สัตหีบ บนเส้นทางน้ำ ฟ้า และราชนาวีไทย





สัตหีบ บนเส้นทางน้ำ ฟ้า และราชนาวีไทย (อสท.)

เรื่อง : จริยา ชูช่วย
ภาพ : นภดล กันบัวภาพ

          สามสี่ปีให้หลังมานี้ ฉันมักรู้สึกว่าทะเลเหมาะสำหรับมีไว้ดู โดยเฉพาะในวิถีของคนที่ไม่ชำนาญเรื่องดำน้ำ และไม่ถนัดเรื่องสังสรรค์อึกทึกริมหาด แต่แปลที่ชอบหาเรื่องให้ชีวิตได้เฉียดเข้าใกล้ทะเลอยู่บ่อยครั้ง ด้วยเหตุผลแสนธรรมดา เพียงแค่อยากมีความสุขกับเรื่องราวง่าย ๆ ของน้ำและฟ้าเท่าที่ตาสัมผัสเท่านั้นเอง

          ทะเลงาม หาดสวย น้ำใสบนแผ่นดินไทย มีไว้ให้ใครกันแน่ ฉันรู้สึกเช่นนี้มาสักระยะ ภาพครอบครัวหิ้วลูกจูงหลานปูเสื่อปิกนิกริมทะเล นอนเล่นบนเตียงผ้าในสีสด แม้แต่การถ่ายภาพกับป้ายสถานที่ หรือขึ้นไปแจกยิ้มใกล้ ๆ รูปปั้นในวรรณคดีแบบไทย ๆ เหล่านี้ ค่อย ๆ รางเลือนลงไปทุกที ผิดกับภาพฝรั่งในชุดบิกิมีนอนอาบแดดยามตะวันออก และออกลีลาเต้นเย้วริมหาด เมื่อครั้งตะวันตกที่กลับปรากฏชัดขึ้นทุกวัน

          ส่วนคนไทยธรรมดาอย่างเรา หากไม่พยายามทำตัวให้แสนกลมกลืนกับฝูงชนเหล่านั้น อีกทางเลือกหนึ่งคือปล่อยให้เขามีความสุขอย่างเต็มที่ ท่ามกลางความรู้สึกเหงา ๆ ปลอบใจตัวเองว่าเรากำลังทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านที่ดี หากจะมีใครสักคนหรือที่ใดสักแห่งเรียกความรู้สึกเมื่อครั้งอดีต และฉายภาพความทรงจำเหล่านั้นกลับคืนมาอีกครั้ง ฉันว่าทะเลสัตหีบในความดูแลของราชนาวีไทยนี่แหละ...ใช่เลย


มานั่งดูทะเลสัตหีบด้วยกันไหม

1. นางรำ นางรอง นั่งมองทะเล 2 อารมณ์

          อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ห่างจากกรุงเทพฯ เพียงแค่ 120 กว่า กิโลเมตร กับข่าวคราวล่าสุดที่ฉันรับรู้ คือปริศนาตู้คอนเทนเนอร์ที่ช่องแสมสาร นอกจากนั้น ขอสารภาพตามตรงว่าฉันยังนึกภาพทะเลสัตหีบไม่ออก เราเริ่มทำความรู้จักกับทะเลสัตหีบที่ หาดนางรำ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองสัตหีบประมาณ 14 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายก่อนถึงท่าเรือน้ำลึกจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ ตรงไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร มีป้ายบอกทางชัดเจน

          จ่ายค่าบำรุงสถานที่ตรงด่านทางเข้าหาด คิดเหมาเป็นคันรถ รถยนต์ 20 บาท รถตู้ 30 บาท และรถบัส 50 บาท จุดแรกแวะสักกระศาลพระรูปพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ บิดาแห่งทหารเรือไทยเอาฤกษ์เอาชัยกันเสียก่อน น้ำทะเลไล่โทนฟ้าใส่ไปจนฟ้าครามสุดลูกหูลูกตา มองเห็นเส้นขอบฟ้าที่กั้นผืนฟ้ากับแผ่นน้ำไว้บาง ๆ

          เล่าต่อกันว่าเมื่อครั้งอดีต ได้ยินเสียงมโหรีคล้ายดนตรีประกอบการร่ายรำดังขึ้น จากเกาะแห่งนี้บ่อยครั้ง ทั้ง ๆ ที่ไม่มีคนอาศัยอยู่บนเกาะ ชาวบ้านจึงเรียกเกาะที่เราเห็นตรงหน้าว่า เกาะนางรำ และเรียกหาดที่เรากำลังยืนอยู่นี้ว่า หาดนางรำ ในที่สุด

          ลอนน้ำกระทบแสงแดดเปล่งประกายระยิบระยังโอนเอนตามจังหวะแรงไหวของคลื่น ชายหาดกว่า 200 เมตร ทอดตัวยาวราวผืนพรมนุ่ม ๆ ให้อยากทิ้งตัวลงนอน ในวันธรรมดาเช่นนี้ มันช่างเหมาะเป็นที่พักผ่อนแสนสงบ ฉันเหยียดตัวนอนนิ่ง ๆ บนเตียงผ้าใบและนั่งดูทะเลเล่าเรื่องตามเคย เรากลับมาที่นี่อีกครั้งในวันหยุดสุดสัปดาห์ บรรยากาศแตกต่างจากวันธรรมดาโดยสิ้นเชิง ทุกอณูคล้ายถูก “นายความสุข” จับจองเป็นเจ้าของพื้นที่ แต่ละครอบครัวต่างหิ้วลูกจูงหลาน กระเตงเสื่อมานอนเล่น บ้างยกครกมาตำส้มตำกินกันอย่างเอร็ดอร่อย เตียงผ้าใบที่ถูกพับเก็บพิงต้นสน

          เมื่อวันวานเริ่มกางออกอวดสีสันจัดจ้ากระจายไปทั่วหาด บางกลุ่มชวนเพื่อนขาโจ๋ตั้งวงสนทนาหัวเราะลั่นหาด เสียงดังพอประมาณเคล้าเสียงคลื่น สลับกับเสียงเสียดสีของกิ่งสนทะเลยามต้องลม ฉันไม่อาจจำกัดประเภทของเสียงนี้ได้ว่าไฟเราะ รู้สึกเพียงว่ามันน่าฟัง

          "กรี๊ดดดดดดด" เสียงดังมาจากเจ้าเรือกล้วยบานานาโบ้ท ที่ไซด์โค้งเทกระจาดหนุ่มสาวลอยเกลื่อนทะเล แถมมีเจ้าโดนัต นวัตกรรมเครื่องเล่นรุ่นน้องของเจ้าเรือกล้วย ที่กำลังถูแรงเรือสปีดโบตลากตามมาติด ๆ อีกลำ คายักหลากสีบ้างกำลังหันหัวลงทะเล บ้างฝีพายกำลังช่วยกันจ้ำอยู่กลางทะเล นักท่องเที่ยวสามารถเช่าคายักพายไปชมรอบเกาะนางรำได้ หากแต่มีกฎอยู่บ้าง คือให้พายในรัศมีห่างจากเกาะ 30 เมตร และไม่อนุญาตให้ขึ้นเกาะ เนื่องจากเป็นแนวอนุรักษ์ปะการัง และอุดมไปด้วยหอยเม่นที่อาจเป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยว

          กิจกรรมริมหาดใต้ทิวสนก็ไม่น้อยหน้า ลองมองหาซุ้มนวดแผนโบราณที่เลื่องลือว่าหมอนวดที่นี่ฝีมือฉมังนักแล นอกจากนี้ ตลอดชาดหาดยังมีกิจกรรมวาดภาพระบายสี เพนต์ผ้าบาติก สปาฟิช ให้ทุกวัยสนุกสนานครบครัน ขาดไม่ได้ลองแวะรับประทานอาหารทะเลสด ๆ จานอร่อย ที่สโมสรหาดนางรำ เคล้าบรรยากาศชายทะเล ยื่นหน้าปะทะลมโชยเย็น ๆ ถึงจะเรียกว่าครบรส

          หากเป็นวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ถัดจาก หาดนางรำ เข้าไปจะเป็น หาดนางรอง ที่ปลายแหลมที่มีรูปปั้นพระอภัยมณี นางเงือก ผีเสื้อสมุทร สินสมุทร สุดสาคร ชีเปลือย และม้านิลมังกรครบทีม เป็นเขตแดนกั้นระหว่าง หาดนางรำ และ หาดนางรอง รูปปั้นตัวไหนโด่งดังและคิวทองที่สุดต้องลองไปสัมผัสกันเอง


2. เทียนทะเล ดงตาล นั่งหน้าบ้าน มองฟ้าเปลี่ยนสี

          บ้านพัก 1 ใน 6 หลังของ หาดเทียนทะเล กว้างขวาง สะอาด และแสนสงบ หลบอยู่ใต้หลีบเขาปลายสุดของหาดเทียนทะเล เชื่อว่าถ้าไม่ตั้งใจมาที่นี่โดยเฉพาะ จะไม่เจอ โค้งหาดยาว 900 เมตร เต็มไปด้วยหินน้อยใหญ่ นักท่องเที่ยวสามารถเล่นน้ำได้ แต่ต้องสงวนท่าทีอยู่พอสมควร เนื่องจากมีโขดหินเป็นระยะ ๆ และอยู่ในบริเวณหน่วยบัญชาการทหารต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (รอ./รฝ.) ที่นี่ยังไม่เปิดให้ชาวต่างชาติเข้าพัก คนไทยอย่างเรา เท่านั้นถึงจะมีสิทธิ์

          พุ่มเทียนทะเลริมหาดยังพอมีให้เห็นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่มาที่ไปของชื่อหาดแห่งนี้ได้ แม้เราจะมาพักในวันธรรมดา แต่ก็มีเพื่อนบ้านเข้าพักเต็มทุกหลัง บรรยากาศยังคงเป็นการเที่ยวฉบับครอบครัว ลูกเล่นทรายว่ายน้ำ พ่อกับแม่นั่งเฝ้าดูอยู่บนโขดหิน คอยระวังภัย แต่ไม่ให้ขัดความสุขของลูก ปู่ย่าจับจองหินอีกโขดนั่งหัวเราะคิกคักชมความน่ารักของหลาน ๆ

          บริเวณหาดเทียนทะเลไม่อนุญาตให้ใช้ไฟประกอบอาหาร แต่ถ้าอยากรับประทานอาหารอร่อย ๆ ที่ร้านโพธิทะเลมีไว้คอยบริการตั้งแต่เวลา 10.00 – 22.00 น. และรับจัดเลี้ยงงานต่าง ๆ บรรยากาศสบาย ๆ มีซุ้มนั่งติดริมทะเล นี่แหละ "กินลม ชมทะเล" ของจริง

          เยื้องร้านโพธิทะเลมีเนินดินสามารถขึ้นไปชมวิวพระอาทิตย์ตกดินได้โดยรอบ หรือถ้าอยากชมพระอาทิตย์ตกแบบสุดลูกหูลูกตาและสวยที่สุด ลองติดต่อเจ้าหน้าที่ขอขึ้นไปที่จุดชมวิว ตรงสุดถนนเลียบหลังบ้านพัก ถ้าบรรยากาศเป็นใจ ช่วงเวลาฟ้าเปลี่ยนสีที่นี่งดงามและดูน่าเกรงขามไม่แพ้ที่ใด เทียนเล่มไหนจะสว่างไสวเทียบเทียนบนฟ้า แสงจันทร์ข้างขึ้นกำลังอาบทะเลตงหน้าเป็นสีทอง แม้ระลอกคลื่นหน้าบ้านพักจะพลิ้วไหวในจังหวะปกติ แต่ก็โรแมนติกสุดจะบรรยาย

          ถัดจาก หาดเทียนทะเล คือ หาดดงตาล ในวันหยุดเป็นสถานที่พักผ่อนที่คลาคล่ำด้วยผู้คน และกิจกรรมยอดนิยมของที่นี่คือการเล่นเรือใบ ใครที่ไม่มีพื้นฐานการเล่น อายุ 8 ปีขึ้นไป และอยากเล่นแบบจริงจังลองสอบถามหลักสูตรอบรมได้ที่สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ รับรองว่าได้เก่งเรือใบในราคามิตรภาพแบบสุดๆ (ที่อยู่ตามคู่มือนักเดินทางท้ายเรื่อง)


3. เกล็ดแก้ว ทรายแก้ว และเรื่องทหารบนทางทฤษฏีใหม่

          เรือท้องกระจกของลุงพงษ์ นำเราจากโรงเรียนชุมพลทหารเรือมุ่งหน้าไปยัง เกาะเกล็ดแก้ว เพื่อเปิดฉากวันใหม่ที่นั่น ทันทีที่เรือเทียบท่าฝูงลิงนับร้อยจากทั้งหมดกว่า 800 ตัว มารอต้อนรับแบบสุภาพ เฝ้ามองอยู่ข้าง ๆ และมีระยะห่างแบบไม่ต้องระแวง ชาวบ้านจึงคุ้นเคยเกาะนี้ในชื่อเกาะลิง มีศาลเจ้าแม่อบเชยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำเกาะ แม้จะมีพื้นที่กว่า 162 ไร่ แต่เปิดให้นักท่องเที่ยวชมเฉพาะบริเวณส่วนหน้าของเกาะ เพราะต้องการอนุรักษ์พื้นที่ป่าโดยรอบ

          รอบ ๆ เกาะมีแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์ทั้งปะการังเขากวางปะการังผักกาด ปะการังสมอง และกัลปังหาสีแดง แต่ยังไม่เปิดให้ลงไปดำน้ำ หากสนใจชมปะการังจะมีบริการเรือท้องกระจกนำเที่ยว ติดต่อได้ที่บริเวณ หาดทรายแก้ว ราคาประมาณ 1,000 บาทต่อลำ นั่งได้ 10 คน

          หาดทรายแก้ว อยู่ในพื้นที่ดูแลของโรงเรียนชุมพลทหารเรือ นาวาโทหญิง ประพรรณ คำบุรี หรือ ครูแมว ไกด์สาวอดีตนักกรีฑาทีมชาติ นำเรานั่งเรือจากเกาะเกล็ดแก้วมายัง หาดทรายแก้ว เนื่องจากอยู่ในช่วงปิดถนน เพื่อซ่อมแซมไว้ต้อนรับฤดูกาลท่องเที่ยวในเดือนพฤศจิกายน หากเป็นช่วงปกตินักท่องเที่ยวต้องขับรถหรือนั่งรถโดยสารสองแถวจากหน้าโรงเรียนชุมพลทหารเรือเข้ามาจอดบริเวณปลายสะพานคลังการเรือ แล้วนั่งรถโดยสารสองแถวของที่นี่เข้าไป ราคา 30 บาท (ไป-กลับ รวมค่าบริการห้องน้ำ) มีบริการตั้งแต่เวลา 06.00 – 18.00 น.

          ทรายละเอียด ขาวระยิบระยับสมชื่อ น้ำใสแจ๋ว โอบล้อมด้วยป่าละเมาะที่สมบูรณ์ ที่นี่มีนโยบายอนุรักษ์ธรรมชาติ เมื่อจะสร้างสิ่งปลูกสร้าง ก็ต้องเคารพธรรมชาติและสร้างให้กลมกลืนกับธรรมชาติเดิมมากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีบริการบ้านพัก เต็นท์ ร้านอาหาร และกิจกรรมทางทะเล เช่น บานานาโบ้ท คายัก เรือนำชมปะการังตามเกาะต่าง ๆ เป็นต้น มีไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟให้ใช้ตั้งแต่เวลา 18.00 – 06.00 น. เท่านั้น

          และมีข้อห้ามคือ ห้ามก่อไฟ ห้ามประกอบอาหาร ห้ามเล่นการพนัน ห้ามส่งเสียงดัง ห้ามนำสุนัขขึ้นหาด ห้ามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า และไม่อนุญาตให้เข้าออกหลังเวลา 22.00 น. นาฬิกา เพราะกฎระเบียบเหล่านี่แหละ ที่รักษาความงามของหาดทรายแก้วไว้จนปัจจุบัน

          จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกจุด คือ ศูนย์การเรียนรู้ทฤษฏีใหม่ ในศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ หากเราคุ้นเคยกับคำว่า “ทฤษฏีใหม่” หรือตัวเลขอัตราส่วน 30: 30: 30:10 แต่ถอดรหัสคำนี้ออกมาเป็นรูปธรรมไม่ได้ ที่นี่คือตัวอย่างที่ทำให้มองเห็นภาพ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการจัดการดินและแหล่งน้ำ เพื่อการเกษตรรูปแบบใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก ครอบครัวละ 10 – 15 ไร่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

          พันจ่าเอก ศุภชัย เกิดเจริญพร พาพวกเราเคลิบเคลิ้มกับความมหัศจรรย์ของทฤษฏีใหม่ ชมบ้านพักเกษตรกรประหยัดพลังงาน ที่เย็นสบายแม้ไม่ต้องติดเครื่องปรับอากาศ มีการสาธิตทำบ้านดินและตัวอย่างบ้านดินแบบต่าง ๆ การทำเตาเผาถ่านและน้ำส้มควันไม้ การเลี้ยงปลากินพืช เกษตรธรรมชาติ จักรยานปั่นประหยัดพลังงาน การปศุสัตว์ เลี้ยงวัว ควาย น้องควายที่นี่น่ารักมาก นอกจากเลี้ยงง่ายแล้ว ยังสามารถส่งยิ้มทักทายและสวัสดีนักท่องเที่ยวอย่างเราได้ด้วย ทุกอย่างล้วนหมุนเวียนเป็นวัฏจักรแห่งการพึ่งพาตนเอง



4. เตยงาม ทะเลงามตามรอยนาวิกโยธิน

          "ท้องฟ้าสวย น้ำทะเลใส หาดทรายขาว อ่าวนาวิกโยธิน" จริงดั่งว่าเมื่อตาเห็น จ่าเอก สรรเพชร กลิ่นขจร ทำหน้าที่ไกด์กิตติมศักดิ์ของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินนำเราชมแหล่งท่องเที่ยวจุดต่าง ๆ รอบอ่าวเตยงามที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ เริ่มที่สักการะอนุสาวรีย์พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ บริเวณหลังกองรักษาการณ์ หน้ากรมรักษาความปลอดภัย

          เดินทางต่อไปชม อนุสาวรีย์ทหารนาวิกโยธิน ที่สร้างเป็นเกียรติแต่ทหารนาวิกโยธินที่สละเลือดเนื้อป้องกันประเทศ ติดกันเป็นพิพิธภัณฑ์ทหารนาวิกโยธิน ภายในแบ่งเป็นห้องจัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องราวของทหารนาวิกโยธิน เช่น ห้องบรรยายรวม ฉายวีดิทัศน์ประวัติของทหารนาวิกโยธิน ห้องพระราชวงศ์เกี่ยวข้องกับทหารนาวิกโยธิน ห้องแสดงเครื่องแบบ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ใช้ในหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ใครหลงรักคนในเครื่องแบบไม่ควรพลาดห้องนี้ ห้องแสดงอาวุธ อาวุธต่าง ๆ ที่เคยได้ยินในข่าวหน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง ห้องนี้มีคำตอบ ห้องฉากจำลองยุทธภูมิ จำลองยุทธภูมิที่ทหารนาวิกโยธินเคยเข้าปฏิบัติการยุทธ์

          หลังจากรับความรู้เสร็จ เราไต่ระดับความสูงมุ่งหน้าขึ้น เขาแหลมปู่เจ้า ระหว่างทางมีจุดชมวิวแหลมเทียนให้แวะเก็บภาพวิวท้องทะเลสัตหีบ บนเขาแหลมปู่เจ้า มีศาลพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และหอชมวิวที่สามารถมองทะเลสัตหีบได้ 360 องศา เห็นเกาะห้องทะเลครบทั้ง 7 เกาะ ได้แก่ เกาะพระ เกาะยอ เกาะหมู เกาะเตาหม้อ เกาะเณร เกาะสันฉลาม และเกาะเลา แต่บนหอชมวิวนี้ไม่อนุญาตให้ใช้กล้องถ่ายรูปและกล้อง่องทางไกล

          ผาวชิราลงกรณ์ สถานที่ฝึกไต่ผาของทหารนาวิกโยธินเป็นอีกจุดที่ไม่ควรพลาด เข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. โดยสามารถนั่งรถของกิจการการท่องเที่ยวชมทัศนียภาพ ไม่อนุญาตให้ลงเล่นน้ำบริเวณนี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่อันตราย ถัดไปจนสุดทางเป็นมารีนรีสอร์ท บ้านพักบรรยากาศชายทะเลอารมณ์ประหนึ่งบ้านพักในละครเรื่องวนิดา เงียบ สงบ และปลอดภัย เพราะเป็นพื้นที่หวงห้ามให้เข้าเฉาพะนักท่องเที่ยวที่จองห้องพักและผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

          เริ่มหลงเสน่ห์ความงามแบบมีกรอบขึ้นมาแล้ว เพราะเราเห็นว่ามันยังคงงาม และเป็นสมบัติของคนไทยโดยสมบูรณ์ก็เพราะระเบียบที่เราต่างปฏิบัตินี่แหละ เอ ! หรือเริ่มหลงเสน่ห์คนในเครื่องแบบเข้าให้แล้ว




5. เต่า ปลา (การ์ตูน) อนุรักษ์ เศรษฐกิจ และมิตรภาพของคนและสัตว์

          "เต่าทะเลในเมืองไทยมี 5 สายพันธุ์ คือ เต่ามะเฟือง เต่าตนุ เต่าหญ้า เต่ากระ และเต่าหัวค้อน แต่เต่าหัวค้อนสูญพันธุ์ไปแล้วอย่างถาวร ส่วนทะเลสัตหีบมีเหลือเฉพาะเต่าตนุและเต่ากระ" นาวาโท ขวัญเมืองคเรศตรี ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง บอกกับเราเช่นนั้น

          น่าเสียดายที่ในอดีตเปิดให้มีการสัมปทานเก็บไข่เต่าทะเล ทำให้เกิดการบุกรุกแหล่งวางไข่เต่าทะเลจำนวนมาก แต่อย่างน้อยก็นับเป็นจุดเริ่มต้นดี ๆ ที่ทำให้หลายฝ่ายหันมาสนใจเรื่องอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลมากขึ้น โดยเฉพาะกองทัพเรือไทย ที่เริ่มทำงานอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลอย่างเป็นระบบเมื่อ พ.ศ.2532 รวมถึงการก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าฯ ใน พ.ศ.2537 เพื่อให้ความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ให้ประชาชน สามารถเข้าชมได้ทุกวัน เวลา 08.30 – 17.00 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ

          รอบ ๆ บริเวณศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลฯ มีหลายจุดที่น่าสนใจทั้งห้องบรรยายรวม ห้องนิทรรศการแสดงประวัติความเป็นมาของที่นี่และความรู้เรื่องเต่า ๆ อาคารติดกันเป็นอาคารแสดงเต่าทะเล คล้ายเป็นอะควาเรียมเล็ก ๆ แสดงการเติบโตของเต่าทะเลไทยช่วงวัยต่าง ๆ อย่างน่าสนใจ แต่ที่ประทับใจที่สุดคือบ่ออนุบาลเต่าทะเล เต่าหลากสายพันธุ์หลากขนาดตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 15 ปี ว่ายวนในอ่าง ดูยังไงเต่าก็ยังเป็นสัตว์ที่น่ารัก ใจดี นิ่ง และน่าเคารพยิ่ง

          ตามติดชีวิตสัตว์ทะเลมาที่เพอคูล่าฟาร์ม ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลสวยงามโดยเอกชนรายแรกของประเทศไทย อยู่ที่ชุมชนแสมสาร เพื่อทดแทนการจับจากทะเล โดยเริ่มจากการขยายพันธุ์ปลาการ์ตูน (Amphiprion) ที่เลี้ยงง่ายก่อน และขยายเป็น 12 สายพันธุ์ในปัจจุบัน แนะนำให้ชมนิทรรศการให้ความรู้ก่อนชมความน่ารักของปลาทะเลเพาะเลี้ยง และหากสนใจจะเลี้ยงปลาทะเลสวยงามแบบถูกวิธีและอนุรักษ์พันธุ์ปลาตามธรรมชาติ ที่ฟาร์มแห่งนี้มีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ ราคาบัตรผ่านประตู ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท

          ชุมชนโดยรอบของแสมสารยังเป็นชุมชนชาวประมงโดยแท้ แม้ช่วงข้างขึ้นเช่นนี้ เรือประมงจะกลับเข้าฝั่งพร้อมด้วยปริมาณปลาไม่มากนัก แต่วิถีก็ยังดำเนินไป แผงหมึกตากแห้งยังคงมีให้เห็น คนแก่นั่งตัดหัวปลาเก๋ย (ปลากะตัก) ยังเป็นภาพคุ้นตา ให้รู้สึกว่า "แสมสารยังเป็นเจ้าแห่งการประมงฝั่งตะวันออก"

          ฉันเชื่อว่าสัตหีบบนเส้นทางของผืนฟ้าและแผ่นน้ำยังคงสวยเช่นเดิม เป็นมาอย่างไรก็อย่างนั้น แต่สัตหีบบนเส้นทางราชนาวีไทยที่ฉันรับรู้ในครั้งนี้งดงามและยิ่งใหญ่เกินกว่าใจสัมผัสมากทีเดียว




คู่มือนักเดินทาง

การเดินทาง


          สะดวกที่สุดใช้ทางหลวงหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์) หรือใช้ทางหลวงหมายเลข 34 (บางนา-ตราด) เข้าสู่พัทยา มุ่งหน้าไปทางอำเภอสัตหีบ ตามเส้นทางสุขุมวิท

          หาดทรายแก้วและศูนย์การเรียนรู้ทฤษฏีใหม่ ให้เลี้ยวขวา ประมาณกิโลเมตรที่ 167 เข้าทางโรงเรียนชุมพลทาหารเรือ ศูนย์ฝึกทหารใหม่

          หาดเตยงาม เมื่อถึงสามแยกไประยอง ก่อนถึงตัวเมืองสัตหีบ จะเห็นหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินอยู่ทางขวามือเลี้ยวเข้าไปแจ้งความจำนงกับเจ้าหน้าที่ที่ด่าน

          หาดนางรำ นางรอง อยู่ใกล้ท่าเรือจุกเสม็ด

          หาดเทียนทะเล หาดดงตาล และศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ตรงไปตามทางไปช่องแสมสาร สังเกตป้ายทางเข้าหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งของกองทัพเรือด้านขวามือ ข้ามทางรถไฟเข้ามา

          ชุมชนแสมสารและเพอคูล่าฟาร์ม เมื่อถึงแยกไปอำเภอสัตหีบ ใช้ทางหลวงหมายเลข 331 มาท่าเรือจุกเสม็ด ถึงค่ายมาหาเจษฎาราชเจ้า เลี้ยวไปทางวัดช่องแสมสาร

ข้อควรทราบก่อนเที่ยวทะเลในเขตทหารเรือ

          1. เตรียมบัตรประจำตัวทุกชนิดที่มีรูปถ่าย เช่น บัตรประชาชน ใบขับขี่ เพราะต้องใช้ในการแลกบัตรเข้าออกเกือบทุกสถานที่ เพื่อรักษาความปลอดภัย

          2. ปฏิบัติตามกฎระเบียบของแต่ละที่อย่างเคร่งครัด ตรวจสอบวันเวลาเปิด-ปิดของแต่ละสถานที่ ช่วงเวลาที่อนุญาตให้เข้า-ออก รวมถึงตรวจสอบสภาพอากาศก่อนเดินทาง แม้โดยส่วนใหญ่ทะเลแถบนี้จะเที่ยวได้ทั้งปี

          3. เมื่อเข้าเขตทหารใช้ความเร็วในการขับขี่ไม่เกิน 50 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง คาดเข็มขัดนิรภัย ผู้ขับขี่จักรยานยนต์และผู้ซ้อนท้ายต้องสวมหมวกนิรภัย

          4. การติดต่อจองห้องพักควรดำเนินการก่อนเดินทางอย่างน้อย 3-4 อาทิตย์ เนื่องจากมีห้องพักแต่ละที่จำนวนไม่มาก และการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมควรติดต่อในวันและเวลาราชการ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

          หาดนางรำ หาดนางรอง สำนักงานกิจการอาคารรับรอง การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ โทรศัพท์ 08 5285 5135 เว็บไซต์ sattahipport.com

          หาดเทียนทะเล โทรศัพท์ 0 3824 5735 – 60 ต่อ 39407, 08 9209 7215

          สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่วนแยกสัตหีบ อาคารศูนย์สมุทรกีฬา โทรศัพท์ 0 3843 8594 – 5 yrat.or.th

          หาดทรายแก้ว โทรศัพท์ 0 3843 6187 ต่อ 66035, 0 2466 1180 ต่อ 66035, 08 6700 6931

          หาดเตยงาม กิจการการท่องเที่ยว นาวิกโยธิน โทรศัพท์ 0 3830 8126, 08 4377 6791

          ศูนย์อนุรักษ์พันธ์เต่าทะเล กองทัพเรือ ฝ่ายกิจการพลเรือนหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ. รฝ.) โทรศัพท์ 0 3843 1477, 0 2466 1180 ต่อ 79035 – 6 เว็บไซต์ navy.mi.th/turties

          เพอคูล่าฟาร์ม โทรศัพท์ 08 1313 6324 เว็บไซต์ percularfarm.com



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

หนังสือ อสท. ปีที่ 51 ฉบับที่ 4 พฤศจิกายน 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สัตหีบ บนเส้นทางน้ำ ฟ้า และราชนาวีไทย อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 17:34:25 8,734 อ่าน
TOP
x close