วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร




          "วัดโพธิ์" หรือนามทางราชการว่า "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร" เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา "วัดโพธาราม" วัดเก่า ที่เมืองบางกอก ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นวัดหลวง ข้างพระบรมมหาราชวัง และที่ใต้พระแท่นประดิษฐาน พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถเป็นที่บรรจุ พระบรมอัฐิของพระองค์ท่านไว้ด้วย โดยพระอารามหลวงแห่งนี้มีเนื้อที่ 50 ไร่ 38 ตารางวาอยู่ด้านทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง ทิศเหนือจดถนนท้ายวังทิศตะวันออกจดถนนสนามไชย ทิศใต้จดถนนเศรษฐการ ทิศตะวันตกจดถนนมหาราชมีถนนเชตุพน ขนาบด้วยกำแพงสูงสีขาวแบ่งเขตพุทธาวาส และสังฆาวาสชัดเจน

          มีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกไว้ว่า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาพระบรมมหาราชวังแล้วทรงพระราชดำริว่า มีวัดเก่าขนาบพระบรมมหาราชวัง 2 วัด ด้านเหนือ คือวัดสลัก (วัดมหาธาตุฯ) ด้านใต้คือ วัดโพธาราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ขุนนางเจ้าทรงกรม ช่างสิบหมู่อำนวยการบูรณะปฏิสังขรณ์ เริ่มเมื่อปีพ.ศ. 2331 ใช้เวลา 7 ปี 5 เดือน 28 วัน จึงแล้วเสร็จ และโปรดฯ ให้มีการฉลองเมื่อ 2344 พระราชทานนามใหม่ ว่า "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ" ต่อมารัชกาลที่ 4 ได้โปรดฯ ให้เปลี่ยนท้าย นามวัดเป็น "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม"

          ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่นานถึง 16 ปี 7 เดือน ขยายเขตพระอารามด้านใต้และตะวันตก คือ ส่วนที่เป็นพระวิหารพระพุทธไสยาสสวน มิสกวัน สถาปนาขึ้นใหม่พระมณฑป ศาลาการเปรียญ และสระจระเข้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่เป็นโบราณสถาน ในพระอารามหลวงที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ แม้การบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุด เมื่อฉลองกรุงเทพฯ 200 ปี พ.ศ. 2525 เป็นเพียงซ่อมสร้างของเก่าให้ดีขึ้น มิได้สร้างเสริมสิ่งใดๆ

          ทั้งนี้ เนื่องจากสมัยรัชกาลที่ 3 ยังไม่มีการพิมพ์หนังสือการศึกษา ที่มีเรียนก็อยู่ตามวัด ทำให้คนทั่วไปไม่มีโอกาสได้เรียน ด้วยทรงมีพระราชประสงค์จะให้มีแหล่งเล่าเรียนความรู้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมและเลือกสรรตำรับตำรามาจารึกที่แผ่นศิลาไว้โดยรอบวัดเพื่อเผยแพร่แก่ประชาชน วัดพระเชตุพนฯ จึงได้ชื่อว่าเป็น "มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย"





          นอกจากนี้ที่วัดโพธิ์ยังมี "พระพุทธไสยาสน์" (พระนอนวัดโพธิ์) องค์ใหญ่ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ฝีมือช่างสิบหมู่ของหลวง ก่ออิฐถือปูนปิดทองทั้งองค์ ยาว 46 เมตร สูง 15 เมตร ที่ฝ่าพระบาทแต่ละข้างมีลวดลายประดับมุกเป็นภาพมงคล 108 ประการ อันเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของมหาบุรุษตามคติของอินเดีย ต่อมาได้ลงรักปิดทองใหม่ทั้งองค์, มี "พระพุทธเทวปฏิมากร" ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่นพระอุโบสถภายในองค์พระบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ฐานชุกชีประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคารรัชกาลที่ 1 และ "พระเจดีย์" อาจเรียกได้ว่าเป็นอาณาจักรแห่งเจดีย์ มี 99 องค์ ซึ่งเป็นเจดีย์ที่มีความพิเศษคือ "พระมหาเจดีย์ 4 องค์"

          อย่างไรก็ตาม นอกจากอาคาร พระวิหาร พระเจดีย์ต่างๆ แล้ววัดโพธิ์ยังมีสิ่งน่าสนใจอีกหลายอย่าง เช่น "รูปปั้นฤๅษีดัดตน" โดยเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม พระองค์ทรงได้รวบรวมการแพทย์แผนโบราณและ ศิลปวิทยาการของกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ รวมทั้งได้ปั้นรูปฤๅษีดัดตนในท่าต่างๆ ไว้ด้วย ซึ่งจำนวนของรูปปั้นฤๅษีดัดตนที่สร้างในรัชกาลที่ 1 นั้น ไม่ทราบจำนวนแน่ชัด ต่อมาในรัชกาลที่ 3 ได้หล่อรูปปั้นฤๅษีดัดตนในท่าต่าง ๆ รวม 80 ท่า โดยใช้สังกะสีและดีบุก แทนการใช้ดินที่เสื่อมสภาพได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีการแต่งโครงสี่สุภาพเพื่อบรรยายสรรพคุณท่าต่างของฤๅษีดัดตน ทั้ง 80 บทด้วย เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายรูปปั้น รวมทั้งมีการลักลอบเอารูปปั้นไปขายบางส่วน ดังนั้น รูปปั้นที่อยู่ภายในวัดโพธิ์จึงมีเหลือเพียง 24 ท่าเท่านั้น

          "ยักษ์วัดโพธิ์" ที่ตั้งอยู่ที่ซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป โดยมีสีกายเป็นสีแดงและสีเขียว ลักษณะคล้ายยักษ์ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมักมีผู้เข้าใจผิดว่าตุ๊กตาสลักหินรูปจีน หรือ "ลั่นถัน" นายทวารบาลที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าประตูวัดนั้นคือ ยักษ์วัดโพธิ์ นอกจากนี้ ยังมีตำนานเกี่ยวกับยักษ์วัดโพธิ์และยักษ์วัดแจ้งซึ่งทำให้เกิดท่าเตียนใน ปัจจุบัน นั่นคือ ยักษ์วัดโพธิ์ซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดโพธิ์และยักษ์วัดแจ้งซึ่งทำหน้าที่ดูแล วัดแจ้งนั้น ทั้ง 2 ตนเป็นเพื่อนรักกัน วันหนึ่งยักษ์วัดแจ้งไปขอยืมเงินจากยักษ์วัดโพธิ์ เมื่อถึงกำหนดส่งเงินคืนยักษ์วัดโพธิ์กลับไม่ยอมจ่าย ดังนั้น ยักษ์ทั้ง 2 ตนจึงเกิดทะเลาะกัน แต่เพราะรูปร่างที่ใหญ่โตและพละกำลังที่มหาศาลของยักษ์ทั้ง 2 ตน เมื่อเกิดต่อสู้กันจึงทำให้บริเวณนั้นราบเรียบโล่งเตียนไปหมด เมื่อพระอิศวรทราบเรื่องนี้ จึงได้ลงโทษให้ยักษ์วัดโพธิ์ยืนเฝ้าพระอุโบสถวัดโพธิ์ และยักษ์วัดแจ้งยืนเฝ้าวิหารวัดแจ้งตั้งแต่นั้นมา

เวลาทำการ

          บริเวณวัด : ทุกวัน 8.00-17.00 น.
          โบสถ์: ทุกวัน 8.00-17.00 น.
          ค่าธรรมเนียม-ค่าเข้าชม: ชาวต่างชาติ 50 บาท

สถานที่ตั้ง

          2 ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 โทรศัพท์: (662) 222-5910, 226-2942, 225-9595 แฟกซ์: (662) 225-9779




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
และ watpho.com
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร อัปเดตล่าสุด 14 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 18:25:58 39,573 อ่าน
TOP
x close