
หลายคนมีความเข้าใจว่าพื้นที่ทั้ง "เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า" และ "อุทยานแห่งชาติ" นั้น สามารถเข้าท่องเที่ยวได้เหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้วมีกฎระเบียบที่แตกต่างกันอยู่หลายประการ สำหรับการเข้าเที่ยวชมอุทยานแห่งชาตินั้นนักท่องเที่ยวเดินทางไปถึงที่ทำการอุทยาน แล้วจ่ายค่าธรรมเนียมก็สามารถเข้าเยี่ยมชมได้เลย แต่ถ้าเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจะไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ จะต้องทำหนังสือขออนุญาตเข้าพื้นที่มาก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 5 วันทำการ เพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้น เราไปค้นหาคำตอบกันค่ะ

อุทยานแห่งชาติ
อุทยานแห่งชาติ หมายถึง พื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลที่มีทรัพยากรธรรมชาติสวยงามแปลกประหลาดเป็นที่อัศจรรย์ เหมาะสำหรับการพักผ่อน มีคุณค่าทางการศึกษาหาความรู้ เช่น เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืช สัตว์หายาก หรือมีสิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ หรือวัฒนธรรม และเป็นเขตที่สงวนไว้เพื่อรักษาและทำการคุ้มครองทรัพยากรทางธรรมชาตินั้น ๆ ให้อยู่ในสภาพเดิมและไม่ถูกทำลาย
อุทยานแห่งชาติที่ได้มาตรฐาน นอกจากจะมีคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว จะต้องมีขนาดพื้นที่อย่างน้อย 10 ตารางกิโลเมตร บริหารงานโดยรัฐบาลกลาง (มิใช่รัฐหรือระดับจังหวัด) มีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างเพียงพอที่จะสามารถป้องกันการบุกรุกได้อย่างเด็ดขาด ข้อสำคัญจะต้องอนุญาตให้ไปท่องเที่ยวได้ และจะต้องรักษาธรรมชาติให้คงสภาพดั้งเดิมอย่างมากที่สุด (ดูรายละเอียดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504)
วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ
1. เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ คือต้องการอนุรักษ์สภาพธรรมชาติของพื้นที่ให้คงอยู่ตามธรรมชาติ ป้องกันการรบกวนโดยมนุษย์ โดยเฉพาะทรัพยากรที่สำคัญ ๆ เช่น สัตว์ป่า พืชพรรณ และลักษณะธรรมชาติที่สวยงามเป็นพิเศษ รวมทั้งแหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมที่สำคัญ จะให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดจากการกระทำของธรรมชาติ
2. เพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติมีทิวทัศน์ทางธรรมชาติที่สวยงามเหมาะกับการใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดความสุข ทั้งทางกายและทางจิตใจแก่ผู้เข้าไปเที่ยวชม รวมทั้งอาจจะช่วยผ่อนคลายความเครียดจากการปฏิบัติงานประจำ
3. เพื่อการศึกษาค้นคว้าวิจัย พื้นที่อุทยานแห่งชาติสามารถจัดเป็นห้องทดลองทางธรรมชาติกลางแจ้ง ที่สามารถค้นคว้าวิจัยไม่มีที่สิ้นสุด เหมาะเป็นที่ศึกษาของนักศึกษา นักวิทยาศาสตร์ และประชาชนทั่วไป เพราะภายในอุทยานแห่งชาติมีสิ่งมีชีวิตสำหรับนักศึกษา นับตั้งแต่การเจริญเติบโต การพัฒนาทางชีววิทยา วิวัฒนาการ และจำนวนประชากรของสิ่งมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป
การเข้าเที่ยวชมอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวยังต้องทำตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด โดยสามารถศึกษาเกี่ยวกับข้อห้ามและบทลงโทษของการฝ่าผืนกฎระเบียบได้ในพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 หมวด 3 การคุ้มครองและดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติ และหมวด 5 บทกำหนดโทษ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ dnp.go.th
นอกจากนี้การเข้าเที่ยวชมอุทยานแห่งชาติยังต้องมีการจ่ายธรรมเนียม ซึ่งแต่ละอุทยานแห่งชาติก็จะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกันออกไป นักท่องเที่ยวสามารถดูรายละเอียดค่าธรรมเนียมการเข้าเที่ยวชมอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งได้ที่ dnp.go.th

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หมายถึง พื้นที่ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัย เพื่อว่าสัตว์ป่าในพื้นที่ดังกล่าวจะได้มีโอกาสสืบพันธุ์และขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้มากขึ้น ทำให้สัตว์ป่าบางส่วนได้มีโอกาสกระจายจำนวนออกไปในท้องที่แหล่งอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
การกำหนดให้มีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า สืบเนื่องมาจากการที่สัตว์ป่าจะสามารถดำรงชีพและสืบเชื้อสายต่อไปได้ จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร แหล่งหลบภัย ป่าไม้เป็นแหล่งกำเนิดปัจจัยดังกล่าว ซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อสัตว์ป่า เมื่อป่าไม้ถูกทำลายลงสัตว์ป่าก็ต้องต่อสู้กันเพื่อแก่งแย่งแหล่งน้ำ แหล่งอาหารที่มีจำกัด ทำให้สัตว์ป่ามีสุขภาพอ่อนแอและล้มตายไปมาก ขณะเดียวกันเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปมากทำให้มีอาวุธปืนและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการล่าสัตว์ป่ามีประสิทธิภาพมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุให้สัตว์ป่าถูกทำลายไปได้โดยง่าย สัตว์ป่าบางชนิดก็ลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วจนเกือบสูญพันธุ์ หรือบางชนิดก็ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการพยายามสงวนและรักษาป่าไม้ไว้ ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าในรูปแบบของ "เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า"
การพิจารณาเลือกพื้นที่เพื่อการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ในการพิจารณาเลือกพื้นที่เพื่อการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อาศัยหลักการที่สำคัญ ในการพิจารณา ดังนี้
1. เป็นบริเวณที่มีสัตว์ป่าชุกชุมและมีสัตว์ป่าชนิดที่หาได้ยาก หรือกำลังจะสูญพันธุ์อาศัยอยู่
2. เป็นบริเวณที่มีแหล่งน้ำแหล่งอาหารและที่หลบภัยของสัตว์ป่าเพียงพอ
3. เป็นพื้นที่ป่าไม้ที่อยู่ห่างไกลจากชุมชนพอสมควร
4. มีสภาพป่าหลายลักษณะอยู่ในผืนเดียวกัน เป็นต้นว่ามีทั้งป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ทุ่งหญ้า ฯลฯ ซึ่งจะทำให้มีความหลากหลายทางพืชและสัตว์ป่าสูง
5. จะต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่อยู่ในกรรมสิทธิ์หรือครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลใด
ด้วยเหตุทั้งปวงทำให้การเข้าเยี่ยมชมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จะต้องยื่นหนังสือขออนุญาตเข้าพื้นที่ให้กับเจ้าหน้าที่ก่อนล่วงหน้าได้ 60 วัน และไม่ต่ำกว่า 5 วันทำการ เอกสารที่ใช้ในการประกอบการขออนุญาตมีดังนี้
- บุคคลทั่วไป
1. หนังสือขออนุญาตให้เข้าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า / เขตห้ามล่าสัตว์ป่า (ตามแบบฟอร์มที่กำหนด)
2. สำเนาบัตรประชาชนผู้ขออนุญาตและผู้ร่วมคณะทุกคน
3. เบอร์โทรศัพท์ พร้อมรายชื่อผู้ติดต่ออย่างน้อย 2 ท่าน
4. สำเนาทะเบียนรถทุกคัน (กรณีเข้าทุ่งใหญ่นเรศวร หน้ายางกว้างไม่เกิน 10.5 นิ้ว สููงไม่เกิน 32.5 นิ้ว)
- สถานศึกษา หน่วยงานเอกชน หรือหน่วยงานราชการ ฯลฯ
1. หนังสือขออนุญาตให้เข้าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า / เขตห้ามล่าสัตว์ป่า (หนังสือราชการ)
* เรียนผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า
* ระบุสถานที่
* ระบุวันที่
* ระบุจำนวนคน
* แจ้งวัตถุประสงค์
2. กำหนดการหรือโครงการ
3. เบอร์โทรศัพท์ติดต่อประสานงาน พร้อมรายชื่ออย่างน้อย 2 เบอร์
สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ dnp.go.th
กรณีส่งทางไปรษณีย์ ส่งมาที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สํานักอนุรักษ์สัตว์ป่า ตึกไพโรจน์สุวรรณกร (ตึก 100 ปี) ชั้น 2 ฝ่ายอนุญาตและเงินรายได้ เลขที่ 61 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. 10900 หรือส่งทาง E- mail : permission1615@gmail.com (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม dnp.go.th)

ข้อห้ามในการเข้าใช้พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า
* ไม่ให้อาหารสัตว์
* ไม่ล่าสัตว์
* ไม่เก็บสิ่งของธรรมชาติ
* ไม่ส่งเสียงดัง
* ไม่ตัดต้นไม้
* ไม่เผาป่า
* ไม่เล่นการพนัน
* ไม่นำสัตว์เลี้ยงเข้าป่า
* ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
* ไม่ทิ้งขยะ
* ไม่นำสารเคมีอันตรายเข้าป่า
* ไม่ขับรถเร็วเกินกำหนด
เงื่อนไข/ค่าธรรมเนียมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า
ค่าบริการหรือค่าตอบแทนรายบุคคล
ผู้ใหญ่ คนละ 20 บาท, เด็ก คนละ 10 บาท
ยานพาหนะ
1. รถจักรยาน คันละ 10 บาท
2. รถจักรยานยนต์ คันละ 20 บาท
3. รถยนต์ 4 ล้อ คันละ 30 บาท
4. รถยนต์ 6 ล้อ คันละ 100 บาท
5. รถยนต์ 10 ล้อ คันละ 200 บาท
สถานที่กางเต็นท์ หลังละ 30บาท/วัน
หมายเหตุ
1. เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ไม่ต้องเรียกเก็บค่าบริการหรือค่าตอบแทน ส่วนอายุตั้งแต่ 14 ปีขึ้นไปเก็บในอัตราผู้ใหญ่
2. นักเรียน นิสิต นักศึกษา ให้เก็บค่าบริการหรือค่าตอบแทนในอัตราสำหรับเด็ก
3. ชาวต่างชาติ ให้เก็บค่าบริหารหรือค่าตอบแทนรายบุคคลในอัตรา 10 เท่าของชาวไทย
4. ค่าบริการหรือค่าตอบแทนรายการที่ 1 2 และ 3 ผู้ขับขี่และผู้โดยสารต้องชำระค่าบริการหรือค่าตอบแทนเป็นรายบุคคล
5. ค่าบริการหรือค่าตอบแทนรายการที่ 4 และ 5 ผู้โดยสารต้องชำระค่าบริการ หรือค่าตอบแทนเป็นรายบุคคล ยกเว้นผู้ขับขี่ 1 คน
6. รถยนต์เกินกว่า 10 ล้อ ไม่อนุญาตให้ผ่านเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า
(ดูรายละเอียดเพิ่มเติม dnp.go.th)
ถ้ามองโดยสรุปแล้วเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ก็คือพื้นที่ที่ต้องรักษาพื้นที่ป่าให้สมบูรณ์มากที่สุด เพื่อให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหายากและสัตว์ป่าที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ยิ่งมีการรบกวนจากภายนอกน้อยเท่าไรก็ยิ่งดี นั่นจึงทำให้ไม่เปิดให้เข้าเที่ยวชมโดยทั่วไป แต่สำหรับอุทยานแห่งชาติเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติสวยงามโดดเด่น ต้องได้รับการคุ้มครองดูแลให้อยู่ในสภาพเดิม และไม่ถูกทำลาย อนุญาตให้เข้าไปเที่ยวชมได้โดยปกติ (บางพื้นที่จะปิดบางฤดูกาลเพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัวและป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดจากภัยธรรมชาติ)
ใครที่กำลังวางแผนหรือกำลังสนใจที่จะไปเที่ยวทั้ง 2 พื้นที่นี้ ศึกษาถึงกฎระเบียบและข้อปฏิบัติต่าง ๆ ไว้ก็เป็นสิ่งที่ดีต่อการเตรียมตัวเที่ยวของเราเลยค่ะ จะได้มีช่วงเวลาวันหยุดที่แฮปปี้กัน :)
*** หมายเหตุ : ข้อมูล ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลง โปรดตรวจสอบข้อมูลก่อนการเดินทาง ***
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
dnp.go.th/wildlifednp, portal.dnp.go.th, เฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช