x close

ตามรอย 4 ปราสาทหิน เยือนถิ่นอารยธรรมขอม

4 ปราสาทหิน

 



ตามรอย 4 ปราสาทหิน เยือนถิ่นอารยธรรมขอม (Weekend Magazine)

            ก่อนสงกรานได้ข่าวมาว่าทางไปรษณีย์ไทยจะจัดทำแสตมป์ชุดพิเศษ เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย 2552 โดยเลือกเอาปราสาทหินสด็กก๊อก-ธม ปราสาทตาเมือน ปราสาทเมืองต่ำและปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทหินตามแบบศิลปะขอมทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของ ประเทศไทยมาเป็นต้นแบบ ว่าแล้วได้โอกาสหยุดสงกรานต์ตั้งหลายวัน เลยรีบโทรศัพท์ไปชวนเพื่อน ๆ ไปเที่ยวอีสานและตามรอยปราสาทหินเหล่านี้กัน 

            นัดเพื่อนเช้าตรู่ที่สุวรรณภูมิเพื่อขึ้นเครื่องไปลงอุบลฯ ลงเครื่องปุ๊บก็รีบ ไปเอารถเช่าที่พี่เจ้าหน้าที่ Budget ซึ่งมี Counter อยู่ในสนามบินอุบลฯ จึงทำให้สะดวกในการรับรถ ปกติแล้วถ้าขับรถมาอุบลเองคงต้องเสีย เวลาเป็นวัน ๆ เราเลยตัดสินใจนั่งเครื่องมาและเช่ารถจาก Budget ขับ เที่ยวมาเรื่อย ๆ ดีกว่า เพราะยิ่งเช่าหลายวันราคาก็ยิ่งถูกอย่างทริปนี้ เราเดินทาง 4-5 คน จึงเลือกใช้รถ Toyota Altis ตัวใหม่ ซึ่งทาง Budget มีโปรโมชั่นราคาพิเศษแค่ 1,190 บาทต่อวัน แถมรถคันนี้ยังมีที่เก็บ สัมภาระได้อีกเยอะแยะ เที่ยวคราวนี้เลยประหยัดทั้งเวลาประหยัดทั้งเงินอีกด้วย

            ตระเวนหาของกินในตัวเมืองอุบล พอท้องอิ่มแล้วก็ออกเดินทางขับรถ เรื่อยมาตามทางหลวงหมายเลข 23 ผ่านจังหวัดศรีษะเกษ เข้าสู่อำเภอประโคนชัย ขับจากอำเภอประโคนชัยไปเห็นทางแยกเข้าปราสาทเมือง ต่ำอยู่ทางฝั่งซ้าย เลี้ยวเข้าไปอีก 16 กิโลเมตรก็เห็นตัวปราสาท

            ปราสาทเมืองต่ำ เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู สันนิษฐานว่าสร้าง ขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 กลางพุทธศตวรรษที่ 17 ซึ่งตรงกับรูปแบบ ศิลปะขอมสมัยบาปวน ปราสาทเมืองต่ำประกอบไปด้วยปรางค์ 5 หลัง สร้างอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน โดยมีปรางค์ประธานซึ่งมีขนาดใหญ่ สุดตั้งอยู่ตรงกลางด้านหน้า 

            ปรางค์ประธานหลังนี้ปัจจุบันหลงเหลืออยู่ แค่เพียงส่วนฐาน แต่มีการขุดพบทับหลังสลักเป็นภาพเทพถือดอกบัว ประทับนั่งเหนือหน้ากาล แวดล้อมด้วยสตรีเป็นบริวาร หน้าบันสลัก ภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ส่วนทับหลังประตูปรางค์สลักเป็นเทพ นั่งชันเข่าเหนือหน้ากาล ส่วนปรางค์บริวารอีก 4 องค์นั้นยังคงมีทับหลังติดอยู่เหนือประตูทางเข้า 2 องค์ คือ องค์ที่อยู่ทางทิศเหนือของแถวหน้า และองค์ทิศใต้ของแถวหลังสลักภาพพระศิวะอุ้มพระแม่อุมา บนพระเพลา ประทับนั่งอยู่บนหลังโคนนทิ 

            ด้านนอกของปราสาทเมือง ต่ำล้อมรอบด้วยกำแพงสองชั้นประกอบไปด้วยซุ้มประตู 4 ด้าน สลักเป็นภาพเล่าเรื่องในศาสนาฮินดูและลายพรรณพฤกษา ระหว่างกำแพงชั้นในและกำแพงชั้นนอกเป็นลานกว้าง มีสระน้ำที่ประดับด้วยนาค 5 เศียรตั้งอยู่ทั้ง 4 มุม

            ปราสาทเมืองต่ำ เปิดให้เข้าชมทุกวันระหว่างเวลา 06.00-18.00 น.

            อัตราค่าเข้าชม : ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างประเทศ 100 บาท หรือ สามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 150 บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมโบราณสถานในจังหวัดบุรีรัมย์ทั้งสองแห่งได้แก่ ปราสาทเมืองต่ำและปราสาทหินพนมรุ้งได้

            ออกจากปราสาทเมืองต่ำขับรถต่อไปยังปราสาทหินพนมรุ้ง ซึ่งเดิมเคย เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย แต่ถูกบูรณะ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงต่อเนื่องกันมาหลายสมัย จนกระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน จึงได้มีการเปลี่ยนปราสาทหินพนมรุ้งจากเทวสถานให้กลาย เป็นพุทธศาสนสถานนับตั้งแต่นั้น

            ปราสาทพนมรุ้ง สร้างขึ้นบนภูเขาตามคติเรื่องที่ประทับของพระศิวะ แผนผังของตัวปราสาทมีตระพังหรือสระน้ำสามชั้นผ่านขึ้นมาสู่ พลับพลาชั้นแรก จากนั้นเป็นทางเดินซึ่งมีเสานางเรียงปักอยู่ที่ขอบทาง ทั้งสองข้าง ซึ่งจะทอดไปสู่สะพานนาคราช ด้านข้างของทางเดินทาง ทิศเหนือมีพลับพลาสร้างด้วยศิลาแลง 1 หลัง เรียกกันว่า โรงช้างเผือก สุดสะพานนาคราชเป็นบันไดทางขึ้นสู่ปราสาท โดยมีทางนำไปสู่ สะพานนาคราชหน้าประตูกลางของระเบียงคด อันเป็นเส้นทางหลักที่ จะผ่านเข้าสู่ลานชั้นในของปราสาท และยังมีสะพานนาคราชก่อนถึง ปรางค์ประธานอีกหนึ่งชั้น

            ปรางค์ประธาน ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน ตกแต่งด้วยลายพรรณพฤกษา ภาพฤาษี และเทพประจำทิศ ทุกปีในช่วงในช่วงต้นเดือนมีนาคม เดือนเมษายน เดือนกันยายน และเดือนตุลาคม นักท่องเที่ยวสามารถไปร่วมชมปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตรง 15 ช่องประตูได้ แต่จะเป็นวันไหนต้องสอบถามวันเวลาที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง โทร. 0-4478-2715 

            อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น.

            อัตราค่าเข้าชม: ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท หรือ สามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 150 บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมโบราณสถานในจังหวัดบุรีรัมย์ทั้งสองแห่ง ได้แก่ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทหินพนมรุ้งได้

            การเดินทางไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

            จากตัวจังหวัดบุรีรัมย์ สามารถเดินทางไป พนมรุ้งได้ 2 เส้นทาง คือ

            1. ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-นางรอง (ทางหลวง 208) ระยะทาง 50 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงสาย 24 ไป 14 กิโลเมตร ถึงบ้านตะโก เลี้ยวขวาผ่านบ้านตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติไปพนมรุ้งเป็นระยะ ทางอีก 12 กิโลเมตร

            2. ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย ทางหลวงหมายเลข 23 เป็นระยะทาง 44 กิโลเมตร จากตัวอำเภอประโคนชัย มีทางแยกไปพนมรุ้งระยะ ทางอีก 21 กิโลเมตร (เส้นทางนี้ผ่านทางแยกเข้าปราสาทเมืองต่ำด้วย) 

            รถโดยสาร จากสถานีขนส่งบุรีรัมย์ ขึ้นรถสายบุรีรัมย์-จันทบุรี ลงรถที่ บ้านตะโกแล้วต่อรถสองแถวหรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปพนมรุ้ง ควร ตกลงราคาค่าโดยสารก่อนเดินทาง 

            แวะพักที่จังหวัดบุรีรัมย์ 1 คืน วันรุ่งขึ้นตื่นแต่เช้าเพื่อเดินทางไปต่อยัง จังหวัดสุรินทร์ ขับรถไปตามทางหลวงหมายเลข 219 ทางไปบ้านกรวด มาจนถึงแยกตัดเข้าทางหลวงหมายเลข 2121 เลี้ยวไปตามป้ายบอกทางไปอำเภอพนมดงรัก ขับตรงไปเรื่อย ๆ จนเจอป้ายบอกทางไปกลุ่มปราสาทตาเมือน 

         ปราสาทตาเมือน เป็นสิ่งก่อสร้างที่เชื่อว่าคือที่พักคนเดินทางแห่งหนึ่ง ใน 17 แห่งที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างขึ้นจากเมืองยโสธรปุระ ไปยังเมืองพิมาย ปราสาทตาเมือนประกอบไปด้วยปราสาทตาเมือน โต๊ด เป็นอโรคยาศาล สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 ยังคงสภาพเกือบจะ สมบูรณ์ และปราสาทตาเมือนธมอยู่ถัดจากปราสาทตาเมือนโต๊ด ไปทางทิศใต้ประมาณ 200 เมตร เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่ม ปราสาทตาเมือน ประกอบด้วยปรางค์สามองค์ มีปรางค์ประธานขนาด ใหญ่ที่สุดอยู่ตรงกลาง ที่ลานริมระเบียงคดทางมุขด้านทิศตะวันออก เฉียงใต้มีศิลาจารึกภาษาขอมกล่าวถึงชื่อ พระกัลปกฤษณะ จึงสันนิษฐานว่ากลุ่มปราสาทตาเมือนเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์

            การเดินทางไปกลุ่มปราสาทตาเมือน

            จากจังหวัดสุรินทร์ไปทางอำเภอปราสาทตามทางหลวงหมายเลข 214 จนถึงทางแยกตัดกับทางหลวงหมายเลข 2121 ไปตามป้ายบอกทางไป กิ่งอำเภอพนมดงรัก ผ่านด้านตรวจที่บ้านนิคมซอย 16 มาจนถึงทางแยก ให้ใช้เส้นขวาหรือเส้นตรง ทางหลวงหมายเลข 2075 จะพบป้ายบอกทางไปกลุ่มปราสาทตาเมือน 

            จากบุรีรัมย์ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 219 ที่จะไปบ้านกรวด จนมา ถึงแยกที่ตัดกับทางหลวงหมายเลข 2121 เข้าทางหลวงหมายเลข 2121 แล้วไปตามทางเดียวกันกับที่มาจากจังหวัดสุรินทร์

           ปิดท้ายทริปนี้ที่ ปราสาทหินสด๊กก๊อกธม ในจังหวัดสระแก้ว ตัวปราสาทก่อด้วยหินทรายและศิลาแลง โดยมีรูปแบบศิลปะตรงกับศิลปะขอม สมัยบาปวนมีกำแพงแก้ว 2 ชั้น ชั้นนอกทำด้วยศิลาแลง ชั้นในทำด้วย หินทราย ซุ้มประตูอยู่ทางทิศตะวันออกและทางทิศตะวันตก และมีระ เบียงคดล้อมรอบตัวปราสาท มีปรางค์ประธานซึ่งตามจารึกกล่าวว่าใช้ เป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ตั้งอยู่ตรงกลาง มีการค้นพบศิลาจารึก 2 หลัก ตรงด้านนอกปราสาทเป็นจารึกอักษรขอมโบราณ กล่าวถึงพระเจ้าอาทิตยวรมันที่ 2 ซึ่งบูรณะปราสาทสด๊กก๊อกธมสำเร็จเมื่อปีพุทธศักราช 1595 

            การเดินทางไปปราสาทหินสด๊กก๊อกธม

            ไปตามทางหลวงหมายเลข 348 จะเจอทางแยกตัดเข้าทางหลวงหมาย เลข 3381 เลี้ยวเข้าไปประมาณ 8 กิโลเมตร จะเห็นสถานีอนามัยโคกสูง อยู่ทางขวา เลี้ยวซ้ายเข้าไปตามทางแยกอีกประมาณ 4 กิโลเมตร ผ่าน โรงเรียนบ้านหนองเสม็ด ถึงกิโลเมตรที่ 12 เลี้ยวขวาเข้าไปอีก 2.5 กิโลเมตร ถึงปราสาทสด๊กก๊อกธม 

            สิ้นสุดการเดินทาง กลับถึงกรุงเทพฯ แล้วรีบเอารถไปคืนที่ศูนย์ Budget เพื่อที่จะกลับไปพักผ่อนต่อที่บ้าน วันหยุดยาวที่ผ่านมานี้ได้เห็นทั้งมนต์ขลังของโบราณสถาน ได้เห็น (และได้รับ) มิตรไมตรีของชาวบ้าน ถึงจะเหนื่อยสายตัวแทบขาดแต่ก็ไม่เสียดายเวลาเพราะสิ่งที่ได้กลับมาคืออีก หนึ่งประสบการณ์การเดินทางอันแสนน่าประทับใจ


แนะนำการท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรมเพียบ

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตามรอย 4 ปราสาทหิน เยือนถิ่นอารยธรรมขอม อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14:08:31 1,156 อ่าน
TOP