สิงห์บุรี เมืองคนจริง ถิ่นวีระชนคนกล้า

สิงห์บุรี

สิงห์บุรี

สิงห์บุรี (ททท.)

          ถิ่นวีระชนคนกล้า คู่หล้าพระนอน นามกระฉ่อนปลาแม่ลา เทศกาลกินปลาประจำปี...นี่คือคำขวัญของ "เมืองคนจริง สิงห์บุรี"

          คำกล่าวขานเรียกนามจังหวัดนี้ มีที่มาจากวีระกรรมของชาวบ้านบางระจันในสมัย แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2310) ซึ่งถึงแม้ว่าจะต้องเสียกรุงไปในที่สุด แต่กองทัพพม่าที่เดินทัพผ่านมายังบ้านบางระจัน เพื่อเข้าตีเมืองอโยธยานั้น ไม่สามารถทำได้โดยง่าย เพราะชาวบ้านบางระจันได้รวมตัวกันลุกขึ้นสู้ตามมีตามเกิด เพื่อต้านทานกองทัพอันเกรียงไกรของพม่าเอาไว้ได้นานถึง 5 เดือนเต็ม โดยที่ใช้อาวุธสุดแท้ที่จะหาได้ มี พร้า จอบ เสียม เป็นต้น และไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ จากทางอโยธยาเลยแม้แต่น้อย แม้ว่าจะพ่ายแพ้ไปในที่สุด แต่วีระกรรมอันสุดแสนกล้าหาญของชาวบ้านบางระจันในครั้งนั้น จะยังคงเป็นที่จดจำและประทับใจลูกหลานชาวไทยตลอดไป


          สิงห์บุรี อยู่ในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ลักษณะหน้าดินนั้นเป็นดินตะกอนปากแม่น้ำ ซึ่งมีแร่ธาตุและสารอาหารสูงซึ่ง เหมาะแก่การเพาะปลูกเป็นอย่างมาก สิงห์บุรีจึงเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเมืองไทย ทุกหนทุกแห่งที่เดินทางไปถึงนั้น อย่างไรเสียก็ต้องมองเห็นทุ่งข้าวเขียวขจี อยู่ในสายตาไม่มากก็น้อย


สิงห์บุรี


          และด้วยความที่เป็นพื้นที่ ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับเมืองแห่งพุทธศาสนาหลาย จังหวัดสิงห์บุรีจึงมีวัดวาอารามจำนวนไม่น้อยที่น่าสนใจ และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ บางแห่งนั้นสวยงาม และโอบล้อมไปด้วยผืนสีทองของนาข้าวยามออกรวงสุกปลั่งเสริม ให้องค์พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่ตั้งตระหง่านนั้น งดงามตระการตายิ่งขึ้น

          สถานที่ท่องเที่ยวนั้นยังไม่เด่นชัดมากมายนัก แต่ถ้าเป็นเรื่องอาหารการกินแล้วละก็ สิงห์บุรี ไม่เป็นที่สองรองใคร มีอาหารหลากหลายชนิดให้เลือกชิมได้ทั้งวัน โดยเฉพาะตามแหล่งตลาดเก่าแก่ต่าง ๆ เช่น ตลาดบ้านแป้ง ตลาดปากบาง ตลาดพรหมบุรี ฯลฯ นั้นเต็มไปด้วยสารพัดอาหารพื้นบ้านรสชาติเยี่ยม ที่บางอย่างก็ไม่สามารถหาทาน ที่ไหนได้ โดยเฉพาะในเมนูปลาแล้ว สิงห์บุรี พร้อมที่จะทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจได้ตลอดเวลา สังเกตได้จากการที่เมืองทั้งเมืองต่างก็ใช้สัญลักษณ์เป็น "ปลา" เพื่อยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ และรับรองเป็นเซียนปลาน้ำจืดตัวจริง

          และที่ไม่น่าเชื่อก็คือ คนเมืองสิงห์สามารถพลิกแพลงนำเนื้อปลาช่อน จากลำน้ำแม่ลามาปรุงเป็น "เค้กปลาช่อน" ด้วยฝีมือของเกษราเบเกอรี่ที่โด่งดังไปทั่วประเทศและทั่วโลก หากอยากรู้ว่ารสชาติจะเป็นเช่นไรก็ต้องลองไปชิมกันดู ขอบอกว่าคนเกลียดปลาก็ทานได้โดยที่ไม่รู้สึกอะไรเลย

สิงห์บุรี

แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่...

          วัดพิกุลทอง อยู่ในเขตตำบลวิหารขาว ห่างจากตัวเมืองประมาณ 16 กิโลเมตร อยู่ห่างจากวัดพระนอนจักรสีห์ วรวิหารไปประมาณ 9 กิโลเมตร เดิมชื่อว่า "วัดใหม่พิกุลทอง" แต่มักเรียกขานกันว่า "วัดใหม่" เพราะสร้างขึ้นใหม่ในเขตบริเวณนี้ สร้างเมื่อ พ.ศ.2434 โดยขุนสิทธิ์, นายกลับ สถิตย์บุตร และนายช่วง เป็นหัวหน้าดำเนินการก่อสร้าง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2440 ต่อมาในปี พ.ศ.2483 ได้ขอเปลี่ยนนามวัดเป็น "วัดพิกุลทอง" บริเวณวัดพิกุลทองแบ่งเป็นสองส่วนคือส่วนของตัววัดเดิม และส่วนของที่สร้างขึ้นใหม่ฝั่งตรงข้าม เป็นวัดที่มีความสวยงามด้วยศิลปกรรมและการตกแต่ง มีศาสนสถานที่สำคัญหลายอย่าง เช่น วิหารรูปหล่อหลวงพ่อแพองค์ใหญ่, วิหารพระพุฒจารย์โต, พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อแพ, พระพุทธรูปประทานพรขนาดใหญ่ พระพุทธสุวรรณมงคลหามุนี, พระสีวลี, พระสังกัจจายนะ, วิหารคด, พระประธานในอุโบสถ, พระพิฆเนศ ภายในวัดร่มรื่น มีจุดนั่งพักผ่อนทั่วบริเวณ ด้านหน้าวัดมีตลาดของกินและของฝากหลายอย่าง ฝั่งตรงข้ามเป็นที่จอดรถและร้านบริการอาหารเครื่องดื่มมากมาย 

          ภายในบริเวณ วัดพิกุลทอง มีรูปหล่อเหมือนหลวงพ่อแพองค์ใหญ่ ที่ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารสวยทรงสูง เป็นวิหารและรูปหล่อที่เหล่าลูกศิษย์ร่วมกันสร้างถวายแด่หลวงพ่อ หลังจากที่องค์หลวงพ่อได้มรณภาพ ลงเมื่อปี 2542 ภายในนอกจากจะมีรูปหล่อหลวงพ่อองค์ใหญ่แล้ว ก็ยังมีการจัดแสดงรูปภาพขนาดใหญ่ของหลวงพ่อ ตั้งแต่สมัยท่านอุปสมบทเป็นสามเณร จนถึงวัยชราภาพประดับไว้ตามฝาผนังของวิหาร แต่ละรูปเรียกว่าหาดูได้ ยาก ภายในวิหารมีบริการดอกธูปเทียนในการบูชาองค์หลวงพ่อ มีประชาชนเดินทางเข้ามากราบไหว้รูปหล่อหลวงพ่อ ภายในวิหารอย่างไม่ขาดสาย


สิงห์บุรี


          ตลาดเทศบาล เริ่มต้นกันที่แหล่งวัตถุดิบอย่าง "ตลาดเทศบาล" ที่ตั้งอยู่ในเขตตัวเมือง ซึ่งก็สมกับที่เป็นเมืองปลาเพราะมีปลาหลากหลายชนิด ทั้งสดและแห้งวางขายกัน อยู่เกลื่อนกล่นมากมายหลายชนิด แทบจะเรียกได้ว่าเป็นสวรรค์ของผู้ที่ชื่นชอบ การรับประทานปลาน้ำจืดอย่างแท้จริง สิ่งที่ชึ้นชื่อที่สุดก็คือปลาแดดเดียว โดยเฉพาะปลาช่อนแดดเดียวนั้นคือสิ่งที่ถูกถามหามากที่สุด และก็มีวางขายอยู่มากที่สุดเช่นกัน         

          ดูโน่นส่องนี่ไปเรื่อย ๆ ก็เจอกับของประหลาดอย่าง "กุนเชียงปลา" อันที่จริงแล้ว "กุน" แปลว่า หมู ซึ่งเราก็จะคุ้นเคยกันว่ากุนเชียงนั้นทำมาจากเนื้อหมู แต่ปัจจุบันนี้ก็มีการดัดแปลงเนื้อชนิดอื่น ๆ มาทำเป็นกุนเชียงอย่าง ไก่เชียง เนื้อเชียง สำหรับที่นี่ก็เลยจัดการเอาเนื้อปลามาทำบ้าง ถึงแม้ว่าจะเรียกกันติดปากว่ากุนเชียงปลา แต่ชื่อจริง ๆ นั้นก็คือ "กวนเชียง" ปลาที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบนั้น เท่าที่เดินถามเห็นมีใช้อยู่สองชนิดก็คือ ปลานวลจันทร์และปลากราย อยากรู้ก็ต้องไปลองซื้อหามาชิม ไม่ได้มีขายที่ไหนนอกจากที่นี่       

          อีกสิ่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงของเมืองสิงห์บุรีก็คือขนม โดยเฉพาะ "ขนมเปี๊ย" นั้นถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่เลยทีเดียว ในตลาดสดแห่งนี้ก็มีวางขายอยู่ดาษดื่น แต่มีอยู่เจ้าหนึ่งที่ไม่เหมือนใคร นั่นก็คือ "ขนมเปี๊ยโรตีนายกิมเซี้ยะ" ที่เอาขนมเปี๊ยมาปิ้งบนกระทะเหล็กร้อนฉ่า อย่าคิดว่าเป็นร้านใหญ่โต เพราะเป็นแค่มุมรถเข็นในซอกหนึ่งของตลาดเท่านั้น รสชาติกรอบมันอร่อยแปลกต่างจากขนมเปี๊ยปกติ มีสองใส้ให้เลือกซื้อ ถามคนในตลาดได้ทุกคนว่าเปี๊ยปิ้งนายกิมเซี๊ยะอยู่ตรงไหน ขนมบรรจุในกล่องสีแดงหน้าตาสวยงาม ใช้เป็นของฝากจากเมืองสิงห์ได้เลย  และจะพลาดไม่ได้กับ "ซาลาเปาแม่สายใจ" ที่ทำซาลาเปาขายมานานกว่า 40 ปี เดินออกจากตัวตลาดเลาะริมเขื่อนเจ้าพระยามาเพลิน ๆ อย่ามัวมองหาร้านที่ดูยิ่งใหญ่สะดุดตา เพราะร้านนี้เป็นแค่ห้องแถวเล็ก ๆ ที่ดูธรรมดามาก


สิงห์บุรี


          ซึ้งนึ่งหน้าร้านส่งควันฉุยตลอดเวลา ไม่สังเกตจริงก็คงจะอดกินเพราะดูเหมือนบ้านช่องห้องหอปกติทั่วไป มีเพียงป้ายหน้าร้านที่บอกให้รู้ว่าที่นี่คือ "ซาลาเปาทูลเกล้า แม่สายใจ" เท่านั้น แต่นี่เป็นซาลาเปาในระดับ "ทูลเกล้า" ถวายให้กับเชื้อพระวงศ์และบุคคลสำคัญหลายต่อหลายครั้ง ในโอกาสที่สิงห์บุรี ต้องต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ซาลาเปามีหลายใส้เช่นเดียวกับที่ขายกันทั่วไป แต่ที่ดูอลังการก็คือ "ฮ่องเต้" เรียวขนาดใหญ่ยัดใส้ด้วยหมูสับ เห็ดหอม ฮอทดอก โบโลน่า ปูอัด กินก้อนเดียวอิ่มไปครึ่งวัน เนื้อแป้งซาลาเปานุ่มหนา แม้หมดความร้อนไปแล้วก็ยังคงความอร่อย รสชาติไม่เลี่ยนจนเกินไป สมแล้วที่เป็นอาหารรับรองบุคคลสำคัญ และที่สมกับเป็นเมืองปลาก็คือ "ซาลาเปาใส้ปลาช่อนแม่ลา" รสชาติจะเป็นแบบไหนก็ต้องหาโอกาสแวะไปชิมที่ริมเขื่อนกันดู    
  
          เดินกลับมาทางตัวตลาดอีกไม่ไกล ก็จะถึงสามแยกวัดโพธิ์แก้ว ที่นั่นมีร้านชื่อ "กวนเชียงนายอิ้ว" ต้นตำรับกวนเชียงปลาเจ้าแรก ซึ่งคิดค้นวิธีการผลิตกวนเชียงปลามาตั้งแต่ยังหนุ่มๆ จนบัดนี้นายอิ้ว อายุ 74 ปีแล้ว อยากเจอผู้คิดค้นกวนเชียงปลา ก็ต้องลองแวะไปอุดหนุนกันดูที่หัวถนนขุนสรรค์ สามแยกวัดโพธิ์แก้ว ใกล้ตลาดนิดเดียวเอง


สิงห์บุรี


          ตลาดบ้านแป้ง ถ้าใครรู้จัก "วัดอัมพวัน" ตลาดบ้านแป้งก็อยู่ในบริเวณนั้นไม่ไกล อย่าเข้าใจว่าที่นี่จะเหมือนตลาดเก่าทั่วไป เพราะเมื่อแรกเข้าไปถึงก็คงจะงง ๆ ว่านี่หรือตลาดบ้านแป้ง? เพราะมีขนาดเล็กมาก จากถนนสายเอเซีย (ทางหลวงหมายเลข 32) แยกซ้ายมือเข้าซอยไปวัดกลางธนรินทร์ ผ่านโรงเรียนเข้าไปก็ถึงแล้ว ตอนผ่านเข้าวัดกลางธนรินทร์ก็จะได้พบกับ "พระบรมธาตุเจดีย์บ้านแป้ง" เจดีย์เก่าแก่ขนาดใหญ่ที่บรรจุพระธาตุเอาไว้ภายใน ช่วงวันที่ฟ้าสวย ๆ คนถ่ายภาพคงจะเก็บเจดีย์แห่งนี้ เข้ากล้องกันจนเซนเซอร์ร้อนเลยทีเดียว         

          ตลาดบ้านแป้ง เป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่มีอาคารไม้ห้องแถวอยู่ไม่กี่ห้อง แต่เสน่ห์ของที่นี่ก็คือความเก่า และเก๋าเกมส์ของมือทำอาหารรุ่นเดอะ ที่ดังสุด ๆ ในหมู่คนรู้ก็คือ ร้านก๋วยเตี๋ยวบ้านแป้ง ของคุณตาสมศักดิ์ ที่เปิดขายมาตั้งแต่ พ.ศ. 2495 (ก่อนที่อันธพาลจะครองเมืองตั้ง 4 ปี) เอกลักษณ์ของร้านนี้ก็คือเส้นบะหมี่รูปทรงแบนที่ทางร้านทำขึ้นเอง เปิดขายมาตั้งแต่ชามละไม่กี่สิบตังค์ รสชาติอร่อยตามแบบฉบับก๋วยเตี๋ยวย้อนยุค แค่ยืนดูคุณตาอายุแปดสิบกว่า ๆ ยืนทำก๋วยเตี๋ยวอย่างคล่องแคล่วก็เพลิดเพลิน (จนคนหนุ่มอย่างเราได้อาย) ก็คุ้มแล้ว


สิงห์บุรี


          ซอกเล็ก ๆ หลังร้านก๋วยเตี๋ยวของคุณตาสมศักดิ์ เป็นอีกร้านหนึ่งที่ใครไปเยือนแล้วต้องแวะไปอุดหนุน นั่นคือ ร้านขนมหวานของคุณลุงจำเนียร ที่ขายกันแบบอารมณ์ดี ทั้งทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน ขนมชั้น หม้อแกง และอีกสารพัดขนมที่รสชาติกำลังพอดี ไม่หวานจัดจนเกินไป วางเรียงรายรอลูกค้า หากมาช้าก็มีพลาดอดชิมบางอย่าง ที่ขายดิบขายดีแน่ ๆ เอกลักษณ์ของร้านนี้ก็คือจะใช้ "ไข่เป็ด" ในการทำขนม แถมยังต้องเป็นเป็ดไล่ทุ่งที่เลี้ยงปล่อยตามธรรมชาติด้วย เหตุผลของลุงจำเนียรก็คือ ไข่ไก่นั้นใสเกินไป ทำขนมแล้วไม่มันอร่อยเท่าไข่เป็ด แถมไข่เป็ดฟาร์มก็อร่อยสู้ไข่เป็ดไล่ทุ่งไม่ได้อีกด้วย ใส่ใจรายละเอียดกันมาถึง 30 ปีตั้งแต่ตั้งร้าน ไม่ลองได้หรือ?

          ฝั่งตรงกันข้ามเพียงไม่กี่ก้าว มีอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นนางเอกของที่นี่ นั่นก็คือ "ขนมเบื้องญวน" ด้วยความที่เป็นของเชิดหน้าชูตาแห่ง ตลาดบ้านแป้ง ทำให้วันนี้เริ่มมีร้านคู่แข่ง ผุดขึ้นมาตั้งเคียงกับร้านเจ้าเก่าแต่ก่อนกาลอย่าง "ขนมเบื้องญวนแม่ประเสริฐ" ด้วยสโลแกนโก้เก๋อุดมมงคลว่า "กินแล้วรวย" หลังจากที่ใช้ตะหลิวพับขนมเบื้องบนเตาถ่านมาสามสิบปี วันนี้แม่ประเสริฐเริ่มส่งต่อฝีมือการปรุงขนมสีเหลืองสด ชนิดนี้ให้กับผู้สืบทอดรุ่นถัดมา แต่ตัวเองยังคงทำหน้าที่ควบคุมและต้อนรับลูกค้าอยู่ในร้าน ถึงกระนั้นก็ยังคงรสชาติเอร็ดอร่อยอยู่ดี แป้งขนมเบื้องที่ทอดจนสุกนั้นกรอบได้ที่ ใส้ในหลายอย่างให้รสเค็มปะแล่มแต่ก็มีมะพร้าวฝอยสีอิฐ มาตัดรสหวานให้กลมกล่อม ทานร่วมกับอาจาดรสออกเปรี้ยวหวานนิด ๆ แก้เลี่ยนอร่อยจนลืมโลก กินไปคุยไปถามไถ่ความหลังจากป้าประเสริฐไปด้วย บรรยากาศรอบตัวก็เปลี่ยนเป็นสมัยห้าสิบปีที่แล้วเลยทีเดียว...        

          ความเก่าแก่ของร้านนี้ยืนยันได้ด้วยตัวคุณป้าประเสริฐเอง เพราะแกกระซิบบอกกับเราว่าจบโรงเรียนประถมมาพร้อมกันกับ คุณตาสมศักดิ์ ที่ขายก๋วยเตี๋ยวอยู่ทางนู้นนั่นแหละ...อย่าลืมเหลือพื้นที่ให้กับขนมเบื้องญวน เป็นกำลังใจให้คุณป้าประเสริฐเขาบ้างล่ะ!


สิงห์บุรี


          อะ ๆ ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ สิงห์บุรี ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมายหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ในตำบลจักรสีห์ สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี  ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ขนาดใหญ่ มีพุทธลักษณะแบบสุโขทัยที่มีความงดงามมาก มีความยาว 47 เมตร 42 เซนติเมตร (1 เส้น 3 วา 2  ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว) ลักษณะพระพักตร์ หันไปทางทิศเหนือ พระเศียรหันไปทางทิศตะวันออก นอกจากนี้ ยังมี พระกาฬ เป็นพระพุทธรูปศิลาลงรักปิดทอง และพระแก้ว พระหล่อนั่งขัดสมาธิเพชรอันศักดิ์สิทธิ์และมีพระพุทธลักษณะงดงาม ทั้งพระกาฬและพระแก้วสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ใช้เป็นพระประทานในการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการ ด้านหน้าวิหารมีต้นสาละลังกาใหญ่ต้นไม้สำคัญ          

          วัดหน้าพระธาตุ อยู่ในเขตบ้านพระนอนจักรสีห์ ตำบลจักรสีห์ ห่างจากวัดพระนอนจักรสีห์ไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร เดิมชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า วัดหัวเมือง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดหน้าพระธาตุ สันนิษฐานว่าสถานที่บริเวณนี้จะเป็นที่ตั้งของเมืองสิงห์บุรีเก่า สิ่งที่สำคัญของวัดนี้คือ องค์พระปรางค์สูงประมาณ 8 วา ทำเป็นรูปครุฑ อสูรถือกระบองประดับอยู่เหนือชั้นเชิงบาตร ภายหลังมีการเสริมแต่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบศิลปะอยุธยาตอนต้น โดยการก่ออิฐเพิ่มเติมเป็นซุ้มจรนัมทั้งสี่ด้าน ตั้งแต่ฐานศิลาแลงขึ้นไปก่อด้วยอิฐย่อมุมทรงปรางค์ กลีบขนุนปรางค์ก่อด้วยอิฐ ทิศตะวันออกขององค์ปรางค์มีพระวิหารหลวง ทิศตะวันตกเป็นพระอุโบสถ และมีเจดีย์กลมเรียงรายหลายองค์ เป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 

          ศูนย์อนุรักษ์ควายไทยเขางาม เป็นสถานที่เลี้ยงควายไทยเพื่ออนุรักษ์ไม่ให้หมดสิ้นไปจากประเทศ โดยมอบให้เกษตรกรนำไปขยายพันธุ์ต่อไป รวมทั้งเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของควายไทย ที่ได้ร่วมรบกับชาวบ้านบางระจัน ต่อสู้กับพม่าเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 วัดอัมพวัน ตั้งอยู่ที่ตำบลพรหมบุรี ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 36 กิโลเมตรที่ 130 เป็นวัดที่มีชื่อเสียงในด้านการปฏิบัติธรรมทางวิปัสสนากรรมฐาน มีพระราช สุทธิญาณมงคล (หลวงพ่อจรัญ  ฐิตธมโม) เป็นเจ้าอาวาส 

          วัดสว่างอารมณ์ ตั้งอยู่ที่บ้านบางมอญ ตำบลต้นโพธิ์ ในเขตเทศบาลอำเภอเมืองสิงห์บุรี ห่างจากศาลากลางจังหวัดหลังเก่าไปทางลำน้ำเจ้าพระยาประมาณ 2 กิโลเมตร วัดนี้เป็นศูนย์รวมของศิลปะหลายด้าน ได้แก่ การศึกษา การก่อสร้างโบสถ์ วิหารศาลา และโดยเฉพาะการปั้นพระพุทธรูปเหมือน ที่สืบทอดวิชาปั้นพระพุทธรูปมาจากตระกูลบ้านช่างหล่อธนบุรี ภายในวัดยังมี พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ เป็นแหล่งเก็บรวบรวมตัวหนังใหญ่ที่สมบูรณ์และสามารถเล่นได้กว่า 300 ตัว ซึ่งพระครูสิหมุณี อดีตเจ้าอาวาส ได้รวบรวมตัวหนังใหญ่จากฝีมือช่างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเอาไว้ และส่วนหนึ่งได้รับมอบหมายจากครูเปีย หัวหน้าคณะหนังเร่ ผู้ที่มีความสามารถในการเชิด-พาทย์หนังใหญ่ และได้ถ่ายทอดการแสดงหนังใหญ่สืบต่อกันมา ตัวหนังใหญ่ที่ใช้แสดงแบ่งเป็นชุดใหญ่ ๆ ได้ 4 ชุด คือชุดศึกใหญ่ (ศึกทศกัณฑ์) ชุดศึกมงกุฎ-บุตรลบ ชุดนาคบาศ และชุดศึกวิรุณจำบัง มีการสาธิตการแสดงหนังใหญ่

          อุทยานแม่ลามหาราชานุสรณ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลทับยา มีพื้นที่อยู่ในเขตอำเภออินทร์บุรีและอำเภอบางระจัน ห่างจากอำเภอเมืองไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 309 ประมาณ 9 กิโลเมตร จะมีทางแยกเลี้ยวซ้ายไปบ้านเชิงกลัด เข้าไปอีกประมาณ 1.2 กิโลเมตร ก็จะถึงอุทยานแม่ลามหาราชานุสรณ์ คำว่า "แม่ลา" เป็นชื่อลำน้ำสายหนึ่งในท้องที่จังหวัดสิงห์บุรี ไหลผ่านพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภออินทร์บุรี อำเภอบางระจัน และอำเภอเมืองสิงห์บุรี เป็นลำน้ำธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารของปลา ฉะนั้น ปลาที่จับได้จากลำน้ำแม่ลาจึงมีรสชาติอร่อย อ้วน เนื้อนุ่ม มัน โดยเฉพาะปลาช่อนแม่ลา ซึ่งเป็นอาหารและของฝากที่ขึ้นชื่อของจังหวัดสิงห์บุรี ปัจจุบันปลาช่อนแม่ลาหายากขึ้นทุกวัน ทางราชการจึงหาทางอนุรักษ์และฟื้นฟู โดยขุดลอกลำน้ำ และสร้างอุทยานแม่ลามหาราชานุสรณ์ขึ้นริมฝั่งแม่น้ำลาการ้อง โดยรอบ ๆ บริเวณอาคารได้จัดให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน

          เมืองโบราณบ้านคูเมือง (อยู่ภายในสวนรุกขชาติคูเมือง) ตั้งอยู่ที่บ้านคูเมือง ตำบลห้วยชัน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 23 กิโลเมตร  มีเนินดินขนาดใหญ่ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีการขุดค้นพบภาชนะดินเผามากมาย เช่น เครื่องถ้วยชาม หม้อ ไห กาน้ำ ลูกปัดหินสีต่าง ๆ ตะคันดินเผา ธรรมจักรหินเขียว ตุ้มหู ลูกปัด หินสี และเหรียญเงินมีคำจารึกว่า "ศรีทวารวดีศวรปุญยะ" แสดงให้เห็นว่ามีชุมชนอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ติดต่อกันมาตั้งแต่สมัยฟูนันจนถึงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันวัตถุโบราณที่ค้นพบ ได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุรี และภายในบริเวณเมืองโบราณบ้านคูเมือง ปัจจุบันได้จัดให้เป็นสวนรุกขชาติ มีเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ มีคูน้ำโบราณล้อมรอบ มีพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ร่มรื่นสวยงาม

          แต่ถ้าอยากรู้ว่า "สิงห์บุรี" จะใช่เมืองคนจริง...ถิ่นวีระชนคนกล้า คู่หล้าพระนอน นามกระฉ่อนปลาแม่ลา ย่านการค้าภาคกลาง...สมกับคำขวัญหรือเปล่านั้น คงต้องออกไปท่องเที่ยว พิสูจน์ด้วยตาตัวเองนะจ๊ะ


สิงห์บุรี

Tip

          ชาวสิงห์บุรีเชื่อกันว่า เมื่อไปนมัสการวัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร แล้วอธิษฐานปรบมือใต้ต้นสาละลังกาใหญ่ ที่ปลูกไว้กว่า 100 ต้นในบริเวณวัด หากดอกสาละร่วงลงมา คำอธิษฐานนั้นจะประสบผลดังที่หวัง

การเดินทาง

          สิงห์บุรี อยู่ห่างจากกรุงเทพไปตามทางหลวงสายเอเซีย (หมายเลข 32) เป็นระยะทางประมาณ 140 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าถนนสาย 311 วิ่งข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปไม่ไกลก็จะเข้าถึงตัวเมืองสิงห์บุรี เส้นทางสะดวกสบาย ผิวการจราจรกว้างขวางและอยู่ในสภาพดี หรือจะใช้เส้นทางถนนสาย 309 เลียบแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกมาจากอ่างทองก็ได้เช่นกัน แต่เส้นทางจะไม่สะดวกเท่ากับสาย 32 เท่าไหร่นัก






ขอขอบคุณข้อมูลจาก
  



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สิงห์บุรี เมืองคนจริง ถิ่นวีระชนคนกล้า อัปเดตล่าสุด 27 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 17:58:59 55,097 อ่าน
TOP
x close