เที่ยวกรุงเทพฯ พาทัวร์ "วัดเทพธิดารามวรวิหาร" กับเรื่องราวอันซีนน่ารู้ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า อีกหนึ่งพระอารามหลวงสำคัญประจำกรุงรัตนโกสินทร์
วัดเทพธิดารามวรวิหาร
นับเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งประจำกรุงรัตนโกสินทร์
และเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยว
ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนไม่น้อย
ในการเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของไทย
ที่คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์แห่งยุคสมัย กลายเป็นมรดกวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า
และควรค่าแก่การอนุรักษ์
ให้คนรุ่นหลังได้เข้ามาสัมผัสและชื่นชมมรดกวัฒนธรรมระดับโลกแห่งนี้
ประวัติความเป็นมาของวัดเทพธิดารามวรวิหาร
ประวัติความเป็นมาของวัดเทพธิดารามวรวิหาร
วัดเทพธิดารามวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ริมถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. 2379 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งเป็นพระราชธิดาที่ทรงพระเมตตาและโปรดปรานเป็นอย่างยิ่ง และสร้างสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2382 พระราชทานนามว่า "วัดเทพธิดาราม" เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ บริจาคทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมในการก่อสร้างด้วย
วัดเทพธิดารามวรวิหาร ถือได้ว่าเป็นวัดเก่าแก่ หลายคนน่าจะรู้จักวัดแห่งนี้ ในฐานะที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่พำนักของกวีเอกสำคัญของโลกอย่าง "สุนทรภู่" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วัดเทพธิดารามวรวิหาร เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ รวมถึงยังมีเรื่องราวอันซีนมากมาย ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และศิลปกรรมอื่น ๆ ที่ทำให้วัดเทพธิดารามวรวิหาร กลายเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้สำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
1. หอไตร : รางวัลอนุรักษ์ดีเด่นจากยูเนสโก
หอไตรวัดเทพธิดารามวรวิหาร ปรากฏความสวยงามด้วยลักษณะทางสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งได้รับอิทธิพลตกแต่งจากจีนตามแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ปิดทอง ล่องชาด มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันปิดทองประดับกระจกสี มีงานศิลปะลายรดน้ำที่มีอยู่ทุกบานประตูและหน้าต่าง ภายในเป็นที่เก็บคัมภีร์พระไตรปิฎก เปรียบเสมือนเป็นห้องสมุดใหญ่ในทางพระพุทธศาสนา ปัจจุบันหอพระไตรปิฎกไม่ได้เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าเที่ยวชม
ในปี พ.ศ. 2554 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้ประกาศว่าหอไตรวัดเทพธิดารามวรวิหารได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น โดยแนวทางการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของกรมศิลปากรนั้นเน้นการปฏิสังขรณ์และอนุรักษ์เป็นฝีมือช่างแบบดั้งเดิม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในการดูแลอย่างต่อเนื่อง
2. พระพุทธเทววิลาส : พระประธานสำคัญประจำพระอุโบสถ
พระพุทธเทววิลาส หรือ หลวงพ่อขาว (ชื่อที่ชาวบ้านเรียกทั่วไป) พระประธานสำคัญประจำพระอุโบสถ ปางมารวิชัย สลักด้วยศิลาขาวบริสุทธิ์ ประดิษฐานเวชยันต์บุษบก ถือเป็นศิลปวัตถุที่มีความงดงามและหาชมได้ยากยิ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้โปรดอัญเชิญพระพุทธเทววิลาส (หลวงพ่อขาว) มาจากพระบรมมหาราชวัง มาประดิษฐานเป็นพระประธานประจำพระอุโบสถ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาส) พระราชธิดาในพระองค์
และเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งเสด็จฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระกฐิน ได้พระราชทานนามพระพุทธรูปนี้ว่า "พระพุทธเทววิลาส" หมายถึง พระพุทธรูปที่มีความงดงาม ขณะเดียวกันยังมีความเกี่ยวเนื่องกับพระนามเดิมของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาส) อีกด้วย
3. พระอุโบสถ : สัญลักษณ์เชิงสถาปัตย์สะท้อนความเป็นหญิง
หากสังเกตบริเวณหน้าบันของพระอุโบสถ จะเห็นเป็นกระเบื้องเคลือบสีรูปหงส์คู่ ซึ่งในทางคติความเชื่อของจีน หงส์ เป็นเจ้าแห่งสัตว์ปีกทั้งปวง และนำหงส์มาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนฮองเฮา อันสื่อถึงสตรีผู้สูงศักดิ์ ที่มาพร้อมความสวยงาม และคุณธรรมความดีงาม คู่กับมังกร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนฮ่องเต้ ดังนั้นรูปหงส์ที่ประดับอยู่ที่หน้าบันพระอุโบสถ จึงมีนัยสื่อถึง "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาส)" พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 นั่นเอง
และเมื่อเข้ามายังภายในตัวพระอุโบสถ คุณจะได้ชื่นชมกับภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปพุ่มข้าวบิณฑ์ ซึ่งผิดกับภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดอื่น ที่มักนิยมวาดเรื่องราวชาดก รวมถึงปรากฏภาพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาส) ประดับอยู่ตรงประตูทางเข้าภายในตัวพระอุโบสถ เหล่านี้ล้วนเป็นสัญลักษณ์เชิงสถาปัตย์สะท้อนความเป็นหญิงด้วยกันทั้งสิ้น
4. พระวิหาร : ชมรูปหล่อหมู่พระอริยสาวิกาสมัยพุทธกาล
และเมื่อลองสังเกตให้ดี จะมีพระอริยสาวิกาองค์หนึ่งโดดเด่นเป็นสง่า อยู่ท่ามกลางรูปหล่อหมู่พระอริยสาวิกาทั้ง 52 องค์ ได้แก่ รูปหล่อ "พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี" ภิกษุณีรูปแรกที่มีส่วนในการช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาในหมู่สตรี หากแต่ในสมัยพุทธกาล เป็นเรื่องยากที่ผู้หญิงจะได้รับการอนุญาตจากพระพุทธเจ้าให้บวชเป็นภิกษุณี ด้วยต้องยึดหลักและปฏิบัติตามครุธรรม 8 ประการ และถือศีล 311 ข้อ ดังนั้นการจะเป็นภิกษุณีได้นั้น จึงต้องอาศัยศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า เพื่อที่จะบรรลุธรรมเป็นพระอริยสาวิกา
นอกจากนี้ภาพจิตรกรรมภายในพระวิหารวัดเทพธิดารามวรวิหาร ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจ โดยมีการนำภาพหงส์มาเขียนเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง รวมถึงบานประตูและหน้าต่าง ก็ล้วนเป็นลวดลายที่สะท้อนถึงความเป็นสิริมงคลตามคติความเชื่อของจีนทั้งนั้น เช่น ภาพกระถางดอกบัว, ภาพอ่างปลาทอง และภาพกระถางดอกโบตั๋น เป็นต้น
5. กุฏิสุนทรภู่ : พิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยผ่านสื่อเทคโนโลยี
ในที่นี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก "สุนทรภู่" กวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์ ใครจะรู้เล่าว่าครั้งหนึ่งในช่วงชีวิตของท่าน วัดเทพธิดารามวรวิหาร เคยเป็นวัดที่สุนทรภู่จำพรรษา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2385 รวมเป็นเวลาทั้งหมด 3 ปี ณ กุฏิในหมู่กุฏิคณะ 7 ซึ่งปัจจุบันทางวัดได้อนุรักษ์กุฏินี้เอาไว้เป็นอนุสรณ์ถึงสุนทรภู่ และเปิดให้บุคคลทั่วไป นิสิต และนักศึกษา ได้เข้ามาศึกษาองค์ความรู้จากกวีเอกท่านนี้
ภายในกุฏิหมู่ประกอบด้วยห้องทั้งหมด 3 ห้อง ได้แก่
1. ห้อง "แรงบันดาลใจไม่รู้จบ" จัดแสดงเกี่ยวกับเส้นทางชีวิตและผลงานของสุนทรภู่ในประวัติศาสตร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 รวมทั้งยังมีรูปหล่อครึ่งตัวของท่านเมื่อครั้งยังเป็นพระภิกษุ ประดิษฐานไว้เป็นอนุสรณ์
2. ห้อง "มณีปัญญา"เพลิดเพลินและสนุกกับการเรียบเรียงบทร้อยกรองคำประพันธ์ของสุนทรภู่ ไม่ว่าจะเป็น กลอน กาพย์ โคลง และนิราศ
3. ห้อง "ใต้ร่มกาสาวพัสตร์" จัดแสดงเครื่องอัฐบริขาร รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของสุนทรภู่ เมื่อครั้งที่ท่านยังบวชเป็นพระภิกษุ
นอกจากนี้ ความพิเศษในการเยี่ยมชมกุฏิสุนทรภู่ อยู่ที่การนำเอาเทคโนโลยีเออาร์ (Augmented Reality) เทคโนโลยีที่ผนวกโลกแห่งความเป็นจริงและโลกดิจิทัลเข้าไว้ด้วยกัน มาช่วยในการนำเสนอองค์ความรู้ที่เชื่อมโยงกับสุนทรภู่ โดยผ่านเทคโนโลยีดังกล่าว นับได้ว่าเป็นการเปิดมุมมองการนำเสนอเรื่องเล่าอัตชีวประวัติของสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ภายใต้บริบทสังคมสมัยใหม่ได้อย่างน่าสนใจ
นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางตามรอยสุนทรภู่ครูกวี ได้ทุกวันจันทร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น หรือดูรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก Sunthon Phu Museum Wat Thepthidaram พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ วัดเทพธิดาราม
การเดินทางมายังวัดเทพธิดารามวรวิหาร
นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมายังวัดเทพธิดารามวรวิหาร โดยเข้าเส้นถนนมหาไชย เลยป้อมมหากาฬมาไม่ไกล ก็จะพบกับวัดเทพธิดารามวรวิหาร ตั้งอยู่ใกล้กับวัดราชนัดดาวรวิหาร (ดูพิกัดการเดินทางได้ที่ GPS : เว็บไซต์ google.co.th) หรือโทรศัพท์ 02 621 1178
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวความอันซีนของวัดเทพธิดารามวรวิหาร หนึ่งในวัดสำคัญประจำกรุงเทพฯ ที่ยังคงความงดงามทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรมแห่งยุคสมัยตามพระราชนิยมเอาไว้ได้อย่างสวยงาม ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัสและสานต่อองค์ความรู้สำคัญสืบต่อไปตราบนานเท่านาน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เว็บไซต์ crownproperty.or.th, เฟซบุ๊ก Sunthon Phu Museum Wat Thepthidaram พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ วัดเทพธิดาราม, เว็บไซต์ watthepthidaramqr.com