เขาแหลม ความทรงจำจากทะเลสาบ (อสท.)
ธเนศ งามสม...เรื่อง
นพดล กันบัว...ภาพ
ท้องฟ้าหลังฝนดูสะอาดตา แสงสุดท้ายค่อย ๆ ฉายส่องลงมา อาบไล้ทะเลสาบเขาแหลมเบื้องหน้า ให้ดูสงบงาม ชวนมอง บ้านพักของเราอยู่ริมทะเลสาบ บ้านหลังเล็ก ๆ ใน "ป้อมปี่" หนึ่งในจุดบริการนักท่องเที่ยวของ อุทยานแห่งชาติเขาแหลม จังหวัดกาญจนบุรี ทุก ๆ เย็นเราจะเห็นภาพเช่นนี้ ผืนทะเลสาบกว้างลิบตา ห่มคลุมด้วยม่านฝนสีเทา โอบล้อมด้วยทิวเขาตะนาวศรีอันลึกลับซับซ้อน
หากไม่เดินทางไปไกลจากป้อมปี่ เรามักจะกลับมาที่บ้านหลังน้อย ยืนอยู่ริมระเบียง รอดูเรือหาปลาแล่นผ่านมา เฝ้ารอแสงสุดท้ายฉายส่องทะเลสาบ เพื่อจะบันทึกภาพเหล่านั้นเก็บไว้ สำหรับเรา "ภาพดี ๆ" คือรางวัลจากการมุ่งมั่นทำงาน รวมถึงเป็นความทรงจำเพื่อเก็บไว้ระลึกถึง ยามเมื่อเดินทางไปยังที่อื่น ๆ ยามเมื่อนั่งเงียบ ๆ ใต้ร่มไม้ในสวนหลังบ้าน
9 ปีก่อน ผมเคยถ่ายภาพทะเลสาบเขาแหลมเก็บไว้ ฟิล์มบางม้วน เริ่มปรากฏดอกดวงของรา บางภาพก็สูญหาย การได้กลับมาเยือนที่นี่อีกครั้ง จึงคล้ายได้หยิบฟิล์มเก่า ๆ ขึ้นมาส่องดูกับแสงไฟ สำหรับผมแล้ว ความทรงจำคือสิ่งมีค่า เพราะมันช่วยให้ระลึกถึงว่าผมเดินทางมาไกลเพียงใดแล้ว
ฝนเพิ่งละลายหาย ตามยอดเขามีหมอกขาวลอยเรี่ย เรือนยอดไม้เขียวชอุ่มชุ่มน้ำ ยามที่ลมพัดมาจากยอดเขา เราจะสัมผัสได้ถึงอากาศเย็น ๆ เจือกลิ่นหอมของต้นไม้ซึ่งแตกผลิใบใหม่ ฝนเริ่มโปรยหนาหนักทีละน้อย ล่วงถึงกลางสัปดาห์ ระดับน้ำในลำห้วยก็เริ่มสูงขึ้น ปรากฏเกาะแก่ง แอ่งน้ำกว้าง ชั้นน้ำตกที่เคยแห้งขอด ยามนี้ห่มคลุมด้วยม่านน้ำโจนดิ่งไหลรี่
เช้าวันหนึ่ง เราเดินทวนน้ำตกกระเต็งเจ็งขึ้นไป ป่าเขียวชอุ่มพื้นดินนุ่มชุ่มฉ่ำน้ำ ตามขอนไม้ขึ้นคลุมด้วยมอสสีเขียว เห็ดแชมเปญทั้งสีส้ม แดง และขาว ผลิดอกพราวอยู่ตามขอนไม้ "เสียงนกในวงศ์พญาปากกว้างครับ" พี่ชายในกลุ่มเอ่ยออกมาเบา ๆ ทิศทางของเสียงอยู่เหนือลำห้วยด้านขวา หากไม่ใช่นักดูนกผู้เชี่ยวชาญ คงยากที่จะบอกได้ว่าเสียงเล็กแหลมนั้น คือเจ้าพญาปากกว้าง นกซึ่งมีหน้าตาน่าเอ็นดู
ในบ้านเรามีพญาปากกว้างอยู่ 7 ชนิด ผมเคยเห็นเพียง 2 ชนิด คือ เจ้าอกสีเงินกับเจ้าหางยาว โดยเฉพาะเจ้าหางยาวนี้ ผมรู้สึก "ชอบ" มันเป็นพิเศษ ด้วยขนตรงส่วนหัวเป็นสีดำโค้งเว้าคล้ายหมวกกันน็อกตัดกับลำตัวสีเขียวสดชัดเจน ทำให้ใคร ๆ เรียกมันอย่างเอ็นดูว่า "เจ้าหมวกกันน็อก" ท้องฟ้าเริ่มอึมครึม เสียงเจ้าพญาปากกว้างค่อย ๆ ลับหาย ขณะเราขึ้นมาถึง น้ำตกกระเต็งเจ็ง ชั้น 3 บนนี้ผาน้ำตกแผ่กว้างออกไปร่วม 15 เมตร แล้วโจนลดหลั่นลงมาคล้ายผ้าม่าน รอบ ๆ ร่มรื่นด้วยต้นเตยน้ำ รูปทรงคล้ายเตยทะเลที่ขึ้นตามชายหาด ทว่าน่าดูด้วยใบเรียวยาวประดับหนามแหลม
เสียงนกกกดังแว่วมาจากยอดเขา เมฆฝนพัดเลยได้แล้ว แดดอุ่น ๆ ที่ฉายลงมาทำให้บรรดานกออกหาอาหาร ป่าดูมีชีวิตชีวา เสียงนกร้องหวานใส แมลงกรีดปีกประสานเสียง ตะวันลอยสูง ครู่หนึ่งเมฆเทากลุ่มใหม่ก็ลอยผ่านมา เราหยุดพักกินมื้อเที่ยงตรงหน้าชั้นน้ำตก เสียงชัตเตอร์ลั่นเบา ๆ บันทึกภาพตรงหน้า เสียงชัตเตอร์ลั่นเบา ๆ ท่ามกลางเสียน้ำโจนตกลงมา เสียงแมลงกรีดปีก เสียงใบไม้ไหว คลอไปกับเสียงใครบางคนผิวปากแว่วหวาน
บ่ายคล้อย เราเดินออกจากน้ำตกกระเต็งเจ็งมาถึงที่ทำการอุทยานฯ เมฆสีขุ่นลอยมาเป็นสาย น้ำในลำห้วยเพิ่มระดับท่วมโขดหิน จากที่ทำการอุทยานฯ เราขับรถลงได้ไปตามเส้นทางทองผาภูมิสังขละบุรี ถนนลาดยางคดโค้งเลาะไหล่เขา ทะเลสาบเขาแหลมแผ่กว้างอยู่ด้านขวา ราว 7 กิโลเมตร น้ำตกเกริงกระเวีย ก็ปรากฏอยู่ริมถนน "โจ" เพื่อนพิทักษ์ป่าซึ่งร่วมทางมาด้วย นอกว่าน้ำค่อนข้างน้อย เพราะฝนตกลงมาช้ากว่าทุก ๆ ปี
นานร่วมสิบปีแล้วที่ผมแวะชมน้ำตกเกริงกระเวียระหว่างเดินทางไป สังขละบุรี ความทรงจำค่อนข้างชัดเจน ถนนคดโค้งไปตามภูเขา ระยะทางอันยาวไกล การได้หยุดพักริมน้ำตกเย็นชื่นระหว่างทาง นั่นคือความรื่นรมย์ แม้จะบ่ายคล้อย เมฆฝนก่อตัวดำทะมึน ทว่าจุดแวะพักหน้าน้ำตก ยังมีรถจอดหนาตา บ้างหยุดพักกินมื้อเที่ยง ซื้อของฝากให้คนที่บ้าน บ้างก็คือโอกาสจูงมือลูก ๆ ลุงไปเล่นน้ำกันสบายใจ
น้ำตกเกริงกระเวีย มีชั้นลดหลั่นอยู่ 3 ชั้น ขนาดปานกลาง น้ำตกไดช่องถ่อง ซึ่งอยู่ถัดลงไปอีกฟากถนนมีชั้นน้ำตกขนาดใหญ่กว่า ทว่ามีผู้ไปเยือนค่อนข้างน้อย คงเป็นเพราะต้องเดินลงไปอีกจึงจะได้ชมน้ำตกชั้นแรก โจ พาเราเดินลงไปดูน้ำตกไดช่องถ่องทุก ๆ ขึ้น น้ำตกนี้เกิดจากลำห้วยเดียวกับน้ำตกเกริงกระเวีย หมู่บ้านยางขาวอาศัยน้ำนี้เลี้ยงชีวิตมาเนิ่นนาน
ออกจากน้ำตก โจพาเราไปดูทุ่งหญ้าที่เกิดจากระดับน้ำในทะเลสาบลดลงมากในรอบ 27 ปี ตรงบริเวณซึ่งเคยเป็นผืนน้ำกว้าง ยามนี้ปรากฏทุ่งหญ้าสีทองปูลาดกว้างไกล ตอไม้ผุดโผล่มากมายอยู่ตามชายขอบทุ่งหญ้า ถัดออกไปไกล ๆ จึงเป็นแนวผืนทะเลสาบ เมฆฝนทอดเงาทะมึน แดดยามเย็นส่องทะลุลงมาเป็นลำยาว เรือน้อยลำหนึ่งบ่ายหนึ่งสับหายไป
โมงยามนั้น ผมนึกถึงความทรงจำเมื่อ 9 ปีก่อน ภาพเก่า ๆ ยามนั่งเรือลึกเข้าไปในทะเลสาบ ขณะเบื้องฝนเมฆฝนก่อตัวดำทะมึน จากป้อมปี่-ระเบียงบ้านหลังน้อย เดินลงไปไม่ไกลก็ถึง "ท่าเรือ" แพไม้เล็ก ๆ ท่ามกลางตอไม้ผุดโผล่ "ปีนี้แล้งที่สุดในรอบหลายสิบปีเลยครับ" อัมพร ไชยสงคราม เอ่ยประโยคแรกขณะบ่ายหัวเรือไปทางทิศได้
9 ปีที่แล้ว ผมนั่งเรือจากท่าเรือท่าแพไปถ่ายภาพในทะเลสาบ โดยมี เกาะมะพร้าว วัดพระธาตุโบอ่อง และ ชุมชนชาวแพ เป็นจุดหมาย วันนี้ผมกำลังย้อนกลับสู่เส้นทางเดิม ขณะความคิดของผม "เติบโต" ทะเลสาบเขาแหลมก็เปลี่ยนแปลงในรอบ 27 ปี ในสมุดเล่มเก่าผมบันทึกระหว่างนั่งเรือไว้ว่า "นับตั้งแต่เขื่อนสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.2526 ลำน้ำแควน้อย ซองกาเลีย รันตี บีคลี่ และบ้านเรือนหลายหมู่บ้านก็ถูกกลืนหายอยู่ใต้ผืนน้ำ กระแสน้ำที่เคยไหลเชี่ยวไปตามหุบเขาเอ่อท้นกลายเป็นทะเลสาบใหญ่ นั่นทำให้ชีวิตตลอดสองฝั่งต้องเปลี่ยนไปอย่างไม่หวนคืน"
ผ่านเวลามาระยะหนึ่ง คำถามของผมค่อย ๆ ลดน้อยลง บางข้อไม่จำเป็นจะต้องพบคำตอบเสมอไป หรือเพราะโดยแท้แล้ว ความเปลี่ยนแปลงคือสิ่งสามัญที่เราต้องเผชิญ การปรับตัวคือชั้นตอนหนึ่งของการเติบโต "ปีนี้ขับเรือต้องระวัง ลัดเลาะไม่ได้ ต้องไปตามร่องน้ำเก่าอย่างเดียว" เสียงน้าอัมพรแว่วมาจากท้ายเรือ ขณะรอบ ๆ ตัวเราเต็มไปด้วย ตอไม้ผุดโผล่น้อยใหญ่ เนินดินเล็ก ๆ ผุดขึ้นเป็นจุดสีน้ำตาล มองเห็นขัด เพราะตัดกับผืนน้ำสีคราม
ราว 40 นาทีต่อมา น้าอัมพรจอดส่งเราที่ ท่าเรือเกาะมะพร้าว เกาะเนื้อที่ 400 ไร่กลางผืนทะเลสาบ ทางเดินบนเกาะร่มรื่น ทิวมะพร้าวยืนต้นเป็นระเบียบ คนงานชาวมอญช่วยกันถางหญ้าดูสะอาดตา "ออง" ชายหนุ่มซึ่งเป็นหัวหน้าคนงาน เชื้อเชิญให้เราลองชิมเนื้อมะพร้าวหวานหอม มะพร้าวที่นี่เป็น "กะทิ" ทุกต้น เกิดจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อโดยแกะ embyo มาเลี้ยงอาหารวิทยาศาสตร์ในขวด ซึ่งมีสถานะปลอดเชื้อ ในธรรมชาติ จำนวนมะพร้าวที่เกิด "กะทิ" นั้นมีทั่วโลก ในบ้านเราพบที่ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สมุทรสงคราม และนครศรีธรรมราช ทว่ามีจำนวนค่อนข้างน้อย การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและนำมาปลูกห่างไกลเช่นนี้จึงจะได้ผลดี เป็นมะพร้าวกะทิทุกต้น
เราอยู่ถ่ายภาพพวกเขาปอกมะพร้าว พูดคุยกับอองที่หน้าเรือนพักบรรยากาศร่มรื่น ข้าง ๆ บ้านมีกองไม้ฟืนวางเรียงเป็นระเบียบ อ่างอาบน้ำซีเมนต์สร้างไว้ตรงลานโล่ง ครัวขนาดกะทัดรัดสะอาดสะอ้าน "ผมเคยไปอยู่ในเมือง แต่ไม่นาน อยู่ที่นี่สบายใจ" อองเล่าชายหนุ่มอยู่เกาะนี้มา 10 ปีแล้ว ผมจำเขาไม่ได้เลย แต่เรื่องราวทำนองนี้คล้ายเคยได้ยิน ตะวันลอยสูงเราล่ำลาอองและเพื่อน ๆ "แล้วกลับมาเที่ยวนะครับ" ชายหนุ่มเอ่ย ยิ้มจริงใจฉายบนใบหน้าคมคล่ำ
เมฆครึ้มเริ่มก่อตัว ลมอ่อนพัดพากลิ่นน้ำฝนลอยมาจาง ๆ จาก เกาะมะพร้าว น้าอัมพรบ่ายหัวเรือไปยังทิศตะวันตก ราวอึดใจ ก็ถึงท่าเรือหมู่บ้านโบอ่อง องค์เจดีย์สีทองมองเห็นลิบ ๆ อยู่บนยอดเขา เหตุเพราะน้ำลดระดับลงมาก วัดพระธาตุโบอ่อง ตั้งอยู่บนเนินกลางหมู่บ้าน ร่มรื่นด้วยต้นสักใหญ่อายุนับร้อยปี ด้านทิศเหนือมีสระน้ำ บนยอดเขาหินปูนกลางสระประดิษฐานพระธาตุโบอ่อง องค์เจดีย์ซึ่งคนถิ่นนี้ศรัทธามากว่า 200 ปี
เราเดินข้ามสะพานไม้ไปยังภูเขาหินปูน ไต่บันไดขึ้นไปนมัสการองค์เจดีย์บนยอดเขา มุมมองบนนั้นทำให้เราเห็นหมู่บ้านและทะเลสาบได้ชัดเจนรอบทิศ ลมเย็นชื่นพัดผ่านยอดเขา เสียงเด็ก ๆ ท่องตำราเรียนดังแว่วอยู่เบื้องล่าง ขณะไกลออกไปในทะเลสาบ เรือหาปลาลำน้อยค่อย ๆ ลัดเลาะทิวเขาหินปูนลึกเข้าไป ค่อย ๆ ลับหายไปในม่านฝน ฝนโปรยหนาหนักระหว่างเรือนแล่นออกจากหมู่บ้านโบอ่อง ผืนน้ำสีครามถูกย้อมด้วยม่านฝนสีเทา ทิวเขาหินปูนแลเลือนรางดั่งกำแพงโบราณ ชุมชนแพมาลัยมองเห็นเป็นจุดราง ๆ อยู่ในม่านฝน
เราเบนหัวเรือเข้าจอดเทียบแพ เช่นคนเรือทั้งหลายในถิ่นนี้ เรือแปลกหน้านั้นไม่ "แปลกหน้า" สำหรับแพมาลัย "แต่ก่อนมีแพหาปลาของฉันแพเดียว ตอนนี้มีแพขายของขายน้ำมัน แพลูกชายเขาซ่อมเครื่องเรือ แพลูกสาวเปิดให้คนมาพักค้างคืน" ป้าบำรุง สินเธาว์ เล่าพลางยิ้มเย็น ๆ อย่างคนแกใจดี ผมฟังไปยิ้มไป เรื่องเหล่านี้ป้าเคยเล่าให้ฟังเมื่อ 9 ปีที่แล้ว แต่ป้าคงจำไม่ได้หรอกว่าใครไปใครมาแพของแกบ้าง
พื้นเพของป้าบำรุงเป็นชาวแพแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี หาปลามาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ทว่าช่วงหนึ่งราคาไม่ค่อยดี อีกทั้งยังลดน้อยลงเมื่อได้ข่าวว่าที่นี้มีปลาชุกชุม หลังเขื่อนเขาแหลมกักเก็บน้ำไม่นาน ป้ากับลุงคู่ชีวิตก็ย้ายมาหากินที่นี่ "มาอยู่แรก ๆ กันดารมาก ตกกลางคืนก็จุดตะเกียง รอบ ๆ ยังมีเก้ง หมูป่า ตรงนี้เป็นต้นน้ำของห้วยสามสาย ปิล็อกคี่ ปิล็อกโค่ ห้วยน้ำขุ่น ปลาเลยชุม" ป้าบำรุง เล่าแล้วก็หัวเราะ ความยากลำบากในวันเก่า ๆ มักหอมหวานเสมอเมื่อย้อนระลึกถึง
"เขื่อนกักเก็บน้ำต้นปี ฉันมาอยู่ปลายปี" ป้าบำรุงเล่าพลางเหม่อมองม่านฝน ในวันนี้ แพกลายเป็นบ้านโดยสมบูรณ์ ตัวเรือนสร้างอย่างประณีตด้วยไม้ ชายคาประดับไม้ฉลุลายอย่างชาวแพสะแกกรัง หน้าเรือนแพประดับด้วยกระถางไม้ดอก-ไม้ประดับ มีต้นไทรให้ร่มเงา ขนาดของมันบอกเล่าวันเวลาของเจ้าของแพได้เป็นอย่างดี
เมื่อ 9 ปีก่อน ขณะนั่งอยู่ใต้ต้นไทร ผมเขียนบันทึกไว้ว่า "เด็ก ๆ วิ่งเล่นไปตามกระชังปลาอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ลมเย็นโชยมาเป็นระลอกเป่าผิวน้ำสีเขียวใสกระจายออกไปเป็นวง คนหาปลาบ่ายหัวเรือเข้ามาซื้อหาเครื่องใช้ไม้สอย แล้วแล่นลับไปในเวิ้งน้ำกว้าง...."
ฝนยังโปรยละออง เรานั่งพักบนพื้นไม้มันเลื่อม เรือบางลำแวะเข้ามาหลบฝน บางลำมาขายลูกปลาที่จับได้ แล้วถือโอกาสซื้อข้าวของจำเป็นกลับไป "จริง ๆ ชีวิตไม่ได้ต้องการอะไรมากมายเลย" เสียงใครบางคน ดังแว่วในสายฝน
ตะวันเริ่มคล้อยไปทางทิศตะวันตก ฝนค่อย ๆ ละลายหาย สายหมอกห่มคลุมเหนือทิวเขาตะนาวศรี ลมพัดเย็นชื่น ทะเลสาบ "หมาดฝน" ดูงดงาม ชวนมอง ผมอยากนั่งต่ออีกสักพัก ทว่าคำเตือนของนายท้ายที่ว่า การขับเรือตอนกลางคืนนั้นเสียงอันตรายจากตอไม้โดยไม่จำเป็น ทำให้เราต้องออกเดินทาง ผมบอกลาป้าบำรุง แกอวยพรให้เดินทางปลอดภัย ภาพตรงหน้าดูเหมือนเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ก่อนน้าอัมพรจะบ่ายหัวเรือจากลา ผมหันกลับไปบันทึกภาพเรือนแพเก็บไว้
สำหรับภาพนี้ คุณค่าไม่ได้อยู่ที่มันจะได้รับการตีพิมพ์หรือไม่ ทว่านี่คือ "ภาพ" ซึ่งวันพรุ่งนี้จะกลายเป็นความทรงจำอันมีค่า สำหรับผมแล้ว ภาพถ่ายคือสิ่งมีค่า ในยามเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ยามเมื่อนั่งลงพักเงียบ ๆ ใต้ร่มไม้ในสวนหลังบ้านหลังน้อย
คู่มือนักเดินทาง
ทะเลสาบและผืนป่าเขาแหลม ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 ครอบคลุมเนื้อที่ 935,625 ไร่ ในเขตอำเภอทองผาภูมิและอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
จุดน่าสนใจในอุทยานฯ มีหลากหลาย ทั้งเส้นทางเดินป่าระยะไกล เช่น ยอดเขาใหญ่ ความสูง 1,767 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ซึ่งเป็นจุดสูงสุดในอุทยานฯ และจุดเที่ยวชมใกล้ ๆ อย่างน้ำตกกระเต็งเจ็ง น้ำตกเกริงกระเวีย และน้ำตกไดช่องถ่อง
จุดชมวิวป้อมปี่อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 2 กิโลเมตร มีบ้านพักและลานกางเต็นท์ให้บริการ ที่นี่น่าชมทะเลสาบเขาแหลมในยามเช้าและเย็น
สถานีเรดาร์บนยอดเขาหัวโล้น ซึ่งเป็นจุดสูงลำดับ 2 รองจากยอดเขาใหญ่ มีทิวทัศน์น่าชม ยามเข้ามักปรากฏทะเลหมอก มองได้กว้างไกลถึงทะเลาสาบเขาแหลมและตัวอำเภอสังขละบุรี หมายเหตุ ถนนขึ้นสถานีเรดาร์คดเคี้ยวขึ้นภูเขาสูงและชันมาก ควรติดต่อที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวก่อนเดินทาง
ล่องเรือชมทะเลสาบเขาแหลม มีเวลาเต็มวันน่าแวะไปชมเกาะมะพร้าววัดพระธาตุโบอ่อง และแพมาลัย หาเช่าเหมาเรือได้ที่ท่าเรือท่าแพ หรือสอบถามที่อุทยานฯ
การเดินทาง
จากกาญจนบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 323 (ทองผาภูมิ-สังขละบุรี) ที่ทำการอุทยานฯ อยู่ฝั่งขวากิโลเมตรที่ 39-40
รถโดยสารประจำทาง บริษัทขนส่ง จำกัด มีรถโดยสารปรับอากาศชั้น 1 กรุงเทพฯ-ด่านเจดีย์สามองค์ เที่ยวเวลา 05.00, 11.00, 15.30 น. ค่าโดยสาร 302 บาท ใช้เวลาเดินทางราว 5 ชั่วโมง โทรศัพท์ 1490
หากเริ่มต้นเดินทางที่ตัวเมืองกาญจน์ มีรถโดยสารประจำทางกาญจนบุรี-สังขละบุรี (รถสีส้ม-ไม่ปรับอากาศ) ใช้กลางเดินทางถึงที่ทำการอุทยานฯ ราว 4 ชั่วโมง มีวันละ 2 เที่ยว คือ 7 โมงเช้าและก่อนเที่ยง หรือใช้บริการรถตู้โดยสารปรับอากาศกาญจนบุรี-สังขละบุรี (11 ที่นั่ง) รถจอดด้านข้างสถานีขนส่งจังหวัด ใช้เวลาเดินทางราว 3 ชั่วโมง รถออกช่วงเวลา 07.30 – 12.30 น.
ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก
อุทยานฯ มีบ้านพักและเต็นท์ให้บริการ ที่จุดชมวิวป้อมปี่มีร้านอาหาร (ควรสั่งจองล่วงหน้า) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม ตู้ปณ.15 ปท.ทองผาภูมิ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี 71180 โทรศัพท์ 08 6131 3443
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ISSN 0125 7226 ปีที่ 51 ฉบับที่ 2 กันยายน 2553