อุทยานแห่งชาติภูพระบาท จ.อุดรธานี
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
นักท่องเที่ยวเฮ รัฐบาลเสนอ อุทยานแห่งชาติภูพระบาท จ.อุดรธานี เป็นมรดกโลก รอลุ้นผลมิถุนายนปี 2559
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่กระทรวงวัฒนธรรม มีแผนเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม อุทยานแห่งชาติภูพระบาท หรือ อุทยานประวัติศาสตร์ "ภูพระบาท" บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี นำเสนอสู่การพิจาณาเป็นมรดกโลกในปี 2559 ซึ่งทางกรมศิลปากรได้มีการจัดทำเอกสารรายงานฉบับภาษาอังกฤษ เพื่อส่งให้คณะกรรมการมรดกโลก ยูเนสโก แล้ว โดยการเสนอจะต้องก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 นี้ เพื่อให้ทันการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก พิจาณารอบแรกในเดือนธันวาคม ปี 2558 ซึ่งระหว่างที่มีการนำเสนอเอกสาร ทางยูเนสโก จะจัดส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจ แหล่งมรดกทางวัฒนธรรม "ภูพระบาท" เพื่อพิจารณาในภาพรวม และนำไปประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก ก่อนที่จะมีการประกาศแหล่งมรดกโลกในเดือนมิถุนายน ปี 2559
สำหรับบรรยากาศของนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวชมอุทยานแห่งชาติภูพระบาท ในวันธรรมดาจะไม่ค่อยคึกคักเท่าที่ควร หากเทียบกับวันหยุดราชการหรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยมีนักท่องเที่ยวทยอยเดินทางแวะมาเยี่ยมชม รวมถึงเข้ากราบนมัสการรอยพระพุทธบาท ที่วัดพระพุทธบาทบัวบก ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับอุทยานแห่งชาติภูพระบาท และเป็นส่วนที่จะเสนอเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมด้วย
ส่วนการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูพระบาท ทางกรมศิลปากร จะเก็บค่าบริการเข้าเยี่ยมชม โดยคิดคนไทย 20 บาท นักท่องเที่ยวต่างชาติ 100 บาท ส่วนนักเรียนนักศึกษาที่จะเข้าทำกิจกรรมจะไม่เสียค่าบริการใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งจากจุดเก็บค่าเข้าชม ต้องขับรถขึ้นภูเขาลัดเลาะทางโค้งอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร จึงถึงจุดบริการนักท่องเที่ยว ทางเข้าชมอุทยานแห่งชาติภูพระบาท ซึ่งจุดนี้นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อขอเอกสารข้อมูลการท่องเที่ยวภายในอุทยานฯ รวมถึงหากมีคนชราหรือเด็ก สามารถติดต่อเช่ารถกอล์ฟไฟฟ้า ที่นั่งได้คันละไม่เกิน 5 คน เข้าไปชมในราคา 100 บาทเท่านั้น ซึ่งผู้ขับรถกอล์ฟ จะเป็นไกด์ให้กับนักท่องเที่ยวไปในตัว เพื่อให้ทราบถึงความเป็นมาของอุทยานแห่งชาติภูพระบาทแห่งนี้
สำหรับจุดเด่นที่นักท่องเที่ยวต้องเดินทางมาชม คือ หอนางอุสา ต้นตำนานนิทานพื้นบ้าน เรื่อง อุสา-บารส ที่ถือเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นโขดหินลักษณะคล้ายรูปเห็ดตั้งอยู่บนลาน ที่เกิดจากการกระทำตามธรรมชาติ ต่อมามีคนไปดัดแปลงโดยการก่อหินล้อมเป็นห้องขนาดเล็กเอาไว้ที่เพิงหินด้านบน มีใบเสมาหินขนาดกลางและขนาดใหญ่ปักล้อมรอบโขดหิน แสดงให้เห็นว่า พื้นที่บริเวณนี้เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ครั้งอดีตกาลแล้ว นอกจากนี้ยังมีจุดสำคัญต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น แหล่งเขียนภาพสีโนนสาวเอ้ ถ้ำวัว ถ้ำคน ฯลฯ
ทั้งนี้ ร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ทางกรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ ป่าสงวนจำนวน 3,430 ไร่ จากกรมป่าไม้ โดยได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 63 เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2524 จากนั้นจึงได้พัฒนาแหล่งจนกลายเป็นอุทยานแห่งชาติ หรือ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทในที่สุด
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์นักท่องเที่ยวรายหนึ่ง ที่มาเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติภูพระบาทพร้อมครอบครัวจาก จังหวัดสตูล บอกว่า ได้มีโอกาสมาเที่ยวที่ จังหวัดอุดรธานี ตั้งใจจะมาทำบุญที่วัดพระพุทธบาทบัวบกและมาเที่ยวชมภูพระบาท ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบเรื่องที่รัฐบาลไทยจะเสนอให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทขึ้นเป็นมรดกโลก หากได้เป็นมรดกโลกจริงก็เป็นเรื่องดี เพราะที่นี่มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย มีสิ่งที่สวยงามทางธรรมชาติที่สร้างขึ้นเอง เป็นที่มีสิ่งมหัศจรรย์ที่หินสามารถตั้งอยู่ได้ และเป็นแหล่งโบราณคดีอีกด้วย จึงอยากให้ทางยูเนสโก รับขึ้นเป็นมรดกโลกโดยเร็ว และอยากให้คนไทยรวมถึงคนทั่วโลกได้มีโอกาสมาเที่ยวที่นี่สักครั้ง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก