ล่องคลองบางกอกน้อย ดูวิถีคนกรุงยุคใหม่

คลองบางกอกน้อย
 
ล่องคลองบางกอกน้อย ดูวิถีคนกรุงยุคใหม่ หัวใจสีเขียว (ไทยโพสต์)

          สัปดาห์นี้อยากเชิญชาวกรุงมาท่องเที่ยวง่าย ๆ แถมด้วยการอนุรักษ์วัฒนธรรม ชมวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนริมฝั่งคลอง สถานที่ที่เราจะไปคือ ล่องเรือเที่ยวคลองบางกอกน้อย แม่เจ้าพระยา ซึ่งคลองดังกล่าวได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาหลายชั่วอายุคน แต่ก็ยังคงอบอวลไปด้วยเสน่ห์ของชาวกรุงฟากฝั่งธนฯ ที่ผสานวิถีเก่ากับวิถีใหม่เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน

          การท่องเที่ยวของเราจะล่องผ่าน พิพิธภัณฑ์ฯ เรือพระราชพิธี อาทิ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ และเรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่รวมทั้งหมดแล้ว 8 ลำด้วยกัน จากสถานที่นี้ เราล่องเรือต่อและไปขึ้นฝั่ง ณ ท่าเรือบริเวณชุมชนบ้านบุ นี่คือแหล่งทำขันลงหินชั้นยอดหนึ่งเดียวในกรุงเทพฯ เป็นผลิตภัณฑ์โอท็อป 5 ดาว ที่มีชื่อเสียงลือชื่อในเรื่องความงดงาม ขันที่นี่ มีความทนทานและสวยงาม เมื่อลองเคาะดูจะมีเสียงที่ดังกังวาน นิยมทำเป็นเครื่องดนตรี บางบ้านใช้เป็นขันใส่น้ำดื่ม เนื่องจากขันลงหินจะช่วยให้น้ำเย็นกว่าปกติ หรือใช้เป็นขันใส่ข้าวตักบาตร เพราะจะทำให้ข้าวมีกลิ่นหอมก็ได้เช่นกัน

เที่ยวกรุงเทพ

          เดิมชาวชุมชนบ้านบุเป็นชาวอยุธยา ที่หนีพม่ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อครั้งเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 โดยได้มารวมกลุ่มตั้ง บ้านเรือนขึ้นบริเวณนี้ และได้ร่วมกันทำขันลงหินขาย ก่อนจะถ่ายทอดฝีมือจากรุ่นสู่รุ่นสืบต่อกันมากว่า 200 ปี แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คนสนใจซื้อและสนใจทำขันลงหินน้อยลง ทำให้ปัจจุบันเหลือบ้านเพียงหลังเดียว ที่ยังคงประกอบอาชีพทำขันลงหินอยู่ แต่ก็เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อเร็วๆ นี้เกิดไฟไหม้ขึ้นที่ชุมชนบ้านบุ ทำให้ขันหินส่วนหนึ่งที่ทำมาด้วยความยากลำบากเสียหาย แต่กระนั้นทางบ้านที่ทำก็ยังยืนยันว่าจะทำอาชีพนี้ต่อไป อย่างไม่ท้อแท้ต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น

          กลับมาที่การดำเนินชีวิตของชาวบ้านบริเวณริมคลองบางกอกน้อย อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามยุคตามสมัยและความเจริญที่เข้ามา แต่ยังคงดำรงอยู่ และมีวิถีชีวิตประจำวันเหมือนดังเช่นเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา ยังคงคุณค่าทางวัฒนธรรมและเหลือร่องรอยของอดีตไว้ หลาย ๆ บ้านก็ยังคงใช้เรือเป็นพาหนะรองในการสัญจรไปไหนมาไหน ทำให้มีเรือลำเล็ก ๆ จอดเทียบท่าอยู่ทั่วไปตามบ้านเรือนริมคลองบางกอกน้อย เป็นหน้าที่ของคนรุ่นหลังต้องรักษาภาพดังกล่าวให้อยู่ยาวนาน เพื่อเป็นการแสดงถึงเอกลักษณ์ของชุมชนสืบต่อไป

          บางช่วงจะมีเรือพายขายขนม เช่น ไอศกรีม ขายกุยช่าย หรือเรือขายของสารพัดอย่างประมาณร้านโชห่วยริมน้ำ แล่นผ่านไปมา ถือเป็นอีกหนึ่งวิถีของคนกรุงฯ ที่แตกต่างออกไป และนับวันยิ่งเหลือน้อยลงทุกที

วัดปากน้ำภาษีเจริญ

          ทั้งนี้ หากใครมาเที่ยวและต้องการไหว้พระ สถานที่นี้ก็ถือว่าเหมาะสม เพราะมีกิจกรรมล่องเรือไหว้พระ 9 วัด ได้แก่...

          1.ไหว้หลวงพ่อสด ณ วัดปากน้ำภาษีเจริญ
          2.ไหว้พระชมเจดีย์กู้ชาติ ที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วัดอินทราราม
          3.ไหว้พระพุทธรูปทองโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ณ วัดหงส์รัตนาราม
          4. ไหว้หลวงปู่โต๊ะ ณ วัดประดู่ฉิมพลี  
          5.ไหว้พระประธาน ณ วัดสุวรรณาราม พร้อมชมจิตรกรรมฝาผนัง
          6.ไหว้หลวงพ่อใหญ่ และสักการะรอยพระพุทธบาท ณ วัดบางอ้อยช้าง
          7.ไหว้พระ ณ วัดชะลอ 
          8.ไหว้พระ วัดชัยพฤกษ์มาลาราชวรวิหาร วัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี
          9.นมัสการรูปหล่อสมเด็จโต ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ณ วัดศรีสุดารามวรวิหาร

          สำหรับ วัดสุวรรณาราม ถือเป็นวัดสำคัญและมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ มีประวัติโดยสังเขป ในสมัยพระเจ้าตากสินเคยใช้เป็นแดนประหารชีวิตเชลยศึกพม่านับพันคน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้สถาปนาวัดนี้ใหม่ และทรงพระราชทานนามว่า "วัดสุวรรณาราม"

          ขณะที่วัดนี้มีความโดดเด่นคือ พระอุโบสถ ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ที่นิยมสร้างหลังคาโค้งแอ่นเหมือนท้องเรือสำเภา หน้าบันจำหลักลายรูปเทพนมและรูปนารายณ์ทรงครุฑปิดทอง ส่วนภายในโบสถ์ มีพระศาสดาเป็นพระประธาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อสำริดปางมารวิชัย ฝีมือช่างสมัยสุโขทัย ที่สง่างามด้วยทรวดทรงอันอ่อนช้อย และเหมาะเป็นสถานที่ขอพรและแก้บนเรื่องการงานและการค้า

          มีเรื่องเล่าว่า พระศาสดาโปรดวิ่งม้ามาก (วิ่งม้าในสมัยนั้นคือให้เด็กขี่ม้าก้านกล้วยแล้ววิ่งรอบพระอุโบสถ) หลังจากที่อัญเชิญจากสุโขทัยมาประดิษฐานไว้ที่วัดสุวรรณารามแล้ว มีคนมาบนบานศาลกล่าว เมื่อสำเร็จผลก็ได้ฝันว่ามีพราหมณ์ท่านหนึ่ง มาบอกว่าให้แก้บนด้วยการวิ่งม้า ก็เลยเป็นที่มาของการวิ่งม้าแก้บนที่วัดแห่งนี้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า มีคนมาวิ่งม้าแก้บน แต่แกล้งวิ่งหลอก ๆ ไม่ยอมวิ่งจริงๆ เขาทำได้แป๊บเดียวเท่านั้นเอง ก็มีมือขนาดยักษ์มาเขกหัว ทั้ง ๆ ที่บริเวณนั้นไม่มีใครเลย ซึ่งนับแต่นั้นมาทำให้หลาย ๆ คนไม่กล้าวิ่งม้าหลอก ๆ แก้บนที่วัดแห่งนี้

เที่ยวกรุงเทพ

          สำหรับความเป็นมาของคลองบางกอกน้อย ในปี 2065 สมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัด บางกอกใหญ่ ตรงส่วนที่แคบที่สุด ซึ่งก็คือบริเวณปากคลองบางกอกน้อย ไปถึงปากคลองบางกอกใหญ่ ส่วนที่กลายเป็นลำน้ำเจ้าพระยาในปัจจุบันคือ หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือหน้าสถานีรถไฟบางกอกน้อยถึงวัดอรุณฯ

          ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมที่ผ่านย่านบางกอกได้กลายเป็น "คลองบางกอกน้อย" และ "คลองบางกอกใหญ่" เมื่อครั้งยังเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา "คลองบางกอกน้อย" เป็นเพียงเขตเกษตรกรรม ชุมชนริมคลอง จึงมีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นภายหลังจากการขุดคลองลัดที่ย่านบางกอก ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยย่นระยะทางเท่านั้น แต่ยังทำให้ชุมชนขยายกลายเป็นเมืองอยู่บริเวณสองฟากฝั่งคลอง

          ในปี 2515 มีการรวมกรุงเทพฯ กับธนบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวง การตัดถนนหลายสายที่ฝั่งธนบุรี นำสาธารณูปโภคสาธารณูปการและความสะดวกสบาย มาพร้อมกับการเข้ามาอยู่ของผู้คน จากเดิมที่เป็นชุมชนย่อยก็ได้กลายเป็นชุมชนใหญ่ พื้นที่นาและสวนผลไม้เปลี่ยนเป็นบ้านจัดสรร โรงงาน และอาคารพาณิชย์

          ก่อนจบทริปนี้เกือบลืมไป ทาง กทม. โดยสำนักงานเขตบางกอกน้อย ยังร่วมปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคูคลอง และร่วมกันอนุรักษ์แม่น้ำสายประวัติศาสตร์ รวมถึงการเผยแพร่ความสำคัญของสายน้ำ ที่มีต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทยให้แพร่ หลายสู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศโดยทั่วกัน อันจะส่งผลให้เกิดความตระหนัก และเกิดความร่วมมือในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม ของสายน้ำให้สวยงาม และเกิดความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์อันยาวนานของคลอง บางกอกน้อย ซึ่งจะสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งตรงกับแนวคิด 7 Greens ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ที่กำลังเร่งปลูกจิตสำนึกให้คนไทยยุคนี้มีหัวสีเขียว เที่ยวอย่างมีความสุขด้วยกัน






ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
  

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ล่องคลองบางกอกน้อย ดูวิถีคนกรุงยุคใหม่ อัปเดตล่าสุด 27 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 18:13:12 13,568 อ่าน
TOP
x close