x close

ย้อนรอยสายน้ำ ตามรอยอารยธรรมลุ่มน้ำมูล

สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย


แม่น้ำโขง สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย

สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย


สรุปข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


เรื่องและภาพ : อภินันท์ บัวหภักดี

         เพราะน้ำคือชีวิต ดังนั้นแม่น้ำจึงเปรียบดังมารดาแห่งสรรพชีวิตทั้งปวงในภาคอีสานภูมิภาคที่ขึ้นชื่อว่าแห้งแล้งกันดารที่สุดในประเทศไทย ใครเลยจะคิดได้ว่าจริง ๆ แล้วที่นี่เป็นแหล่งก่อกำเนิดแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดในประเทศถึง 2สาย คือ แม่น้ำมูล และ แม่น้ำชี มีเพียงเท่านั้น แม่น้ำทั้ง 2 สายนี้ยังไหลเข้ามาหลอมรวมกันเป็นแม่น้ำมูล ในเขตจังหวัดอุบลราชธานีแล้วไหล่ไปตกยังลำน้ำโขงก่อกำเนิดเป็นพื้นที่ลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่ที่มีแม่น้ำสาขาอื่น ๆไหลจากขุนเขาสำคัญ ๆ รอบด้าน เข้ามาหลอมรวมกันจำนวนมากมาย

         และที่ราบลุ่มแม่น้ำอันกว้างใหญ่นี้ก็คือลุ่มน้ำมูลหรือถ้าหากจะพิจารณาถึงสายน้ำสายใหญ่ ๆที่ประกอบกันขึ้นเป็นลุ่มน้ำนี้ทั้งหมดแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า นี่ก็คือ ลุ่มน้ำโขง ชี มูล หรือแอ่งโคราช ของภาคอีสานบ้านเฮานั่นเอง


สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย

โขงเจียม เมืองปากแม่น้ำมูล

         ครับ เรามาคราวนี้มาเรื่องใหญ่เรื่องแม่น้ำสายยาวที่สุดในประเทศไทยทั้ง 2สาย แม่น้ำมูลกับแม่น้ำชี แต่การทำงานของเราจะเริ่มต้นที่แม่น้ำมูลเพราะชีตกมูล หรือชี เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูลนั่นเองเริ่มต้นที่สุดปลายของแม่น้ำมูล อำเภอโขงเจียมที่ซึ่งแม่น้ำมูลไหลไปตกแม่น้ำโขง กลายเป็นแม่น้ำสองสีที่มาเริ่มที่นี่ก็ไม่ใช่อะไรก็เรื่องนี้เป็นเรื่องท่องเที่ยวในนิตยสารท่องเที่ยวนี่นาจะให้หนักหนาสาหัสเป็นบทความทางวิชาการได้อย่างไร

         โขงเจียม ตรงริมแม่น้ำโขง บรรยากาศตอนเช้ามีดพระอาทิตย์ยังไม่ขึ้นท้องฟ้าทางฟากฝั่งลาวเป็นสีส้มแดงสวยงาม และยังไม่ทันเช้าชาวเรือหาปลาก็ออกมาวางข่ายกันหนาตา และจะมากขึ้นเรื่อย ๆจนบางชั่วโมงมีเรือหาปลาอยู่ตรงนี้หลายสิบลำเพราะที่ที่สายน้ำหนึ่งไหลมาตกอีกสายน้ำหนึ่งนั้น ฝูงปลาจะชุกชุมที่นี่จึงเป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของผู้คนมาแล้วนับร้อยนับพันปี

         ครับพื้นที่แถบนี้ได้ปรากฏขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์ยุคโบราณจากหลักฐานศิลาจารึกของกษัตริย์เจนละ ที่ค้นพบที่เมืองโขงเจียมนี้เอง นามเจ้าชายจิตรเสนผู้ซึ่งต่อมาได้เป็นกษัตริย์เจนละ ในนามมเหนทรวรมันศิลาจารึกนี้ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานีและพื้นที่ที่นักโบราณคดีสันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นศูนย์กลางของชาวเจนละก็คือ ที่โบราณสถานวัดภู ซึ่งอยู่ต่ำลงมาจากโขงเจียมประมาณ 50 กิโลเมตรที่ตรงนั้นนอกจากตัวโบราณสถานซึ่งเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์แล้วก็ยังมีซากเมืองโบราณนามเมืองว่าเศรษฐปุระอยู่ใกล้ ๆมีการขุดพบจารึกบอกนามเมืองชัดเจนเช่นกัน เมืองนี้จะเป็นศูนย์กลางของเจนละหรือเป็นเมืองเก่าแก่กว่าเจนละลงไปอีกเป็นสิ่งที่นักโบราณคดีกำลังติดตามอย่างต่อเนื่อง

         จะไปชมเมืองเศรษฐปุระนี้และไปดูวัดภูกันให้ละเอียดก็ต้องออกจากพรมแดนไทยไปเข้าแดนลาว และก็สามารถใช้บริการนำเที่ยวต่าง ๆ จากเมืองไทยได้ทุกวันนี้รถทัวร์ไทยวิ่งกันให้คึกคักอยู่ในเมืองปากเซ ยิ่งเสาร์ อาทิตย์หรือวันหยุดยาว ก็เรียกว่าทัวร์ไทยแทบจะปิดเมืองปากเซไปเลยทีเดียว


สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย


         แต่ที่โขงเจียมก็ใช่จะมีรอยอารยธรรมแค่ตรงนั้น ที่อุทยานแห่งชาติผาแต้มภาพเขียนสีผืนใหญ่บนผนังถ้ำที่ตรงนั้นก็เป็นแหล่งอารยธรรมใหญ่ที่นักโบราณคดีสันนิษฐานกันไปต่าง ๆแต่ที่เราเลือกจะเชื่อก็คือความเห็นของท่านอาจารย์ศรีศักรวัลลิโภดมที่กล่าวว่า ที่นี่คือแหล่งประกอบพิธีกรรมของคนยุคโบราณภาพเขียนสีมีมากมาย ฝีมือเขียนหลายระดับการประกอบพิธีกรรมอาจต้องมีการวาดภาพ จึงมีคนมาวาดภาพกันมากมาย หลายคนหลายฝีมือ และหลายความคิด หลายประสบการณ์

         และเราก็เชื่อว่า พิธีกรรมนี้น่าจะมีการทำนายโชคชะตาราศีเข้ามาเกี่ยวข้องเวลาจะทำนายดวงชะตาใคร ก็ให้วาดรูปไว้บนผนังผาเป็นสื่อจะได้ทำนายไปตามนั้น ส่วนใครจะเชื่อแบบไหน ก็สุดแล้วแต่แล้วกันครับนักวิชาการเขาก็ยังไม่ลงรอยกันเท่าไรเลย


สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย


         นอกจากภาพเขียนสีที่เป็นร่องรอยอารยธรรมโบราณแล้วอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ยังมีสิ่งที่ควรชมมากมาย  อย่างน้ำตกสร้อยสวรรค์น้ำตกลงรู และที่ที่ไม่ควรพลาดจริง ๆ ก็คือฤดูดอกไม้ดินบานบนผาแต้มที่จะเริ่มขึ้นในราวปลายเดือนพฤศจิกายนเมื่อถึงเวลานั้นพื้นดินก็จะชุ่มชื่นบนเขามีทะเลหมอกลานหินบนผาแต้มก็จะงดงามด้วยเหล่าดอกไม้ดินสีเหลืองสดสว่างไสว งดงามดังสวนสวรรค์เลยทีเดียว

         นอกจากแหล่งท่องเที่ยวดังว่าแล้ว แหล่งท่องเที่ยวใหม่ของปีนี้ก็คือสามพันโบก เวิ้งหินทรายที่ดูคล้ายแกรนด์แคนยอนอันเกิดขึ้นจากการกัดเซาะของลมและน้ำที่อยู่ถัดจากผาแต้มขึ้นไปทางอำเภอโพธิ์ชัย ห่างไปสักหลายสิบกิโลเมตรที่นั่นก็น่าดูชม

          สายน้ำของผาแต้มก็ไม่ได้ไหลลงแม่น้ำมูลหากแต่ไหลลงแม่น้ำโขงไปง่าย ๆหากเทือกเขาภูพานอันเป็นแนวเทือกเขาเดียวกับผาแต้มก็ได้ก่อกำเนิดลำน้ำสำคัญ2 สาย ที่ไหลลงมารวมเป็นแม่น้ำมูลด้วย คือ ลำเซบาย และ ลำเซบก สายน้ำทั้ง2 สาย นี้ไหลลงมาเติมน้ำให้กับแม่น้ำมูลในเขตอำเภอวารินชำราบจังหวัดอุบลราชธานี






สายน้ำจากพนมดงรัก กำแพงเมืองจีน แห่งอาณาจักรขอมโบราม

         เทือกเขาพนมดงรัก หรือภูเขาไม้คาน ก็เป็นแหล่งน้ำสำคัญให้กับลำน้ำมูลสายน้ำจากพนมดงรักมีตั้งแต่ลำโดมน้อย ลำโดมใหญ่ ลำปลายมาศ ลำจักราชลำเชียงไกร ลำน้ำชี ไปจนถึงลำพระเพลิง และในขณะเดียวกับที่เป็นแหล่งต้นน้ำพนมดงรักก็ได้ทำหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญคือเป็นแนวปราการเหล็กให้กับอาณาจักรขอมโบราณจนอาจกล่าวได้ว่าพนมดงรักนั้นก็ไม่ต่างอะไรจากกำแพงเมืองจีนของอาณาจักรขอมนั่นเอง

         อาณาจักรขอมโบราณ ศูนย์กลางของอาณาจักรในอดีตย่อมอยู่ที่ดินแดนเขมรต่ำแถบเมืองพระนคร หรืออังกอร์อย่างไม่ต้องสงสัย และรายรอบเมืองพระนครออกไปปราสาทขอมมากมายก็ก่อกำเนิดขึ้น ต่างยุคต่างสมัยต่างฝีมือช่างจนนักวิชาการทางศิลปะขอมเรียกเป็นสกุลศิลปะเขมรแบบต่าง ๆแต่นอกแนวเทือกเขาพนมดงรักออกมาอาณาจักรอีกมากมายก็กำเนิดขึ้นไม่ต่างจากอนารยชนนอกกำแพงใหญ่ของอาณาจักรจีน เมืองจีนมีแมนจู มีมองโกลมีซิตัน อยู่นอกกำแพง อาณาจักรขอมก็มีพวกเจนละ จามปา ฟูนันแม้กระทั่งพวกเสียม และพวกลาวอยู่นอกแนวพนมดงรัก

         กลุ่มอาณาจักรนอกแนวพนมดงคักเหล่านี้แหละที่เป็นศัตรูสำคัญของอาณาจักรขอมไม่ต่างอะไรกับกลุ่มชนนอกกำแพงใหญ่ของจีนภาพจำหลักรอบปราสาทนครวัดยังแสดงให้เห็นการยกทัพขอมออกไปปราบปรามจามปาที่ปรากฏกองทัพเสียมกุกเป็นพันธมิตรอยู่ในกองทัพของพระเจ้าสุริยะวรมันที่2 ด้วย วันดีคืนดีกลุ่มชนนอกกำแพงใหญ่จีนก็พากันยกพวกผ่านกำแพงเข้าไปทำลายศูนย์กลางการปกครองของจีนเสียทีหนึ่ง และอาณาจักรขอมก็เช่นกันวันดีคืนดีก็ต้องรบกับเจนละ รบกับจามปา แม้กระทั่งรบกับพวกเสียมจนมีชื่อเมืองเสียมเรียบปรากฏอยู่ทุกวันนี้และในท้ายที่สุดเมื่อขอมอ่อนกำลังลงมาก ๆ อนารยชนเผ่าเสียมหรือสยามจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็ยกกองทัพเข้าไปถล่มอาณาจักรขอมจนราบคาบแทบไม่ต่างอะไรกับการล่มสลายลงของจีนในกำแพงใหญ่หรือแม้แต่อาณาจักรโรมันอันเกรียงไกรนั้นเลย


สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย


         แต่ก่อนที่อาณาจักรขอมจะถูกทำลายลงนั้นขอมก็ได้พยายามสร้างแนวป้องกันตนเองขึ้นมาเพิ่มเติมเมืองใหญ่น้อยหลายเมืองนอกแนวพนมดงรักถูกรุกรานโดยอำนาจขอมและขอมก็ได้เข้าไปปกครองเมืองที่สร้างขึ้นจากรากฐานเมืองเดิม ๆของชนพื้นเมือง เมืองอย่างวิมายะปุระ หรือเมืองพิมาย วนัมรุงปุระหรือพนมรุ้งศรีศิขเรศวร หรือปราสาทเขาพระวิหารคือตัวอย่างของเมืองที่มีผู้ปกครองเป็นขอมนอกแนวพนมดงรักเป็นเมืองป้อมปราการสำคัญช่วยป้องกันให้กับศูนย์กลางเมืองในลักษณะนี้ยังมีอีกหลาย ๆ แห่ง มีถนนโบราณหลายสายเชื่อมต่อถึงกันและปราสาทหินอันเป็นทั้งศาสนสถานและเปรียบเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจขอมจึงถูกสร้างขึ้นมากมายในพื้นที่แถบนี้ ต่างกรรมต่างวาระ และต่างฝีมือช่างมากมาย

         และดูเหมือนว่าในยุคหนึ่งขอมก็สามารถเขยิบแนวป้องกันของตนออกมาได้อีกชั้นแนวป้องกันแนวใหม่ของขอมก็คือแม่น้ำมูลนั่นเองจะสังเกตได้ว่าในส่วนที่เรียกว่ามูลตอนบนคือแม่น้ำมูลฝั่งขวาหรือตอนเหนือนั้นปราสาทขอมพบเห็นได้ยากเย็นขึ้นปราสาทมีหนาแน่นมากอยู่เฉพาะแม่น้ำมูลตอนใต้นี้เท่านั้นและหลังจากศูนย์กลางที่เมืองพระนครถูกทำลายลงไปบรรดาเมืองใหญ่น้อยนอกแนวป้องกันพนมดงรัก ก็เหมือนว่าจะค่อย ๆฝ่อลงไปตามลำดับ จะฝ่อไปเพราะศึกสงครามกับสยามหรือกลุ่มชนพื้นเมืองที่อยู่ใต้การปกครองของขอมจะลุกฮือขึ้นก่อการกบฏหลังจากที่อำนาจขอมลดลงแล้วก็ไม่มีประวัติศาสตร์ที่ไหนจะจารึกเรื่องราวของกลุ่มชนบริวารเหล่านั้นไว้แล้วประวัติศาสตร์ก็คลี่คลายไปพวกขอมก็โยกย้ายยอพยพถอยร่นลงไปรวมกันที่นครหลวงใหม่ทางใต้ที่เมืองละแวกและเมืองพนมเปญต่อมาตามลำดับ


สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย

อุบลราชธานี ชุมทางสายน้ำมูล

         ติดตามแม่น้ำมูลย้อนทวนสายน้ำขึ้นมาเรื่อย ๆ เราก็มาถึงเมืองใหญ่โตทันสมัยเมืองอุบลราชธานี ที่นี่นอกจากจะเป็นจุดนัดพบของลำเซบาย และลำเซบกกับแม่น้ำมูลแล้ว แม่น้ำชีก็ไหลลงมาตกแม่น้ำมูลที่นี่การที่มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่านเมืองตั้ง 3-4 สายส่งผลให้อุบลราชธานีมีความเจริญรุ่งเรืองมากมายมาแต่ในอดีต

         การเกิดขึ้นของเมืองอุบลราชธานี ก็คล้ายคลึงกับการเกิดเมืองในอีสานหลาย ๆเมือง เป็นการอพยพเข้ามาตั้งรกรากของชาวลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงที่อพยพข้ามฝั่งมาด้วยสาเหตุต่าง ๆ หลายหลากแต่ส่วนใหญ่จะเป็นความขัดแย้งทะเลาะเบาะแว้งกันเองทางการเมืองพอมีความขัดแย้งก็มีการอพยพย้ายหนีไปตั้งเมืองใหม่หรือมาตั้งตรงที่เคยเป็นบ้านเมืองมาก่อน


สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย



         เมืองอุบลราชธานียุคใหม่ก็เกิดขึ้นเมื่อพระวอพระตาเสนาบดีสำคัญของเมืองเวียงจันทน์ ได้อพยพโยกย้ายลงมาและมาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารจากพระมหากษัตริย์ไทยเมื่อไทยรับทางเวียงจันทร์ก็ทำอะไรไม่ได้ต้องปล่อยให้เมืองเจริญเติบโตไปและกลายเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนไทยไปในที่สุดเมืองหลาย ๆ เมืองในภาคอีสานเจริญเติบโตมาด้วยประการฉะนี้

         ดูเหมือนว่าชาวเชื้อชาติลาวจะอพยพเข้ามาอยู่ในลุ่มแม่น้ำมูลเป็นพวกหลังสุดแต่ก็กลายเป็นกลุ่มคนที่ใหญ่ที่สุดของอีสานมาจนทุกวันนี้การเข้ามามีทั้งที่สร้างบ้านเมืองใหม่และประสมประสานปนเปเข้าไปกับชาวเมืองเดิม และบ่อยครั้งที่มีการขูดค้นพบโบราณวัตถุขอมและเก่าแก่กว่าสมัยขอมในเขตเมืองใหม่ ๆ และชุมชนใหม่เหล่านี้ต่างก็แสดงให้เห็นว่าก่อนที่จะมีขอมก็มีชนกลุ่มอื่น ๆอยู่ในพื้นที่เมืองเหล่านี้อยู่แล้ว


สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย


          มาถึงอุบลราชธานีเราก็เข้าไปชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานีก่อนที่อื่นไปแล้วก็ไปพบกับศิลาจารึกของเจ้าชายจิตรเสนซึ่งได้มาจากโขงเจียมจากนั้นก็ไปจุดที่ซึ่งพบกันระหว่างแม่น้ำมูลกับแม่น้ำชีหรือที่เรียกว่าชีตกมูลที่บ้านหาดวังยางที่ตรงนั้นเป็นหาดทรายกว้างโล่งที่ทางจังหวัดอุบลราชธานีตั้งใจจัดทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ช่วงเย็นแดดร่มลมตกน่าเอาเสื่อมาปูนั่งเล่นกันไปเรื่อย ๆ ใครอยากจะลงไปเล่นน้ำก็ได้เพราะริมฝั่งน้ำมูลไม่ลึกมากนัก แถมที่ตรงนั้นแม่น้ำชียังเป็นสีปูนและแม่น้ำมูลเห็นเป็นสีครามสวยงามอีกต่างหาก

         จากชีตกมูล เราตามแม่น้ำมูลไปถึงลำเซบาย ที่ไหลมาตกน้ำมูลที่อำเภอวารินชำราบระหว่างชีตกมูลไปถึงเซบายตกมูลนี้เป็นถนนเลีบบแม่น้ำมูลริมแม่น้ำเราเห็นกระชังเลี้ยงปลาจำนวนมากและชาวเรือหาปลาในแม่น้ำก็ไม่น้อยเรือลำหนึ่งเพิ่งตกได้กุ้งก้ามกรามแม่น้ำมูลมาตัวใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่มถามดูว่าจะเอาไปขายที่ไหน คุณลุงซึ่งเพิ่งตกได้บอกว่ากุ้งก้ามกรามแม่น้ำมูลไม่ใช่ของหาง่าย จะเอาไปขายก็เสียดายเดี๋ยวเอาไปเผาทำกับข้าวกินกันพร้อมหน้าลูกเมียดีกว่า นาน ๆ จะมีของดี ๆกินกันสักที

          บนเส้นทางย้อนทวนแม่น้ำมูลขึ้นไปเรายังได้พบกับปราสาทขอมอีกหลายหลัง อย่าง ปราสาทห้วยทับทันปราสาทสระกำแพงน้อย ปราสาทปรางค์กู่ ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ปราสาทศรีขรภูมิปราสาทเหล่านี้ไม่ได้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพราะเทคโนโลยีของขอมได้ก้าวไกลไปโดยไม่ต้องพึ่งพาสายน้ำใหญ่ ๆ อีกแล้วพวกขอมเพียงขุดสระ สร้างบาราย เท่านั้นก็มีน้ำใช้เหลือเฟือแล้วอันที่จริงเดินทางเลียบแม่น้ำมูลขึ้นไปไกล ๆ แล้วเราก็พบว่าลุ่มน้ำมูลนี้ความจริงไม่ได้ขาดน้ำ แม่น้ำลำธาร ลำห้วย ลำเซ ต่าง ๆมีอยู่แล้วอย่างมากมายแทบจะเต็มพื้นที่สิ่งที่อาจจะทำให้เกิดความแห้งแล้งขึ้นนั้นน่าจะเป็นเพราะดิน ที่หลาย ๆแห่งเป็นดินปนทราย ไม่สามารถจะโอบอุ้มเอาน้ำและความชื้นไว้ได้ เพราะฉะนั้นการแก้ไขน่าจะมุ่งเน้นไปที่ปัญหาดินเป็นหลักมากกว่า





สุรินทร์ เมืองกว้างช้างหลายมากมายปราสาทขอม

         แล้วเราก็ตามแม่น้ำมูลมาจนถึงเมืองสุรินทร์ เมืองนี้เป็นเมืองช้าง ใคร ๆก็รู้ แม้ประวัติการสร้างเมืองก็ยังเกี่ยวข้องกับช้าง ดังนั้นถ้าไม่ไปดูช้างที่เมืองสุรินทร์ ก็ดูเหมือนจะผิดที่ไปหน่อยที่อำเภอท่าตูมจังหวัดสุรินทร์ที่หมู่บ้านตากลางเป็นหมู่บ้านของคนเลี้ยงช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือมีช้างมากที่สุดนะครับ ไม่ใช่ช้างตัวใหญ่ หรือหมู่บ้านมีขนาดใหญ่ที่ตรงนั้นเป็นที่ที่ลำชี ก็ไม่ใช่แม่น้ำชีอีกนั่นแหละไหลจากแนวเทือกเขาพนมดงรัก มาตกลงแม่น้ำมูล เรียกกันว่า วังทะลุ

         การแสดงของช้างที่หมู่บ้านช้างแห่งนี้วันนี้ได้รับการจัดระเบียบให้เรียบร้อย โดยทางมูลนิธิช้างที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยป้องกันการนำช้างออกไปเร่ร่อนทำงานใน กทม.โดยจัดให้มีการแสดงทุกวัน วันละ 2 รอบ รอบเช้าเริ่ม 10.00 น.และรอบบ่ายเริ่ม 14.00 น. หลังจากากรแสดงของช้างแล้วควาญช้างก็จะนำช้างเดินไปที่วังอันเป็นจุดที่ลำชีไหลมาตกแม่น้ำมูลพอถึงที่ตรงนี้ความสนุกนานจากการได้ชมช้างอาบน้ำก็จะเกิดขึ้นและบรรดาคนดูช้างก็จะมีโอกาสได้นั่งช้างแท็กซี่ ได้สนทนาวิสาสะกับควาญช้างและได้ถ่ายภาพคู่กับข้าง เป็นอันเสร็จสิ้นการชม


สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย


         พิเคราะห์ดูจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าชม กับจำนวนเงินที่ทางมูลนิธิฯต้องใช้จ่ายไปเพื่อรักษาสภาพหมู่บ้านพื้นที่จัดแสดงรวมทั้งจ่ายเงินเดือนให้ช้างและควาญช้างแล้วก็เห็นได้เลยว่า ได้ไม่คุ้มเสียอย่างแน่นอนเพราะวัน ๆ ก็ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมกันสักเท่าไหร่บ่อยครั้งการแสดงที่ลานแสดงต้องงดไปเพราะไม่มีใครมาดูจำนวนนักท่องเที่ยวที่ผ่านทางมาท่องเที่ยวในอีสานก็น้อยกว่าภูมิภาคอื่น ๆอยู่แล้ว

          ดังนั้น จึงอยากจะประชาสัมพันธ์ไว้  ณตรงนี้ครับ อ่านแล้วก็ช่วยบอกต่อ ๆ กันไปให้ดังๆ ว่า ที่อำเภอท่าตูมจังหวัดสุรินทร์ ที่หมู่บ้านเลี้ยงช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้นและช้างที่นี่ก็แสดงกันเก่ง หลาย ๆเชือกเป็นดารานักแสดงในภาพยนตร์อย่างเรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชสุริโยไท ต้มยำกุ้ง ช้างแสดงเก่งไม่แพ้ที่ไหน ๆถ้าผ่านไปผ่านมาบริเวณอีสานใต้ นักท่องเที่ยวโปรดอย่าลืมมาเยี่ยมชมช้างมิฉะนั้นแล้ว อนาคตของช้างไทยก็อาจจะต้องไประบายสีเป็นแพนด้าแล้วออกแสดงตัวตามงานวัด สวนสัตว์ หรือไม่ก็เดินทางเร่ร่อนขายถั่ว ขายผักขายแตง ไปตามถนนอย่างเดิมอีกก็ได้

          นี่แหละ อนาคตที่นับว่ายังคงมืดมนอยู่สำหรับช้างและควาญช้างไทย


สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย


ปราสาทพนมรุ้ง และ ปราสาทเมืองต่ำ

         ปราสาทอันสวยงามทั้ง 2 หลังนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำมูลหรือแกระทั่งไม่ได้ตั้งอยู่ใกล้ ๆ แม่น้ำมูลแต่อย่างที่กล่าวมาแล้วในลุ่มแม่น้ำมูลยังมีลำน้ำสำคัญที่ไหลลงสู่แม่น้ำมูลอีกมากมายอย่างใกล้ ๆภูพนมรุ้งก็มีลำนางรองปรากฏชัดและเทคโนโลยีการก่อสร้างของขอมก็ก้าวหน้าจนแทบไม่ต้องอาศัยแหล่งน้ำธรรมชาติใกล้ ๆ แล้วเพราะขอมสามารถสร้างสระน้ำหรือบารายขนาดใหญ่เก็บน้ำไว้ใช้ได้ยาวนานและที่ปราสาทเมืองต่ำก็มีบารายโบราณขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใกล้เคียงเป็นหลักฐาน

         ชื่อของอาณาจักรศรีจนาศะ อาจเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูนักสำหรับคนไทยเราแต่ศรีจนาศะก็คืออาณาจักรโบราณอีกแห่งหนึ่งในลุ่มแม่น้ำมูลนี้ที่ตั้งอยู่นอกแนวพนมดงรัก เช่นเดียวกับอาณาจักรเจนละจามปา และฟูนันนี่คือหอกข้างแคร่ที่สำคัญของขอมโบราณและกว่าที่อาณาจักรศรีจนาศะจะล่มสลายไปพวกขอมจากศูนย์กลางก็คงต้องใช้ความพยายามมากมายพอดู

         หลังจากการล่มสลายไปของศรีจนาศะ จึงเป็นการเริ่มต้นแห่งพนมรุ้งและเมืองต่ำและเพราะเส้นทางคมนาคมผ่านช่องเขาต่าง ๆ จากศูนย์กลางออกมาสู่พนมรุ้งผ่านพิมาย ไปสู่ศรีจนาศะผ่านเข้าไปยังศรีเทพและลพบุรีของลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น มีความสำคัญมากการก่อร่างขึ้นของชุมชนขอมที่พนมรุ้งและเมืองต่ำ จึงพลอยมีความสำคัญดังนั้นผู้ครองเมืองวนัมรุงปุระจึงต้องมีศักดิ์ศรีสูงถึงเป็นพระญาติวงศ์ใกล้ชิดกับกษัตริย์แห่งเมืองพระนครพระองค์หนึ่ง ซึ่งปรากฏชื่อชัดในศิลาจารึกก็คือ หิรัณยวรมัน ซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ของพระเจ้าสุทริยะวรมันที่ 2ผู้ทรงสร้างปราสาทนครวัด


สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย

         การสร้างปราสาทพนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำนั้นจึงไม่ธรรมดาฝีมือการก่อสร้างอันประณีตและสวยงามนั้นเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่ฝีมือช่างท้องถิ่นแต่เป็นฝีมือช่างหลวงระดับเดียวกับการสร้างปราสาทต่าง ๆที่ศูนย์กลางแห่งอาณาจักรและวันนี้เมื่อพนมรุ่งและเมืองต่ำได้รับการบูรณะแล้วเสร็จเรียบร้อยเราจึงมีโอกาสได้เห็นฝีมือของช่างหลวงแห่งเมืองพระนครอันงดงาม ดังนั้นปราสาทหินเมืองต่ำและพนมรุ้งจึงได้กลางเป็นเพชรเม็ดงามประดับวงการท่องเที่ยวแนวประวัติศาสตร์และโบราณคดีของไทยต่อมา

         เรามาถึงปราสาทเมืองต่ำหลังจากไม่ได้มาที่นี่มานานมากจำได้ตั้งแต่ทุกสิ่งทุกอย่างยังเป็นเพียงกองซากปรักหักพังนั้นทีเดียวได้มาเห็นปราสาทเมืองต่ำในวันที่การบูรณะทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้วก็โอ้โห เหวอเลย เป็นสิ่งก่อสร้างที่ช่างสวยงามมหัศจรรย์ได้ใจจริง ๆยิ่งได้มีโอกาสขึ้นภูเขาไฟไปชม ปราสาทพนมรุ้งปราสาทหินทรายสีชมพูบนยอดเขาแล้วก็ยิ่งซาบซึ้ง ใช่แล้วไม่เสียทีที่เมืองนี้เป็นเมืองใหญ่เมืองสำคัญเป็นเมืองญาติสนิทที่ครั้งหนึ่งเจ้าชายจากเมืองนี้มีโอกาสก้าวข้ามไปเป็นเจ้าแหงขอมเมืองพระนครนั้นทีเดียว

สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย

เมืองพิมาย

         เมืองพิมายนับเป็นเมืองใหญ่ที่มีผังเมืองสมบูรณ์เข้มแข็งหากกรุงศรีอยุธยากล้าแกร่งเพราะมีแม่น้ำเจ้าพระยา  แม่น้ำป่าสักและแม่น้ำลพบุรีเป็นปราการธรรมชาติคอยป้องกันเมืองและเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญติดต่อกับเมืองต่าง ๆ โดยรอบแล้วไซร้เมืองพิมายก็มีลำจักรราชและมีแม่น้ำมูลเป็นลำน้ำธรรมชาติคอยปกบ้านป้องเมืองไว้ และเป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อกับเมืองต่าง ๆ ใกล้เคียงไม่ต่างกัน

         เมืองพิมายยังมีดีกว่าอยุธยาด้วยตรงที่ว่า เมืองอยุธยาทำได้ก็แต่นาข้าวแต่เมืองพิมายนั้น สามารถทำได้ทั้งนาข้าวและนาเกลือในพื้นที่ติด ๆ กันนับเป็นเมืองแห่งหนุ่มนาข้าวสาวนาเกลืออย่างแท้จริงเลยทีเดียว

          จากการสำรวจหลากหลายทางโบราณคดี ทั้งในเมืองพิมายและเมืองต่าง ๆ ใกล้เคียงข้อสรุปของนักวิชาการทางโบราณคดีทั้งหลายก็ออกมาในแนวเดียวกันว่าเมืองพิมายนั้นน่าจะเป็นเมืองร่วมสมัยกับเมืองหนองหาน ในจังหวัดสกลนครโน่นซึ่งนั่นก็หมายถึงอายุของเมืองที่ต้องมากกว่า 2,500 ปีขึ้นไปอีกทั้งเป็นเมืองที่ใหญ่และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจและการคมนาคมติดต่อกันระหว่างลุ่มแม่น้ำมูลกับลุ่มแม่น้ำอื่น ๆ โดยรอบ

         และด้วยความที่เป็นเมืองสำคัญอีกเมืองหนึ่งนอกแนวป้องกันพนมดงรักเมื่อขอมโบราณสามารถเข้ามามีอิทธิพลเหนือเมืองนี้ได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ๆ ก็ตามขอมจึงต้องให้ความสำคัญกับเมืองนี้เป็นอย่างมากอาจจะด้วยการส่งญาติวงศ์ใกล้ชิดออกมาเป็นเจ้าผู้ครองเมืองการสร้างศาสนสถานใหญ่ประจำเมืองคือ ปราสาทหินพิมายจึงต้องประสานประโยชน์เอาใจทั้งคนที่เป็นเจ้าของเมืองมาก่อนและพวกขอมเจ้าเมืองในยุคนั้น


สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย


          และเพราะเหตุดังกล่าวมานั้นปราสาทหินพิมายจึงได้รับการก่อสร้างขึ้นอย่างประณีตด้วยฝีมือช่างหลวงนักโบราณคดีอีกหลายท่านยังตีความด้วยว่าด้วยความที่ปราสาทหินพิมายสร้างขึ้นก่อนปราสาทนครวัด ดังนั้นรูปแบบของปราสาทหินพิมายอาจจะเป็นต้นแบบในการก่อสร้างให้กับปราสาทนครวัดก็ได้

          จากเมืองพมายแม่น้ำมูลพระเอกของเราก็นำเราไหลผ่านเข้าสู่เมืองโคราชแล้วจากนั้นจึงมุ่งหน้าขึ้นสู่เขตป่าเขาอันเป็นต้นน้ำโดยเฉพาะที่ลำพระเพลิง อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ตรงนั้นมีการเรียกชื่อลำน้ำนี้ว่าน้ำมูลมาตั้งแต่ต้นและการเดินทางย้อนรอยแม่น้ำมูลของเราเมื่อมาถึงที่นี้แล้วก็เป็นอันว่าเอวังเพราะแถว ๆ นี้ไม่มีอารยธรรมเก่าแก่ใด ๆ ให้เราได้ตามรอยอีกต่อไป

          ดังนั้น บทสรุปของการเดินทางย้อนรอยสายน้ำ ตามรอยอารยธรรมลุ่มน้ำมูลของเรา จึงควรลงเอยที่ข้อความดังต่อไปนี้…

         พื้นที่ลุ่มน้ำมูลก็คือแอ่งโคราช อันเป็นที่รวมของแม่น้ำ 2สายที่ยาวที่สุด และยังคดเคี้ยวที่สุดของประเทศไทย คือ ลำน้ำมูลและชีและถ้าจะนับรวมแม่น้ำโขงที่สุดปลายสายน้ำมูลนี้ ที่นี่ก็คือลุ่มน้ำโขง ชีมูล นั่นเอง พื้นที่ของลุ่มน้ำนี้ จากหลักฐานทางโบราณคดีต่าง ๆเชื่อแน่ว่า มีผู้คนอยู่อาศัยเป็นชุมชนต่าง ๆ มาแล้วเนิ่นนานดึกดำบรรพ์ชาวชุมชนเหล่านี้ไม่ได้อพยพโยกย้ายมาจากเทือกเขาอัลไตแต่ประการใดและก็ไม่ได้เรียกตนเองว่าสยามไทย ลาว หรืออขอมด้วยแต่จะเรียกว่าอะไรก็คงไม่มีใครรู้


สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย


         ต่อมาชุมชนเหล่านี้ก็รวมตัวกันขึ้นเป็นบ้านเมือง ก่อกำเนิดชื่อต่าง ๆทางประวัติศาสตร์ เช่น ศรีจนาศะ เจนละ จามปา เศรษฐปุระ พิมายะ เป็นต้นบ้านเมืองเหล่านี้เป็นศัตรูบ้างมิตรบ้างต่ออาณาจักรขอมที่มีศูนย์กลางอยู่ในที่ราบต่ำใต้แนวพนมดงรักคือเมืองพระนคร ต่อมาพวกขอมก็ขยายแนวป้องกันของตนออกมานอกแนวพนมดงรักด้วยการเข้ามามีอิทธิพลอยู่ในเมืองต่าง ๆ ภายนอก จะด้วยวิธีใดก็ตามอาจเป็นการทำสงคราม หรือการเชื่อมสัมพันธ์ด้วยวิธีต่าง ๆ ด้วยเหตุดังนี้การสร้างปราสาทหินพิมาย ปราสาทพนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำจึงสร้างขึ้นได้อย่างวิจิตรงดงามขอมต้องเอาใจทั้งประชาชนและเจ้านายต่าง ๆ ในท้องถิ่นถึงตอนนี้แนวป้องกันของขอมน่าจะเลื่อนมาอยู่ที่แม่น้ำมูล

         แต่ในที่สุด อนิจจังก็คือความจริงแท้ ขอมประสบกับความเสื่อมอนารยชนชาวสยามจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาสามารถยกกองทัพเข้าไปทำลายเมืองพระนครของขอมลงได้ ไม่ต่างอะไรกับอนารยชนเยอรมันที่เข้าทำลายกรุงโรมหรือชนเผ่ามองโกลที่ทะลุกำแพงใหญ่เข้าไปในเมืองจีนแล้วอำนาจการปกครองของขอมกับเมืองต่าง ๆ นอกแนวพนมดงรักก็เสื่อมลงขอมถอยร่นออกไปจากเมืองต่าง ๆ เหล่านั้นทิ้งเมืองให้รกร้างปราศจากผู้ปกครองจากนั้นชนเผ่าลาวจากทางเหนือก็เข้ามาและเริ่มก่อร่างสร้างเมืองขึ้นใหม่

         และท้ายที่สุดบทความนี้ไม่ใช่บทความวิชาการไม่ใช่เรื่องจริงทางประวัติศาสตร์ ความจริงประวัติศาสตร์นาน ๆ  เข้าก็กลายเป็นตำนาน ตำนาน  ตำกันนาน ๆเข้าก็กลายเป็นนิยายบทความนี้ความจริงเป็นบทความท่องเที่ยวที่คนที่ท่องเที่ยวมายาวนานกว้างไกลได้เขียนขึ้นเป็นบทสรุปจากการเดินทางไกล แต่ใครจะไปรู้ นาน ๆเข้าเรื่องท่องเที่ยวนี้อาจกลายเป็นนิยาย นิยายอาจกลายเป็นตำนานและตำนานก็อาจจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ไปก็ได้อนิจจังก็คือความจริงแท้เที่ยงเพียงอย่างเดียว...คุณว่าจริงไหมล่ะ


สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย

เกร็ดความรู้

         แม่น้ำมูล : ส่วนหนึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานจังหวัดปราจีนบุรี โดยมีชื่อเรียกว่า "มูล" เช่น ห้วยมูลหลงห้วยมูลสามง่าม มาตั้งแต่ยังอยู่ในเขตป่าเขา  คำว่า "มูล"เป็นภาษาเขมร มีความหมายถึงการเริ่มต้นและนับตั้งแต่แม่น้ำมูลได้เริ่มต้นจากที่ตรงนี้ แล้วก็ "มูนมัง"เป็นภาษาลาวอันหมายถึงมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นมรดกแก่ลูกหวานจากนั้นลำนำมูลจึงไหลผ่าน จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษจนไปพบกับแม่น้ำชี ลำโดมน้อย ลำโดมใหญ่ ลำเซบก ลำเซบายที่จังหวัดอุบลราชธานี และไหลไปออกแม่น้ำโขงรวมความยาวทั้งหมดจากต้นน้ำถึงปลายน้ำเป็นระยะทาง 640 กิโลเมตร

แนะนำการท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรมเพียบ

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 50 ฉบับที่ 1 สิงหาคม 2552

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ย้อนรอยสายน้ำ ตามรอยอารยธรรมลุ่มน้ำมูล อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15:10:38 4,069 อ่าน
TOP