เผยทิศทาง 3 แผนยุทธศาสตร์อนาคตรถไฟไทย : คุณนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย

         นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมผลักดันนโยบายและยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการรถไฟอย่างมีประสิทธิภาพ บนหลักความปลอดภัย และมิติใหม่ของการบริการที่มากขึ้นกว่าเดิม 

         ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย ‘รถไฟ’ ก็ยังคงเป็นหนึ่งในยานพาหนะที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อการเดินทางของผู้คนอยู่เสมอมิเปลี่ยนแปลง และเพื่อตอกย้ำพันธกิจของการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่นานมานี้เรามีโอกาสสนทนากับ นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย คนที่ 19 ถึงการมีอยู่ของรถไฟไทยท่ามกลางบริบทของการพัฒนาของสังคม นับเป็นอีกหนึ่งภารกิจสุดท้าทายในฐานะผู้นำขบวนม้าเหล็ก ที่มีอายุร่วม 123 ปี ให้ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ แต่ในเวลาเดียวกันก็สร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับรถไฟไทยในมิติต่าง ๆ มากขึ้น นำมาซึ่ง 3 ยุทธศาสตร์หลัก เพื่อการพัฒนา ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลง ตลอดจนอำนวยความสะดวกแก่พนักงานและผู้ใช้บริการ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านนโยบายและการบริหารงาน

          ตลอดช่วงระยะเวลา 4 เดือนเศษของการเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ท่านได้วางนโยบายการบริหารไว้อย่างไร ?

         ณ วันนี้สิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุดหลังจากการเข้ารับตำแหน่ง นั่นคือ การรถไฟฯ จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาและฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการรถไฟฯ ไม่มีจุดดีเอาเสียเลย หากมองดี ๆ เรายังมีจุดแข็งมากมายที่สามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘คนรถไฟ’ ของเรามีความชำนาญและประสบการณ์ในการเดินรถอย่างสูง ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมของระบบและมาตรฐานที่ไม่ได้ดีนักเช่นนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายกย่องยิ่ง นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคที่ขวางกั้นนโยบายการบริหารอยู่อีกไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น...

         - เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ จะเห็นว่าปัจจุบันรถไฟค่อนข้างเก่า เวลาจะสั่งจัดซื้อแต่ละที ด้วยความที่อิงอยู่บนพื้นฐานของการเป็นรัฐวิสาหกิจ กลายมาเป็นอุปสรรคใหญ่ วันนี้รถที่มีอยู่ก็เริ่มเก่าบ้าง ต้องส่งซ่อมบ้าง หรือที่ใช้การได้อยู่ก็กำลังวิ่งลดน้อยถอยลงตามอายุการใช้งาน

         - ระบบการทำงาน ปฏิเสธไม่ได้ว่าหน่วยงานการรถไฟฯ ยังคงติดความเป็นราชการค่อนข้างสูง นับเป็นปัจจัยฉุดรั้งสำคัญ ตลอดจนคู่แข่งของการรถไฟฯ (ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าไม่มี) แต่ในความเป็นจริงต่อให้คุณเลือกเดินทางด้วยวิธีอะไรก็ตามที่ไม่ใช่รถไฟ นั่นย่อมแปลว่า การรถไฟฯ สูญเสียรายได้ไปแล้วเช่นกัน

         - ประวัติศาสตร์การรถไฟฯ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การรถไฟฯ ถูกดีไซน์ขึ้นมาเพื่อดูแลประชาชน โดยไม่ได้มุ่งหวังกำไรตั้งแต่แรกเริ่ม ดังนั้น การคาดหวังให้องค์กรตักตวงกำไรจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ในเมื่อผลพวงของอดีตยังเป็นตัวฉุดรั้งปัจจุบันอยู่ 

         จากอุปสรรคเหล่านี้ ส่วนตัวไม่ได้มองว่าเป็นสิ่งที่เข้ามาขัดขวางการดำเนินนโยบายบริหารงานเสียทีเดียว

ขณะเดียวกันยังพอเห็นช่องทางและโอกาสอีกมากควบคู่ด้วยเช่นกัน
เช่น สร้างโอกาสรับใช้ประชาชนให้ดีขึ้น สร้างโอกาสในการหารายได้ให้มากกว่านี้ สิ่งที่สำคัญที่สุด ต่อไปนี้การรถไฟฯ จะเน้นเรื่องการทำตลาดให้มากขึ้นกว่าเดิม
และตั้งเป้าการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นจาก 10% เป็น 30%
ท่ามกลางบริบทความคลาสสิกและมีเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของรถไฟไทย
ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการท่องเที่ยว

          ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจเดินทางด้วยรถไฟ ท่านได้วางแผนสนับสนุนให้การรถไฟไทยเข้ามามีบทบาทในบริบทการท่องเที่ยวอย่างไร และเป็นไปในทิศทางไหน ?
          เสน่ห์ของการรถไฟฯ มักควบคู่กับการท่องเที่ยวอยู่เสมอ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เลือกเดินทางด้วยวิธีนี้ เพราะต้องการเสพความสวยงามของวิวสองข้างทาง ซึ่งมีความ Unseen ซ่อนอยู่มากมาย จุดนี้เองนำมาสู่การริเริ่มโครงการรถไฟเกี่ยวกับการท่องเที่ยวต่าง ๆ ซึ่งเดิมทีเส้นทางนั่งรถไฟเที่ยวแบบไปเช้า-เย็นกลับ ก็มีให้บริการอยู่แล้ว เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-ไทรโยค, เส้นทางกรุงเทพฯ-สวนสนประดิพัทธ์ หรือเส้นทางกรุงเทพฯ - เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นต้น
ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย

          ทั้งนี้ การรถไฟจะวางแผนแนวทางการประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากที่ผ่านมานักท่องเที่ยวรู้จักแต่เพียงเส้นทางสายหลัก แต่ยังมีเส้นทางสายรองอีกมาก เป็นต้นว่า เส้นทางเหนือ เด่นชัย-ลำปาง-ลำพูน หรือเส้นทางใต้ตั้งแต่หัวหินลงไป ที่มีวิวทะเลสวย ๆ เหล่านี้เป็นความอะเมซิ่ง ที่มีแต่คนนั่งรถไฟเท่านั้นถึงจะรู้

          ตลอดจนการบริการต่าง ๆ ให้มุ่งตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ตรงใจและหลากหลายมากขึ้น อย่างตู้รถที่มีบริการแบบเหมาตู้ สำหรับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมถึงไม่ลืมที่จะผนึกกำลังกับฝ่ายพันธมิตรของทางภาครัฐ อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ที่มีเขื่อนสวย ๆ เหล่านี้สามารถต่อยอดทำเป็นแพ็กเกจเส้นทางท่องเที่ยวได้มากมาย นับเป็นมิติใหม่ของการบริการ โดยไม่เกี่ยงว่าจะเพศใด วัยใด ฐานะใด ก็สามารถเดินทางไปกับเราได้ทุกคน ขณะเดียวกันสิ่งเหล่านี้ต้องมาพร้อมกับความสะอาด นั่นก็เพื่อการบริการที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่การรถไฟฯ ให้ความสำคัญและเน้นย้ำเป็นอย่างยิ่ง

ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านความปลอดภัย

         จากนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารงาน “ความปลอดภัย” ดูจะเป็นเรื่องที่ท่านให้ความสนใจมากที่สุด ทั้งนี้ ขอบเขตและความหมายของ “ความปลอดภัย” ดังกล่าว ครอบคลุมสิ่งใดและเรื่องใดบ้าง ?

         ใจความหลักใหญ่ที่เราเน้นย้ำและให้ความสำคัญที่สุด นั่นคือ เร่งสร้างความเชื่อมั่น (Trust) ให้กับประชาชนผู้มาใช้บริการให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ซึ่งความปลอดภัยที่ว่าครอบคลุม 3 ประเด็นหลัก คือ

         1. การเดินรถ

         การรถไฟฯ มีความตั้งใจให้การเดินรถทุกขบวนมีความเสี่ยงกับอุบัติเหตุให้น้อยที่สุด ตลอดจนเร่งปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณต่าง ๆ ให้ทันสมัยที่สุด (ถึงแม้ว่าจะได้รับการพัฒนาอยู่เป็นระยะ ๆ แล้วก็ตาม) เช่น ทางกั้น อุโมงค์ และสะพานข้าม เป็นต้น เหล่านี้ต้องอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์พร้อมใช้งานอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมักเป็นเรื่องไม่คาดคิด จะด้วยเหตุผลของความมักง่ายหรือความประมาทจากผู้สัญจรบนท้องถนนก็ตามแต่ แม้แต่บ้านเรือนบริเวณริมทางรถไฟ ที่มีการต่อเติมและกินเข้าไปในพื้นที่ ทั้งหมดนี้เป็นความสุ่มเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างเดินรถทั้งสิ้น 

         2. ขบวนรถ

 
       มาตรการการดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสารทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทางเราก็ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟเองก็ทุ่มเททำงานหนักเต็มที่ ขณะเดียวกันเราก็จะไม่ประนีประนอมกับพนักงานที่บกพร่องระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเช่นกัน 

         3. สถานีและบริเวณรอบสถานี 

 
       ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยพบปัญหาในตัวสถานี จะเป็นโดยรอบบริเวณสถานีมากกว่า สืบเนื่องจากการรถไฟฯ มีที่ดินอยู่เป็นจำนวนมาก พื้นที่บางแห่งมีผู้คนเข้ามาอาศัย ซึ่งถ้าเข้ามาตามระบบมีการเช่าอย่างถูกต้อง ก็ไม่นับว่าเป็นปัญหาอะไร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีกลุ่มคนเป็นจำนวนไม่น้อยเข้ามาในฐานะผู้บุกรุก ทำให้ไม่สามารถควบคุมในเรื่องอาชญากรรมได้ รวมถึงการมีสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ เหล่านี้เป็นตัวแปรสำคัญของปัญหาที่ไม่อาจมองข้ามได้เลยสักนิด

         ดังนั้น การรถไฟฯ จึงมีหน้าที่เข้ามาบริหารและจัดการเรื่องต่าง ๆ ให้ลุล่วง ตลอดจนยังคงยืนกรานที่จะไม่ประนีประนอม เพื่อวางกรอบดูแลความปลอดภัยให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น

ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย

         นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการรถไฟไทยที่น่าจับตามอง การปรับปรุง เปลี่ยนแปลงและพัฒนาที่เกิดขึ้นนับจากนี้ มุ่งเป้าไปสู่การเป็นผู้ให้บริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุดในอาเซียนในปี 2570 ตลอดจนตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ เพื่อสร้างรายได้และผลกำไรให้แก่องค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ ซึ่งถือเป็นภารกิจโหดหินพิสูจน์ฝีมือผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย คนที่ 19 ที่เริ่มต้นขึ้นแล้ว ณ บัดนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เผยทิศทาง 3 แผนยุทธศาสตร์อนาคตรถไฟไทย : คุณนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย อัปเดตล่าสุด 28 มีนาคม 2567 เวลา 17:30:43 16,867 อ่าน
TOP