เลียบข้างทาง เดินเล่นถนนข้าวสาร

ถนนข้าวสาร
ถนนข้าวสาร

สรุปข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ถนนข้าวสาร (อังกฤษ: Thanon Khao San หรือ Khao San Road) ถือเป็นศูนย์กลางของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติก็ว่าได้ เพราะถ้าใครที่ชื่นชอบการเดินทาง ถนนข้าวสาร เป็นแหล่งที่พักราคาประหยัดยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเป็นจุดนัดพบนักเดินทางทั่วโลกที่มาเที่ยวกรุงเทพฯ และเป็นอีก สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย อีกแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวต้องแวะเวียนมาให้ได้ เพราะตลอดระยะทาง 500 เมตร บนถนนข้าวสาร เรียงรายด้วยเกสท์เฮ้าส์ ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ร้านเสื้อผ้า และบริการท่องเที่ยวต่างๆ มากมาย

          ถนนข้าวสาร เป็นถนนในท้องที่แขวงตลาดยอด เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เชื่อมระหว่างถนนตะนาว และถนนจักรพงษ์ ซึ่งเป็นถนนในย่านบางลำพูและแหล่งค้าขายที่สำคัญในเกาะรัตนโกสินทร์ สมัยก่อน ถนนข้าวสาร เป็นเพียงแค่ถนนเล็กๆ ที่คนไม่พลุกพล่าน มีเกสต์เฮาส์จำนวนไม่มาก และสินค้าราคาถูกเท่านั้น

          ปัจจุบันถนนข้าวสารเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งมาจากหลายประเทศทั่วโลก ตามถนนเต็มไปด้วยสินค้าต่างๆ มากมายในราคาถูก ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้า กางเกง แผ่นเพลง แผ่นหนัง นาฬิกา รวมไปถึงร้านอาหาร และบริการต่างๆ ครบวงจร ทั้ง บริการทำผม ทำเล็บ โทรศัพท์ทางไกล โทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ และร้านอินเทอร์เน็ต หาได้ที่ ถนนข้าวสาร หรือถ้านักท่องเที่ยวอยากนั่งชมวิวสองข้างทางเพลินๆ ก็ยังสามารถแวะหาร้านกาแฟหรือบาร์เบียร์ เพื่อนั่งจิบนั่งคุยกัน

ประวัติ…

          ถนนข้าวสาร เป็นถนนที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2435 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกรมโยธาธิการได้ กราบบังคมทูลให้ตัดถนนตรอกข้าวสาร เริ่มตั้งแต่ถนนหน้าวัดชนะสงคราม (ซึ่งได้นามว่าถนนชนะสงคราม) ตัดมาทางตะวันออกตามตรอกข้าวสารแล้วสร้างสะพานข้ามคลองมาบรรจบกับถนนเฟื่องนครตอนหน้าสวนหลวงตึกดิน พระราชทานนามถนนตามเดิมว่า "ถนนข้าวสาร"

          ถนนข้าวสาร เดิมเป็นย่านเก่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นตรอกที่ขายข้าวสาร เป็นแหล่งค้าขายข้าวสารที่ใหญ่ที่สุดของเขตพระนคร ซึ่งข้าวสารจำนวนมากจะถูกขนส่งมาจากฉางข้าวหลวง สะพานช้างโรงสี ริมคลองคูเมืองเดิม หรือ ปัจจุบันก็คือ คลองหลอด เลียบมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นที่ท่าเรือบางลำพู เพื่อนำข้าวมาขายให้แก่ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ นอกจากนี้ก็ยังขายถ่านหุงข้าว ของชำ โดยถัดออกไป 1 ถนน จะเป็นคลองที่เชื่อมต่อมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา มีการค้าขายข้าวสารมากมายจึงเรียกว่าตรอกข้าวสาร (เพราะขนาดเล็ก) ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นถนนข้าวสาร หลังจากนั้นก็เริ่มเกิดชุมชนขึ้น และขยับขยายต่อไป ต่อมาเริ่มมีร้านขายของมากขึ้น เช่นร้านขายของเล่น อย่างลูกข่าง ร้านขายก๋วยเตี๋ยวเรือ
 
          ต่อมาความเป็นอยู่ของชุมชนแห่งนี้เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาในช่วงปี พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานครครบรอบ 200 ปี ได้เข้ามาเช่าห้องพักอาศัยเพื่อเที่ยวชมเมืองหลวงของไทยในช่วงเทศกาลสำคัญนี้ และเริ่มมีฝรั่งเข้ามามาถ่ายภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด โดยมีทีมงานกองถ่ายมาอยู่กันจำนวนมาก ที่มาเช่าที่ เช่าเกสเฮาส์ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มี ก็ต้องเช่าจากบ้านที่อยู่แถวนั้นซึ่งใช้แบ่งเช่า จึงเป็นที่มาของเกสเฮาส์ เกสต์เฮ้าส์ของชาวต่างชาติเริ่มมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2528-2529 ระยะหลังเริ่มมีคนเข้ามาเรื่อยๆ จนกลายเป็นศูนย์รวมของพวกแบ็คแพ็กเกอร์ที่มาท่องเที่ยวประเทศไทย จนเป็นที่โด่งดังในที่สุด ก่อนที่จะมาปรับเปลี่ยนรูปแบบอีกทีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลายเป็นย่านบันเทิงยามราตรีที่สำคัญของกรุงเทพฯ
สงกรานต์บนถนนข้าวสาร


ถนนข้าวสาร
ถนนข้าวสาร

          ถนนข้าวสารถือเป็นถนนที่ได้รับความนิยมในการเล่นน้ำวันสงกรานต์ ที่คราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลก การเล่นสงกรานต์บนถนนข้าวสารเริ่มเมื่อประมาณ พ.ศ. 2533 เนื่องจากที่ถนนข้าวสารนี้เป็นแหล่งที่พักอาศัยชั่วคราว หรือที่เรียกว่าเกสต์เฮ้าส์ ดังนั้นประเพณีการเล่นน้ำสงกรานต์ของคนไทยจึงถูกใจนักท่องเที่ยวชาวต่าง ประเทศที่มาพักในถนนข้าวสารเป็นอย่างมาก โดยการเล่นสงกรานต์ถนนข้าวสารในช่วงแรกๆ ก็เป็นแต่เพียงเล่นสาดน้ำกันธรรมดาเท่านั้น

          แต่เทศกาลสงกรานต์นี้มาโด่งดังในช่วง พ.ศ. 2542-2543 โดยนอกจากการเล่นสาดน้ำเป็นปกติแล้ว ก็ยังมีทั้งการจัดกิจกรรม มีเวทีการแสดง มีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุน จากแต่ก่อนที่คนเล่นต้องเตรียมน้ำเตรียมแป้งมาเล่นกันเอง และมีน้ำเตรียมไว้ให้เล่นตามจุดต่างๆ ด้วย

การเดินทาง

          คุณสามารถเดินทางไปถนนข้าวสารได้ทั้งรถยนต์ รถแท็กซี่ และรถโดยสารประจำทางสายที่ 3, 6, 30, 33, 64 และ 65

แนะนำการท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรมเพียบ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
        
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เลียบข้างทาง เดินเล่นถนนข้าวสาร อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14:55:19 16,717 อ่าน
TOP
x close