พระธาตุดอยสุเทพฯ พระธาตุประจำปีมะแม
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอมไหว้พระธาตุประจำปีเกิด 2558 ตรงกับปีมะแม มาไหว้พระธาตุดอยสุเทพฯ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีมะแมกัน
ปีม้าผ่านไปก็ย่างเข้าสู่ปีแพะหรือ "ปีมะแม" ตามคำเรียกของปีนักษัตร หลายคนจึงอยากเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการไหว้พระทำบุญเพื่อเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต โดยเฉพาะผู้ที่เกิดปีมะแมเองที่อายุมาบรรจบกันอีกหนึ่งรอบ จึงอยากสร้างความพิเศษให้ขวบปีนี้เต็มไปด้วยความเจริญรุ่งเรือง หลายคนจึงนิยมเดินทางมาสักการะ "พระธาตุดอยสุเทพฯ" ในจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นพระธาตุประจำปีมะแมนั่นเอง แต่ก่อนไปไหว้เราไปทำความรู้จักกับประวัติความเป็นมาของพระธาตุดอยสุเทพฯ กันก่อนค่ะ
ประวัติความเป็นมา
ตามประวัตินั้นเชื่อกันว่า เดิมภูเขาแห่งนี้เป็นที่อยู่ของฤๅษีนามว่า "สุเทวะ" ซึ่งตรงกับคำว่าสุเทพอันเป็นที่มาของชื่อดอยสูงแห่งนี้ โดยวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ สร้างขึ้นเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช เจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 6 เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้ทรงอัญเชิญมาจากเมืองศรีสัชนาลัย
ตามตำนานเล่าว่า พระเจ้ากือนาธรรมิกราชทรงแยกพระบรมสารีริกธาตุไว้เป็นสองส่วน โดยอัญเชิญองค์หนึ่งบรรจุไว้ที่พระธาตุวัดสวนดอก ส่วนอีกองค์หนึ่งได้อัญเชิญขึ้นบนหลังช้างมงคล โดยพระเจ้ากือนาธรรมิกราชทรงตั้งจิตอธิษฐานเสี่ยงทายว่าหากช้างเชือกนั้นหยุดลงตรงที่ใดก็จะให้สร้างพระธาตุขึ้น ณ ที่แห่งนั้น ซึ่งช้างเชือกดังกล่าวได้มาหยุดลงตรงยอดดอยสุเทพแห่งนี้ โดยทำทักษิณาวรรตสามรอบก่อนที่จะล้มลง (ตาย) ดังนั้นพระเจ้ากือนาธรรมิกราชจึงทรงรับสั่งให้สร้างพระบรมธาตุอันเป็นที่ประดิษฐานองค์พระบรมสารีริกธาตุ ณ ยอดดอยสุเทพ อยู่คู่ฟ้าคู่ดินเชียงใหม่มานับแต่นั้น
สำหรับ "วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร" หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า "วัดพระธาตุดอยสุเทพฯ" ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ ผู้ที่เดินทางมาสักการะที่วัดแห่งนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์เมืองเชียงใหม่ได้อย่างชัดเจน นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นบันไดนาคไป 300 ขั้น เพื่อไปยังวัด หรือใช้บริการรถกระเช้าขึ้น-ลงได้ระหว่างเวลา 05.30-19.30 น. นอกจากนี้ยังมีงานประเพณีเตียวขึ้นดอยเพื่อสักการะพระธาตุดอยสุเทพฯ ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี โดยมีขึ้นก่อนหน้าวันวิสาขบูชา 1 คืน ในงานจะมีขบวนแห่น้ำสำหรับสรงพระธาตุโดยมีพระสงฆ์ สามเณร และพุทธศาสนิกชนจากชุมชนต่าง ๆ มาร่วมขบวนแห่ขึ้นดอยเป็นจำนวนมาก
ความเชื่อและวิธีการบูชา
เชื่อกันว่าหากมาสักการะและอธิษฐานขอพรพระธาตุดอยสุเทพฯ จะมีแต่ความสำเร็จสมหวังดังปรารถนา แคล้วคลาด ผ่านอุปสรรคนานาไปได้ ในการสักการะพระธาตุนั้น ควรเตรียมข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียนแล้วเดินเวียนขวา 3 รอบ พร้อมกล่าวคำนมัสการพระธาตุ โดยตั้งจิตอธิษฐานขอให้สมหวังในสิ่งที่ปรารถนา และควรไหว้พระธาตุให้ครบทั้ง 4 ทิศ ซึ่งให้อานิสงส์ที่ต่างกัน คือ ทิศเหนือขอให้มีปัญญาดุจพระจันทร์เพ็ญ, ทิศใต้ ขอให้ได้เป็นพระภิกษุสงฆ์ได้บวชในบวรพุทธศาสนา, ทิศตะวันออกขอให้ได้ขึ้นสวรรค์ และทิศตะวันตกเป็นการเคารพบูชาสูงสุดต่อพระธาตุ
คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนะโม 3 จบ)
สุวัณณะ เจติยัง เกสา
วะระมัตถะลุงคัง วะรัญญะธาตุง
สุเทวะนามะทัง
นะระเทเวหิ
สัพพะปูชิตัง
อะหัง วันทามิ สัพพะ
การเดินทาง
จากตัวเมืองสามารถเดินทางโดยใช้เส้นทางตามถนนห้วยแก้ว ผ่านหน้ามหาวิทยาลัยและสวนสัตว์เชียงใหม่ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่มีรถส่วนตัวสามารถเดินทางมาที่วัดโดยรถสองแถวประจำทางจากบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้านถนนห้วยแก้ว ซึ่งบริการระหว่างเวลาประมาณ 05.00-17.00 น. ระยะทางจากเชิงดอยถึงวัดประมาณ 11 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง
การไหว้พระธาตุประจำปีเกิดนอกจากจะนำมาซึ่งสิริมงคลและความสบายใจแล้ว สิ่งสำคัญ คือ การคิดดี พูดดี ทำดี และการทำจิตใจให้สงบและมีสติตลอดเวลา สิ่งนี้เองที่จะเป็นเกราะป้องกันคุณให้ปลอดภัยและผ่านทุกอุปสรรคไปได้ตลอดทั้งปีแล้ว
ปีชวด : วัดพระบรมธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
ปีฉลู : วัดพระธาตุลำปางหลาง จังหวัดลำปาง
ปีขาล : วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่
ปีเถาะ : วัดพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน
ปีมะโรง : วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่
ปีมะเส็ง : พระมหาเจดีย์พระพุทธคยา ประเทศอินเดีย แต่ไปไหว้ที่วัดหนองบัว จังหวัดอุบลราชธานี แทนได้
ปีมะเมีย : พระธาตุชเวดากอง ประเทศพม่า แต่ไปไหว้ที่วัดพระบรมธาตุ จังหวัดตาก แทนได้
ปีมะแม : วัดพระธาตุดอยสุเทพฯ จังหวัดเชียงใหม่
ปีวอก : วัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม
ปีระกา : วัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน
ปีจอ : วัดเกตการาม จังหวัดเชียงใหม่
ปีกุน : พระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
และ wattarnpakrat