ไม่มีเพียงมนตราที่ ลังกาวี

ลังกาวี

ลังกาวี

 


ไม่มีเพียงมนตราที่ ลังกาวี (กรุงเทพธุรกิจ)
โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี

          คำสาปมะห์ซูรี เครื่องหมายการค้า ที่ทำให้ลังกาวีกลายเป็นที่จดจำของนักท่องเที่ยว แต่ที่จริง เกาะแห่งนี้ยังมีนิยายปรัมปราอีกเป็นกระบุง

          ว่ากันว่าประวัติศาสตร์เบื้องต้น ที่มนุษย์เราบันทึกฝากต่อกันมา ตั้งแต่ก่อนจะทำความรู้จักกับตัวอักษรก็คือ เรื่องเล่า  แต่ละสภาพการณ์แปรเปลี่ยนเป็นเรื่องราวร้อยพัน ที่สร้างความอัศจรรย์ใจให้แก่คนรุ่นหลังไม่รู้จบ ยิ่งเมื่อตำนานเกิดขึ้นมาพร้อมกับความศักดิ์สิทธิ์

          เหมือนกับโศกนาฏกรรม "ต้องคำสาป" ของพระนางเลือดขาวที่เล่าขานสืบมายาวนานถึง 7 ชั่วอายุคน น้ำหนักความเชื่อของชาวลังกาวีจึง อยู่ที่ 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างหมดข้อกังขา ภาพหยดเลือดสีขาวที่ค่อยๆ หลั่งรินจากร่างของหญิงสาวผู้ถูกป้ายสีมักปรากฏอยู่ด้วยแทบทุกครั้งเมื่อพูด ถึง "ลังกาวี" หมู่เกาะฟากตะวันตกเฉียงเหนือแห่งคาบสมุทรมาเลเซีย

          อากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน พอบวกลบกับคลื่นลมบนดาดฟ้าเรือเฟอร์รี่ที่กำลังแล่นผ่านเกาะตะรุเตาเข้าสู่ น่านน้ำสากล นอกจากจะทำให้จังหวะหัวใจเต้นถี่ผิดปกติแล้ว ยังทำให้ใครบางคนออกอาการ "เมา" เล็กน้อย ฟ้าที่เคยใสเปลี่ยนสีให้เสียวใจเล่นอย่างนี้ ก็ยิ่งสร้างความกังวลให้แก่ผู้มาเยือนครั้งแรกเป็นธรรมดา กว่าจะปรับตัวให้เข้ากับจังหวะท้องเรือกระแทกผิวน้ำตลอด หนึ่งชั่วโมงของการเดินทางจากท่าเรือตำมะลัง จ.สตูล เราก็เดินทางมาถึงท่าเทียบเรือกัวห์บนเกาะลังกาวีเสียแล้ว

            เยือน... หมู่เกาะแห่งตำนาน

          เกาะลังกาวี หรือ ไทรบุรี ปัจจุบันอยู่ในรัฐเกดะห์ ของมาเลเซีย นับเป็นเกาะพี่เกาะน้องกับเกาะตะรุเตาของไทย เพราะอยู่ห่างกันประมาณ 8 กิโลเมตรเท่านั้น ชาวไทยที่อยู่แถบนี้และชาวลังกาวีจึง เกี่ยวดองเป็นเครือญาติกัน ไม่ต่างจากแนวชายแดนฟากอื่น วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตแทบไม่ต้องปรับอะไรมากนอกจากเข็มสั้นเข็มยาวที่อยู่บนหน้าปัด นาฬิกา เพราะไทยจะช้ากว่ามาเลย์ 1 ชั่วโมง



ลังกาวี



          หลังขึ้นจากท่าเรือกัวห์ สิ่งแรกที่จะสังเกตเห็นได้ขณะลากกระเป๋าผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองก็คือ นกอินทรียักษ์ที่อยู่ตรง จัตุรัสนกอินทรี หรือ ดาตารันลัง (Dataran Lang) สัญลักษณ์ของลังกาวีที่ตั้งอยู่ริมทะเลคอยต้อนรับผู้มาเยือน ตามตำนานเล่าว่า "ลังกาวี" มาจากนกอินทรี หรือ "เฮอลัง" ในภาษามาเลย์ ส่วนคำว่า "กาวี" หมายถึง สีน้ำตาลแกมแดง ดังนั้น ลังกาวี จึงหมายถึง นกอินทรีสีน้ำตาลแกมแดง นั่นเอง

          หากสังเกตให้ดีที่ตัวรูปปั้นเราจะพบว่า นกตัวนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สู่นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ศูนย์กลางของศาสนาอิสลาม ในขณะที่นกอินทรีของดินแดนมุสลิมอื่นๆ จะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เพื่อบ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองของพื้นที่นั้นๆ

          ตลอดเวลาที่ผ่านมา "คำสาปมะห์ซูรี" ถือเป็นเครื่องหมายการค้าสำคัญที่ทำให้ ลังกาวี กลายเป็นที่จดจำของนักท่องเที่ยว (โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทย) เมื่อพูดถึงที่นี่คำสาปของพระนางก็จะปรากฏขึ้นเคียงคู่เสมอ

          แต่ใครจะรู้ อันที่จริงเกาะนกอินทรีแห่งนี้ยังอุดมไปด้วยนิยายปรัมปราที่เล่าลือสืบต่อ กันมาแต่โบราณอีกเป็นกระบุง เรื่องของนกยักษ์ นักรบผู้กล้าหาญ นางฟ้า รวมถึงการสู้รบ และความรักที่น่าประทับใจ ชนิดฟังกัน 3 วัน 3 คืนไม่จบ

          จากข้อมูลของ ประวิทย์ เยี่ยมสิริวุฒิ มัคคุเทศก์ประจำทริปทำให้เรารู้ว่า ปัจจุบัน ลังกาวีประกอบ ไปด้วยหมู่เกาะ 99 เกาะจากเดิม 104 เกาะ เพราะบางเกาะถูกน้ำท่วมจมหายไป มีพื้นที่ 470 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 50,000 เอเคอร์ ที่นี่มีภูเขาสำคัญอยู่ 3 ลูกทอดตัวไปทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะคือ กูนุง มะจิงจัง, กูนุง ซาบา และกูนุง ลายา

          ภูเขาทั้งสามมีตำนานเล่าถึงยักษ์สองตนที่อาศัยอยู่บนเกาะ คือ ยักษ์ลายา และยักษ์มะจิงจัง วันหนึ่งยักษ์สองตนนี้เกิดทะเลาะกันขึ้นมา จนทำให้หม้อน้ำแกงของชาวบ้านหก จึงกลายเป็นที่มาของ เมืองกัวห์ (Kuah - ภาษามลายูแปลว่า น้ำแกง) ในปัจจุบัน เมื่อชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจึงพากันไปบอกเทวดา เมื่อเทวดารู้เรื่องก็โกรธ สาปให้ยักษ์ทั้งสองกลายเป็นภูเขาลายาและภูเขามะจิงจัง โดยเนรมิตให้มีภูเขาซาบา (ในภาษามลายูแปลว่า ห้าม) คั่นตรงกลางเพื่อไม่ให้ยักษ์ทั้งสองเห็นกัน ในเวลาต่อมา ยักษ์มะจิงจังเกิดสำนึกผิดอยากกลับมาเป็นยักษ์เหมือนเดิมแต่ไม่ได้รับอนุญาต ก็เสียใจร้องไห้ออกมาเป็น น้ำตกเตอลาก้า ตูโจ๊ะ หรือ น้ำตกเจ็ดบ่อ ที่สายน้ำไหลตกลงมานั้นต้องผ่านสระน้ำธรรมชาติ 7 แห่งในผืนป่า และยังมีบางตำนานเล่าว่า ที่น้ำตกแห่งนี้ในอดีตเหล่านางฟ้าเคยมาเล่นน้ำอยู่เป็นประจำด้วย

          หลังเรื่องเล่าบนแผ่นดินใหญ่ ห่างออกไปจากลังกาวี 15 นาทีด้วยสปีดโบ๊ท ก็จะพบ เกาะดายังบุนติง หรือเกาะนางรำผู้มีความสวยงาม ที่มีตำนาน "ขึ้นชื่อ" ไม่แพ้กัน เกาะนางรำนี้มีเรื่องเล่าอยู่ว่า มีนางรำคนหนึ่งในราชวังมีความสัมพันธ์กับพระราชา สมัยนั้นชาวบ้านกับพระราชาไม่สามารถจะอยู่ด้วยกันได้ ขณะที่เธอตั้งครรภ์อยู่ได้ถูกขับไล่มาบนเกาะนี้ เธอจึงเสียใจคิดฆ่าตัวตายโดยอธิษฐานไว้ว่า หากใครไม่มีลูกถ้ามาที่นี่ตักน้ำดื่ม กลับไปแล้วจะสมหวัง จากนั้นก็จบชีวิตตัวเองลงที่ก้นสระ บริเวณนั้นจึงกลายเป็นวังน้ำจืดที่รายรอบไปด้วยน้ำเค็ม มีอาณาเขตประมาณ 2 เมตร ซึ่งยังคงมีอยู่ถึงทุกวันนี้

          ตำนานอันหลากหลายเหล่านี้ถือเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า แม้จะต่างภาษา แต่แนวคิด คติความเชื่อตามแบบฉบับของผู้คนแห่งดินแดนอุษาคเนย์ ไม่ได้คัดแยกความเป็นคนถิ่นเดียวกันออกไปได้เลยสักนิด 

          "มนต์เขมรเป็นยังไง ที่นี่ก็เป็นอย่างนั้นล่ะครับ" ไกด์หนุ่มเปรียบเปรย 

ลังกาวี



            เยี่ยม... พิพิธภัณฑ์นายกฯ

          หลังจากโดน "มนต์มะห์ซูรี" เชื้อเชิญให้มาเยือนถึงลังกาวีถ้า จะให้เอาแต่รื้อค้นตำนาน นั่งควานคำตอบให้กับความสงสัยต่างๆ นานาเกี่ยวกับตัวพระนางเองก็คงใช่ที่ เพราะมีหลายเสียงคอย "การันตี" ถึงความเป็นเมืองท่องเที่ยวแบบครบวงจรของลังกาวีที่ "มีดี" อยู่ไม่น้อย

          การท่องเที่ยวในลังกาวีนั้น หากเป็นนักท่องเที่ยว (รวมทั้งคนไทย) ส่วนใหญ่จะมีอยู่คร่าวๆ 2 แบบ คือ เที่ยวเมือง และเที่ยวเกาะ โดยทางการมาเลเซียมีการจัดการแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมให้กระจายอยู่โดยรอบ เกาะ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ใช้เวลาให้นานที่สุด คนท้องถิ่นก็ไม่ต้องย้ายไปกระจุกตัวรวมกัน  ซึ่งถือเป็นกุศโลบายที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่งของ ดร.มหาธีร์  โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการยกระดับลังกาวีให้เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกอย่างแท้จริง

          ประวิทย์ แนะนำว่า ถ้าต้องการเที่ยวให้สนุก คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพ (!!?) ควรสำรวจรสนิยมการท่องเที่ยวของตัวเองให้เรียบร้อยเสียก่อน เพราะจะได้จัดโปรแกรมเดินทางได้ตรงใจที่สุด แต่ในกรณีมากับ "ทัวร์ยกแก๊ง" คงต้องเว้นช่องไฟไว้ในฐานที่เข้าใจ

          แลนด์มาร์คของการ "เที่ยวเมือง" จะมีอยู่ 4 จุดใหญ่ คือ พิพิธภัณฑ์นายกฯ มหาธีร์ โลกใต้ทะเล กระเช้าลอยฟ้า และบ้านพระนางมะห์ซูรี ส่วนเที่ยวเกาะนั้นจะเป็นลักษณะการนั่งเรือสปีดโบ๊ทไปเที่ยวตามเกาะเล็กเกาะ น้อยต่างๆ มีวังน้ำจืดที่เกาะดายังบุงติง และการโชว์ให้อาหารปลาฉลามที่เกาะโกลาปายัก เป็นตัวชูโรง มีเวลาเที่ยวมาตรฐานอยู่ที่ 2 วัน 1 คืน หรือแล้วแต่ความสะดวกของแต่ละคน

          "คนไทยส่วนใหญ่ที่มาเที่ยวจะมีโปรแกรมการชอปปิงพ่วงตลอดครับ เพราะที่นี่จะปลอดภาษีกันทั้งเกาะ บางกรุ๊ปครึ่งชั่วโมงก็ยังแวะเลย" เขากระซิบถึง "ธรรมชาติ" ของกรุ๊ปทัวร์ไทยที่มักบรรจุ ตลาดกัวห์ ลงในโปรแกรมหลักของทริปเสมอ จริงอย่างที่เขาว่า เพราะคนไทยรักการชอปปิงไม่แพ้ชาติใดในโลกอยู่แล้ว

          ข้อแนะนำสำหรับคนเวลาน้อยจึงอยู่ที่โปรแกรมซิตี้ทัวร์ เริ่มต้นที่ แกลลอรี เปอร์ดานา หรือ พิพิธภัณฑ์นายก อยู่ห่างจากตัวเมืองกัวห์ประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมของขวัญของกำนัลและรางวัลต่างๆ อาทิเช่น เครื่องแก้วเจียระไน หนังสัตว์ เครื่องเซรามิค เครื่องดนตรี ศิลปะอิสลาม เครื่องสลัก ผ้า อาวุธ รถยนต์ จำนวนมากกว่า 2,500 ชนิด ที่ ดร.มหาธีร์ ได้รับมาสมัยยังดำรงตำแหน่งนายกฯ มาเลเซีย จัดแสดงไว้ในอาคาร 2 ชั้น 3 คูหาเชื่อมต่อกัน โดยเปิดให้เข้าชม 10.00-17.00 น.ทุกวัน คิดค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 3 ริงกิต เด็ก 1 ริงกิต (ต้องเสียค่าถ่ายรูป ภาพนิ่ง 2 ริงกิต วีดิโอ 5 ริงกิต)


ลังกาวี


          ไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์นอกจากจะอยู่ที่ข้าวของเครื่องใช้ที่จัดเป็น นิทรรศการหมุนเวียนเปลี่ยนทุกอาทิตย์แล้ว ยังมี "ทีเด็ด" อยู่ที่รูปแบบสถาปัตยกรรมหลังคาอาคารเป็นลักษณะโดมที่ถอดแบบอียิปต์สไตล์ มาสร้างอย่างหมดจด ที่สำคัญยังเป็นงานแกะมือทั้งหมด โดยเฉพาะที่โดมอาคารหลังแรกถึงกับมีคำเปรียบเปรยไว้ว่า หากใครจินตนาการถึงความสวยงามบนสรวงสวรรค์ไม่ออก ให้มาที่นี่แล้วจะได้เห็น

          "ว่ากันว่าถ้าใครได้มานอนแหงนหน้าขึ้นมอง แล้วมีหนี้สินท่วมหัว หนี้สินจะหายไปหมดเลยครับ" มัคคุเทศก์คนเดิมเผย "ทริค"

          ไม่ทันขาดคำ ที่ยืนๆ กันอยู่เต็มพรมก็พากันนอนราบอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

          "แต่ว่ามีข้อแม้นะครับว่า หลังจากที่ตื่นขึ้นมาหนี้สินจะกลับมาเหมือนเดิม แถมจะเพิ่มเป็น 2 เท่า" 

          ไม่ทันขาดคำ... พากันลุกขึ้นแทบไม่ทันเหมือนกัน (ฮา)

            ยล...โฉมมะห์ซูรี

          หอมปากหอมคอจากพิพิธภัณฑ์นายกฯ ใช้เวลาไม่เกิน 20 นาทีก็มาถึงแลนด์มาร์คแหล่งที่ 2 ลังกาวี เคเบิลคาร์ (Langkawi Cable Car) ที่ขึ้นชื่อว่าสูงที่สุดและสวยที่สุด ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเกาะ โดยสถานีเคเบิลคาร์ จะอยู่ในส่วน โอเรียนทัล วิลเลจ เคเบิลคาร์ (Oriental Village Cable Car) ขึ้นสู่ยอดเขา โดยจะต้องต่อกระเช้า 2 ช่วงเพื่อขึ้นถึงจุดสูงสุด จำกัดจำนวนกระเช้าละไม่เกิน 6 คน ว่ากันว่า ถ้าสภาพอากาศดีๆ อาจจะมองเห็นไปได้ถึงหมู่เกาะอาดังราวี และทิวทัศน์ของเกาะลังกาวีทั้งหมด

          ถึงโชคจะไม่เข้าข้าง ฟ้าติดหมอกเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ความสูงกว่า 710 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลก็เผยความเขียวชอุ่ม และน้ำตาของยักษ์ในตำนานตามแนวเทือกเขามะจิงจัง รวมทั้งความ "เสียว" ระดับทำให้หัวใจหวิวได้เมื่อกระเช้าลอยเคว้งอยู่กลางอากาศ

          ขณะที่ อควาเรียม ของลังกาวี (Under water world) ที่ชายหาดปันได เซอนัง นั้น ก็สร้างความตื่นตาตื่นใจไม่แพ้กัน กับสิ่งมีชีวิตใต้น้ำที่มีมากกว่า 5,000 ชนิด แสดงไว้ในถังกระจกกว่า 100 ถังเรียงรายกันอยู่ตลอดความยาว 15 เมตรของอุโมงค์

          สำหรับโปรแกรมปิดท้ายที่แหล่งท่องเที่ยวระดับ "แม่เหล็ก" อย่าง บ้านพระนางมะห์ซูรี เป็นที่รู้กันดีว่า หากใครมาลังกาวีแล้ว ไม่ได้มาเคารพหลุมฝังศพพระนางเลือดขาวก็เท่ากับยังมาไม่ถึง ที่นี่นอกจากจะมีสุสานของพระนางมะห์ซูรี ใต้ต้นนุ่น 100 ปี ที่เชื่อกันว่าเป็นพ่อแม่ของพระนางกลับมาเกิดแล้ว บริเวณหลังบ้านยังมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ของพระนาง ให้นักท่องเที่ยวได้มาตักเอากลับไปเพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วย

          "...ถ้าอยากรู้ตอนจบของเรื่องว่าประไหมสุหรีตายยังไง ลูกหลานไปอยู่ไหน คงต้องกลับมาเที่ยวอีกโอกาสหน้านะครับ" ประวิทย์ทิ้งทวนเรื่องราวของพระนางเลือดขาวให้เป็นน้ำจิ้มก่อนถึงท่าเรือ

          ภาพความวุ่นวายของผู้คน และพาหนะ แสดงให้เห็น "ความแข็งแรง" ของลังกาวีที่ไม่เคยสร่างซาจากใจนักท่องเที่ยวเลย ในทางกลับกัน ยิ่งลังกาวีเจริญก้าวหน้ามากขึ้นเท่าไร คำสาปของวันมะห์ซูรีก็ดูจะศักดิ์สิทธิ์ขึ้นเท่านั้น

          แม้จะมีบางความเห็นวิเคราะห์ถึงการเติบโตของเกาะลังกาวีที่ ใช้ตำนานพระนางมะห์ซูรีมาเป็นดาราชูโรงเพื่อสู้กับภูเก็ต ของประเทศไทยก็ตาม แต่การวางระบบการท่องเที่ยวแบบมองการณ์ไกล และแยบยลของ ดร.มหาธีร์ ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพของมาเลเซียได้เป็นอย่างดี

          หรือจะเป็นไปได้ว่า...ลังกาวี จะพ้นคำสาปเจ็ดชั่วอายุคนแล้วจริงๆ

ลังกาวี



            การเดินทาง

          การเดินทางไปเยือนถิ่นตำนานพระนางเลือดขาวสามารถเลือกเส้นทางได้ตามความ ถนัดของแต่ละคน โดยเส้นทางที่นักท่องเที่ยวชาวไทยนิยมใช้กันคือ การเดินทางด้วยเรือเฟอร์รี่ที่ท่าเรือตำมะลัง จ.สตูล มีบริการวันละ 3 เที่ยว ค่าโดยสารต่อเที่ยวผู้ใหญ่ 270 บาท เด็ก 200 บาท ตั๋วไป-กลับ ผู้ใหญ่ 540 บาท เด็ก 400 บาท โดยตารางเดินเรือจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามความเหมาะสมในช่วงเวลานั้นๆ สอบถามก่อนการเดินทางได้ที่โทร. 0-7471-1453 หรือ 0-7472-1960

          สำหรับท่าอากาศยานนานาชาติเกาะลังกาวีอยู่ ที่ปาดัง มัตซีรัต ห่างจากเมืองกัวห์ประมาณ 20 กิโลเมตร และ 8 กิโลเมตร จากหาดรีสอร์ทที่ปันไต เชอนัง มีเที่ยวบินโดยตรงจากกัวลาลัมเปอร์ไปเกาะลังกาวีซึ่งบริการโดยสายการบินมาเลเซียและสายการบินแอร์เอเชีย สัปดาห์ละ 5 ครั้ง บินตรงกรุงเทพฯ-ลังกาวี สัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยสายการบินไทยแอร์เอเชีย สำรองที่นั่งที่ 0-2519-9999 หรือ http://www.airasia.com/



รักการท่องเที่ยว  อ่านสถานที่ท่องเที่ยว มากมาย คลิกเลยค่ะ 

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไม่มีเพียงมนตราที่ ลังกาวี อัปเดตล่าสุด 2 เมษายน 2567 เวลา 15:01:30 14,656 อ่าน
TOP
x close