แก้ปีชง ณ วัดทิพยวารีวิหาร

วัดทิพยวารีวิหาร

วัดทิพยวารีวิหาร

วัดทิพยวารีวิหาร

วัดทิพยวารีวิหาร


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ laser

          ปีชงของแต่ละปีจะแตกต่างกัน คนจึงนิยมไปไหว้ "องค์ไท้ส่วย" เพื่อให้ท่านช่วยปัดเป่าเคราะห์ภัย บังเกิดแต่ความเป็นสิริมงคลมาสู่ตัวเจ้าชะตาและครอบครัว ซึ่งสถานที่ที่ผู้คนต่างหลั่งไหลไปทำพิธีแก้ชง คือ วัดเล่งเน่ยยี่ มังกรกมลาวาส แต่นอกจากวัดเล่งเน่ยยี่ มังกรกมลาวาส แล้ว วัดทิพยวารีวิหาร หรือ วัดกัมโล่วยี่ ตั้งอยู่บนถนนตรีเพชร กรุงเทพฯ ก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ผู้เกิดปีชง รวมถึงประชาชนทั่วไปก็ต่างนิยมเดินทางไปทำพิธีแก้ชง และขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลกัน

วัดทิพยวารีวิหาร

วัดทิพยวารีวิหาร

          โดยเฉพาะคนที่เกิดในปีขาล ก็ควรจะไปไหว้ขอพร เทพเจ้าไท้เอี๊ยง ณ วัดทิพยวารีวิหาร, คนที่เกิดในปีมะโรง ก็ควรไปไหว้ขอพร องค์ไท้อิม ที่วัดทิพยวารีวิหาร, คนที่เกิดในปีมะเมีย ควรไปไหว้ขอพร หมออูโต๋ว ที่วัดทิพยวารีวิหาร, คนที่เกิดในปีมะแม ก็ควรไปไหว้ขอพร หมออูโต๋ว ที่วัดทิพยวารีวิหาร และคนที่เกิดในปีกุน ก็ควรไปไหว้ขอพร องค์ซำกวง หรือ เทพ 3 ตา ที่วัดทิพยวารีวิหารด้วยเช่นกัน

วัดทิพยวารีวิหาร

          ทั้งนี้ วัดกัมโล่วยี่ หรือ วัดทิพยวารีวิหาร สร้างในสมัยกรุงธนบุรีในปี พ.ศ. 2319 รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระราชทานที่ดินฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นที่อาศัย ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ องค์เชียงสือนัดดาเจ้าเมืองเว้ ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารและได้ลักลอบหนีกลับเมือง กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงแคลงพระทัยชาวญวนจึงได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กลุ่มชนชาวญวนซึ่งมีอยู่มากในบริเวณนั้น ย้ายออกไปอาศัยอยู่ที่อื่น เพื่อให้ห่างจากพระนคร ชุมชนบริเวณนี้ซึ่งเคยเป็นที่อาศัยของคนไทย คนจีน และคนญวน เชื้อสายพุทธจึงอยู่ในความเงียบสงบ วัดทิพยวารีวิหาร ในขณะนั้นจึงมีสภาพคล้ายรกร้าง ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาเลยอีกนานหลายปี

          จนถึงประมาณปี พ.ศ. 2439 พระอาจารย์ไหซัน พระภิกษุจีนชาวมณฑลหูหนาน ได้จาริกมาจำพรรษาที่วัดทิพยวารีวิหารแห่งนี้ ท่านจึงได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ และได้ชักนำคนไทย - คนจีนในเขตนั้น อันมีนายเช็งเต็ก แซ่เจี่ย และนางซิ่วออม แซ่ตัน สองสามีภรรยาคหบดีผู้กว้างขวางในกลุ่มชาวจีน ในย่านตลาดมิ่งเมืองเป็นแกนนำ ต่อมาทายาทของครอบครัวท่านทั้งสองนี้ ได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่6 ว่า "เศวตมาลย์"

วัดทิพยวารีวิหาร

          พระอาจารย์และประชาชนในครั้งนั้น ได้ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดใหม่ทั้งวัด จนวัดอยู่ในสภาพสมบูรณ์สวยงาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จึงได้ทรงพระราชทานสมณศักดิ์ให้อาจารย์ไหซัน เป็นหลวงจีนธรรมรสจีนศาสน์ ปลัดซ้ายจีนนิกายดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส และได้ทรงพระราชทานนามวัดกัมโล่วยี่ให้ใหม่ว่า "วัดทิพยวารีวิหาร" ตรงกับ พ.ศ. 2452 เหตุที่ให้ชื่อวัดเป็นเช่นนี้ เพราะที่วัดนี้มี "บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์" หรือ "บ่อน้ำทิพย์" อยู่นั่นเอง ตั้งแต่นั้นมาคนทั้งหลายจึงเรียก "วัดกัมโล่วยี่" หรือวัดน้ำทิพย์นี้เป็น "วัดทิพยวารีวิหาร" อันเป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายจนถึงปัจจุบัน

วัดทิพยวารีวิหาร

          สำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดทิพยวารีวิหาร ซึ่งผู้คนนิยมไปกราบไหว้ ได้แก่ หมออูโต๋ว, เทพปรองดองหรือเทพแห่งความรัก, เทพขุนพลเอี่ยยิ่ม ที่มีดวงตายื่นออกมา, องค์ซำกวง หรือเทพ 3 ตา, พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร, หลวงจีนคณาณัติจีนพรต (เย็นบุญ) อดีตเจ้าอาวาสวัดทิพยวารีวิหาร และเทพมังกรเขียว หรือ แชเล่งเอี๊ย เทพารักษ์ผู้รักษาบ่อน้ำทิพย์ประจำวัดทิพยวารีวิหาร โดยศาลเจ้าที่วัดแห่งนี้เป็นศาลเจ้าเทพมังกรเขียว ที่คนจีนแต้จิ๋วนับถือกันมากที่สุดแห่งหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นที่เคารพสักการะในหมู่ชาวจีนมาช้านาน เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของท่านมักอวยพรให้ผู้ศรัทธา ได้ผลสมความปรารถนา ด้านการคุ้มครองดวงชะตา เสริมพลังบารมี และโชคลาภ

          อย่างไรก็ตาม ท่านที่สนใจจะไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายใน วัดทิพยวารีวิหาร หรือ วัดกัมโล่วยี่ สามารถเดินทางไปได้ที่ วัดทิพยวารีวิหาร เลขที่ 119 ซอยทิพยวารี ถนนตรีเพชร เขตพระนคร (บ้านหม้อ) กรุงเทพฯ 10200 โทรศัพท์ 0-2222-5988



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
     และ เฟซบุ๊ก Thanapat Property           


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แก้ปีชง ณ วัดทิพยวารีวิหาร อัปเดตล่าสุด 18 มีนาคม 2567 เวลา 13:48:39 26,904 อ่าน
TOP
x close