x close

ททท. ลุยแผน ปี 63 เน้นนักท่องเที่ยวและสินค้าที่มีคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่น Brand ไทย

          เปิดบทสัมภาษณ์คุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ถึงบทบาทหน้าที่ของการท่องเที่ยวในประเทศไทย พร้อมทั้งนโยบายและแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวในยุคดิจิตัล รวมไปถึงการผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อสร้างฐานการท่องเที่ยวให้มั่นคงและยั่งยืน
          เมื่อพูดถึงการท่องเที่ยวไทย จะไม่นึกการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ไม่ได้เลย ด้วยเป็นหน่วยงานแรกที่เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาการท่องเที่ยวไทยให้เป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ สร้างรายได้เข้าสู่เมืองไทยหลักล้านล้านบาทต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเทรนด์การเดินทางท่องเที่ยวเปลี่ยนไป พฤติกรรมการเที่ยวของนักท่องเที่ยวมีหลากหลายแบบมาก รวมทั้งมีการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มาเป็นตัวช่วยเรื่องของการท่องเที่ยว หน่วยงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ รวมไปถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยด้วย จากตรงนี้เราจึงได้มาพูดคุยกับคุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ถึงบทบาทหน้าที่ นโยบายและแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวในยุคดิจิทัล เพื่อให้ประเทศไทยยังคงเป็นแนวหน้าของสถานที่ท่องเที่ยวที่ดีที่สุดอันดับต้น ๆ ของโลก
คุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

บทบาทของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน

         การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีประวัติที่ยาวนาน เราเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2503 ถ้าพูดถึงการท่องเที่ยว จะพูดถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยทั้งหมด แต่ภายหลังมีการปฏิรูประบบราชการ มีการตั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเปลี่ยนแปลงหน้าที่ เข้าไปสังกัดกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แต่ยังคงดำรงฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยจะรับผิดชอบในเรื่องของการตลาด การขาย การประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสาร บูรณาการกับภาคส่วนต่าง ๆ ภายใต้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว

การเติบโตของการท่องเที่ยวไทย

          มีการเติบโตอย่างดี มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ชัดเจน อย่างในปี 2017 ที่ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 4 ของโลก ในแง่ของการมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุด ปีที่แล้วก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากถึง 38.3 ล้านคน ปีนี้ก็คิดว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 39.8 ล้านคน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ให้เลย โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากที่สุด ก็คือ จีน คิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมด ซึ่งนักท่องเที่ยวจะชอบอาหารไทยมาก และชอบที่เที่ยวธรรมชาติ แล้วเขาก็ยังรู้สึกว่าคนไทยและคนจีนมีความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติที่ดี เป็นพี่น้องกัน เป็นครอบครัวเดียวกัน จึงทำให้อยากมาเที่ยวไทย รองลงมา คือ อินเดีย แล้วก็เป็นประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศมาเลเซีย รวมทั้งประเทศเวียดนามด้วย

เป้าหมายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในอนาคต

          ปีหน้าก็ตั้งเป้าในเชิงท้าทายไว้ ในส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 41.8 ล้านคน และรายได้อยู่ที่ 2.22 ล้านล้านบาท ซึ่งตรงนี้จะเกิดขึ้นโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยฝ่ายเดียวไม่ได้ ก็ต้องอาศัยทั้งหน่วยงานอื่น ๆ และภาคเอกชนมาช่วยกัน

          ส่วนในเรื่องแผนการตลาดนั้น ก็จะเน้นไปที่ความต่อเนื่องของโครงการต่าง ๆ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ การทำให้มีนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามาท่องเที่ยวในไทย เราจะทำอย่างไรให้มีสินค้าทางการท่องเที่ยวที่ดี เพื่อจะมาตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวตลาดคุณภาพได้ แล้วก็ทำอย่างไรถึงจะทำให้ประเทศไทยเป็นแบรนด์ที่ดี

5 Go พาการท่องเที่ยวไทยสู่ความยั่งยืน

          ในการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทย ก็มีนโยบาย 5 Go ด้วย อันแรก คือ Go New คือการกระจายนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ ๆ ไปยังพื้นที่ใหม่ ๆ 2. Go Low หรือโลวซีซั่น คือ การลดความแออัดในบางเวลาในบางฤดูกาล ดึงนักท่องเที่ยวให้เที่ยวช่วงโลวซีซั่น 3. Go High จะเป็นการดึงนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักเข้ามาเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจไทย 4. Go Local กระจายนักท่องเที่ยวไปยังจังหวัดอื่น ๆ ที่มีพื้นที่รอบรับ ก็ตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลในเรื่องของการท่องเที่ยวเมืองรอง ส่วนสุดท้าย Go Digital เป็นการเพิ่มคุณภาพในการตลาด โดยให้ความสำคัญของออนไลน์ และโซเชียลมีเดียมากขึ้น

การท่องเที่ยวไทยกับยุคดิจิตัล

          นโยบาย 5 Go ก็มี Go Digital ตรงส่วนนี้ก็จะเป็นการทำให้ออฟไลน์เป็นออนไลน์ก่อน เช่น ไกด์บุ๊กแนะนำเส้นทางท่องเที่ยว หรือสถานที่ท่องเที่ยว ก็จะจัดสรรเอามาทำเป็นออนไลน์ เพราะฉะนั้นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ในมือของนักท่องเที่ยวก็จะเป็นเครื่องมือในการให้ข้อมูลข่าวสารได้

          นอกจากนี้เราก็ใช้ Big Data ในการประเมินพฤติกรรมนักท่องเที่ยว เพื่อนำมาใช้ในยุทธศาสตร์ทางการตลาด มีการศึกษาเกี่ยวกับ Blockchain เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างตอนนี้ก็กำลังคุยกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ในการที่จะสร้าง Blockchain ขึ้นมา เพื่อนำไปสู่การส่งเสสริมการท่องเที่ยวชุมชน

การกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวสู่คนในชุมชน

          พฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวตอนนี้ต้องการแสวงหาสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งอาจจะไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวเกิดใหม่ แต่อาจจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีอัตลักษณ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ตรงนี้ก็เลยจับมือกับอพท. ในการพัฒนาเรื่อง Blockchain และส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community - Based Tourism / CBT) เพื่อยกระดับทำให้การท่องเที่ยวชุมชนได้รับความสนใจ และเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น เพื่อทำให้การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเรื่องของการทำรายได้

          นอกจากนี้ก็ยังตอบรับนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการส่งเสริมเรื่องของ Home Lodge หรือที่พักนักเดินทางเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการที่จะให้ชาวบ้านและคนในชนบทมีรายได้ ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญในเรื่องของสิ่งแวดล้อม สถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ของไทยก็เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเกือบทั้งหมด ถ้าเราไม่สามารถรักษาเอาไว้ได้ สิ่งที่จะไม่เกิดขึ้นเลย ก็คือ ความยั่งยืน การไม่ทิ้งขยะ ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต

รายได้ที่ยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

          รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะให้การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้ กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในด้านต่าง ๆ แต่สิ่งที่จะต้องทำควบคู่กันไป ก็คือ การสร้างความยั่งยืน เราไม่สามารถอยู่ในปรัชญาเดิม คือ ทำแล้วขาย เราต้องรู้ว่านักท่องเที่ยวต้องการอะไร แล้วเราจะสามารถตอบสนองได้อย่างไร และที่สำคัญที่สุดสิ่งที่จะส่งมอบให้ ก็คือ ประสบการณ์ที่มันแตกต่าง ถ้าสามารถสร้างความประทับใจจากการมาเที่ยวชุมชนให้นักท่องเที่ยวได้ ก็จะเกิดความต่อเนื่อง มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเรื่อย ๆ มีรายได้เกิดขึ้น แต่จะไม่ทำในเชิงการค้ามากเกินไป เรารับนักท่องเที่ยวได้เท่าไหนก็เท่านั้น เพราะต้องรักษาอัตลักษณ์ไว้ด้วย

ความสมดุล หัวใจสำคัญของการท่องเที่ยวคุณภาพ

          อุปสรรคของการตลาดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแทบไม่มี เพราะเราได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แต่ที่เป็นปัญหาเล็กน้อย ก็คือ ความไม่สมดุลของตัวต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ต้นทางก็คือการพัฒนาโปรดักส์ใหม่ ๆ ขึ้นมา กลางทางก็จะเป็นมาตรฐาน ความปลอดภัยต่าง ๆ  ททท. อยู่ปลายทาง เป็นการตลาด ถ้าเราเน้นที่ปลายทางอย่างเดียว แต่โปรดักส์ไม่ตอบโจทย์ ไม่มีความเชื่อมั่นในเรื่องของความปลอดภัย สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย สุดท้ายก็จะขายไม่ได้ เราจึงต้องทำให้มันสมดุล ถึงได้เกิดนโยบาย 4 ข้อ จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คือ เรื่องของความสะอาด เรื่องความปลอดภัย เรื่องความเป็นธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบ และเรื่องของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

เที่ยวเมืองไทย เพื่อคนไทย

          เมื่อท่านเดินทางออกไปเที่ยวเมืองไทย ไม่ว่าจะนักท่องเที่ยวชาวไทยหรือต่างชาติ ก็ต้องเกิดการใช้จ่าย ซึ่งการใช้จ่ายเหล่านี้ก็ไปเป็นรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นนั่นเอง ซึ่งการกระจายรายได้เหล่านี้ก็จะนำไปสู่เรื่องของความเป็นธรรมด้วย ดังนั้นถ้าท่านเดินทางท่องเที่ยว มีการใช้จ่าย ท่านก็จะเป็นคนร่วมสร้างให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมนี้
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ททท. ลุยแผน ปี 63 เน้นนักท่องเที่ยวและสินค้าที่มีคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่น Brand ไทย อัปเดตล่าสุด 3 กันยายน 2563 เวลา 10:58:34 8,242 อ่าน
TOP