x close

งาน 101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM ชมความงามของวังเก่าใจกลางกรุง

          งาน 101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM กับกาลเวลาอันทรงคุณค่า สู่เรื่องเล่าในบทบาทใหม่ Night Museum ประวัติศาสตร์แห่งความภาคภูมิใจ ณ พระราชวังพญาไท กรุงเทพมหานคร

101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM

          ชวนไปท่องเที่ยวย้อนวันวานเข้าสู่โลกของพระราชวังโบราณ ผสานจินตนาการของงานจัดแสดงแสง สี เสียง ที่น่าอัศจรรย์ ได้รับแรงบันดาลใจจากบทกวีเอก “มัทนะพาธา” อันไพเราะและลึกซึ้งของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ผสานงาน Art of Light กับไฟประดับนับล้านดวง ชม Mapping Lighting Design กับอาคารพระราชวัง พร้อมการแสดงฉายภาพแสง 3 มิติ บนตัวอาคารพระราชวัง ราวกับได้ย้อนกลับไปเมื่อ 100 ปีก่อน พักผ่อนและดื่มด่ำไปกับเครื่องดื่มไทยแท้ที่ร้านกาแฟนรสิงห์ ร้านคาเฟ่ที่ตั้งอยู่ในอาคารเทียบรถพระที่นั่ง ที่มีอายุเท่ากับพระราชวัง 100 ปี ในงาน “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM พร้อมสัมผัสความอลังการของงานไฟล้านดวงในบรรยากาศ Night Museum

101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM

พระราชวังพญาไท ตั้งอยู่ที่ไหน

          พระราชวังพญาไท ตั้งอยู่ภายในรั้วเดียวกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ไม่ไกลจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
          Google Map พระราชวังพญาไท : https://maps.app.goo.gl/cV4Bhc29EZ5fCz9d7
พระราชวังพญาไท

พระที่นั่งเทวราชสภารมย์

บริเวณสวนโรมันด้านหลังพระที่นั่ง

พระที่นั่งพิมานจักรี และพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน

ประวัติพระราชวังพญาไท

          พระราชวังพญาไท มีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 1 ศตวรรษ เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ถนนราชวิถีเป็นเพียงถนนสายสั้น ๆ เริ่มต้นจากริมแม่น้ำเจ้าพระยา มาสุดด้านหลังพระราชวังดุสิต ที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนสายนี้ว่า ถนนซังฮี้ อันเป็นคำมงคลของจีน มีความหมายว่า “ยินดีอย่างยิ่ง” ภายหลังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานนามใหม่ว่า ถนนราชวิถี บริเวณปลายถนนซังฮี้ตอนตัดใหม่นั้นเป็นสวนผักและไร่นา มีคลองสามเสนไหลผ่าน พื้นที่ยังโล่ง กว้าง อากาศโปร่งสบาย จึงเป็นที่ต้องพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินประมาณ 100 ไร่เศษจากชาวนาชาวสวนบริเวณนั้น เพื่อใช้ทดลองปลูกธัญพืชและเป็นที่ประทับสำราญพระราชอิริยาบถ
พระราชวังพญาไท ในอดีต

          ในปี พ.ศ. 2452 ได้เริ่มก่อสร้าง พระตำหนักพญาไท ซึ่งชาวบ้านเรียกกันต่อมาว่า วังพญาไท โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นพระตำหนักที่ประทับ รวมถึงพื้นที่บริเวณตรงข้ามกับพระตำหนักที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพื้นที่สำหรับเสด็จฯ ทอดพระเนตรการทำนา ปลูกผัก และเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งโรงนาที่ได้พระราชทานนามว่า โรงนาหลวงคลองพญาไท พร้อมกับตั้งการพระราชพิธีเริ่มนาขวัญ
          พระตำหนักพญาไท เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในระยะเวลาอันสั้น และได้เสด็จสวรรคตในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงย้ายมาประทับ ณ พระตำหนักแห่งนี้เป็นการถาวร ตราบจนเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2462 หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระตำหนักพญาไท พระราชทานแก่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ คงไว้เพียง พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ซึ่งเป็นท้องพระโรง
พระราชวังพญาไท ในอดีต

          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกขึ้นเป็น พระราชวังพญาไท เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบรมชนกนาถ และพระบรมราชชนนี และให้สร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่หลายองค์ด้วยกัน กระทั่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีเฉลิมพระที่นั่งตามพระราชประเพณี เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของพระราชวังสำคัญแห่งหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับ ณ พระราชวังแห่งนี้ไปโดยตลอดจนปีสุดท้ายแห่งรัชกาล อีกทั้ง พระราชวังพญาไท ยังมีความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ เป็นที่ตั้งของ ดุสิตธานี เมืองจำลองประชาธิปไตยตามพระราชดำริอีกด้วย
          ต่อมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ กรมรถไฟหลวง ปรับปรุงพระราชวังพญาไทเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งสำหรับให้ชาวต่างชาติ ตามที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ไว้สำหรับรองรับพระราชดำริการจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ โฮเต็ลพญาไท ซึ่งเริ่มดำเนินกิจการเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 โดยในระหว่างนั้นได้มีการใช้พระราชวังพญาไทเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของสยาม ออกอากาศเมื่อวันที่  25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 กรมรถไฟได้ดำเนินการ โฮเต็ลพญาไท จนถึงเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 และปิดกิจการลง เนื่องจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง
พระราชวังพญาไท ในอดีต

          ในเวลาต่อมากองทัพบกได้ปรับปรุงพระราชวังพญาไทให้เป็นสถานพยาบาล มีการสร้างโรงพยาบาลทหารบกขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกับพระราชวัง และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ขนานนามโรงพยาบาลเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติว่า โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ตราบจนปัจจุบัน

          สำหรับ พระราชวังพญาไท คงเหลือพระที่นั่งที่สร้างครั้งรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เพียงองค์เดียว คือ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ส่วนพระที่นั่งองค์อื่น ๆ ล้วนสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยมีนามคล้องจองกัน ได้แก่ ไวกูณฐเทพยสถาน, พิมานจักรี, ศรีสุทธนิวาส, เทวราชสภารมย์, อุดมวนาภรณ์ ตามลำดับ ลักษณะของสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นของพระราชวังพญาไท คือ หอคอยสูงและหลังคายอดแหลมของพระที่นั่งพิมานจักรี ภายในมีภาพเขียนแบบปูนเปียกเป็นลวดลายงดงามแบบตะวันตก 

พระที่นั่งพิมานจักรี

งาน 101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM

          มูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี มีการจัดงาน “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน (Night Museum) ระหว่างวันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 จนถึงวันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2567 ตั้งแต่เวลา 18.00-21.30 น. ณ พระราชวังพญาไท เพื่อเฉลิมฉลองพระราชวังพญาไทครบรอบ 101 ปี ถือเป็นหมุดหมายสำคัญยิ่งที่ศิลปินผู้ออกแบบจะได้แสดงสถานที่อันทรงคุณค่าสู่สายตาประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้เข้ามาชื่นชมความงดงามของพระราชวังพญาไท    

งาน 101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM

สิ่งน่าสนใจในงาน 101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM

          การจัดแสดงนิทรรศการในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน (Night Museum) ท่านจะได้พบกับ
          Free area
  • โซนที่ 1 Architecture Lighting & Projection Mapping : การฉายภาพแสง กับงานออกแบบภาพเคลื่อนไหวภายใต้จุดกำเนิดพระราชวังพญาไท ร่วมกับการแสดงศิลปะสถาปัตยกรรมบนตัวอาคารพระที่นั่งพิมานจักรี และพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน 
  • โซนที่ 2 Architecture Lighting & Interior Lighting : นิทรรศการจัดแสดงแสงไฟเพื่อชื่นชมสถาปัตยกรรมภายในอันงดงาม ณ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์   
          TICKET AREA

          Lighting Inspirations พบกับแรงบันดาลใจจากผลงานบทพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ในการสร้างสรรค์ผลงานไฟที่วิจิตรตระการตาบนพื้นที่ประวัติศาสตร์

  • โซนที่ 3 Projection Mapping : ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจากบทพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ภายในห้องธารกำนัลหรือห้องรับแขก 
  • โซนที่ 4 Projection Mapping & Lighting Installation : สัมผัสจินตนาการงานศิลปะเคลื่อนไหวในโลกของพระราชวังโบราณ ผสานจินตนาการของงานจัดแสดงแสง สี เสียง ที่น่าอัศจรรย์ พร้อมนำบทพระราชนิพนธ์ “มัทนะพาธา” ที่วรรณคดีสโมสรยกย่องให้เป็นยอดแห่งบทละครพูด คำฉันท์ ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 มาเป็นตัวดำเนินเรื่อง โซนนี้ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ในการจัดแสดงไฟ โดยจะมีการยิง Projection Mapping เข้าตัวอาคารพระราชวังด้านหลังทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง 
  • โซนที่ 5 Lighting Installation & Mapping on the Big Giant Tree with the Glass Screens : สัมผัสงานอาร์ตกับการจัดแสดงแสงไฟนับพันดวงที่ประดับประดาบริเวณสนามหญ้าและต้นไม้ยักษ์ ตื่นตากับเทคนิค Glass Screens สวยงามมีมิติ
Lighting Installation พระราชวังพญาไท

  • โซนที่ 6 Lighting Installation : เปิดประสบการณ์และดื่มด่ำไปกับความงดงามของดอกบัวนับพันดอกด้วยเทคนิคไฟย้อมสี ณ เส้นทางเดินไปสักการะ ท้าวหิรัญพนาสูร พร้อมพักผ่อนและดื่มด่ำไปกับเครื่องดื่มไทยแท้ที่ ร้านกาแฟนรสิงห์ ร้านคาเฟ่ที่ตั้งอยู่ในอาคารเทียบรถพระที่นั่ง บริเวณด้านหน้าพระที่นั่งพิมานจักรี โดยจะเปิดให้บริการเป็นพิเศษในช่วงเวลา 16.00-20.30 น. ตลอดค่ำคืนแห่งการแสดงแสง สี เสียง ของการเฉลิมฉลอง “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM
ท้าวหิรัญพนาสูร

ค่าเข้าชม งาน 101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM

          งาน 101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM เริ่มจำหน่ายบัตรเข้าชมงานตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ผ่าน 3 ช่องทาง คือ Agoda, KKday และ Zipevent
พระราชวังพญาไท

การเดินทางไปพระราชวังพญาไท

          การเดินทางไปพระราชวังพญาไท สามารถเลือกการเดินทางได้หลายวิธี ดังนี้

          รถยนต์ส่วนบุคคล : เดินทางโดยรถยนต์ เลี้ยวเข้าถนนราชวิถีและขับตรงไปประมาณ 500 เมตร จะเห็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าอยู่ทางขวามือ ให้เลี้ยวขวาเพื่อจอดรถภายในโรงพยาบาล 

          รถโดยสารประจำทาง : เดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ สาย 8, 12, 14, 18, 28, 92, 97, 108, ปอ.92, 509, 522, 536, ปอ.พ.4
          รถไฟฟ้าบีทีเอส : เดินทางโดยรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท ลงที่สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ออกทางออกที่ 3 (ลงฝั่งโรงพยาบาลราชวิถี) ข้ามสะพานลอยไปฝั่งตรงข้ามแล้วเดินทางเท้าตรงมาเรื่อย ๆ ทางแยกตึกชัย จนถึงโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
แผนที่พระราชวังพญาไท

          ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก 101wangphyathai และ เฟซบุ๊ก พระราชวังพญาไท Phyathai Palace 
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : เฟซบุ๊ก 101wangphyathai
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
งาน 101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM ชมความงามของวังเก่าใจกลางกรุง อัปเดตล่าสุด 8 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09:46:05 11,874 อ่าน
TOP