x close

ห่วงหิ่งห้อยอัมพวา มีแนวโน้มสูญพันธุ์!




ห่วงหิ่งห้อยอัมพวา แนวโน้ม-สูญ! (ไทยโพสต์)

            นักกีฏวิทยาเผยผลทดลองแสงไฟคุกคามหิ่งห้อยหยุดชะงักผสมพันธุ์ ใช้เวลาเกี้ยวพาราสีและจับคู่นานขึ้นจาก 30 นาทีเป็น 5-7 ชั่วโมง ระบุเป็นสาเหตุให้ประชากรหิ่งห้อยลดน้อยลงเรื่อยๆ ชี้พื้นที่ "อัมพวา" น่าห่วงมากสุด อาจจะสูญหายในไม่ช้าหากไม่เร่งแก้พฤติกรรมท่องเที่ยวทำลายหิ่งห้อย

            น.ส.อัญชนา ท่านเจริญ อาจารย์ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ศึกษาวิจัยด้านชีววิทยาและพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของหิ่งห้อยน้ำจืด จนประสบผลสำเร็จในการเพาะเลี้ยงหิ่งห้อย กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการสันนิษฐานว่าแสงไฟฟ้าในเวลากลางคืนเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการหายไปของหิ่งห้อยในหลายพื้นที่ แต่ก็ยังไม่มีการทดลองหรือพิสูจน์แน่ชัดว่าแสงไฟมีผลกระทบต่อหิ่งห้อยอย่างไร ดังนั้น จึงได้ศึกษาผลกระทบของแสงต่อพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของหิ่งห้อยน้ำจืดชนิด "Luciola aquatilis" ซึ่งพบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำของประเทศไทย

            โดยนำหิ่งห้อยที่เพาะเลี้ยงขึ้นเองมาผสมพันธุ์ในห้องทดลอง พบว่าหิ่งห้อยที่อยู่ในห้องมืดสนิทจับคู่ผสมพันธุ์กันภายใน 30 นาที แต่หิ่งห้อยที่อยู่ในห้องมีแสงไฟเล็กน้อย กลับพบว่าตัวเมียไม่ยอมผสมพันธุ์ ส่วนตัวผู้ต้องใช้เวลาจับคู่นานถึง 5-7 ชั่วโมงกว่าจะผสมพันธุ์สำเร็จ

            น.ส.อัญชนาระบุว่า แสงไฟเป็นปัจจัยรบกวนสัญชาตญาณสืบพันธุ์ของหิ่งห้อย ซึ่งอาศัยการกระพริบแสง แต่เมื่อมีแสงไฟเข้ามาทำให้การผสมพันธุ์ของหิ่งห้อยหยุดชะงักลง หาคู่ไม่เจอหรือใช้เวลาจับคู่ช้ากว่าปกติ พื้นที่ที่น่าห่วงว่าหิ่งห้อยจะสูญหายไปมากที่สุดคือ อัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งทุกวันนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยังขาดแนวทางอนุรักษ์หิ่งห้อยอย่างยั่งยืน ไม่ควบคุมกิจกรรมหรือพฤติกรรมนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการนำเที่ยว ซึ่งเกิดมลภาวะมากมาย ทำให้ประชากรหิ่งห้อยที่อัมพวาลดลงต่อเนื่องทุก ๆ ปี และมีโอกาสที่จะหมดไปในที่สุด

            "การศึกษาพฤติกรรมผสมพันธุ์ของหิ่งห้อยทำได้ยาก เนื่องจากต้องสังเกตในเวลากลางคืน และยากที่จะพบเห็นหิ่งห้อยแสดงพฤติกรรมเกี้ยวพาราสีหรือกำลังผสมพันธุ์กันในสภาพธรรมชาติ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะพิสูจน์ผลกระทบของแสงไฟต่อพฤติกรรมการผสมพันธุ์ อีกทั้งยังไม่สามารถจับหิ่งห้อยจากธรรมชาติมาทดลองได้ เพราะหิ่งห้อยที่เคยผสมพันธุ์แล้วอาจจะไม่ยอมผสมพันธุ์อีกในช่วงทดลอง อาจทำให้ผลศึกษาคลาดเคลื่อนได้ งานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นครั้งแรกที่ได้ศึกษาผลกระทบดังกล่าว เนื่องจากเราสามารถเพาะเลี้ยงหิ่งห้อยได้เอง จึงสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ในการทดลองได้" น.ส.อัญชนากล่าว

            นักกีฏวิทยารายนี้กล่าวอีกว่า งานวิจัยครั้งนี้ทดลองโดยนำหิ่งห้อยตัวผู้และตัวเมียที่ยังไม่ผ่านการผสมพันธุ์มาจับคู่ในห้องมืดสนิท ความเข้มแสง 0 ลักซ์ และค่อยๆ เพิ่มความเข้มแสงเรื่อยๆ จนถึง 0.3 ลักซ์ เมื่อสังเกตพฤติกรรมการผสมพันธุ์อย่างใกล้ชิด พบว่าในห้องที่มืดสนิท หิ่งห้อยตัวผู้บินมาเจอตัวเมียแล้วจะขี่หลังผสมพันธุ์กันทันที เราจะเห็นหิ่งห้อยมีก้นชนกัน แต่ในสภาวะที่มีแสง หิ่งห้อยตัวเมียจะไม่ยอมผสมพันธุ์ ทำให้หิ่งห้อยตัวผู้ขี่หลังตัวเมียนานมาก หรือบางครั้งหิ่งห้อยตัวผู้จะต้องเกี้ยวพาราสีโดยกะพริบแสงเป็นเวลานาน

            "จากการทดลองดังกล่าวสรุปได้ชัดเจนว่า แสงไฟมีผลต่อพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของหิ่งห้อยอย่างแน่นอน โดยความเข้มแสงเพียง 0.3 ลักซ์นั้น ถือเป็นแสงที่มีความสว่างน้อยมาก เมื่อเทียบกับหลอดไฟที่ใช้กันทั่วไป ซึ่งมีความเข้มแสงถึง 320-500 ลักซ์ ดังนั้นแสงไฟจากท้องถนน บ้านเรือน หรือแม้กระทั่งจากการนั่งเรือชมหิ่งห้อย ย่อมส่งผลกระทบต่อหิ่งห้อยอย่างแน่นอน นอกจากจะทำให้หิ่งห้อยหาคู่เจอได้ยากแล้ว เมื่อมาเจอกันกลับยังต้องใช้เวลาในการผสมพันธุ์ที่ยาวนานขึ้น หรืออาจจะไม่ประสบผลสำเร็จในการผสมพันธุ์เลยก็เป็นได้" น.ส.อัญชนากล่าว
ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงกล่าวทิ้งท้ายว่า ขอฝากให้ประชาชน นักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ควรงดหรือหลีกเลี่ยงใช้แสงไฟส่องไปที่ต้นลำพูที่มีหิ่งห้อยอาศัยอยู่ ไม่ควรใช้ไฟสีขาวหรือให้ครอบไฟฉายด้วยกระดาษแก้วสีแดงจะช่วยให้ผลกระทบน้อยลงได้

            นอกจากนั้น บ้านเรือนที่อยู่ใกล้แหล่งที่มีหิ่งห้อยควรลดแสงไฟในบริเวณดังกล่าว โดยใช้ผ้าม่านหรือปรับเปลี่ยนหลอดไฟให้มีมลพิษทางแสงน้อยลง เช่น หาวัสดุครอบหลอดไฟเพื่อให้แสงไฟตกลงเฉพาะบริเวณที่ต้องการเท่านั้น หากวันนี้เราไม่ช่วยกันดูแลหิ่งห้อยแล้ว วันข้างหน้าก็จะไม่เหลือหิ่งห้อยอยู่ในระบบนิเวศเลย โดยเฉพาะเมืองอัมพวาซึ่งเป็นจุดเสี่ยงมากที่สุด


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก วิกิพีเดีย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ห่วงหิ่งห้อยอัมพวา มีแนวโน้มสูญพันธุ์! อัปเดตล่าสุด 27 มิถุนายน 2559 เวลา 17:28:30 3,886 อ่าน
TOP