x close

ท่องกรุงบนหลังอาน ปั่นจักรยานชมย่านเมืองเก่า




บางกรวย by Bike (กรุงเทพธุรกิจ)


โดย : นิภาพร ทับหุ่น

          ท่องกรุงบนหลังอาน ปั่นจักรยานชมย่านเมืองเก่า จากจุดสตาร์ท "บางลำพู" สู่ "บางกรวย" ในทริป Bangkok Countryside ของนักปั่นออสซี่หัวใจไทย

          อย่าเรียกว่าถนนเลย แค่คำว่าตรอกก็อาจจะดูใหญ่โตเกินไป สำหรับช่องจราจรที่ทั้งเล็กและแคบนั้น ลำพังคนสองคนเดินผ่านกัน ยังต้องเอียงไหล่หลบ นับประสาอะไรกับพาหนะสองล้อ ที่ต้องอาศัยทั้งจังหวะและการทรงตัวที่ดีเยี่ยม หากคนขี่ไม่แน่จริงก็คงยากที่จะผ่านช่องทางนั้นไปได้ แต่เผอิญ...เรารอด

          บิดขี้เกียจให้กับเช้าวันเสาร์ 2-3 ครั้ง ก่อนจะรีบลุกขึ้นทำกิจวัตรประจำวัน แล้วกุลีกุจอออกจากบ้านเพื่อไปให้ทันเวลา ณ จุดนัดหมายที่อยู่บริเวณย่านการค้าชื่อดัง "บางลำพู"

          ฉันเดินเลาะเข้าไปในซอยรามบุตรีที่อยู่ข้างๆ วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร มองร้านนั้นร้านนี้เพลินๆ เดินไปจนเกือบสุดซอยจึงได้พบกับร้านจักรยานที่เป็นจุดเริ่มต้นของการผจญภัยในวันนี้ และทันทีที่ผลักประตูเข้าไป เจ้าของร้านก็ฉีกยิ้มให้อย่างอารมณ์ดี

          Grasshopper Adventures เป็นร้านที่ให้บริการทัวร์จักรยานทั้งในและต่างประเทศ ดำเนินงานโดย เจสัน วิลเลียม นักปั่นออสซี่หัวใจไทยที่ย้ายตัวเองมาปักหลักอยู่ในกรุงเทพฯ วิลเลียมรักการปั่นจักรยานพอๆ กับรักความอิสระ เขาปั่นจักรยานเดินทางมาแล้วหลายประเทศโดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่มีพื้นถิ่นไหนที่สองล้อของวิลเลียมไม่เคยผ่าน

          ฉันรู้จักกับราชานักปั่นคนนี้จากเพื่อนคนหนึ่ง เธอว่า นอกจากจัดทัวร์ปั่นจักรยานระยะทางไกลไปประเทศต่างๆ ในละแวกเพื่อนบ้านแล้ว วิลเลียมยังมีทริปจักรยานในเมืองไทยที่น่าสนใจหลายเส้นทาง ว่าแล้วก็ลองกวาดตามองโปรแกรม สุดท้ายฉันเลือก Bangkok Countryside เส้นทางจากบางลำพูสู่บางกรวยเป็นสนามประลองน่อง เพราะดูสบายๆ และเป็นเส้นทางที่ชวนตื่นตาตื่นใจไม่น้อย




ยังไหวในบางลำพู

          นักปั่นมืออาชีพคงคุ้นเคยกับพื้นที่ในแถบอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี อยู่บ้าง เพราะตามเสียงร่ำลือบอกว่า ที่นี่เหมาะแก่การขี่จักรยานเป็นที่สุด ด้วยเส้นทางที่สามารถเชื่อมต่อและทะลุถึงกันได้หลายจุด กอปรกับสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร ทิวทัศน์ที่สวยงามร่มรื่นระหว่างทาง รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่ง ทำให้บางกรวยเป็นเส้นทางในฝันของนักปั่นหลายคน

          ฉันเลือกจักรยานที่เหมาะสมกับตัวเอง เช็คลมยาง เบรก เบาะ โซ่ และทดลองขี่จนแน่ใจว่า "พอไหว" ทริปจักรยานสายบางลำพู-บางกรวย จึงได้เริ่มขึ้นโดยมี พี่นก - ณัฐเบญรัตน์ น้อยสุวรรณ ไกด์นำเที่ยวมือหนึ่งของร้านเป็นคันนำ เธอพาเราลัดเลาะชุมชนเล็กๆ ไปทะลุท่าน้ำที่อยู่บริเวณ สวนสันติชัยปราการ ก่อนจะจอดให้ความรู้เรื่องสถานที่ ณ สวนสาธารณะชื่อดังของย่านบางลำพู

          "ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ไทยมีศึกสงครามกับพม่ามาตลอด 400 กว่าปี ซึ่งหลังจากเสียกรุงครั้งที่ 2 ราว ค.ศ.1777 พระเจ้าตากสินได้รวบรวมไพร่พลมาสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นมาใหม่อยู่บริเวณฝั่งธนบุรีด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เป็นราชธานีได้แค่ 15 ปี คือบางคนบอกว่า พระองค์ท่านทำศึกหนักตรากตรำมาเยอะเลยให้พักผ่อนซะ กษัตริย์พระองค์ใหม่สถาปนาตัวเองขึ้นมาแล้วย้ายเมืองหลวงมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะว่าราชธานีเดิมเป็นเหมือนเมืองอกแตก มีแม่น้ำผ่ากลางเมืองไม่ปลอดภัย เพื่อปกป้องราชธานีจึงย้ายมาฝั่งนี้ แล้วขุดคลองรอบกรุง 3 ชั้น ชั้นแรกสร้างป้อมปราการและกำแพงเมืองล้อมรอบ เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยามี 14 ป้อม และหนึ่งใน 14 ก็คือ ป้อมพระสุเมรุ แต่หลังขยายเมืองไม่มีการสู้รบกับใคร ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ป้อมจึงทลายป้อมปราการไป เหลือไว้แค่ 2 ป้อม คือ ป้อมพระสุเมรุ ถนนพระอาทิตย์ และป้อมมหากาฬ ถนนราชดำเนิน" พี่นก ย้อนประวัติศาสตร์ชาติไทยให้ฟังจนเราเคลิ้มตาม ก่อนจะได้จังหวะถามถึงที่มาของย่านบางลำพู

          "ย่านนี้เรียกว่าย่านบางลำพู ที่เรียกว่า บางลำพูเพราะมีต้นลำพูเยอะ แต่ว่าถูกตัดทิ้งไปหมดแล้ว เหลือแค่ต้นเดียวที่อนุรักษ์ไว้บริเวณชายน้ำ" เล่าไปพลางชี้นิ้วให้ชมต้นลำพูต้นสุดท้าย ก่อนจะชวนให้ขี่จักรยานออกเดินทางไปยังจุดหมายถัดไป

          สัญญาณมือซ้ายบอกให้เราต้องเลี้ยวซ้ายตามเข้าไปในซอยเล็กๆ ข้างป้อมพระสุเมรุ ที่นี่คือ ชุมชนวัดสามพระยา ชุมชนโบราณที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น ในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นที่อยู่ของกลุ่มคนชั้นปกครอง ต่อเมื่อเวลาผ่านไป ที่ดินถูกเปลี่ยนมือมาเป็นของวัด ชาวชุมชนจึงต้องเช่าที่ดินของวัดอยู่เป็นรายปีหรือแล้วแต่ตกลง

          ขี่จักรยานเบียดกับผู้คนในชุมชนจนออกมาทะลุที่บริเวณใต้สะพานพระราม 8 ถึงตรงนี้เราต้องสลับหน้าที่ให้จักรยานขึ้นมาขี่หลังเราแทน บันไดกว่า 50 ขั้น ทำให้จักรยานเล็กๆ คันนั้นดูหนักกว่าของจริง เราพักเหนื่อยด้วยการยืนฟังพี่นกเล่าถึงความสำคัญของสถานที่ต่างๆ รอบตัว เริ่มจาก สะพานพระราม 8 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 13 สร้างขึ้นเพื่อบรรเทาการจราจรที่หนาแน่นบนสะพานพระปิ่นเกล้า โดยมีแนวสายทางเชื่อมต่อกับทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณโรงงานสุราบางยี่ขัน บรรจบกับปลายถนนวิสุทธิกษัตริย์ ใกล้กับธนาคารแห่งประเทศไทย

          "ที่เห็นบ้านสวยๆ ด้านล่าง คือ วังบางขุนพรหม เป็นวังที่ประทับของโอรสองค์หนึ่งของรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันเป็นที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทย ภายในจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ของธนาคาร ชั้นแรกจัดแสดงประวัติเจ้าของเดิม อีกชั้นเป็นการแสดงเรื่องของเงินที่ใช้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ก่อนจะเข้าไปดูต้องติดต่อขออนุญาตล่วงหน้า 7 วัน ส่วนฝั่งตรงข้ามเป็นอดีตกองกษาปณ์ที่ตอนนี้ย้ายไปอยู่นครปฐมแล้ว ปัจจุบันเลยเป็นสปอร์ตคลับของพนักงานแบงก์ไป"




สู้ต่อไป บางกรวย

          ฟ้าทะมึนมาตามฤดู เราขี่จักรยานข้ามสะพานแล้วเลี้ยวเข้าไปใน ชุมชนบ้านปูน พี่นกเล่าว่า สมัยก่อนชาวสยามนิยมเคี้ยวหมากกันทั้งเมือง และชุมชนแห่งนี้ก็มีอาชีพผลิตปูนจำหน่าย จนเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จกลับจากการประพาสยุโรป และมีพระราชดำรัสให้ปรับปรุงบ้านเมืองให้ดูทันสมัย จึงได้มีการรณรงค์ให้เลิกเคี้ยวหมาก เมื่อหยุดเคี้ยวอาชีพทำปูนก็ไม่มีความหมาย ในที่สุดก็ไม่มีปูนที่บ้านปูนอีกต่อไป

          บนเส้นทางเล็กแคบ จักรยานพาเราลัดเลาะผ่านโรงเรียนทิวไผ่งามจนมาทะลุซอยจรัญสนิทวงศ์ 64 ที่บริเวณสี่แยกบางพลัด รอสัญญาณไฟอนุญาตเราจึงขี่จักรยานผ่านแยกนั้นไปอย่างรวดเร็ว ก่อนจะเลี้ยวเข้าไปในถนนที่เชื่อมต่อกับซอยจรัญสนิทวงศ์ 67

          ทางลัดเส้นนี้สามารถทะลุออกได้หลายทาง เราจึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูงเพราะรถราค่อนข้างคับคั่ง ไกด์คนเดิมพาเราเลี้ยวลัดเลาะจากซอยโน้นออกซอยนี้ไปจนข้ามเข้าสู่เขต บางกรวย ที่สะพานบางกรวย ฉันยังงงอยู่ว่า มาทะลุถึงที่นี่ได้อย่างไร ไม่เปิดโอกาสให้ถาม ไกด์คนเดิมย้ำว่า เส้นทางแคบให้ระมัดระวัง เราจึงได้แต่ทำตามอย่างว่าง่าย

          วัดกระโจมทอง เป็นจุดพักจุดแรกในเขตบางกรวย บริเวณวัดร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่หลายชนิด สุนัขหลายตัววิ่งกรูเข้ามาทักนักปั่นต่างถิ่น มันมากมายจนนับไม่ไหวว่ามีกี่ตัว

          "สุนัขที่นี่เป็นสุนัขจรจัด คือไม่จรจัดหรอก แต่เป็นคนไทยเรานี่แหละที่พอเขาโตแล้ว ไม่น่ารักแล้วก็จะเอามาทิ้งที่วัด บางตัวเป็นโรคเรื้อน โรคอะไร ไม่มีใครดูแล ก็ปล่อยไปตามยถากรรม แม่ชีที่นี่ก็เลี้ยงไว้ แต่ก็นะ...ไม่ได้มานั่งอาบน้ำทำอะไร มากสุดที่ดูแลได้คือให้อาหารเพราะเยอะจริงๆ แค่มีข้าวประทังชีวิตไปวันๆ เท่านั้น" พี่นก บอกเศร้าๆ เราไม่อยากเศร้าเลยขอเติมพลังด้วยการดื่มน้ำเย็นๆ ที่ซื้อจากแม่ชีในวัดแล้วเราก็ออกเดินทางกันอีกครั้ง




วัดสวยในดงสวน

          เกือบเที่ยง อาการท้องร้องมาพร้อมกับฝอยฝนตามฤดู เรารีบขี่จักรยานผ่าน วัดชลอ ที่สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วก็สะดุดตากับโบสถ์หลังใหญ่รูปเรือหงส์ที่ว่ากันว่า ใหญ่ที่สุดในโลกก่อนจะแบกจักรยานข้ามสะพานไม้อีกครั้ง แล้วปั่นไปจนถึงร้านอาหารที่อยู่บริเวณริมคลองมหาสวัสดิ์

          พวกเราเลือกเมนูง่ายๆ เป็นก๋วยเตี๋ยวชามใหญ่คนละชาม แล้วเดินข้ามสะพานไปย่อยอาหารที่วัดฝั่งตรงข้าม

          วัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหาร สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง ความเก่าแก่ที่ผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานทำให้วัดนี้ทรุดโทรมไปมาก บริเวณวิหารหลังเก่ามีรากต้นไม้คลุมตัววิหารไว้จนแทบมองไม่ชัด ฉันพบกับ พระมหาสาย ฉันทะสาโร ท่านเล่าให้ฟังว่า วัดแห่งนี้เคยเป็นวัดร้างมาช่วงหนึ่ง จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 2 พระองค์ท่านได้มีรับสั่งให้บูรณะวัด และตั้งให้เป็นพระอารามหลวงชั้นโท

          "เมื่อก่อนน้ำท่วมบ่อย พอน้ำท่วมก็เลยต้องบูรณะ เอาทรายเข้าไปถม ภายในพระวิหารเลยต่ำ แล้วก็เอาดินถมข้างๆ ตอนนั้นมันดีดขึ้นไม่ได้ เพราะเป็นโบราณสถานที่ขึ้นกับกรมศิลป์ ต้องรอเขามาบูรณะ"

          ฉันคลานเข่าเข้าไปไหว้พระที่อยู่ด้านในพระวิหาร แล้วก็ต้องประหลาดใจเมื่อสัมผัสได้ว่า อากาศข้างในเย็นเยียบจริงๆ


เที่ยวกรุงเทพ


          "ถ้าไปเที่ยวที่อยุธยาจะสังเกตว่า วัดที่สร้างสมัยอยุธยาจะสร้างเป็นท้องสำเภาทั้งหมดเลย ในทางวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายได้ คือมวลอากาศร้อนจะเบากว่าอากาศเย็น อากาศร้อนจะลอยอยู่ข้างบน อากาศเย็นจะหนักกว่าและอยู่ด้านล่าง แน่นอนว่าตรงช่วงที่เป็นท้องสำเภาจะต่ำ เวลาเราเข้าไปไหว้พระจึงรู้สึกได้ถึงความเย็นนั่นเอง" พี่นก อธิบาย

          คล้ายๆ กัน วัดแก้วฟ้า มีอุโบสถรูปท้องสำเภาเพราะสร้างในสมัยอยุธยา นอกจากหลวงพ่อใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ภายในวัดจะศักดิ์สิทธิ์จนผู้คนทั่วสารทิศแวะเวียนมากราบไหว้บูชาแล้ว เลขบนติ้วไม้ไผ่ยังทำให้คอหวยทั้งหลายมุ่งหน้ามาเขย่าขอเลขเด็ดกันที่วัดนี้เป็นประจำด้วย

          "เราจะไปวัดที่ไม่ใช่วัดกันต่อ" แสนงง วัดที่ไม่ใช่วัดคืออะไร จนไปถึงที่หมายนั่นแหละถึงได้รู้ความ

          ไม่ต้องไปไกลถึงวัดโพธิ์บางกุ้ง ที่ วัดเพลง แห่งนี้ก็มีโพธิ์ปรกโบสถ์เหมือนกัน ฉันมุดรากไม้เข้าไปไหว้พระในโบสถ์เห็นลุงคนหนึ่งนั่งกรอกอาหารปลาใส่ถุงเลยถามไถ่ที่มา

          "วัดนี้เป็นวัดสมัยกรุงศรีอยุธยา พม่าบุกเข้ามาเผา เขาลอกทองไปหมด เลยร้างมา 300 กว่าปีแล้ว ตอนนี้ไม่มีพระ มีไม่ได้ เขาไม่ให้มี เพราะวัดใกล้กันเกินไป นี่ก็ไม่ใช่วัดนะเป็นที่ธรณีสงฆ์ให้อนุรักษ์ไว้ พอดีเป็นที่ของลุงพอดีเลยต้องดูแล"

          ลุงอนันต์ เจ้าของสถานที่เล่า แล้วแกก็ชี้ไม้ชี้มือให้ไปดูอีกวัดที่อยู่ในสภาพเดียวกัน นั่นก็คือ วัดสักน้อย ที่ตั้งอยู่ในบ้านของชาวบ้านละแวกนั้น ฉันสังเกตเห็นใบเสมาเก่าหลายใบตั้งอยู่โดยรอบ ไกด์คนเดิมบอกว่า นั่นคือใบเสมาปลอมที่กองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง 4 แพร่ง ทำเอาไว้สำหรับใช้เป็นฉาก แต่ชาวบ้านเห็นว่าเข้ากับสถานที่ดีจึงไม่อยากเอาออก เราจึงได้เห็นใบเสมาปลอมที่ย้อมสีจนเข้ากับสถานที่ได้อย่างดี

          ฝนตั้งเค้าอีกแล้ว เรารีบปั่นจักรยานออกไปตามเส้นทางแคบๆ ที่พาเราผ่านเรือกสวนไร่นาเขียวขจีออกมาจนถึงถนนที่จะพาเราทุกคนกลับบางลำพู

          ดูสบายๆ แต่เหนื่อยกายไม่ใช่เล่น

  


การเดินทาง

          จากบางลำพูไปบางกรวยด้วยรถจักรยานตามโปรแกรมนี้ ควรออกจากบางลำพูแต่เช้า ขี่จักรยานเลาะวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหารออกมาทางท่าเรือบริเวณสวนสันติชัยปราการ จากนั้นเลี้ยวเข้าซอยข้างป้อมพระสุเมรุผ่านชุมชนวัดสามพระยาไปจนถึงสะพานพระราม 8 แบกจักรยานขึ้นสะพานแล้วขี่ข้ามไปฝั่งธนบุรี ลงสะพานเลี้ยวขวาเข้าไปทางบ้านปูน ผ่านวัดคฤหบดี โรงเรียนทิวไผ่งาม ทะลุออกบริเวณซอยวัดสิงห์ (จรัญฯ 64) แล้วขี่จักรยานข้ามแยกบางพลัดไปเข้าซอยจรัญฯ 67 เลาะไปเรื่อยๆ จนข้ามสะพานบางกรวยเข้าหมู่บ้าน ส.ภาณุรังษี ผ่านชุมชนตรงไปที่วัดสวนใหญ่ วัดชลอ ขี่ต่อไปจนถึงร้านก๋วยเตี๋ยวริมคลองมหาสวัสดิ์ เดินข้ามสะพานไปชมวัดชัยพฤกษ์ฯ แล้วกลับมาขี่จักรยานตามเส้นทางไปจนถึงวัดแก้วฟ้า วกกลับมาที่วัดเพลง วัดสักน้อย แล้ววนออกมาที่หมู่บ้านภาณุรังษีกลับเส้นทางเดิม

          สอบถามรายละเอียดที่ชัดเจนได้ที่  Grasshopper Adventures โทรศัพท์ 08-4308-6098 (คุณณัฐเบญรัตน์), 08-7929-5208 (เจสัน) หรือคลิก www.grasshopperadventures.com


 


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ท่องกรุงบนหลังอาน ปั่นจักรยานชมย่านเมืองเก่า อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14:14:52 1,840 อ่าน
TOP