x close

เที่ยวทะเล พังงา เยือนดินแดนแห่งป่าเกาะ

พังงา

พังงา

พังงา

พังงา

พังงา

พังงา

มอแกน



พังงา (ททท.)

          คำขวัญ ... แร่หมื่นล้าน บ้านกลางน้ำ ถ้ำงามตา ภูผาแปลก แมกไม้จำปูน บริบูรณ์ด้วยทรัพยากร

          พังงา คือจังหวัดที่เต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ทั้งบนบกและใต้น้ำ โดยเฉพาะกลุ่มเกาะสวยงามที่วางตัวเรียงรายอยู่ในทะเลอันดามัน จนพังงาได้รับสมญานามว่าเป็นดินแดนแห่งป่าเกาะ รวมทั้งยังมีผืนป่าชายเลนหนาแน่นและอุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย

          พังงา เต็มไปด้วยวิถีชีวิตที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องราวของผู้คนหลากเชื้อชาติ ทั้งไทย จีน มุสลิม และชาวไทยใหม่ (ชาวเล) ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเก่าแก่ที่น่าสนใจ เช่น เกาะปันหยี เกาะยาว หมู่บ้านชาวมอแกน ในบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ ชุมชนชาวเหมืองแร่ที่ตะกั่วป่า ฯลฯ นอกจากนั้น พังงายังเต็มไปด้วยแหล่งธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์ เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เช่น โลกใต้น้ำของหมู่เกาะสิมิลัน ดงปะการังหลากหลายและฝูงปลาน้อยใหญ่ใต้ทะเลหมู่เกาะสุรินทร์ เขาตาปู เขาพิงกัน เกาะพระทอง ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นทรัพยากรล้ำค่า ที่ทำให้พังงาเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวเสมอมา

พังงา


          จังหวัดพังงา มีเนื้อที่ประมาณ 4,171 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศ คือ ฝั่งตะวันตกติดทะเลอันดามัน ส่วนบนบกนั้นส่วนใหญ่เป็นเทือกเขา พื้นที่ป่าเป็นป่าดงดิบ สภาพภูมิประเทศที่หลากหลายและสวยงามนี้เอง ที่ก่อให้เกิดมูลค่าทางการท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มเกาะ เช่น หมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวประเภทอื่น คือ หาดทรายชายทะเล ป่าดิบ ป่าชายเลน น้ำตก และโถงถ้ำ

          พังงา เริ่มต้นความเป็นมาตั้งแต่ยุคก่อน ประวัติศาสตร์ หลักฐานที่ขุดค้นพบมีทั้งเครื่องมือหิน ภาพเขียนสีในถ้ำ อาวุธที่ทำจากกระดูกสัตว์ ภาชนะดินเผา ฯลฯ หลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่สนับสนุนว่าพังงาเป็นเมืองเก่าแก่ คือเครื่องปั้นดินเผาและกำไลหิน อายุ 3,000-4,000 ปี ที่พบในถ้ำสุวรรณคูหา

          ในสมัยประวัติศาสตร์พบหลักฐานว่า ชาวกลิงคราฐ หลบหนีการโจมตีของพระเจ้าอโศกมหาราชอยู่ในบริเวณริมทะเล แถวเมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง และถลาง ครั้นถึง พ.ศ. 300 ชาวอินเดียที่หนีมาได้นำศิลปวัฒนธรรมมาด้วย โดยมีการพบรูปสลักหินพระลักษมณ์ พระราม และนางสีดา ในบริเวณเมืองเก่าของตะกั่วป่า และในหนังสือมิลินทปัญหา ชาวอินเดียเรียกตะกั่วป่าว่า ตะโกลา หรือตกโกล ซึ่งแปลว่าลูกกระวาน ปัจจุบันนี้คนเฒ่าคนแก่ก็ยังเรียกบริเวณนี้ว่าเมืองตะโกลา

พังงา

          ล่วงมาจนถึงสมัยอยุธยา พังงามีฐานะเป็นเมืองแขวง ขึ้นอยู่กับเมืองตะกั่วป่า จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 1 ได้รับการยกฐานะให้เป็นเมืองเทียบเท่าเมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 2 พม่ามาตีเมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง และถลาง จึงมีการย้ายผู้คนมาอยู่ที่ตำบลกราภูงา ซึ่งอยู่ตรงปากน้ำพังงา และตั้งชื่อเมืองว่า ภูงา ขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งต่อมาคำว่าภูงาเพี้ยนเป็น พังงา

          จนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 เมืองพังงา ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ กระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 5 มีการยุบเมืองตะกั่วป่าขึ้นกับเมืองพังงา หลังจากนั้น พังงาก็ได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดในสมัยรัชกาลที่ 6 ทว่าช่วงที่เมืองรุ่งเรืองอย่างที่สุดนั้นอยู่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะกิจการเหมืองแร่ดีบุกในพังงาเจริญก้าวหน้ามาก หลังจากหมดยุค เหมืองแร่ พังงาก็กลับสู่ความเงียบสงบ กระทั่งกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง เจมส์บอนด์ เลือกอ่าวพังงาเป็นฉากถ่ายทำ เมื่อปี พ.ศ. 2517 ความงดงามของภูมิประเทศจึงถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก จากวันนั้นเอง พังงาก็เติบโตขึ้นในฐานะแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่งดงาม

สถานที่ท่องเที่ยว

          จังหวัดพังงามีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ธรรมชาติ และการผจญภัย เช่น วัดราษฎร์อุปถัมภ์ วัดนารายณิการาม เกาะสิมิลัน เกาะสุรินทร์ อ่าวพังงา เกาะปันหยี เขาหลัก น้ำตกโตนช่องฟ้า ฯลฯ แต่ที่เราหยิบมาแนะนำกัน ได้แก่...

พังงา

อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา

          มีพื้นที่ประมาณ 250,000 ไร่ ครอบคลุมอำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเกาะยาว อุทยานฯ แห่งนี้เป็นอุทยานแห่งชาติประเภทชายฝั่งทะเลแห่งที่สองของประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเล และเกาะน้อยใหญ่ มีเขาหินปูนลักษณะต่าง ๆ ที่มีความงามแตกต่างกันไปตามลักษณะของหิน สมบูรณ์ด้วยป่าชายเลน และยังเป็นแหล่งขยายพันธุ์สัตว์น้ำอีกด้วย ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2524 ช่วงที่เหมาะจะมาท่องเที่ยวคือ เดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน ส่วนเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมเป็นช่วงที่ฝนตกชุก คลื่นลมแรง

          สถานที่น่าสนใจภายในเขตอุทยานฯ ได้แก่ เกาะปันหยี เป็นเกาะเล็ก ๆ มีที่ราบประมาณ 1 ไร่ มีบ้านเรือน 200 หลังคาเรือน ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีอาชีพประมง ขายของที่ระลึก และขายอาหารให้แก่นักท่องเที่ยว มีโรงเรียน และสถานีอนามัยอยู่บนเกาะ เกาะพนัก เป็นเกาะที่สวยงาม มีถ้ำหินงอก หินย้อย และมีแอ่งน้ำตกขนาดเล็กเป็นชั้น ๆ ลดหลั่นกันอยู่ในถ้ำด้วย เขาพิงกัน เป็นเกาะที่อยู่บนหาด เหตุที่ชื่อนี้เพราะภูเขาหินแตกออกจากกัน หินที่เล็กกว่าเลื่อนลงมา ฐานจมลงไปในดินแยกห่างจากกัน ส่วนด้านบนยังคงพิงกันอยู่ ด้านหลังของเขาพิงกันมีทิวทัศน์ที่สวยงาม มองออกไปในทะเลจะเห็น "เขาตะปู" หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "เกาะเจมส์บอนด์" มีลักษณะเหมือนตะปูอยู่กลางน้ำ อุทยานฯ เก็บค่าขึ้นเขาพิงกัน ชาวไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ชาวต่างชาติ  ผู้ใหญ่ 400 บาท เด็ก 200 บาท

พังงา

          เขาหมาจู อยู่ระหว่างทางผ่านที่จะไปยังเกาะปันหยี เขาหมาจู เป็นภูเขาหินมีลักษณะคล้ายรูปสุนัขแบ่งเป็นส่วนหัว ลำตัวและหางเป็นพู่ เขาเขียน หรือ ภาพเขียนสี เป็นทางผ่านที่จะไปยังเกาะปันหยี บริเวณหน้าผาจะมีรูปเขียนเป็นภาพสัตว์ชนิดต่าง ๆ สันนิษฐานว่าเป็นภาพวาดโดยนักเดินเรือสมัยโบราณ ที่แวะมาจอดพักหลบมรสุม ซึ่งกรมศิลปากรได้ทำการ ศึกษาว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี ถ้ำลอด เป็นภูเขาลักษณะเกาะทะลุ ปากถ้ำกว้างประมาณ 50 เมตร สูง 40 เมตร เรือขนาดเล็กสามารถแล่นผ่านทะลุไปอีกด้านของถ้ำได้ บนเพดานถ้ำมีหินย้อยดูแปลกตา เกาะห้อง เป็นภูเขาเล็กใหญ่สลับซับซ้อน เมื่อแล่นเรือเข้าไประหว่างเกาะ มองโดยรอบเหมือนอยู่ในห้องโถงใหญ่ที่มีประตู 2 บาน และเป็นแหล่งปะการังที่สวยงาม
   
          การเดินทางไปอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา โดยรถยนต์ อุทยานฯ อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 8 กิโลเมตร จากทางหลวงหมายเลข 4 จะมีทางแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4144 เข้าไปประมาณ 4 กิโลเมตร จะถึงท่าเรือท่าด่านศุลกากร สามารถเช่าเรือจากบริเวณท่าเรือได้ หรือเดินทางโดยรถสองแถว มีรถออกจากตัวเมืองไปท่าเรือท่าด่านศุลกากรทุกวัน

          อุทยานฯ มีบ้านพักบริการนักท่องเที่ยว จำนวน 8 หลัง ในกรณีที่นักท่องเที่ยวนำเต็นท์มาเองเสียค่าอาบน้ำคนละ 20 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา 80 หมู่1 ตำบลเกาะปันหยี อำเภอเมือง จังหวัดพังงา 82000 โทร. 0 7641 1136, 0 7641 2188 หรือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760 www.dnp.go.th
   
ชายทะเลท่านุ่น

          อยู่เชื่อมระหว่างสะพานสารสิน - สะพานเทพกษัตรี ระหว่างจังหวัดพังงาและภูเก็ต จากทางหลวงหมายเลข 4 ตรงเข้าสู่จังหวัดภูเก็ต โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 402 ก่อนถึงเกาะภูเก็ตบริเวณช่องแคบปากพระ จะแลเห็นหาดทรายทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ที่หาดทรายนี้ทุก ๆ ปี จะมีเต่าขึ้นมาวางไข่อยู่เสมอ   

ประติมากรรมอนุสรณ์สถานสึนามิ

          Stabile ผลงานการออกแบบของศิลปินชาว สวีเดน ลาร์ส อิงกลุนด์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงเหตุภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ
   
อนุสรณ์สถานสึนามิ เรือ ต.813

          เรือตรวจการ 813 ถูกคลื่นยักษ์สึนามิพัดเข้าไปเกยบริเวณเชิงเขาเป็นระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร และคงไว้เป็นอนุสรณ์สถานเตือนความทรงจำ ถึงความรุนแรงของภัยพิบัติครั้งนั้น

สวนอนุสรณ์สึนามิ บ้านน้ำเค็ม

          อยู่ที่บ้านน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า ซึ่งเป็นสถานที่ประสบพิบัติภัยสึนามิอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 โดยรัฐบาลได้ดำเนินการก่อสร้างหอเตือนภัย พิพิธภัณฑ์ และสวนแห่งนี้ขึ้นริมชายหาดบ้านน้ำเค็ม

พังงา

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
   
          อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อยู่ตำบลเกาะพระทอง ครอบคลุมพื้นที่ 80,000 ไร่ ประกาศเป็นเขตอุทยานฯ เมื่อ 1 กันยายน พ.ศ. 2525 คำว่า "สิมิลัน" เป็นภาษายาวี หรือ มลายู แปลว่า เก้า หรือ หมู่เกาะเก้า  หมู่เกาะสิมิลันเป็นหมู่เกาะเล็ก ๆ ในทะเลอันดามัน มีทั้งหมด 9 เกาะ เรียงลำดับจากเหนือมาใต้ ได้แก่  เกาะหูยง เกาะปายัง เกาะปาหยัน เกาะเมี่ยง (มี 2 เกาะติดกัน) เกาะปายู เกาะหัวกระโหลก (เกาะบอน) เกาะสิมิลัน และเกาะบางู ที่ทำการอุทยานฯ อยู่ที่เกาะเมี่ยงเพราะเป็นเกาะที่มีน้ำจืด

          หมู่เกาะเหล่านี้ได้รับการยกย่องว่า เป็นหมู่เกาะที่มีความงามทั้งบนบกและใต้น้ำ ที่ยังคงความสมบูรณ์ของท้องทะเล สามารถดำน้ำได้ทั้งน้ำตื้นและน้ำลึก มีปะการังที่มีสีสันสวยงามหลากชนิด ปลาหลากสีสันและหายาก เช่น กระเบนราหู ปลาวาฬ ปลาโลมา ปลาไหลมอนเร่ ปลาการ์ตูน ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน เป็นช่วงที่น่าท่องเที่ยวมากที่สุด ส่วนเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน เป็นฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มีคลื่นลมแรงเป็นอันตรายต่อการเดินเรือและทางอุทยานฯ จะประกาศปิดเกาะในเดือนพฤษภาคมเพื่อเป็นการฟื้นฟูธรรมชาติทุกปี

พังงา

          สถานที่น่าสนใจภายในเขตอุทยานฯ ได้แก่ เกาะสิมิลัน หรือ เกาะแปด เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะสิมิลัน ลักษณะอ่าวเป็นรูปโค้งเหมือนเกือกม้า มีหาดทรายขาวละเอียดเนียนนุ่มน้ำทะเลใสน่าเล่น ใต้ทะเลมีปะการังสวยงามหลายชนิด ทั้งปะการังเขากวาง ปะการังใบไม้ ปะการังสมอง ปะการังดอกเห็ดขนาดใหญ่ที่มีความสมบูรณ์ กัลปังหา พัดทะเล กุ้งมังกร และปลาประเภทต่าง ๆ ที่มีสีสันสวยงามมากมาย เป็นเกาะที่สามารถดำน้ำทั้งน้ำลึกและน้ำตื้น และทางด้านเหนือของเกาะมีก้อนหินขนาดใหญ่ รูปร่างแปลกตา เช่น หินรูปรองเท้าบู๊ท หรือรูปหัวเป็ดโดนัลด์ดั๊ก ตอนบนที่ตรงกับแนวหาดมีหินรูปเรือใบ ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่สวยงาม ที่จะมองเห็นความสวยงามของท้องทะเลได้กว้างไกล

          เกาะบางู หรือ เกาะเก้า เป็นเกาะเล็ก ๆ ที่มีโขดหินรูปลักษณะต่าง ๆ โดยเฉพาะที่จุดดำน้ำ กองหินคริสต์มาสพอยต์ เป็นกองหินใต้น้ำขนาดใหญ่ ที่มีความสวยงามสลับซับซ้อนกันเป็นบริเวณกว้าง จะมีแนวปะการังและกัลปังหาที่สมบูรณ์ และยังเป็นที่อยู่ของปลาหลากชนิด เช่น ปลาไหลริบบิ้น ฉลามครีบเงิน ปลาเก๋า ปลาบู่ กั้งตั๊กแตน

          เกาะหัวกะโหลก-หินปูซา หรือ เกาะเจ็ด เป็นเกาะที่มีลักษณะเหมือนรูปหัวกะโหลก สภาพใต้น้ำสวยงามเหมือนหุบเขาใต้ทะเลที่เต็มไปด้วยปะการังอ่อน กัลปังหารูปพัดหลากสีสัน ฝูงปลานานาพันธุ์ และยังสามารถพบปลากระเบนราหู หรือฉลามวาฬได้มากที่สุดแห่งหนึ่งในหมู่เกาะสิมิลัน เกาะหูยง หรือ เกาะหนึ่ง เป็นเกาะขนาดใหญ่ที่มีหาดทรายขาวสะอาด และยาวมากที่สุดในเก้าเกาะ มักจะมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่  ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้เห็นร่องรอยของเต่าที่ขึ้นมาวางไข่บนชายหาด คล้ายกับรอยตีนตะขาบเล็ก ๆ

          เกาะเมี่ยง หรือ เกาะสี่ เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่รองจากสิมิลัน เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานฯ มีแหล่งน้ำจืด ชายหาดที่เกาะสี่จะมีสีขาวละเอียดเนียนสวยงามน่าสัมผัส น้ำทะเลใส บนเกาะสี่จะมีสัตว์ที่หาดูได้ยาก เช่น ปูไก่ ที่มีลำตัวเป็นสีแดงสด มีก้ามสีดำเหลือบน้ำเงิน เวลาร้องจะมีเสียงคล้ายไก่ จะเห็นได้ในช่วงหัวค่ำที่มันออกหากิน นกชาปีไหน เป็นนกประจำถิ่นขนาดใหญ่ตระกูลเดียวกับนกพิราบป่า มีสีสันและลวดลายบนตัวที่งดงาม จะพบได้ตามริมชายหาด หรือร้านอาหารหน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และ ปูเสฉวน ที่มีมากมายหลายขนาดทั้งเล็กและใหญ่

พังงา

          นอกจากนั้นรอบ ๆ อุทยานฯ ยังมีบริเวณดำน้ำที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอีก ทั้ง จุดดำน้ำลึก ได้แก่ เกาะตาชัย อยู่ทางตอนเหนือสุดของอุทยานฯ จะพบปลาสาก ปลาค้างคาว ปลากระเบนราหู ฉลามวาฬ  เกาะบอน อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่เกาะสิมิลัน จะพบฉลามครีบขาว ปลากระเบนราหู ฉลามกบ กองหินคริสต์มาสพอยต์ จะพบปลาไหลริบบิ้นสีฟ้า กั้งตั๊กแตน กองหินแฟนตาซี อยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะแปด เป็นจุดรวมของหินดอกไม้ ปะการัง กัลปังหา สัตว์น้ำหลากชนิด และ จุดดำน้ำตื้น ได้แก่ อ่าวลึก อ่าวกวางเอง เป็นต้น นักท่องเที่ยวที่สนใจกิจกรรมดำน้ำ สามารถติดต่อบริษัทดำน้ำในจังหวัดภูเก็ตและพังงา

          การเดินทางไปอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ท่าเรือทับละมุ อำเภอท้ายเหมือง อยู่ห่างจากอำเภอเมือง 70 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายพังงา-ตะกั่วป่า และเป็นท่าเรือที่อยู่ใกล้อุทยานฯ ที่สุด ประมาณ 40 กิโลเมตร จากท่าเรือทับละมุใช้เวลาในการเดินทางไปหมู่เกาะสิมิลันประมาณ 3-4 ชั่วโมง มีเรือสปีดโบ็ท ให้เช่าหลายขนาด ส่วนท่าเรือคุระบุรี อำเภอคุระบุรี อยู่ห่างจากหมู่เกาะสิมิลัน 70 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 3 ชั่วโมง สามารถติดต่อเช่าเรือได้ที่ คุระบุรี กรีนวิว รีสอร์ท โทร. 0 7640 1400-29

          อุทยานฯ มีบริการบ้านพัก จำนวน 5 หลัง ๆ ละ 5 ห้อง พักได้ห้องละ 2 คน ราคา 1,000-2,000 บาท และมีห้องพักเป็นเรือนแถว พักได้ห้องละ 2 คน จำนวน 20 ห้อง ราคา 2,000 บาท มีบริการเต็นท์ให้เช่า หลังละ 450 บาท สำหรับนักท่องเที่ยวที่นำเต็นท์มาเองเสียค่าพื้นที่กางเต็นท์คนละ 80 บาท/คืน นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวต้องเสียค่าชมอุทยาน นักท่องเที่ยว ชาวไทย ผู้ใหญ่ 80 บาท เด็ก 40 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 400 บาท เด็ก 200 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน 93 หมู่ 5 บ้านทับละมุ ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา 82210 โทร. 0 7642 1365 สำนักงานบนฝั่ง โทร. 0 7659 5045หรือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760 หรือ www.dnp.go.th

บ่อน้ำพุร้อนบ้านบ่อดาล

          อยู่ตำบลนาเตยริมฝั่งทะเลอันดามัน น้ำพุร้อน บ้านบ่อดาน เป็นของเอกชน รอบบริเวณจัดเป็นสวนสวยงามร่มรื่น มีน้ำแร่อุ่น ๆ ไหลวนเวียนอยู่ในสระ เหมาะสำหรับการแช่เพื่อการพักผ่อนคลายความเครียด บรรเทาอาการปวดข้อ กระดูก เหน็บชา ตลอดจนบำรุงผิวพรรณ และเส้นผม หากเดินทางจากภูเก็ตผ่านสี่แยกตำบลโคกกลอย ตรงไปประมาณ หลักกม.ที่ 6 จะเห็นทางเข้าข้างโรงเรียนบ้านบ่อดาล เข้าไปประมาณ 3 กม. น้ำพุร้อนเป็นน้ำแร่จากธรรมชาติ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0 7658 0000-28

ย่านเมืองเก่าตะกั่วป่า

          ชมตึกแถวสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส และชิมอาหารพื้นบ้านในทุกวันอาทิตย์ช่วงฤดูท่องเที่ยว

พังงา

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์

          เป็นหมู่เกาะในทะเลอันดามันห่างจากฝั่งไปทางทิศตะวันตกประมาณ 70 กิโลเมตร เป็นหมู่เกาะที่อยู่ติดกับเขตชายแดนไทย-พม่า มีพื้นที่ประมาณ 84,375 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่บนบกประมาณ 20,594 ไร่ ประกอบด้วยเกาะสำคัญ 5 เกาะ คือ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะไข่ (เกาะตอรินลา) เกาะกลาง (เกาะปาจุมบา) และเกาะรี (เกาะสต๊อก) ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2524 เป็นหมู่เกาะที่มีแนวปะการังน้ำตื้นที่สมบูรณ์สวยงาม มีปลาสีสันต่าง ๆ มากมาย เป็นแหล่งเหมาะสำหรับชมปะการังน้ำตื้น โดยเฉพาะเกาะตอรินลาและเกาะปาจุมบา

          สำหรับบริเวณที่เหมาะจะดำน้ำลึก คือ กองหินริเชลิว อยู่ห่างจากเกาะสุรินทร์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้  10 กิโลเมตร เป็นแหล่งที่สมบูรณ์ด้วยธรรมชาติใต้ทะเล มีปลาหลายพันธุ์ ปะการังสีสวย และเป็นจุดที่มีโอกาสพบฉลามวาฬ  ที่ได้ชื่อว่าเป็นยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งท้องทะเลมาว่ายให้เห็นอยู่เสมอ ช่วงเวลาที่เหมาะจะเดินทางท่องเที่ยวคือ เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน ส่วนเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม เป็นช่วงที่มีลมมรสุม ฝนตกชุก คลื่นลมแรง

          สถานที่น่าสนใจภายในเขตอุทยานฯ ได้แก่ เกาะสุรินทร์เหนือ และ เกาะสุรินทร์ใต้ เป็นเกาะที่อยู่ติดกันโดยมีร่องน้ำคั่นกลาง มีอ่าวทั้งเล็กและใหญ่กระจายอยู่รอบเกาะ ทุกอ่าวมีความสวยงามของหาดทรายและน้ำทะเลแตกต่างกันไป เกาะสุรินทร์เหนือเป็นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว บ้านพัก ที่กางเต็นท์ และมีเรือหางยาวให้เช่าเที่ยวตามเกาะต่าง ๆ อ่าวช่องขาด อยู่ทางใต้ของเกาะสุรินทร์เหนือ เป็นจุดสำหรับกางเต็นท์ หาดทรายขาวสะอาด เล่นน้ำได้ มีปะการังและฝูงปลา เช่น ปลานกแก้วสีสดใส และปลานกขุนทอง มาว่ายเวียนทักทายให้ดูอยู่เสมอ อ่าวแม่ยาย อยู่ทางใต้ของเกาะสุรินทร์เหนือ เป็นอ่าวที่มีคลื่นลมสงบ และมีขนาดใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะสุรินทร์ มีปะการังน้ำตื้น

มอแกน

          อ่าวไทรเอน อยู่ทางตะวันออกของเกาะสุรินทร์เหนือ เป็นอ่าวที่มีชาวเลหรือ มอแกน ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมือง ที่ยังคงมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมกินนอนอยู่ในเรืออาศัยอยู่ นับถือเทวรูปอินเดียนแดง ซึ่งแกะสลักด้วยท่อนไม้ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวเล ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนเมษายนของทุกปี ชาวเลจะมาชุมนุมเพื่อไหว้ผีที่ตนเคารพนับถือ งานจะจัดเป็นเวลา 3 วัน อ่าวลึก อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะสุรินทร์เหนือ มีปะการังน้ำตื้น สาหร่ายทะเล ดอกไม้ทะเล กัลปังหา ฝูงปลาการ์ตูน และฝูงปลาหลากชนิดสีสันสวยงาม

          อ่าวจาก อยู่ทางทิศเหนือของเกาะสุรินทร์เหนือ มีหาดทรายขาวละเอียดสะอาด เป็นจุดดำน้ำตื้นที่มีแนวปะการังที่สวยงามสมบูรณ์ อ่าวไม้งาม อยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะสุรินทร์เหนือ ติดกับอ่าวที่ทำการฯ เป็นอ่าวใหญ่ ชายหาดยาวโค้ง มีแนวปะการังที่สวยงามและปลาหลากสีหลายพันธุ์  นอกจากนั้นยังมี เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่าวไม้งาม เดินผ่านป่าดงดิบเลียบชายหาด มีป้ายสื่อความหมาย ระยะทาง 2 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมง จะพบพืชพรรณนานาชนิด สัตว์ป่าต่าง ๆ  เช่น กระจง บ่าง นกที่หาดูได้ยาก ได้แก่ นกชาปีไหน นกลุมพูขาว อ่าวบอน อยู่ทางตะวันออกของเกาะสุรินทร์ใต้  เป็นที่อยู่ของชาวมอแกนหรือชาวเลอีกกลุ่มหนึ่ง 

          อ่าวเต่า อยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะสุรินทร์ใต้ มีเต่าทะเลอาศัยจำนวนมากบริเวณใกล้แนวปะการัง เป็นอ่าวที่เหมาะจะดำน้ำตื้น เพราะมีปะการังอ่อน และกัลปังหา อ่าวผักกาด อยู่ทางทิศใต้ของเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นจุดดำน้ำตื้นที่มีแนวปะการังเขากวาง เป็นอ่าวที่ดำน้ำได้ทั้งน้ำตื้นและน้ำลึก อ่าวสุเทพ อยู่ทางเหนือของเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นอ่าวที่มีปะการังสมบูรณ์ เหมาะสำหรับดำน้ำตื้น

          เกาะปาจุมบา หรือ เกาะกลาง อยู่ทางเหนือของเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นเกาะที่มีหาดทรายขาวละเอียดสะอาด แนวปะการังสมบูรณ์ บริเวณนี้ยังพบปลากระเบนราหู ปลาหลากพันธุ์สีสวยงาม และกุ้งมังกรจำนวนมากซึ่งหาดูได้ยาก จนได้ชื่อว่า อ่าวมังกร และยังเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล เกาะไข่ หรือ เกาะตอริลลา อยู่ทางใต้ของเกาะสุรินทร์ใต้ ด้านทิศตะวันออกของเกาะมีแนวปะการังยาวเหยียด ที่ยังคงความสวยงามสมบูรณ์เหมาะแก่การดำน้ำลึก
                
มอแกน

          การเดินทางไปอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ รถยนต์ จากอำเภอเมือง ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม ไปอำเภอคุระบุรี และก่อนถึงอำเภอคุระบุรี ประมาณ 6 กิโลเมตร บริเวณกิโลเมตรที่ 721 มีทางแยกให้เลี้ยวซ้ายเข้าท่าเรือคุระบุรีประมาณ 2 กิโลเมตร จะมองเห็นป้ายอุทยานฯ อยู่ทางขวามือ รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการรถโดยสารประจำทางปรับอากาศออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี วันละ1 เที่ยว เวลา 20.00 น. ถึงอำเภอคุระบุรีเวลา 08.00 น. ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 12 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่ กรุงเทพฯ โทร. 0 2894 6162 อำเภอคุระบุรี โทร. 0 7649 1218 และ บริษัท ลิกไนท์ ทัวร์ มีบริการรถโดยสารวิ่งวันละ  1 เที่ยว ออกจากกรุงเทพฯ เวลา 19.05 น. ถึงอำเภอคุระบุรี เวลา 05.00 น. สอบถามรายละเอียด  กรุงเทพฯ โทร. 0 2894 6151-2  สำนักงานพังงา โทร. 0 7641 2300, 0 7641 2014 สำนักงานอำเภอตะกั่วป่า โทร. 0 7644 1107

          อุทยานฯ มีบ้านพักบริการนักท่องเที่ยว จำนวน 16 ห้อง ราคาหลังละ 2,000 บาท พักได้ 2 คน มีเต็นท์สำหรับให้เช่า ราคาเต็นท์ละ 300-450 บาท/คืน ในกรณีที่นักท่องเที่ยวนำเต็นท์มาเองเสียค่าพื้นที่คนละ 40 บาท/คื น นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวต้องเสียค่าธรรมเนียมชมอุทยาน ชาวไทย ผู้ใหญ่ 80 บาท เด็ก 40 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 400 บาท เด็ก 200 บาท นอกจากนั้นทางอุทยานฯ มีบริการเรือให้เช่าเที่ยวรอบเกาะวันละ 2 รอบ ๆ ละ 60 บาท/คน  และมีอุปกรณ์ดำน้ำให้เช่า ราคา 150 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา 82150 โทร. 0 7649 1378, 0 7649 1582 หรือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรุงเทพฯ โทร. 0 2562 0760 หรือ www.dnp.go.th

อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่


อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่

          อยู่ห่างจากอำเภอตะกั่วป่า 33 กิโลเมตร ริมทางหลวงหมายเลข 4 บริเวณกิโลเมตรที่ 59 ให้เลี้ยวขวา ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อเดือนสิงหาคม 2534 มีพื้นที่ 78,125 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง อำเภอกะปง และอำเภอเมือง พื้นที่อุทยานฯ มีลักษณะเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ได้แก่ เขาหลัก เขาแสงทอง เขาไม้แก้ว  และเขาปลายบางโต๊ะ เป็นป่าประเภทป่าดงดิบมีพันธุ์ไม้ มียอดเขาสูงที่สุดประมาณ 1,077 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำที่สำคัญในจังหวัดพังงา ได้แก่ แม่น้ำพังงา และแม่น้ำตะกั่วป่า

          อุทยานฯ มี เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกโตนช่องฟ้า ระยะทาง5 กิโลเมตร และ 7 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ  2 ชั่วโมงและ 5 ชั่วโมง ตามลำดับ ตามเส้นทางเดินจะมีป้ายสื่อความหมาย ทางลาดชัน ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง อุทยานฯ มีบ้านพักและเต็นท์บริการนักท่องเที่ยว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ หมู่ 7 ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา 82110 โทร.0 7648 5414 หรือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช  กรุงเทพฯ โทร.0 2562 0760 หรือ www.dnp.go.th
              
น้ำตกลำรู่

          เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ อยู่ในเขตป่าเทือกเขากระได เป็นน้ำตกขนาดกลางสูง 5 ชั้น มีน้ำตลอดทั้งปี สามารถเดินทางตามทางหลวงหมายเลข 4090 ผ่านที่ว่าการอำเภอกะปงไปหมู่บ้านลำรู่ ประมาณ 9 กิโลเมตร
  
พังงา

วัดสุวรรณคูหา

          ตั้งอยู่หมู่ 2 ตำบลกระโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง พังงา ห่างจากตัวเมืองพังงาประมาณ 9 กิโลเมตร วัดสุวรรณคูหานี้ชาวบ้านทั่วไป เรียกว่า "วัดถ้ำ" เป็นวัดสำคัญของจังหวัดพังงา เนื่องจากเป็นโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทางโบราณคดี บริเวณที่ตั้งวัดมีภูเขา ซึ่งมีถ้ำใหญ่น้อย ถ้ำที่สำคัญ ได้แก่ ถ้ำใหญ่ ถ้ำแจ้ง ถ้ำมืด และถ้ำแก้ว

ถ้ำพุงช้าง

          ตั้งอยู่อยู่ภายในบริเวณวัดประจิมเขต หลังศาลากลางจังหวัด ถนนเพชรเกษม เป็นถ้ำใหญ่ที่อยู่ใจกลางเขาช้างบริเวณที่เรียกว่า "พุงช้าง" เป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่สร้างความยิ่งใหญ่ของหินงอกหินย้อย ให้ประทับใจตื่นตาตื่นใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็น


          จังหวังพังงา ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมาย รอให้คุณเดินทางไปเห็นด้วยตาตัวเองนะคะ

อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่

ทิปส์

          สำหรับคนที่ชอบเดินชมเมืองเก่า ต้องไม่พลาดการเดินเที่ยวชมเมืองตะกั่วป่าในย่านตลาดใหญ่ เที่ยวที่นี่เหมือนได้ย้อนยุคไปสู่ช่วงเหมืองแร่เฟื่องฟูเลยทีเดียว

          อย่าลืมไปจับจ่ายผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือแบบซาโอริ สีสันสดใส รูปแบบน่ารัก ที่บ้านบางม่วง นอกจากได้ของน่าใช้ ยังได้บุญ เพราะรายได้จะนำไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยสึนามิ

          หลากหลายจุดดำน้ำในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ คือสวรรค์ของนักดำน้ำ เพราะสวยติดอันดับโลกเลยทีเดียว ไปถึงพังงาแล้วไม่ควรพลาด

          พายคายัคเที่ยวอ่าวพังงา ชมผืนป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ และพายลอดถ้ำลอด ชมความงามของภูมิประเทศแบบป่าเกาะ อย่าลืมเตรียมกระเป๋ากันน้ำหรือถุงกันน้ำไปด้วย

พังงา

การเดินทาง

          พังงาอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 814 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดกาญจนบุรีได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง และเครื่องบิน และการเดินทางไปพังงา

          โดยรถยนต์ : จากกรุงเทพฯ ไปพังงาได้ 2 เส้นทาง คือ

          1. ใช้ทางหลวงหมายเลข 32 (ธนบุรี-ปากท่อ) แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง จนเข้าเขตอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เมื่อถึงตำบลโคกกลอย อำเภอท้ายเหมือง เลี้ยวซ้ายไปทางอำเภอตะกั่วทุ่ง เพื่อเข้าสู่อำเภอเมืองพังงา รวมระยะทางจากกรุงเทพฯ 788 กิโลเมตร

          2. ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ไปจนถึงจังหวัดชุมพร จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 401 จนถึงบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 415 ผ่านอำเภอทับปุดสู่ตัวเมืองพังงา

          โดยรถประจำทาง : มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-พังงา ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th ปัจจุบัน บริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com นอกจากนี้ยังสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ได้ที่ไทยรูท ดอทคอม www.thairoute.com

          โดยเครื่องบิน : ไม่มีเที่ยวบินตรงมายังพังงา แต่สามารถเดินทางด้วยเครื่องบินไปลงที่ภูเก็ตหรือกระบี่ แล้วต่อรถโดยสารเข้าพังงา เที่ยวบินกรุงเทพฯ-ภูเก็ต ติดต่อการบินไทย โทร. 0 2356 1111 www.thaiairways.com ไทยแอร์เอเชีย โทร. 0 2515 9999 www.airasia.com บางกอกแอร์เวย์ส โทร. 0 2270 6699 www.bangkokair.com และสายการบินนกแอร์ โทร. 1318 www.nokair.com เที่ยวบินกรุงเทพฯ-กระบี่ ติดต่อการบินไทย โทร. 0 2356 1111 หรือ www.thaiairways.com และสายการบินไทยแอร์เอเชีย โทร. 0 2515 9999 หรือ www.airasia.com

          การเดินทางภายในพังงา : ในตัวเมืองพังงามีรถโดยสารประจำทางไปยังอำเภอต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะได้หลายรูปแบบตามอัธยาศัย สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีขนส่งพังงา โทร. 0 7641 2300 นอกจากนี้ ยังมีรถสองแถวไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น ถ้ำพุงช้าง ถ้ำฤาษีสวรรค์ ฯลฯ คิวรถสองแถวและรถตู้ส่วนใหญ่อยู่ในตัวเมืองและบริเวณสถานีขนส่งพังงา

          นอกจากเส้นทางบนบก ยังมีท่าเรือสำหรับไปเที่ยวเกาะหลายแห่ง เช่น ไปเที่ยวอ่าวพังงา ติดต่อเรือได้ที่ท่าเรือบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ท่าเรือท่าด่านศุลกากร เป็นท่าที่อยู่ใกล้ตัวเมืองที่สุด ท่าเรือสุระกุล (ท่าเรือกระโสม) อยู่ในอำเภอตะกั่วทุ่ง ไปหมู่เกาะสุรินทร์หรือเกาะพระทอง ติดต่อเรือได้ที่ท่าเรือคุระบุรี ไปหมู่เกาะสิมิลัน ติดต่อเรือได้ที่ท่าเรือทับละมุ ไปเกาะยาวน้อย-เกาะยาวใหญ่ ติดต่อเรือได้ที่ท่าเรือท่าด่านศุลกากร เป็นต้น



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ททท. และ อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เที่ยวทะเล พังงา เยือนดินแดนแห่งป่าเกาะ อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 16:10:41 10,100 อ่าน
TOP