x close

ฝ่าหมอกฝนบนถนนลอยฟ้า หนทางไกลไป ทีลอซู



ฝ่าหมอกฝนบนถนนลอยฟ้า หนทางไกลไป "ทีลอซู" (เดลินิวส์)

          เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จ.ตาก ประกาศปิดเส้นทางรถยนต์เข้าน้ำตกทีลอซู ช่วงหน้าฝน เปิดให้รถเข้าได้เฉพาะเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน เพื่อปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นตัว อีกทั้งการเดินทางที่ลำบากจะช่วยคัดสรรนักท่องเที่ยวไปในตัว  

          วีธีการเดินทางไปยังน้ำตกใหญ่ติดอันดับ 6 ของเอเชียในช่วงหน้าฝน ใช้วิธีล่องแพยาง แล้วเดินเท้าต่อไปอีก 10 กิโลเมตร หน้าฝนเป็นอีกฤดูกาลที่เหมาะจะไปเยือน  ทีลอซู หากแต่ช่วงเวลายอดนิยมของทีลอซูคือปลายฝนต้นหนาว 

          เราเริ่มต้นไปทีลอซูจากตัวเมือง จ.ตาก ในช่วงเที่ยง ขับรถไปตามเส้นทางหมายเลข 1090 สายตาก-แม่สอด เส้นทางนี้ตัดผ่านเทือกเขาสูงชัน ระหว่างทางมีป้ายให้ผู้ขับขี่ระมัดระวังตลอด แต่มีป้ายหนึ่งเห็นแล้วสะดุดตาสะดุดใจ "ด้านซ้ายก็เหว ด้านขวาก็เหว" บนเส้นทางสายคดเคี้ยวยังเห็นจุดป้องกันความปลอดภัย ประเภทโค้งหักศอกเบรกไม่ทัน ได้ทำจุดชะลอรถด้วยการทำทางลาดทะยานขึ้นไป มีกระสอบทรายกันกระแทกรอไว้ วิธีนี้ช่วยป้องกันไม่ให้รถไถลตกถนนได้ 


          ขับอย่างระมัดระวัง มาประมาณชั่วโมงเศษก็จะลงสู่ที่ราบตัวเมืองแม่สอด เปลี่ยนมาใช้เส้นทางหมายเลข 1090 สายแม่สอด-อุ้มผาง ถนนเส้นนี้ยาว 164 กิโลเมตร มาถึงจุดนี้เตรียมตัวเดินทางไกลกันแล้วล่ะ น้ำมันต้องเต็มถัง เส้นทางชันและคดเคี้ยวใช้เวลาขับรถยาวนานถึง 4 ชั่วโมง  เส้นทางสาย แม่สอด-อุ้มผาง ได้ชื่อว่า "ถนนลอยฟ้า" เพราะต้องลัดเลาะไต่แนวเทือกเขาถนนธงชัย แม้เป็นถนนลาดยางตลอดสาย แต่แคบและชัน แถมด้วยโค้งอีก 1,419 โค้ง ซึ่งการนับโค้งนี้เริ่มนับกันในปี 2535 นายอำเภอสมัยนั้นอยากรู้ถึงจำนวนโค้ง เลือกใช้วิธีให้รถพยาบาลที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่เป็นแผ่นนับเม็ดเลือดหรืออย่างไรไม่แน่ใจเป็นเครื่องมือ ผ่านโค้งแรกหยิบแผ่นที่ 1 ไปจนถึงโค้งที่พัน ตอนนั้นนับกันหลายคน แต่มี 2 คนได้ตัวเลขเดียวกัน จนได้ข้อสรุปว่า ตัวเลข 1,419 นี้แหละคือพันโค้งของถนนสายลอยฟ้า 

          ระหว่างทางที่จะเข้าสู่เส้นทางถนนลอยฟ้าอย่างเป็นทางการ เราเห็นป้ายแนะนำให้เที่ยว "น้ำตกพาเจริญ"  ชื่อเป็นมงคลดี จากถนนเข้าไปแค่กิโลเมตรเดียวก็ถึงแล้ว อยู่ในเขตพื้นที่ของ อุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ ต.ช่องแคบ อ.พบพระ   

          น้ำตกพาเจริญเน้นแนวกว้างมากกว่าแนวสูง มีชั้นน้ำตกถึง 91 ชั้น รอบบริเวณของน้ำตกพาเจริญเต็มไปด้วยทุ่งดอกกระเจียวสีส้ม ออกจากน้ำตก คราวนี้เริ่มสู่ถนนลอยฟ้าอย่างจริงจังเสียที เริ่มต้น ตรงกิโลเมตรที่ 48 (จุดตรวจร่วมเกล้าสหมิตร) บนเส้นทางคดลดเลี้ยว สองข้างทางเต็มไปด้วยผืนป่า สีเขียวขจี ป่าผืนนี้เป็นแนวเขตของรอยต่อป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันออก เราเดินทางแบบ เรื่อยๆ มาเรียงๆ จนมาถึงที่พักรถจุดเดียวอยู่ ตรงกม.ที่ 86 เป็นที่ตั้งของศูนย์พักพิงบ้านอุ้มเปี้ยม บริเวณนี้จัดเป็นจุดหนาวเย็นทั้งปี เพราะเป็นร่องเขาพอดี ซึ่งรถสองแถวจากแม่สอดไปอุ้มผางและรถส่วนบุคคล มักแวะจิบชา กาแฟ ทำธุระส่วนตัวก่อนเดินทางไกลต่อไป 


          บ้านเรือนที่ตั้งในจุดนี้สร้างจากไม้ไผ่เรียงรายลดหลั่นกระจุกตัวอยู่ตรงเทือกเขา มองจากถนนจะเห็นว่าชุมชนนี้มีแลนด์สเปคดีทีเดียว... รถขับเคลื่อนสี่ล้อผ่านโค้งแล้วโค้งเล่า แต่คณะเราสี่คนไม่มีใครแสดงอาการแพ้ทางโค้งด้วยการคลื่นเหียน อากาศเย็นสบายยามบ่ายสลับกับสายฝนปรอยๆ สองข้างทางที่เต็มไปด้วยแนวป่าเบียดเสียดอยู่บนเทือกเขา ตลอดการเดินทาง จึงได้ยินแต่น้ำเสียงตื่นเต้น ประทับใจกับวิวทิวทัศน์มากกว่า 

          เรามาถึงอำเภออุ้มผางเกือบ 6 โมงเย็น ก่อนเข้าสู่ตัวอำเภอ แลเห็นบรรยากาศสองข้างทางคล้ายๆ กับ เมืองปาย มีบ้านไม้เรียงรายล้อมรอบไปด้วยทุ่งนาสีเขียวตลอดเส้นทาง ใกล้สู่เขตเทศบาลเห็นป้ายแนะนำที่พักบริการทัวร์นำเที่ยวไปทีลอซูเป็นระยะ 

          น้ำตกทีลอซู ส่งผลให้รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ ธุรกิจนำเที่ยว ดีวันดีคืน นับรวมแล้วบรรดาที่พักที่นี่มีกว่า 60 แห่ง ในอำเภอเล็กๆ ห่างไกลนับว่าไม่ธรรมดาทีเดียว      

          อุ้มผาง เป็นอำเภอที่ประชากรดั้งเดิมเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยง ม้ง และคนไทยภาคเหนือ คำว่า "อุ้มผาง" เพี้ยนมาจาก "อุ้มผะ" ซึ่งเป็นคำเรียกกระบอกไม้ไผ่สำหรับเก็บเอกสารเดินทางในภาษาปกากะญอ แล้วกร่อนมาเป็นคำว่า "อุ้มผาง" ทั้ังนี้ อุ้มผาง เป็นหนึ่งในแปดอำเภอที่มีพื้นที่กว้างใหญ่สุดใน ประเทศไทย คือ 2,703,362 ไร่ เดิมทีเป็นเมืองหน้าด่านขึ้นกับจังหวัดอุทัยธานี เป็นจุดตรวจชาวพม่าซึ่งเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ต่อมาในปี พ.ศ.2502 ได้ประกาศขึ้นกับจังหวัดตาก

          เที่ยวทีลอซูในหน้าฝน อย่างที่บอกต้องเตรียมพลังขาให้พรักพร้อมในเช้านั้นมีฝนพรำ ถือเป็นเหตุการณ์ปกติของอุ้มผางฤดูนี้ ดังนั้น สิ่งที่ตระเตรียมไปทีลอซูมีเสื้อกันฝน รองเท้าผ้าใบลุยน้ำได้ เพราะอาหารการกิน เต็นท์ที่พัก บริษัททัวร์ที่เราเลือกใช้บริการจัดเตรียมไว้หมดแล้ว
 



          แปดโมงเช้าเรามาถึงท่าเรือขึ้น สบอุ้มผาง ล่องเรือยางใช้เวลาราว 3 ชั่วโมงเพื่อไปขึ้นยัง ท่าทราย ซึ่งเป็นจุดเดินเท้าไปยังทีลอซู สายน้ำสีชาเย็นที่พาเรือยางไหลลิ่ว มีชื่อว่า "ลำน้ำแม่กลอง"...ป่าสองข้างลำน้ำแม่กลอง หนาทึบ บางช่วงเป็นผาชัน นี่กระมังที่เขาเรียกว่า ธรรมชาติพิสุทธิ์ คือ มากกว่าบริสุทธิ์

           ล่องแพยางสบตากับต้นไม้และสายน้ำมาราว 40 นาที ได้มาพบเจอกับ "น้ำตกทีลอจ่อ" หรือน้ำตกสายฝน มีความสูงประมาณ 80 เมตร น้ำที่ไหลมาจากหน้าผาสูงชันตกลงสู่ลำน้ำแม่กลอง ด้วยความสูงบวกกับน้ำที่มีน้อย เมื่อยามตกลงมาสายน้ำถูกสายลมพัดพาให้แตกกระจายดูคล้ายสายฝน น้ำที่พร่างพรมตลอดเวลา ส่งผลให้บริเวณน้ำตกชุ่มชื้น เกิดมอสขึ้นปกคลุมเขียวตลอดปี  

          ผ่านทีลอจ่อมาราว 10 นาทีถึง น้ำพุร้อน จุดนี้เราจอดเรือเอาเท้าลงแช่น้ำพุร้อน ถ้ามาหนาวก็ว่าเป็นจุดคลายหนาว แต่มาหน้าฝนให้น้ำพุร้อนใช้คลายเมื่อยแทน ราว 10 โมงเรามาถึงตรง ท่าผาเลือด จุดนี้ใครปวดหนักปวดเบา แวะเข้าห้องน้ำได้ หรือบางคณะแวะทานอาหารกลางวันก่อนที่จะไปถึงท่าทราย


          ถึงท่าทรายเกือบบ่ายโมงเตรียมสละเรือยางได้ เพื่อเดินเท้าราว 10 กิโลเมตร จะถึง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง หน้าฝนไม่สามารถไปและกลับทีลอซูได้ในวันเดียว ต้องพักค้างคืน นอนเต็นท์ในที่ทำการ เพราะปิดเส้นทางรถยนต์ไม่ได้เข้มงวดขนาดห้ามรถเข้า อนุโลมให้รถขนเสบียงและที่หลับที่นอนของนักท่องเที่ยวเข้าไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าได้ แต่ต้องขออนุญาตล่วงหน้า ห้ามบริษัทนำเที่ยวขนคนขึ้นไป     

          ฝนที่ตกตลอดทำให้ถนนที่รถยนต์เข้าถึงเป็นทางลูกรังมีน้ำเฉอะแฉะ บางครั้งสูงชันสลับกันไป คนไม่ชินกับการเดินขึ้นเขาอาจต้องเดินมากกว่า 1 ชั่วโมง เดินไปพักหอบไปประมาณนั้น ขณะที่ขากลับก็ต้องเดินกลับมายังจุดเดิมคือท่าทราย ล่องแพยางต่อตามน้ำไปขึ้นยังท่าแม่ละมุ้ง เพื่อนั่งรถกลับมายังตัวอำเภออุ้มผาง 

          เมื่อมาถึง เขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่าอุ้มผาง ต้องเดินเท้าเข้าสู่น้ำตกอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร เป็นทางเดินปูลาดด้วยซีเมนต์ ตลอดเส้นทางจะมีจุดให้ยืนชมน้ำตกได้ 




          ทีลอซู แสดงพลังน้ำอย่างยิ่งใหญ่ในหน้าฝน ใหญ่และแรงกว่าฤดูกาลไหน สีน้ำขุ่นเป็นสีชาเย็น เสียงน้ำตกลงมาดังกึกก้องจนน่ากลัวว่าจะถล่มลงมาเสียให้ได้ ละอองน้ำแตกกระจายซ่านกระเซ็นเต็มไปหมด ต้องแลกกันยอมให้กล้องเปียกน้ำบ้าง เพราะจุดชมน้ำตกไปอยู่ตรงไหนละอองน้ำก็ตามไปทุกที่ 

          เราอำลาอุ้มผางหลังกลับจากทีลอซูอีกวัน เลือกเดินทางเวลาเช้า เพื่อเก็บบรรยากาศเส้นทางสายลอยฟ้ากันอีกรอบ ขากลับได้อ้อยอิ่งกับม่านหมอกสีขาวได้ยาวนานกว่าขาไป จุดไหนมีป้ายจุดชมวิวมีที่จอดรถปลอดภัย ไม่รอช้าลงไปสัมผัสม่านหมอกที่มาพร้อมกับเม็ดฝนเล็กๆ

          อากาศบนถนนลอยฟ้า บางช่วงเย็นจนต้องเรียกหาแจ็กเกตมาสวม หมอกสีขาวพราวปกคลุมไปทั่ว จินตนาการว่านี่คือสวรรค์จริงๆ แถมมีถนนลอยฟ้าตัดผ่านให้รถราวิ่งขึ้นมาได้

แนะนำการท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรมเพียบ




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฝ่าหมอกฝนบนถนนลอยฟ้า หนทางไกลไป ทีลอซู อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14:48:06 1,181 อ่าน
TOP