x close

เที่ยวทวนน้ำเลียบลำสุพรรณบุรี

 

 

เที่ยวทวนน้ำเลียบลำสุพรรณบุรี (อ.ส.ท.)

โดย ปิยะฤทัย ปิโยพีระพงศ์

 

          ในช่วงชีวิตของคนคนหนึ่ง เมื่อหวนทวนเรื่องราวแต่หนหลัง มีใครบ้างไม่มีเรื่องเล่า ยิ่งผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน ความทรงจำจากวันวานยิ่งมากมาย

 

          และมากกว่าชีวิตของคนคนหนึ่ง คือความเป็นมาของเมืองเมืองหนึ่ง ซึ่งแต่ละถิ่นที่ล้วนมีประวัติศาสตร์เป็นของตนเอง อีกทั้งยังมีวิถีวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น บางสิ่งอาจสูญหาย แต่บางอย่างก็ยังดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน 

 

          สุพรรณบุรี "เมืองแห่งทุ่งข้าวและชาวน้ำ" เป็นหนึ่งในดินแดนที่เต็มไปด้วยเรื่องราว เมืองเก่าแก่อายุไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐ ปีแห่งนี้ ได้เก็บงำเรื่องราวของวันเก่าก่อนไว้ในแผ่นดินที่ราบลุ่มริมสายน้ำท่าจีน หรือที่คนพื้นถิ่นเรียกว่าแม่น้ำสุพรรณบุรี อย่างภาคภูมิในความเป็นตัวของตัวเอง แต่ก็ไม่ปฏิเสธความเจริญที่จำเป็นต่อการเติบโตของเมืองและผู้คน

 

 

          นอกจากอดีตอันรุ่งเรือง การเดินทางสู่สุพรรณฯ ก็แสนสะดวกสบาย เพียบพร้อมด้วยแหล่งท่องเที่ยว และมากมายด้วยที่พัก ที่กิน ที่จับจ่าย โดยเฉพาะตลาดโลราณริมน้ำท่าจีนที่พลิกฟื้นความรุ่งเรืองเมื่อกว่าร้อยปีก่อนให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

 

          เช่นนี้แล้ว ในวันที่ต้องการเดินทางย้อนภาพเก่าพร้อม ๆ กับจะได้พบเจอสิ่งใหม่ ฉันจึงเลือกสุพรรณบุรีเป็นจุดหมาย โดยใช้เส้นทางถนนที่เลียบสายน้ำท่าจีนเพื่อไปสู่แผ่นดินที่ผสานวิถีของวันวานเข้ากับการก้าวเข้ามาของวันใหม่ได้อย่างลงตัว

 

          บางแม่หม้าย เต็มใจขาย ๔ อย่าง

 

          หมู่เรือนไทยริมลำคลองบางแม่หม้ายในยามบ่ายจัดรับแสงแดดอ่อนดูแล้วอบอุ่น แต่ที่น่าอบอุ่นยิ่งกว่าคือการต้อนรับขับสู้ของชาวบางแม่หม้าย เรานั่งรับลมเย็นที่พัดโชยจากชายน้ำอยู่ตรงใต้ถุนเรือนยกพื้นสูง ขณะที่ลุงเสน่ห์และป้าอุ่นเรือน สุวรรณคร กำลังนั่งทำไม้กวาดร้อยปี สินค้าโอท็อปของบ้านบางแม่หม้าย อำเภอบางปลาม้า กันอย่างสบายอกสบายใจ

 

 

          "ป้าทำไม้กวาดมา ๓๐ กว่าปีแล้วจ้ะ" ป้าอุ่นเรือนตอบคำถามด้วยสำเนียงสุพรรณฯ อย่างอารมณ์ดี ขณะที่มือก็เกลาไม้หนามแดงซึ่งเป็นด้ามไม้กวาดไปด้วย "เดือนนึงทำได้ไม่เกิน ๔๐ อันหรอกหนู ขนาดช่วยกันทำ ๒ คนแล้วนะ แต่ละอันนี่ใช้เวลาทำนานอยู่เหมือนกัน"

 

          "อย่างด้ามไม้กวาดเนี่ย เราต้องเอามาดัดอยู่นานถึง ๒ เดือนจากนั้นก็เอามาเกลาผิวจนเห็นเป็นลายอย่างนี้" ลุงเสน่ห์ช่วยเสริมโดยชี้ไปที่ด้ามไม้สีนวลที่มีแต้มสีน้ำตาลเข้มกระจายประปรายเป็นลายสวย "นั่นน่ะลายในเนื้อไม้นะ บางคนเห็นไม้กวาดบางแม่หม้ายแล้วคิดว่าเราเขียนลายเองน่ะ" 

 

 

          ด้ามไม้กวาดจะสวยยิ่งขึ้นหลังจากผ่านการขัดให้มันด้วยใบตองแห้ง แล้วทาน้ำมันยูรีเทนผสมน้ำมันสนให้ดูเงาวับ แต่ส่วนสำคัญจริง ๆ นั้นอยู่ที่ตัวไม้กวาด ซึ่งทำจากใยมะพร้าว กว่าจะได้มาก็ใช้เวลาไม่น้อยกว่าเดือน เพราะต้องเอากาบมะพร้าวมาแช่น้ำไว้ประมาณ ๑๕ วัน ถึง ๑ เดือน จนกาบมะพร้าวเปื่อยยุ่ยแล้วจึงเอามาทุบให้เป็นเส้นใย

 

          "พอทุบแล้วก็ต้องเอามาจิบเป็นกำ ๆ อย่างนี้" ป้าอุ่นเรือนหยิบใยมะพร้าวเส้นสั้น ๆ ที่มัดจับเรียงเป็นระเบียบให้ดู "อย่างนี้เรียกว่า ๑ กำจิบ ไม้กวาดอันนึงต้องใช้ใยมะพร้าวราว ๆ ๔๐-๕๐ กำจิบ ก็ใช้มะพร้าวประมาณ ๑๐ ลูกน่ะ เส้นเลยถี่ กวาดบ้านได้สะอาด"

 

          "มา เดี๋ยวลุงถักด้ามให้ดู" ลุงเสน่ห์คว้าด้ามไม้หนามแดงที่ดัดเป็นตัว L พร้อมทั้งหยิบใยมะพร้าวมาเริ่มถักเข้าไปที่ปลายตัว L "เราจะเริ่มถักจาก ๓ กำจิบ พัน ๓ รอบให้แน่น แล้วค่อย ๆ เพิ่มไปทีละกำจิบจนถึงส่วนท้ายจะปิดด้วย ๓ กำจิบ แล้วพันให้แน่นตรงโคนไม้กวาด"

 

          นอกจากจะได้ดุขั้นตอนการทำไม้กวาดแล้ว เรายังได้ชมเรือนไทยโบราณอีกต่างหาก โดยคุณทรงพล ทับทิมทอง ประธานกลุ่มโฮมสเตย์เรือนไทยบางแม่หม้าย มานำเดินชนเรือนไทยด้วยตัวเอง

 

          "เราเริ่มโครงการโฮมสเตย์ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘  ซึ่งก่อนหน้านั้นผมไปดูงานที่บ้านบางเจ้าฉ่า จังหวัดอ่างทอง แล้วก็กลับมาคิดว่าบ้านบางแม่หม้ายก็มีศักยภาพเพียงพอ ที่อื่นเขาอาจมีต้นทุนคือภูเขาหรือทะเล แต่เรามีวิถีชีวิต มีเรือนไทยโบราณอายุกว่าร้อยปี มีสินค้าโอท็อป คือไม้กวาดใยมะพร้าว และมีน้ำใจไมตรีของชาวบ้าน ทั้งหมดนี้ถือเป็นอุดมการณ์ ๔ ขายสำหรับเรา"

 

          นอกจากการเข้าพักในเรือนไทยแล้ว บ้านบางแม่หม้ายยังมีกิจกรรมให้ได้เพลิดเพลินไปกับทิวทัศน์ทุ่งนาและลำคลอง คือ ลงเรือมาดชมคลอง แล้วเดินทางกลับด้วยรถอีแต๋น เป็นการเที่ยวแบบง่าย ๆ ที่เรียกความประทับใจจากคนเมืองได้อย่างที่สุด

 

          เก้าห้อง อดีตของพ่อค้าและเสือร้าย

          ร่ำลาชาวบางแม่หม้ายแล้ว เรามุ่งมายังตลาดเก้าห้อง ตลาดริมน้ำแห่งนี้แบ่งย่อยออกเป็น ๓ ส่วน โดยเป็นซอยเล็ก ๆ ขนานกัน หากหันหน้าเข้าหาแม่น้ำ ด้านขวาสุดคือตลาดล่าง ถัดไปทางซ้ายคือตลาดกลางและตลาดบน ตามลำดับ ในวันธรรมดาค่อนข้างเงียบเหงา ภาพที่เห็นคือช่วงเวลาที่ชีวิตดำเนินไปอย่างนิ่งเนิบ โดยไม่ต้องเติมแต่งสิ่งใดเข้าไปให้ฉูดฉาดเพื่อดึงดูดผู้คนให้เข้ามาเยือน

 

 

          หากย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา บ้านเก้าห้องคึกคักด้วยบรรยากาศของการจับจ่ายสินค้าทั้งในตลาดน้ำและบนตลาดบก อีกทั้งยังพลุกพล่านด้วยผู้คนที่ขึ้นลงเรือโดยสารสายสุพรรณบุรี-กรุงเทพฯ จนเมื่อถนนคืบขยายมาถึง ความคึกคักก็ย้ายตามไปอยู่ติดเส้นทางคมนาคมที่สะดวกกว่า กลบฝังอดีตที่เคยรุ่งเรืองไว้ในความทรงจำของผู้คนริมสายน้ำ

 

          จุดแรกที่เราแวะคือพิพิธภันฑ์ตลาดเก้าห้อง ที่ดัดแปลงเรือนแถวไม้หน้าแคบให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เรียบง่าย  ในพิพิธภัณฑ์ฯ เต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ เช่น เครื่องจักสานอันเป็นเครื่องมือจำเป็นของชาวนา เตารีด กระติกน้ำ ฯลฯ และมีภาพวาดตลาดเก้าห้องหลากหลายมุมโดยฝีมือของนักศึกษาวิทยาลัยช่างศิลป สุพรรบุรี ติดอยู่บนผนังไม้สีน้ำตาลเข้ม

 

          ฉันเดินออกจากพิพิธภัณฑ์ แล้วเดิน่ตรงลึกเข้าไปด้านใน สิ่งที่เห็นเด่นชัดอยู่ด้านหน้าคือหอปูนสูง ๔ ชั้น สถาปัตยกรรมแบบจีน นั่นคือหอดูโจร สัญลักษณ์ของตลาดเก้าห้อง และที่ติดกันคือตลาดสด ซึ่งบ่ายวันศุกร์นี้ร้างไร้ผู้คนแต่หากมาถึงในวันอาทิตย์ ก็จะได้อิ่มหนำสำราญกับการเลือกกินของอร่อย ๆ ในงาน "วันอาทิตย์อิ่มอร่อยที่เก้าห้อง" ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาตลาดเก้าห้องจัดขึ้นเป็นประจำ

 

 

          "วันนี้เงียบหน่อยนะ" ป้าเจ้าของบ้านหัวมุดตรงข้ามตลาดเอ่ยพร้อมรอยยิ้มใจดีเมื่อเห็นพวกเรากวาดสายตามองตลาดโล่ง "ไปดูหอดูโจรรึยังล่ะ" ป้าบุ้ยปากไปยังหอสูงซึ่งอยู่ห่างจากบ้านไม่เกิน ๓๐ ก้าว

 

          ตามคำแนะนำของเจ้าบ้าน เราเดินไปยังหอดูโจร ที่ครั้งหนึ่งเคยมีคุณประโยชน์ต่อชาวบ้าน เพราะในยุกที่การค้าขายยังคึกคัก เม็ดเงินสะพัดไปทั่วตลาดน้ำ บรรดาเสือ (ที่เป็นคน) ก็ถือโอกาสใช้ตลาดน้ำเป็นแหล่งหากิน ทำให้ชาวบ้านอยู่ด้วยความหวาดผวา เพราะไม่รู้ว่าจะโดนปล้นเมื่อไหร่ และแล้วเถ้าแก่ฮง หรือนายบุญรอด เหลียงพานิชย์ ผู้เป็นเจ้าของตลาดล่างก็สร้างหอดูโจรขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ เป็นหอก่ออิฐถือปูนอย่างดี แถมเจาะรูเล็ก ๆ ไว้ส่งดูและส่องยิงโจรไปพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าโจรจะมาทางน้ำหรือทางบก คนที่เข้าเวรยามอยู่บนหอก็มองเห็นและส่องยิงโจรได้ทุกคราว บรรดาเสือหิวเสือโหยทั้งหลายจึงค่อย ๆ หมดไป

 

          จากตลาดล่างอายุ ๑๐๕ ปี มายังตลาดกลางอายุ ๗๔ ปี ที่มีกระหรี่พัฟขึ้นชื่อขายอยู่หน้าร้านประเสริฐเวชภัณฑ์ ด้านหลังศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เราเที่ยวชมเรือนเก่าที่หลายหลังปิดเงียบ ก่อนจะเดินต่อเข้ามาในทางเล็ก ๆ ข้างร้านประเสริฐเวชภัณฑ์ แล้วมาหยุดที่ร้านราดหน้าเจ๊จุก หนึ่งในร้านแนะนำของบ้านเก้าห้อง ซึ่งมีสารพันเหล้าหงส์สะสมไว้ให้ขอดูได้

 

          อีกจุที่ไม่ควรพลาด คือโรงสีเก่าริมน้ำ บรรยากาศแสนคลาสสิกด้วยฝาไม้สีน้ำตาลมอมแมมที่มีช่องโหว่แหว่งกำลังงาม โรงสีนี้ถูกใช้เป็นฉากถ่ายทำหนังมาแล้วหลายเรื่องเช่น ๗ ประจัญบาน อั้งยี่ แม่เบี้ย ฯลฯ นับว่าเป็นอีกไฮไลต์รองจากหอดูโจรเลยทีเดียว

 

          เยื้องกับโรงสีมีซอกซอยเล็กนำไปสู่ตลาดบน ซึ่งมีเอกลักษณ์ชัดเจนคือตลอดแนวเรือนแถวไม้สองฝั่งที่ตั้งประจันกันนั้น มีหลังคาสังกะสีครอบคลุมอยู่สูงขึ้นไป โดยเว้นแนวช่องว่างระหว่างหลังคาบ้านกับหลังคาตลาด ทำให้อากาศถ่ายเทดี และได้รับแสงสว่างจากธรรมชาติ เวลาฝนตกก็ไม่เปียก

 

          ถึงแม้จะเป็นย่านเก่า แต่บ้านเก้าห้องก็จัดอยู่ในข่ายของชุมชนประหยัดพลังงาน ช่วยลดโลกร้อน เพราะบ้านเรือนถูกสร้างใหม่มีที่ทางเปิดรับแสงและลม โดยเฉพาะร้านวานิชดีนั้น เป็นบ้านเพดานสูง แล้วกรุกระจกบางช่วงให้แสงส่องลงมา เวลาที่ไม่ต้องการแสง ก็แค่ชักรอกดึงแผ่นไม้มาปิดกระจก นับเป็นภูมิปัญญาที่ช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างน่าทึ่ง

 

          เดินชมบ้านระเรื่อยมาจนถึงกลางตลาด ผ่านตั้งกุ้ยกี่ร้านจันอับ ซึ่งหน้าร้านมีขนมเปี๊ยะอันโตเรียงหราอยู่บนกระจาดไม้ รวมทั้งขนมโก๋ คุกกี้ ฯลฯ โดยมีสาว ๆ หน้าร้านกำลังขมีขมันจัดขนมเปี๊ยะลงถุงมือไม่ว่าง ถัดไปเพียงไม่กี่ห้องคือร้านจันอับ ตั้งเซ่งกี่ ซึ่งทำขนมเปี๊ยะเหมือนกัน ใครชอบขนมเปี๊ยะและจันอับ ก็อย่าลืมกระจายรายได้กันล่ะ

 

แนะนำการท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรมเพียบ

  

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เที่ยวทวนน้ำเลียบลำสุพรรณบุรี อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14:06:33 1,273 อ่าน
TOP