ตามรอยราชสกุลมหิดล ในสหรัฐอเมริกา สถานที่แห่งความผูกพันต่อในหลวง ร.9

ตามรอยราชสกุลมหิดล

          ตามรอยราชสกุลมหิดล ในประเทศสหรัฐอเมริกา สถานที่พระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เยือนเมืองบ้านเกิดของพ่อหลวงแห่งปวงชนชาวไทย

          ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านล่วงเลยมาปีกว่าแล้วที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสู่สวรรคาลัย แต่เชื่อได้เลยว่าปวงชนชาวไทยยังคงคิดถึงพระองค์ท่านไม่เสื่อมคลาย ทุกหย่อมหญ้าที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปถึง ล้วนแต่มีคุณค่าทางจิตใจต่อคนไทยทั้งสิ้น ไม่ว่าที่แห่งนั้นจะอยู่บนผืนแผ่นดินไทยหรืออยู่ที่ใดบนโลก หากเราได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนไปเห็นสถานที่ที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้ประทับสักครั้ง นั่นก็เป็นบุญตาเหลือเกิน เหมือนดั่งที่ คุณธันยพร มิตรกุล (จี้มุก) ได้มีโอกาสเดินทางไปยังเมืองบอสตัน และเมืองใกล้เคียง ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่าง ๆ อันเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยได้เผยแพร่ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thanya JieMook Mitkul เส้นทางนี้จะน่าสนใจและมีคุณค่ามากน้อยแค่ไหน เราไปชมกันเลยค่ะ
        
           มาเริ่มกันที่สถานที่แรกที่ไปคือ อพาร์ตเมนต์เลขที่ 63, Longwood avenue, Brookline บ้านหลังแรกของพ่อ :)

          ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าอพาร์ตเมนต์หลังนี้นั้นอยู่ใกล้กับโรงแรมที่เราพักมากกกกก ใกล้มากจนน่าขนลุก ตอนหาข้อมูลตอนนั้นพบว่าอพาร์ตเมนต์นี้ไม่ได้อยู่แถว ๆ เคมบริดจ์เหมือนสถานที่อื่น ๆ ค้นไปค้นมาปรากฏว่าอยู่แถว ๆ โรงแรมเรานี่เอง แค่ข้ามถนนไปอีกฝั่งของโรงแรมแล้วเดินต่อไปอีก 2 บล็อก ก็ถึงเลย วินาทีแรกที่เห็นคือขนลุกซู่ววววววว บอกไม่ถูก มันทั้งดีใจ ภูมิใจ ตื้นตัน ตื่นเต้นปนกันไปหมด 

          ความสำคัญของอพาร์ตเมนต์หลังนี้ คือเป็นที่ประทับที่แสนจะเรียบง่ายของสมาชิกราชสกุลมหิดลทั้ง 5 พระองค์ ซึ่งประกอบไปด้วยสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อันเป็นที่รักของพวกเรานั่นเอง

          ทรงประทับอยู่ที่นี่ช่วงปี พ.ศ. 2469-2471 จนกระทั่งสมเด็จพระบรมราชชนกทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อ พ.ศ. 2471 ทั้งครอบครัวก็ได้เสด็จนิวัตประเทศไทยอย่างถาวร โดยประทับอยู่ ณ วังสระปทุม ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จสวรรคต ขณะที่ตอนนั้นในหลวง รัชกาลที่ 9 มีพระชนมายุยังไม่ถึง 2 พรรษา

          อพาร์ตเมนต์เล็ก ๆ ที่แสนเรียบง่ายหลังนี้จึงนับได้ว่าเป็นบ้านหลังแรกของในหลวง รัชกาลที่ 9 เพราะพระองค์ท่านทรงประทับอยู่ที่นี่ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงพระชนมายุ 9 เดือน ก่อนที่จะเสด็จนิวัตประเทศไทยนั่นเอง

          ตอนที่เรากำลังยืนถ่ายรูปอพาร์ตเมนต์แห่งนี้อยู่นั้น ก็มีคุณลุงท่านหนึ่งที่พักอาศัยอยู่ที่นี่ ถามมาจากข้างหลังว่า

          คุณลุง : Are you from Thailand ?

          เรา : Yes, I\'m from Thailand :)

          คุณลุง : Your King used to live here. Do do want to see inside ?

          แล้วคุณลุงก็เปิดประตูให้เข้าไปชมข้างในอพาร์ตเมนต์บริเวณชั้น 1 ซึ่งตอนนี้ให้คนเช่าอยู่เป็นห้อง ๆ โดยข้างในมีการจัดแสดงพระราชประวัติเล็ก ๆ ด้วย ตอนนั้นหัวใจฟูมากกกกกก มันเป็นความรู้สึกที่ไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้เลย

          สถานที่ต่อไปคือ Mount Auburn Hospital โรงพยาบาลที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระบรมราชสมภพ


ตามรอยราชสกุลมหิดล

ตามรอยราชสกุลมหิดล

ตามรอยราชสกุลมหิดล

ตามรอยราชสกุลมหิดล

ตามรอยราชสกุลมหิดล

ตามรอยราชสกุลมหิดล

***************************************************************

          มาต่อกันที่สถานที่ที่ 2 ที่ไปคือ Mount Auburn Hospital โรงพยาบาลพระบรมราชสมภพ

          ออกจากอพาร์ตเมนต์เลขที่ 63 เพื่อไปโรงพยาบาลโดยนั่งรถไฟมาลงที่สถานี Harvard แล้วต่อด้วยรถบัส โดยใช้เวลาเดินทางทั้งหมดประมาณ 1 ชั่วโมง ก็ถึงโรงพยาบาล พอไปถึงโรงพยาบาลก็งง ๆ ว่าต้องไปตึกไหน มุมไหนของโรงพยาบาล ก็เลยเดินไปสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์

          เรา : Hello, if I want to see anything about King Bhumibol, Where should I go ?

          เจ้าหน้าที่ : Oh King Bhumibol, your beloved King so just follow me I will show you the way :)

          แล้วคุณป้าเจ้าหน้าที่ก็พาไปที่ประวัติของโรงพยาบาล ซึ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งตรงนั้นก็จะมีเรื่องราวความสัมพันธ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 กับโรงพยาบาลแห่งนี้ หลังจากนั้นคุณป้าเจ้าหน้าที่ก็บอกว่านอกจากตรงนี้แล้วก็ยังมีอีกที่หนึ่ง ซึ่งก็คือห้องพระบรมราชสมภพจริง ๆ ของพระองค์

          ห้องหน้าต่างสูงชั้นบนที่เห็นในตึกนี้ (ดูได้จากในรูป) เป็นห้องที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระบรมราชสมภพ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 เวลา 08.45 น. ณ ตอนนั้นสมเด็จย่าและในหลวง รัชกาลที่ 9 ประทับพักฟื้นที่โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นเวลา 21 วัน

          เมื่อแรกพระบรมราชสมภพทรงมีพระนามในสูติบัตรว่า เบบี้ สงขลา (Baby Songkla) ซึ่งมาจากพระนามของสมเด็จพระบรมราชชนก ที่มีพระนามในต่างประเทศว่า Mr.Mahidol Songkla (มหิดล สงขลา) นั่นเอง ซึ่งหลังจากที่พระองค์พระบรมราชสมภพได้ไม่ถึง 3 ชั่วโมง สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงรีบส่งโทรเลขถึงสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ว่า "ลูกชายเกิดเช้าวันนี้ สบายดีทั้งสอง ขอพระราชทานนามทางโทรเลขด้วย" โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามว่า "ภูมิพลอดุลยเดช" ซึ่งแปลว่า "พลังแห่งแผ่นดิน"

          ปัจจุบันแผนกสูติได้ย้ายไปยังชั้น 5 ของอีกตึกหนึ่ง ซึ่งบริเวณหน้าห้องคลอดจะมีพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 อยู่

          ใครจะรู้ว่าเด็กชายตัวน้อย ๆ ที่คลอดที่นี่ หลังจากนั้น 19 ปี ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ลำดับที่ 9 ของราชวงศ์จักรีไทย และกลายเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่เปี่ยมล้นไปด้วยความรักและเมตตาต่อพสกนิกรชาวไทย และเป็นหัวใจของคนไทยทั้งประเทศ :)

          สถานที่ต่อไปเราไปชมกันว่าเมื่อครั้งที่สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จย่ามาศึกษาที่บอสตัน ท่านประทับอยู่ที่ไหน

ตามรอยราชสกุลมหิดล
ด้านหน้า Mount Auburn Hospital  ภาพจาก เฟซบุ๊ก Thanya JieMook Mitkul

ตามรอยราชสกุลมหิดล

ตามรอยราชสกุลมหิดล

ตามรอยราชสกุลมหิดล
พระบรมฉายาลักษณ์ที่พระราชทานให้กับทางโรงพยาบาล เมื่อครั้งเสด็จฯ มายังโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2503  ภาพจาก เฟซบุ๊ก Thanya JieMook Mitkul

ตามรอยราชสกุลมหิดล
ข่าวประวัติศาสตร์เมื่อครั้งที่เสด็จฯ มาโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2503 ภาพจาก เฟซบุ๊ก Thanya JieMook Mitkul

ตามรอยราชสกุลมหิดล

ตามรอยราชสกุลมหิดล
ห้องในวงกลมสีแดงคือห้องพระบรมราชสมภพของพระองค์ ภาพจาก เฟซบุ๊ก Thanya JieMook Mitkul

ตามรอยราชสกุลมหิดล
แผ่นศิลาจารึก ภาพจาก เฟซบุ๊ก Thanya JieMook Mitkul

ตามรอยราชสกุลมหิดล

ตามรอยราชสกุลมหิดล
พระบรมฉายาลักษณ์หน้าห้องคลอดชั้น 5 ภาพจาก เฟซบุ๊ก Thanya JieMook Mitkul

ตามรอยราชสกุลมหิดล

          นี่คือแผ่นใต้พระบรมฉายาลักษณ์ แปลได้ว่า

          "โรงพยาบาล MOUNT AUBURN ตั้งใจที่จะน้อมรำลึกถึงพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว ที่ทรงมีพระบรมราชสมภพบนแผ่นดินของประเทศสหรัฐอเมริกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย ซึ่งทรงมีพระบรมราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 โดยอยู่ในการดูแลของ D.R. W.STEWART WHITTEMORE"

          "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยือนสถานที่พระบรมราชสมภพของพระองค์ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2503"

ตามรอยราชสกุลมหิดล
          พระสูติบัตร (จากเว็บไซต์) ภาพจาก เฟซบุ๊ก Thanya JieMook Mitkul

***************************************************

          สถานที่ที่ 3 เราออกจากโรงพยาบาลก็เดินทางไปยัง อาคารหมายเลขที่ 44, Langdon street  ซึ่งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากโรงพยาบาลมากนัก

          เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2461 นักเรียนทุนการศึกษาทั้ง 9 คน ที่ได้รับทุนจากสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา ให้มาศึกษาวิชาพยาบาล 1 ในนั้นก็คือ นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ (หรือสมเด็จย่าของคนไทยนั่นเอง) ได้เดินทางโดยรถไฟจากซานฟรานซิสโกมาถึงบอสตัน โดยสมเด็จพระบรมราชชนกได้เสด็จไปต้อนรับนักเรียนทุนเหล่านี้ที่สถานีรถไฟ South station (ว่ากันว่านี่คือจุดเริ่มต้นความรักของพระองค์ท่านทั้ง 2 พระองค์ :) เขินจัง) และนำคณะนักเรียนไปพักที่ Brattle Hotel ก่อน แล้วหลังจากนั้นนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ (สมเด็จย่า) ได้ย้ายมาอยู่ที่อาคารหมายเลข 44 นี้ และพักอยู่ที่นี่จนถึงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2461 ก่อนที่จะย้ายไปประทับอยู่กับ Host Family ในเวลาต่อมา

          ที่แห่งนี้นอกจากจะเป็นที่พำนักและสำนักงานดูแลนักเรียนทุนไทยในสหรัฐอเมริกาแล้วนั้น ที่แห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2464-2470 ยังเป็นสถานที่ตั้งสมาคมสยาม (Siamese Alliance) หรือสมาคมนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกาแห่งแรกในสมัยนั้นอีกด้วย ซึ่งดำเนินการโดยสมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จย่า ปัจจุบันอาคารนี้ก็มีผู้คนทั่วไปเช่าพักอาศัยอยู่

          สถานที่ต่อไป เราไปชมบ้าน Host Family ของสมเด็จย่ากัน

ตามรอยราชสกุลมหิดล

ตามรอยราชสกุลมหิดล

ตามรอยราชสกุลมหิดล

ตามรอยราชสกุลมหิดล

***********************************************************

          (มาอีกละ 5555 อย่าเพิ่งเบื่อกันเด้อ) มาต่อกันที่สถานที่ที่ 4 และ 5 บ้าน Host Family ของสมเด็จย่า

          บ้านเลขที่ 49 Cedar road, Belmont (จากในรูปคือบ้านหลังสีน้ำตาล) หรือเป็นที่รู้จักในชื่อว่า เมืองเคมบริดจ์ตะวันตก (บ้านเรือนแถวนี้สวยมากกกกกก ปัจจุบันผู้ที่ซื้อบ้านแถวนี้จะเป็นศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัย Harvard) เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จย่ากับครอบครัวเคนท์ โดยพระองค์ได้ประทับอยู่ที่นี่เพียงระยะเวลาสั้น ๆ ในระหว่างเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2462 ซึ่งเป็นช่วงเตรียมตัวก่อนเข้าศึกษาวิชาพยาบาลในวิทยาลัย Simmons College (วิธีเดินทางไปบ้านหลังนี้แอบไกลหน่อย เพราะจากโรงพยาบาล Mount Auburn ต้องนั่งรถไปประมาณ 20 นาที)

          หลังจากสมเด็จย่าทรงหมั้นกับสมเด็จพระบรมราชชนกแล้ว ก็ได้ย้ายไปประทับ ณ บ้านเลขที่ 15 Berkeley street, Cambridge (จากรูปคือบ้านหลังสีแดง) โดยพักอยู่กับครอบครัว Williston family ในระหว่างทรงศึกษาในวิทยาลัย Simmons College ในช่วงเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2462 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2463 พระองค์ได้ทรงศึกษาศิลปะและวิชาอื่น ๆ กับ 2 สาวพี่น้องตระกูลวิลลิสตัน ชื่อ Emily และ Constance และยังทรงเข้าโรงเรียนกวดวิชาของ Miss Edith Johnson อีกด้วย (บ้านหลังนี้ไม่ไกลจากโรงพยาบาล Mount Auburn มากนัก พอเดินไหว แต่ขาแอบลากอยู่เหมือนกัน)

          สถานที่ต่อไปไปชมอพาร์ตเมนต์ของสมเด็จพระบรมราชชนก เมื่อครั้งสมัยที่ท่านทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัย Harvard กัน


ตามรอยราชสกุลมหิดล

ตามรอยราชสกุลมหิดล

*******************************************************

          Trail สถานที่ที่ 6 และ7 แล้วเด้อ เคยสงสัยไหมว่าตอนที่สมเด็จพระบรมราชชนกมาศึกษาที่บอสตัน ท่านประทับอยู่ที่ไหนกันนะ จะหรูหราโอ่อ่าหรือเปล่า ว่าแล้วไปดูบ้านเลขที่ 11 ของสมเด็จพระบรมราชชนกกัน

          สมเด็จพระบรมราชชนก นับเป็นพระราชนิกุลพระองค์แรกในโลกที่เสด็จฯ ไปศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทรงเข้าศึกษาในชั้นเตรียมแพทย์ก่อนเป็นเวลา 1 ปี และลงทะเบียนเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 1 ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Harvard ในปี พ.ศ. 2460 โดยในระหว่างที่ทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัย Harvard นั้น ได้ประทับที่บ้านเลขที่ 11, Hawthorn street, Cambridge (จากรูปคือบ้านหลังสีขาว) ในระหว่างปี พ.ศ. 2459-2461 จากนั้นได้ทรงย้ายไปประทับที่อพาร์ตเมนต์เลขที่ 11 Story street, Cambridge (จากรูปคือหลังที่เป็นอพาร์ตเมนต์สูง ๆ) ในปี พ.ศ. 2461-2462 จนสำเร็จการศึกษา

          จากอพาร์ตเมนต์เลขที่ 11 Story street, Cambridge สามารถเดินไปถึงจัตุรัสภูมิพลได้เลย ใกล้มากกกกกก จากที่ไปมาทั้ง 7 ที่ จะเห็นได้ว่าครอบครัวพระองค์ท่านทรงอยู่แบบเรียบง่ายและติดดินมากเลยเนอะ :)

          จบการรีวิวสถานที่ประวัติศาสตร์ของราชสกุลมหิดล ณ บอสตัน ทั้ง 7 แห่งแล้ว แต่ยังมีอีก 1 สถานที่ที่อยากรีวิวในรีวิวหน้า (ใช่ ยังมีต่อ ยังไม่จบจ้ะ) เป็นที่ที่คนไทยทุกคนเมื่อมาบอสตันแล้วต้องไม่พลาดที่จะมาสถานที่แห่งนี้ ..."จัตุรัสภูมิพล" หรือ King Bhumibol of Thailand square นั่นเอง :)

ตามรอยราชสกุลมหิดล
บ้านเลขที่ 11, Hawthorn street, Cambridge ภาพจาก เฟซบุ๊ก Thanya JieMook Mitkul


ตามรอยราชสกุลมหิดล

ตามรอยราชสกุลมหิดล

ตามรอยราชสกุลมหิดล
          อพาร์ตเมนต์เลขที่ 11 Story street, Cambridge ภาพจาก เฟซบุ๊ก Thanya JieMook Mitkul
 

ตามรอยราชสกุลมหิดล

ตามรอยราชสกุลมหิดล

*************************************************

          คนไทยทุกคนที่มาบอสตันจะต้องมาที่นี่ จัตุรัสภูมิพลอดุลยเดช (King Bhumibol Adulyadej of Thailand Square)

          ที่แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึงในหลวง รัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในโลกที่พระบรมราชสมภพ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา นายกเทศมนตรีเมืองเคมบริดจ์ได้ขอพระราชทานนามว่า "จัตุรัสภูมิพลอดุลยเดช" (King Bhumibol Adulyadej of Thailand Square) และพระองค์ท่านก็ได้พระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ ภปร มาประดับไว้บนจัตุรัส เพื่อเป็นเกียรติแก่เมืองเคมบริดจ์และโรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์น อันเป็นสถานที่พระบรมราชสมภพ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470

          ในตอนแรกป้ายจัตุรัสแห่งนี้เป็นเพียงป้ายไม้เล็ก ๆ ซึ่งสังเกตได้ยากและบางคนไม่รู้ว่ามีความสำคัญ (ได้ยินว่าบางครั้งก็มีคนเอาจักรยานมาล็อกไว้กับป้ายก็มี) คนไทยที่อาศัยอยู่ในบอสตันจึงได้จัดตั้งมูลนิธิ King of Thailand Birthplace Foundation ขึ้น และได้รวบรวมเงินทุนเพื่อปรับปรุงจัตุรัสให้สวยงามสมพระเกียรติอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2533 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเปิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535

          สำหรับคนทั่วไปที่แห่งนี้อาจจะไม่ได้มีความสำคัญอะไรมากนัก แต่สำหรับคนไทยแล้วถึงแม้จะเป็นเพียงป้ายเล็ก ๆ แต่มีคุณค่าทางจิตใจอย่างที่สุด

          สุดท้ายนี้อยากขอบคุณมูลนิธิ King of Thailand Birthplace Foundation ที่ได้ให้ความสำคัญกับสถานที่ประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ทำให้เป็นประโยชน์กับคนไทยและผู้ที่สนใจเป็นอย่างมาก เพราะตัวเราเองถ้าไม่ได้ข้อมูลต่าง ๆ จาก มูลนิธิ King of Thailand Birthplace Foundation แล้ว การตามรอยราชสกุลมหิดล ณ บอสตัน คงเป็นไปได้ยากเลยทีเดียว

          จัตุรัสภูมิพลมาง่ายมากกกกกก เพราะอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัย Harvard เลย วิธีการเดินทางคือนั่งรถไฟมาลงที่ Harvard station ออกประตูทางออก Harvard square แล้วเดินมาทาง Eliot street ก็ถึงเลยจ้ะ :)

ตามรอยราชสกุลมหิดล

ตามรอยราชสกุลมหิดล

          แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "จัตุรัสแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงศุภวาระวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชแห่งประเทศไทย ณ โรงพยาบาลเมาทน์ออเบิร์น เคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาชูเซตส์ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ในขณะที่เจ้าฟ้ามหิดล พระบรมราชชนก ศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์ฮาร์วาร์ด

          จัตุรัสนี้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2533 โดยพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระธิดาองค์สุดท้องในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นเครื่องหมายรำลึกแทนสายสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างประชากรแห่งนครเคมบริดจ์และปวงชนชาวไทย

          อนุสรณ์สถานนี้เปิดแพรคลุมป้าย เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้แทนพระองค์ และผู้แทนปวงชนชาวไทย ในการเปิดแพรคลุมป้ายอนุสรณ์สถาน"

ตามรอยราชสกุลมหิดล

ตามรอยราชสกุลมหิดล
          ด้านหลังจัตุรัส ได้มีการบันทึกสถานที่ประวัติศาสตร์ของราชสกุลมหิดล ทั้ง 10 แห่งไว้ (ที่ได้ไปมาคือ 2-8 แต่ 1,9-10 ไม่ได้ไป) ภาพจาก เฟซบุ๊ก Thanya JieMook Mitkul
 

ตามรอยราชสกุลมหิดล

ตามรอยราชสกุลมหิดล

ตามรอยราชสกุลมหิดล

          เสร็จสิ้นการรีวิว ตามรอยราชสกุลมหิดล ณ บอสตัน อย่างสมบูรณ์ ถ้ามีแต้มบุญพอและตังค์พอ ก็ขอให้ได้ไปตามรอยราชสกุลมหิดล ณ โลซาน บ้างเนอะ

***************************************

          เรียกได้ว่าเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่มีคุณค่าต่อจิตใจของชาวไทยทั้งปวงอย่างมากเลยทีเดียวค่ะ ใครมีโอกาสไปเที่ยวเมืองบอสตัน และเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็เผื่อเวลาไว้ไปตามรอยราชสกุลมหิดลบ้างนะคะ :)

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
คุณธันยพร มิตรกุล (จี้มุก), เฟซบุ๊ก Thanya JieMook Mitkul


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตามรอยราชสกุลมหิดล ในสหรัฐอเมริกา สถานที่แห่งความผูกพันต่อในหลวง ร.9 อัปเดตล่าสุด 17 ตุลาคม 2560 เวลา 17:41:22 30,711 อ่าน
TOP