เที่ยว ตรัง ให้ตราตรึง (คู่หูเดินทาง)
จังหวัดตรังเป็นจังหวัดชายทะเลฝั่งตะวันตก ที่ในอดีตพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี(คอซิมบี้ ณ ระนอง) ได้ทูลเกล้าฯ ขอจัดตั้งขึ้นเป็นเมืองในรัชสมัยของพระบาสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยท่านได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรังเป็นคนแรก
จังหวัดตรังมีพื้นที่ทั้งหมด 4,941 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 10 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอกันตัง อำเภอห้วยยอด อำเภอย่านตาขาว อำเภอปะเหลียน อำเภอสิเกา อำเภอวังวิเศษ อำเภอนาโยง อำเภอรัษฎา และอำเภอหาดสำราญ มีหมู่เกาะในทะเลอันดามันที่อยู่ในการปกครองกว่า 46 เกาะ ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยว คือ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนพฤษภาคมของทุกปี
ปัจจุบันนอกจากเสน่ห์ในเรื่องความเก่าแก่ของเมืองตรังแล้ว เมืองตรังยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามมากมายไม่แพ้เมืองชายฝั่งอันดามันอื่นใด ทั้งแหล่งกิน แหล่งช้อปต่างๆ ก็ล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดแม้แต่รายการเดียว โดยเฉพาะในช่วงอากาศร้อนๆ แบบนี้ ‘ความตราตรึงของเมืองตรัง’ คงจะทำให้ผู้อ่านคู่หูเดินทางได้ผ่อนคลายหายร้อนกันได้บ้างไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน
จุดหมายแรกเมื่อมาเยือนยังเมืองตรัง ก็คือการไปกราบสักการะ ศาลหลักเมือง เพื่อเป็นสิริมงคลเสียก่อน ศาลหลักเมืองตรังปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลตวนธานี อำเภอกันตัง สถานที่ตั้งตรงจุดนี้อยู่บริเวณที่ตั้งเมืองเก่า เป็นศาลหลักเมืองเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีวิญญาณอภิบาลเป็นสตรีจึงเรียกกันว่าศาลเจ้าแม่หลักเมือง เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวตรังทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการมีบุตรยากมักจะมาอธิษฐานขอกับบุตรกับเจ้าแม่หลักเมืองเสมอ เมื่อสักการะเจ้าแม่หลักเมืองกันเรียบร้อยแล้ว
จุดต่อไปซึ่งไม่ไกลกันนักที่ควรแวะไปชมก็คือ สถานีรถไฟกันตัง ซึ่งตั้งอยู่บนถนนหน้าค่าย ตำบลกันตัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นสถานีรถไฟสุดทางของทางรถไฟสายใต้ ฝั่งทะเลอันดามัน ตัวสถานีเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวทรงปั้นหยาทาสีเหลืองมัสตาร์ดสลับน้ำตาล ประดับมุมเสาด้วยลวดลายไม้ฉลุ ประตูบานเฟี้ยมแบบเก่า คงเอกลักษณ์เดิมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6
ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากรแล้ว แต่ยังคงใช้งานอยู่ โดยมีรถไฟสายกรุงเทพฯ-กันตัง เดินรถทุกวัน แม้ว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาที่นี่จะไม่ได้เดินทางด้วยรถไฟก็ตาม แต่สถานีรถไฟแห่งนี้ถือเป็นแลนด์มาร์คแห่งเมืองกันตังที่ทุกคนต้องมาถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกในการมาเยือนกันทั้งนั้น
จากนั้นก็มาเยี่ยมชมบ้านบุคคลสำคัญของเมืองตรังกันต่อ คือ พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ตั้งอยู่ห่างจากเทศบาลเมืองกันตังประมาณ 200 เมตร เป็นจวนเก่าเจ้าเมืองตรัง ผู้มีคุณูปการนำความเจริญมาสู่เมืองตรังในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการนำต้นยางพาราเข้ามาปลูกในเมืองไทยเป็นครั้งแรก สร้างอาชีพชาวสวนยางให้แก่พี่น้องชาวใต้ ส่งผลให้เศรษฐกิจการส่งออกของไทยดีขึ้นจนทุกวันนี้ ปัจจุบันจวนแห่งนี้ได้รับการดูแลรักษาตกแต่งให้คงไว้ซึ่งลักษณะเดิมเสมือนเมื่อครั้งที่ท่านพระยารัษฎาฯ ยังมีชีวิตอยู่ เป็นที่จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าตัวจริงของท่านพระยาฯ พร้อมเครื่องเรือนเครื่องใช้ของท่านในห้องต่าง ๆ มีภาพถ่ายครอบครัวของท่าน และภาพเหตุการณ์สำคัญของเมืองตรังและหัวเมืองปักษ์ใต้ให้ศึกษาประวัติศาตร์ได้เป็นอย่างดี
เปิดให้เข้าชมทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 8.00 -16.30 น. หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะสามารถติดต่อผู้บรรยายการนำชมล่วงหน้าได้ที่ โทร. 075-274151-8
เมื่อชมพิพิธภัณฑ์ฯ เรียบร้อยแล้วให้เลี้ยวขวามุ่งหน้าเข้าเมืองตรัง เราจะผ่านสิ่งสำคัญอีกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับท่านเจ้าเมือง คือ ต้นยางพาราต้นแรกของเมืองไทย นั่นเอง อยู่บริเวณริมถนน 403 หน้าสหกรณ์การเกษตรกันตัง ยางต้นนี้เป็นต้นยางรุ่นแรกที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง ได้นำจากมาเลเซียเข้ามาปลูกที่อำเภอกันตัง เมื่อ พ.ศ.2442 ยางต้นนี้ก็ยังคงมีชีวิตอยู่เป็นอนุสรณ์ให้เราได้รำลึกในพระคุณของท่านพระยารัษฎาฯ จวบจนปีนี้ 2555 ยางต้นนี้ก็มีอายุได้ 113 ปีแล้ว
มาเที่ยวตรังอีกหนึ่งกิจกรรมที่ห้ามพลาดคือ การไปดำน้ำดูโลกใต้ท้องทะเลตามหมู่เกาะต่างๆ ในท้องทะเลตรัง มีให้เลือกทั้งแบบสปีดโบ๊ท เรือหางยาว หรือเรือนำเที่ยวแบบเป็นกรุ๊ปรวม เลือกได้ตามปัจจัยในกระเป๋ โดยสามารถเลือกได้ว่าอยากจะไปเที่ยวที่เกาะไหนบ้างตามโปรมแกรมที่เรือนำเที่ยวมีไว้ หรืออาจจะเช่าเรือไปเที่ยวต่างหากก็ได้เฉพาะที่ก็ได้ ครั้งนี้เรามาลงเรือที่ ท่าเรือปากเมง ซึ่งเป็นท่าเรือสำหรับเดินทางไปตามหมู่เกาะต่างในทะเลอันดามัน เช่น เกาะไหง เกาะเชือก เกาะม้า เกาะกระดาน เกาะมุก เป็นต้น
เกาะแรกที่เราจะไปดำน้ำกัน คือ เกาะเชือก และ เกาะม้า ซึ่งอยู่ห่างจากท่าเรือปากเมงประมาณ 12 กิโลเมตร ทั้งเกาะเชือกและเกาะม้านี้ มีลักษณะเป็นภูผากลางทะเล ไม่มีชายหาดให้ขึ้นไปบนเกาะได้ แต่ความพิเศษของเกาะแห่งนี้ก็คือ เป็นแหล่งปะการังน้ำตื้นที่สมบูรณ์สวยงาม จุดนี้เป็นจุดที่มีกระแสน้ำเชี่ยว การดำน้ำดูปะการังจึงต้องมีเชือกให้คอยเกาะไว้เพื่อป้องกันกระแสน้ำพัดออกไปไกลจากตัวเรือจนอาจเป็นอันตรายได้
อีกเกาะที่มีที่พักให้บริการคือ เกาะไหง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตรอยต่อของจังหวัดกระบี่และตรัง แต่ด้วยการเดินทางจากจังหวัดตรังจะสะดวกสบายใกล้กว่า จึงจัดให้เป็นกลุ่มสถานที่ท่องเที่ยวในเขตทะเลตรัง เกาะไหงเป็นเกาะที่มีหาดทรายสีขาวสะอาดทอดยาวตลอดแนวฝั่งตะวันออก อยู่ในมุมซี่งเป็นแหล่งกำบังคลื่นลมจากมหาสมุทรได้ดี จึงเป็นที่เหมาะแก่การเล่นน้ำทะเลเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังมีท่าเรือระดับมาตรฐานในโซนทะเลอันดามันใต้ ทำให้จากที่นี่คุณสามารถเดินทางไปที่อื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย เกาะไหงจึงเป็นศูนย์กลางของการเดินเรือระหว่างภูเก็ต, เกาะพีพี, เกาะลันตา, และเกาะทางใต้อื่น ๆ เช่น เกาะมุก, เกาะกระดาน, เกาะลิบง, เกาะหลีเป๊ะ แม้กระทั่งเกาะลังกาวี ของประเทศมาเลเซียอีกด้วย
จากเกาะไหงก็มาถึงไฮไลท์ของการท่องเที่ยวทะเลตรังกันแล้ว เกาะมุก และ ถ้ำมรกต เกาะมุกนี้เป็นเกาะใหญ่เกาะหนึ่งในน่านน้ำตรัง ทางด้านตะวันออกของเกาะมีชุมชนบ้านเกาะมุก และท่าเทียบเรือเข้าหมู่บ้าน มีที่พักให้บริการ ส่วนอีกด้านมีลักษณะโค้งเป็นอ่าวกำบังลมได้ดี เรียกว่า อ่าวพังกา ชายทะเลทั้งสองด้านมีหาดทรายขาวสะอาด น้ำใส เหมาะที่จะเล่นน้ำได้ ส่วนทางด้านทิศตะวันตกของเกาะมีลักษณะเป็นโขดผาสูงตระหง่าน และได้ซุกซ่อน ถ้ำมรกต หรือถ้ำน้ำ ซึ่งมีความงดงามตระการตาไว้อย่างมิดชิด
ถ้ำมรกรตนี้จะเข้าออกได้เฉพาะช่วงน้ำลงเท่านั้น โดยปากถ้ำเป็นเพียงโพรงเล็กๆ สูงพอให้เรือพายลอด หรือว่ายน้ำลอยคอเข้าไปได้เท่านั้น พ้นปากถ้ำเข้าไปเป็นเส้นทางคดโค้ง ระยะทางประมาณ 80 เมตร บางช่วงมืด บางช่วงมีช่องให้แสงจากเบื้องบนลอดผ่านเข้ามากระทบกับน้ำใสในถ้ำให้แสงสะท้อนออกมาเป็นสีเขียวมรกตสวยงามประทับใจ เมื่อพ้นจากถ้ำน้ำนี้ออกมาสู่อีกด้านหนึ่งจะพบว่าเป็นลากูน น้ำเขียวใสสะอาดให้เล่นน้ำ มีหาดทรายขาวสะอาดโอบล้อมด้วยหน้าผาสูงรอบด้าน ใช้เวลาเดินทางจากหาดปากเมงราวๆ 40 นาที
เมื่อชมความงามของท้องทะเลตรังกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาเดินทางกลับเข้าฝั่งประมาณเวลา 16.00 – 17.00 น. แล้วแต่การบริหารเวลาของเรือแต่ละลำ เมื่อเรามมุ่งหน้าตรงออกทางหาดปากเมงซึ่งห่างจากท่าเรือมาประมาณ 1 กิโลเมตรกว่า ๆ เราก็จะได้พบเห็นภาพบรรยากาศที่งดงาม ภาพพระอาทิตย์ที่ค่อยๆ อัสดงระหว่างภูเขา เกาะแก่งน้อยใหญ่ที่สลับกันไปมา ท่ามกลางท้องทะเล ทำให้เราพบว่าจุดนี้เป็นจุดชมวิวชั้นเลิศจุดหนึ่งของเมืองไทยเลยทีเดียว
จากนั้นมุ่งหน้าสู่ตัวเมืองจังหวัดตรัง อาบน้ำอาบท่ากันเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ต่อกันด้วยกิจกรรมโดนใจนักช้อปนักชิมที่ ถนนคนเดิน หน้าสถานีรถไฟจังหวัดตรัง ที่นี่เราจะได้เห็นวิถีชีวิตชาวตรัง ชิมขนมพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง สินค้าที่ระลึก และงานฝีมือ บางทีท่านอาจจะได้ชมเด็กๆ แสดงดนตรีเปิดหมวก ร้องเล่นเต้นรำทำเพลง เป็นการสัมผัสสีสันยามค่ำคืนอีกมุมหนึ่งของเมืองตรัง เปิดเฉพาะศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เวลา 17.30-22.00 น. เท่านั้น
จากจุดนี้มุ่งหน้าตรงขึ้นมาอีก 2 แยกไฟแดงเราก็จะได้พบกับสถาปัตยกรรมอันเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของเมืองตรังไปแล้ว นั่นคือ หอนาฬิกา ทรงสี่เหลี่ยมแนวตั้ง มีอายุกว่า 50 ปีมาแล้ว มีการติดไฟประดับสลับสีกันทุกๆ 10 วินาที สร้างความสวยงามแปลกตาให้กับนักท่องเที่ยวได้มาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันอีกจุดหนึ่ง
ก่อนโบกมืออำลาจากเมืองตรังสิ่งสำคัญที่เราควรทำไม่ว่าจะก่อนหรือหลังห้ามลืมเป็นอันขาด นั่นคือ การมากราบสักการะ อนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ซึ่งตั้งอยู่ที่สวนสาธารณะเขารัง ในเขตอำเภอเมือง อนุเสาวรีย์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติให้กับพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ปูชนียบุคคลผู้สร้างสรรค์คุณประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กับจังหวัดตรัง และพี่น้องชาวใต้มาจนถึงทุกวันนี้ บนเขารังแห่งนี้ยังเป็นจุดชมทัศนียภาพที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง มีมุมสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ มุมออกกำลังกาย และสันทนาการอีกมากมาย
ความจริงเมืองตรังยังที่สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และไม่ควรพลาดอีกมากมาย เช่น พระนอนทรงเครื่องโนราวัดภูเขาทอง น้ำตกกะช่อง หาดหยงหลิง ถ้ำเจ้าไหม เกาะลิบง หาดเจ้าไหม เกาะเหลาเหลียง ถ้ำเลเขากอบ ฯลฯ เป็นต้น เราจึงขอฝากความตรึงตราในการมาเที่ยวเมืองตรังในภาคแรกไว้เพียงเท่านี้ก่อนพอเป็นน้ำจิ้ม หากโอกาสหน้าเราได้มาเยือนแดนดินถิ่นนี้อีกครั้ง เราสัญญาว่าเราจะนำความติดตราตรึงใจของจังหวัดตรัง ในมุมมองใหม่ ๆ มานำเสนอให้ท่านอย่างยากที่จะลืมกันเลยทีเดียว...สวัสดีเมืองตรัง
TIPS การเดินทาง
รถยนต์ส่วนตัว
1. เส้นทางที่ 1 ทางหลวงหมายเลข 4 กรุงเทพฯ – ชุมพร จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านสุราษฎร์ฯ – ทุ่งสง – ห้วยยอด – ตรัง ระยะทาง 828 กิโลเมตร
2. เส้นทางที่ 2 ทางหลวงหายเลข 4 กรุงเทพฯ – ชุมพร จากนั้นนั้นผ่านแยกเข้าระนอง – พังงา – กระบี่ – ตรัง ระยะทาง 1,020 กิโลเมตร
รถโดยสารประจำทาง
มีรถออกจากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ทุกวัน สอบถามรายละเอียดและตารางเดินรถได้ที่ Call Center โทร.1490 เรียก บขส.
ขอบคุณ
- การท่องเที่ยวสำนักงานตรัง โทร. 0-7521-5867, 0-7521-1058
- บริษัทนำเที่ยว จาระวีทัวร์ โทร. 0-7527-4046
- โรงแรมศรีตรัง โทร. 0-7521-8122 www.sritranghotel.com
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก