x close

เยี่ยมอุบลฯ-ยลจำปาสัก

อุบลฯ

 



เยี่ยมอุบลฯ-ยลจำปาสัก (กรุงเทพธุรกิจ)

โดย  ชาธิป

          อุบลราชธานี เมืองที่แม่น้ำโขง ชี มูล ไหลมาบรรจบ เป็นชุมชนเก่าแก่ ที่มีมนุษย์อยู่อาศัยต่อเนื่องกันมายาวนาน



          ก่อนจะได้รับการสถาปนาเป็นเมือง ในราชอาณาจักรไทยเมื่อกว่า 200 ปีที่ผ่านมา ด้วยที่ตั้งที่เหมาะสม ทำให้เมืองอุบลราชธานีเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ และคับคั่งด้วยมรดกทางวัฒนธรรม ปัจจุบันเมืองอุบลราชธานีกลายเป็นเมืองศูนย์กลางการคมนาคม การค้า และการท่องเที่ยวของภาคอิสานตอนล่าง

          นับว่าโชคดีที่เราไปเยือนเมืองอุบลฯ ในช่วงเวลาของการทำและแห่เทียนพรรษาใน "งานประเพณีเทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2552" ซึ่งมีความเป็นมานับย้อนไปได้อย่างน้อยก็ถึงปี พ.ศ.2470 ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าเป็นช่วงที่ชาวจังหวัดอุบลราชธานี ได้ทำต้นเทียนกันอย่างจริงจัง ต่อมาราวปี พ.ศ.2495 ได้มีการฟื้นฟูศิลปะการทำต้นเทียน และเทศกาลแห่เทียนพรรษาของจังหวัด โดยมีการประกวดเทียนพรรษา 2 ประเภท คือ ประเภทมัดรวมติดลาย และประเภทติดพิมพ์




           ราว พ.ศ.2502 มีการทำเทียนพรรษาด้วยการแกะสลักบนต้นเทียนโดยตรง ทำให้ในปีต่อๆ มามีการจัดประกวดต้นเทียนเป็น 3 ประเภท คือ ประเภทมัดรวมติดลาย ประเภทติดพิมพ์ และประเภทแกะสลัก จากนั้นมาประเพณีการประดิษฐ์และจัดขบวนแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีจึงมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยในขบวนแห่จะมีการฟ้อนรำ โห่ร้องกันอย่างสนุกสนาน และหลังจากที่ได้แห่เทียนไปรอบเมืองแล้ว จึงนำต้นเทียนพรรษาไปถวายตามคุ้มวัดต่างๆ

           การจัดสร้างขบวนแห่เทียนพรรษาเยี่ยงนี้ นับว่าต้องอาศัยทั้งทุน ฝีมือ และที่สำคัญคือความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้ผลงานที่ออกมานอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ ยังสามารถสะท้อนถึงเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลานั้นๆ ได้อีกด้วย ที่พิเศษคือมีการเชิญศิลปินจากต่างประเทศมาร่วมสร้างผลงานศิลปะโดยใช้เทียน กลายเป็น "งานแสดงเทียนประติมากรรมเทียนนานาชาติ" ซึ่งในปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 4 แล้ว

           จากเรื่องประเพณีเราหันมาเริ่มรายการเที่ยวธรรมชาติ ด้วยการเดินทางไปที่ อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ เพื่อชมความสวยงามของแก่งกลางลำน้ำมูลที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งจะมองเห็นแก่งขนาดใหญ่กลางลำน้ำในช่วงฤดูแล้ง

           เที่ยวนี้เราได้พี่ชายเจ้าหน้าที่ป่าไม้ใจดี พาเดินท่องเที่ยวตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ ตามเส้นทางมีจุดที่น่าสนใจหลายแห่ง อาทิ ถ้ำหมาใน ถ้ำพระ ซึ่งเคยมีการพบหลักฐานทางโบราณคดีใอารยธรรมขอม และในถ้ำก็จะมีชาวบ้านเอาไม้มาค้ำเพดานถ้ำไว้ เป็นสัญลักษณ์ของการค้ำ หรือทำนุบำรุงทั้งธรรมชาติและพระพุทธศาสนา

           แต่ที่พี่ป่าไม้ดูจะภูมิใจนำเสนอเป็นพิเศษคงต้องยกให้ น้ำตกรากไทร พูดถึงน้ำตกอาจจะนึกถึงน้ำไหลโครมคราม แต่น้ำตกรากไทรที่นี่เก๋ไก๋ด้วยสายน้ำน้อยๆ นับพันนับหมื่นที่ไหลลงตามรากไทรจากหน้าผาลงพื้น

           ไหนๆ มาถึงนี่แล้วก็ควรจะแวะไปเยี่ยม อุทยานแห่งชาติผาแต้มเสียด้วย ชมภาพเขียนสีโบราณอายุกว่า 3 พันปี ราว 300 ภาพ ที่เรียงรายติดต่อกันอยู่บนผนังหน้าผายาวถึง 170 เมตร รวมทั้งชมจุดชมวิวแม่น้ำโขง และจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นจุดแรกของประเทศไทย

           อีกอย่างที่พลาดไม่ได้เมื่อไปเยือน คือการไปชม น้ำตกแสงจันทร์ (น้ำตกลงรู) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติผาแต้ม น้ำตกลงรูเกิดจากธารน้ำวนบนลานหินทราย ก่อเกิด หลุมกุมภลักษณ์ (Pot Hole) ทำให้เพดานถ้ำทะลุจนน้ำไหลลอดลงมาคล้ายแสงของพระจันทร์ บ้างก็ว่าจะให้ดีต้องมาเห็นตอนคืนเดือนเพ็ญ มองลอดรูน้ำตกขึ้นไป ก็จะเจอกับพระจันทร์ดวงกลมโต อะไรจะโรแมนติกได้ขนาดนั้น

           จากน้ำตกแสงจันทร์ เราเดินทางต่อไปที่ หาดสลึง บ้านสองคอน จากท่าเรือหาดสลึงเราชวนกันลงเรือหางยาวล่องชมทิวทัศน์และแหล่งท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขง อาทิเช่น ปากบ้อง หรือส่วนที่แคบสุดของน้ำโขงในประเทศไทย มีความกว้าง 56 เมตร และ หาดหงส์ ซึ่งเป็นเนินทรายขนาดใหญ่ริมน้ำโขง 

           พอเย็นย่ำตะวันรอน เราก็เดินทางถึงที่หมายสุดท้ายของวันที่พลาดไม่ได้ คือการสัมผัสความงดงามทางธรรมชาติที่ สามพันโบก แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งใหม่ของจังหวัดอุบลราชธานี เราโชคดี (อีกแล้ว) มีโอกาสได้พบกับ เรืองประทิน เขียวสด คุณครูโรงเรียนบ้านสองคอน ผู้ค้นพบและบุกเบิก สามพันโบก แห่งนี้

           อาจารย์เรือง อธิบายว่า คำว่า "โบก" เป็นภาษาอีสาน ที่ใช้เรียกขานลักษณะของรูที่ถูกกัดเซาะลงไปในพื้นหินจนเป็นแอ่ง ซึ่งจะปรากฏให้เห็นตามเกาะแก่งในลำน้ำต่างๆ หลุมรูเหล่านี้เองที่ทำให้เกิด "น้ำวน" ซึ่งจะพบเห็นได้ทั่วไปในลำแม่น้ำโขงช่วงนี้

           อาจารย์เรืองเล่าว่า ชื่อเสียงของสามพันโบกเริ่มจากกลุ่มนักถ่ายภาพที่เดินทางเข้ามาเก็บความงาม ก่อนจะเริ่มมีการนำภาพไปโพสต์ตามเว็บไซต์ต่างๆ ก่อนจะมาโด่งดังขึ้นไปอีกเมื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยใช้สามพันโบกเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณาที่มี "พี่เบิร์ด" ธงไชย แมคอินไตย์ แสดงนำ

           เที่ยวสามพันโบกถ้าจะให้ดีต้องช่วงที่น้ำน้อย คือตั้งแต่ประมาณวันที่ 10 ธันวาคมเป็นต้นไปจนถึงเดือนพฤษภาคม เพราะจะเห็นเกาะแก่งกลางแม่น้ำที่โผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมาให้ได้ชมความงามกัน บางช่วงเกาะแก่งโผล่พ้นน้ำให้เดินติดต่อกันได้หลายกิโลเมตร หรือจะมาเยี่ยมสามพันโบกในคืนเดือนหงายก็จะได้เห็นแสงเดือนสาดไล้ไปตามหลุมร่องบนเกาะแก่ง...ก็งามไปอีกแบบ แต่แนะนำว่าอย่ามาช่วงสงกรานต์เป็นดี เพราะแทนที่จะได้ชมธรรมชาติจะได้ชมสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า...คน...คน...คน...และคน เต็มไปหมด

           ที่นี่นอกจากความสวยงามของหินรูปร่างต่างๆ รวมถึงหาดทรายที่สวยงามเช่นหาดหงส์และถ้ำพญานาคแล้ว ที่นี่ยังมีสระน้ำกลางแผ่นหินที่กว้างใหญ่ มีน้ำใสสะอาดขังตลอดปี เรียกกันว่า สระมรกต หรือ "บุ่งน้ำใส" จากการส่งตัวแทนกระโดดลงไปทดสอบความเย็นของน้ำได้ผลว่า...ใช้ได้

           เรือของเราแวะขึ้นเยี่ยมเกาะกลางน้ำย่อมๆ ที่นอกจากสภาพพื้นผิวที่เป็นหลุมเป็นบ่อเหมือนโลกพระจันทร์แล้ว ความงามของสีสันที่แปรเปลี่ยนบนฟ้ายามเย็นสะกดให้เราต้องใช้เวลาอยู่ที่นี่จนตะวันลับฟ้า โดยเฉพาะบรรดานักถ่ายภาพที่มาด้วยกัน กว่าจะยอมเก็บกล้องขนของกลับได้ก็พระจันทร์เกือบจะตรงหัวแล้วนั่นละ





           เช้าวันถัดมา ในที่สุดเวลาที่รอคอยก็มาถึง เราออกเดินทางไปยังด่านช่องเม็ก ผ่านพิธีตรวจคนเข้าเมืองและด่านศุลกากร เดินทางสู่เมืองปากเซ  เมืองสำคัญของแขวงจำปาสัก ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เราออกเดินทางไปลงเรือ ณ ท่าเรือบ้านนากระสัง ล่องเรือสู่เกาะดอนคอน ข้ามสะพานไปยังเกาะดอนเดช เพื่อไปชม น้ำตกหลี่ผี มหาน้ำตกแห่งมหานทีสี่พันดอน

           ชื่อหลี่ผี ฟังดูอาจจะน่ากลัวไปหน่อย คำว่า "หลี่" เป็นภาษาลาว หมายถึงเครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่งทำจากไม้ไผ่ ใช้วางขวางลำน้ำ เมื่อปลาว่ายหรือโจนเข้าในหลี่แล้วก็จะติดออกมาไม่ได้ ส่วนคำว่า ผี หมายถึง ศพคนตาย ชื่อหลี่ผีได้มาจากการพบศพทหารลอยมาติดเป็นจำนวนมากในสมัยสงครามอินโดจีน

           สัมผัสแรกของการเที่ยวน้ำตกหลี่ผีคือความกว้าง ใหญ่ และกระแสน้ำที่ไหลแรงส่งเสียงครืนๆ ดูมาดูไปเหมือนทะเลมากกว่าน้ำตก เที่ยวที่นี่ต้องเตือนกันไว้ก่อนว่าถ้าเป็นช่วงน้ำหลากแรง หรือจุดที่มีป้ายเตือนห้ามลงเล่นน้ำ แปลว่า "ห้ามจริงๆ" เพราะมีผู้กล้าเอาชีวิตมาทิ้งกันบ่อยๆ

           อีกหนึ่งน้ำตกที่ได้ไปเยือนคือ น้ำตกคอนพะเพ็ง เจ้าของฉายา "ไข่มุกแม่น้ำของ" เป็นน้ำตกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเขตแม่น้ำโขงตอนล่างก่อนจะไหลลงสู่ประเทศกัมพูชา เป็นอีกที่ที่ลืมภาพน้ำตกไหลเอื่อยๆ แบบบ้านเราไปได้เลย เพราะแม้ว่าชั้นของหินจะไม่สูงมากนัก แต่กระแสน้ำจำนวนมหาศาลหลายสายไหลบ่าถาโถมกระหน่ำลงมาจากชั้นหินราวกับจะถล่มทลายแก่งหินอย่างดุดันและเกรี้ยวกราดสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักท่องเที่ยวจนได้รับขนานนามว่าเป็น "ไนแองการาแห่งเอเชีย"

           เสียดายเรามีเวลาอยู่ที่จำปาสักน้อยไปหน่อย จะให้ดีถ้าไปถึงจำปาสักควรหาเวลาไปเที่ยวน้ำตกผาส้วมและน้ำตกตาดฟานเสียด้วย ให้ครบสูตรการเที่ยวน้ำตก เพราะแต่ละที่ก็มีดีที่ความงามแบบเฉพาะตัวไม่เหมือนกัน

           เช้าวันต่อมา เราออกเดินทางไปสู่เขตเมืองเก่าจำป่าสัก ที่ตั้งของ วัดพู ศาสนสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งที่สองของประเทศลาวที่มีความเก่าแก่กว่า 1,600 ปี ตั้งอยู่บนเนินเขาภู ห่างจากตัวเมืองเก่าจำปาสักประมาณ 6 กิโลเมตร

           จากจุดจอดรถเราต้องเดินต่อไปตามทางเดินโบราณ เพื่อขึ้นสู่วัดพู ท่ามกลางแดดร้อนเปรี้ยง ทำเอาหลายๆ คนคิดถึงเสื้อแขนยาวขึ้นมาทันที เสียเหงื่อสังเวยเทพเจ้ากันถ้วนหน้า ความโดดเด่นของวัดพูอยู่ที่ตัวปราสาทที่สร้างบนภูเขา มีการแกะลวดลายสลักเป็นนางอัปสรและทวารบาลตามแบบปราสาทขอม

           ในอดีตที่ตั้งของวัดพูเคยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของแหล่งอารยธรรมโบราณถึง 3 สมัยด้วยกันคือ อาณาจักรเจนละในช่วงศตวรรษที่ 6-8 ถัดมาเป็นยุคของอาณาจักรขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร และสุดท้ายอาณาจักรล้านช้างได้เปลี่ยนเทวาลัยในศาสนาฮินดู ให้เป็นวัดในพุทธศาสนานิกายเถรวาท

           มาถึงนี่คนนำทางบอกว่าต้องไม่พลาดไปชมภาพสลักตรีมูรติ ขนาดเกือบเท่าคนจริง ซึ่งหมายถึงเทพเจ้าทั้ง 3 องค์ผู้เป็นใหญ่สูงสุดในศาสนาฮินดูได้แก่ พระศิวะ พระนารายณ์ พระพรหม และชมหินแกะสลักรูปหัวช้างเชื่อว่าเป็นหลักฐานชิ้นสุดท้ายสมัยขอมเรืองอำนาจ และชม บ่อน้ำเที่ยง หรือ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่เชื่อกันว่าไหลจากยอดเขาผ่านศิวลึงค์ศักดิ์สิทธิ์ลงมาสู่ถ้ำเบื้องล่าง

           สำหรับคอประวัติศาสตร์แนวซาดิสต์เล็กน้อย ไกด์บอกให้ไปดูหินแกะสลักรูปจระเข้ เป็นก้อนหินขนาดใหญ่แกะสลักเป็นร่องลึก เชื่อกันว่าในสมัยโบราณใช้เป็นแท่นบูชายัญทั้งมนุษย์และสัตว์เพื่อสังเวยเทพเจ้า

           เช้าวันต่อมาเราปิดท้ายรายการเยือนจำปาสักด้วยรายการชอปปิ้งล้วนๆ เริ่มด้วยสินค้าของฝากของที่ระลึกพร้อมกับดูวิถีชีวิตชาวลาวที่ตลาดดาวเรือง ของที่นี่ส่วนใหญ่เป็นของสด ปลา พืชผักต่างๆ ชาวลาวซื้อไปทำอาหารเสียเป็นส่วนใหญ่ อย่างเราจะให้ซื้อปลาเป็นตัวๆ ก็คงไม่ไหว ได้แต่สวมบทพระยาน้อยชมตลาด เดินชมบรรยากาศตลาดยามเช้าไปพอได้อารมณ์ กลับมาช้อปกันต่ออีกรอบที่ร้านจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี ณ ด่านช่องเม็ก ก่อนจะกลับมาผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองเพื่อเดินทางกลับสู่จังหวัดอุบลราชธานี

          เคยรู้สึกแบบนี้ไหม...เวลาไปเที่ยวต่างบ้านต่างเมือง ถึงจะสนุกสุขสันต์ขนาดไหน แต่ความรู้สึกบางอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง นั่นคือความรู้สึกในนาทีที่ได้กลับมายืนบนผืนดินไทยอีกครั้ง

          ได้เวลา "กลับบ้านเรารักรออยู่" กันเสียที

          ที่พัก-เดินทาง

           ไปอุบลฯ ถ้าไปรถยนต์ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ไปสระบุรี เลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ต่อด้วย ทางหลวงหมายเลข 24 (สายโชคชัย-เดชอุดม) ไปจนถึงอุบลราชธานี หรือใช้ เส้นทางกรุงเทพฯ- นครราชสีมา แล้วต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 226 ผ่านบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และเข้าสู่จังหวัดอุบลราชธานี

           รถโดยสารประจำทาง 

          จากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ (ถนนกำแพงเพชร หมอชิต 2) ทุกวันสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.0-2936-1880, 0.2936-0657, 0.2936-0667, 0.2936-2852 ที่อุบลราชธานี โทร.0-4524-1831

           รถไฟ 

          มีรถด่วนกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ทุกวัน และยังมีรถธรรมดาจากนครราชสีมา- อุบลราชธานี และสุรินทร์-อุบลราชธานี อีกด้วย รายละเอียดสอบถามได้ที่หน่วยบริการเดินทาง โทร.0-2223-7010, 0-2223-7020

          เครื่องบิน 

          บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีเครื่องบินรับส่งผู้โดยสารระหว่างกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ทุกวัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2280-0060, 0-2628-2000 หรือที่จังหวัดอุบลราชธานี โทร. 0-4531-3340-3 หรือจะบินไปลงท่าอากาศยานนานาชาติปากเซก็ได้

          จากอุบลฯ ไปจำปาสัก เริ่มต้นที่ด่านพรมแดนช่องเม็ก จากนั้นเดินทางต่อไปตามทางหลวงหมายเลข 10 ระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร จะถึงสะพานมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่น ข้ามแม่น้ำโขงไปก็จะถึงเมืองปากเซ เมืองหลวงของแขวงจำปาสัก การเดินทางจากพรมแดนช่องเม็กเข้าไปเมืองปากเซ สามารถใช้บริการของสถานีขนส่งลาว ที่อยู่ห่างจากด่านตรวจคนเข้าเมืองลาวระยะทาง 300 เมตร มีทั้งรถโดยสารประจำทาง รถสองแถว วันละหลายเที่ยว หรืออาจใช้บริการรถยนต์รับจ้างซึ่งเร็วกว่า

          ที่พัก ในอุบลราชธานีและจำปาสัก มีมากมายหลายระดับหลายราคา

ดูเพิ่มเติมได้ที่ www.southlaostour.com

          ริมทาง

          ที่ตลาดดาวเรือง ขณะที่พี่น้องชาวลาวกำลังเลือกช้อปผักปลาไปทำอาหาร ปรากฏว่าคณะชาวไทยพาไปอออยู่ที่ร้านเครื่องเงินร้านหนึ่ง เดินตามไปดูปรากฏว่ากลุ่มหนุ่มไทยกำลังช๊อป "อาหารตา" ชื่อ "น้องกี้" เป็นสาวชาวเวียดนาม ที่มาขายเครื่องเงินอยู่ที่จำปาสักนี่เอง งานนี้เลยมีชายไทยไม่ทราบชื่อ แสดงตนเป็นเจ้าบุญทุ่ม ซื้อกำไลเงินมา 2 วง โดยมีของแถมเป็น Hi-5 ของน้องกี้

แนะนำที่ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรม เพียบ


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เยี่ยมอุบลฯ-ยลจำปาสัก อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13:45:54
TOP