หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมืองตากอากาศใกล้กรุงเทพฯ ยอดนิยม งดงามไปด้วยชายหาดที่ทอดยาวขนานไปกับท้องทะเลอ่าวไทย และยังน่าสนใจไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้เคียงอีกมากมาย ทั้งหาดหัวหิน ตลาดโต้รุ่งหัวหิน ตลาดฉัตรไชย Cicada Market หรืออุทยานราชภักดิ์ เป็นต้น รวมไปถึงอาหารท้องถิ่นและซีฟู้ดสุดอร่อย พร้อมทั้งโรงแรมที่พักหลากหลายรูปแบบ สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ทั้งแบบส่วนบุคคลและกลุ่มสัมมนา เรียกได้ว่าครบครันทั้งเรื่องเที่ยว กิน และพักผ่อนอย่างแท้จริง
การเดินทางไปเที่ยวหัวหิน จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปได้หลายวิธี ทั้งรถยนต์ส่วนตัวและรถโดยสารสาธารณะ แต่ก็มีอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจ นั่นก็คือ การเดินทางด้วยรถไฟ เพราะสามารถรองรับการเดินทางได้ทั้งแบบเที่ยวส่วนตัวและแบบกลุ่มใหญ่ อย่างในวันนี้เราก็จะมาแชร์ประสบการณ์การนั่งรถไฟขบวนพิเศษ 995 เส้นทางกรุงเทพ-หัวหิน ที่จัดขึ้นโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้ชมกัน เป็นขบวนรถไฟที่มีตู้รถโดยสารแบบพิเศษ ซึ่งมีทั้งห้องโดยสาร ห้องครัวร้อน ห้องครัวเย็น และห้องประชุม มีการตกแต่งใหม่ สวยหรูทันสมัย เครื่องปรับอากาศเย็นฉ่ำ ลบภาพการนั่งรถไฟแบบที่เคยไปได้เลย บรรยากาศจะเป็นอย่างไรบ้าง ไปดูกัน
บริเวณห้องโดยสารของรถ OTOP
เคาน์เตอร์บาร์บนรถ OTOP
จอทีวีมีทั้งบริเวณด้านหน้าและด้านหลังห้องโดยสาร
เบาะที่นั่งดีไซน์เรียบหรู
ห้องครัวร้อน ห้องครัวเย็น จุดคลายความหิวระหว่างเดินทาง
ถัดมาจากรถนั่ง บรรยากาศเปลี่ยนไปกลายเป็นรถไฟที่มีห้องครัว เชฟกำลังปรุงอาหารกันอย่างขะมักเขม้น พร้อมกับกลิ่นอาหารหอมหวนชวนหิว อีกฟากหนึ่งจะเป็นที่นั่งพักผ่อนแบบโต๊ะที่นั่งผสมโซฟา ตกแต่งสวยทันสมัย มีกลิ่นอายคลาสสิกนิด ๆ รถคันนี้จะเรียกว่า รถครัวร้อน VIP เหมาะสำหรับกลุ่มผู้เดินทางที่ต้องการอาหารบริการระหว่างการเดินทาง
เชื่อมต่อความสวยคลาสสิกกันในคันต่อมา กับรถครัวเย็น SRT Prestige ที่มีการตกแต่งสวยหรูสไตล์โอเรียนทอล ชวนให้นึกถึงการเดินทางอย่างมีระดับ ตรงกลางของตู้จะเป็นเคาน์เตอร์บาร์บริการอาหารประเภทของว่างและเครื่องดื่ม ส่วนด้านข้างทั้งสองฝั่งก็จะเป็นที่นั่งชุดเก้าอี้ไม้-โต๊ะไม้ และโซฟา พร้อมกับมีบาร์และเก้าอี้สตูลให้นั่งชมวิวสวย ๆ
ความสวยคลาสสิกของรถครัวเย็น SRT Prestige
พนักงานของการรถไฟฯ ที่บริการอยู่บนรถ
เมนูอร่อยยามเช้าบนรถไฟ
รถประชุมปรับอากาศตกแต่งสวยทันสมัย
จอฉายภาพใหญ่มองเห็นชัดทั้งห้องประชุม
ปลั๊กไฟบนโต๊ะประชุม
เส้นทางไปยังหัวหินจะผ่านจังหวัดนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี และเข้าสู่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และวันนี้เราก็ได้แวะกันที่สถานีนครปฐม เพื่อให้ผู้ร่วมเดินทางได้ลงไปเที่ยวชมเมืองนครปฐม พร้อมไหว้พระขอพรที่องค์พระปฐมเจดีย์ และเลือกซื้อของกินอร่อย ๆ โดยมีเวลาแวะพักราว ๆ 1 ชั่วโมง
ของกินที่ห้ามพลาดเมื่อมาเยือนนครปฐมมีหลายเมนู แต่ที่ซื้อง่าย กินสะดวก ก็คือ ข้าวหลาม และส้มโอ เพราะตลอดทางระหว่างสถานีรถไฟ-องค์พระปฐมเจดีย์ จะมีร้านเรียงรายให้เลือกซื้ออยู่ไม่ต่ำกว่า 10 ร้าน ซึ่งแต่ละร้านจะแกะข้าวหลามออกจากกระบอกไม้ไผ่ให้เราเลย ส่วนส้มโอ ก็มีแบบปอกเปลือกเรียบร้อยแล้วจัดใส่แพ็กเกจสวยงาม กินได้ทันที
องค์พระปฐมเจดีย์ อยู่ห่างจากสถานีรถไฟนครปฐม ประมาณ 500 เมตร
ข้าวหลาม ของขึ้นชื่อนครปฐม
ขนมจาก ขนมไทยโบราณที่หากินได้ยาก แต่มีที่นครปฐม
เมื่ออิ่มบุญ อิ่มท้องแล้ว ก็เดินทางกันต่อ วิวเริ่มเปลี่ยนไป มองเห็นเป็นท้องทุ่งนาสีเขียวมากขึ้น จากนั้นไม่นานรถไฟก็แล่นผ่านสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ สถานีสะพานจุฬาลงกรณ์ จังหวัดราชบุรี เป็นสะพานทางรถไฟเหล็กสีดำ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทอดข้ามแม่น้ำแม่กลองให้เชื่อมไปถึงสถานีรถไฟเพชรบุรี
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทิ้งระเบิดเพื่อทำลายสะพานแห่งนี้ เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นใช้ในการสัญจรข้ามไปประเทศพม่า แต่ระเบิดบางลูกเป็นแบบตั้งเวลา ไม่ได้ระเบิดในทันที ทำให้ปัจจุบันยังมีระเบิดตกค้างฝังอยู่ในแม่น้ำแม่กลอง ใกล้กับสะพานจุฬาลงกรณ์ ซึ่งระเบิดเหล่านี้มีความรุนแรงอยู่ที่รัศมีราว ๆ 2 กิโลเมตรเลยทีเดียว นอกจากนี้ในแม่น้ำแม่กลองก็ยังมีการพบหัวรถจักรด้วย เพราะหลังจากที่สะพานถูกทำลาย ทางญี่ปุ่นก็ได้สร้างสะพานไม้ชั่วคราวเพื่อให้รถไฟวิ่งผ่านไปได้ แต่ไม่สำเร็จ ทำให้หัวรถจักรจมลงสู่แม่น้ำแม่กลอง ยามน้ำลดก็จะมองเห็นได้ชัดเจน
สะพานจุฬาลงกรณ์
พักจากเรื่องประวัติศาสตร์ มาเป็นเรื่องของอาหารกันบ้าง อย่างที่ทราบกันว่ารถไฟจะแล่นผ่านทั้งจังหวัดนครปฐม ราชบุรี และเพชรบุรี ซึ่งทั้ง 3 จังหวัดนี้ขึ้นชื่อเรื่องอาหารท้องถิ่นอร่อย ๆ มากมาย เมนูเด็ดที่น่าลิ้มลอง ไม่ว่าจะเป็น
จังหวัดนครปฐม : ข้าวเหนียวหมูเค็ม/กุนเชียง, ข้าวหลามบ๊ะจ่าง, ขนมจาก, ข้าวตังทอด, ส้มโอ และผลไม้ต่าง ๆ
จังหวัดราชบุรี : ข้าวแกงกระทงใบตอง ชุมทางหนองปลาดุก, ก๋วยเตี๋ยวแห้ง, ไก่ย่าง และเต้าหู้ดำ โพธาราม
จังหวัดเพชรบุรี : ขนมหม้อแกง และขนมตาล
ทางการรถไฟฯ ก็ไม่พลาดที่จะจัดของเด็ดมาให้เราได้ลิ้มลองกัน โดยเริ่มจากข้าวเหนียวหมู นครปฐม รวมมาทั้งหมูหวาน หมูเค็ม และหมูฝอย ข้าวเหนียวหอมนุ่ม หมูหวานและเค็มกำลังดี กินคู่กันไปเพลิน ๆ เดี๋ยวเดียวก็หมดห่อ ต่อมาเป็นข้าวแกงกระทงใบตอง ชุมทางหนองปลาดุก แต่ละกระทงทำขนาดพออิ่ม มีเมนูให้เลือก คือ ไข่พะโล้, แกงเขียวหวานไก่ และพะแนงเนื้อ ต้องบอกเลยว่าแต่ละเมนูเครื่องแกงแน่น รสชาติอร่อยเข้มข้นตามแบบฉบับอาหารไทยดั้งเดิมจริง ๆ
ข้าวแกงกระทงป้าน้อย สถานีรถไฟชุมทางหนองปลาดุก
บะหมี่เหลืองแห้งจากนครปฐม
ขนมหม้อแกงจากเพชรบุรี
วิวข้างทางช่วงที่เข้าสู่ตัวเมืองเพชรบุรี
ป้ายสถานีหัวหิน จุดถ่ายรูปยอดฮิต
พลับพลาพระมงกุฎเกล้า
ชายหาดหัวหิน ที่อยู่ห่างจากสถานีรถไฟหัวหิน เพียง 300 เมตร
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย
ส่วนความคืบหน้าในช่วงอื่น ๆ ถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2563 มีดังนี้
- นครปฐม-หนองปลาไหล แผนงานสะสม 68.863% ผลงานสะสม 68.931%
- หนองปลาไหล-หัวหิน แผนงานสะสม 69.348% ผลงานสะสม 72.050%
- หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ แผนงานสะสม 74.140% ผลงานสะสม 74.398%
- ประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย แผนงานสะสม 95.732% ผลงานสะสม 65.137%
- บางสะพานน้อย-ชุมพร แผนงานสะสม 71.392% ผลงานสะสม 55.723%
รวมความคืบหน้าทั้งโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร แผนงานสะสม 75.395% และผลงานสะสม 67.505% ถือว่าล่าช้ากว่ากำหนด 7.581% เพราะมีอุปสรรคหลัก ๆ คือ ปัญหาของน้ำท่วม, การบุกรุกพื้นที่ของการรถไฟฯ และระเบิดใต้แม่น้ำแม่กลอง บริเวณจังหวัดราชบุรี โดยทางการรถไฟแห่งประเทศได้ใช้วิธีการแก้ไขปัญหาคือ การเปลี่ยนการทำจุดตัดทางรถไฟ (Overpass และ Underpass) ให้เหมาะสม การออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองใหม่ให้เป็นสะพานแขวน แทนการติดตั้งตอม่อลงสู่แม่น้ำแม่กลอง และการเจรจากับชาวบ้านเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาที่ลงตัวร่วมกัน
ในส่วนของแนวทางพัฒนาการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่จะช่วยผ่าตัดและฟื้นฟูให้การรถไฟแห่งประเทศไทยขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ มี 3 เรื่องหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่
1. กระบวนการการทำงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย และโครงสร้างขององค์กรที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
2. บุคลากรที่จะต้องปรับให้เหมาะสมกับปริมาณงาน
3. เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น หัวรถจักร ที่ต้องจัดหาซื้อเพิ่มเติม
นอกจากนี้ยังได้เปิดเผยว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยกำลังผลักดันรถโดยสารให้เป็นรถขบวนท่องเที่ยวมากขึ้นทางด้านรถขนส่งสินค้า ล่าสุดก็กำลังเจรจาเรื่องการขนส่งเกลือ คาดว่าช่วงแรกจะสามารถขนส่งได้ราว ๆ 400,000 ตัน/ปี พร้อมกับได้แง้มถึงความคืบหน้าในการพัฒนาระบบจองตั๋วรถไฟ จากเดิมที่เป็นระบบ STARS-2 ก็จะเปลี่ยนเป็น D-Ticket เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจะเปิดให้บริการได้ราว ๆ เดือนธันวาคม 2563 รวมไปถึงการจัดทำระบบและแอปพลิเคชันติดตามขบวนรถ "Toms" ที่จะสามารถติดตามเวลาเดินรถของรถไฟได้แบบ Real Time และสามารถจองตู้รถไฟทางออนไลน์ได้ด้วย ซึ่งได้มีการศึกษาเรียบร้อยแล้ว กำลังอยู่ในระหว่างการของบประมาณ
การตั้งเป้าหมายการพัฒนาการรถไฟไทยแห่งประเทศไทยนี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นก้าวสำคัญ ที่ประชาชนชาวไทยจะได้เห็นรถไฟไทยในรูปแบบใหม่ และเติบโตอย่างยั่งยืนสง่างามอีกครั้ง
ขอบคุณข้อมูลจาก
การรถไฟแห่งประเทศไทย, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, engrdept.com