x close

จุดชมนกแก้วโม่ง ณ วัดสวนใหญ่ สัตว์ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

          ทำความรู้จักกับนกแก้วโม่ง สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่สามารถไปชมได้บริเวณริมคลองบางกรวย วัดสวนใหญ่ จังหวัดนนทบุรี

          หลังโลกโซเชียลได้แชร์ความน่ารักของแก๊งนกแก้วโม่งที่เกาะอยู่บริเวณต้นมะพร้าวริมคลองบางกรวย ภายในวัดสวนใหญ่ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ทำให้หลายคนสนใจเจ้านกแก้วโม่งตัวจิ๋ว สีเขียว ปากแดงน่ารัก ๆ วันนี้เราเลยจะพาไปทำความรู้จักพร้อมกับแนะนำจุดชมนกชนิดนี้กันซะหน่อย

รู้จักนกแก้วโม่ง

          นกแก้วโม่ง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Alexandrine parakeet และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Palaeornis eupatria ซึ่งชื่อสามัญของนกแก้วโม่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่อเล็กซานเดอร์มหาราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรมาซิโดเนีย เมื่อครั้งยาตราทัพเข้ามาในทวีปเอเชีย โดยได้นำนกแก้วชนิดนี้กลับไปยังทวีปยุโรปด้วย

          นับเป็นนกตระกูลนกแก้วขนาดเล็ก-กลาง พบในอินเดีย ชอบอยู่อาศัยบริเวณป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่ารุ่น ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ โดยจัดเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2562 เนื่องจากแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยถูกรบกวน รวมถึงถูกลักลอบจับลูกนกมาขายเป็นสัตว์เลี้ยงอีกด้วย

นกแก้วโม่ง

ลักษณะทั่วไปของนกแก้ว

          นกแก้วโม่ง เป็นนกแก้วขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ลำตัวยาว 50-51 เซนติเมตร ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย หางเล็กเรียวยาว ลำตัวสีเขียว จะงอยปากอวบอูม ปลายปากงุ้มลงสีแดง มีแถบสีแดงบริเวณหัวปีก โดยนกตัวผู้มีแถบแดงเล็ก ๆ บริเวณคอด้านหลัง และมีแถบดำบริเวณคอด้านหน้า ซึ่งนกตัวเมียจะไม่มีแถบดังกล่าว นอกจากนี้ใต้หางจะมีสีเหลืองคล้ำ ใบหน้าและลำคอสีปนเหลือง

นกแก้วโม่ง

นกแก้วโม่ง

นิสัยของนกแก้วโม่ง

          นกแก้วโม่งจะออกหากินในช่วงเช้าและกลับมาเข้ารังในช่วงเย็น โดยจะหากินอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ แต่อาจพบชุมนุมเป็นฝูงใหญ่ในบริเวณแหล่งอาหารต่าง ๆ ปกติจะพบอยู่เฉพาะในฝูงนกแก้วโม่งด้วยกันเท่านั้น ไม่ปะปนกับนกแก้วชนิดอื่น ๆ นอนบนต้นไม้เป็นกลุ่มใหญ่ เป็นนกที่บินได้ดีและเร็ว ส่งเสียงร้องกันระงม เวลาบินจะบินเป็นฝูงเล็ก ๆ 8-10 ตัว ชอบเกาะตามยอดไม้ และสามารถใช้ปากเกาะเกี่ยวเคลื่อนตัวไปตามกิ่งไม้ได้ดี

          โดยนกแก้วโม่งผสมพันธุ์ในฤดูหนาวต่อฤดูร้อน หรือระหว่างเดือนธันวาคม-เมษายน ทำรังอยู่ตามโพรงไม้ วางไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง ทั้ง 2 เพศช่วยกันสร้างรัง ฟักไข่ และเลี้ยงลูกอ่อน จะเริ่มฟักไข่ตั้งแต่ออกไข่ฟองสุดท้ายของรัง ใช้ระยะเวลาฟักไข่ทั้งสิ้น 19-21 วัน โดยอายุขัยของนกแก้วโม่งอยู่ระหว่าง 7-12 ปี ถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 3 ปี

นกแก้วโม่ง

จุดชมนกแก้วโม่ง อยู่ที่ไหน

          บริเวณริมคลองบางกรวย ในวัดสวนใหญ่ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี จะมีนกแก้วโม่งเกาะอยู่บนยอดต้นไม้ใหญ่ เสียงร้องเจื้อยแจ้ว โดยวัดสวนใหญ่ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 2 บ้านวัดกระโจม ตำบลวัดชลอ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี แต่เดิมที่ตั้งวัดอยู่กลางดงไม้หนาแน่น ชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดขึ้นในราว พ.ศ. 2375 บนพื้นที่ประมาณ 11 ไร่ เรียกกันว่า วัดใหม่ ต่อมาเรียกว่า "วัดสวนใหญ่"

          ซึ่งนอกจากสามารถชมความน่ารักของนกแก้วโม่งได้แล้ว ที่วัดแห่งนี้ยังมีความงดงามของสถาปัตยกรรมให้ได้ชม โดยเฉพาะอุโบสถที่มีลักษณะเป็นอาคารทรงไทย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีเรือนแก้วแบบพระพุทธชินราช มีอัครสาวกเบื้องซ้าย-ขวา ด้านข้างของอุโบสถมีวิหารสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ถัดจากวิหารเป็นศาลาการเปรียญซึ่งด้านล่างใช้เป็นหอฉัน ถัดจากนั้นเป็นกุฏิสงฆ์ ถือเป็นอีกหนึ่งวัดในจังหวัดนนทบุรีที่น่าไปไหว้พระทำบุญ

ข้อแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับการชมนกแก้วโม่ง

          สำหรับคนที่สนใจอยากเข้าชมนกแก้วโม่ง สามารถเดินทางมาชมที่วัดสวนใหญ่ แนะนำว่าให้มาตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป เพราะเป็นช่วงที่นกแก้วโม่งบินกลับรัง หรือถ้าใครมาดูช่วงก่อนหน้านั้นก็จะเห็นนกแก้วโม่งกำลังกกไข่อย่างน่าเอ็นดู  

          ทั้งนี้ ไม่ควรส่งเสียงดัง เพื่อที่ว่านกแก้วโม่งจะไม่ตกใจแล้วบินทิ้งรังไป โดยทางวัดเปิดให้เข้าชมได้ตามปกติ สามารถนำกล้องส่องทางไกลมาเป็นอุปกรณ์ผู้ช่วยสำหรับการชื่นชมนกแก้วโม่งให้ใกล้ชิดมากขึ้นได้ตามอัธยาศัย 
         สามารถสอบถามเพิ่มเติมข้อมูลได้ที่ เฟซบุ๊ก นกแก้วโมง ฝูงสุดท้าย #วัดสวนใหญ่ หรือโทรศัพท์ 08-5999-9591

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

ขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊ก นกแก้วโมง ฝูงสุดท้าย #วัดสวนใหญ่, dusit.zoothailand.org, iucnredlist.org, pasusat.com และ bangkruaicity.go.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จุดชมนกแก้วโม่ง ณ วัดสวนใหญ่ สัตว์ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ อัปเดตล่าสุด 6 มิถุนายน 2565 เวลา 16:57:01 17,831 อ่าน
TOP