ลำปาง...เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งจังหวัดในประเทศไทย ที่ยังคงอารยธรรมล้านนาไทยไว้ไม่เสื่อมคลาย ทั้งวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัดวาอาราม และสถาปัตยกรรมท้องถิ่น ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมที่สืบทอดมาแต่โบราณ รวมถึง "รถม้า" และ "ถ้วยชามตราไก่" อันเลื่องชื่อ เอกลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัด
แต่สถานที่ท่องเที่ยวหนึ่งที่ไม่ควรพลาดเด็ดขาด! เมื่อไปเยือนเขลางค์นคร นั่นก็คือ "วัดพระธาตุลำปางหลวง" วัดคู่บ้านคู่เมืองลำปางมาแต่โบราณ และเป็นวัดไม้ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย อีกทั้ง พระธาตุลำปางหลวง ยังเป็น พระธาตุประจำปีเกิดของคนปีฉลู ด้วยเริ่มสร้างในปีฉลูและเสร็จในปีฉลูเช่นกัน
วัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ที่ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา ตามตำนานกล่าวว่ามีมาตั้งแต่สมัย พระนางจามเทวี ในราวพุทธศตวรรษที่ 20 ตอนปลาย มีความสวยงามและอลังการด้วยศิลปะสถาปัตยกรรม ที่สร้างขึ้นในแนวกำแพงใหญ่ ซึ่งทอดยาวกั้นทุกอย่างไว้ในบริเวณวัด ส่วนบันไดด้านหน้าเป็นนาคสองชั้น หัวนาคชั้นแรกเป็นมังกรคล้ายนาค ตามคตินิยมทางเหนือ ชั้นที่สองเป็นหัวนาคหัวเดียว
เดินขึ้นไปตามบันไดนาคจนถึงประตูซุ้มโค้งหรือประตูโขง ที่ส่วนบนมีลายปูนปั้นเป็นกรองวิมาน มีนาคและหงส์ตามชั้นต่าง ๆ จนถึงยอดดูสวยงามยิ่ง ข้างบนด้านหน้าจะเป็น พระวิหารหลวง เป็นวิหารเปิดโล่งขนาดใหญ่ เป็นวัดไม้ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย งดงามด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่มากมาย ได้แก่...
พระธาตุลำปางหลวง
เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีฉลู ด้วยเริ่มสร้างในปีฉลูและเสร็จในปีฉลูเช่นกัน ฐานเป็นบัวลูกแก้ว ส่วนองค์เป็นทรงกลมแบบล้านนาภายนอกบุด้วยทองจังโก ยอดฉัตรทำด้วยทองคำ มีลายสลักดุนเป็นลวดลายประจำยามแบบต่าง ๆ ลักษณะเจดีย์แบบนี้ได้ส่งอิทธิพลต่อพระธาตุหริภุญไชย และพระบรมธาตุจอมทอง ภายในองค์พระเจดีย์บรรจุพระเกศา และพระอัฐิธาตุจากพระนลาฎข้างขวา พระศอด้านหน้าและด้านหลัง ที่รั้วทองเหลืองรอบองค์พระธาตุมีรูกระสุนปืนที่หนานทิพย์ช้างยิงท้าวมหายศปรากฏอยู่
วิหารหลวง
วิหารขนาดใหญ่ที่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2019 โดยเจ้าหมื่นคำเป๊ก ภายในมีซุ้มปราสาททองเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง ด้านหลังเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจ บนแผงไม้คอสองมีภาพจิตรกรรมเก่าแก่งดงามเรื่องทศชาติและพรหมจักร
สำหรับ พระเจ้าล้านทอง อยู่ในวิหารหลวง มีกู่สีทองซึ่งบรรจุพระเจ้าล้านทอง เป็นประธานของพระวิหาร หลังพระวิหารหลวง เป็นเจดีย์ประธานทรงกลมแบบล้านนาไทย บนฐานสูงมีกำแพงแก้ว ลูกกรง สำริดยอดดอกบัวล้อมเป็นรูปจัตุรัส ส่วนองค์เจดีย์นั้นบุด้วยแผ่นทองแดงปิดทอง ทางเหนือเรียกว่า ทองจังโก ตามแผ่นโลหะเหล่านี้มีลายสลักคนเป็นลวดลายแบบต่าง ๆ เกือบไม่เหมือนกันสักแผ่นเดียว ท่านใดที่มีราศีเกิดกับปีฉลู (ปีวัว) อย่าลืมนำวัวมานมัสการพระธาตุ เพื่อสะเดาะเคราะห์ และขอโชคลาภ
วิหารพระพุทธ
ไม่ปรากฏว่าสร้างเมื่อใดและใครเป็นผู้สร้าง แต่ประมาณอายุไม่ต่ำกว่า 700 ปี เดิมเป็นวิหารเปิดโล่งหน้าบันเป็นลายดอกไม้ติดกระจกสี ภายในประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่เต็มอาคาร ก่ออิฐถือปูน ศิลปะเชียงแสน และยังปรากฏเงาพระธาตุกลับหัวภายในวิหารอีกด้วย
เมื่อหันหน้าเข้าหาวิหารหลวง ด้านขวามือ คือ วิหารน้ำแต้ม หรือวิหารภาพเขียนสี (แต้ม แปลว่า ภาพเขียน) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2044 เป็นวิหารเปิดโล่งที่เก่าแก่ที่สุดอีกหลังหนึ่งทางภาคเหนือ คงรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทยที่งดงาม ภายในไม่มีฝ้าเพดาน กำแพงด้านพระประธานเขียนภาพลายทองบนพื้นรักแดง มีภาพจิตรกรรมศิลปะล้านนาบนแผงไม้คอสองที่กล่าวกันว่าเก่าแก่ที่สุด และหลงเหลือเพียงแห่งเดียวในเมืองไทย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 ลงมา แต่ปัจจุบันภาพเขียนลบเลือนไปมาก และประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 1.25 เมตร สูง 1.25 เมตร
ซุ้มพระบาท
สร้างครอบพระพุทธบาทไว้ ฐานก่อขึ้นเป็นชั้นคล้ายฐานเจดีย์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 1992 ภายในมองเห็นแสงหักเห ปรากฏเป็นเงาพระธาตุและพระวิหารในด้านมุมกลับ แต่มีข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงขึ้น
กุฏิพระแก้ว
เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างเมื่อใด แต่ประมาณอายุไม่ต่ำกว่า 400 ปี มาแล้ว
วิหารพระเจ้าศิลา
เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าศิลาซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงละโว้ เมื่อ พ.ศ. 1275 พระบิดาของพระนางจามเทวีมอบให้ประดิษฐานไว้ ณ ที่นี้
พิพิธภัณฑ์
ภายในพิพิธภัณฑ์ได้รวบรวมศิลปวัตถุจากที่ต่าง ๆ ที่หาชมได้ยาก เช่น สังเค็ด ธรรมาสน์ คานหาบ ตู้พระไตรปิฎก เป็นต้น
นอกจากนี้ วัดพระธาตุลำปางหลวงยังเป็นที่ประดิษฐาน "พระแก้วดอนเต้า" (พระแก้วมรกต) พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปาง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะล้านนาสลักด้วยหยกสีเขียว มีงานนมัสการพระแก้วดอนเต้าในวันเพ็ญเดือน 12 ของทุกปี
ทั้งนี้วัดพระธาตุลำปางหลวงเปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.30-17.00 น. สอบถามเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0 5324 8604
การเดินทาง
ใช้ถนนสายลำปาง-เถิน ถึงหลักกิโลเมตรที่ 586 เลี้ยวเข้าไปจนถึงที่ว่าการอำเภอเกาะคา จากนั้นเลี้ยวขวาไปอีก 2 กิโลเมตร ถึงทางแยกเข้าไปอีก 1 กิโลเมตร หรือ นั่งรถสองแถวสีฟ้าที่ถนนรอบเวียง รวมระยะทางจากตัวเมืองลำปางประมาณ 18 กิโลเมตร
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
และ จังหวัดลำปาง