บางพัฒน์ ชีวิตฉายชัดเคียงผืนทะเลกว้าง

บ้านบางพัฒน์ พังงา

บ้านบางพัฒน์ พังงา

บ้านบางพัฒน์ พังงา

         ฐากูร โกมารกุล ณ นคร เรื่อง
         ธีระพงษ์ พลรักษ์ ภาพ

         สะพานซีเมนต์แห่งนั้นพาเราข้ามฝั่งไปสู่หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่วางตัวเองอยู่เป็นหนึ่งเดียวกับผืนป่าชายเลนใหญ่โต ปากทะเลอันเป็นจุดเชื่อมต่อของทะเลในทับทะเลนอก มันปรากฏเป็นภาพหมู่บ้านชาวประมงเก่าแก่ และความเคลื่อนไหวอันมีชีวิตชีวาตั้งแต่รุ่งเช้า


บ้านบางพัฒน์ พังงา

บ้านบางพัฒน์ พังงา

บ้านบางพัฒน์ พังงา

         อยู่เหนือสายคลองน้ำเค็มแผ่กว้าง โลกแห่งการประมงชายฝั่งหล่อหลอมให้ภาพตรงหน้าเป็นเหมือนภาพชินตา ไม่ใช่แต่คนที่ผ่านพาตัวเองมาถึงริมอ่าวพังงา ทว่าหมายถึงพี่น้องมุสลิมแห่งหมู่ที่ 8 ของตำบลบางเตย พวกเขาปักหลักฝังรากอยู่ในบริเวณเกาะเบื้องหน้านี้มากกว่า 60 ปี

         ป่าชายเลนที่ยังเขียวครึ้มสมบูรณ์ ปริมาณสัตว์น้ำอันบ่งบอกถึงชีวิตทั้งในอดีตและภายภาคหน้าของพวกเขา รวมไปถึงเสียงอาซานแว่วดังตามเวลาทุกห้วงวัน เหล่านี้ค่อย ๆ ถักประสานให้บ้านบางพัฒน์ก่อเกิดขึ้นมาราวเรื่องเล่าชั้นดีชั้นหนึ่ง ที่พร้อมจะเปิดเผยตัวตนสำหรับคนที่พาตัวเองมาสัมผัสสัมพันธ์กับโลกเหนือผืนน้ำของพวกเขา

         เรื่องเล่าธรรมดาแสนเรียบง่าย เรื่องเล่าที่ทุกคนในหมู่บ้านต่างมีจุดเริ่มต้นและปลายทางอยู่ในถ้อยสำนวนเดียวกัน

บ้านบางพัฒน์ พังงา

         ความรักของบังหมาด

         วันที่ บังหมาด สมชาย หัสนีย์ มาถึงบ้านบางพัฒน์กว่า 30 ปีมาแล้ว นาทีนั้นที่นี่คือหมู่บ้านที่กันดารและห่างไกลเมืองที่สุดในพังงา ทางดินจากปากทางตำบลบางเตยเรียกไม่ได้ว่าถนน มันเต็มไปด้วยหล่มโคลนและป่าเสม็ด ป่าเคี่ยม

         "สะพานยังไม่มีที ผมนี่มาตอนแรกยังว่าอยู่ว่าจะทำไรอยู่กินดี" จากการหมั้นหมายดูตัวของผู้ใหญ่ บังหมาดเดินทางจากทับปุด ที่อยู่ห่างบางพัฒน์ไปไม่ไกล มาสู่หมู่บ้านมุสลิมบนเกาะเล็ก ๆ ปากทะเลในของบางเตย เพียงเพื่อจะพบว่า อารี หัสนีย์ หรือ "จ๊ะสาว" ของใครต่อใครที่บางพัฒน์ในวันนี้ คือคู่ชีวิตที่ผ่านพ้นความเหน็ดเหนื่อยและตรากตรำ มาต่อหน้าผืนทะเลและการเติบโตของบ้านบางพัฒน์

         "ตอนมาถึงที่นี่ เห็นปลาดุก ปลากระบอก ตามใต้ถุน ลองเอาเบ็ดผูกตามเสา ข้ามคืนไปดู โอ้โห ปลาติดเป็นพวง" บังหมาดเล่าอารมณ์ดี อดีตเช่นนั้นแม้มันผ่านมาแล้วหากแต่ดูไม่เนิ่นนาน

         "ในป่ามีแต่ลิงแสม มันอยู่กันเป็นฝูงใหญ่"
แต่เดิมบ้านบางพัฒน์ชื่อ "บ้านบางลิง" เพราะเต็มไปด้วยฝูงลิง หนู นก ยังไม่นับไปตามใต้น้ำอันเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ทั้งปู ปลา หอย กุ้ง ป่าชายเลนผืนโอฬารด้านหลัง ดึงดูดให้หมู่บ้านเล็ก ๆ ริมพื้นที่สีเขียว ไร้แผ่นดินเพาะปลูก ค่อยเติบโตในนามของหมู่บ้านประมงอันห่างไกล

         เกาะเล็ก ๆ 1 ใน 105 เกาะของอ่าวพังงาอย่างบ้านบางลิงถูกเล่าขานมาต่อเนื่องถึงผู้มาอยู่คนแรก คือ นายด้วน บุตรเหลน จนกระทั่งมันเริ่มกลายเป็นบ้านของผู้คนมุสลิมเชื้อสายมลายูก็ต่อเมื่อคณะของ โต๊ะยี่หมาเส็น ศุภรส และเหล่ามิตรชาวประมงเดินทางาถึง โต๊ะได้ทำนายว่าที่นี่จะรุ่งเรืองในอนาคต ด้วยมีคลองสองสายโอบล้อมเกาะคล้ายมังกรคาบแก้ว พวกเขาเริ่มสร้าง "ทับ" หรือกระท่อมขึ้นเหนือน้ำสำหรับพักค้างยามมาทำประมงในราวปี พ.ศ. 2496

         จากทับ 28 หลังครั้งสร้างหมู่บ้าน โลกแห่งความอุดมสมบูรณ์ค่อยดึงดูดพี่น้องมุสลิมจากหลากแห่งให้มารวมกันในนามทะเลและองค์อัลเลาะห์ บางลิงก่อตั้งเป็นหมู่บ้านหมู่ที่ 8 ของตำบลบางเตย ในปี พ.ศ. 2516 โดยมี นายสวัสดี วาหะรักษ์ พ่อของอารีเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ทุกอย่างค่อยเติบโตผ่านราคาของปลา กุ้ง ปู หอย ที่ค่อนข้างดี ชีวิตของคนที่นี่ก็เช่นกัน พวกเขาร่วมกันสร้างสะพานไม้เหนือแผ่นโฟมเพื่อข้ามสู่ฝั่งแผ่นดิน สร้างถนนเข้ามาจากด้านนอกด้วยเงินของหมู่บ้าน จนปี พ.ศ. 2518 สะพานซีเมนต์อันมั่นคงแข็งแรงก็เสร็จสิ้น พร้อม ๆ กับการตามมาของโรงเรียนประถมศึกษา มัสยิดอันมั่นคงแข็งแรง รวมไปถึงการเปลี่ยนสู่ชื่อบ้านบางพัฒน์ในปี พ.ศ. 2529 ก็ด้วยการร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาเกาะเล็ก ๆ กลางทะเลให้กลายเป็นบ้านอันมั่นคงถาวร

         บังหมาดเองเริ่มชีวิตใหม่กับอารีที่บางลิงด้วยอาชีพประมงชายฝั่งอันคุ้นเคยจากบ้านเกิด จากยุคของการบากบั่นและฝากปากท้องไว้ในผืนทะเลแห่งอ่าวพังงา ความสมบูรณ์ของสินในน้ำพาคนไม่ยี่หระต่อความลำบากให้ค่อย ๆ หยัดยืน

         "ตอนนั้นต้องทุกปลาขึ้นสามล้อ เร่ขายไปตามตลาด ออกไปบางเตย ไปทับปุด บางทีก็ไปถึงเมือง" บังหมาดว่าปริมาณสัตว์ทะเลอันหาศาลในอดีตนั้นเทียบได้ยากกับทุกวันนี้

         วันหนึ่งเรานั่งอยู่ริมทะเล บนโต๊ะอาหารในร้านของอารี ปลาจวดและปลากดที่บังพาเราออกไปตกหน้าเกาะ กลายมาเป็นแกงเหลืองรสจัดจ้าน นับรวมกับกุ้งและหมึกหลายจาน สาหร่ายน้ำเค็มจิ้มน้ำพริกนั่นอีก ที่บอกกับเราว่าพวกเขารู้จักบ้านกลางทะเลของคนมากเพียงใด

         "ทุกวันนี้เรามีทั้งโครงการธนาคารปูม้า ไม่ขายและไม่กินปูไข่ เราร่วมกันดูแลป่าโกงกาง ปลูกทดแทนที่มันหายไปเยอะสมัยสัมปทานตัดไม้ทำถ่าน" จ๊ะอารีฟังอยู่ห่าง ๆ ร้านอาหารของจ๊ะกำลังเนืองแน่น เด็ก ๆ บ้านบางพัฒน์เดินเสิร์ฟกันมือเป็นระวิง

         "เรารักบ้านเกิดกันทุกคนล่ะ เหมือนคนอื่น ๆ ตามป่าเขา ตามชายทะเล ดูแลมันเพราะมันให้เราอยู่กิน มีชีวิต" มันฟังดูคล้ายถ้อยคำโรแมนติกที่ต้องต่อสู้กับโลกปัจจุบันอันหมุนเคลื่อนด้วยกระแสทุนนิยม แต่ดูเหมือนถ้อยความเช่นนี้จะหล่อหลอมอยู่ด้วยความรัก ทั้งการรักกันของคู่ชีวิตที่ดูแลกันมาตั้งแต่เริ่มต้น และอาจกินความรวมไปถึงความรักของคนตัวเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งที่มีให้ต่อผืนป่าและทะเลอันโอบล้อมชีวิตของพวกเขาอยู่

บ้านบางพัฒน์ พังงา

         บ้านริมน้ำโกงกาง

         เราตื่นขึ้นมาใกล้รุ่ง หลังเสียงเรือหัวโทงค่อยทยอยกันออกไปตั้งแต่ฟ้ายังมืดสนิท สวนกับเรืออวนปูที่กลับเข้ามาไม่ห่างเวลากัน นาทีแห่งชีวิตของคนบางพัฒน์ขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กับละหมาดแรกยามเช้า เสียงอาซานเยียบเย็นลอยล่องห่มคลุมหมู่บ้านประมงชายฝั่ง โลกแห่งอัลเลาะห์เหนี่ยวนำผู้คนหลากวัยไว้ที่มัสยิดดารุ้ลมาอาเรฟ มันไม่ใช่สุเหร่าใหญ่โตโอ่โถงอะไรนัก ทว่ายามเสียงละหมาดของเหล่าพี่น้องที่นี่เปล่งกังวาน ก็เหมือนแดนดินอันร่มเย็นที่พวกเขายึดเหนี่ยวเคารพจะปรากฏให้ใครได้สัมผัสสักชั่วครู่

         ทางเดินซีเมนต์จากปลายสะพานพาเราก้าวไปเป็นหนึ่งเดียวกับพวกเขา มันร้อยเรียงบ้านเรือนและรูปแบบชีวิตนานาเข้าด้วยกัน ร้านกาแฟที่เป็นทั้งบ้านและร้านอยู่ต้นชุมชน ผลิตฉากคลาสสิกซ้ำไปซ้ำมาแทบทุกวันที่เรามาอยู่ที่นี่ เฒ่าชราคนเดิม เครื่องดื่มชนิดเดิม เรื่องเล่าเดิม ๆ ท่ามกลางเรื่องราวของลูกหลานที่เปลี่ยนไปในทุกนาที

         มันราวกับย่อโลกแห่งการประมงไว้ตามทางเดินสายหลัก ตามบ้านเต็มไปด้วยกรรมวิธีแปรรูปปลาทั้งสดและแห้ง มะบางคนแยกแมงดาตัวผู้และตัวเมีย บอกเล่าให้เรารู้จักเพศของมันจากการแยกไข่ หญิงสาวช่วยกันแกะปูม้าและปลาโชคร้าย ก่อนจะเก็บอวนเป็นก้อนกลมอย่างมีระเบียบ เคยที่กองตากแดดส่งกลิ่นหอมมีเอกลักษณ์ รวมไปถึงปลาจากทะเลนอกหลากชนิด หลายขนาด ที่ถูกชำแหละก่อนส่งตรงไปถึงร้านอาหารทั้งในชุมชนและที่ฝั่งเมือง

         หลายต่อหลายวันที่บางพัฒน์ หากบังหมาดไม่พาเราลงเรือออกไปท่องทะเล พี่น้องลุงป้าล้วนเต็มไปด้วยเรื่องเล่าและรอยยิ้มให้เราพาตัวเองไปทำความรู้จัก ซึ่งจะว่าไปมันหลอมรวมอยู่ด้วยไม่กี่สิ่งอย่าง ปลา ปู กุ้ง หอย จากการรอนแรมออกทะเล ศรัทธาอันเคร่งครัดต่อศาสนา รวมไปถึงป่าโกงกางผืนย่อมที่เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าชายเลนอันไพศาล ตลอดชายฝั่งกว่า 240 กิโลเมตรของพังงา

         คลองสายนั้นพาเราลึกเข้าไปจากทะเลนอก บ้านบางพัฒน์กลายเป็นจุดเล็ก ๆ เมื่อเราเข้าสู่โอบล้อมในอาณาจักรสีเขียวของป่าโกงกาง หลายคนกล่าวว่ามันคือป่าวิเศษ บางคนเชื่อว่ามันคือป่าอัศจรรย์ และมีไม่น้อยที่นิยมมันว่าป่าที่ถูกลืม

         "เรามีอาหารกินอยู่ได้ก็ป่าโกงกางนี่ล่ะ" บังหมาดไม่เคยนิยามป่าสีเขียวตรงรอยต่อระหว่างบกและทะเลผืนนี้ว่าเป็นเช่นไร ทว่าประโยคสั้น ๆ นั้นหมายถึงพวกเขาขาดมันไม่ได้

         เรือหัวโทงค่อยดับเครื่องยนต์ ยกปลายหางที่ยื่นยาวเป็นเอกลักษณ์ของมันขึ้นเก็บ เราปล่อยเรือให้ไหลไปตามกระแสน้ำของลำคลองที่แตกแขนงออกเป็นหลายสายแห่งผืนป่าโกงกาง เมื่อหยุดพูดคุยและดิ่งดำสู่ความเงียบ เราจะพบว่ามันเต็มไปด้วยสรรพเสียงอันน่าฟัง ทั้งนกชายเลนเสียงแมลงในป่า หรือแม้แต่ปลาสักตัวฮุบเหยื่อใกล้ผิวน้ำ

         เราค่อย ๆ เลาะล่องเข้าไปในคลองกุ้ง บังหมาดว่ากุ้งเคยมันเข้ามากินแพลงก์ตอนในกระแสน้ำ และพวกเขาใช้คลองสายนี้เป็นเหมือนต้นทางของเคยรสชาติดีที่ใคร ๆ ต่างก็มาซื้อหาถึงหน้าบ้าน

         โกงกางขึ้นเบียดเสียดและสอดสานข่ายโครงของรากไว้ราวกับโลกลี้ลับ สีเขียวที่ต้องแดดเป็นวาวมันนั้นเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชนิดพันธุ์ บังหมาดเลือกบอกชนิดของมันทั้งโกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่รวมไปถึงโกงกางหัวสุม ที่นับวันจะถอยน้อยลงไปในหลายพื้นที่

         เรามักได้ยินกันเสมอในเรื่องที่ว่าป่าโกงกางเป็นตัวลดแรงคลื่นที่ถาโถมจากทะเลสู่ฝั่งแผ่นดินยามมรสุม คนบกที่ไม่อยู่ใกล้ทะเลอาจไม่เห็น ไม่เข้าใจ ทว่าเมื่อมาอยู่ในแวดล้อมของรากและกิ่งก้านที่แตกแยกยึดยาวเพื่อทรงตัวบนสภาพพื้นดินชุ่มน้ำ ก็อาจเห็นและเข้าใจได้ไม่ยากเย็นอะไรนัก

บ้านบางพัฒน์ พังงา

บ้านบางพัฒน์ พังงา

บ้านบางพัฒน์ พังงา

         สำหรับชีวิตทะเล ป่าโกงกางเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำชั้นเยี่ยม เป็นส่วนหนึ่งของวงจรชีวิตที่มีความจำเป็นยิ่ง ไม่ว่าคนหรือสัตว์ที่หากินอยู่ริมทะเล และอาจกล่าวได้ไม่เกินเลยว่าป่าโกงกางมีส่วนสำคัญในการลด หรือเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำหลายชนิดในท้องทะเล

         ไม่กี่ชั่วโมงที่บังหมาดพาเรามาอยู่ในแหล่งอาหารของพวกเขา นกแก๊กสามสี่ตัวร้องตื่นอยู่ไกล ๆ ปูก้ามดาบถอยร่นพร้อมชูก้ามของมันไปมาอย่างระแวดระวัง เมื่อเราเข้าไปประชิดและเฝ้าดูที่ใกล้ฝั่ง หลังออกจากคลองกุ้งสู่คลองลัดและตัดออกสู่ทะเลกว้าง ผืนป่าอันเงียบเชียบที่ได้รับการฟื้นฟูดูแลเป็นอย่างดีกลายเป็นฉากม่านสีเขียวสวยในแดดเย็น

         "มื้อใหญ่รอเราอยู่ ของกินจากเลนอกและเลใน" เขาพูดอย่างคนที่รู้จักและเข้าใจมันดี พอ ๆ กับเวลาที่จ๊ะสาวยกสำรับอันน่าทึ่งมาวางบนโต๊ะ เพื่อนบางคนตกใจในเมนู ทั้งปูม้า หมึก กุ้ง ปลาทะเล หอยที่กลายเป็นอาหารอันน่าจะโอชะ

         "ใครมานอนบางพัฒน์พลาดไม่ได้ เรามีให้เลือก 7 อย่าง ว่าจะให้ทำเป็นอะไร"
หลังร่วมกันผลักดันการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สู่บางพัฒน์ จ๊ะสาวว่าอาหารจากทะเลและป่าโกงกางรอบบ้านนี่เอง ที่เป็นหนึ่งในการดึงดูดผู้คนมาเยือนที่นี่

         มันเป็นมื้อค่ำอันน่าจดจำ ความเอร็ดอร่อย สดหวาน จากปู กุ้ง ปลา หรือผักพื้นบ้านแปลก ๆ นั้นก็เรื่องหนึ่ง แต่กับการรับรู้ว่าบ้านของพวกเขาเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ และพร้อมจะเป็นถิ่นฐานให้ใครหลายคนไม่เลือกจากจะทิ้งร้างเช่นในอดีตต่างหาก ที่เติมเต็มและบอกกับใครสักคนว่า โลกตรงรอยต่อระหว่างฝั่งแผ่นดินกับผืนทะเลกว้างนั้น ยังอบอุ่นเสมอตราบเท่าที่พวกเขายังใช้สิ่งที่เรียกว่าหัวใจเข้าหวงแหนและดูแล

บ้านบางพัฒน์ พังงา

บ้านบางพัฒน์ พังงา

         ผองเพื่อนกลางทะเล

         มันเป็นยามสายที่แดดเร่าระอุ ฟ้าตัดกับผืนน้ำเป็นสองสี หมู่เกาะเรียงรายตามผืนทะเลอ่าวพังงา และเรากำลังจากฝั่งแผ่นดินใหญ่เข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับมัน

         พังงาเต็มไปด้วยป่าเขาที่ฝั่งแผ่นดิน แต่สำหรับพื้นที่ชายฝั่งกว่า 240 กิโลเมตรนั้น อ่าวพังงาไม่เคยร้างไร้ผู้คน ทั้งพี่น้องประมงนับพันนับหมื่นชีวิตจากหลายหมู่บ้าน หรือนักท่องเที่ยวที่เคยคุ้นภาพเกาะหินปูนหลากรูปทรง ที่บรรจุความงามอยู่ในภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหว

         คำว่าอ่าวพังงาแท้จริงแล้วไม่ให้กินความอยู่แค่พื้นที่ในจังหวัดเปี่ยมเสน่ห์แห่งนี้เท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงพื้นที่ราว 3 ล้านไร่ ในเขตทะเลพังงา ตรัง กระบี่ และภูเก็ต พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาราว 133,120 ไร่ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือ Ramsar Site เมื่อปี พ.ศ. 2545 มันเต็มไปด้วยผืนทะเลและป่าชายเลนอันไพศาล ผู้คนและสัตว์น้ำใช้ชีวิตพึ่งพาเกี่ยวโยงกันอย่างแยกไม่ออก

         เราจากบ้านบางพัฒน์และมุ่งไปสัมผัสส่วนหนึ่งของอ่าวพังงา ทะเลตรงหน้าหลังแล่นออกมาไม่เกิน 40 นาที กลายเป็นภาพเคลื่อนไหวอันไม่เคยคุ้น และต้องค่อย ๆ ทำความเข้าใจ มันเต็มไปด้วยเรือบริการนำเที่ยวที่มาจากทั้งกระบี่ ภูเก็ต หรือจากฝั่งทางอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาใกล้ตัวเมือง แตกต่างกับยามเช้าที่บางพัฒน์ ที่มีเพียงชาวประมงชายฝั่งทะเลเวิ้งว้าง และโลกแห่งการจับปลาเท่านั้น

         ชุมชนมุสลิมกลางน้ำอย่างเกาะปันหยีเติบโตด้วยบ้านเรือนกว่า 300 หลังคาเรือน หลังขึ้นฝั่งและตื่นตะลึงกับสนามฟุตบอลกลางน้ำของพวกเขาภายใต้ชายคาที่ทอดแนวไปนั้น ตกทอดเป็นโลกแห่งความเป็นอยู่และการค้าขายกับนักท่องเที่ยวอันเติบโตไปไม่มีวันหวนกลับ เสื้อผ้า อาหาร ทะเลแปรรูป เต็มไปด้วยสีสันของผู้มาเยือนและพี่น้องมุสลิมเของบ้าน

         "เด็กสาว ๆ บ้านผมหากรู้ว่ามาปันหยีแล้วไม่บอกนี่เคือง พวกเขาชอบมาซื้อเสื้อผ้าที่นี่ แปลก เข้าเมืองก็ไม่ซื้อ" ปังหมาดเล่าติดตลก ขณะเราเดินเลาะกันมาถึงมัสยิดประจำเกาะ หลังคาฉาบสีทองสะท้อนแดดบ่ายวาววาม

         อาชีพประมงของคนปันหยีดูเหมือนจะเป็นเรื่องของคนรุ่นปู่รุ่นพ่อ ทุกวันนี้การท่องเที่ยวเหนี่ยวนำให้คนรุ่นใหม่หันมาหามันอย่างเย้ายวน เกาะปันหยีเป็น 1 ใน 4 หมู่บ้านของตำบลเกาะปันหยี อันประกอบด้วย เกาะหมากน้อย เกาะไม้ไผ่ และบ้านหน้าด่าน บ้านเรือนกลางน้ำเหยียดขยายและเติบโตล้วนห่อหุ้มอยู่ด้วยคนเกาะปันหยี และผู้มาทำมาหากินราวสองถึงสามพันคน มีบางคนเลือกหนีไปสร้างบ้านและทำงานบนฝั่งสาเหตุหนึ่งมาจากการจะสร้างบ้านที่นี่มีราคาค่าวัสดุที่บวกกับการขนส่งอันสูงลิบ การจะสร้างบ้านหลังหนึ่งมีคำขนส่งบวกอยู่ในนั้นเกือบเท่าตัวบ้านธรรมดา ๆ อาจเริ่มต้นที่ 500,000 บาท และที่หรูหราฟู่ฟ่านั้นอาจกินเงินถึง 2,000,000 บาท

         มันดูแตกต่างจากบ้านกลางน้ำที่เสาทำจากไม้เคี่ยมแต่ครั้งอดีต ที่แต่เดิมผู้คนยังหันหน้าลงทะเลและทำประมงกันเป็นหลัก ปลาทู ปลาเก๋า และกุ้งแชบ๊วยถือเป็นงานที่ทำเงินและก่อร่างพวกเขามาแต่เดิม

         เราเดินไปตามซอกซอยและทางซีเมนต์อันเหยียดยาว บ้านที่ชิดติดกันแทบจะฝาชนฝาต่างทาสีสดสวย หน้าบ้านมักเป็นที่แขวนกรงนกกรงหัวจุก รวมไปถึงภาพของมุสลิมต่างวัยในผืนทะเลเดียวกัน ขณะผ่านโรงเรียนเกาะปันหยี การเข้าสุหนัดของเด็กชายเมื่อถึงวัยปรากฏเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่หลายคนมักตั้งคำถามเรื่องสุขอนามัย ทว่าก็ไม่มีใครสนใจจะยืนยันชี้ชัดมากไปกว่าการก้าวเดินไปในแนวทางขององค์อัลเลาะห์อย่างเปี่ยมไปด้วยความศรัทธา

บ้านบางพัฒน์ พังงา

บ้านบางพัฒน์ พังงา

         โลกกลางทะเลที่ปันหยีกลายเป็นภาพคึกคักที่เราได้แต่เฝ้ามอง และจดจำยามล่องเรือจากออกมา เพียงเพื่อที่จะพบว่าที่เขาพิงกันและเขาตาปูนั้นเดินทางเคียงคู่การท่องเที่ยวและผู้คนในอ่าวพังงามาไม่แตกต่าง บังหมาดเสียบหัวเรือขึ้นชายหาด ปล่อยให้เราไหลรวมไปกับนักท่องเที่ยวทั้งตะวันตกและเอเชียอย่างเป็นหนึ่งเดียว

         เขาตาปูกลายเป็นจุดไฮไลท์ของการท่องเที่ยวอ่าวพังงา ทั้งที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากการเป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องเจมส์บอนด์ ใครต่อใครต่างก็เลือกมาจ่อมจมตรงเวิ้งหาดที่มีฉากหลังเป็นเขาหินปูนเสียดตั้ง และมีฐานคอดเล็กจากการถูกน้ำทะเลกัดเซาะคล้ายตาปูตั้งอยู่กลางทะเล มันเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวไม่แตกต่างกับอีกฟากเขา เมื่อใครหลายคนไต่ลัดลงไปถึงเขาพิงกัน จุดเด่นแปลกตาจากการเลื่อนตัวของเปลือกโลก ทำให้ภูเขาแลกออกเป็นแนวดิ่งตัดตรงและทรุดตัวลง ส่วนฐานที่เคลื่อนออกจากเดิมเล็กน้อยทำให้หินซีกที่แตกตั้งเอียงพิงซีกหินเดิม

         บังหมาดพาเราฉีกพรากจากนักท่องเที่ยวและเรือบริการหลากเจ้าที่เขาพิงกันและเขาตาปู เราผ่านถ้ำลอด เขาหมาจู และเขาเขียน ราวกับสวนสนุกกลางทะเลที่หลายคนมาเพื่อสัมผัสความอัศจรรย์ของธรรมชาติ ขณะที่ในความทรงจำของบังหมาดและมุสลิมเฒ่าในอ่าวพังงา หมู่เกาะเหล่านี้ไม่เพียงจะเป็นฉากอันคุ้นดวงตาในทุกค่ำคืน หากแต่ยังเป็นเกราะกำบังลมฝนยามต้องแวะพักหลบลมคราวออกหาปลาในหน้ามรสุม

         โลกแห่งความเป็นจริงระหว่างผืนทะเล ป่าชายเลน และงานประมงชายฝั่งชัดเจนอีกครั้งในปลายบ่าย แดดอ่อนอาบไล้ผืนน้ำและป่าชายเลน ขณะเราก้าวขึ้นสู่เกาะไม้ไผ่ ด้านบนปรากฏหมู่บ้านเล็ก ๆ ร้านค้าของชำ และภาพแห่งความเป็นอยู่ของหมู่บ้านชาวประมงอันจริงแท้ไว้อย่างน่าเดินชม

         เกาะไม้ไผ่ ไม่ได้มีแต่ป่าโกงกางโอบล้อม ที่ดินพื้นราบรวมไปถึงควนเขาอันเสียดตั้งทำให้มุสลิมที่นี่ไม่เพียงแต่ออกหาปลา พวกเขายังปลูกปาล์ม ยางพารา แตงโม รวมไปถึงมีป่าเล็ก ๆ ซึ่งเพียงพอจะก่อกำเนิดธารน้ำไว้ใช้ในการเกษตรได้เกือบทั้งปี

         บังหมาดว่าคนในอ่าวพังงาราวกับญาติมิตร เขาไม่เพียงบอกกล่าวเพียงคำพูด แต่ทุกครั้งยามที่เห็นพวกเขายื่นสองมือออกมากุมประสานกล่าวคำพรขอให้อัลเลาะห์คุ้มครอง ทั้งเมื่อพานพบและจากลา ฉากม่านแห่งมิตรภาพกลางทะเลล้วนเดินสวนทางกับโลกบนฝั่งที่กำลังค่อย ๆ ถูกย่อยสลายภาพอันน่าทำความเคารพเช่นนี้อยู่อย่างเงียบเชียบ หรือโลกกำลังดำเนินไปตามหนทางของวันเวลา ไร้เงื่อนไขยึดเหนี่ยวและถ่วงดุล

         ระหว่างกันและกัน เรามีหนทางมากมายที่จะทำความรู้จักเรียนรู้ ทว่าอาจหลงเหลือเวลาอีกเพียงเสี้ยวส่วนสำหรับทำความเข้าใจและเก็บเกี่ยวเป็นความทรงจำ

         มันเป็นสุ้มเสียงและภาพทางตาที่เริ่มคุ้นเคยหลังเราผ่านคืนค่ำที่บ้านบางพัฒนาได้ระยะหนึ่ง เรือหัวโทงก่ายกองอวนปูอวนหมึกเพิ่งกลับจากการแรมคืนกลางผืนทะเล ขณะที่ในป่าโกงกางครึ้มเขียวที่หลังหมู่บ้าน ปูก้ามดาบกำลังถดถอยตัวเองหลังใครสักคนใช้พื้นที่เหล่านั้นเป็นแหล่งอาหารมารุ่นสู่รุ่น เบื้องบนเหยี่ยวแดงถลาร่อนลม หวังเพียงสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เบื้องล่างที่กำลังโชคร้าย

         เสียงอาซานยามเช้าล่องลอยเหนือผืนทะเลกว้าง เฒ่าชราเดินเข้าไปในสุเหร่า ก้มลงละหมาดอย่างสงบเยือกเย็น เปล่งถ้อยคำและความหวังที่จะเหนี่ยวนำชีวิตให้เดินทางสู่แดนดินอันเป็นสุข

         อาจบางที หมู่บ้านเล็ก ๆ ตรงรอยต่อระหว่างทะเลในและทะเลนอกนั้นกำลังฉายชัดถึงพื้นที่อันเป็นสุข ที่พวกเขาเฝ้าฝันจะเดินทางไปถึง แดนดินที่อุดมสมบูรณ์ สะอาด ปลอดภัย และเต็มไปด้วยความงดงาม

         "ซาลามัต จาลัน" และใครสักคนอาจกำลังเอื้อนเอ่ย...ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ

         ขอขอบคุณ

         ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำหรับการประสานงานช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างเยี่ยมยอด คุณสมชาย หัสนีย์ (บังหมาด) คุณอารี หัสนีย์ (จ๊ะสาว) และชาวบ้านบางพัฒน์ทุกคน สำหรับข้อมูล มิตรภาพ และน้ำใจที่เอื้อเฟื้อตลอดการลงพื้นที่เก็บข้อมูล

บ้านบางพัฒน์ พังงา

         คู่มือนักเดินทาง

         บ้านบางพัฒน์ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 8 ตำบลบางเตย อำเภอเมือง จังหวัดพังงา เป็นหมู่บ้านชาวประมงชายฝั่งที่ผู้คนนับถือศาสนาอิสลาม 100 เปอร์เซ็นต์ วิถีชีวิตทั้งงานประมงและนานาอาชีพในท้องทะเล และในป่าโกงกางของพวกเขาน่าสนใจเรียนรู้ พอ ๆ กับทรัพยากรสัตว์น้ำอันสมบูรณ์ตกทอดให้ที่นี่เป็นที่นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ ชมวิถีชีวิตชาวบ้าน ศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน ชิมอาหารทะเลสดอร่อย รวมไปถึงท่องเที่ยวล่องเรือไปในเกาะต่าง ๆ ในเขตอ่าวพังงาได้อย่างสะดวก

         การเดินทาง

         จากตัวเมืองพังงา ใช้ทางหลวงหมายเลข 415 (พังงา-ทับปุด) ราว 10 กิโลเมตร ถึงวัดเขาเฒ่า แล้วแยกขวาไปตามถนนเขาเฒ่า-บางพัฒน์ อีก 10 กิโลเมตร ถึงทางเข้าชุมชน จากนั้นเดินข้ามสะพานคอนกรีตอีก 100 เมตร ถึงบ้านบางพัฒน์

         นอนอุ่น

         บางพัฒน์โฮมสเตย์ บริการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์พร้อมกิจกรรมต่าง ๆ ในการท่องเที่ยวบ้านบางพัฒน์ ทั้งล่องเรือชมป่าโกงกาง นำเที่ยวอ่าวพังงา เขาพิงกัน เขาตาปู เกาะปันหยี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่หมายเลขโทรศัพท์ 08 6274 4557 และ 08 7282 6659 เฟซบุ๊ก บางพัฒน์โฮมสเตย์

         แนะนำที่พักในเมืองพังงา ปาล์มฮิลส์ รีสอร์ท บ้านพักและห้องประชุมสัมมนาแสนสงบ สบาย อิงแอบเขาหินปูน โทรศัพท์ 08 2412 2881 และ 08 0533 0519 เฟซบุ๊ก Palms Hill Resort

         กินอิ่ม

         มาเที่ยวบางพัฒน์ห้ามพลาดนานาเมนูซีฟู้ดอร่อย สด รสจัดจ้าน แนะนำร้านครัวอารีย์ บังหมาด โทรศัพท์ 08 6274 4557 ร้านม๊ะฉ้ะ โทรศัพท์ 08 7626 0070 และ 08 7280 7473 และร้านเกาะเคี่ยม ซีฟู้ด (ก่อนถึงบ้านบางพัฒน์) โทรศัพท์ 08 1476 9628

         สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

         ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โทรศัพท์ 0 7648 1900-2 เว็บไซต์ tourismthailand.org/phangnga และ เฟซบุ๊ก TAT Phangnga

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

หนังสือ อสท. ปีที่ 56 ฉบับที่ 11 มิถุนายน 2559

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บางพัฒน์ ชีวิตฉายชัดเคียงผืนทะเลกว้าง อัปเดตล่าสุด 30 กันยายน 2559 เวลา 16:01:29 17,865 อ่าน
TOP
x close