วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร หนึ่งในวัดสำคัญของกรุงเทพฯ ที่งดงามทั้งด้วยสถาปัตยกรรมและศิลปะโบราณวัตถุที่น่าชมและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ถือเป็นวัดที่มีความสำคัญอีกวัดหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระผนวชได้เสด็จมาประทับที่วัดนี้เป็นครั้งแรกก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ และพระมหากษัตริย์อีกหลายพระองค์ รวมถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ด้วยเช่นกัน
วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ถือเป็นวัดที่มีความสำคัญอีกวัดหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระผนวชได้เสด็จมาประทับที่วัดนี้เป็นครั้งแรกก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ และพระมหากษัตริย์อีกหลายพระองค์ รวมถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ด้วยเช่นกัน
หากจะกล่าวว่าวัดบวรนิเวศฯ เป็นพระอารามที่มีความสำคัญทั้งในทางคณะสงฆ์และในทางบ้านเมือง ก็เพราะว่า
ในทางคณะสงฆ์
- เป็นจุดกำเนิดของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ซึ่งครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระผนวช ทรงดำริริเริ่มปรับปรุงวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์
- เป็นที่กำเนิด "มหามกุฏราชวิทยาลัย" สถานศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณร ซึ่งได้พัฒนามาเป็น "มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย" มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกของไทยในปัจจุบัน
- เป็นที่เสด็จสถิตของสมเด็จพระสังฆราช องค์ประมุขของคณะสงฆ์ไทยถึง 4 พระองค์ คือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
ภาพจาก jipatafoto89 / shutterstock.com
ในทางบ้านเมือง
- เคยเป็นที่ตั้งกองบัญชาการศึกษาหัวเมือง เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดให้มีการจัดการศึกษาหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร เมื่อ พ.ศ. 2441 โดยทรงอาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ให้ทรงอำนวยการในการจัดการศึกษาในหัวเมือง อันเป็นการวางรากฐานการประถมศึกษาของไทย
- เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ที่เสด็จออกทรงผนวช คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5, พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6, พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9
พาชมวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
เนื่องจากวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ได้เคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์เมื่อทรงพระผนวชหลายพระองค์ จึงทำให้วัดแห่งนี้ได้รับการทำนุบำรุงอยู่เสมอ รวมถึงศิลปกรรม โบราณวัตถุ ตลอดจนศิลปวัตถุหลายอย่าง ที่น่าศึกษาและน่าชมอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย
- พระอุโบสถ
ภาพจาก Jettanut Khumyai / shutterstock.com
"ประตูเสี้ยวกาง" ประตูบานใหญ่ด้านหน้าของพระอุโบสถ บานประตูทั้งสองสลักเป็นรูปอารักษ์คู่ ตามคตินิยมแบบจีน มีหน้าที่รักษาประตูและคุ้มครองผู้ที่จะเข้าไปในวัดเพื่อปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนา ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน 2 องค์ คือ "พระพุทธชินสีห์" และ "พระสุวรรณเขต (พระโต)"
- พระเจดีย์
องค์พระเจดีย์มีสัณฐานกลม กลางคูหาพระเจดีย์ประดิษฐานพระเจดีย์กาไหล่ทองบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และมีองค์พระเจดีย์ประดิษฐานอยู่โดยรอบพระเจดีย์กาไหล่ทองอีก 4 องค์ โดยพุทธศาสนิกชนสามารถจุดธูปเทียนไหว้พระได้ตรงบริเวณ "พระไพรีพินาศจำลอง" บริเวณด้านหน้าพระเจดีย์
- พระวิหารพระศาสดา
งดงามด้วยจิตรกรรมฝาผนังวิหารพระศาสดา ซึ่งเป็นจิตรกรรมที่เขียนขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือลูกศิษย์ของขรัวอินโข่ง ภายในพระวิหารเป็นที่ประดิษฐาน "พระศาสดา" พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย และ "พระพุทธไสยา" พระพุทธรูปสำริดลงรักปิดทองปางไสยาสน์ สมัยสุโขทัย โดยที่ฐานพระพุทธไสยาบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
- พระตำหนักเพ็ชร
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักเพ็ชร ถวายเป็นท้องพระโรงแด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
- พระตำหนักปั้นหย่า
มีลักษณะเป็นตึก 3 ชั้น ในแบบสถาปัตยกรรมยุโรป เดิมเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งที่ทรงพระผนวช หลังจากนั้นที่นี่เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระผนวชและเสด็จมาประทับที่วัดนี้ รวมถึงพระบาทสมเด็จพระพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดยในวันที่ทรงลาผนวช ทรงปลูกต้นสักไว้ที่ด้านหลังพระตำหนักปั้นหย่า ซึ่งวันนี้เติบโตสูงใหญ่ให้ร่มเงาร่มรื่น
- พระตำหนักใหญ่
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัลกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในขณะที่พระองค์ทรงพระผนวช โดยปลูกเป็นเรือนยาว มีระเบียงมุขยื่นออกมา เมื่อทรงลาผนวชแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เสด็จมาประทับจำพรรษาที่พระตำหนักใหญ่แทนพระองค์
- พระตำหนักล่าง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถวายเพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ต่อมาใช้เป็นที่ตั้งของมหามกุฏราชวิทยาลัย และต่อมาใช้เป็นสำนักงานคณะธรรมยุต
- พระตำหนักทรงพรต
สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงปฏิสังขรณ์และดัดแปลงขึ้นใหม่ เพื่อถวายแด่วัดบวรนิเวศวิหารที่เสด็จประทับเมื่อทรงพระผนวช ทั้งยังใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และเจ้าฟ้าที่ทรงพระผนวชหลังจากประทับที่พระหนักปั้นหยา 1 คืน ตามพระราชประเพณี
- หอสหจร
สร้างขึ้นพร้อมกับพระตำหนักทรงพรต พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงปฏิสังขรณ์และดัดแปลงขึ้นใหม่ เพื่อทรงอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ผู้ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์
- ตำหนักซ้าย
สร้างขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ ปลูกเป็นเรือนยาวมีระเบียงมุขยื่นออกมา ยกพื้นสูงหลังคายื่น ประดับลวดลายและแกะฉลุลายไม้เป็นแนวยาวโดยรอบ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงใช้เป็นที่ประทับทรงงาน
- หอพระไตรปิฎก
ภายในหอพระไตรปิฎกมีตู้พระธรรมรดน้ำปิดทองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย งดงามด้วยจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวในพระพุทธศาสนาที่ยังสมบูรณ์ สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ยังทรงครองวัด
- พลับพลาเปลื้องเครื่อง
อาคารที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษเฉพาะพระอารามหลวงที่สำคัญ ๆ เพราะเป็นอาคารที่ไม่ได้เอื้อประโยชน์ใช้สอยที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนพิธีของสงฆ์และฆราวาสโดยตรง หากแต่เอื้อประโยชน์ต่อพระมหากษัตริย์ที่จะทรงใช้ก่อนเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปบำเพ็ญพระราชกรณียกิจทางศาสนาภายในพระอุโบสถ
- วิหารเก๋ง
สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงบูรณปฏิสังขรณ์จนแล้วเสร็จ และโปรดให้ประดับตกแต่งด้วยลวดลายอย่างจีน พร้อมภาพจิตรกรรมเรื่องสามก๊ก ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป 3 องค์ คือพระพุทธวชิรญาณ, พระพุทธปัญญาอัคคะ และพระพุทธมนุสสนาค
การเดินทางมายังวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
เดินทางโดยใช้ถนนราชดำเนินกลาง วิ่งตรงมายังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จะเห็นโรงเรียนสตรีวิทยาทางซ้ายมือ จากนั้นให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนดินสอ และจะเจอกับสี่แยก ให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระสุเมรุ ไม่นานจะเจอวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านซ้ายมือ
หากจะกล่าวว่าวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เป็นวัดแห่งราชวงศ์จักรีก็คงจะไม่ผิดไปนัก ซึ่งภายหลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จะมีการอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร จากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง ไปบรรจุที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ พระประธานพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร วัดที่เต็มไปด้วยพระราชศรัทธาและความผูกพันของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 อยู่เต็มเปี่ยม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
เว็บไซต์ watbowon.com, เฟซบุ๊ก วัดบวรนิเวศวิหาร