เที่ยวอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ชวนสัมผัสเสน่ห์น่าค้นหา เรียบง่ายและมีเอกลักษณ์ ใครอยากมีวันพักผ่อนแบบสโลว์ไลฟ์ ที่นี่ตอบโจทย์อย่างแน่นอน
ช่วงปลายปีที่มีลมเย็น ๆ พัดมาทักทาย จุดหมายปลายทางท่องเที่ยว ณ ห้วงเวลานี้ เห็นจะหนีไม่พ้นการเอาร่างไปปะทะกับสายลมหนาวทางภาคเหนือ และเมื่อพูดถึงภาคเหนือหลายคนย่อมนึกถึงจังหวัดที่มีจุดท่องเที่ยวชื่อดังมากมาย หากแต่ยังอีกหนึ่งจังหวัดทางภาคเหนือตอนล่างที่อยากจะชวนทุกคนไปเที่ยวอย่าง “อุทัยธานี” เชื่อว่าน่าจะมีคนแถวนี้คิ้วขมวด ตั้งคำถามอยู่ในใจว่า “ที่นี่มีเสน่ห์อย่างไร ?” วันนี้เราจะพาทุกคนไปดื่มด่ำเสน่ห์จังหวัดเล็ก ๆ อันแสนอบอุ่นแห่งนี้ไปพร้อมกัน
แสงรุ่งอรุณยามเช้า ณ สะแกกรัง
จุดหมายปลายทางเช็กอินหลัก ๆ ในจังหวัดอุทัยธานีครั้งนี้ อยู่ที่ “อำเภอบ้านไร่” เป็นส่วนใหญ่ หนึ่งในอำเภอท่องเที่ยวยอดนิยม แฝงด้วยกลิ่นอายฟีลธรรมชาติ ลองใช้ชีวิตตัดโหมดความวุ่นวายต่าง ๆ รอบตัวทิ้ง แล้วจะเห็นเสน่ห์แห่งชีวิตที่หลากหลาย ลองใครเอาใจเข้ามาทัก ก็อยากจะอยู่พักไปนาน ๆ
1. เสน่ห์แห่งวิถีชิวิต : สิ่งที่กาลเวลามิอาจทำลาย
- ตักบาตรรับอรุณ ณ ลานสะแกกรัง
ดูเหมือนจะเป็นภาพปกติทุกเช้าของตลาดสดเทศบาลรอบลานสะแกกรัง แต่ละวันมีผู้คนหลากหลายชีวิต บ้างเดินทางมาจับจ่ายใช้สอย บ้างก็ลิ้มลองอาหารเช้าอร่อย ๆ บ้างก็หลังแค่อยากสร้างบทสนทนาเรียบง่ายกับผู้คนที่เดินไปมาผ่านหน้ากัน แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตามแต่ ที่แห่งนี้ก็เปรียบเสมือนกระจกที่ฉายสะท้อนภาพวิถีชีวิตชาวอุทัยธานีอย่างแยกจากกันไม่ออก
ริมท่าน้ำ ณ ลานสะแกกรัง มีเหล่าพุทธศาสนิกชนต่างตั้งหน้าตั้งตารอคอยมาใส่บาตรด้วยใบหน้าแจ่มใส บรรยากาศยามเช้าแสงอาทิตย์สาดลำแสงส่อง ไอแดดที่ส่องลงมายังไม่ร้อนจนเกินไป ชวนให้เรายืนสำรวจความเป็นไปของทุกชีวิตรอบตัวอย่างอารมณ์ดี เรือของพระสงฆ์ค่อย ๆ จอดเทียบท่า ไม่นานภายในลำเรือก็เต็มไปด้วยข้าวสารอาหารแห้ง จนต้องสับเปลี่ยนตำแหน่งจัดวางข้าวของอย่างขวักไขว่ เพื่อรักษาสมดุลเรือไม่ให้เสียหลัก
แต่วิถีชีวิตไม่สิ้นสุดลงเพียงเท่านั้น หากช่วงรุ่งอรุณของคุณยังพอมีเวลา เราอยากให้คุณใช้เวลาที่เหลือค่อย ๆ ปะติดปะต่อจิ๊กซอว์ชีวิตทุกชีวิตที่อยู่ที่นี่ รอยยิ้มใสซื่อของเหล่าแม่ค้าพ่อค้า บวกกับอัธยาศัยไมตรีอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย เชิญชวนให้เรานั่งทอดกายกินของอร่อย ราคาข้าวของต่าง ๆ ที่วางขายดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้สลักสำคัญอันใด เมื่อเทียบกับสินน้ำใจที่เราได้รับอย่างเหลือเฟือ การใช้เวลาเช้าที่นี่จึงไม่อาจพูดได้ว่าเป็นเรื่องสูญเปล่า ตราบเท่าที่เราเห็นคุณค่าและความแง่งามของทุกชีวิตที่กำลังดำเนินอยู่ และทุกชีวิตก็ต่างเกาะเกี่ยวร้อยรัดซึ่งกันและกัน กลายเป็นภาพชีวิตผืนใหญ่แห่งลุ่มน้ำสะแกกรังตราบถึงทุกวันนี้
เหล่าอิริยาบทของพ่อค้าแม่ขาย ณ ตลาดสดเทศบาลสะแกกรัง
ของอร่อย ๆ มีให้เลือกซื้อเลือกกินกันไม่อั้น
พิกัดเส้นทาง Google Maps : ลานสะแกกรัง
- ช้อป ชิม และชิลตลาดพื้นบ้าน “ตลาดซาวไฮ่”
ย่างเข้าสู่ปีที่สี่ของ “ตลาดซาวไฮ่” ตลาดพื้นบ้านประจำอำเภอบ้านไร่ บรรยากาศความคึกคักของเสียงดนตรีและผู้คน ดูจะเป็นประจักษ์พยานความสำเร็จ ที่ คุณเมศ หนุ่มมาดเซอร์ผู้ก่อตั้งตลาดซาวไฮ่ ยืนยันถึงความตั้งใจตั้งแต่แรกเริ่มว่า"ผมหวังจะให้ตลาดซาวไฮ่เป็นมากกว่าพื้นที่ขายของอย่างเดียว โดยมุ่งปลูกฝังจิตสำสำนึกของการเป็นเจ้าของร่วมกัน เน้นให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อกำหนดทิศทางแต่ละก้าวของตลาด และเมื่อทุกคนรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของ ความรู้สึกหวงแหนย่อมเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ และเมื่อรักที่จะหวงแหน แน่นอนว่าอะไรที่มันดีอยู่แล้ว เราก็จะมีความรู้สึกอยากที่จะทำให้มันดียิ่งขึ้นกว่าเดิม...”
คุณเมศ ผู้ก่อตั้งตลาดซาวไฮ่
ของขายส่วนใหญ่ในตลาดซาวไฮ่เป็นส้นค้าเกษตรพื้นบ้าน ด้วยเพราะต้องการให้เกษตรกรพื้นที่ได้เห็นความสำคัญของการปลูกพืชที่หลากหลาย ทั้งยังนำมาซึ่งรายได้เลี้ยงจุนเจือครอบครัวอีกช่องทางหนึ่ง นักท่องเที่ยวที่มาเดินเที่ยวตลาดแห่งนี้ จึงไม่เพียงอุดหนุนและส่งเสริมรายได้ให้กับเกษตรกรเท่านั้น หากแต่ทุกคนกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยต่อลมหายใจ ไม่ให้วิถีเกษตรพื้นบ้านเหล่านี้เลือนหายไปตามกาลเวลา
ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในชุมชน นำมาวางขายในตลาดให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อ
ในแง่ของการจับจ่ายใช้สอย ตลาดซาวไฮ่แห่งอำเภอบ้านไร่ ดูจะไม่เป็นสองรองใครจากตลาดพื้นบ้านอื่น ๆ หากแต่ความสนุก ความบันเทิง ความรื่นเริงใจ ดูจะเป็นเรื่องรองลงไปทันใด เมื่อเรามองทะลุเห็นถึงความตั้งใจจริงจากการมีอยู่ของตลาดแห่งนี้ เหล่านี้ก็เพียงพอให้นักท่องเที่ยวอย่างเราพลอยอิ่มเอิบใจและร่วมดีใจไปกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นของ “ตลาดซาวไฮ่” ไปด้วยจริง ๆ
พิกัดเส้นทาง Google Maps : ตลาดซาวไฮ่
2. เสน่ห์แห่งวัฒนธรรม : ภูมิใจวิถีไทย สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น
- ไหว้พระทำบุญ ณ วัดถ้ำเขาวง
“ถ้าอยากใกล้ชิดสวรรค์ ให้ไปเข้าวัด” คำพูดเหล่านี้อาจฟังดูเลื่อนลอย นัยยะหนึ่งประโยคดังกล่าวเปรียบดังการอุปมาอุปไมย หากแต่จะมีพุทธศาสนสถานในอำเภอบ้านไร่สักกี่ที่ที่ใกล้เคียงกับประโยคที่ว่า ซึ่ง “วัดถ้ำเขาวง” ดูจะเป็นสถานที่ที่ใกล้เคียงมากที่สุด เริ่มตั้งแต่ทางเข้าบริเวณหน้าวัด ก็ให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าทะลุมิติมาอยู่ท่ามกลางสวรรค์จริง ๆ ศาลาวัดที่ก่อรูปขึ้นด้วยไม้ทั้งหลังแบบทรงไทยโบราณ ดูจะเป็นจุดดึงดูดสายตาให้เราต้องตกอยู่ในภวังค์ เพราะไม่ใช่แค่จุดเด่นทางสถาปัตยกรรมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ทัศนีภาพโดยรอบที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ รวมทั้งสะพานไม้ข้ามบ่อน้ำ นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้เราจินตนการความงามของสรวงสวรรค์ได้อย่างไม่ยากเย็น
และเมื่อเดินขึ้นไปสำรวจตัวศาลา แต่ละชั้นพุทธศาสนิกชนสามารถประกอบพิธีทางศาสนาได้ตามปกติ หน้าต่างทุกบาน เมื่อมองลอดจะเห็นทิวทัศน์สวยงาม มีฉากหลังเป็นภูเขาสูงชัน รวมทั้งยังมีพระพุทธบาทจำลอง ไว้ให้กราบไหว้บูชาได้โดยสะดวก และไม่ว่าจะเป็นเวลานานเท่าไรที่คุณใช้เวลาอยู่ที่วัดถ้ำเขาวง ความสงบร่มรื่น และความสวยงามตามแบบธรรมชาติผสมผสานกับการจัดแต่งของมนุษย์ เหล่านี้เติมเต็มจินตภาพสรวงสวรรค์ให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
พิกัดเส้นทาง Google Maps : วัดถ้ำเขาวง
- พิพิธภัณฑ์เรือนผ้าย่ายาย
เมื่อใดก็ตามที่พูดถึงจังหวัดอุทัยธานี เรามักจะนึกถึงอยู่ไม่กี่อย่าง แม่น้ำสะแกกรัง ผืนป่าห้วยขาแข้ง และขนมปังไส้สังขยา แต่จะมีใครรู้บ้างว่า...จังหวัดนี้ยังเป็นแหล่งทอผ้าราคาแพงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งอยู่ที่ “อำเภอบ้านไร่” แห่งนี้เอง และถ้าใครมีโอกาสมาเที่ยวอำเภอบ้านไร่ช่วงเทศกาลงานสำคัญ น่าจะมีโอกาสพบเห็นผู้สาวหลายรุ่นหลายวัยนุ่งซิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ อันสะท้อนถึงความงดงามทางหัตถศิลป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลวดลายบรรจงจรดลงผืนผ้า สำหรับนักสะสมผ้าที่มองเห็นคุณค่าผ้าทอโบราณตัวจริง นี่ย่อมเป็นสิ่งที่ยากจะประเมินคุณค่าได้เลยจริง ๆป้าจำปี ธรรมศิริ
“สมองมีหน้าที่สั่งลาย หัวใจมีหน้าที่สั่งทอ” จึงเป็นคำปณิธานที่ป้าจำปียึดถือในวิชาชีพมาโดยตลอด เราจึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมลวดลายผ้าทอของป้าจำปี ถึงมีเอกลักษณ์และมีความเฉพาะตัวเป็นอย่างมาก ป้ายังจำปียังแอบกระซิบเราเบา ๆ อีกด้วยนะว่า…“ผ้าทอแต่ละผืนที่เห็นอยู่นี้ ไม่มีการเก็บลายไว้ทำซ้ำ เหมือนผ้าทอทั่วไป ทุกวันนี้ป้าไม่ได้คิดเพียงแต่จะทอผ้าขายเท่านั้น แต่ป้าเปิดบ้านเอาไว้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นพิพิธภัณฑ์ ให้เยาวชนรุ่นใหม่ หรือใครก็ตามที่สนใจ เข้ามาเก็บเกี่ยวความรู้ตรงนี้ไป มากบ้างน้อยบ้าง นี่เป็นความตั้งใจของป้า ที่อยากจะสืบสานต่อไปให้นานเท่านาน”
ลวดลาดผ้าทอโบราณ มรดกทางภูมิปัญญาอันประเมินค่ามิได้
พิกัดเส้นทาง Google Maps : พิพิธภัณฑ์เรือนผ้าย่ายาย
3. เสน่ห์แห่งธรรมชาติ : ความสุขกับธรรมชาติบ้านไร่
- ต้นไม้ยักษ์กลางป่าหมาก
เดิมในอดีตพื้นที่ของจังหวัดอุทัยธานีมีต้นรังผึ้ง หรือ ต้นเซียง อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ด้วยสภาพการเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่อาศัย มีผู้คนมากมายเคลื่อนย้ายอพยพเข้ามายังพื้นที่ สร้างบ้านเรือน รวมถึงสร้างพื้นที่ทำมาหากิน ต้นไม่ใหญ่ที่มีอยู่โค่นล้มไปเป็นจำนวนมาก จะเหลือเพียงก็แต่ต้นผึ้งยักษ์ที่มีอายุร่วม 300-400 ปี กลางชุมชนบ้านสะนำ ยืนต้นสง่า แผ่อาณากิ่งก้านปกคลุอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีลุงเฮียง ชาวป่า ทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ต้นไม่แห่งศูนย์รวมจิตใจของทุคนในหมู่บ้านแห่งนี้
“ด้วยความที่ผมเป็นคนรักธรรมชาติ รักต้นไม้ มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ใจ เรียกว่าใจเรามันผูกพันไปกับรากต้นไม้ทุกต้นที่นี่ไปแล้ว” หลังฟังถ้อยคำน้ำเสียงของลุงเฮียง อยากที่จะปฏิเสธได้เลยว่า บุรุษมีอายุผู้นี้ทำหน้าที่ดังกล่าวด้วยใจสัตย์อย่างแท้จริง เสียงยืนกรานอันหนักแน่น และดวงตาที่แฝงร่องร่อยแห่งน้ำตารื้น ครั้งเมื่อลุงเฮียงเล่าถึงที่มาที่ไปก่อนจะมาทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ต้นไม้ยักษ์นี้
ลุงเฮียง องครักษ์พิทักษ์ต้นไม้ยักษ์แห่งบ้านสะนำ
“หลังจากที่ผมแต่งงานเมื่อตอนอายุ 22 พ่อตาซึ่งเป็นเจ้าของดั้งเดิมพื้นที่บริเวณต้นไม้ยักษ์แห่งนี้ ตัดสินใจขายต้นไม้ให้แก่พ่อค้าไม้ เพื่อจะเอาไปทำไม้ขีดไฟ ไม้ไอศกรีม แต่ตอนนั้น ไอ้เรารู้สึกรักและหวงแหนต้นไม้ต้นนี้ จึงขอพ่อตาเอาไว้ และขอเป็นผู้ดูแลต้นไม้นี้แทน ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะกลายเป็นที่เที่ยวที่คนมาเยอะขนาดนี้ ถามว่ารู้สึกดีใจไหม ? ก็ดีใจนะ เหมือมันได้เติมเต็มความรู้สึกข้างในใจของผมให้มันสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น…”
ต้นไม้ยักษ์ต้นนี้ถูกโอบกอดด้วยความรักและความหวงแหน ทั้งจากตัวลุงเฮียงเอง และจากผู้คนต่างถิ่นที่แวะมาเยี่ยมเยือน อย่างน้อย ๆ ก็เป็นสิ่งย้ำเตือนบอกให้ลุงเฮียงได้รู้ว่า ตลอดชั่วเวลาชีวิตกับหน้าที่ผู้พิทักษ์ไม่มีวันและไม่มีทางสูญเปล่าอย่างแน่นอน
พิกัดเส้นทาง Google Maps : ต้นไม้ยักษ์
- ผืนป่าห้วยขาแข้ง
ผืนป่าห้วยขาแข้ง แม้อาจจะไม่ได้ตั้งอยู่ในอำเภอบ้านไร่ (ระยะทางห่างจากอำเภอบ้านไร่ประมาณ 100 กว่ากิโลเมตร) แต่ก็เป็นสถานที่ที่คุ้มค่าต่อการดั้นด้นเดินทางมาเยือน เส้นทางถนนลูกรังขรุขระ ไร้ซึ่งยางมะตอย ปกคลุมด้วยกลุ่มฝุ่น เป็นสัญญาณเตือนบอกให้รู้ว่า เรากำลังเข้าสู่เขต “บ้านของสัตว์ป่า” แล้ว ต้นไม้สองข้างทางยืนต้นสูงชะลูดเรื่อยไปตามเส้นทางการเคลื่อนตัวของรถ
ไม่นานเราก็มายังจุดหมายแรกของการเหยียบผืนป่ามรดกโลก “อนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร” อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผู้อุทิศร่างและจิตวิญญาณปกป้องผืนป่าจนวาระลมหายใจสุดท้ายของชีวิต มองจากระยะไกล มีลักษณะเป็นเนินดินปกคลุมด้วยหญ้าแฝก จากทางเข้าจะมองเห็นรูปปั้นสืบยินอยู่ไกล ๆ และเมื่อมองพื้นทางเดิน จะเห็นเป็นพื้นหินที่ต่อกันคล้ายกับจิ๊กซอว์ เป็นสื่อสัญลักษณ์แทนภารกิจการงานในนามผู้พิทักษ์ป่าทุกคน ที่จะต้องสานต่อหน้าที่นั้นให้ลุล่วงต่อไปเรื่อย ๆ ตราบนานเท่านาน
ผละจากบริเวณอนุสรณ์และรูปปั้นสืบมาไม่เท่าไร ก็จะเจอกับบ้านพักคุณสืบ ซึ่งทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งยังคงเก็บรักษาไว้ ห้องทางซ้ายของตัวบ้าน คือ ห้องทำงานของคุณสืบ และห้องทางขวาของตัวบ้าน คือ ห้องนอนที่คุณสืบได้เสียสละชีวิตเพื่อสืบสานชีวิตผืนป่าและสัตว์ป่าทุกตัว ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ยังคงวางไว้ตำแหน่งเดิมมิเปลี่ยนแปลง และต่อวิญญาณจะดับสลาย หากอุดมการณ์ของคุณสืบได้ฝั่งเอาไว้ ณ ที่แห่งนี้แล้ว
ห้องทำงานและห้องนอนของสืบ นาคะเสถียร
ถัดมาเป็นในส่วนของ “อาคารนิทรรศการมรดกโลก” ภายในแบ่งเป็นโซนต่าง ๆ นำเสนอคุณค่าของทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ตลอดจนความหลากหลายของสัตว์ป่า นอกจากนี้ยังนำเสนอในเชิงการจัดการผืนป่ามรดกโลก โดยสนับสนุนการเรียนรู้และการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เป็นการลาดตระเวณเชิงคุณภาพ ที่เจ้าหน้าที่สามารถเก็บบันทึกข้อมูลการพบสัตว์ป่า พันธุ์ไม้ เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านงานวิจัยและอนุรักษ์ รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชนให้ร่วมกันดูแลผืนป่าต่อไปในอนาคต
และส่วนสุดท้ายที่เราได้รับโอกาสให้เข้าเยี่ยมชม นั่นคือ “สถานที่เพาะพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง” สถานที่ทำให้คุณได้รู้จักคุณค่าชีวิตทุกชีวิตของสัตว์ป่า โดยมีภารกิจหลัก คือ การเพาะพันธุ์สัตว์เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ตลอดจนการดูแลสัตว์ป่าและช่วยเหลือดูแลสัตว์ป่าที่พลัดหลง เราเดินพลางสำรวจแววตา สีหน้า และท่าทางสัตว์ทุกตัวตลอดอาณาเขตสถานที่เพาะพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แล้วอดนึกโทษในใจตัวเองเบา ๆ ไม่ได้ว่า พวกเราทุกคนล้วนมีส่วนที่ทำให้สัตว์และตัวต้องเผชิญหน้ากับชะตากรรมที่เลวร้าย บ้านที่พวกเขาอยู่ควรจะเป็นป่า หาใช่ในลูกกรงกักขังอิสรภาพเช่นนี้
พิกัดเส้นทาง Google Maps : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง