เทพเจ้าจีนในวัดไทย



เทพเจ้าจีนในวัดไทย  (คมชัดลึก)

โดย ไตรเทพ  ไกรงู

          "วัด" เป็นคำที่ใช้เรียกสถานที่ทางพุทธศาสนามาแต่โบราณ  ซึ่งปกติมีพระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ รวมทั้งมีพระภิกษุสงฆ์อยู่อาศัย  ทั้งนี้การสร้างวัดในสังคมไทย  มีแบบอย่างที่เป็นอิทธิพลหลักจากลังกา เนื่องจากคนไทยนับถือพุทธศาสนาในลัทธิเถรวาท  หรือหินยานผ่านมาทางสายของลังกา (แบบลักกาวงศ์) ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทคือ ๑ วัดราษฎร์ ซึ่งหมายถึง วัดที่ชาวบ้านช่วยกันสร้างเพื่อไว้เป็นพุทธบูชา ได้แก่วัดทั่ว ๆ ไปและ ๒.วัดหลวง ซึ่งหมายถึง วัดที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดิน ที่ทรงสร้างไว้

          ส่วนมูลเหตุ คือ การสร้างให้เป็นศาสนสถาน  เพื่อเอื้อต่อการกระทำศาสนพิธี และเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เป็นผลสืบเนื่องจากเนื้อหาคำสอนใน "ไตรภูมิ" ที่ทรงนิพนธ์ขึ้นโดย พระยาลิไท กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ประมาณ พ.ศ. ๑๘๘๘ ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องของ  ปุพเพกตปุญญตา  อันเป็นเรื่องที่พรรณนาเกี่ยวกับสวรรค์และนรกเป็นอย่างมาก

          ด้วยเหตุดังกล่าว  จึงกระตุ้นให้เกิดความกลัว ในเรื่องของการทำความชั่ว และเร่งสร้างบุญความดี  เพื่อจะได้ขึ้นไปเสวยสุขบนแดนสวรรค์ หรือได้เกิดใหม่ในชาติภพหน้า ที่เพียบพร้อมด้วยฐานันดรศักดิ์ที่สูงส่ง หรือเพื่อสั่งสมบุญ  สำหรับไปเกิดในยุคเดียวกับ พระศรีอาริยเมตตรัย  หรือพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๕ ที่ชาวพุทธมีคติความเชื่อว่า จะอุบัติขึ้นหลัง พ.ศ. ๕๐๐๐

          "การสร้าวัด" ในพุทธศาสนา มีคติความเชื่อว่า  เป็นการทำบุญที่ให้ได้มาถึงซึ่งอานิสงส์มากที่สุดนั่นเอง

          ด้วยเหตุนี้ คนไทยจึงนิยมสร้างวัดกันมาโดยตลอดทุกยุคทุกสมัย นอกเหนือจากจะเป็นการสร้างตามคติโบราณดังกล่าวแล้ว  ในเวลาต่อมา  ก็ยังมีปัจจัยสำคัญหลักบางประการที่เป็นเหตุจูงใจไปสู่การสร้างวัด ดังนี้

          ๑. สร้างเพื่อให้เป็นสิ่งคู่บ้านคู่เมือง  ๒. สร้างเพื่อให้เป็นวัดประจำวัง  ๓. สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นวัดประจำรัชกาล  ๔. สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์  ๕. สร้างขึ้นบนพื้นที่เดิม ซึ่งเคยเป็นที่ถวายพระเพลิงพระศพ  หรือพระบรมศพ  ๖. สร้างขึ้น ณ ที่ปรากฎเหตุการณ์สำคัญ และ๗. สร้างขึ้นตามคติประเพณีนิยมบางประการ

          นอกจากนี้  ก็ยังมีคติการสร้างเป็นวัดประจำเมือง  อันเป็นคติที่สืบเนื่องแต่โบราณที่ทุกราชธานีจะต้องสร้างขึ้นไว้ให้เป็นวัดที่ต้องมีทุก ๆ ราชธานี ที่ตั้งขึ้นใหม่ มี ๔ วัด คือ ๑. วันมหาธาตุ  ๒. วัดพระเชตุพน  ๓. วัดราชบูรณะ และ ๔. วัดราชประดิษฐ์

          อย่างไรก็ตาม  สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย คือ การสร้างศาลเจ้า และ เทพเจ้าจีนไว้ในวัดด้วย  อย่างกับกรณีของ วัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา  มีการสร้างเทพเจ้าตามคติความเชื่อของชาวจีน หลายองค์ เช่น ที่ตี่แป่บ้อ (เทพยดาฟ้าดิน) เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก (องค์ปฐมเหตุแห่งการสร้างหลวงพ่อโต) เทพเจ้ากวนอู (เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์) เทพเจ้าอุ่ย ท้อ (เทพเจ้าผู้รักษาพระพุทธศาสนา) พระสังกัจจายน์ (เทพเจ้าแห่งความสมบูรณ์พูลสุข) เจ้าแม่กวนอิม (เทพเจ้าแห่งความเมตตา) หลวงปู่ไต่ฮ่องกงโจวซือ (เทพเจ้าผู้อนุเคราะห์สัตว์โลก) และ เทพเจ้าไฉ่สิ่งเอี้ย (เทพเจ้าแห่งโชคลาภ)

          อย่างไรก็ตาม "คม ชัด ลึก" ได้รวบรวมเทพเจ้าตามคติความเชื่อของชาวจีน ที่นิยมสร้างในวัดไทยในอันดับต้น ๆ คือ

          ๑. พระสังกัจจายน์  ซึ่งพุทธสาวกที่ถูกนำมาสร้างเพื่อเป็นพุทธบูชา  มีเพียงองค์เดียวที่โดดเด่นไม่ถูกเถียงทั้งแบบมหายาน  หินยาน  นิยมการสร้างมาก  แบบจีนนิยมสร้างมากกว่าในเมืองไทยมีวัดจีนหลายวัดที่สร้างพระสังกัจจายน์ใหญ่เป็นเนื้อโลหะ  เครื่องเคลือบ สมัยเซ็งเตาปังโคยกังไส ก็เคยพบพระสังกัจจายน์ในจำนวนมาก



          ๒. พระโพธิสัตว์กวนอิม หรือเจ้าแม่กวนอิม  เป็นพระโพธิสัตว์ที่มีคนนับถือกันมากช่วยให้คนพ้นทุกข์  ขอให้มีจิตใจเคราพบูชาอย่างซื่อตรง พร้อมท่องชื่อท่าน  จะได้รับการคุ้มครองให้เป็นสุข  หากต้องการขอบุตร  ให้บูชากวนอิมส่งบุตร อยากหายไข้ บูชากวนอิมกิ่งหยก

          ๓. เทพกวนอู  เป็นเทพที่ชาวฮ่องกงไต้หวัน   สิงคโปร์ ให้ความนับถือกันมาก ท่านเป็นเทพที่มีความซื่อสัตย์  และเชื่อกันว่าสามารถขจัดภูตผีปีศาจได้ ตามร้านค้า บ้านเรือน ล้วนแต่นับถือเทพเจ้าองค์นี้ คนพาลถอยห่าง และทรัพย์สมบัติเจริญรุ่งเรือง



          ๔. ฮก ลก ซิ่ว แบ่งเป็น เทพฮก ถือทารกในมือแสดงถึงลูกหลานเต็มบ้าน ท่าทีอ่อนโยนเทพฮกสีสันแวววาว เทพซิ่ว มือถือผลท้อเซียนใบหน้าเหยี่ยวย่น  แสดงถึงอายุยืน สุขภาพแข็งแรง ปราศจากภัยพิบัติ เทพลก จะคาดเข็มขัดสีหยก มือถือหยกปรารถนา อำนวยยศศักดิ์และทรัพย์สินเงินทองให้มนุษย์ ส่วนอีก ๒ องค์ ดูแลผู้อายุและความผาสุก

          ๕. แปดเซียน  แปดเซียนที่ชาวจีนชนบทนับถือคือ ฮั่นถงหลี ฉางกั่วจิ้ว หลี่ถงปินหันเซี่ยงจื่อ หลานไฉ่เหอ เหอเซียนกู่ จางกั๋วเหลา และ เถี่ยกว๋ายหลี่  แต่ละเซียนมีความชำนาญ แต่ละด้าน หากบูชาร่วมกันจะเข็มแข็ง

          อ.ราม  วัชรประดิษฐ์  อาจารย์ประจำสาขาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก และนักโบราณคดี บอกว่า การสร้างเทพเจ้าจีนในวัดไทย เป็นประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

          เหตุที่มีการสร้างเทพเจ้า และศาลเจ้าตามคติความเชื่อของชาวจีนนั้น เพราะชาวจีนเป็นกำลังศรัทธาใหญ่ในการสร้างวัด  โดยเฉพาะกรณีตำนานแห่งการสร้าง วัดพนัญเชิง เนื่องจากตำนาน เจ้าชายสายน้ำผึ้ง และ พระนางสร้อยดอกหมาก เป็นตำนานแห่งการสร้างวัดพนัญเชิง (หรือพแนงเชิง) ซึ่งแปลว่า "พระนางผู้มีแง่งอน" และเป็นวัดที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน  ทั้งมีประวัติกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารเหนือของจีน โดยอ้างอิงถึงของไทยด้วย จึงมีผู้มาสักการะทั้งชาวไทย และชาวจีนรวมถึงชาวต่างชาติอย่างไม่ขาดสาย

          ด้วยมีความเชื่อกันว่า เจ้าแม่สร้อยดอกหมากสามารถดลบันดาลให้ผู้ที่กราบไหว้สมปรารถนา   ดังที่ขอไว้ได้ทุกเรื่องทุกประการ บ้างก็มีการบนบานศาลกล่าวด้วยผ้าแพร ไข่มุกเรือสำเภา หรือนำสิงโตมาเชิด เมื่อได้สมหวังดังที่ปรารถนา ก็มาแก้บนดังที่ได้บนบานศาลกล่าวเอาไว้

          บ้างก็มีความเชื่อในเรื่องของความรัก คู่ครอง และการขอบุตรจากเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก เมื่อได้สมหวังดังที่ขอ ก็มีการบอกต่อหรือเล่าขานต่อ ๆ กันมาก จนเป็นความเชื่อ และมีผู้ศรัทธาหลั่งไหลเข้ามากราบไหว้กันอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ จนเป็นที่รู้จักสืบต่อกันมา โดยถือปฏิบัติกันมาเป็นประเพณีคือ เมื่อมาสักการะองค์ หลวงพ่อโต ในพระวิหารเสร็จแล้วจะต้องแวะมาสักการะเจ้าแม่สร้อยดอกหมากด้วยนั่นเอง





ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เทพเจ้าจีนในวัดไทย อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15:03:20 4,183 อ่าน
TOP
x close