ไปเที่ยวภูเขา เจอช้างป่าตัวใหญ่ขวางหน้ารถ จะทำอย่างไรดี ดับเครื่องยนต์รอดูนิ่ง ๆ ดีไหม หรือจะเหยียบคันเร่ง บีบแตร ส่งเสียงดังให้ช้างวิ่งหนีเข้าป่าดี เรามีวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องเมื่อเจอช้างป่ามาแนะนำกัน
มีหลายอุทยานแห่งชาติที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวสามารถขับรถเข้าไปเที่ยวชมด้านในได้
ซึ่งถ้าเราโชคดีก็จะเจอกับสัตว์ป่าน้อยใหญ่ แต่สำหรับ "ช้างป่า" นั้น
หลายคนก็ไม่ได้อยากเจอเท่าไร เพราะหลายคนกลัวที่จะโดนช้างเหยียบหรือทำร้าย
ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ ถ้าเราปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง
เปอร์เซ็นต์ที่จะโดนช้างป่าทำร้ายนั้นมีน้อยมาก
วันนี้เราจึงได้นำข้อปฏิบัติที่ถูกต้องเมื่อเจอช้างป่าจากเจ้าหน้าที่มาแนะนำกัน
มีอะไรบ้างไปดูกันค่ะ
2. อย่าใช้แตรรถ หรือส่งเสียงดังรบกวนช้างหรือไล่ช้าง เพราะอาจทำให้ช้างโกรธ และตรงเข้ามาหาเราได้
3. ไม่ควรจอดรถดูช้าง เพราะอาจมีรถคันอื่นตามมา แล้วรถของคุณกีดขวางรถผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ถูกทำร้ายแทนรถของคุณได้
4. งดการใช้แฟลชถ่ายรูป เพราะอาจทำให้ช้างตกใจ และตรงเข้ามาทำร้ายได้
5. ไม่ควรจอดรถแล้วลงไปถ่ายภาพช้าง เพราะการจอดรถแล้วลงไปถ่ายรูปช้างในระยะใกล้ อาจทำให้คุณวิ่งหนีขึ้นรถไม่ทัน ควรระลึกอยู่เสมอ ๆ ว่า โดยทั่วไปช้างมักจะอยู่รวมกันเป็นครอบครัวหรือโขลง ขณะที่คุณเจอช้างเพียงตัวเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีช้างตัวอื่น ๆ อยู่ในบริเวณนั้น โขลงช้างอาจจะกระจายกันหากินอยู่ในบริเวณป่าข้างๆ ทางนั้นก็เป็นได้
6. ให้ติดเครื่องรถยนต์ไว้เสมอ เพื่อให้สามารถเคลื่อนรถหนีได้ทันท่วงที
7. หากพบช้างในเวลากลางคืน ให้เปิดไฟรถไว้เสมอ เพื่อให้สามารถสังเกตอาการของช้างและระยะห่างระหว่างรถกับช้างได้โดยสะดวก
8. เมื่อตกอยู่ในวงล้อมของช้าง ตั้งสติให้มั่น หากเป็นเวลากลางคืน ให้ใช้ไฟสูง แล้วเลือกเคลื่อนรถไปในทางที่มีช้างอยู่น้อย แม้บางครั้งจำเป็นต้องเข้าใกล้หรือเบียดโขลงช้างไปก็ตาม อย่าดับเครื่องยนต์ และปิดไฟรถเป็นอันขาด ค่อยๆ เคลื่อนรถ ให้เสียงเครื่องยนต์นิ่งมากที่สุด
* หมายเหตุ ไฟสูงเปิดได้ ในกรณีที่เราอยู่ห่างจากช้างป่ามากกว่า 50 เมตรขึ้นไป เพราะจะทำให้ช้างรู้ตัวว่ามีรถมา ไม่ตกใจ และเดินหลบเข้าข้างทาง ถ้าเปิดไฟสูงระยะใกล้กว่านี้แสงจะแยงตา ช้างตกใจได้
9. สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเมื่อรถจอดเรียงกันบนถนน ไม่ว่าคันที่อยู่ใกล้ช้างหรืออยู่ไกลช้าง ก็ล้วนเป็นผู้ประสบเหตุทั้งสิ้น ดังนั้นหากรถคันหน้าเปิดไฟถอย รถคันข้างหลังถัดไปก็ต้องถอยรถอย่างมีสติ
10. ต้องมีสติ อย่าตกใจจนเกินไป พยายามควบคุมตัวเองให้ได้ และต้องสังเกตลักษณะ และอารมณ์ช้างให้ดีด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต สัตวแพทย์สัตว์ป่า ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ก็ได้แนะนำวิธีสังเกตอารมณ์ของช้างอย่างง่าย ๆ มาให้ด้วยค่ะ
- เมื่ออารมณ์ดี หูจะสะบัดไปมา หางจะแกว่งและใช้งวงสะบัดไปมา หรือเกี่ยวดึงต้นไม้กิน ไม่ค่อยสนใจเรา
- เมื่ออารมณ์ไม่ดี หูจะตั้งกาง ไม่สะบัดหาง หางชี้ งวงจะนิ่งแข็ง แตะอยู่ที่พื้น หรือใช้งวงตีพื้น และอยู่นิ่งจ้องมองมาทางเรา
โดยปกติช้างจะวิ่งไล่ผู้รบกวนเป็นระยะทางสั้น ๆ เพียง 2-3 ครั้ง หากวิ่งตามผู้รบกวนไม่ทันก็จะเลิกวิ่งไล่ไปเอง ช้างเมื่ออารมณ์ดี สังเกตจากการแกว่งหู และสะบัดหางไปมา จะไม่ทำร้ายแม้รถจะวิ่งเข้ามาใกล้ก็ตาม แต่หากช้างโกรธ หรือไม่ไว้ใจสิ่งใด เช่น ช้างแม่ลูกอ่อน อาจตรงเข้าทำร้ายผู้รบกวนได้ในระยะไกล จึงพึงสังเกตอารมณ์ และอาการของช้างไว้ประกอบการตัดสินใจด้วย
สำหรับใครที่กำลังจะไปเที่ยวภูเขา แล้วต้องขับรถเข้าป่า ก็ลองศึกษาถึงข้อปฏิบัติเวลาเจอช้างป่าเหล่านี้กันไว้ด้วยนะคะ เผื่อเกิดแจ็กพอตไปเจอช้างป่าขึ้นมาจริง ๆ จะได้ไม่ตื่นตกใจกลัว และปฏิบัติตนให้รอดปลอดภัยได้ :)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
dnp.go.th, เฟซบุ๊ก ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน