x close

มะละกา ดินแดนแห่งสายลมสองทิศบรรจบกัน

มะละกา มาเลเซีย
โบสถ์คริสต์ที่ถนน Laksamana

มะละกา มาเลเซีย
บรรยากาศบริเวณรอบๆ จตุรัสแดง


มะละกา ดินแดนแห่งสายลมสองทิศบรรจบกัน (กรุงเทพธุรกิจ)


โดย : คณา คชา

          ฉันสารภาพกับเพื่อนร่วมบ้านและเพื่อนสาว ว่าการเดินทางสู่มาเลเซียคราวนี้สำหรับฉันแล้ว เป้าหมายคือเมือง มะละกา แหม...มีใครเคยเรียนวิชาประวัติศาสตร์สมัยเด็ก แล้วไม่เคยได้ยินชื่อเมืองนี้บ้าง ยกมือขึ้น ไม่มีใช่มั้ยล่ะ แล้วใครเคยได้ยินชื่อเมืองนี้บ้าง เห็นมั้ย ยกมือกันพรึ่บพรั่บเลย

          ลองมาฟังคำโฆษณาชวนเชื่อของการท่องเที่ยวมาเลเซียดีกว่าว่าเขาคุยคำโต เกี่ยวกับเมืองนี้รัฐนี้ยังไง

          "ท่องมะละกา เที่ยวมาเลเซีย" เพราะ "ประวัติศาสตร์มาเลเซียเริ่มต้น ณ ที่นี้"

          ทำไมถึงบอกว่าประวัติศาสตร์มาเลเซียเริ่มต้นที่นี่?

          นั่นเป็นเพราะที่นี่เป็นสถานที่ประกาศเอกราชจากการยึดครองของชาวต่างชาติ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1956 โดย ตุนกูอับดุล รามัน พุตรา อัล-ฮัจ นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย หลังจากที่ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครอง จากชาวต่างชาติหลายชาติหลายภาษามาเป็นเวลานาน


มะละกา มาเลเซีย
เจ้าสาวแวะมาถ่ายรูปที่เมืองประวัติศาสตร์ใกล้ๆ กับลานน้ำพุ


          การท่องเที่ยวมาเลเซียจัดเตรียมเอกสารแนะนำสถานที่เที่ยวต่างๆ อย่างดีเยี่ยม น่าชื่นชม แต่เอกสารพวกนี้ก็ทำเอาเวียนหัวตุ้บอยู่เหมือนกัน

          ในแผนที่หรือเอกสารบางฉบับเรียกรัฐนี้ว่า MALACCA  ขณะที่เรียกตัวเมืองว่า MELAKA ขณะที่บางฉบับก็เรียกทั้งรัฐและทั้งเมืองว่า MELAKA

          เอาเป็นว่าอย่าไปสนใจเลยแล้วกัน  สรุปว่าใช้ได้ทั้ง MALACCA  และ MELAKA นี่แหละ เอาเป็นว่าฉันเรียกของฉันแบบไทยๆ ว่าเมืองมะละกา  และรัฐมะละกา

          ประวัติศาสตร์ของเมืองนี้เริ่มต้นแบบตำนานที่ชาวตะวันออกเฉียงใต้คุ้นชิน คล้ายคลึงกับตำนานของเกาะสิงคโปร์ ประมาณว่าเป็นเรื่องของเจ้าชายที่หนีมาจากเกาะสุมาตรา และจะหาที่ลงหลักปักฐานใหม่ เมื่อมาถึงมะละกา ขณะกำลังนั่งพิงต้นมะขามป้อมอย่างเหนื่อยอ่อน หมาล่าสัตว์ของพระองค์ก็ถูกเจ้ากระจงตัวเล็กนิดเดียวแยกเขี้ยวเกระโจนเข้าใส่อย่างอาจหาญ จนหมาของพระองค์ตกลงไปในน้ำ


มะละกา มาเลเซีย
มุมหนึ่งของบรรยากาศรอบๆ จตุรัสแดง


          ภาพเหตุการณ์นั้น กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เจ้าชายตัดสินพระทัยสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่นี่ เพราะแม้แต่ตัวกระจงยังแข็งแรงและมีความหาญกล้าได้ขนาดนั้น จากนั้นพระองค์จึงตั้งชื่อเมืองนี้ว่า มะละกา ซึ่งเป็นภาษามาเลย์แปลว่าต้นมะขามป้อม

          มะละกาเป็นดินแดนที่สายลมตะวันออกกับสายลมตะวันตกมาบรรจบกัน เอื้อให้ดินแดนแห่งนี้มีชัยภูมิเหมาะแก่การเป็น เมืองท่าค้าขาย เรือจากอาหรับและอินเดียสามารถล่องมาตามลมสินค้าตะวันตกเฉียงใต้ ขณะเดียวกันในช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเวลาแล่นเรือของพ่อค้าจีนและพ่อค้าจากหมู่เกาะเครื่องเทศ (หมู่เกาะโมลุคกะ อินโดนีเซีย)

          ต้นศตวรรษที่ 16 มะละการุ่งเรืองในฐานะเมืองจัดเก็บสินค้า แต่ก็เพราะชัยภูมิที่เหมาะสมเช่นนั้น มะละกาจึงถูกช่วงชิงและยื้อแย่งมาโดยตลอด

          "หรือว่าความงามก็เป็นบาปประการหนึ่ง ชีวิตที่สวยงามไฉนยิ่งถูกไล่ล่า" คำเขียนของ โกวเล้ง ช่างเหมาะกับความเป็นไปของเมืองนี้


มะละกา มาเลเซีย
พิพิธภัณฑ์เยาวชน (Malaysia Youth Museum) หนึ่งในอาคารรอบจตุรัสแดง


          มะละกาถูกล่ามาโดยตลอด เคยรุ่งเรืองที่สุดในยุคสมัยของสุลต่านแห่งมะละกาใน ช่วงคริสตวรรษที่ 15 ถึงปี 1511 จากนั้นก็ถูกครอบครองโดยโปรตุเกสตั้งแต่ปีค.ศ.1511-1641 ตามด้วยดัชท์ในปีค.ศ.1641-1795 และอังกฤษในปีค.ศ.1795-1941 ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเข้าครอบครองในระยะเวลาอันสั้นช่วงระยะเวลาระหว่างปี ค.ศ.1941-1945 และอังกฤษได้กลับเข้ามาครอบครองอีกครั้งในปีค.ศ.1945-1957 จนกระทั่งมาเลเซียได้ประกาศอิสรภาพในปีค.ศ.1957 จนถึงปัจจุบัน

          เค้าของการถูกล่าปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วตามพื้นที่ประวัติศาสตร์ของเมือง

          ณ จตุรัสแดง ถนน Laksamana สิ่งก่อสร้างที่รายล้อมแสดงถึงสถาปัตยกรรมของชนชาติตะวันตก ที่นี่เคยเป็นแหล่งชุมชนดัชท์เมื่อราวศตวรรษที่ 16-17 อาคารสถานที่ล้วนเป็นสีแดงอิฐขานรับกับชื่อจตุรัส ไม่ว่าจะเป็น โบสถ์คริสต์ หอนาฬิกา พิพิธภัณฑ์เยาวชน และอาคารสตัดธิวท์ (Stadthuys) ซึ่งเป็นศาลาว่าการ ประวัติของสถานที่ขานไขอย่างย่นยอบนแผ่นป้าย

          โบสถ์คริสต์ ดูจะเป็นจุดสนใจดึงดูดให้เข้าไปเยี่ยมชมเป็นจุดแรก โบสถ์แห่งนี้สร้างขึ้นในปีค.ศ.1753 โดยนำอิฐสีชมพูจากเนเธอร์แลนด์มาก่อสร้างและเชื่อมด้วยดินสีแดงของที่นี่ อาคารสตัดธิวท์ ที่อยู่ใกล้ๆ ก่อสร้างขึ้นในปีค.ศ.1650 สำหรับเป็นที่พักของผู้ว่าการ และคณะเจ้าหน้าที่ชาวดัชท์ เชื่อกันว่าอาคารนี้เป็นอาคารของชาวดัชท์ที่เก่าแก่ที่สุดในดินแดนตะวันออก ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์บอกเล่าประวัติศาสตร์ของเมืองและผู้คน


มะละกา มาเลเซีย
มะละกา มาเลเซีย


          บริเวณใจกลางจตุรัสเป็น ลานน้ำพุ สร้างขึ้นในปีค.ศ.1904 เพื่อถวายแด่ราชินีวิคตอเรียของอังกฤษที่ครองราชย์ในปีค.ศ.1837 และ หอนาฬิกา ที่สร้างขึ้นในปีค.ศ.1886 ปัจจุบันนาฬิกาที่ติดตั้งบนหอนาฬิกาไม่ได้เป็นนาฬิกาดั้งเดิมของอังกฤษ แต่เป็นนาฬิกายี่ห้อไซโก้ของญี่ปุ่น ซึ่งนำมาติดตั้งแทนของเดิมในปีค.ศ.1982 ซึ่งมีกระแสความไม่พอใจปรากฏในหน้าหนังสือแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวท้องถิ่น ฉบับหนึ่งว่า กองทัพญี่ปุ่นเคยตัดหัวชาวเมืองมะละกาเสียบประจานที่จตุรัสนี้เพื่อข่มขวัญชาวเมือง แล้วเหตุใดจึงนำนาฬิกาญี่ปุ่นมาติดตั้งบนหอนาฬิกาแทนนาฬิกาดั้งเดิม

          ขณะที่ฉากสถานที่ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก แต่องค์ประกอบที่เคลื่อนไหวไปมา และสิ่งประกอบฉากกลับเป็นเอเชีย รอบๆ ลานน้ำพุเป็นที่ชุมนุมของ รถสามล้อ จอดคอยให้บริการนักท่องเที่ยว บางคันตกแต่งสวยสะด้วยพู่ห้อย บางคันติดม่านห้อยระย้า แต่บางคันก็แสนเรียบง่าย และถ้าเดินเลยไปตรงซอกระหว่างโบสถ์คริสต์กับตึกสตัดธิวส์ จะเห็นแผงขายของที่ระลึกอย่างเกี๊ยะ เสื้อพื้นเมืองที่ตัดจากผ้าฝ้ายใส่สบายๆ ...

          นี่เป็นลักษณะเฉพาะของมะละกา สายลมตะวันออกกับตะวันตกนำพาเรือสินค้า ผู้คน  วิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมารวมไว้ที่นี่



              

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มะละกา ดินแดนแห่งสายลมสองทิศบรรจบกัน อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15:00:13 3,193 อ่าน
TOP