ที่ตั้งของภูเขาทอง
ความเป็นมาของภูเขาทอง หรือพระบรมบรรพต
ภูเขาทอง เริ่มสร้างมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์มีพระราชดำริให้สร้างพระปรางค์ย่อมุมไม้สิบสองขนาดใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกของพระนคร แต่ด้วยพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นดินเลนโคลนทำให้รองรับน้ำหนักของโครงสร้างไม่ไหว องค์พระปรางค์จึงพังลงมา แต่ยังไม่ทันสร้างแล้วเสร็จก็สิ้นรัชกาลที่ 3 เสียก่อน
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างใหม่โดยเปลี่ยนรูปแบบให้กลายเป็นภูเขาจำลองสูง แล้วมีเจดีย์อยู่ด้านบนแทน มีบันไดเวียนขึ้น-ลง 2 ทาง พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปวางศิลาฤกษ์ด้วยพระองค์เอง และเปลี่ยนชื่อจากภูเขาทองเป็นพระบรมบรรพต แต่การก่อสร้างก็ยังไม่เสร็จสิ้นเมื่อรัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคต
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อจนเสร็จสมบูรณ์ รวมความสูงจากฐานจนถึงยอดพระเจดีย์ได้ 77 เมตร และมีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากประเทศอินเดียมาไว้ในองค์พระเจดีย์เมื่อ พ.ศ. 2422 และได้เฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ในช่วงเทศกาลลอยกระทง มีการปฏิบัติสืบกันมาจนกลายเป็นประเพณีนมัสการพระบรมสารีริกธาตุภูเขาทอง หรืองานวัดภูเขาทองนั่นเอง
พระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ภายในพระเจดีย์ บรรจุไว้ในผอบที่มีอักษรพราหมี หรือเมารยะ จารึกไว้ว่า พระบรมสารีริกธาตุนี้เป็นของพระพุทธเจ้า (สมณโคดม) ตระกูลศากยราช ได้รับแบ่งปันในเวลาถวายพระเพลิงพุทธสรีระ มีการขุดพบเมื่อ พ.ศ. 2441 ณ เมืองกบิลพัสดุ์ ประเทศอินเดีย และทางรัฐบาลอินเดียก็ได้น้อมเกล้าฯ น้อมถวายแด่รัชกาลที่ 5 และพระองค์ก็โปรดให้บรรจุไว้ที่พระบรมบรรพต เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2442
การเที่ยวชมภูเขาทอง
- การจะขึ้นไปนมัสการองค์เจดีย์บนยอดภูเขาทอง จะต้องเดินขึ้นบันไดขั้นเล็ก ๆ ทั้งหมด 344 ขั้น
- ทางขึ้นหลักจะอยู่ติดกับส่วนของวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร แต่จะมีประตูทางเข้าทั้งจากฝั่งถนนจักรพรรดิพงษ์และถนนบริพัตร สามารถเดินวนมายังทางขึ้นหลักได้
- บริเวณทางขึ้นจะมีดอกไม้ธูปเทียนจำหน่าย สามารถซื้อขึ้นไปไหว้พระได้
- ขาขึ้น ทางเดินช่วงแรกจะมีต้นไม้ให้ร่มเงาบ้าง แต่พอเลยบันไดราว ๆ 130 ขั้นขึ้นไป จะเป็นทางเปิดโล่ง ถ้าไปช่วงกลางวัน ควรใส่เสื้อแขนยาว ใส่หมวก หรือกางร่ม เพราะแดดร้อนมาก
- พอขึ้นไปถึงด้านบนจะเป็นส่วนของภายในพระบรมบรรพต มีพระประธาน คือ พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ พระพุทธรูปปางทรงเครื่องจักพรรดิสีทองสว่างประดิษฐานอย่างสง่างามอยู่ด้านหน้า พร้อมด้วยพระพุทธรูปที่สำคัญอีกหลายองค์ ในจุดนี้เป็นบริเวณในอาคาร อากาศจะเย็นสบาย สามารถมองเห็นวิวได้โดยรอบเช่นกัน
- สำหรับพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ได้ประดิษฐานอยู่บนยอดพระเจดีย์สีทองใหญ่ด้านบนสุด จากบริเวณโถงใต้ฐานพระเจดีย์จะมีบันไดเล็ก ๆ ให้เดินขึ้น-ลงคนละฝั่ง
- ด้านบนสุดบริเวณฐานพระเจดีย์สีเหลืองทอง มีจุดให้นั่งไหว้พระขอพร เป็นพื้นที่เปิดโล่งกว้างเช่นกัน ถ้าไปช่วงกลางวันก็ต้องเตรียมเสื้อแขนยาว หมวก ร่ม ให้พร้อม
- โดยรอบของพระฐานเจดีย์จะสามารถชมวิวกรุงเทพฯ ได้แบบ 360 องศา มองเห็นเมืองได้ไกลสุดลูกหูลูกตา วิวสวยตลอดทั้งวัน ยิ่งถ้ามาช่วงแดดร่มลมตกลมก็จะพัดเย็นสบาย ได้เห็นวิวพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าด้วย
- ทางลงของภูเขาทองจะอยู่คนละฝั่งกับทางที่ขึ้นมา มองป้ายให้ชัดเจนก่อนที่จะเดินลง เพื่อที่จะไม่ไปสวนทางกับผู้ที่เดินขึ้น อาจจะเป็นอันตรายได้ในกรณีที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
- ห้องน้ำของภูเขาทองจะอยู่ฝั่งตรงข้ามกับทางขึ้น แต่เมื่อเดินลงก็จะเจอกับบริเวณห้องน้ำพอดี
งานวัดภูเขาทอง
การแต่งกายไปเที่ยวชมภูเขาทอง
เวลาเปิด-ปิด
ค่าเข้าชม
การเดินทาง
สำหรับใครที่สนใจอยากไปเที่ยววัดภูเขาทอง สามารถเดินทางด้วยวิธีเหล่านี้ได้ตามสะดวก
- รถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ลงสถานีสามยอด (BL30) แล้วเดินไปตามถนนเจริญกรุง เข้าถนนวรจักร ต่อรถเมล์สาย 8, 37 หรือ 48 หรือจะต่อรถสามล้อก็ได้
- รถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) ลงที่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ แล้วต่อรถเมล์สาย 47 หรือ 48
- รถไฟ รฟท. ลงที่ป้ายหยุดรถยมราช (เฉพาะขบวนรถที่จอดเท่านั้น โปรดตรวจสอบขบวนรถที่โดยสารมาอีกครั้ง ว่าจอดหรือไม่) เมื่อลงรถไฟแล้ว ให้เดินไปยังป้ายรถเมล์ถนนหลานหลวง สามารถต่อรถเมล์ได้หลายสาย
- รถเมล์ มีสายต่าง ๆ ดังนี้
จากถนนจักรพรรดิพงษ์ : สาย 8, 15, 37, 47, 49
จากถนนบำรุงเมือง : สาย 15, 47, 48, 508
จากถนนหลานหลวง : สาย 2, 44, 59, 60, 79, 183, 511
จากถนนมหาไชย : สาย 56
- รถยนต์ส่วนตัว สามารถจอดได้บริเวณลานวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร แต่ในช่วงเทศกาลค่อนข้างหาที่จอดรถยากสักนิด
- เรือ สามารถนั่งเรือมาตามคลองมหานาค โดยจะไปขึ้นที่ท่าเรือคลองแสนแสบที่ประตูน้ำ หรือจะมาขึ้นที่ท่าเรือโบ๊เบ๊ก็ได้เช่นกัน และลงที่ป้ายสุดท้าย คือ ป้ายสะพานผ่านฟ้าลีลาศ จากนั้นให้เดินต่ออีกประมาณ 200 เมตร
วันหยุดใครอยากหาที่เที่ยวไหว้พระทำบุญ เสริมดวง เสริมบารมี พร้อมกับชมวิวกรุงเทพฯ มุมสูงสวย ๆ ก็ขอแนะนำที่นี่เลย พอไหว้พระเสร็จแล้วก็ยังสามารถไปเดินเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ บริเวณโดยรอบได้ด้วย
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
ขอบคุณข้อมูลจาก : ททท., onab.go.th, thailandtourismdirectory.go.th