เปิดประวัติ "ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน" หลัง 13 นักฟุตบอลเยาวชนและโค้ช ติดอยู่ในถ้ำเนื่องจากระดับน้ำในถ้ำท่วมสูง ถือเป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทยกว่า 7 กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม อ.แม่สาย มีความสวยงามของหินงอก หินย้อย
จากกรณีเด็กนักเรียนชายทีมฟุตบอลหมูป่า 12 คน และโค้ชอีก 1 คน
ติดอยู่ในถ้ำวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย
ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 23 มิถุนายน 2561 ซึ่งมีการทุ่มเทสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนร่วมปฏิบัติภารกิจค้นหานั้น
(อ่านข่าว : เปิดไทม์ไลน์ทีมฟุตบอลติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เกาะติดภารกิจค้นหาผู้สูญหาย)
ล่าสุด (25 มิถุนายน 2561) รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางช่อง 3 ได้เผยข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของถ้ำหลวงแห่งนี้ ว่า วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนาง เป็นถ้ำขนาดใหญ่ มีความสวยงามของหินงอกหินย้อยภายในถ้ำ ถือเป็นถ้ำยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวมักเข้าชมความงามภายในถ้ำต่อเนื่องตลอดทั้งปี จะมีแค่ช่วงหน้าฝนเท่านั้นที่ทางเจ้าหน้าที่จะทำการปิดการเข้าเยี่ยมชม เนื่องจากภายในถ้ำจะมีธารน้ำไหลเชี่ยวปิดช่องทางเดินหลายจุด หวั่นจะเกิดอันตราย จึงจะทำการปิดและจัดเวรเฝ้าตรวจตลอดเวลา จนกว่าระดับน้ำภายในถ้ำแห้งสนิท จึงจะเปิดการเยี่ยมชมต่อไป
สำหรับหน้าฝนจะอยู่ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม ปริมาณน้ำในถ้ำจะเพิ่มระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง และด้วยเทือกเขานางนอน มีภูเขาสูงสลับซับซ้อนเป็นจำนวนมาก ทำให้ระดับน้ำในถ้ำที่อยู่ต่ำกว่า มีน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บางจุดท่วมสูงถึง 8-10 เมตร ทางเดินถูกตัดขาด และน้ำไหลเชี่ยวกราก เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องทำการปิดการเยี่ยมชมโดยเฉพาะถ้ำหลวงและถ้ำทรายทอง ซึ่งตั้งอยู่ภายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน รวม 2 แห่ง
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Thapanee Ietsrichai
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Thapanee Ietsrichai
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Thapanee Ietsrichai
รายการเรื่องเล่าเช้านี้