x close

โคกโพธิ์ ปัตตานี... ไทยที่นี่รักสงบ



โคกโพธิ์ ปัตตานี... ไทยที่นี่รักสงบ (กรุงเทพธุรกิจ)

โดย : อับดุลเลาะ หวังนิ

          แม้ว่าความรุนแรงจะทำหน้าที่ของมันอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ใช่ที่นี่ อำเภอโคกโพธิ์ เมืองปัตตานี สายสัมพันธ์อันเหนียวแน่นของคนต่างศาสนา

          ในพื้นที่แห่งนี้ ทำให้ประโยคที่ว่า "ไทยนี้รักสงบ" มีอยู่จริงและแข็งแรง

          มีข้อมูลที่น่าสนใจประการหนึ่งว่า สถิติการก่อเหตุรุนแรงรูปแบบต่าง ๆ ที่เรียกรวม ๆ ว่า "สถานการณ์ความไม่สงบ" ในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยนั้น มีความถี่และจำนวนครั้งมากกว่าพื้นที่ขัดแย้งสำคัญ ๆ อีกหลายแห่งในโลกเสียอีก

          แต่ที่น่าแปลกก็คือ ผลจากความรุนแรงนั้นหาได้ยกระดับปัญหาสู่เวทีสากล หรือมีแนวโน้มจะนำไปสู่การแยกดินแดนจัดตั้งรัฐใหม่ตามที่บางฝ่ายวาดหวังเอาไว้ และที่อีกหลายฝ่ายหวาดวิตกแต่อย่างใด

          สาเหตุของความแปลกที่ว่านี้น่าจะเป็นเพราะนิสัย "รักสงบ" ของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ กับการผสมผสานทางวัฒนธรรมจนสร้างเป็นสายใยอันเหนียวแน่นเชื่อมร้อยผู้คน ต่างภาษา ศาสนา และวิถีการดำรงชีวิต กระทั่งความโหดร้ายที่กลุ่มผู้ก่อการพยายามใช้ไม่อาจสะบั้นความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้คน

          หนำซ้ำในหลายพื้นที่ยังเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า "รวมกันเราอยู่" กล่าวคือผู้คนต่างศาสนายิ่งรักใคร่กลมเกลียว ไม่มีกำแพงกั้นระหว่างความแตกต่าง เพราะพวกเขาเชื่อว่าความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเท่านั้นที่จะเอาชนะสิ่งเลว ร้าย

          เรื่องราวดี ๆ เช่นนี้ยังคงดำรงอยู่ที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี สะท้อนผ่านงานประเพณีชักพระของพี่น้องชาวไทยพุทธ ซึ่งจัดกันอย่างต่อเนื่องยาวนานมาถึง 60 ปีแล้ว โดยมีพี่น้องมุสลิมและชาวไทยเชื้อสายจีนร่วมสืบสานวัฒนธรรม

สู่เส้นทางเมืองเก่า

          "โคกโพธิ์" เป็นอำเภอที่แยกจากอำเภอหนองจิก เดิมชื่อ "อำเภอเมืองเก่า" ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 บ้านนาเกตุ ต.มะกรูด ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "อำเภอมะกรูด" ตามชื่อตำบลซึ่งเป็นที่ตั้งเดิม

          ปี พ.ศ. 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินยัง อ.มะกรูด เพื่อทอดพระเนตรสุริยุปราคา ทรงหาสถานที่เพื่อสร้างเป็นที่ประทับและตั้งกล้องดูดาว ทรงเห็นว่าพื้นที่หลังสถานีรถไฟโคกโพธิ์ในปัจจุบันมีความเหมาะสม เนื่องจากเป็นป่ารกร้าง อยู่บนเนินสูง และไม่มีบ้านเรือนประชาชน จึงมีรับสั่งให้สร้างพลับพลาและที่พักสำหรับข้าราชบริพารในบริเวณนั้น

          ครั้นพระองค์เสด็จฯ กลับพระนคร ทางอำเภอก็มิได้รื้อถอนพลับพลาที่ประทับ และเห็นว่าบริเวณที่สร้างพลับพลาซึ่งเป็นเนินสูงมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ 1 ต้น ทางอำเภอจึงเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า "โคกโพธิ์" ต่อมายกฐานะเป็นตำบล ชื่อ ตำบลโคกโพธิ์ และได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมะกรูดมายังบริเวณที่เคยใช้เป็นสถานที่รับเสด็จ กระทั่งปี พ.ศ. 2482 จึงเปลี่ยนชื่อจาก อ.มะกรูดเป็น "อำเภอโคกโพธิ์" จนถึงปัจจุบัน

          อ.โคกโพธิ์มีเนื้อที่รวม 339.49 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของ จ.ปัตตานี แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 12 ตำบล 82 หมู่บ้าน มีประชากร 64,086 คน ร้อยละ 77 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 22 นับถือศาสนาพุทธ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ทำไร่ สวนยางพารา สวนผลไม้

          และนับเป็นอำเภอหนึ่งที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบน้อยที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ชักพระ...ประเพณีจากอดีตกาล

          ประเพณีชักพระของ อ.โคกโพธิ์ เป็นประเพณีเก่าแก่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ ถือเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของ จ.ปัตตานี จัดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 โดย พระอธิการแดง สุนทรโร (หลวงปู่แดง) เจ้าอาวาสวัดมะเดื่อทอง ปีนั้นหลวงปู่แดงได้นัดหมายให้ลากเรือพนม (เรือที่จัดตกแต่งเป็นทรงพุ่มยอดแหลม) มาจอดชุมนุมสมโภชร่วมกัน 1 คืน

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2492 ได้มีการลากเรือมาชุมนุมพร้อมกันที่ลานหน้าที่ว่าการ อ.โคกโพธิ์ ถือเป็นงานประเพณีชักพระอย่างเป็นทางการครั้งแรกของอำเภอ และได้จัดสืบทอดกันมาจนถึงปีนี้เป็นปีที่ 60

          เมื่อถึงวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ชาวบ้านจากแต่ละหมู่บ้านจะพร้อมใจกันลากเรือพระออกจากวัด มุ่งสู่ลานหน้าที่ว่าการอำเภอ พร้อมกับตีกลองโห่ร้องตลอดเส้นทางอย่างครึกครื้น ผู้คนทั้งหนุ่มสาว ผู้เฒ่าผู้แก่ และเด็กตัวเล็กตัวน้อยจะแต่งกายสวยงามไปรวมตัวกันจนเต็มลาน เพื่อร่วมกันสักการะเรือพระ

          เรือแต่ละลำได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม ยอดเรือจะใช้กระดาษเงินกระดาษทองฉลุเป็นลายกนกสอดสี เป็นเอกลักษณ์ของเรือพระโคกโพธิ์ เรือพระทุกลำจะจอดชุมนุมใต้แสงอาทิตย์และแสงดาว 6 วัน 5 คืน เมื่อถึงวันแรม 6 ค่ำเดือน 11 ชาวบ้านก็จะพากันลากเรือกลับวัด

          ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบที่ปกคลุมแทบทุกพื้นที่ในปัจจุบัน ทำให้จังหวัดปัตตานีและอำเภอโคกโพธิ์ตัดสินใจจัดงานประเพณีชักพระปีนี้ อย่างยิ่งใหญ่ นอกจากจะมีจุดประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองงานประเพณีที่จัดต่อเนื่องมายาวนานจนครบ 60 ปีแล้ว ยังเป็นโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีทั้งชาวไทยพุทธ ไทยมุสลิม และคนไทยเชื้อสายจีน ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อแสดงถึงความรักความสามัคคีและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขบนความหลากหลาย ทางวัฒนธรรม

          กิจกรรมหนึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นการประชาสัมพันธ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ตลาดสากล คือการจัดมหกรรมสินค้าชุมชน "หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์" ซึ่งปีนี้จัดใหญ่เป็นพิเศษ หลังจากจัดต่อเนื่องกันมาแล้ว 8 ปี

ผสมผสานสามวัฒนธรรม

          งานประเพณีชักพระครั้งที่ 60 จัดกันถึง 10 วัน 10 คืน ระหว่างวันที่ 30 กันยายน -11 ตุลาคม 2552 ในงานมีประชาชนทั้งไทยพุทธ ไทยมุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีนเดินเที่ยวชมเรือพระกันอย่างแน่นขนัด เรือแต่ละลำล้วนตกแต่งอย่างสวยงาม บางลำนำไม้มาแกะสลักเป็นพุทธประวัติ บอกเล่าเรื่องราวของพระเจ้าสิบชาติก่อนเสวยชาติเป็นพระพุทธเจ้า บางลำแกะสลักโฟมเป็นลวดลายไทยโบราณอันอ่อนช้อยงดงาม มีริ้วขบวนแห่ฟ้อนรำหน้าเรือพระ และประกวดตีกลองตะโพนเสียงดังตุ้ม ๆๆๆ เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของงาน

          สองข้างทางริมถนนเพชรเกษมหน้าอำเภอเต็มไปด้วยร้านค้าใหญ่น้อยยาวเหยียดตลอด เส้น มีร่มใหญ่สีฉูดฉาดเป็นสัญลักษณ์ ส่วนใหญ่เป็นร้านขายอาหาร ไม่ว่าจะเป็นไก่ฆอและข้าวเหนียวหลาม ลูกชิ้นปิ้ง ลูกชิ้นทอด ขนมจีน ข้าวยำ ขนมหวาน ผลไม้ และที่จะขาดเสียไม่ได้คือ "ชาชัก" พ่อค้าแม่ค้าเป็นมุสลิมมากกว่าพุทธ ส่วนลูกค้าก็มีปะปนกันไป ทั้งคนในพื้นที่เองและคนต่างถิ่น

          พอตกค่ำ การแสดงต่าง ๆ ก็เริ่มเปิดฉากมหรสพหลากหลาย ทั้งหนังตะลุง มโนราห์ รำวง ดิเกร์ฮูลู และเชิดสิงโต หน้าเวทีมีชาวบ้านมาปูเสื่อนั่งบ้างนอนบ้างปะปนกันไป เสียงปรบมือตามจังหวะ เสียงหัวเราะอย่างเต็มสุขดังไม่ขาดสายโดยไม่แบ่งว่าเป็นไทยพุทธหรือมุสลิม

          ลุงชาลี ชีวะสาธน์ ชาวไทยเชื้อสายจีนวัย 72 ปี ซึ่งได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลโคกโพธิ์ เล่าว่า งานประเพณีชักพระของอำเภอเริ่มมาตั้งแต่เขายังเป็นเด็ก ๆ

          "เท่าที่จำได้ ชาวโคกโพธิ์สืบสานประเพณีนี้มาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่แล้ว สมัยก่อนจัดกันแค่ 3 วัน 3 คืน คนมาเที่ยวน้อย เพราะเดินทางลำบาก ไม่เหมือนทุกวันนี้ ราว ๆ 10 ปี หลังถึงจะเริ่มขยายเป็น 7 วัน 7 คืน กระทั่งปีนี้จัดเต็มที่ 10 วัน 10 คืน ใครที่อยากมาเที่ยวงานก็มาได้สะดวก จะขับรถมาเองหรือนั่งรถไฟมาก็ได้ ปัจจุบันเรือพระที่มาร่วมก็ลากมาจากหลายจังหวัด ประเพณีชักพระที่โคกโพธิ์เป็นงานประเพณีของจังหวัดไปแล้ว"

          ลุงชาลี ยังเล่าบรรยากาศเก่า ๆ ของประเพณีชักพระในอดีตที่ยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำ...

          "เมื่อก่อนจะจัดงานใหญ่กันทีก็ยาก จึงมีคนมาเที่ยวทุกศาสนา ทุกปีพอถึงงานชักพระทุกคนก็จะดีใจ ไปซื้อเสื้อผ้าใหม่มาใส่ สมัยนั้นไม่มีงานไหนยิ่งใหญ่เท่างานชักพระที่โคกโพธิ์อีกแล้ว บริเวณสถานีรถไฟจะเต็มไปด้วยผู้คนจนแน่นสถานี วันไหนเที่ยวงานกันเพลินจนดึก กลับบ้านไม่ทัน ก็จะอาศัยสถานีรถไฟนอนกันเรียงรายทั้งพุทธ อิสลาม และจีน ทุกคนจะเป็นอย่างนี้หมด รุ่งเช้าก็พากันนั่งรถไฟกลับบ้าน"

ลูกชิ้นสมานฉันท์

          อย่างที่บอกว่างานประเพณีชักพระ ที่โคกโพธิ์ ไม่ใช่งานบุญเฉพาะพุทธศาสนิกชนเท่านั้น แต่เป็นงานของคนทุกศาสนา ขนาดตรงปากทางเข้างานยังถูกจับจองโดย "แบแอ" หรือ มะแอ ดอรอเหม ชายอิสลามขาพิการวัยกว่าครึ่งชีวิต เขานั่งอยู่ที่เดิมเป็นประจำทุกปี และดูเหมือนใคร ๆ ก็จะรู้จักชายขอทานผู้นี้เป็นอย่างดี

          "เงินจากงานชักพระผมถือเป็นเงินบริจาค แม้งานชักพระจะเป็นประเพณีต่างศาสนากับผม แต่เงินที่ได้ก็เป็นเงินจากการทำบุญเหมือนกัน"

          แบแอ เดินทางมาไกลจาก อ.จะนะ จ.สงขลา โดยใช้รถประจำทาง และอาศัยที่โล่งด้านหลังสวนสนุกของงานเป็นที่หลับนอน มีเครื่องเล่นสไลเดอร์ของเด็ก ๆ เป็นดั่งหลังคาบังฝนและน้ำค้าง ตื่นเช้าก็ไปอาศัยเข้าห้องน้ำของแม่ค้า ซึ่งห้องน้ำที่ว่านี้ทั้งไทยพุทธมุสลิมใช้ร่วมกันหมด

          การเอื้อเฟื้อแบ่งปันโดยไม่แบ่งแยก เป็นวิถีปกติของที่นี่ เพราะ น้าละม้าย บำรุงบ้าน ชาวโคกโพธิ์แท้ ๆ วัย 47 ปี ก็บอกว่า งานชักพระทุกปีคนจะแน่นมาก แยกไม่ออกเลยว่าใครนับถือศาสนาอะไร เพราะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ ๆ สีฉูดฉาดเหมือนกันหมด

          "ทุกปีเมื่อใกล้ถึงเทศกาลจะนอนไม่หลับเลย อยากให้ถึงวันลากเรือเร็ว ๆ เพราะที่วัดจะตีกลองตลอดทั้งคืน เมื่อเที่ยวงานจนค่ำก็จะไปยึดพื้นที่หน้าเวทีมโนราห์ ปูเสื่อตั้งวงพูดคุยและฉลองกันกับเพื่อนทั้งจีน พุทธ และอิสลามจนถึงเช้า พอกลับบ้านไปก็อดไม่ได้ที่จะย้อนกลับมาเที่ยวงานอีก เป็นอย่างนี้ทุกคืน"

          ขณะที่ โกเว้ง แสงดำ พ่อค้าขายลูกชิ้นชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งขายลูกชิ้นในงานชักพระมานานถึง 48 ปี บอกว่า ลูกค้าไม่ใช่แค่คนพุทธ เพราะลูกชิ้นของเขานั้น คนมุสลิมก็กินได้

          "ทุกคนที่มาเที่ยวงานนี้จะรู้ว่าลูกชิ้นโกเว้งคือเจ้าเก่า ใคร ๆ ก็ซื้อได้ จะว่าไปลูกค้าของโกส่วนใหญ่เป็นมุสลิมมากกว่าพุทธ เพราะลูกชิ้นเราสั่งมาจากร้านอิสลาม ภาชนะที่ใช้ทำและขายก็จะแยกไว้ชัดเจน ไม่นำเข้าบ้าน และไม่นำไปปนกับข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน" เจ้าของร้านลูกชิ้นสมานฉันท์ เล่าอย่างอารมณ์ดี

ระเบิดมิอาจสะบั้นสัมพันธ์

          แม้โคกโพธิ์จะเป็น หนึ่งในอำเภอที่เกิดเหตุรุนแรงน้อยที่สุด กระทั่งประกาศเป็นอำเภอสันติสุขของจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่แล้วก็มีเรื่องวุ่นๆ เกิดขึ้นจนได้ แถมยังเกิดในงานประเพณีชักพระเสียด้วย

          เย็นย่ำวันที่ 5 ตุลาคม ครึ่งทางของงานประเพณี เกิดระเบิดมอเตอร์ไซค์บอมบ์เสียงดังสนั่นหวั่นไหวใกล้กับร้านขายก๋วยเตี๋ยว ทำให้ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บถึง 17 ราย แต่เสียงระเบิดที่กัมปนาทกลับมิอาจล้มงานประเพณีอันยิ่งใหญ่ลงได้ ที่สำคัญผู้คนหลากหลายทั้งที่มาร่วมงานและขายของต่างพร้อมใจกันประณามการ กระทำของคนใจบาป

          แม่ค้าขายข้าวยำซึ่งเป็นมุสลิม บอกว่า เธอรับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และรู้สึกว่าคนร้ายทำเกินไป

          "แม้งานประเพณีชักพระจะไม่ใช่ประเพณีของคนอิสลาม แต่คนที่นับถือศาสนาไหนก็ตามก็ไม่ควรทำเรื่องแบบนี้ ถ้าบอกคนร้ายได้จะบอกเขาว่าหยุดเถอะ หยุดสร้างความแตกแยกให้กับคนในพื้นที่เสียที เพราะทำไปก็มีแต่เสียกับเสีย เวลาบาดเจ็บล้มตายมันไม่เลือกศาสนา ทุกศาสนาโดนหมด"

          เช่นเดียวกับครูวัยเกษียณ ซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ที่บอกว่า ทุกวันนี้ความรุนแรงในพื้นที่เกิดกับทุกคน ไม่มีใครอยู่อย่างสุขสบาย และต่างก็ได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด ในพื้นที่จึงไม่มีใครเห็นด้วยกับการกระทำแบบนี้ และอยากให้หยุดใช้ความรุนแรงเสียที เพราะทุกคนที่นี่อยากอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข...

          ให้สมดั่งเป็นเมืองสามวิถีวัฒนธรรม



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โคกโพธิ์ ปัตตานี... ไทยที่นี่รักสงบ อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15:48:21 1,998 อ่าน
TOP