สมุยเกาะสีเขียว







สมุยเกาะสีเขียว (อสท)

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ

          ลานหน้าทางเข้าน้ำตกหินลาดของเกาะสมุยวันนี้ครึกครื้นไปด้วย เด็กนักเรียนชั้นประถมชายหญิง จากโรงเรียนเกาะเต่าและโรงเรียนวัดแจ้งบนเกาะสมุย ที่มาร่วมกันทำกิจกรรมคืนจันทน์ผาสู่ป่าเกาะสมุยที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวเกาะสมุยจัดขึ้น

          "เมื่อก่อนจันทน์พาในป่าบนเกาะสมุยมีเยอะ ทีนี้พอมีโรงแรมมีรีสอร์ตมากขึ้น นิยมเอาต้นจันทน์ผามาตกแต่งสวนหย่อมตามโรงแรมรีสอร์ตกัน ก็เลยโดยสักลอบขุดมาขายจนร่อยหรอ เราก็เลยคิดโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อให้จันทน์ผาอยู่คู่กับป่าเกาะสมุยต่อไป"

          คุณสายโพยม สมสุข หรือ "พี่สาย" หัวหน้าศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวเกาะสมุยบอกเล่าให้ผมฟังถึงความเป็นมาของโครงการก่อนจะออกไปประกาศให้บรรดานักเรียนทั้ง 2 โรงเรียน นับ 1 - 4 แล้วแบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ ตามเลขที่นับ

          เด็ก ๆ พากันเข้าแถว รับแจกกล้ามพันธุ์ต้นจันทน์ผาที่ทางเจ้าหน้าที่ตระเตรียมใส่ถุงเอาไว้ให้ 2 คนต่อ 1 ถุง พร้อมกับอุปกรณ์คือเสียมไม้ไผ่ที่ใช้สำหรับขุดดิน ก่อนจะเริ่มเดินเท้าตามทางเดินลัดเลาะขึ้นเขาสู่ตัวน้ำตกหินลาด

          ผืนป่าที่ร่มครึ้มระหว่างสองข้างทางนี่แหละครับ จะเป็นสถานที่ของบรรดานักเรียนตัวน้อย ๆ กลุ่มนี้ที่จะใช้ในการปลูกต้นจันทน์ผากลับคืนสู่ผืนป่า

          หนึ่งในความพยายามที่จะคืนอดีตอันอุดมสมบูรณ์ให้กับเกาะสมุย





สมุยเกาะสวรรค์จากวันวานถึงวันนี้

          "สมุยเมื่อหลายสิบปีก่อนไม่มีนักท่องเที่ยว มีแต่ชาวบ้านอาศัยอยู่เป็นสวนมะพร้าว ที่ดินตามริมหาดของเกาะไม่มีค่า ตอนไปสำรวจแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะสมุยครั้งแรก ชาวบ้านยังบอกว่าอยากได้ที่ชายหาดตรงไหนเลือกเอาได้เลย จะยกให้ฟรี ๆ แต่สมัยนั้นกรเดินทางลำบากมากที่สุด กว่าจะมาถึงเกาะสมุยได้ใช้เวลาหลายวัน ก็เลยไม่ได้สนใจ" ผมนึกไปถึงเรื่องที่คุณพ่อของผมเคยเล่าให้ผมฟังเกี่ยวกับเกาะสมุยสมัยแรก ๆ ที่องค์การส่งเสริมการท่าองเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.) ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางมาสำรวจ ก่อนจะมีการส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวอย่างเป็นจริงเป็นจัง

          มาเกาะสมุยทีไร มองเห็นหาดทราย ผมมักจะคิดขึ้นมาทุกทีว่า หาดแถวไหนหนอที่เขาจะยกให้คุณพ่อตอนนั้น ก็มันอดเสียดายไม่ได้นี่ครับ ถ้าคุณพ่อเลือกเอาไว้สัก 2 - 3 หาด บางทีป่านนี้ผมอาจเป็นเจ้าของรีสอร์ตหรูบนเกาะสมุยแห่งใดแห่งหนึ่งไปแล้วก็ได้นะเนี่ยทำเป็นเล่นไป







          สมัยก่อนสมุยเป็นเกาะมะพร้าว ชาวบ้านมีอาชีพทำสวนทำไร่ ที่ดินตามชายหาดเพาะปลูกอะไรไม่ได้ ก็เลยไม่มีมูลค่าอะไร อย่างที่มีเรื่องเล่ากันมาว่า ยุคนั้นเวลาชาวเกาะสมุยมีลูกถ้าเป็นลูกรักลูกโปรดเขาจะให้มรดกเป็นที่ดินบนเขาด้านในเกาะ ให้ทำไร่ทำสวนไป เพราะดินดีเพาะปลูกได้ผลงาม แต่ถ้าเป็นลูกเกลียดลูกชังที่ไม่ค่อยชอบขี้หน้า จะให้มรดกเป็นที่ดินติดชายหาดริมทะเล ปลูกอะไรไม่ขึ้น (สมัยนั้นคงถือว่าใจร้าย แต่ถ้าเป็นสมัยนี้ ได้ที่ติดริมหาดละก็ปลูกรีสอร์ตสบายรวยไปเลยละ)

          ลองนึกภาพดูก็แล้วกันครับ เกาะใหญ่กลางทะเลที่เต็มไปด้วยทิวมะพร้าว หาดทรายชาวกว้างใหญ่น้ำสวยใส หลายต่อหลายหาดรอบเกาะ ไหนจะป่าเขาลำเนาไพรอุดมสมบูรณ์เขียวขจี แถมด้วยน้ำตกน้อยใหญ่มากมี ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ดินแดนในฝันชัด ๆ ไม่น่าแปลกใจเลยที่เมื่อมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เรื่องราวของเกาะสมุยออกไปในฐานะแหล่งท่องเที่ยวแล้วจะทำให้นักท่องเที่ยวฝรั่งชาวต่างชาติแห่กันเข้ามาเที่ยว มาสัมผัสกับเกาะงามที่เป็นเสมือนสรวงสวรรค์ทางทะเลแห่งนี้

          ยุคต้น ๆ ของการท่องเที่ยวเกาะสมุย ถนนหนทางการสัญจรไปมาบนเกาะยังไม่สะดวก แหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่อย่างหาดเฉวง หาดละไม หินตาหินยาย น้ำตกหน้าเมือง น้ำตกหินลาด รวมทั้งวัดวาอารามเล็ก ๆ แบบท้องถิ่นพื้นบ้านอย่างวัดละไม วัดพระใหญ่ ก็ดูเหมือนจะเพียงพอแล้วสำหรับนักท่องเที่ยวฝรั่งที่ตั้งใจหลีกหนีจากความเจริญมาใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ หาดทราย ชายทะเล สายลม แสงแดด

          ทว่านานเข้าชื่อเสียงที่เลื่องลือของเกาะสมุยทั้งจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และจากการที่บอกต่อกันไปแบบปากต่อปากก็ทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกหลั่งไหลกันเข้ามายังเกาะสมุย จนกระทั่งเพียงไม่กี่ปี เกาะสมุยเติบโตอย่างรวดเร็วเกินคาดหมาย กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ความเจริญหลากหลายรูปแบบต่างถาโถมเข้ามา โรงแรมหรูหราระดับ 5 ดาว รีสอร์ต ห้างสรรพสินค้า ผุดกันขึ้นมาเป็นดอกเห็ด เรียกว่ากรุงเทพฯ มีอะไร เกาะสมุยก็มีเหมือนกันหมด (ล่าสุดผมเองลองพยายามนึกเล่น ๆ ว่าอะไรที่สมุยไม่น่าจะมี แล้วขับรถลองหาดู ปรากฏว่าเจอทุกทีครับ คอร์ตแบดมินตันเอยโรงเรียนสอนเทควันโดเอย ฯลฯ มีหมด ขนาดร้านตัดขนสุนัขยังเจอเลย ใครมาจะลองเล่นดูบ้างก็ได้ หาดูว่าอะไรที่สมุยไม่มี สนุกดีเหมือนกันนะ)








          แหล่งท่องเที่ยวที่สร้างเพิ่มขึ้นก็มีเพียบ ทั้งสวนผีเสื้อ ฟาร์มจระเข้ สนามยิงปืน ซาฟารี ออฟโรค สารพัดละครับ จาระไนไม่ไหว ส่วนหนึ่ง ก็คงเพราะนักท่องเที่ยวมากขึ้น แหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ขนาดวัดวาอารามท้องถิ่นที่มีอยู่เดิมก็ยังมีการแต่งเติมเสริมต่อกับเขาเหมือนกัน ที่เห็นชัด ๆ ก็อย่างเช่น พระธาตุละไมเสริมคาดฟ้าเข้าไปแลดูเหมือนศาลา 2 ชั้น แถมทาสีทองอร่ามตา "พระพุทธโคดม" หรือพระใหญ่ที่เกาะฟาน ก็เสริมเรือสุพรรณหงส์กับธรรมจักรเข้าไปต้านหลังองค์พระ นัยว่าเพิ่มความยิ่งใหญ่อลังการงานสร้าง
(แต่ผมชอบแบบเดิม ๆ มากกว่าแฮะ)

          ช่วงเวลาหนึ่งที่การท่องเที่ยวสมุยเจริญถึงขีดสุด ถึงกับเคยมีคนพูดกันว่าสมุยเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับ อินเตอร์ฯ ไปแล้ว เหมาะสำหรับให้ฝรั่งมาเที่ยวเท่านั้น ข้าวของก็แพง แถมไม่ค่อยต้อนรับคนไทย ผมมาสมุยครั้งแรกก็เคยรู้สึกคล้าย ๆ แบบนั้นเหมือนกัน ด้วยความที่มาทางเครื่องบิน มาถึงก็มีรถตู้มารับไปงานที่จัดในโรงแรมหรูหรา เสร็จจากงานเย็น ๆ กลับเข้ารีสอร์ตที่พัก จะแอบเดินออกมาหาอาหารไทย ๆ กินเสียหน่อย ปรากฏว่าเดินเสียขาลาก เป็นชั่วโมง ไม่เจอร้านอาหารไทยสักร้านไม่น่าเชื่อเหมือนกันครับว่า ตลอดถนนทั้งสายมีแต่ร้านอาหารฝรั่ง ฟาสต์ฟู้ด หรือไม่ ก็อาหารไทยเอาใจฝรั่ง ที่หน้าตาดูยังไงก็ไม่เหมือนอาหารไทย แถมรอบข้างก็มีแต่ฝรั่งหัวทองเดินบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง เต็มไปหมด รู้สึกเหมือนเดินอยู่บนถนนในยุโรป ก็ไม่ปาน (คนที่บอกว่าสมุยเป็นเมืองฝรั่งไปแล้วก็คงเพราะมาเที่ยวแถวนี้นั่นแหละ)







          แต่นั่นก็เป็นแค่มุมหนึ่งของเกาะสมุยเท่านั้นแหละครับ อย่างคราวนี้ผมลองเปลี่ยนบรรยากาศมาทางรถทัวร์ แบบนักท่องเที่ยวทั่วไป ลงเรือเฟอร์รีข้ามฟากมาพักแถว ๆ หาดหน้าทอน ที่สภาพแวดล้อมยังไม่เป็นเมืองท่องเที่ยวฝรั่งจำจนเกินไปอาหารการกินก็มีให้เลือกมากมายแบบที่ถูกปากถูกใจ แถมราคาไม่แพง เช่ารถขับเองเที่ยวตระเวนไปตามหาดเล็กหาดน้อยที่ไม่ใช่หาดเฉวงกับหาดละไมที่เป็นย่านนักท่องเที่ยวฝรั่งได้ชัดเลยว่ามุมมองต่างกันกับคราวก่อนคราวก่อน ๆ เยอะ ยืนยันได้เลยครับว่าเกาะสมุยวันนี้ยังมีอีกหลายมุมที่คนไทยยังมาเที่ยวได้อยู่







สมุยสู่เกาะสีเขียว

          ความเจริญทั้งหลายแหล่ที่ประเดประดังเข้ามาบนเกาะสมุยอย่างรวดเร็ว จากความเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกนี่เองครับ เนิ่นนานหลายปีเข้าก็เริ่มทำให้สมุยมีปัญหา ทั้งปัญหาขยะ ปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม เรื่อยไปจนถึงปัญหาสังคมต่าง ๆ นานา

          ในบรรดาปัญหาทั้งหลายแหล่ บางเรื่องฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่ก็เกิดขึ้นมาแล้ว นั่นก็คือปัญหาต้นมะพร้าวบนเกาะสมุยกำลังค่อย ๆ หมดไป ประหลาดดีไหมล่ะครับ สำหรับดินแดนที่เคยมีสมญานามว่า "เกาะมะพร้าว" ซึ่งครั้งหนึ่งเลื่องชื่อไปทั่วโลกด้วยภาพของทิวมะพร้าวงามเรียงรายริมหาดทรายชายทะเล


          สาเหตุก็มีหลายประการ ส่วนหนึ่งมาจากการที่บนเกาะสมุยปัจจุบันมีการก่อสร้างอาคารตึกรามต่าง ๆ ทั้งบ้านเรือน โรงแรม รีสอร์ต ร้านค้า สารพัด เมื่อมีการก่อสร้าง ก็ต้องมีการไถเกรดปรับพื้นที่ มีการตัดต้นมะพร้าวกันทีละเป็นไร่ ๆ ประกอบกับการที่ราคามะพร้าวตกต่ำต่อเนื่องมานาน 20 - 30 ปี เหลือลูกละ 3 บาท อย่างดีก็ 5 บาท ชาวสวนมะพร้าวไม่น้อยก็เลยพากันโค่นต้นมะพร้าว หันมาทำสวนทุเรียน มังคุด ลองกอง ส่งออกต่างประเทศแทน ที่ร้ายไปกว่านั้น เหมือนผีซ้ำด้ำพลอย ก็คือมีแมลงศัตรูพืชระบาด ไม่ว่าจะเป็น "ด้วง" ที่ชอบกินยอดมะพร้าวไหนจะ "แมงดำหนาม" ซึ่งก็แสบไม่เบา กินทั้งใบอ่อนของมะพร้าว แถมยังกินยอดมะพร้าวจนกลายเป็นสีน้ำตาลอีกด้วย

          ททท. เล็งเห็นถึงปัญหานี้ ช่วงที่ผ่านมาก็เลยพยายามที่จะรักษาต้นมะพร้าวที่เป็นสัญลักษณ์ของเกาะสมุยเอาไว้ ด้วยการรณรงค์ปลูกมะพร้าว เพื่อคืนมะพร้าวให้สมุยอย่างต่อเนื่องในช่วงวันสำคัญและเทศกาลต่าง ๆ เช่น งาน 5  ธันวาฯ มหาราชปีที่ผ่านมา มีการจัดขบวนคาราวานคืนมะพร้าวให้สมุย ช่วง 14 กุมภาพันธ์ เทศกาลวันแห่งความรัก ก็มีการจัดกิจกรรมจดทะเบียนสมรสที่หาดบางรัก พร้อมให้คู่บ่าวสาวปลูกต้นมะพร้าวชายหาดคู่ละต้น และยังพาเด็กนักเรียนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาปลูกอีกในกิจกรรมเยาวชนรักทะเล เรียกว่ามาเป็นชุดละครับ

          นอกจากนี้ ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ยังได้ดึงเอาการประชุมมะพร้าวนานาชาติ "Coco Tech" เข้ามาจัดที่เกาะสมุยด้วย พร้อม ๆ กับจัดงานมหากรรมมะพร้าวชาวสมุยควบคู่กันไป เพื่อให้รู้จักวิธีเพิ่มมูลค่าให้กับมะพร้าว ในงานนี้ได้จัดให้บุคคลสำคัญในการประชุมร่วมปลูกพันธุ์มะพร้าวจากทั่วไทยไว้ที่วัดแหลมสอ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่เป็นศูนย์รวมพันธุ์มะพร้าวจากทั่วประเทศ ล่าสุดตอนนี้ได้ยินว่าทัวร์จากต่างประเทศหลายแห่งก็เริ่มมีโปรแกรมให้นักท่องเที่ยวได้มีกิจกรรมปลูกมะพร้าวเสริมเข้ามาด้วย

          ช่วยกันคนละไม้คนละมืออย่างนี้ เชื่อว่ามะพร้าวไม่มีทางหายไปจากสมุยครับ รับรองได้

          ในส่วนของปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ททท. ก็เพิ่งจะร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และมูลนิธิเกาะสีเขียว จัดพิธีลงนามความร่วมมือ SAMUI: Together green ตามแนวทาง 7 Greens ขึ้นบนเกาะสมุย เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกันระหว่างทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคชุมชน ที่จะดำเนินการด้านการท่องเที่ยวเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า จัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพลดปริมาณขยะ เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชน

          ที่ผ่านมาก็เริ่มได้ผลหลายโครงการแล้วเหมือนกันครับ ไม่ว่าจะเป็นโครงการฟื้นฟูสภาพของคลองเฉวงของกลุ่มรักเฉวง ที่จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องจนคืนสภาพน้ำในคลองเฉวง จากน้ำเน่ากลายเป็นน้ำใส โครงการโรงเรียนรักษ์สมุย ที่โรงแรมเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนในการคัดแยกกำจัดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดขยะไปได้มาก โครงการพื้นฟูป่าชายแลนพรุป่าโหลง ป่าชายเลนสมบูรณ์แหล่งสุดท้ายบนเกาะสมุยที่เสื่อมสภาพให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ โครงการเก็บขยะดูแลสภาพแวดล้อมใต้ทะเลและแนวชายฝั่งของกลุ่มนางเงือกสมุย และอีกมากมายหลายโครงการ ที่สำคัญทั้งหมดทั้งมวลล้วนเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนในท้องถิ่นทั้งนั้น ดูแล้วก็น่าชื่นใจในความพร้อมเพรียง









สีสันใหม่เกาะสมุย

          หลายวันที่ผ่านมา ค่ำ ๆ ผมก็จะไปเตร็ดเตร่อยู่ในบริเวณพรุเฉวงครับ เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีกิจกรรมพิเศษ คือ เทศกาลดนตรีแจ๊ซเกาะสมุย หรือ Samui Jazz Festival ซึ่งทาง ททท. จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศของการพักผ่อนแบบสบายๆ ลานกว้างริมน้ำยามค่ำคืนสว่างไสวด้วยแสงไฟและครึกครื้นไปด้วยร้านค้าอาหาร เครื่องดื่มนานาชนิดเรียงราย เสริมบรรยากาศด้วยรถเฟียตรุ่นคลาสสิกมาจอดเรียงรายโชว์เอาไว้ให้ชม รถโฟล์กตู้คันหนึ่งดัดแปลงเป็นร้านขายเครื่องดื่มเสียด้วย ดูเข้าท่าน่าอุดหนุน

          มุมหนึ่งบนลานกว้างจัดสร้างเป็นเวที มีนักดนตรีแจ๊ซทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นมาสร้างสรรค์เสียงเพลงขับกล่อมบรรดานักท่องเที่ยว ซึ่งก็มีทั้งคนไทยและฝรั่งชาวต่างชาติ ที่มานั่งจิบเครื่องดื่มรอฟังใต้แสงจันทร์ สุโขสโมสรอย่าบอกใคร ได้อารมณ์ของการพักผ่อนหย่อนใจอย่างแท้จริง เสียดายครับ ที่เป็นกิจกรรมเฉพาะช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่กี่วัน ผมได้แต่เก็บภาพบรรยากาศมาฝากกัน ส่วนใครอยากสัมผัสด้วยตัวเองคงต้องติดตามข่าวว่าจะมีการจัดกันอีกเมื่อไหร่ (อ่านจากคอลัมน์ข่าวท่องเที่ยวปฏิทินท่องเที่ยว ในอนุสาร อ.ส.ท. นี่ก็ได้ แฮ่ม...โฆษณาซะเลย)

          กิจกรรมใหม่ ๆ ที่จัดให้มีเป็นประจำก็มีเหมือนกันนะครับ นั่นคือถนนคนเดนิ ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันในช่วงสุดสัปดาห์ คือในเย็นวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ แต่ละแห่งต่างมีบุคลิกเฉพาะตัว ไม่ซ้ำ




          ในวันศุกร์จะเป็นถนนคนเดินหาดบ่อผุด ซึ่งเป็นถนนคนเดินที่จัดขึ้นเป็นแห่งแรกบนเกาะสมุย ในบริเวณหาดบ่อผุดซึ่งแต่เดิม เป็นย่านหมู่บ้านชาวประมง แต่เดี๋ยวนี้เป็นแหล่งรวมของที่พักแบบบูติก ฮิป ชิก สารพัด มีทั้งร้านพิซซาชื่อดังที่นักท่องเที่ยวฝรั่งนิยมแกลเลอรีแสดงผลงานศิลปะ ร้านอาหารทะเลซีฟู้ด ที่แต่ละร้านจะมีดีไซน์การตกแต่งประดับประดาที่สวยงามโดดเด่น รวมไปถึงร้านกาแฟแบบดั้งเดิมบรรยากาศคลาสสิก เรียกว่าเป็นย่านถนนคนเดินบรรยากาศค่อนข้างไฮโซฯ ละครับ ว่างั้น

          ว่ากันว่าถนนคนเดินนี่เริ่มมาจากนักท่องเที่ยวฝรั่งที่มากันเป็นคอรบครัว มักนิยมมาเดินเล่นแถวหากดบ่อผุด เพื่อหนีความพลุกพล่านจากหาดเฉวง ก็เลยจัดเป็นถนนคนเดินเสียเลย ตอนนี้นักท่องเที่ยวมากมายหลากหลายกลุ่ม ถนนเลียบหาดที่มีลักษณะเป็นสายเล็กแคบ เหมาะกับการเป็นถนนคนเดิน ค่ำลงบรรยากาศรอบข้างสว่างไสวด้วยแสงไฟหลากสี ร้านรวงเรียงรายขายสินค้านานาชนิด ทั้งเสื้อผ้า เครื่องประดับ ของที่ระลึก ของกิน เครื่องดื่ม รวมทั้งการแสดงกลางแจ้งมาช่วยเสริมสร้างสีสัน ทั้งแบบสบายๆ อย่างวงดนตรีแจ๊ซบรรเลงขับกล่อม หรือแบบตื่นเต้นสุดระทึกอย่างการลุยไฟไต่ลวดสลิง ผมไปเดินเล่นเพลินๆ สามสี่ชั่วโมงผ่านไปแทบไม่รู้ตัวละครับ รู้สึกอีกทีก็ตอนซักเดินตุปัดตุเป๋เพราะเมื่อยขานั่นแหละ







          พอเย็นวันเสาร์ก็จะถึงคิวของถนนคนเดนิหน้าทอนคึกคัก ซึ่งความจริงมีแนวคิดกันมาก่อนใคร ๆ บนเกาะสมุยนานแล้ว แต่มาเริ่มหลังจากถนนคนเดินที่หาดบ่อผุด บนถนนหน้าทอนสายกลาง ซึ่งเป็นย่านการค้าและบ้านเรือนคนมีฐานะของเกาะสมุยสมัยก่อน เรียกว่าเป็นศูนย์กลางความเจริญก็ว่าได้ บรรยากาศค่อนข้างเป็นตลาดนัดแบบย้อนยุค เพราะมีตึกรามบ้านช่องเก่า ๆ เป็นฉากหลัง โดยเฉพาะห้องแถวไม้ที่เรียงรายเป็นแนวยาว ยิ่งในยามค่ำลงได้แสงไฟสีอำพันสาดส่อง ยิ่งได้อารมณ์

          ร้านรวงที่มาขายก็มีทั้งเสื้อผ้า เครื่องใช้ ของที่ระลึก ที่มีมากที่สุดเห็นจะเป็นอาหารการกิน ทั้งของคาว ของหวาน เพราะแถวหน้าทอนนี่มีร้านอร่อยอยู่หลายร้าน มาเดินนี่ต้องประมาณกระเพาะให้ดี ไม่เช่นนั้นเดินไม่ทันสุดถนนก็อาจจะจุกเสียก่อนได้ แต่ถนนคนเดินที่หน้าทอนนี่จะเลิกกันค่อนข้างเร็ว ไม่ดึกดื่นเหมือนที่อื่น สอบถามได้ความว่าสมัยก่อนด้วยความที่แถวหน้าทอนเป็นย่านค้าขาย มีแต่คนรวยอาศัยอยู่ ก็เลยจะปิดร้านไว เพราะกลัวมืดค่ำโจรจะมาปล้น ก็เลยกลายเป็นความเคยชินไป แปลกดีเหมือนกัน





          พอวันอาทิตย์ก็จะถึงคิวของถนนคนเดินละไมใจดี ซึ่งจัดที่หาดละไม มองเผิน ๆ เหมือนจะมีจุดด้อยกว่าถนนคนเดินอีก 2 แห่ง ที่ผ่านมาในด้านบรรยากาศ ด้วยรอบข้างสองฟากฝั่งถนนไม่มีดึกรามบ้านช่องเก่า ๆ ที่จะช่วยสร้างบรรยากาศ มีแต่ตึกใหม่ ๆ ทว่าก็มีจุดเด่นที่อยู่กลางย่านโรงแรมและรีสอร์ตอันเป็นที่พักของนักท่องเที่ยวแถมยังมีทางเดินเชื่อมต่อไปถึงหาดละไมอันเป็นชายหาดสาธารณะได้

          ยังมีความต่างในเรื่องของข้าวของที่มาวางขาย พ่อค้าแม่ค้า ส่วนใหญ่เป็นคนมีฐานะที่มาออกร้านเอาสนุก ถนนคนเดินสายนี้ จึงเป็นถนนที่มีอาหารท้องถิ่นขายมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นน้ำชุบน้ำพริกพริกไทยสด ยำสาหร่ายข้อ เคยจี่ และยังมีประเพณีดั้งเดิมที่เรียกว่า "กินห่อ" คือธรรมเนียมการพาแขกที่มาเยือนทำข้าวห่อไปนั่งกินกันชายทะเล ช่วงที่ผมมานี่ มุมหนึ่งของหาดยังจัดสร้างเวทีแสดงดนตรีแจ๊ซอันเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลดนตรีแจ๊ซเกาะสมุยให้นั่งกินไปฟังไปอีกด้วย แต่ถึงไม่มีดนตรี มีของอร่อย ๆ มานั่งกินริมหาดทรายชายทะเล ฟังเสียงคลื่นชัดฝั่งก็ได้ทั้งบรรยากาศได้ทั้งรสชาติอยู่แล้วละผมว่า







เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

          "คุณภาคภูมิลองปลูกดูบ้างไหม" หนึ่งในคณะทำงานเดินมาสะกิดผม ยื่นถุงต้นกล้าจันทน์ผากับเสียมไม้ไผ่มาให้ พลางพยักหน้า

          ผมเหลียวซ้ายแลขวา หลังจากภารกิจผ่านไปเกือบ 2 ชั่วโมง ตอนนี้ชาวคณะคืนต้นจันทน์ผาให้กับป่าสมุยก็บุกป่าฝ่าดงไปพลาง ปลูกต้นจันทน์ผาไปพลาง กระทั่งปืนป่ายตะเกียกตะกายกันมาจนถึงน้ำตกหินลาดสำเร็จ เล่นเอาเหงื่อท่วมตัวไปเหมือนกัน เด็ก ๆ พอเห็นน้ำตกก็พากันเฮโลดาหน้าเข้าหา บ้างก็ปืนป่ายขึ้นไป นั่งพักผ่อนบนก้อนหินใหญ่ บ้างก็ลัดเลาะลงไปเล่นน้ำในลำธารที่หลากไหลมาจากน้ำตกที่เป็นลานหินกว้างใหญ่เป็นที่สนุกสนาน

          หันมามองดูแล้วก็ไม่น่าจะยากลำบากอะไร ลองดูสักหน่อยก็ได้ ไหน ๆ ก็มาแล้ว ผมก็เลยจัดแจงวางอุปกรณ์กล้องพะรุงพะรังทั้งหลายในมือ รับเอาต้นจันทน์ผากับเสียมมา เดินด้อม ๆ มอง ๆ หาที่จะปลูก เหลือบไปเห็นมุมเหมาะซอกหนึ่งของรากไม้ใหญ่

          "แถว ๆ รากไม้ก็ดีนะ เวลามันโตขึ้น รากไม้จะพันกันเอาไว้ ทำให้คนมาถอนไปยาก" ได้ยินดังนั้นผมก็ลงมือขุดทันควัน ไม่นานก็ได้หลุดเล็กขนาดพอดีกัน แกะถุงพลาสติกออกวางต้นจันทน์ผาลงไป กวาดดินมากลบเอาไว้ก่อนถอยออกมายืนชื่นชมผลงาน เห็นจันทน์ผาต้นน้อยเด่นอยู่ในอ้อมกอดของรากไม้ ชื่นใจยังไงก็บอกไม่ถูกละครับ

          พอจะเข้าใจขึ้นมาแล้วว่าทำไมถึงต้องพาเด็กมาทำกิจกรรมนี้ เพราะสิ่งที่ได้ปลูกไม่ใช่แค่ต้นจันทน์ผา แต่เป็นความรู้สึกอนุรักษ์ธรรมชาติที่จะเติบโตงอกงามในจิตใจของเด็ก ๆ ตลอดไป และพวกเขาเหล่านี้แหละที่จะทำให้เกาะสมุยและประเทศไทยเป็นสีเขียว ผมเชื่อว่าอย่างนั้นนะ ก็แหม อุตส่าห์ได้ปลูกได้รู้สึกกับเขาเหมือนกัน

          แม้ว่าจะแค่ต้นเดียวก็เถอะน่า

ขอขอบคุณ

          ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวเกาะสมุย

          คุณเรืองนาม ใจกว้าง ว่าที่ร้อยตรี ไพศาล ศิริยงค์





คู่มือนักเดินทาง

          รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) ถึงสามแยกปากท่อ-ราชบุรี-เพชรบุรี เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านสี่แยกปฐมพร จังหวัดชุมพร ตรงไปตามทางหลวงหมายเลข 41 จนถึงแยกหนองรี เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 401 ผ่านอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฏร์ธานี เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4242 ประมาณ 30 กิโลเมตร ถึงท่าเรือดอนสัก รวมระยะทางประมาณ 644 กิโลเมตร สามารถนำรถส่วนตัวลงเรือเฟอร์รีไปยังเกาะสมุยได้ อัตราค่านำรถลงเรือข้ามไปเกาะประมาณคันละ 360 - 470 บาท (ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัน)

          รถโดยสาร บริษัทขนส่ง จำกัด ให้บริการรถโดยสารทั้งจานสถานีขนส่งสายใต้ใหม่และสถานีขนส่งหมอชิต เส้นทางกรุงเทพฯ - เกาะสมุย รถวีไอพี 24 ที่นั่ง ทุกวัน วันละ 3 เที่ยว เวลา 07.00, 19.30 และ 20.20 นาฬิกา ค่าโดยสาร 959 บาทไป ป.1 วันเว้นวัน วันละ 2 เที่ยว เวลา 19.00 และ 20.00 นาฬิกา ค่าโดยสาร 631 บาท และ ป. 2 ทุกวัน วันละ 2 เที่ยว ค่าโดยสาร 530 บาท (รวมค่าโดยสารเรือของบริษัทราชาเฟอร์รีแล้ว) ยังมีบริการรถโดยสารของบริษัทโสภณทัวร์ รถวิไอพี วันเว้นวัน วันละ 3 เที่ยว เวลา 07.00, 19.30 และ 20.20 นาฬิกา ค่าโดยสาร 751 บาท รถ ป.1 ราคา 661 บาท (รวมค่าโดยสารเรือของบริษัทซีทรานเฟอร์รีแล้ว)

          เครื่องบิน บริษัทบางกอกแอร์เวย์สมีเที่ยวบินเดนิทางไป-กลับกรุงเทพฯ - เกาะสมุย ทุกวัน วันละหลายเที่ยว อันตราค่าโดยสาร 3,160 บาท ตรวจสอบตารางบินได้ที่เว็บไซต์ www.bangkokair.com

          หมายเหตุ ตารางเวลา ค่าโดยสารรถ ค่าเรือ และค่าโดยสาร เครื่องบินอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ก่อนออกเดินทางกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง บริษัทขนส่ง จำกัด โทรศัพท์ 0 2435 5605 บริษัทโสภณทัวร์ โทรศัพท์ 0 2435 5023 บริษัทบางกอกแอร์เวย์ส โทรศัพท์ 0 2270 6699 สายด่วน 1771


การเดินทางท่องเที่ยวบนเกาะสมุย

          นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการของรถสองแถวที่แล่นรอบเกาะไปยังหาดต่าง ๆ ค่าโดยสารประมาณ 30 - 60 บาท อีกทางเลือกซึ่งสะดวกรวดเร็วเป็นส่วนตัวกว่าก็คือเช่ามอเตอร์ไซค์ ค่าเช่าวันละ 200 - 250 บาท หรือหากต้องการความสะดวกสบายมากขึ้นก็สามารถเช่ารถยนต์ขับเที่ยวได้ในราคาวันละ 1,000 - 2,000 บาท (ขึ้นอยู่กับรถที่เช่า)


ขอขอบคุณข้อมุลและภาพประกอบจาก

หนังสือ อสท ปีที่ 51 ฉบับที่ 4 พฤศจิกายน 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สมุยเกาะสีเขียว อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 17:27:10 4,308 อ่าน
TOP
x close