x close

เขมราฐ อีกปลายทางแห่งความเกษมสุขริมฝั่งโขง

 

 

สรุปข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

 

          "เขมราฐ" นามอันแสนไพเราะของอำเภอเก่าแก่ในจังหวัดอุบลราชธานี ด้วยความที่เป็นเมืองเล็ก แต่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน มีวิถีชุมชนที่ยังดำเนินอยู่อย่างสงบสุข คู่เคียงกับลำโขงที่ไหลเอื่อยขนาบข้าง เป็นอีกหนึ่งบ้านเมืองข้างแม่น้ำสายประวัติศาสตร์ที่น่าไปเยี่ยมเยือนอย่างยิ่ง

 

 

          เขมราฐถือว่าเป็นอำเภอค่อนข้างเล็ก และมันสะท้อนถึงจำนวนประชากรที่ค่อนข้างจะบางตา ซึ่งก็ส่งผลให้บรรยากาศโดยรวมของบ้านเมืองนี้ค่อนข้างจะสงบเงียบชีพจรของเมืองเป็นจังหวะเนิบช้า สบาย ๆ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับใครก็ตามที่เบื่อความวุ่นวายของเมืองหลวง แต่ฝันถึงวิถีชีวิตผ่อนคลาย อยากหลบมุมพักผ่อนในอำเภอเล็ก ๆ ริมโขงแบบไม่คาดหวังอะไรมาก แค่มาเปลี่ยนบรรยากาศและลิ้มรสปลาน้ำโขงในสารพัดเมนู เขมราฐไม่น่าจะทำให้ใครผิดหวังกับบรรยากาศอันเรียบง่ายตามประสาเมืองชนบท

 

ชมวัดเก่า เล่าตำนานเมือง

          อารามสำคัญในเขตเทศบาลเขมราฐนั้น ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ริมถนนกงพะเนียง และด้วยความเป็นเมืองเก่า แต่ละวัดจึงอยู่ห่างกันแค่ไม่กี่ร้อยเมตร สามารถเดินเที่ยวชมได้สบาย ๆ ที่เด่น ๆ ก็ได้แก่ วัดโพธิ์ วัดกลาง (วัดชัยภูมิการาม) และวัดบ้านเหนือ ซึ่งมีอายุเก่าแก่ย้อนไปถึงสมัยรัชกาลที่ 5 (อุโบสถหลังเดิมยังปรากฏหน้าบันรูปปั้นพระราหูอมจันทร์งดงามมาก)

 

 

          อย่างไรก็ตาม วัดที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ที่สุดในย่านนี้คงต้องเป็น วัดโพธิ์ เพราะสืบย้อนตำนานกลับไปได้ถึงสมัยช่วงปลายกรุงธนบุรี หรือยุคก่อนหน้าจะก่อตั้งเขมราฐธานีอยู่หลายสิบปีเลยทีเดียว

          ตามประวัติเก่าเล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าตามสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ภายหลังได้ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี) เป็นแม่ทับไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต หรือนครเวียงจันทร์ ในราวปี พ.ศ.2321จนทำให้ชาวบ้านชาวเมืองแตกตื่นหนีภัยสงครามกันไปคนละทิศละทาง และมีการกวาดต้อนไพร่พลกลับกรุงสยามไปเป็นจำนวนมากนั้น

          มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งซึ่งแม่ชี (แม่ขาว) เป็นผู้นำ ได้นำพาญาติโยมและลูกหลานอพยพลี้ภัยสงครามลงมาตามลำน้ำโขง โดยมีการชักชวนผู้คนที่ผ่านพบร่วมเดินทางไปด้วยกัน จนกระทั่งกลายเป็นกลุ่มชน ก่อนจะตัดสินใจปักหลักทำกินยังชัยภูมิอันอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่ง ริมชายฝั่งโขงยังสภาพเป็นป่ารกชัฏชุกชุมไปด้วยสิงหาราสัตว์ คืนหนึ่งแม่ชีเกิดนิมิตรว่าในบริเวณใกล้ ๆ กันนั้นมีพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เมื่อถึงรุ่งเช้าจึงระดมบริวารออกค้นหา กระทั่งได้ค้นพบพระพุทธรูปองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่บนฐานเก่า ๆ หลังเครือเถาวัลย์ที่ปกคลุมอยู่จนมองแทบไม่เห็น

          พระพุทธรูปโบราณที่ค้นพบนั้นเป็นปางมารวิชัย มีลักษณะงดงามมาก หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ทอดพระเนตรลงสู่แม่น้ำโขง ด้วยนิมิตหมายอันเป็นมงคลยิ่งเช่นนี้ แม่ชีและบริวารจึงพร้อมใจกันตั้งชุมชนบ้านกงพระเนียง และสร้างวัดขึ้น โดยเรียกขานชื่อตามต้นโพธิ์ใหญ่ ส่วนพระพุทธรูปองค์นั้นก็ให้กราบไหว้บูชาในฐานะพระเจ้าใหญ่องค์แสนนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

 

 

อีกทางเลือกของผู้หลงใหลธรรมชาติริมโขง

          หาดทรายและเกาะแก่งน้อยใหญ่ซึ่งมีลักษณะงดงามแปลกตาตลอดระยะทางร่วม 40 กิโลเมตร ของริมโขงเมืองเขมราฐก็มีเสน่ห์ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย แก่งกลางน้ำที่มีความงามจนเลื่องชื่อของเขมราฐนั้น ได้แก่ แก่งช้างหมอบที่บ้านห้วยยาง และแก่งพลาเหล็กที่บ้านสามแยกถ้ำเสือ ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติในรูปแบบหาดทรายกว้างริมน้ำโขงก็คงต้องเป็นที่หาดทรายสูงบ้านลาดหญ้าคา ในตำบลนาแวง อยู่ห่างจากตัวตลาด

          เขมราฐไปตามถนนสายยุทธศาสตร์หมายเลข 2112 อีกราว 25 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันพื้นที่บางส่วนในหมู่บ้านถูกเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นบ้านลาดเจริญ

 

 

          บ้านลาดเจริญนั้น เป็นที่รู้จักกันมากยิ่งขึ้นในแวดวงการท่องเที่ยวเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา และถึงแม้ว่าชาวบ้านจะพยายามสำรวจแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ รอบหมู่บ้านไว้สำหรับพานักท่องเที่ยวไปชมมากมายหลายต่อหลายจุด อย่างขัวนางนี (แท่งหินขนาดยาวใหญ่ที่ชาวบ้านเปรียบเป็นสะพานหินธรรมชาติ) ถ้ำเสือ ถ้ำพระ ไปจนถึงสุสานช้างแมมมอท

 

 

          นักท่องเที่ยวสามารถทำกิจกรรมตามใจฉัน อย่างนอนค้างแรมชมทะเลดาว ลงไปแหวกว่ายในมหานทีสี่พันดอน หรือยืดเส้นด้วยการปีนป่ายผจญภัยไปตามโขดหินทรงประหลาด เพื่อค้นหารอยจารึกภาษาจีนกับภาษาขอม และรอยแกะสลักหินรูปวัวหันหัวเข้าหากัน อย่างที่เรียกว่าคอนวัว ที่นี่มีบริการนำเที่ยวโฮมเสตย์ที่เก็บกันในราคาไม่แพง ไกด์ท้องถิ่นจะพาไปเที่ยวชมจุดสนใจอื่น ๆ ตามลำน้ำอีกมากมาย เช่น

 

 

          แก่งคันแยง  ร่องน้ำเชี่ยวที่ชาวบ้านสมัยก่อนนิยมเอากระชอนไปดักปลาเพราะมีชุกชุมมาก

 

 

          แก่งพละกาย  แหล่งจับปลาอีกแห่งที่ปลาชุกชุมมากจนต้องใช้กระชอนดักปลาขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ซึ่งคู่ควรกับคนที่มีร่างกายกำยำมาก ๆ จนกลายเป็นที่มาของชื่อ

          ถ้ำคันสลึง  เป็นโพรงหินขนาดใหญ่ริมโขง จุคนได้มากถึง 50 คน สันนิษฐานกันว่าเคยเป็นที่หลบแดดหลบฝนของชนโบราณมาก่อน

          คอนหมู โขดหินกลางน้ำซึ่งชาวบ้านพร้อมใจกันตั้งชื่อให้ตามเสียงน้ำกระทบหินที่ฟังคล้ายเสียงหมูร้อง

          หินสิ่ว  ครั้งหนึ่งเมื่อสมัย 200 กว่าปีก่อน ลำน้ำโขงเคยเป็นทางสัญจรหลักของผู้คนในแถบอินโดจีน การเดินทางจากหลี่ผีและหลวงพระบางจะต้องผ่านเส้นทางนี้ และนี่คือที่มาของรอยเจาะหินฝีมือชาวฝรั่งเศส เพื่อใช้เป็นที่เกาะฉุดลากเรือกำปั่นให้ฝ่ากระแสน้ำเชี่ยวไปได้ ในบริเวณใกล้กันจะมีกอหว้าน้ำสวยงามมาก

 

 

 

          เรียกว่าใครใคร่พักผ่อนสบาย ๆ อาจเลือกใช้บริการที่โฮมสเตย์ชมบ้านเมืองวิถีชีวิต ผ่านคลายริมน้ำชมทิวทัศน์ตามอัธยาศัย แต่ถ้าต้องการท่องเที่ยวให้โลดโผนหน่อย แหล่งท่องเที่ยวหลากหลายที่บ้านลาดเจริญมีตัวเลือกให้มากมาย หรือจะผสมผสานกันก็คงจะสนุกไปอีกแบบ แต่ที่แน่ ๆ อัธยาศัยไมตรีของชาวบ้านที่นี่อบอุ่นน่ารักไม่แพ้ที่ไหนในประเทศไทยแน่นอน

 

แนะนำการท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรมเพียบ

 


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เขมราฐ อีกปลายทางแห่งความเกษมสุขริมฝั่งโขง อัปเดตล่าสุด 2 เมษายน 2567 เวลา 18:08:19 19,305 อ่าน
TOP