เช่น เรื่องเต่าดำ (คล้าย ๆ เรื่องปลาบู่ทอง), เรื่องขุนสามลอ เป็นต้น

          แต่ที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาถึงบ้านแม่ละนา คือกิจกรรมเดินป่าชมถ้ำต่าง ๆ เช่น ถ้ำแม่ละนา, ถ้ำไข่มุก แต่ที่เราเลือกไปในวันนั้นคือ ถ้ำปะการัง จากตัวหมู่บ้านเราต้องเดินลงเขาไปตามทางซีเมนต์สลับลูกรังที่มีความลาดชันท้าทายกำลังขาไม่เบา

          ภายในถ้ำปะการัง ความยาวประมาณ 1 กิโลเมตรแบ่งออกเป็นหลายห้อง เป็นถ้ำที่เรียกได้ว่ายังมีชีวิตเพราะระหว่างการเดิน มุด ปีน ไถล ไปในถ้ำเรายังพบเห็นหินงอกและหินย้อยที่ยังคงก่อร่างสร้างตัวอย่างช้า ๆ แต่มั่นคง ใครที่วางแผนเที่ยวถ้ำนี้ก็อย่าลืมพกพาไฟฉาย รองเท้าดี ๆ เดินแล้วไม่ลื่น รวมทั้งขาที่แข็งแรงไว้ให้พร้อมสำหรับการเดินลงเขาขึ้นเนิน


ปอยเหลินสิบเอ็ด


ปอยเหลินสิบเอ็ด และ จองพารา

          ตกค่ำตะวันคล้อย เมื่อเราเดินทางกลับเข้าตัวเมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อร่วมงานประเพณี "ปอยเหลินสิบเอ็ด" หรืองานบุญเดือนสิบเอ็ดซึ่งตรงกับเดือนตุลาคมของทุกปี นับว่าเป็นเทศกาลสำคัญของพุทธบริษัทชาวไตและชาวแม่ฮ่องสอนทั้งจังหวัด

          ตำนานพุทธประวัติระบุว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณมาเป็นเวลา 7 พรรษา ทรงเสด็จขึ้นไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทรงเทศนาอภิธรรม 7 คัมภีร์โปรดพุทธมารดา พร้อมทั้งเหล่าเทพยดาและพระพรหมตลอดระยะเวลาในพรรษา 3 เดือน และเสด็จกลับยังมนุษยโลกในวันเพ็ญเดือน 11 ณ เมืองสั่งกะนะโก่ (สังกัสนคร)

          เมื่อพระโมคคัลลานอัครสาวก ได้บอกข่าวการเสด็จนิวัตขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกไป บรรดามนุษย์และสัตว์ก็พากันมารับเสด็จที่สังกัสนคร ที่มาไม่ได้ก็ทำ "จองเข่งต่างส่างปุ๊ด" หรือ "จองพารา" เพื่อรับเสด็จพระพุทธเจ้าที่บ้านเรือนของตน เป็นประเพณีสืบต่อกันมา จนกลายเป็นประเพณี "ปอยเหลินสิบเอ็ด" หรือ "ประเพณีออกพรรษา" โดยจะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 11 และ ไปสิ้นสุดในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 11

          ในแต่ละปีจะมีหมู่บ้าน วัด ชุมชนต่าง ๆ ในเขตเทศบาลสร้าง "จองพารา" เข้ามาร่วมขบวนแห่ ซึ่งในแต่ละขบวนมีการแสดงถึงฝีมือการทำจองพารารูปแบบต่างๆ ที่ตกแต่งกันอย่างสวยงามวิจิตรตามแต่ช่างหรือสล่าจะเอาฝีมือออกอวด เนื่องจากเป็นกิจกรรมในยามค่ำคืน จึงมีการประดับจองพาราด้วยดวงไฟ (ฟ้า) ดูพร่างพราว แต่ละขบวนเมื่อมาเข้าแถวต่อกันแล้วก็จะยาวนับกิโลเมตรกันเลยทีเดียว ขบวนแห่ยังประกอบไปด้วยสาวงามทำหน้าที่ถือป้ายบอกชื่อชุมชน ช่างฟ้อน และเด็ก ๆ ที่มาร่วมการแสดงประกอบขบวนแห่เป็นที่เอิกเกริกครึกครื้นยิ่งนัก

          นอกจากจะตกแต่งจองพาราให้สวยสดงดงามแล้ว หลายสำนักยังออกแบบจองพาราให้สามารถพับส่วนยอดลงได้ เพื่อให้สามารถหักหลบสายไฟฟ้าที่พาดขวางถนน ก่อนจะพับกลับไปตั้งเป็นสง่าน่าอัศจรรย์

          เช้าตรู่ของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ก็เป็นคราวของประเพณีตักบาตรเทโวโรหนะเนื่องในวันออกพรรษา ชาวแม่ฮ่องสอนจะแต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง ยืนเรียงรายสองฝั่งขั้นบันไดยาวที่คดเคี้ยว เพื่อร่วมกันทำบุญตักบาตรถวายแด่พระสงฆ์ที่เดินตามขั้นบันได จากวัดพระธาตุดอยกองมูบนยอดเนินลงมายังวัดม่วยต่อที่เชิงเขา สอดคล้องกับเหตุการณ์ในพุทธประวัติเมื่อเสด็จตามบันไดที่เทวดาสร้างกลับยังโลกมนุษย์


วัีดจองกลาง

เที่ยวเมืองวัด


          สำหรับชาวคณะทัวร์ทำบุญแนวไว้พระเก้าวัดสิบวา มาแม่ฮ่องสอนคราวนี้ไม่ผิดหวัง ได้ตระเวนกอบโกยส่วนกุศลผลบุญกันฉ่ำใจ เพราะนอกจากวัดพระธาตุดอยกองมูและวัดม่วยต่อที่ไปเยือนมาแล้ว เรายังได้ชม วัดจองกลาง และ วัดจองคำ วัดแฝดที่ตั้งอยู่ติดกันบริเวณสวนสาธารณะหนองจองคำกลางเมืองแม่ฮ่องสอน

          วัดจองกลาง โดดเด่นด้วยเจดีย์ทรงเครื่องแบบมอญ ส่วนยอดประดับด้วยฉัตรสามชั้น มีกลุ่มเจดีย์สี่ทิศล้อมรอบ องค์เจดีย์ก่ออิฐถือปูนทาสีขาว ประดับตกแต่งด้วยลายปูนปั้นสีทอง ในยามค่ำคืนเมื่อแสงไฟสาดส่องจะเปล่งประกายสีทอง ยิ่งมองงามเมื่อสะท้อนกับผิวน้ำของหนองจองคำ เป็นอีกมุมที่นักถ่ายภาพไม่ควรพลาด บนศาลาการเปรียญมีห้องพิพิธภัณฑ์ ที่รวบรวมตุ๊กตาไม้แกะสลักรูปคนและสัตว์ฝีมือแกะสลักของช่างชาวพม่าจำนวน 33 ตัวได้มาไว้ที่วัดตั้งแต่ พ.ศ. 2400 บอกเล่าเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับตำนานพระเวสสันดรชาดก

          ส่วน วัดจองคำ วัดแรกของเมืองแม่ฮ่องสอน เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2340 ตามแบบอย่างศิลปะแบบไทยใหญ่ที่งดงามด้วยหลังคาทรงปราสาท จุดที่ไม่ควรพลาดชมคือ วิหารหลวงพ่อโต ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบไทยใหญ่ผสมฝรั่ง ประตูหน้าต่างตอนบนโค้งประดับลวดลายแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก เป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อโต ขนาดหน้าตักกว้าง 4.85 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2477 โดยช่างฝีมือชาวพม่า

          ชาวคณะตั้งใจว่าไหน ๆ ก็มาเทศกาลงานบุญถึงแม่ฮ่องสอนขอไหว้พระให้ได้ 9 วัด เราจึงไม่พลาดเดินทางไป วัดต่อแพ ที่อำเภอขุนยวม ศิลปกรรมที่สำคัญในวัดนี้คือศาลาการเปรียญที่สร้างตามแบบศิลปะไทยใหญ่ผสม ศิลปะพม่า มีการเขียนลายสีทองบนเพดานอย่างงาม ภายในมีพระประธานที่เก่าแก่

          ของดีที่ควรดูที่วัดนี้คือ "ผ้าม่านประดับทับทิม" เป็นผ้าม่านโบราณผืนใหญ่กว้าง 1.65 เมตร ยาว 3.80  เมตร ทำด้วยผ้ากำมะหยี่ประดับด้วยลูกปัด มุก และทับทิมแท้จำนวน 164 เม็ด ผืนผ้าปักเป็นเรื่องพุทธประวัติตอนพระเวสสันดรเสด็จประพาสอุทยาน เล่ากันว่าทำขึ้นในพม่าโดยมีผู้ใจบุญสร้างถวายแด่พระธรรมทานิ เจ้าอาวาสวัดต่อแพองค์แรกเมื่อ พ.ศ. 2460

          เหนื่อยก็ยอมรับว่าเหนื่อย แต่เมื่อมากันแล้วก็ต้องมานะกัดฟันไปให้ได้จนครบ 9 วัด รายการต่อไปของเราจึงมุ่งหน้าไปวัดถ้ำก่อ วัดพระนอน วัดหัวเวียง วัดดอนเจดีย์ ก่อนจะไปปิดท้ายรายการกันที่ วัดกลางทุ่ง

          ทริป "เมืองสามหมอก" แม่ฮ่องสอนคราวนี้ จึงทำให้เราทั้งอิ่มใจกับประเพณีดี ๆ และอิ่มบุญกับวัดที่ยังงดงามอยู่ด้วยศรัทธาของผู้คน 
 
การเดินทาง

          หากต้องการทดสอบ 1,864 โค้ง การเดินทางสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนโดยรถส่วนตัว แนะนำให้ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมาย เลข 108 จากเชียงใหม่ผ่าน อ.ฮอด, อ.แม่สะเรียง, อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ระยะทางประมาณ 350 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง หรืออีกทางที่นักท่องเที่ยวนิยมคือ ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1095 จากเชียงใหม่ผ่าน อ.แม่แตง, อ.ปาย ถึง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ระยะทางประมาณ 245 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมง แต่สภาพถนนลาดชันกว่าเส้นทางหมายเลข 108

          สำหรับรถปรับอากาศ มีรถออกจากสถานีขนส่งสายเหนือทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 17 ชั่วโมง สอบถามได้ที่ 0-2936-2852-66 หรือจะใช้บริการรถไฟมาลงที่เชียงใหม่ แล้วต่อรถประจำทางก็มีทั้งรถโดยสารประจำทางทั้งธรรมดาและปรับอากาศ รายละเอียดติดต่อ บริษัทเปรมประชาขนส่ง จำกัด โทร. (053) 244737, 242767

          ส่วนใครที่ไม่อยากเสียเวลา การบินไทยมีบริการเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพ-เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ทุกวัน สอบถามโทร.0-2280-0070-90



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

โดย : ชาธิป


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตามรอย ไต ในเมืองสามหมอก อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15:48:45
TOP