เพลิดเพลินชมวิว ทุ่งสามร้อยยอด

ทุ่งสามร้อยยอด

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ททท. และ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด

          ถ้าเอ่ยชื่อของ "สามร้อยยอด" นักเดินทางคงคิดถึงภาพบรรยากาศความยิ่งใหญ่อลังการ ของท้องทุ่งอันกว้างไกลสุดสายตา ประกอบกับฉากหลังที่เป็นเขาหินปูนใหญ่ทะมึนเสียดฟ้า และในฤดูกาลที่เหมาะสมจะมี "บัวหลวง" ออกดอกบัวสีสวยจะชูช่อสลอนเต็มท้องทุ่ง แต่จริง ๆ แล้ว สามร้อยยอด ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวแจ่ม ๆ แจ๋ว ๆ อีกมากมาย รอให้ไปสัมผัส วันนี้กระปุกดอทคอมจึงจะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จัก "สามร้อยยอด" กันอีกสักครั้ง

          สามร้อยยอด หรือ ทุ่งสามร้อยยอด อยู่ในความดูแลของ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่ง อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 4 ของประเทศไทย และเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรก

          ทุ่งสามร้อยยอด เป็นพื้นที่ราบที่มีน้ำขังตลอดปี อยู่ทางด้านตะวันตกของ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ซึ่งในอดีตเคยเป็นทะเลหรืออ่าว ต่อมาถูกปิดกั้นด้วยตะกอนและสันทราย ทะเลถอยร่นออกไป ได้รับอิทธิพลน้ำจืดจากแผ่นดิน มีการสะสมของตะกอนที่ราบลุ่ม ค่อย ๆ กลายเป็นทุ่งน้ำกร่อย และทุ่งน้ำจืดตามลำดับ ซึ่งน้ำจืดใน ทุ่งสามร้อยยอด ส่วนหนึ่งมีแหล่งกำเนิดมาจากเทือกเขาตะนาวศรี ไหลผ่าน ห้วยโพระดก ห้วยขมิ้น ห้วยหนองคาง ห้วยไร่ตาพึง แล้วระบายลงสู่ทะเลตามคลองเขาแดง อีกส่วนหนึ่งไหลจากเทือกเขาสามร้อยยอด ทุ่งสามร้อยยอดมีระดับน้ำลึกเฉลี่ย 3 เมตร

ทุ่งสามร้อยยอด

          ขณะเดียวกัน สามร้อยยอด เป็นชื่อที่มีตำนานเล่าว่า พื้นที่แถบนี้เคยเป็นทะเล มีหมู่เกาะน้อยใหญ่เรียงรายกัน ครั้งหนึ่งเคยมีเรือสำเภาจีนแล่นผ่านมา แต่ประสบลมพายุรุนแรงจนเรือใกล้อับปาง จึงแวะหลบภัยเข้ามาตามร่องน้ำด้านทิศตะวันตกของเกาะ แต่เนื่องจากไม่ชำนาญพื้นที่ เรือได้ชนกับหินโสโครกอับปางลง ผู้คนจมน้ำตายจำนวนมาก ที่เหลือรอดตายขึ้นมาอาศัยอยู่บนเกาะประมาณ 300 คน จึงได้ตั้งชื่อว่า "เกาะสามร้อยรอด" ต่อมาระดับน้ำทะเลได้ลดลง เกาะกลายเป็นภูเขา ชาวบ้านเรียกคลาดเคลื่อนเป็น "เขาสามร้อยยอด" บริเวณที่สันนิษฐานว่าเรือจมนั้นชาวบ้านเรียกว่า "อ่าวทะเลสาบ" เคยมีผู้พบซากเสากระโดงเรือโบราณในบริเวณนี้ด้วย บางข้อสันนิษฐานว่า เป็นเพราะมีต้นสามร้อยยอดขึ้นอยู่ หรือมียอดเขามากมายถึง 300 ยอด

          ทุ่งสามร้อยยอด นอกจากจะมี บัวหลวง มากมายแล้ว ที่นี่ยังจัดเป็นทุ่ง "กก" ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และในช่วงปลายปีจะมีนกอพยพเดินทางมาสร้างรังวางไข่ และชุมนุมกันอยู่ที่นี่เป็นจำนวนมาก ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งดูนกที่สำคัญของบ้านเรา แม้ในช่วงเวลาปกติก็ยังคงมีนกอาศัยอยู่มาก และตลอดเวลาของการเดินเที่ยวชมไปตามสะพานไม้ที่ทอดยาวไปเหนือทุ่ง จะได้ยินเสียงนกที่ออกหากินอยู่เสมอ สายลมที่พัดโชยตลอดเวลา ช่วยทำให้การเดินเที่ยวชมยามเที่ยงไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้าต้องการถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกก็ให้มาในช่วงเย็น เพราะทุ่งแห่งนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก

จุดชมวิวเขาแดง

สถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้แก่...
 
          จุดชมวิวเขาแดง อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 157 เมตร จุดชมวิวนี้อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ไปตามถนนลาดยาง 400 เมตร แล้วเดินขึ้นเขาไปอีก 300 เมตร ใช้เวลาประมาณ 30 นาที เวลาที่เหมาะแก่การขึ้นชมวิว คือ ตอนเช้ามืดประมาณ 05.30 น. เพราะสามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นเหนือขอบทะเลบ้านเขาแดงและทัศนียภาพรอบ ๆ ได้ดี ตลอดจนชมนก ลิงแสม และค่างแว่นที่ออกหาอาหารในตอนเช้าตรู่

          คลองเขาแดอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 1.5 กิโลเมตร กิจกรรมที่นักท่องเที่ยวนิยมได้แก่ การล่องเรือ โดยเช่าเรือจากบ้านเขาแดง ลงเรือที่ท่าน้ำหน้าวัดเขาแดงล่องไปตามลำคลองประมาณ 3-4 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางไปกลับประมาณ 1 ชั่วโมง ในระหว่างล่องคลองชมวิวทิวทัศน์ป่าชายเลน จะเห็นนกนานาชนิด เวลาที่เหมาะสมที่จะล่องเรือชมธรรมชาติคือ 16.30–17.00 น. เพราะสามารถชมและถ่ายภาพพระอาทิตย์ตก

          หาดแหลมศาลา เป็นหาดสนที่มีทรายขาว ล้อมรอบด้วยภูเขาเป็นรูปตัวยู ด้านหน้าเป็นชายทะเล มีเกาะสัตกูดบังคลื่นอยู่ด้านหน้า ทำให้เกิดบรรยากาศอันเงียบสงบเหมะสำหรับการพักผ่อน มีบ้านพัก เต็นท์ ห้องน้ำ-ห้องสุขา เส้นทางศึกษาธรรมชาติและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ไว้บริการ มีร้านอาหารของภาคเอกชน ซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช แล้ว

ถ้ำพระยานคร

          ถ้ำพระยานคร เป็นถ้ำขนาดใหญ่ อยู่ในบริเวณหาดแหลมศาลา มี 3 คูหา โดยสองคูหามีปล่องด้านบน ส่วนด้านล่างในถ้ำเป็นป่า ต้นไม้ค่อนข้างสูงชะลูด ถ้ำพระยานครถูกค้นพบโดยพระยานคร ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช แต่ไม่ทราบนาม และในสมัยรัชการที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงทราบว่าถ้ำนี้สวยงามมาก จึงมีพระราชประสงค์ใคร่จะเสด็จประพาส จึงให้นายช่างประจำราชสำนักก่อสร้างพลับพลาแบบจตุรมุขขนาดย่อยตั้ง ไว้บนเนินดินกลางถ้ำ พระองค์เสด็จประพาสเมื่อ 20 มิถุนายน 2433 และพระราชทานนามพลับพลานี้ว่า "พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์" ถ้ำพระยานครนี้จะต้องเดินเท้าขึ้นไปจากหาดแหลมศาลาอีกประมาณ 430 เมตร

          เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ได้จัดทำสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนไว้บริการนักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ที่สนใจสภาพป่าและสิ่งมีชีวิตในป่าชายเลน ตลอดทางเดินจะมีป้ายสื่อความหมาย เกี่ยวกับสภาพป่าและสิ่งมีชีวิตในป่าชายเลนเป็นระยะ ๆ

สามร้อยยอด

การเดินทาง

          ใช้ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4) ผ่านจังหวัดเพชรบุรีจนถึงอำเภอปราณบุรี ที่สี่แยกปราณบุรีนี้ ให้คุณเลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายปากน้ำปราณบุรี บริเวณสี่แยกเป็นที่ตั้งของห้างโลตัสปราณบุรี) เข้าไปประมาณ 4 กิโลเมตร จะมีทางเลี้ยวขวา (ถนน รพช.) ไปตามป้ายอีกประมาณ 31 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการฯ

          สาเหตุที่แนะนำให้ใช้เส้นทางนี้ เพราะว่าเป็นเส้นทางเลียบชายทะเลที่ไม่ค่อยมีรถพลุกพล่านมากมายนัก อีกทั้งเป็นเส้นทางที่มีทรรศนียภาพสวยงาม มองเห็นทิวเขาหินปูนได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้คุณเข้าใจได้ทันทีว่าเหตุใดที่นี่จึงได้ชื่อว่า "สามร้อยยอด"




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
  และ 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เพลิดเพลินชมวิว ทุ่งสามร้อยยอด อัปเดตล่าสุด 27 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 18:01:14 5,845 อ่าน
TOP
x close